ประมวลปากคำพยาน คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ “สุปรียา” ชุมนุม #คนเจียงฮายก่ายคนง่าวบ่เอาคนหลายใจ ก่อนศาลพิพากษา

วันที่ 29 ส.ค. 2565 เวลา 9.00 น. ศาลจังหวัดเชียงรายนัดฟังคำพิพากษาในคดีของ สุปรียา ใจแก้ว หรือ “แซน” อดีตนักศึกษาในจังหวัดเชียงราย ที่ถูกฟ้องด้วยข้อกล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และฝ่าฝืนคำสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงราย ที่ 1/2563 เหตุจากการเป็นพิธีกรในกิจกรรมการชุมนุม #คนเจียงฮายก่ายคนง่าวบ่เอาคนหลายใจ ที่บริเวณหอนาฬิกาจังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2563

คดีนี้มีการสืบพยานไปเสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 1-2 มิ.ย. 2565 ข้อต่อสู้สำคัญของจำเลย ได้แก่ การชุมนุมและแสดงความคิดเห็นของประชาชนกว่า 700 คน ที่เกิดขึ้นเป็นการใช้สิทธิการชุมนุมตามที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ อีกทั้งสถานที่จัดการชุมนุมเป็นสถานที่โล่งแจ้ง ผู้ชุมนุมมีการสวมใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันตนเอง การชุมนุมจึงไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคโควิด-19 ประกอบกับหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ไม่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 ในจังหวัดเชียงราย ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการชุมนุมแต่อย่างใด  

อีกทั้งตลอดการชุมนุม จนยุติการชุมนุม สถานการณ์ก็เป็นไปโดยสงบเรียบร้อย ไม่มีการยุยงให้เกิดความวุ่นวายแต่อย่างใด เจ้าหน้าที่ตำรวจในที่เกิดเหตุเองก็ไม่ได้มีการประกาศแจ้งเตือนห้ามการชุมนุมใดๆ  

สุดท้ายคือจำเลยในคดีนี้เป็นเพียงพิธีกรที่ช่วยดำเนินการชุมนุมให้เป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย ไม่ใช่ผู้จัดกิจกรรม และพยานหลักฐานของตำรวจก็ไม่เพียงพอที่จะระบุว่าใครเป็นผู้จัดกิจกรรม

ก่อนฟังคำพิพากษา ชวนทบทวนการต่อสู้คดีนี้ ผ่านปากคำพยานที่ทั้งสองฝ่ายนำขึ้นสู่การพิจารณาในชั้นศาล

.

พยานเจ้าหน้าที่ตำรวจเน้นย้ำ ก่อนชุมนุมมีประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และยังใช้บังคับจนถึงช่วงชุมนุม

อัยการจังหวัดเชียงรายได้นำพยานเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้งฝ่ายสืบสวน ฝ่ายสอบสวน และจราจร รวมจำนวน 4 ปาก ขึ้นเบิกความต่อศาล ในช่วงต้นในการเบิกความของพยานทั้ง 4 ปาก เน้นย้ำคล้ายคลึงกันว่า ก่อนเกิดเหตุคดีนี้ มีสถานการณ์ระบาดของโรคติดต่อโควิด-19 ตั้งแต่ประมาณเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2563 กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่อร้ายแรง รัฐบาลจึงประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

จากนั้นมีการออกข้อกำหนดตามมาตรา 9 ข้อ 5 เรื่องห้ามการชุมนุม และยังมีประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง เรื่องห้ามการชุมนุม หากมีการฝ่าฝืนจะมีโทษทางอาญาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 18 จำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รัฐบาลมีการขยายการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นระยะจนถึงช่วงเวลาเกิดเหตุ โดยประกาศต่างๆ มีผลบังคับใช้ทั่วราชอาณาจักร รวมถึงจังหวัดเชียงรายด้วย

นอกจากนี้จ ยังมีคำสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อของจังหวัดเชียงรายที่ 1/2563 ซึ่งอาศัยอำนาจตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และพ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ในข้อ 7 ห้ามจัดกิจกรรมรวมกลุ่มเกินกว่า 100 คน

จากการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2563 ได้ปรากฏข่าวสารในเฟซบุ๊กแฟนเพจ “Anti Dictatorship CEI” ว่าจะมีการชุมนุม ชื่อกิจกรรม “คนเจียงฮายก่ายคนง่าวบ่เอาคนหลายใจ” แปลเป็นภาษาไทยกลางว่า “คนเชียงรายเบื่อคนโง่ ไม่เอาคนหลายใจ” เป็นการโพสต์แบบสาธารณะ ซึ่งคนทั่วไปน่าจะพบเห็น และเข้าใจว่าเป็นกิจกรรมทางการเมืองที่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล ในวันที่ 25 ก.ค. 2563

ในตอนแรกสถานที่นัดหมายคือ บริเวณลาน ร.5 ศาลากลางหลังเก่าจังหวัดเชียงราย แต่ต่อมามีการเปลี่ยนสถานที่ไปเป็นบริเวณหอนาฬิกาจังหวัดเชียงรายแทน

วันเกิดเหตุตั้งแต่เวลาประมาณ 16.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จัดกำลังเข้าไปดูแลความเรียบร้อยในการชุมนุม โดยแบ่งออกเป็น 3 ชุด คือ 1. ตำรวจในเครื่องแบบ ดูแลความสงบเรียบร้อย  2. ตำรวจจราจร ดูแลเรื่องการเดินรถบริเวณพื้นที่ชุมนุม และ 3. ชุดสืบสวนนอกเครื่องแบบ เพื่อสืบสวนหาข่าวโดยทำการถ่ายภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวในการชุมนุม

.

ภาพการชุมนุมเมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2563

.

เจ้าหน้าที่ตำรวจเบิกความคล้ายกัน อ้างผู้ชุมนุมจำนวนมาก ทำให้เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ

พยานโจทก์เจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้แก่ พ.ต.ท.เทพสวัสดิ์ สุภาวรรณ, พ.ต.ท.เกรียงศักดิ์ มณีจันสุข และ พ.ต.ต.ราชัน แสนหลาน ยังเบิกความคล้ายคลึงกันว่า ได้รับคำสั่งจากรักษาการผู้กำกับการ สภ.เมืองเชียงราย ในขณะนั้น ให้เข้าไปสืบสวนและดูแลความสงบเรียบร้อยในพื้นที่การชุมนุม

ก่อนการชุมนุมประมาณ 2 วัน เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ประชุมวางแผนรับมือการชุมนุม ตอนแรกยังไม่ทราบว่าเจ้าของเพจเฟซบุ๊กที่โพสต์เชิญชวนกิจกรรมนั้นเป็นใคร แต่ต่อมาภายหลังฝ่ายสืบสวนได้พบภาพบุคคลวันเกิดเหตุ และทราบว่าเป็นเจ้าของเพจ คือ สุปรียา ใจแก้ว จำเลยในคดีนี้

ในวันเกิดเหตุ ขณะเริ่มกิจกรรม มีประชาชนทยอยมาประมาณ 70-80 คน พยานเจ้าหน้าที่ตำรวจระบุว่า แม้ที่จัดชุมนุมจะเป็นพื้นที่สาธารณะ แต่ถ้าคนมาจำนวนมากก็แออัดได้ โดยในการชุมนุมประชาชนไม่มีการเว้นระยะห่าง ผู้จัดกิจกรรมไม่มีการจัดมาตรการคัดกรอง ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย ไม่มีการกำหนดทางเข้าออกไว้ ทำให้ประชาชนสามารถเข้าออกได้ทุกทาง หากมีคนติดโควิด-19 เข้ามาในที่ชุมนุม ก็จะแพร่กระจายได้ โดยมีรูปภาพถ่ายวันเกิดเหตุเป็นหลักฐานของโจทก์

จนกระทั่งเวลาประมาณ 17.30 น. มีคนมาร่วมประมาณ 300 คน จำเลยในคดีนี้ได้ถือโทรโข่งออกมาชักชวนผู้ชุมนุมมารวมกันทำกิจกรรมบริเวณหน้าหอนาฬิกา บอกว่าจะเริ่มชุมนุมจริงเวลาประมาณ 18.00 น.

