สิงหาคม 2566: จำนวนผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองยอดรวม 1,925 คน ใน 1,241 คดี

เดือนสิงหาคมที่ผ่านพ้นไป ระหว่างการจัดตั้งรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย สถานการณ์การดำเนินคดีจากการแสดงออกทางการเมืองยังดำเนินต่อไป โดยมีคดีใหม่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ทั้งคดีมาตรา 112 และคดีจากการชุมนุม ขณะที่คดีจากการชุมนุมในช่วงปี 2563-65 ศาลก็ทยอยมีคำพิพากษาอย่างต่อเนื่อง ทั้งคดีมาตรา 112 จำนวนไม่น้อยกว่า 10 คดี และคดีตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อีกอย่างน้อย 11 คดี ขณะสถานการณ์ผู้ถูกคุมขังจากคดีต่างๆ ทยอยเพิ่มสูงขึ้น

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2566 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 1,925 คน ในจำนวน 1,241 คดี

ในจำนวนนี้ เป็นเด็กและเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 286 ราย ใน 215 คดี 

เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีกับในช่วงสิ้นเดือนกรกฎาคม 2566 มีผู้ถูกดำเนินคดีรายใหม่เพิ่มขึ้นจำนวน 7 คน คดีเพิ่มขึ้น 11 คดี (นับเฉพาะผู้ถูกกล่าวหาที่ไม่เคยถูกดำเนินคดีมาก่อน) 

หากนับจำนวนบุคคลที่ถูกดำเนินคดีซ้ำในหลายคดี โดยไม่หักออก แต่นำจำนวนมาเรียงต่อกันแล้ว จะพบว่ามีจำนวนการถูกดำเนินคดีไปอย่างน้อย 3,909 ครั้ง

สำหรับสถิติการดำเนินคดี แยกตามข้อกล่าวหาสำคัญ ได้แก่

1. ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 257 คน ในจำนวน 278 คดี

2. ข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 130 คน ในจำนวน 41 คดี

3. ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 1,469 คน ในจำนวน 663 คดี (นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 ที่เริ่มมีการดำเนินคดีข้อหานี้ต่อผู้ชุมนุมและทำกิจกรรมทางการเมือง) 

4. ข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ อย่างน้อย 163 คน ในจำนวน 84 คดี

5. ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อย่างน้อย 184 คน ในจำนวน 204 คดี

6. ข้อหาละเมิดอำนาจศาล อย่างน้อย 36 คน ใน 20 คดี และคดีดูหมิ่นศาล อย่างน้อย 34 คน ใน 10 คดี

จากจำนวนคดี 1,241 คดีดังกล่าว มีจำนวน 408 คดี ที่สิ้นสุดไปแล้ว เท่ากับยังมีคดีอีกกว่า 833 คดี ที่ยังดำเนินอยู่ในกระบวนการชั้นต่างๆ

.

.

คดี ม.112 เพิ่มขึ้น 5 คดี ศาลมีคำพิพากษาอีก 10 คดี และผู้ถูกคุมขังระหว่างพิจารณาเพิ่มเป็น 7 ราย 

สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 เท่าที่ทราบข้อมูล ในเดือนที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 4 คน ใน 5 คดี โดยทุกคดีมีประชาชนจากกลุ่มปกป้องสถาบันฯ เป็นผู้ไปแจ้งความกล่าวหาไว้

ในจำนวนนี้ มีสองคดีเป็นกรณีจากการปราศรัยในการชุมนุมช่วงโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีของรัฐสภา ทั้งสองคดีมี อานนท์ กลิ่นแก้ว จากกลุ่ม ศปปส. เป็นผู้กล่าวหา ได้แก่ คดีของ ‘พิมพ์’ แทนฤทัย แท่นรัตน์ นักกิจกรรมมกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ จากกรณีปราศรัยในเวที ‘Respect My Vote’ เรียกร้องให้วุฒิสภาเคารพเสียงของประชาชน ที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2566 

และคดีของ “ป้านิด” จิราภรณ์ บุษปะเกศ ประชาชนนนทบุรีอายุ 74 ปี ผู้ถูกกล่าวหาจากการปราศรัย ในการชุมนุม THE RETURN OF THAMMASAT #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2566 นับเป็นผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 ที่มีอายุมากที่สุดในช่วงระยะหลังนี้

.

