คดีเยาวชน ทะลุแก๊ซ ทะลุ 100 ย่านดินแดง: มุมมองทนายความต่อการปกป้องสิทธิเด็ก

9 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา ในห้วงยามที่การดำเนินคดีเด็กและเยาวชนไต่ระดับขึ้นจากเดือนสิงหาคมอย่างไม่ลดละ ในขณะที่การเผชิญหน้าของกลุ่มเยาวชนที่ดินแดงกับเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนอยู่ในช่วงที่แหลมคม ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจัดพูดคุยผ่านช่องทาง Clubhouse ในหัวข้อ “คดีเยาวชน ทะลุแก๊ซ ทะลุ 100” ชวนทนายความที่ช่วยเหลือคดีเยาวชนอย่างแข็งขันมาพบปะกันบนพื้นที่สาธารณะ ให้มุมมองว่าใครคือเยาวชนที่พวกเขาเข้าไปให้ความช่วยเหลือ ทำความเข้าใจขั้นตอนการดำเนินคดีเด็กและเยาวชน และวิธีการเข้าจับกุมของเจ้าหน้าที่ และมากไปกว่านั้น ทนายความยังชวนเปิดพื้นที่ให้ทุกคนรู้สิทธิของตนหลังถูกจับกุม

ในห้องคุยมีทนายความหลักร่วมพูดคุย ทั้งคุ้มเกล้า ส่งสมบูรณ์ ทนายความของศูนย์ทนายความฯ ร่วมกับทนายความอาสา ผรัณดา ปานแก้ว และคุณากร มั่นนทีรัย โดยมี อธิกัญญ์ แดงปลาด เจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูล ดำเนินรายการ

ข้อมูลพื้นฐาน ในช่วงเดือนสิงหาคม มีผู้ถูกจับกุมจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองไม่น้อยกว่า 298 ราย แบ่งเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีอย่างน้อย 15 ราย เยาวชนอายุ 15-18 ปี อย่างน้อย 68 ราย และผู้ใหญ่ 215 ราย กลุ่มผู้ถูกจับกุมมีทั้งผู้ที่ไม่ได้เข้าร่วมชุมนุม แต่ใช้เส้นทางดินแดงเดินทางกลับบ้าน หรือหลุดเข้าไปพื้นที่ปะทะด้วย หากนับเฉพาะบริเวณดินแดงและพื้นที่ใกล้เคียง รวมถึงการจับกุมต่อเนื่องจากการชุมนุมในช่วงนี้ ตั้งแต่วันที่ 7 ส.ค. ถึงสิ้นเดือนสิงหาคม ยอดผู้ถูกจับ/ควบคุมตัวมีอย่างน้อย 225 ราย ในจำนวนนี้เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี อย่างน้อย 15 ราย เยาวชนอายุ 15-18 ปี อย่างน้อย 62 ราย ผู้ใหญ่ 148 ราย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงมีตัวเลขผู้บาดเจ็บแล้วมากกว่า 50 ราย

ข้อหาที่ผู้ชุมนุม/เด็กและเยาวชนถูกกล่าวหามีตั้งแต่ข้อหาฝ่าฝืนเคอร์ฟิว หรือฝ่าฝืนข้อกำหนดเรื่องการชุมนุมที่มีความเสี่ยงต่อการระบาดของโรคฯ ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพียงข้อหาเดียว หรือผู้ชุมนุมที่ถูกกล่าวหาว่าได้ร่วมในการปะทะต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ จะถูกตั้งข้อหามั่วสุมรวมตัวมากกว่า 10 คนขึ้นไปก่อให้เกิดความวุ่นวายและเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกแล้วไม่เลิกรวมตัว ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 และมาตรา 216 ข้อหาต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน หรือทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 138 อีกด้วย

ต่อไปนี้เป็นบันทึกการพูดคุยจากห้องคุย Clubhouse ศูนย์ทนายความฯ ขอเรียบเรียงเป็นหัวข้อเพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ

