ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประกาศหรือคำสั่ง คสช.

ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประกาศหรือคำสั่ง คสช.

ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประกาศหรือคำสั่ง คสช.

ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ยึดอำนาจการปกครอง  และได้ออกประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ  และนำความสงบสุขกลับคือนสู่ประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่ายโดยเร็ว  โดยให้มีผลนับแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เวลา 16.30 น.  เป็นต้นไป  (ประกาศ 2/57)

            กฎอัยการศึกมี 17 มาตรา โดยมีสาระสำคัญ  ดังนี้

  • เมื่อประกาศใช้กฎอัยการศึก ให้เจ้าหน้าที่ทหารมีอำนาจเหนือพลเรือนในเรื่องการยุทธ การระงับปราบปรามหรือการรักษาความสงบเรียบร้อย (ม.6)
  • ศาลพลเรือนมีอำนาจพิจารณาคดีตามปกติ และฝ่ายทหารมีอำนาจประกาศให้คดีอาญาใดที่เกิดขึ้นในเขตที่ประกาศใช้กฎอัยการศึกมีเหตุเกี่ยวกับความมั่นคงหรือความสงบเรียบร้อย  จะสั่งให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาในศาลทหารก็ได้ (ม.7)
  • ทหารมีอำนาจที่จะตรวจค้น เกณฑ์ ห้าม ยึด เข้าอาศัย ทำลายหรือเปลี่ยนแปลงสถานที่ ขับไล่ (ม.8)
  • มีอำนาจตรวจค้นบุคคล ยานพาหนะ เคหะสถาน สิ่งปลูกสร้าง หรือที่ใดๆ และไม่ว่าเวลาใดๆ ก็ได้ นอกจากนี้ยังอาจตรวจข่าวสาร จดหมาย สิ่งของ หนังสือ สิ่งพิมพ์ ภาพโฆษณา บทหรือคำประพันธ์ (ม.9)
  • การห้าม มีอำนาจจะห้ามได้ (1) ห้ามมั่วสุมประชุมกัน (2) ห้ามออก จำหน่าย จ่ายแจกหนังสือ สิ่งพิมพ์ (3) ห้ามโฆษณา แสดงมหรสพ รับหรือส่งวิทยุ วิทยุกระจายเสียงหรือวิทยุโทรทัศน์ (4) ห้ามใช้ทางสาธารณะเพื่อการจราจร (5) ห้ามใช้เครื่องมือสื่อสาร อาวุธ เคมีภัณฑ์ (6) ห้ามบุคคลออกนอกเคหะสถาน (7) ห้ามเข้าไปอาศัย (8) อื่นๆ ตามที่รมต.กลาโหมกำหนด (ม.11)
  • การยึด มีอำนาจยึดส่งของที่เห็นว่าจำเป็น ไว้ชั่วคราวได้  เพื่อไม่ให้เป็นประโยชน์แก่ราชศัตรูหรือเพื่อประโยชน์แก่ราชการทหาร  (ม.12)
  • มีอำนาจกักตัวบุคคลที่สงสัยว่า ) เป็นราชศัตรู หรือ 2.) ฝ่าฝืนกฎอัยการศึก หรือ 3.)ฝ่าฝืนคำสั่งของทหาร ได้ไม่เกิน 7 วัน โดยไม่ต้องมีหมายจับและหมายขังจากศาล และอาจควบคุมตัวไว้ที่ใดก็ได้  (ม.15 ทวิ)
  • ความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้อำนาจโดยชอบด้วยกฎหมายในระหว่างที่ทหารใช้อำนาจตามกอัยการศึก บุคคลจะเรียกร้องค่าเสียหายจากทหารไม่ได้  (ม.16)

ในการใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกดังกล่าว  อาจไม่มีการประกาศกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับการใช้อำนาจก็ได้  เช่น  แม้ไม่มีประกาศเรื่องการค้น  หรือการจับและกักตัว 7  วัน  เจ้าหน้าที่ทหารก็มีอำนาจค้นหรือกักตัวบุคคลได้ไม่เกิน 7 วัน  ตามกฎอัยการศึกหรืออาจมีการประกาศกำหนดข้อห้ามหรือคำสั่ง  เพื่อให้มีความชัดเจนก็ได้ แต่หากเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อจนเป็นเหตุทำให้ผู้อื่นเสียหาย  หรือเป็นการกระทำที่นอกเหนือจากการใช้อำนาจหรือเกินขอบเขตของอำนาจตามกฎหมายแล้ว  ผู้เสียหายก็สามารถเรียกร้องค่าเสียหายจากฝ่ายทหารได้