ต่อมาเวลาประมาณ 17.50 น. ได้มีรถบรรทุกเครื่องขยายเสียงเข้ามาที่ชุมนุม ก่อนแปลงรถเป็นเวทีปราศรัย บนรถยนต์คันดังกล่าวมีเครื่องเสียง-เครื่องดนตรีมาด้วย แต่พยานไม่ทราบว่าเป็นของผู้ใดและใครเป็นผู้ขับมา จากนั้นจำเลยได้ขึ้นไปบนรถ พร้อมกล่าวเชิญชวนให้ผู้ชุมนุมร้องเพลงชาติ พร้อมกับชู 3 นิ้ว

ตำรวจระบุว่าผู้ชุมนุมขณะนั้นน่าจะมีเกิน 300 คนแล้ว จำเลยได้ทำหน้าที่พิธีกร เชิญแกนนำทั้งในพื้นที่และจากกรุงเทพฯ ขึ้นปราศรัย โดยจำเลยจะยืนคู่กับผู้ปราศรัยตลอด ส่วนใหญ่แล้วการปราศรัยจะพูดถึงข้อบกพร่องของรัฐบาล ต่อต้านการทำงานของรัฐบาล เรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ยุบสภา ให้นายกรัฐมนตรีลาออก

จำเลยยังทำการถ่ายทอดสดผ่านเพจเฟซบุ๊กชื่อ “Anti Dictatorship CEI” ส่วนผู้ชุมนุมด้านล่างก็จะอยู่กันด้านหน้ารถยนต์ที่เป็นเวที ซึ่งมีความแออัด มีคนมารวมกันประมาณ 400-500 คน

ช่วงสุดท้ายก่อนเลิกการชุมนุมจำเลยได้กล่าวว่าตนเองจัดงานนี้เป็นครั้งแรกหากไม่เรียบร้อยหรือผิดพลาดประการใด จะแก้ไขในครั้งต่อไป และเชิญชวนประชาชนมาร่วมกิจกรรมในครั้งหน้าด้วย

จากนั้นก็ให้ผู้ชุมนุมเปิดแสงแฟลชโทรศัพท์มือถือชูขึ้นเพื่อถ่ายภาพ เวลาประมาณ 19.50 น. ผู้ชุมนุมขณะนั้นประมาณ 700 คน จนเลิกในเวลาประมาณ 20.00 น. การชุมนุมตั้งแต่เริ่มจนจบไม่มีเหตุการณ์ไม่สงบหรือความรุนแรงแต่อย่างใด

พ.ต.ท.เทพสวัสดิ์ เบิกความในส่วนหน้าที่ของตนเองว่า หลังการชุมนุมตำรวจทำการประมวลการสืบสวน และพยานได้รับมอบหมายจากรักษาการผู้กำกับการ สภ.เมืองเชียงราย ให้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษกับพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับจำเลยและพวก ข้อหาร่วมกันจัดการชุมนุม ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยพยานทราบว่าไม่มีการขออนุญาตชุมนุมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น เทศบาล, สาธารณสุขจังหวัด แต่อย่างใด อีกทั้งยังมี พ.ต.ท.เกรียงศักดิ์ ได้รวบรวมภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวจัดทำส่งให้กับพนักงานสอบสวนด้วย

ส่วน พ.ต.ท.เกรียงศักดิ์ เบิกความด้วยว่า คดีนี้พยานได้จัดทำสรุปรายงานการสืบสวนประกอบกับภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวเพื่อยืนยันตัวบุคคล จากนั้นรายงานไปยังผู้บังคับบัญชา ระบุว่าสถานการณ์ตอนนั้นใครทำอะไร เรียงเป็นลำดับเวลา มีการเสนอไปยังผู้กำกับให้สั่งการว่าจะตรวจสอบข้อกฎหมายอย่าไร จากนั้นมีการรายงานไปยังตำรวจภูธรภาค 5 ตามลำดับ พยานจึงได้รวบรวมรายงานมอบให้กับพนักงานสอบสวน

สุดท้าย พ.ต.ต.ราชัน สารวัตรจราจร ได้เบิกความว่า วันเกิดเหตุพยานได้ลงพื้นที่เวลาประมาณ 17.00-19.45 น. เพื่อดูแลการจราจรของการชุมนุม โดยมีทีมประมาณ 10 นาย การจราจรบริเวณพื้นที่ชุมนุมในช่วงแรก รถยนต์ยังสามารถผ่านไปมาได้ แต่เมื่อมีผู้ร่วมชุมนุมมาเยอะขึ้น รถก็เริ่มติดขัด พยานจึงจัดการจราจรให้คนเลี่ยงพื้นที่ชุมนุม

