ขณะนี้ ‘น้ำ วารุณี’ ผู้ต้องคดีมาตรา 112 กำลังอดอาหารและน้ำประท้วง เพื่อทวงสิทธิประกันตัวจากศาล เนื่องจากตลอดเวลาที่เธอถูกคุมขังระหว่างสู้คดีในครั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย. 2566 ศาลมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวเรื่อยมาหลายครั้ง
ภายในระยะเวลาที่เธอถูกคุมขังเกือบ 2 เดือน ก่อนการตัดสินใจ ‘อดอาหารประท้วง’ จะเริ่มต้นขึ้น ทนายความได้เคยยื่นขอประกันเธอต่อศาลแล้ว รวมทั้งสิ้น 5 ครั้ง แบ่งเป็นการยื่นคำร้องประกันต่อ ‘ศาลอาญา’ เป็นจำนวน 4 ครั้ง ซึ่งศาลอาญาได้ส่งต่อให้ ‘ศาลอุทธรณ์’ สั่งทุกครั้ง ส่วนอีก 1 ครั้งเป็นการยื่นอุทธรณ์คำสั่งที่ศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันต่อ ‘ศาลฎีกา’
ภายหลังวารุณีทราบว่า ศาลยกคำร้องขอคืนอิสรภาพเป็นครั้งที่ 5 แล้ว เธอจึงได้ตัดสินใจอดอาหารประท้วงมานับตั้งแต่วันที่ 21 ส.ค. 2566 ก่อนจะยกระดับเป็น ‘การจำกัดการดื่มน้ำ’ ร่วมด้วยตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค. 2566 ตั้งแต่วารุณีดำเนินการอดอาหารประท้วง มาจนถึงปัจจุบัน ทนายความได้ยื่นประกันตัวเพิ่มอีก 2 ครั้ง แบ่งเป็นการยื่นต่อศาลอาญา 1 ครั้ง และอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกาอีก 1 ครั้ง
นั่นหมายความว่า ตลอดระยะเวลาที่ ‘วารุณี’ ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ จนถึงปัจจุบัน (5 ก.ย. 2566) สรุปรวมการยื่นประกันเพื่อขอคืนอิสรภาพจากศาล รวมทั้งสิ้น 7 ครั้ง แบ่งเป็นการยื่นประกันต่อศาลอาญา 5 ครั้ง และยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันของศาลอุทธรณ์อีก 2 ครั้ง ซึ่งตลอดทั้ง 7 ครั้งนี้ ศาลสูงล้วนมีคำสั่ง ‘ยกคำร้อง’ หรือ ‘ไม่ให้ประกันตัว’ ทุกครั้ง
ผลของคำสั่งในแต่ละครั้งมีรายละเอียดแตกต่างกันไปบ้างเล็กน้อย แต่โดยภาพรวมแล้วศาลให้เหตุผลที่ไม่ให้ประกันตัวในลักษณะคล้ายเดิมแทบทุกครั้ง ซึ่งสามารถสรุป ‘เหตุผลสำคัญ’ ที่ศาลใช้อ้างในคำสั่งไม่ให้ประกันเป็น 5 เหตุผลด้วยกัน ได้แก่
- ข้อหามีอัตราโทษสูง : จำนวน 5 ครั้ง
- จำเลยให้การรับสารภาพ : จำนวน 7 ครั้ง
- เกรงว่าจะหลบหนี : จำนวน 7 ครั้ง
- ศาลอุทธรณ์เคยสั่งไม่ให้ประกัน : จำนวน 4 ครั้ง
- อาการเจ็บป่วยราชทัณฑ์ดูแลได้ : จำนวน 5 ครั้ง
สำหรับ ‘วารุณี’ ปัจจุบันอายุ 32 ปี ถูกศาลอาญา (ศาลชั้นต้น) พิพากษาจำคุก 3 ปี ในคดีตามข้อหามาตรา 112 และเหยียดหยามศาสนาฯ จากการถูกฟ้องว่า โพสต์ภาพรัชกาลที่ 10 ขณะเปลี่ยนเครื่องทรง “พระแก้วมรกต” เป็นชุดกระโปรงยาวสีม่วงจากแบรนด์ Sirivannavari และใส่ภาพสุนัขด้วย แต่ศาลได้ลดโทษให้เหลือจำคุก 1 ปี 6 เดือน เนื่องจากวารุณีให้การรับสารภาพ แต่โทษจำคุกไม่ได้รอลงอาญา ทำให้เธอถูกคุมขังอยู่ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง มาตั้งแต่วันนั้น ในวันที่ 28 มิ.ย. เป็นต้นมา
แม้วารุณีจะรับสารภาพ แต่คดีความของเธอยังไม่ถึงที่สุด โดยได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลไปแล้ว การได้รับการประกันตัว จึงยังเป็นสิทธิสำคัญในระหว่างรอคอยให้ศาลระดับที่สูงขึ้นไปทบทวนคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
