เมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2564 เวลา 15.30 น. ที่บริเวณแยกยมราช กลุ่มทะลุฟ้า นัดหมายทำกิจกรรมภายใต้ชื่อ “ม็อบ 25 กันยา หยุดราชวงศ์ประยุทธ์” โดยมวลชนได้เริ่มรวมตัวกันเพื่อเคลื่อนขบวนไปทำเนียบรัฐบาล
หลังจากนั้นในเวลา 17.30 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ คฝ. ได้ฉีดน้ำผสมแก๊สน้ำตาและยิงปืนที่บรรจุแก๊สน้ำตา ใส่กลุ่มมวลชนทะลุฟ้า ขณะที่ผู้ชุมนุมบางส่วนได้ตอบโต้เจ้าหน้าที่ด้วยการปาถุงสีและปาวัตถุที่มีเสียงคล้ายระเบิด จนเมื่อเวลา 18.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ คฝ. ชุดเคลื่อนที่เร็วประมาณ 50 นาย เข้าสลายกลุ่มผู้ชุมนุม พร้อมประกาศให้สื่อมวลชนอยู่บนฟุตบาธ เพื่อเปิดให้เจ้าหน้าที่ คฝ.เข้าเคลียร์พื้นที่บริเวณแยกนางเลิ้ง
เวลาประมาณ 20.30 น. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งว่ามีผู้ถูกจับกุมบริเวณแยกนางเลิ้งและแยกยมราช รวมทั้งสิ้น 15 คน โดยแบ่งเป็นเยาวชน 4 คน ทั้งหมดถูกคุมตัวรวมกันในรถ 2 คันโดยไม่มีการแยก เยาวชนและผู้ใหญ่
ผู้ถูกจับกุมทั้งหมดถูกนำตัวไปควบคุมตัวที่กรมการสารวัตรทหารบก ซอยโยธี ใกล้กับสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสอนุสาวรีย์ชัย ก่อนเจ้าหน้าที่จะมีการแยกควบคุมตัวเยาวชน 4 คน ไปรวมกันที่ สน.พหลโยธิน และประชาชนทั่วไป 11 คน ถูกนำตัวไปรวมกันที่ สน.บางเขน ซึ่งทั้งสองสถานีตำรวจ ไม่ใช่สถานีตำรวจเจ้าของท้องที่เกิดเหตุแต่อย่างใด
.
จับกุมเยาวชน 4 ราย ก่อนนำตัวไป สน.พหลโยธิน พบบาดเจ็บระหว่างการจับกุม
ช่วงเวลาประมาณ 18.00-18.30 น. ตำรวจ คฝ. จับกุม เยาวชน 4 ราย อายุระหว่าง 15-16 ปี บริเวณแยกยมราช
ตำรวจแจ้งข้อกล่าวหาเยาวชน 3 ราย จากการเข้าร่วมชุมนุม 4 ข้อกล่าวหา ได้แก่ ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน “ร่วมกันจัดกิจกรรม รวมกันมากกว่ายี่สิบห้าคน”, “ร่วมกันชุมนุมหรือทํากิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่ที่มีการประกาศหรือคําสั่งเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด”, ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 วรรค 2 มั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กําลังประทุษร้ายฯ ให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง โดยผู้กระทําความผิดคนหนึ่งคนใดมีอาวุธ , เมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกไป แต่ผู้นั้นไม่เลิก ตามมาตรา 216,
ขณะที่เยาวชนอีก 1 คน ถูกแจ้งข้อกล่าวหา 4 ข้อหาดังกล่าว พร้อมกับข้อหาพาอาวุธ (มีดพับ) ไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะ โดยไม่มีเหตุอันสมควร เพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งข้อหา
ทั้งนี้ตำรวจยังได้ยึดประทัดลูกบอล, หนังสติกด้ามไม้, ลูกแก้ว, ประทัดลูกบอล, ไฟแช็ค ซึ่งระบุว่าตรวจค้นเจอ ไว้เป็นหลักฐาน อีกทั้ง ทั้งสี่คนยังถูกยึดรถจักรยานยนต์ที่ใช้ขับขี่มาด้วย
หนึ่งในเยาวชนที่ถูกจับกุม ได้รับการบาดเจ็บจากการสลายการชุมนุม เนื่องจากรถมอเตอร์ไซค์ล้ม ทำให้เกิดบาดแผลบริเวณหัวเข่า
ผู้ต้องหาทั้ง 4 รายให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ไม่ประสงค์ลงลายมือชื่อ และจะให้การอีกครั้งเป็นหนังสือภายใน 30 วัน โดยพนักงานสอบสวนแจ้งว่าในวันที่ 26 ก.ย. 64 จะนำไปตรวจสอบการจับกุมที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง
วันที่ 26 ก.ย. 64 เวลา 13.00 น. ที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง เยาวชนที่ถูกจับกุม 4 ราย ถูกนำตัวมาศาล โดยพนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาล ตรวจสอบการจับกุม
ต่อมา ศาลได้มีคำสั่งว่า การจับเยาวชนเป็นไปโดยชอบ แม้จะปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้ต้องหาเยาวชนได้รับบาดเจ็บจากการจับกุมของเจ้าหน้าที่ก็ตาม และให้ออกหมายควบคุมตัวไว้ระหว่างสอบสวน ก่อนที่ศาลจะอนุญาตให้ประกันตัวทั้งหมด โดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์ แต่มีเยาวชน 1 คน ต้องวางหลักประกันเป็นเงิน 5,000 บาท
.