พยานชี้ว่าตอนแรกไม่ได้มีการปิดถนน แต่ผู้ชุมนุมเยอะขึ้นเรื่อยๆ จนปิดถนนไปโดยปริยาย ส่งผลกระทบต่อคนที่ไม่ได้มาชุมนุม ระหว่างนั้นพยานก็ดูแลการจราจรและมองเห็นจำเลยอยู่บนเวทีตลอด จนถึงเวลาประมาณ 19.45 น. การจราจรก็กลับมาเป็นปกติ

ทั้งนี้ในชั้นสอบสวน สุปรียาได้ถูกตำรวจแจ้งข้อกล่าวหา ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ และ การใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ด้วย แต่ข้อหาได้ขาดอายุความฟ้องคดี หลังเหตุการณ์ผ่านไปเกินกว่า 1 ปี ทำให้อัยการไม่สามารถนำมาฟ้องได้

.

ทนายถามค้าน สถานที่โล่งแจ้ง ผู้ชุมนุมสวมใส่แมส ไม่เสี่ยงแพร่เชื้อ ตำรวจยืนยันไม่ได้ว่าจำเลยเป็นผู้จัดกิจกรรม

หลังพยานเจ้าหน้าที่ตำรวจแต่ละปากขึ้นเบิกความแล้ว ทนายความของจำเลยได้ถามค้านพยานแต่ละปาก

พยานตำรวจทั้ง 3 ปาก เบิกความรับว่าสถานที่เกิดเหตุบริเวณหอนาฬิกาเชียงรายนั้น เป็นพื้นที่สาธารณะ มีลักษณะเป็นลานโล่งแจ้งอากาศถ่ายเทได้โดยสะดวก และระหว่างผู้ชุมนุมก็ยังมีพื้นที่ว่างเคลื่อนตัวไปมาได้โดยสะดวก ผู้เข้าร่วมชุมนุมส่วนใหญ่มีการสวมใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันตนเอง การชุมนุมใช้เวลาช่วงหนึ่งเพียงประมาณเวลา 17.00-19.45 น.

พยานยังรับว่า การปราศรัยมีเนื้อหาแสดงความคิดเห็นต่อการทำงานของรัฐบาล เป็นสิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญที่สามารถกระทำได้ อีกทั้งในการชุมนุมดังกล่าวก็เป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย ไม่มีการยุยงปลุกปั่นให้ประชาชนไปกระทำผิดกฎหมายหรือเกิดความวุ่นวาย ไม่มีการจับกุมผู้ใด รวมทั้งไม่มีการประกาศแจ้งเตือนใดๆ จากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ อีกทั้งตัวเลขจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงราย ก็ยืนยันว่าไม่พบผู้ติดเชื้อทั้งก่อน ระหว่าง และหลัง การชุมนุมครั้งนี้เลย

พยานตำรวจยังรับว่า จากพฤติการณ์ของจำเลยในที่เกิดเหตุมีลักษณะเป็นพิธีกร ซึ่งโดยปกติในงานชุมนุมต่างๆ ก็จะมีการเชิญคนมาเป็นพิธีกร แต่การเป็นพิธีกรไม่ได้หมายความว่าต้องเป็นผู้จัดกิจกรรมดังกล่าว และนอกจากการเป็นพิธีกรแล้ว ทางตำรวจก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่าจำเลยได้ทำหน้าที่อื่นใดที่อาจจะเข้าข่ายเป็นผู้จัดกิจกรรมอีก

ในการถามค้าน ทนายจำเลยยังได้นำภาพถ่ายของงานดนตรี Farm Festival ที่จัดขึ้นในจังหวัดเชียงราย ในเขตรับผิดชอบของ สภ.เมืองเชียงราย เมื่อวันที่ 25-29 พ.ย. 2563 ให้พยานเจ้าหน้าที่ตำรวจดู โดยภาพดังกล่าวปรากฏว่าผู้เข้าร่วมงานไม่มีการสวมใส่หน้ากากอนามัย พร้อมกับสอบถามว่าได้มีการดำเนินคดีกับผู้จัดหรือผู้เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว ด้วยข้อกล่าวหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อย่างที่จำเลยในคดีนี้โดนหรือไม่ เจ้าหน้าที่ตำรวจทั้ง 3 ราย ตอบว่าไม่ทราบ