สรุปประเด็นคำร้องขอประกันวารุณี
ภายหลังวารุณีถูกศาลพิพากษาจำคุกและถูกคุมขังในคดีนี้ ในครั้งแรกและครั้งที่ 2 ทนายความได้ยื่นประกันตัวโดยเสนอหลักทรัพย์ครั้งละ 100,000 บาท แต่การประกันตัวตั้งแต่ครั้งที่ 3 เป็นต้นมา ได้เสนอหลักทรัพย์เพิ่มเป็นครั้งละ 150,000 บาท นอกจากนี้ ในแต่ละครั้งได้บรรยายเหตุสำคัญจำเป็นเกี่ยวกับวารุณีที่ศาลควรจะพิจารณาให้ประกันตัว ซึ่งมีเหตุผลสำคัญ 5 ประการด้วยกัน ได้แก่
- ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี – ตลอดเวลา 2 ปี ที่วารุณีอยู่ในกระบวนยุติธรรม ได้เดินทางไปรายงานตัวตามนัดหมายทุกครั้ง ตั้งแต่ชั้นตำรวจจนถึงวันที่ศาลมีคำพิพากษา อีกทั้งมีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง อยู่ที่จังหวัดพิษณุโลก
- มีอาการเจ็บป่วย – วารุณีป่วยเป็นโรคไบโพลาร์ (Bipolar Disorder) มาตั้งแต่ปี 2562 และต้องเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่องตลอด 4 ปี จนถึงปัจจุบัน หากไม่ได้รับการรักษาที่ต่อเนื่องจะทำให้อาการทรุดลงและได้รับกระทบระยะยาว การถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำทำให้เข้าถึงการรักษาพยาบาลเป็นไปอย่างยากลำบาก การส่งยาโรคประจำตัวเข้าไปแต่ละครั้งต้องใช้เวลานาน หากไม่ได้ทานยาอาจส่งผลให้อาการทรุดลงได้
- มีภาระต้องดูแลครอบครัว – วารุณีต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายภายในครอบครัวทุกเดือน เดือนละประมาณเกือบ 60,000 บาท เป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการผ่อนจ่ายบ้าน รถยนต์ ดูแลพ่อ น้องสาว และน้องชาย และวารุณียังเลี้ยงดูสุนัขอีก 2 ตัวในไว้ด้วย การถูกคุมขังทำให้ครอบครัวได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก
- เป็นความผิดครั้งแรก – วารุณีไม่เคยโพสต์พาดพิงสถาบันกษัตริย์มาก่อน การกระทำในคดีนี้เป็นการโพสต์เกี่ยวกับสถาบันฯ ครั้งแรก
- รับสารภาพ แต่คดียังไม่สิ้นสุด – แม้จะรับสารภาพ แต่วารุณีประสงค์ที่จะต่อสู้คดีเพื่อให้ได้รับโทษที่เหมาะสมต่อไป ในชั้นอุทธรณ์และฎีกาคำพิพากษา การถูกคุมขังไว้ก่อนถึงคดีถึงที่สุด ทำให้เธอไม่สามารถเข้าถึงสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม สิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราว และขัดต่อหลักการสันนิษฐานว่าจำเลยหรือจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด
นอกจากเหตุผลสำคัญพื้นฐานข้างต้นแล้ว ในการยื่นประกันตัววารุณีครั้งหลังๆ ทนายความได้ยื่นข้อเสนอเพิ่มเติมอีกหลายอย่างเพื่อให้ศาลพิจารณามีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราว อาทิ ยื่นเอกสารประวัติการรักษาโรคอารมณ์สองขั้วตลอด 4 ปีที่ผ่านมา, เสนอให้สั่งติดกำไล EM, เสนอให้กำหนดเวลาอยู่ในเคหสถาน, เสนอให้แต่งตั้งผู้กำกับดูแล, เสนอให้แต่งตั้งบิดาของวารุณีเป็นผู้กำกับดูแล เป็นต้น แต่ทว่าศาลก็ยังคงยืนยันไม่ให้ประกันตัว
เหตุผลที่ศาลมักอ้างในคำสั่งไม่ให้ประกันตัว
- ข้อหามีอัตราโทษสูง : จำนวน 5 ครั้ง
- จำเลยสารภาพ : จำนวน 7 ครั้ง
- เกรงว่าจะหลบหนี : จำนวน 7 ครั้ง
- ศาลอุทธรณ์เคยสั่งไม่ให้ประกัน : จำนวน 4 ครั้ง
- อาการเจ็บป่วยราชทัณฑ์ดูแลได้ : จำนวน 5 ครั้ง