ประชาชน 11 ราย แจ้งฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก่อนได้ประกัน ไม่ต้องวางหลักทรัพย์
ในส่วนผู้ถูกจับกุมอีก 11 ราย ที่อายุเกิน 18 ปี ตำรวจระบุว่าเป็นการจับกุมจากบริเวณแยกยมราชและหน้าบ้านมนังคสิลา โดยมีชุดจับกุมเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน (บก.อฝ.) และตำรวจจากอีกหลาย สน. รวมแล้ว 15 นาย ทั้งหมดถูกยึดโทรศัพท์มือถือไว้โดยอ้างว่าเป็นของกลาง และถูกให้เซ็นเอกสารยินยอมในการเข้าถึงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์
ทั้งนี้ ทางศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิฯ ได้รับแจ้งด้วยว่า ผู้ถูกจับกุมบางรายไม่ยินยอมให้โทรศัพท์มือถือแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ เนื่องจากต้องการรอทนาย แต่ทางตำรวจกลับพูดในลักษณะว่าจะไม่ให้พบทนายความ และจะนำตัวไปคุมขังที่ สน.
หลังการถูกควบคุมตัวที่กรมการสารวัตรทหารบก 2 ชั่วโมง ผู้ถูกจับกุมได้ถูกนำตัวออกมานั่งรอนอกรถ โดยเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมได้เอาของที่ติดตัวผู้ถูกจับกุมออกมาวางที่พื้นก่อนถ่ายภาพเก็บไว้ และนำตัวไปทำบันทึกจับกุมที่ สน.บางเขน
บันทึกการจับกุมแยกเป็น 6 คดี โดยผู้ต้องหา 6 รายถูกจับกุมจากบริเวณหน้าบ้านมนังคสิลา ถนนหลานหลวง และอีก 5 ราย ถูกจับกุมบริเวณแยกยมราช
เวลาประมาณ 21.50 น. ทนายความเดินทางไปถึง สน.บางเขน แต่กลับไม่สามารถเข้าพบผู้ถูกจับกุมได้ทันที เนื่องจากทางตำรวจไม่อนุญาตให้เข้าพบ จนกระทั่งเวลาประมาณ 22.15 น. ทนายความจึงสามารถเข้าพบเพื่อให้ความช่วยทางกฎหมายต่อผู้ถูกจับกุมได้
ตำรวจแจ้งข้อหาต่อทั้งหมดเช่นเดียวกัน คือ ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ “ร่วมกันจัดกิจกรรมรวมกัน มากกว่ายี่สิบห้าคน, ร่วมกันชุมนุมหรือทํากิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่ที่มีการประกาศหรือคําสั่งเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด” โดยอ้างเหตุเกี่ยวกับการร่วมมั่วสุมในการชุมนุมของกลุ่มทะลุฟ้า
ผู้ต้องหาทั้ง 11 รายให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยไม่ประสงค์ลงลายมือชื่อ และจะให้การอีกครั้งเป็นหนังสือภายใน 30 วัน โดยพนักงานสอบสวนแจ้งว่าในวันที่ 27 ก.ย. 64 จะนำตัวทั้งหมดยื่นคำร้องขออำนาจฝากขังที่ศาลแขวงดุสิต ทำให้ทั้งหมดต้องถูกคุมตัวอยู่ที่ สน.บางเขน เป็นเวลา 2 คืน
ทั้งนี้ ในจำนวนผู้ต้องหากลุ่มนี้ พบว่ามี 1 รายที่ระบุว่าตนไม่ได้เข้าร่วมชุมนุม แต่ขับรถจักรยานยนต์ เพื่อไปรับน้องของตน แต่ระหว่างทางกลับถูกตำรวจ คฝ. เรียกให้หยุดรถ และถูกจับกุมบริเวณป้ายรถเมล์แยกยมราช
และพบว่ามี 1 รายที่กำลังเดินทางกลับบ้าน ได้รับบาดเจ็บเลือดออกบริเวณใต้ศอกซ้าย 2 แผล หัวเข่า 1 แผลยาวประมาณครึ่งนิ้ว และตาตุ่มอีก 1 แผล จากการถูกตำรวจ คฝ. ขับรถจักรยานยนต์เข้าชนด้านท้าย ทำให้ล้มจากรถจักรยานยนต์ที่กำลังขับขี่อยู่ และถูกกดทับลงกับพื้นถนนระหว่างการจับกุม โดยถูกบิดแขนและรัดด้วยเคเบิ้ลไทด์เป็นรอยช้ำ ทั้งที่ตนไม่ได้ขัดขืนการจับกุม
ในกลุ่มผู้ถูกจับกุม 11 คน ยังมีกลุ่มที่เป็นผู้หญิง 3 ราย รายหนึ่งอายุ 52 ปี และยังมีชายอายุ 61 ปี เป็นกลุ่มที่ถูกจับกุมมาด้วย ไม่ใช่มีแต่เพียงกลุ่มวัยรุ่นเท่านั้น
จนวันที่ 27 ก.ย. 2664 เวลาประมาณ 10.00 น. พนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง ได้ยื่นคำร้องขออำนาจศาลแขวงดุสิตฝากขังผู้ต้องหาทั้ง 11 คน ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์จาก สน.บางเขน
ต่อมา ศาลอนุญาตฝากขัง ก่อนขออนุญาตให้ประกันตัวโดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์ แต่ให้ตำรวจนำตัวทั้งหมดมาสาบานตนว่าจะมาตามนัด ที่ศาลแขวงดุสิต ในเวลา 15.30 น.
ทั้งหมดได้รับโทรศัพท์มือถือที่ถูกยึดไว้คืน ศาลกำหนดนัดรายงานตัวอีกครั้งในวันที่ 27 ต.ค. 2564 เวลา 9.00 น.
.