ศูนย์ทนายฯ ชวนคุย กลุ่มเยาวชนทะลุแก๊ซเป็นใคร ความรุนแรงที่ดินแดงเกิดขึ้นแบบไหน

อธิกัญญ์เกริ่นนำว่า ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาการชุมนุมของกลุ่มทะลุแก๊ซนั้นมีความรุนแรงจากหลายฝ่ายเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างเห็นได้ชัด ทางศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเก็บสถิติผู้ถูกจับกุมแล้วพบว่า มีคดีเด็กและเยาวชนถูกจับเป็นจำนวนมาก บางรายโดนกล่าวหาว่าพกระเบิดปิงปอง พลุ และอาวุธอื่นๆ รวมไปถึงการตั้งข้อหา เช่น การฝ่าฝืนเคอร์ฟิว ตามพ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ทำร้ายเจ้าพนักงาน เยาวชนบางรายถูกทำร้ายร่างกายจากกระสุนยาง และรุมซ้อม

ในบางกรณี ประชาชนบางกลุ่มไม่ใช่ผู้ชุมนุมแต่ถูกจับไปดำเนินคดีเช่นกัน แม้ความรุนแรงจะเกิดขึ้นหลายครั้งแล้ว แต่สถานการณ์ยังไม่มีแนวโน้มจะแผ่วเบาลงเลย ยังมีผู้บาดเจ็บจากการใช้กำลังจากเจ้าหน้าที่รัฐทุกครั้ง

อยากถามทนายความว่ากลุ่มเยาวชนทะลุแก๊ซเป็นใคร และทนายความมีมุมมองต่อความรุนแรงอย่างไร

ผรัณดากล่าวว่า ส่วนใหญ่ทนายความเจอเยาวชนที่ศาลเลย จึงยังไม่มีเวลาพูดคุยกันแบบลึกซึ้งมากนัก ส่วนใหญ่จะได้คุยกับผู้ปกครองของเยาวชนมากกว่า

คุ้มเกล้ากล่าวเสริมว่า เท่าที่ส่วนตัวได้คุยมา กลุ่มเยาวชนนี้มีความหลากหลายมาก ส่วนใหญ่มาจากพื้นฐานครอบครัวค่อนข้างยากจน มีปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มหาเช้ากินค่ำ ถ้าเยาวชนคนไหนครอบครัวมีปัญหาในระดับที่ทนายยื่นมือไปช่วยไม่ได้แล้ว เราก็ต้องติดต่อกับองค์กรณ์อื่นๆ ให้เข้ามาช่วยเหลือ เช่น Child in Mob (ในความช่วยเหลือ Amnesty International Thailand)

บางกรณีพ่อแม่ไม่มาประกันตัวให้ เพราะอยู่ต่างจังหวัด แยกทางกัน หรือบางทีไม่เห็นด้วยกับการแสดงออกของลูก ทนายก็ต้องอธิบายให้เข้าใจว่าผู้ปกครองต้องมาเซ็นเอกสารทางกฎหมายด้วย

ส่วนการจัดการชุมนุมของกลุ่มทะลุแก๊ซ คุ้มเกล้าให้มุมมองว่า “เยาวชนมีการรวมกลุ่มกันตามที่นัดหมายไว้ แล้วเขาก็เริ่มเรียกร้องสิ่งที่เขาต้องการ” เจ้าหน้าที่รัฐหรือหน่วยควบคุมฝูงชนมีหน้าที่มาคอยดูแลและอำนวยความสะดวก  แต่พวกเขาเข้าจับกุมผู้ชุมนุมโดยส่วนใหญ่มากกว่า และการจะเข้าจับกุมในที่เกิดเหตุได้เลย ใช้ข้อหาว่าเยาวชนทำความผิดซึ่งหน้าเจ้าหน้าที่ ซึ่งในข้อกล่าวหานี้ เจ้าหน้าที่มีสิทธิเข้าจับกุมได้ทันที แต่ในขณะเดียวกัน ผู้ถูกจับกุมก็มีสิทธิของตนเอง โดยเฉพาะสิทธิของเยาวชน