ไทม์ไลน์ยื่นประกัน ‘วารุณี’ ตลอด 2 เดือนเศษที่ผ่านมา
มิถุนายน
28 มิ.ย. 2566 – ยื่นประกันตัวครั้งที่ 1
30 มิ.ย. 2566 – ศาลยกคำร้อง
ศาลที่รับคำร้อง : ศาลอาญา
ศาลที่มีคำสั่ง : ศาลอาญาส่งให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณาสั่ง
ผลของคำสั่ง: พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ข้อหามีอัตราโทษสูง จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก มีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ ให้ยกคำร้อง
กรกฎาคม
1 ก.ค. 2566 – ยื่นประกันตัวครั้งที่ 2
3 ก.ค. 2566 – ศาลยกคำร้อง
ศาลที่รับคำร้อง : ศาลอาญา
ศาลที่มีคำสั่ง : ศาลอาญาส่งให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณาสั่ง
ผลของคำสั่ง : พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้วข้อหามีอัตราโทษสูง จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกมีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี ประกอบกับศาลอุทธรณ์เคยไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์มาแล้ว และเหตุตามคำร้องไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ส่วนที่จำเลยอ้างว่าเจ็บป่วยนั้น กรมราชทัณฑ์สามารถดูแลจัดการให้ได้ตาม พ.ร.บ. กรมราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มาตรา 55 จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์ ให้ยกคำร้อง
6 ก.ค. 2566 – ยื่นประกันตัวครั้งที่ 3
8 ก.ค. 2566 – ศาลยกคำร้อง
ศาลที่รับคำร้อง : ศาลอาญา
ศาลที่มีคำสั่ง : ศาลอาญาส่งให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณาสั่ง
ผลของคำสั่ง : พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหา และพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ข้อหามีอัตราโทษสูง จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก มีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี ประกอบกับศาลอุทธรณ์เคยไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์มาแล้วหลายครั้ง และเหตุตามคำร้องไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ส่วนที่จำเลยอ้างว่าเจ็บป่วยนั้น กรมราชทัณฑ์สามารถดูแลจัดการให้ได้ตาม พ.ร.บ.กรมราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มาตรา 55 จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์ ให้ยกคำร้อง
12 ก.ค. 2566 – อุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันครั้งที่ 1
15 ก.ค. 2566 – ศาลฎีกายกคำร้อง
ศาลที่มีคำสั่ง : ศาลฎีกา
ผลของคำสั่ง : พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดี ประกอบกับจำเลยให้การรับสารภาพ และศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าจำเลยอาจจะหลบหนี และเหตุผลตามคำร้องที่อ้างอาการเจ็บป่วยนั้น จำเลยมีสิทธิได้รับการรักษาตามระเบียบของกรมราชทัณฑ์อยู่แล้ว คำสั่งศาลอุทธรณ์ที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวนั้นชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง
สิงหาคม
17 ส.ค. 2566 – ยื่นประกันตัวครั้งที่ 4
17 ส.ค. 2566 – ศาลยกคำร้อง
ศาลที่รับคำร้อง : ศาลอาญา