.

นอกจากนั้น ยังมีกรณีของนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2 ราย ได้แก่ “บิ๊ก” เกียรติชัย ตั้งภรณ์พรรณ และ เบนจา อะปัญ ที่ถูกตำรวจ สน.ลุมพินี เรียกไปแจ้งข้อกล่าวหามาตรา 112 จากกรณีปราศรัยในการชุมนุม #ม็อบ3กันยา64 ที่แยกราชประสงค์ ก่อนหน้านี้ทั้งสองคนถูกแจ้งข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาก่อนในคดีนี้ โดยคดีมี ระพีพงษ์ ชัยยารัตน์ สมาชิกกลุ่ม ศปปส. เป็นผู้กล่าวหา นับเป็นคดีมาตรา 112 คดีที่ 4 ของบิ๊ก และคดีที่ 8 ของเบนจาแล้ว

ขณะเดียวกันยังมีกรณีประชาชนทั่วไปที่ถูกกลุ่มปกป้องสถาบันฯ ไปกล่าวหาไว้ในสถานีตำรวจในพื้นที่ทางภาคใต้ ทำให้ต้องเดินทางไปรับทราบข้อหา ได้แก่ คดีของ ‘ณัฐพล’ หนุ่มจากกรุงเทพฯ วัย 27 ปี ถูกทรงชัย เนียมหอม แกนนำกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบัน กล่าวหาไว้ที่ สภ.คอหงส์ จังหวัดสงขลา กรณีโพสต์ทวิตเตอร์เมื่อปี 2564

รวมทั้งคดีของธีรเมธ หนุ่มผู้พิการทางสติปัญญา ที่ทางตำรวจ สภ.ทะเลน้อย จ.พัทลุง ยินยอมเดินทางไปแจ้งข้อหาที่จังหวัดเลย ภูมิลำเนาที่เขาอยู่ ตามคำร้องขอ ก่อนพบว่าเขาถูกกล่าวหาจากการทำคลิป Tiktok เมื่อต้นปี 2566 หลังจากนี้ ธีรเมธต้องเดินทางจากจังหวัดเลยไปพัทลุงเพื่อต่อสู้คดีนี้ต่อไป

.

.

ในส่วนคดีมาตรา 112 ที่ดำเนินอยู่ในชั้นศาล เดือนที่ผ่านมา ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาออกมาอีกอย่างน้อยถึง 10 คดี แยกเป็นคดีที่มีการต่อสู้คดี 8 คดี และคดีที่จำเลยให้การรับสารภาพอีก 2 คดี

สำหรับคำพิพากษาที่ออกมามีในหลากหลายรูปแบบ ทั้งคดีที่ศาลยกฟ้องทุกข้อกล่าวหา 2 คดี อย่างคดีของ “พชร” หรือคดีของ “ปีเตอร์” 

คดีที่ศาลยกฟ้องข้อหาตามมาตรา 112 แต่เห็นว่ามีความผิดในข้อหาอื่น ได้แก่ ทำให้เสียทรัพย์ โดยให้รอการลงโทษจำคุกไว้ ได้แก่ คดีของ “แต้ม” และคดีของ “สมพล”

คดีที่ศาลเห็นว่ามีความผิดตามมาตรา 112 แต่ให้รอการลงโทษจำคุกไว้ ได้แก่ คดีของ “รามิล-เท็น” ที่จังหวัดเชียงใหม่ และคดีของ “ปริญญา” ที่จังหวัดหนองบัวลำภู  รวมถึง 2 คดีที่จำเลยให้การรับสารภาพ และศาลให้การลงโทษไว้ ได้แก่ คดีของ “อาร์ม” ที่จังหวัดกำแพงเพชร และคดีของ “สมพล” อีกคดีหนึ่ง กรณีพ่นสีสเปรย์ที่มีข้อความเกี่ยวกับกษัตริย์ในจังหวัดปทุมธานี

.

.