ส่วน พ.ต.ท.เกรียงศักดิ์ ผู้รวบรวมพยานเอกสารในคดีนี้ยังเบิกความตอบทนายถามค้านว่า นอกจากเพจ “Anti Dictatorship CEI” แล้วยังมีเพจเฟซบุ๊กอื่นๆ ทำการโพสต์เชิญชวนให้ร่วมการชุมนุมในครั้งนี้ด้วย และรายงานการสืบสวนก็ไม่ได้สืบสวนว่าเพจอื่นๆ มีใครเป็นแอดมินเพจบ้าง

อีกทั้งรายงานการสืบสวนก็ไม่ได้แสดงให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างเพจ “Anti Dictatorship CEI” กับตัวจำเลยในคดีนี้ว่า เป็นแอดมินเพจอย่างไร ตัวพยานเองก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่าใครเป็นแอดมินเพจ หรือผู้โพสต์ข้อความเชิญชวนชุมนุมดังกล่าว วันที่มีการชุมนุม พยานก็ยืนยันไม่ได้ว่าใครเป็นผู้ถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊กเพจดังกล่าว

หลังทนายความจำเลยได้ถามค้านพยาน อัยการได้ขึ้นถามติงพยานโจทก์อีกครั้งหนึ่ง โดยเน้นย้ำไปที่หากดูจากพยานหลักฐานที่เจ้าหน้าที่ตำรวจรวบรวมมาประกอบกับพฤติการณ์วันเกิดเหตุแล้ว จำเลยในคดีนี้มีลักษณะเป็นผู้จัดการชุมนุมหรือไม่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจก็เบิกความว่ามีลักษณะเป็นผู้จัดการชุมนุม

อัยการยังได้ถามพยานต่อว่า ส่วนที่ตอบทนายความจำเลยไปว่าสถานที่เกิดเหตุเป็นที่โล่งแจ้ง แต่หากมีคนมารวมกันจำนวนมากๆ แล้วก็เกิดความแออัดได้ อีกทั้งในช่วงท้ายของการชุมนุม หากผู้เข้าร่วมชุมนุมหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเดินไปไหนมาไหนก็ต้องทำการเดินเบียดไป เนื่องจากมีคนจำนวนมาก

อัยการยังถามด้วยว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงรายหรือไม่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจก็เบิกความว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง

.

ภาพผู้ต้องหาในวันที่ถูกส่งฟ้องต่อศาลจังหวัดเชียงราย

.

พนักงานสอบสวนเข้าเบิกความสั้นๆ เรื่องรับแจ้งความ เชื่อตามตำรวจฝ่ายสืบสวน

พยานโจทก์ปากสุดท้ายที่อัยการนำขึ้นเบิกความคือ ร.ต.อ.ศรีเดช สุวรรณ์ พนักงานสอบสวนในคดีนี้

พยานเบิกความว่าเมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2563 พ.ต.ท.เทพสวัสดิ์ สุภาวรรณ ได้เข้ามาร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับจำเลยในคดีนี้ ให้ข้อหาร่วมกันจัดให้มีการชุมนุมหรือจัดกิจกรรมในส่วนที่แออัดเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ จากการชุมนุมเมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2563 พร้อมกับมอบรายงานการสืบสวน ประกอบกับภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวไว้ให้ พยานได้ทำการสอบปากคำนายตำรวจทั้งสามไว้

จากนั้นพยานได้ออกหมายเรียกจำเลยให้มารับทราบข้อกล่าวหา โดยในชั้นสอบสวนจำเลยให้การปฎิเสธตลอดข้อกล่าวหา ก่อนจะรวบรวมเอกสารหลักฐานในคดีส่งให้พนักงานอัยการ โดยมีความเห็นควรสั่งฟ้องจำเลยด้วย

จากนั้นทนายความจำเลยได้ถามค้านพยานปากนี้ พยานรับว่ามีการโพสต์เชิญชวนเข้าร่วมกิจกรรมจากหลายกลุ่มด้วยกัน รับว่าสถานที่เกิดเหตุเป็นที่โล่งแจ้ง ไม่แออัด และพยานไม่ได้รับรายงานว่ามีผู้ติดโควิด-19 จากการชุมนุมดังกล่าว ส่วนการยืนยันเรื่องเพจเฟซบุ๊ก “Anti Dictatorship CEI” ว่าเป็นของจำเลยนั้น เป็นการยืนยันจาก พ.ต.ท.เกรียงศักดิ์ เพียงคนเดียว

.