ทบทวนขั้นตอนทางกฎหมายในคดีเด็กและเยาวชน ต่างกับการจับผู้ใหญ่อย่างไร

คุ้มเกล้าเริ่มอธิบายว่า ในคดีเด็กและเยาวชนจะมีขั้นตอนที่เพิ่มมา คือ การไปพบพนักงานคุมประพฤติที่สถานพินิจ ส่วนขั้นตอนอื่นๆ จะเหมือนกับคดีของผู้ใหญ่ทั่วไป

การเข้าจับกุมผู้ชุมนุมที่ดินแดงเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเข้าจับกุมในที่เกิดเหตุโดยใช้เหตุผลว่าเยาวชนทำความผิดซึ่งหน้าเจ้าหน้าที่ ซึ่งในข้อกล่าวหาลักษณะนี้ เจ้าหน้าที่มีสิทธิเข้าจับกุมได้ทันที แต่เด็กมีสิ่งที่ต้องคิดมากกว่านั้น

“การเข้าจับกุมเยาวชน เจ้าหน้าที่ต้องจับกุมโดยความละมุนละม่อมและไม่ใช้เครื่องพันธนาการ ถ้าเจ้าหน้าที่จะใช้วิธีอื่นที่ไม่ใช้ความละมุนละม่อมเข้าจับกุม ต้องมีเหตุผลเหมาะสม เช่น ผู้ถูกจับกุมจะทำร้ายตัวเจ้าหน้าที่ หลังจากการจับกุม เจ้าหน้าที่ต้องแจ้งสิทธิต่างๆ ให้ผู้ต้องหาฟัง เช่น ผู้ต้องหามีสิทธิที่จะติดต่อญาติและทนายความได้ แล้วถ้าในกรณีผู้ต้องหาบาดเจ็บ เจ้าหน้าที่ต้องนำตัวส่งโรงพยาบาลในทันที” ทนายคุ้มเกล้าเน้นย้ำ

หลังจากนั้น มีการอธิบายเพิ่มเติมว่าหลังจากเข้าควบคุมตัวแล้วต้องส่งตัวผู้จับกุมไปที่สถานีตำรวจในพื้นที่ที่ก่อเหตุ ไม่ใช่ส่งไปที่สโมสรตำรวจ ซึ่งไม่ใช่พื้นที่เกิดเหตุ อย่างที่เจ้าหน้าที่ทำเหมือนทุกวันนี้

ด้านทนายคุณากร ให้มุมมองต่อการจับกุมเยาวชนโดยใช้เครื่องพันธนาการและไม่ละมุนละม่อมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ว่าเป็นการใช้รุนแรงที่ไม่ชอบธรรมตั้งแต่แรกอยู่แล้ว กฎหมายที่จะคุ้มครองเยาวชน คือ ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ผิดหลักขั้นตอนการดำเนินการไปหมด กระบวนการการตรวจสอบในหลายๆ เคส ดูแค่ว่าจับเยาวชนมาครบ 24 ชั่วโมงหรือไม่ ซึ่งถือเป็นความล้มเหลวมาก

คุ้มเกล้าพูดเสริมถึงปัญหาในกระบวนการสอบสวนที่สถานีตำรวจในคืนที่เยาวชนถูกจับว่า ทนายความมักพบปัญหาที่เยาวชนเองจะถูกยึดทรัพย์สินส่วนตัวโดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือ ทำให้เยาวชนไม่สามารถติดต่อกับทนายความได้โดยทันท่วงที กว่าทนายความจะเจอตัวเยาวชน บางคนก็เซ็นยอมรับข้อกล่าวหาไปแล้ว