ขณะเดียวกันมีอย่างน้อย 2 คดี ที่ศาลพิพากษาว่ามีความผิดตามมาตรา 112 โดยไม่ให้รอลงอาญา ได้แก่ คดีของ “ฮ่องเต้” ธนาธร ที่จังหวัดเชียงใหม่ และคดีของ “เก็ท” โสภณ โดยคดีแรก จำเลยยังได้รับการประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ แต่คดีของเก็ท ศาลอุทธรณ์กลับไม่อนุญาตให้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์

นอกจากนั้น ยังมีคดีมาตรา 112 ที่มีคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ออกมาอีกจำนวน 1 คดี ได้แก่ คดีของ “อุดม” คนงานโรงงานจากปราจีนบุรี ที่ไปถูกกล่าวหาที่นราธิวาส จากการโพสต์เฟซบุ๊ก ศาลอุทธรณ์ภาค 9 มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ให้จำคุก 4 ปี โดยไม่รอลงอาญา คดีนี้ ศาลฎีกายังไม่อนุญาตให้ประกันตัวระหว่างฎีกา ทำให้อุดมถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำจังหวัดนราธิวาสด้วย

สถานการณ์ดังกล่าว ทำให้จนถึงสิ้นเดือนสิงหาคม มีผู้ถูกคุมขังในคดีมาตรา 112 ระหว่างพิจารณาเท่าที่ทราบข้อมูลอย่างน้อย 7 ราย ได้แก่ วุฒิ (ขังระหว่างต่อสู้คดีในศาลชั้นต้น), เวหา-ทีปกร-วารุณี -วัฒน์-โสภณ (ขังระหว่างอุทธรณ์) และอุดม (ขังระหว่างฎีกา)

.

.

นักกิจกรรม 19 ราย ถูกแจ้งข้อหากรณีชุมนุมช่วง APEC2022  ขณะคดีตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ศาลพิพากษา 11 คดี ยกฟ้องและเห็นว่าผิดพอๆ กัน

เดือนสิงหาคม นักกิจกรรมที่ได้รับหมายเรียกของ สน.พลับพลาไชย 2 รวม 19 ราย ได้ทยอยเข้ารับทราบข้อหาใน 2 คดี (มี 1 ราย ถูกกล่าวหาในทั้งสองคดี) โดยพบว่าเป็นคดีจากเหตุการณ์ชุมนุมในช่วงการประชุม APEC2022 ได้แก่ กรณีเดินขบวนเรียกร้องดวงตาของ ‘พายุ ดาวดิน’ ที่บริเวณย่านเยาวราช และกรณีทำกิจกรรม “ไซอิ๋วตะลุยเอเปค” ต่อต้านบรรดาผู้นำเผด็จการที่เข้าร่วมประชุม APEC ทั้งสองคดีมีข้อหาหลักตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ และตำรวจเพิ่งออกหมายเรียกผู้ต้องหาหลังเหตุการณ์ผ่านมากว่า 8-9 เดือนแล้ว

ขณะเดียวกัน ตำรวจ สน.ห้วยขวาง ยังได้ออกหมายเรียกนักกิจกรรมและประชาชนรวม 18 คน คดีตาม พ.ร.บ.การชุมนุมฯ และข้อหาอื่นๆ จากการทำกิจกรรม #กระชากกวีซีไรต์ เรียกร้องให้ถอดถอน เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ออกจาก สว. ที่หน้ากระทรวงวัฒนธรรม เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2566 ด้วย แต่ยังอยู่ระหว่างรอการเข้ารับทราบข้อกล่าวหา

ส่วนคดีตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมในช่วงปี 2563-65 พบว่าเดือนที่ผ่านมา ศาลมีคำพิพากษาออกมาอีก 11 คดี โดยมีคดีที่ศาลยกฟ้อง 5 คดี โดยแนวคำวินิจฉัยเห็นว่ายังเป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธตามรัฐธรรมนูญ และมีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคระบาดน้อย 