จำเลยยืนยันสิทธิในการชุมนุมและแสดงความเห็นของประชาชน

หลังพยานโจทก์ขึ้นเบิกความทั้งหมดแล้ว สุปรียา ใจแก้ว จำเลยในคดีนี้ ได้ขึ้นเบิกความในฐานะพยานจำเลยเพียงปากเดียว

สุปรียาเบิกความว่า กิจกรรมวันที่ 25 ก.ค. 2563 ชื่อ “คนเจียงฮายก้ายคนง่าวบ่เอาคนหลายใจ” ตนไปร่วมกิจกรรมดังกล่าวในฐานะพิธีกร โดยคิดว่าการชุมนุมไม่ได้ผิดกฎหมายแต่อย่างใด เพราะเป็นสิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ อีกทั้งตนยังทราบว่าช่วงดังกล่าวราวไม่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 แล้ว ตามรายงานของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงราย

ส่วนสถานที่ชุมนุมที่มีการจัดขึ้นก็เป็นสถานที่โล่งแจ้ง ถนนขนาด 4 เลน ขณะนั้นจำเลยเป็นคนที่มีโทรโข่งเพียงคนเดียว โดยตำรวจมีการขอให้ประกาศให้ผู้ชุมนุมมารวมกันบนถนนเพียง 1 เลน เพื่อเปิดทางให้กับรถที่สัญจรไปมา

นอกจากคดีนี้แล้ว สุปรียายังทราบว่ามีผู้ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาเดียวกันนี้ จากการชุมนุมในพื้นที่อื่นๆ อีกด้วย ทนายจำเลยจึงได้อ้างส่งคำพิพากษายกฟ้องในข้อกล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของศาลจังหวัดพะเยาและศาลจังหวัดอุดรธานี ประกอบการพิจารณา

ส่วนกิจกรรมในคดีนี้ สุปรียาได้รับการติดต่อจากเพื่อน เนื่องจากตอนนั้นตนก็ได้เป็นพิธีกรในการชุมนุมที่คล้ายกันของจังหวัดลำพูนเมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2563 แต่ก็ไม่ได้ถูกดำเนินคดีแต่อย่างใด จึงพอทราบขั้นตอนและลำดับการชุมนุมต่างๆ อยู่บ้าง โดยคิดว่าเมื่อเสร็จจากการชุมนุมที่จังหวัดลำพูนแล้ว ก็จะเดินทางไปร่วมแสดงความคิดเห็นในกิจกรรมที่จังหวัดเชียงรายอยู่แล้ว เนื่องจากบ้านของตนก็อยู่ที่จังหวัดเชียงรายด้วย

วันที่ 24 ก.ค. 2563 สุปรียาพักอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ พอวันที่ 25 ก.ค. 2563 ก็เดินทางมาจังหวัดเชียงรายถึงเวลาประมาณ 15.00 น. จากนั้นเพื่อนได้ส่งกำหนดการของกิจกรรมมาให้ จำเลยก็ดำเนินการไปตามกำหนดการที่ได้รับมา เมื่อไปถึงที่ชุมนุมโทรโข่งที่ใช้ประกาศก็มีผู้จัดหามาให้ เมื่อมีรถบรรทุกเข้ามาในที่ชุมนุม จำเลยก็ไม่ได้รู้จักกับคนขับมาก่อน และจำเลยไม่ได้มีส่วนในการติดต่อกับผู้ปราศรัยคนอื่นๆ

ส่วนบุคคลที่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างว่าคือ ชลธิชา แจ้งเร็ว นักกิจกรรมนั้น จำเลยไม่รู้จักเป็นการส่วนตัว เพียงเคยเห็นตามสื่อต่างๆ แต่บุคคลในรูปที่เจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างว่ายืนข้างจำเลย และเป็นชลธิชานั้น ไม่ถูกต้อง เพราะจำเลยทราบว่าบุคคลในรูปดังกล่าวเป็นเด็กนักเรียนจากโรงเรียนในจังหวัดเชียงราย