ศาลที่มีคำสั่ง : ศาลอาญาส่งให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณาสั่ง
ผลของคำสั่ง : พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ข้อหามีอัตราโทษสูง จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุก มีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี
21 ส.ค. 2566 – วารุณีเริ่มต้นอดอาหารประท้วง วารุณีเริ่มอดอาหารประท้วง ในเวลาเที่ยงวันของวันนี้ โดยได้ปฏิเสธอาหารทั้งหมด และได้ดื่มนม นมถั่วเหลือง น้ำเปล่า เพื่อประทังชีวิตในระหว่างนี้ รวมถึงยังทานยานานหลับและยารักษาโรคอารมณ์สองขั้วเช่นเดิม
24 ส.ค. 2566 – วารุณียกระดับจำกัดการดื่มน้ำ วันนี้วารุณียกระดับการประท้วงเป็นการจำกัดการดื่มน้ำร่วมด้วย โดยจะดื่มน้ำเฉพาะเวลาทานยานอนหลับและยารักษาโรคประจำตัวเท่านั้น
24 ส.ค. 2566 – ยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันตัวครั้งที่ 2
25 ส.ค. 2566 – ศาลยกคำร้อง
ศาลที่มีคำสั่ง : ศาลฎีกา
ผลของคำสั่ง : พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีจำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก 1 ปี 6 เดือน ประกอบกับศาลฎีกาเคยมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวจำเลยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์มาแล้ว หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าจำเลยอาจจะหลบหนี ส่วนเหตุผลตามคำร้องที่อ้างอาการเจ็บป่วย จำเลยมีสิทธิได้รับการรักษาตามระเบียบของกรมราชทัณฑ์อยู่แล้ว คำสั่งศาลอุทธรณ์ที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวนั้นชอบแล้วให้ยกคำร้อง
29 ส.ค. 2566 – ยื่นประกันตัวครั้งที่ 5
30 ส.ค. 2566 – รพ.ราชทัณฑ์รับตัววารุณีไว้แอดมิท วันดังกล่าว วารุณีมีอาการอ่อนเพลียมาก จึงนำตัวส่งตรวจที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ และต่อมาแพทย์ได้วินิจฉัยให้วารุณีรับการรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล จนถึงปัจจุบัน (5 ก.ย.) วารุณียังคงอยู่ใต้การดูแลของทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์
กันยายน
1 ก.ย. 2566 – ศาลยกคำร้อง
ศาลที่รับคำร้อง : ศาลอาญา
ศาลที่มีคำสั่ง : ศาลอาญาส่งให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณาสั่ง
ผลของคำสั่ง : พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ข้อหามีอัตราโทษสูง จำเลยให้การรับสารภาพศาลชั้นต้นลงโทษจำคุก มีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี ประกอบกับศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาเคยไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์มาแล้ว และเหตุตามคำร้องไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม
ส่วนจำเลยอ้างว่าเจ็บป่วยนั้น กรมราชทัณฑ์สามารถดูแลจัดการให้ได้ และหากยังคงรักษาพยาบาลอยู่ในเรือนจำอาการจะไม่ทุเลาดีขึ้น จำเลยชอบที่จะร้องขอให้ส่งตัวไปรักษายังโรงพยาบาลหรือสถานบำบัดรักษาทางสุขภาพจิตนอกเรือนจำได้ตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มาตรา 55 จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์ ยกคำร้อง
เรื่องที่เกี่ยวข้อง