ขณะที่ก็มีจำนวน 6 คดี ที่ศาลเห็นว่ามีความผิด โดยส่วนใหญ่พิพากษาให้ลงโทษปรับ แต่ก็มีคดีที่ศาลลงโทษจำคุก โดยไม่รอลงอาญา ได้แก่ คดีของ “ฮ่องเต้” ธนาธร นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กรณีร่วมคาร์ม็อบ “ล้านนาต้านศักดินาทัวร์” เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2564 ซึ่งถูกฟ้อง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ่วงกับมาตรา 112 และศาลเห็นว่ามีความผิดทั้งสองข้อหา โดยตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ลงโทษจำคุก 1 เดือน โดยไม่รอลงอาญา และคดีของปัณณพัทธ์ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรณีชุมนุมที่หน้าสถานทูตเมียนมา เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 จำเลยรายนี้เป็นคนเดียวที่ยืนยันขอต่อสู้คดีในคดีนี้ ศาลได้พิพากษาโทษฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จำคุก 20 วัน โดยไม่รอลงอาญา ทั้งสองคดีอยู่ระหว่างอุทธรณ์คำพิพากษา

โดยภาพรวมจากการติตตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน คดีที่ศาลยกฟ้องยังมีสัดส่วนมากกว่าคดีที่ศาลเห็นว่ามีความผิด แม้ในหลายเดือนหลัง สัดส่วนคดีที่ศาลเห็นว่ามีความผิดจะมีมากขึ้น

.

.

นอกจากนั้น ยังมีคดีที่ศาลอุทธรณ์ กลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ที่เคยให้ยกฟ้องคดี กลายเป็นเห็นว่ามีความผิด ได้แก่ คดีชุมนุม #คนเจียงฮายก้ายคนง่าวบ่เอาคนหลายใจ ที่จังหวัดเชียงราย วันที่ 25 ก.ค. 2563 ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ให้ลงโทษปรับจำเลย 4,000 บาท 

นอกจากนั้น ยังมีคดีข้อหาอื่นๆ ที่ขึ้นสู่ชั้นอุทธรณ์ ที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาออกมาด้วย โดยพบว่ามีการกลับคำพิพากษาจากศาลชั้นต้นเดิมทั้งในทิศทางบวกและลบสลับกัน ได้แก่ คดีของ 3 นักศึกษาชักธง “ปฏิรูปกษัตริย์” ในมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ถูกฟ้องตาม พ.ร.บ.ธง ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ได้กลับคำพิพากษาเป็นยกฟ้องคดี โดยเห็นว่าพยานหลักฐานของโจทก์ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าจําเลยมีเจตนาปฏิบัติต่อธงชาติโดยวิธีอันไม่สมควร ไม่เคารพ หรือทําให้เกิดความเสื่อมเสียซึ่งเกียรติภูมิของประเทศไทยหรือชาติไทย

แต่ในคดีของสองนักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ผู้ถูกฟ้องดูหมิ่นโดยโฆษณา จากการชูป้าย ‘I HERE ตู่ รัฐบาลฆาตกร’ ในระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงพื้นที่ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้กลับคำพิพากษาที่เคยยกฟ้องคดี เป็นเห็นว่ามีความผิด โดยเห็นว่าเป็นกล่าวถึงนายกรัฐมนตรี ให้ลงโทษปรับคนละ 10,000 บาท

ขณะเดียวกันยังมีคดีตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ ที่ศาลมีแนวคำพิพากษายืนในสองศาล ได้แก่ คดีตั้งโต๊ะปิดสวิตซ์ สว. ที่จังหวัดเชียงราย ซึ่งเดิมศาลชั้นต้นยกฟ้องจำเลย 7 คน แต่อัยการอุทธรณ์คดี ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ยังพิพากษายืนยกฟ้อง แต่วินิจฉัยในลักษณะว่ากิจกรรมดังกล่าวยังไม่เข้าข่ายการชุมนุมสาธารณะ ที่ต้องมีการแจ้งการชุมนุม รวมถึงวินิจฉัยเรื่องเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ และกล่าวถึงการคุ้มครองเสรีภาพการชุมนุมตามกติการะหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคีเอาไว้ด้วย

คำพิพากษาของศาลในชั้นอุทธรณ์และฎีกาในคดีจากการแสดงออกและชุมนุมที่ทยอยมีออกมามากขึ้น จึงเป็นสถานการณ์ที่ต้องติดตามต่อไป

.

X