หลักการตรวจสอบการจับที่ศาลเยาวชนฯ

ผรัณดาพูดถึงการตรวจสอบการจับว่า ในการตรวจสอบการจับกุมเยาวชนที่ศาลเยาวชนและครอบครัว เราต้องตรวจสอบว่าการจับนั้นเป็นไปแบบละมุนละม่อมหรือไม่ คำนึงถึงสิทธิการเป็นคนหรือเปล่า  บางครั้งทนายโต้แย้งว่าการจับกุมเป็นการจับกุมแบบไม่ถูกต้อง แต่ศาลในหลายๆ คดี ก็บอกว่าเยาวชนเองมีการใช้ความรุนแรงระหว่างการจับกุมเลย ทำให้ต้องใช้เครื่องพันธนาการ

“กลุ่มน้องทะลุแก๊ซบางคนอายุ 14-15 ปี ถ่ายรูปบัตรประชาชนตั้งแต่ 7 ขวบ คือดูก็รู้ว่าเด็กมาก แต่เจ้าหน้าที่ก็คิดแค่ว่าจะจับให้ได้ ไม่ได้ดูเลยว่าเขาเป็นเด็กหรือเปล่า” ผรัณดากล่าว

คุ้มเกล้าพูดเพิ่มเติมว่า บางทีสังคมก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เจ้าหน้าที่เลือกที่จะกระทำลักษณะไหนกับน้องๆ เช่น การเรียกดินแดงว่าเป็นสมรภูมิดินแดง มันกลายเป็นเหมือนกับใบอนุญาตให้เจ้าหน้าที่รัฐมองผู้ชุมนุมเป็นศัตรูหรือคู่อริที่ต้องจัดการ สังคมหรือผู้สื่อข่าวควรจะใช้คำใหม่

เจ้าหน้าที่ไม่สามารถใช้ความรุนแรงต่อทุกคนได้ เช่น ถีบรถจักรยานยนต์ หรือบางคนที่ยอมจำนนให้จับกุมแล้ว แต่ยังใช้ไม้กระบอกตีอยู่ อาจจะเลือกใช้ “ความรุนแรง” กับเป็นกรณีไป แต่ “ห้ามเหมารวมโดยเด็ดขาด”  ถ้าไม่อย่างนั้น การใช้ความรุนแรงจากฝั่งเจ้าหน้าที่ต่อผู้ชุมนุมจะกลายเป็นความปกติ ทั้งที่ไม่ควรเป็นเรื่องปกติ

“บางคนคือมองก็รู้เลยว่าอายุต่ำกว่า 18 ปี น้องก็ถูกจับตัวด้วยเครื่องพันธนาการ บางคนเป็นเพศทางเลือกก็โดนตรวจจับ และค้นด้วยเจ้าหน้าที่ผู้ชาย” คุ้มเกล้าให้มุมมองคล้ายผรัณดา

ถ้าคดีไปศาลแล้ว ต้องการประกันตัวต้องทำอย่างไร ถ้าไม่ได้ประกันตัว เยาวชนจะเจออะไรบ้าง

ผรัณดากล่าวว่าคนที่จะมาประกันตัวชั่วคราวให้เยาวชน คือ ผู้ปกครอง หลังจากประกันตัวแล้ว ผู้ปกครองต้องพาไปที่สถานพินิจเพื่อตรวจสอบประวัติทั้งตัวพ่อ แม่ และเด็กเอง บางคนมาชุมนุมโดยไม่บอกผู้ปกครองแต่ต้น เยาวชนก็จะไม่อยากบอกข้อมูลผู้ปกครองของตัวเอง ทนายความต้องอธิบายว่าถ้าไม่ให้ความร่วมมือ เยาวชนเองจะถูกส่งเข้าสู่กระบวนการที่ยุ่งยากมากขึ้น ต้องเข้าสถานพินิจและเข้าสู่กระบวนการควบคุมโรคโควิด-19 ต้องโดนกักตัวหลายวัน คดีที่ผ่านมายังไม่มีคดีไหนที่ศาลเยาวชนฯ สั่งไม่ให้ประกันตัว