ทหารจะใช้อำนาจกักบุคคลเพื่อซักถามหรือเมื่อมีความจำเป็นได้ไม่เกิน  7  วัน  หากเมื่อหมดความจำเป็นแล้วก็จะปล่อยตัวไป หากพบว่าผู้ถูกกักนั้นเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายก็จะส่งตัวให้กับเจ้าพนักงานตำรวจเพื่อดำเนินคดีอาญาต่อไป  กรณีการดำเนินการต่อประชาชนที่ไม่ปฏิบัติตามประกาศ หรือขัดต่อคำสั่งของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร  เจ้าหน้าที่สามารถกระทำได้เพียงกักตัวไว้เพื่อไม่เกิน  7  วันเท่านั้น  จึงต้องพิจารณาว่าจะเป็นการกระทำผิดต่อกฎหมายอื่นใดหรือไม่  ซึ่งหากกระทำผิดอาจถูกดำเนินคดีอาญาตามประมวลกฎหมายอาญาก็ได้[1]

แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการกักตัวซึ่งรวบรวมโดย กอ.รมน.ภาค 4 สน. ยังได้กำหนดหลักการเกี่ยวกับการกักตัวว่า  เมื่อมีการตรวจค้นหรือเชิญตัวบุคคลไปซักถามข่าวสาร  “ให้เจ้าหน้าที่จัดทำบันทึกเชิญตัวเพื่อซักถามข่าวสาร”  โดยบันทึกดังกล่าวให้ทำต่อหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ได้แก่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ปลัดอำเภอ เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร และตัวแทนของผู้ถูกเชิญตัว  แต่การตรวจค้นที่เป็นส่วนรวม (ปิดล้อมตรวจค้น) ไม่ต้องจัดทำบันทึกนี้  ยกเว้นการตรวจค้นเพื่อนำตัวบุคคลใดไปสอบถามงานการข่าวในสถานที่ที่ทางราชการฝ่ายทหารกำหนด  การเชิญตัวหรือกักตัวบุคคลดังกล่าวนี้  มิใช่การควบคุมตัวหรือการขังตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  ดังนั้นจึงไม่ต้องขอหมายศาล  ทั้งไม่จำเป็นต้องมีหลักฐานเพื่อใช้ดำเนินคดี  และกักตัวได้ไม่เกิน 7 วัน โดยนับตั้งแต่นำตัวมากักไว้ที่หน่วย (ของฝ่ายทหาร) ส่วนระยะเวลาการเดินทางมาที่หน่วยไม่นับรวมไว้ด้วย[2]

ปัจจุบัน  คสช.  ได้ออกประกาศกว่า  50  ฉบับ  และออกคำสั่งอีกกว่า 40 ฉบับ  ในการออกประกาศและคำสั่งของคสช.ดังกล่าว  บางประกาศเป็นการประกาศห้ามหรือขอความร่วมมือ  โดยไม่ได้กำหนดโทษไว้  เช่น  ประกาศห้ามออกนอกเคหะสถาน   แต่บางประกาศจะมีการกำหนดโทษไว้ด้วย  ซึ่งหากมีการฝ่าฝืน  ก็จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย  เช่น  ประกาศฉบับที่  เรื่องการห้ามชุมนุมหรือมั่วสุมเกินกว่า 5 คน  หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปีหรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท  หรือทั้งจำและปรับ  หรือหากฝ่าฝืนคำสั่งให้ไปรายงานตัว  หรือฝ่าฝืนเงื่อนไขเมื่อได้รับการปล่อยตัว  มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปีหรือปรับไม่เกิน  40,000 บาท  หรือทั้งจำและปรับ  ทั้งนี้  ซึ่งหากฝ่าฝืนประกาศแบบไม่มีการกำหนดโทษนั้น  แม้บุคคลจะไม่ถูกดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืนประกาศ  แต่ก็อาจถูกจับกุมและกักตัวได้ตามความจำเป็นไม่เกิน 7 วัน  ตามกฎอัยการศึกม. 15 ทวิ

บุคคลอาจถูกจับและกักตัว  ได้หลายกรณี  ดังนี้

  1. กรณีถูกเรียกให้ไปรายงานตัว
    1. ไปรายงานตัวตามคำสั่ง เมื่อบุคคลใดมีรายชื่อตามคำสั่งเรียกให้ไปรายงานตัวของคสช.  และไปรายงานตัวตามวันและเวลาที่กำหนดในคำสั่ง  บุคคลนั้นอาจได้รับการปล่อยตัวในวันเดียวกันนั้น  หรืออาจถูกกักตัวไว้ที่ค่ายทหารที่ใดที่หนึ่ง  แต่ถูกกักตัวได้ตามความจำเป็นไม่เกิน  7  วัน  แต่เมื่อได้รับการปล่อยตัวแล้ว  ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดตามประกาศคสช. 39/57  อย่างเคร่งครัด  คือ ห้ามออกนอกราชอาณาจักร และละเว้นการเคลื่อนไหวและการประชุมทางการเมือง  หากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าว  จะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