วันเกิดเหตุนอกจากสุปรียาแล้ว ก็มีบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องอีกที่ช่วยกันจัดกิจกรรมให้ผ่านไปได้ด้วยความเรียบร้อย ผลัดเปลี่ยนกันจับไมค์ จำเลยก็ทำการปราศรัยเรื่องปัญหาราคาผลผลิตทางการเกษตรด้วย และดำเนินกำหนดการให้กิจกรรมผ่านไปด้วยดี คนอื่นๆ จะปราศรัยเน้นไปที่ระบอบใหญ่เรื่องรัฐบาล

ในตอนท้ายการชุมนุม สุปรียาได้ชวนให้คนเปิดแสงแฟลชมือถือ พร้อมชู 3 นิ้ว และกล่าวปิดงาน ที่มีการพูดเชิงว่าเป็นผู้จัด แต่ที่จริงไม่ใช่ผู้จัดนั้นก็เพราะภาษาเหนือ อาจจะทำให้เข้าใจผิดไปแบบนั้น จำเลยใช้คำว่า “น้อง” อาจจะทำให้รู้สึกเป็นแบบนั้น ที่บอกว่า “น้องจัดกิจกรรมนี้เป็นครั้งแรก” ที่พูดแบบนั้นเพราะกลุ่มผู้จัดเป็นน้องนักเรียนและน้องนักศึกษาที่จัดงานครั้งนี้ครั้งแรก จำเลยจึงใช้ประโยคดังกล่าว

ส่วนตัวของสุปรียาเองก็มีสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอด รักษาระยะห่างกับคนอื่นๆ จำเลยเห็นว่าวันดังกล่าวมีตำรวจจำนวนมาก บางนายก็มาถ่ายรูปหน้าจำเลยไป แต่ก็ไม่เห็นว่ามีตำรวจมาประกาศเตือนว่าการชุมนุมผิดกฎหมายหรือห้ามปรามแต่อย่างใด ทั้งการชุมนุมก็ไม่มีเหตุการณ์ไม่สงบเกิดขึ้น

หลังประกาศยุติกิจกรรม จำเลยก็เดินทางกลับ อีกทั้งตอนท้ายจำเลยยังกล่าวเน้นว่า หากการชุมนุมที่เกิดขึ้นไม่มีจำเลยอยู่ การชุมนุมก็จะยังคงดำเนินต่อไปได้ เพียงแต่หาพิธีกรคนใหม่เท่านั้น

หลังจำเลยขึ้นเบิกความแล้ว อัยการได้ทำการถามค้านเรื่องคำพิพากษาที่ฝ่ายจำเลยยื่นส่งต่อศาลนั้น เป็นคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเท่านั้น จำเลยยอมรับว่าใช่

จากนั้นทำการสอบถามว่าจำเลยเป็นแอดมินเพจเฟสบุ๊ก “Anti Dictatorship CEI” หรือไม่ จำเลยยืนยันว่าไม่ใช่

.

จับตาคำพิพากษา 29 ส.ค. 2565

หลังพยานโจทก์และจำเลยได้ขึ้นเบิกความต่อศาลทั้งหมดแล้ว ศาลจังหวัดเชียงรายได้กำหนดวันฟังคำพิพากษาในวันที่ 29 ส.ค. 2565 เวลา 9.00 น.

ประเด็นที่น่าจับตาในคำพิพากษา ได้แก่ ศาลจะพิจารณาเรื่องสิทธิในการชุมนุมของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ กับข้อกำหนดที่ห้ามการชุมนุม ทำกิจกรรมหรือหรือการมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่เป็นกฎหมายลำดับรองลงมาว่าอย่างไร ทั้งการชุมนุมแสดงความคิดเห็นของประชาชนที่เข้าร่วมประมาณ 700 คน นี้ จะถูกตีความว่าเข้าข่ายฝ่าฝืนข้อกำหนดดังกล่าวหรือไม่ และจำเลยผู้เป็นพิธีกรในกิจกรรมดังกล่าว จะถูกตีความเป็นผู้จัดการชุมนุมหรือไม่ อย่างไร

.

X