เจ้าหน้าที่ใช้การยึดทรัพย์สินส่วนตัวมาเป็นข้อต่อรองอะไรบ้าง

ทนายความยังอธิบายว่า บางทีตำรวจจับกุมไปทั้งตัวเยาวชนและทรัพย์สินส่วนตัว เช่น รถมอเตอร์ไซต์  บางกรณียึดได้เฉพาะทรัพย์สิน แต่ช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ได้ยึดโทรศัพท์มือถือด้วย ทางทนายความพยายามโต้แย้งกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ว่าเจ้าหน้าที่ไม่มีสิทธิมายึดโทรศัพท์ในคราวเดียวกัน แต่เจ้าหน้าที่มักให้เหตุผลว่าเป็นการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อเสริมคดี

ทนายความต้องโต้แย้งเพิ่มว่าแม้จะยึดแล้ว แต่ตำรวจไม่มีสิทธิที่จะเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวในโทรศัพท์นั้นๆ  ในทางกฎหมายแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องติดต่อขออนุญาตออกหมายค้นโทรศัพท์จากเจ้าหน้าที่ที่ดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ ต้องมีคำสั่งศาลว่าให้ยึดมือถือได้เพิ่มเติม แต่ปัจจุบันหลายกรณี เจ้าหน้าที่ตำรวจจะยึดโทรศัพท์ไว้เลยโดยไม่มีหมายค้น

เยาวชนต้องรู้อะไรบ้างเพื่อที่เขาจะไม่ถูกละเมิดสิทธิโดยเจ้าหน้าที่รัฐ

ทนายความให้ข้อมูลว่า อันดับแรก คือ ขณะที่เยาวชนถูกจับกุม “เขามีสิทธิที่จะติดต่อกับทางญาติและทนายความได้ทันที ถ้าหากในกรณีถูกยึดโทรศัพท์ เยาวชนมีสิทธิที่จะขอคืนเพื่อใช้ติดต่อกับทางทนายว่าเขาถูกจับแล้ว อยู่ที่ไหน เพื่อที่ทางทนายและญาติจะตามไปให้ความช่วยเหลือได้ ถ้าเยาวชนผู้ถูกจับกุมได้รับบาดเจ็บ ก็ต้องถูกส่งไปโรงพยาบาลในทันที และเมื่อเยาวชนถูกจับกุมแล้ว ต้องส่งตัวไปให้พนักงานสอบสวนเลย ไม่ใช่พาไปที่อื่นที่ไม่ใช่พื้นที่เกิดเหตุ แล้วพนักงานสอบสวนมีอำนาจควบคุมตัวเยาวชนไว้เพียงแค่ 24 ชั่วโมงเท่านั้น ไม่ใช่ 48 ชั่วโมงเหมือนผู้ใหญ่”

หลังจากพ้น 24 ชั่วโมงไปแล้ว พนักงานสอบสวนต้องพาเยาวชนไปตรวจสอบการจับที่ศาลว่าการจับมีความชอบธรรมหรือไม่ ถ้าศาลตรวจสอบแล้วเห็นว่าต้องมีการจับกุมตัวเด็กและควบคุมตัวเด็กไว้ ผู้ปกครองก็สามารถประกันตัวชั่วคราวเยาวชนออกมาสู้คดีได้

ทนายความเน้นย้ำอีกรอบถึงความเกี่ยวข้องของผู้ประกันตัวชั่วคราว ว่าผู้ประกันตัวต้องเป็นบิดา มารดาทางสายโลหิต หรือไม่ก็ต้องเป็นผู้ปกครองที่ดูแลเด็กคนนั้นจริงๆ ในทางปฏิบัติ แต่ศาลเยาวชนฯ ก็จะมีขั้นตอนการไต่สวนญาติที่ไม่ใช่สายโลหิตด้วย และอาจจะถูกไต่สวนมากกว่าปกติ