  1. ไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่ง เมื่อบุคคลใดมีรายชื่อตามคำสั่งเรียกให้ไปรายงานตัวของคสช. แล้วไม่ไปรายงานตัวตามวันและเวลาที่กำหนดในคำสั่ง  บุคคลนั้นอาจถูกจับและกักตัวไว้ที่ค่ายทหารที่ใดที่หนึ่งได้ตามความจำเป็นไม่เกิน  7  วัน   (อาจถูกกักครบ 7 วัน หรือไม่ถึง 7 วันก็ได้)  และจะถูกดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งให้มารายงานตัว  มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี  หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ
  1. กรณีกระทำการฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่งคสช.
    1. ประกาศที่ไม่กำหนดโทษเช่นหากบุคคลฝ่าฝืนประกาศห้ามบุคคลออกนอกเคหะสถาน บุคคลนั้นอาจถูกจับและได้รับการปล่อยตัวในวันเดียวกันนั้น  หรืออาจถูกกักตัวไว้ที่ค่ายทหารที่ใดที่หนึ่ง  แต่ถูกกักได้ตามความจำเป็นไม่เกิน  7  วัน  แต่เมื่อได้รับการปล่อยตัวแล้วต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดตามประกาศคสช. 40/57  อย่างเคร่งครัด  คือ ห้ามออกนอกราชอาณาจักร และละเว้นการเคลื่อนไหวและการประชุมทางการเมือง  หากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าว  จะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ
    2. ประกาศหรือคำสั่งที่กำหนดโทษ เช่น  ประกาศห้ามชุมนุมทางการเมือง  หากบุคคลใดฝ่าฝืน  บุคคลนั้นอาจถูกจับ หรืออาจถูกกักตัวไว้ที่ใดที่หนึ่ง  ได้ตามความจำเป็นไม่เกิน  7  วัน และอาจถูกดำเนินคดีตามประกาศฉบับที่ 7 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ  แต่ในทางปฏิบัติอาจมีกรณีเจ้าหน้าที่พิจารณาปล่อยตัวก่อนครบกำหนด 7 วันโดยมิได้ดำเนินคดี ก็ได้  แต่เมื่อได้รับการปล่อยตัวแล้วต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดตามประกาศคสช. 40/57  อย่างเคร่งครัด  คือ ห้ามออกนอกราชอาณาจักร และละเว้นการเคลื่อนไหวและการประชุมทางการเมือง  หากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าว  จะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ
  2. กรณีถูกจับเนื่องจากเหตุอื่นๆ

แม้ไม่ได้มีคำสั่งเรียกให้ไปรายงานตัวหรือไม่ได้กระทำการฝ่าฝืนประกาศคสช.  บุคคลก็อาจถูกจับและกักตัวตามกฎอัยการศึกได้  เช่น การเชิญตัวบุคคลโดยไม่มีคำสั่งหรือประกาศเรียกอย่างเป็นทางการ  กรณีเจ้าหน้าที่ไปตรวจค้นบ้าน  ทั้งสองกรณีอาจมีการจับตัวและนำมากักตัวไว้ที่ค่ายทหาร  ซึ่งบุคคลดังกล่าวอาจได้รับการปล่อยตัวภายใน  7 วัน  แต่เมื่อได้รับการปล่อยตัวแล้วต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดตามประกาศคสช. 40/57 อย่างเคร่งครัด คือ ห้ามออกนอกราชอาณาจักร และละเว้นการเคลื่อนไหวและการประชุมทางการเมือง หากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าว จะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ในระหว่างการควบคุมตัวอาจมีการสอบประวัติเพื่อดูพฤติการณ์ที่ผ่านมาและออกมาตรการในการดำเนินการต่อไปก็ได้

 

ข้อสังเกต

  • พ.ร.บ. กฎอัยการศึก มาตรา ๑๕ ทวิ เมื่อเทียบกับ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ มาตรา ๑๑ (๑) และมาตรา ๑๒  จะเห็นว่าไม่มีหลักเกณฑ์เป็นกรอบในการใช้อำนาจที่ชัดเจน  นักกฎหมายจึงควรพยามตีความการใช้อำนาจตามมาตร ๑๕ ทวิ ให้มีหลักเกณฑ์การใช้อำนาจโดยเทียบเคียงกับหลักเกณฑ์ใน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่อ้างถึงและให้เป็นไปตามหลักความได้สัดส่วน

[1]การใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แผนกบังคับใช้กฎหมาย  กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค ๔ ส่วนหน้า

[2]แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการกักตัว แผนกบังคับใช้กฎหมาย  กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค ๔ ส่วนหน้า

X