คดีเยาวชนมีความซับซ้อนมากกว่าคดีผู้ใหญ่อย่างไรบ้าง

คุ้มเกล้าให้มุมมองว่า คดีเด็กและเยาวชนมีขั้นตอนอะไรหลายๆ อย่างที่เพิ่มเข้ามา เราไม่ได้มองว่ามันเป็นปัญหา แต่มันเป็นกระบวนการที่มาจากสิทธิเด็ก เป็นการช่วยให้เยาวชนหันเหออกจากคดีอาญา เพราะถ้าเกิดถูกดำเนินคดีอาญาแล้ว จะถูกบันทึกในข้อมูลอาชญากร มันคือทางเลือกให้เด็กมีโอกาสที่ไม่มีประวัติอาชญากรติดตัว

ผรัณดาเพิ่มเติมว่าในคดีเยาวชนจะมีกรณีพิเศษอย่างนึง คือ มาตรการพิเศษก่อนฟ้องคดี มาตรการนี้เยาวชนจะเข้าร่วมได้โดยมีเงื่อนไขตามกฎหมาย คือ เป็นการกระทำผิดครั้งแรกของเยาวชน บทลงโทษจำคุกในคดีจำกัดไม่เกิน 5 ปี การเข้ากระบวนการนี้เยาวชนต้องยอมรับความผิดและต้องมีความสำนึก ซึ่งส่วนใหญ่ตัวเยาวชนที่โดนคดีการเมืองจะไม่ยอมเข้ากระบวนการนี้ แต่ถ้าเด็กเซ็นยอมรับเข้าโครงการนี้ก็ไม่ได้แปลว่าจะจบเลย ถ้าเยาวชนกระทำผิดอีกครั้ง หรือผิดเงื่อนไข มาตรการพิเศษก่อนฟ้องคดีนี้จะถูกยกเลิกทันที ข้อดีของการเข้ากระบวนการนี้ คือ เด็กไม่ต้องเข้ากระบวนการทางกฎหมายที่ยืดเยื้อตามมา

คุ้มเกล้าเพิ่มเติมว่า “เราต้องไม่ชาชินกับความรุนแรงที่เขาโดนทุกวัน มันไม่ใช่เรื่องปกติที่น้องๆ กลุ่มทะลุแก๊ซจะได้รับ เจ้าหน้าที่มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยตามลำดับขั้นตอน เป็นหน้าที่ของเขาที่จะทำตามลำดับขั้นตอนตามกฎหมาย แต่สิ่งที่เราเจอมา คือมันไม่ได้ถูกกฎหมายและเราไม่ควรชาชินกับมัน” คุ้มเกล้าฝากถึงองค์กรด้านการคุ้มครองเด็กว่าควรทำงานให้มากกว่านี้ ไม่ใช่แยกเด็กกลุ่มนี้ออกจากเด็กกลุ่มอื่นๆ ทางองค์กรไม่ควรเลือกปฏิบัติ

การพูดคุยปิดท้ายด้วยความเห็นร่วมกันว่า เด็กและเยาวชนที่ออกมาแสดงออกที่บริเวณดินแดงมีความประสงค์ที่ดี รัฐควรมีมุมมองใหม่ต่อเยาวชนเหล่านั้น เป็นไปได้หรือไม่ว่า รัฐต้องมองว่าเขาเป็นเยาวชน ไม่ใช่กลุ่มติดอาวุธ ไม่เช่นนั้นแล้ว เราก็จะหาจุดตรงกลางและแก้ปัญหาในวิกฤตนี้ไม่ได้

อ่านเพิ่มเติม: 

สิงหาคม 64: เดือนเดียวผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองเพิ่มไปกว่า 404 ราย ยอดรวมทะลุไปไม่น้อยกว่า 1,161 คนแล้ว

ม๊อบดินแดงคือใคร ทำไมต้องรุนแรง ทางออกคืออะไร

สมรภูมิดินแดง

สังคมที่เต็มไปด้วยการกดทับ ผลลัพธ์คือความเดือดดาล – คุยกับ ‘ทะลุแก๊ซ’ถอดข้อเท็จจริงแนวปะทะสมรภูมิดินแดง 18 ครั้ง ตลอดเดือนสิงหาคม 2564

X