16 ส.ค. 2566 ศาลแขวงขอนแก่นนัดอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 4 ในคดี 3 นักศึกษาชักธง “ปฏิรูปกษัตริย์” ในมหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2564 ซึ่งพนักงานอัยการ เป็นโจทก์ฟ้อง “เซฟ” วชิรวิทย์ เทศศรีเมือง, “กราฟฟิก” ชัยธวัช รามมะเริง 2 นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น และ “เชน” เชษฐา กลิ่นดี นิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในฐานความผิดตาม พ.ร.บ.ธง พ.ศ.2522 มาตรา 45, 53(3) และ 54
เหตุในคดีนี้เนื่องจากเมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2564 เวลา 18.40 น. กลุ่มนักกิจกรรมขอนแก่นพอกันที ได้ทำกิจกรรมเชิญธงชาติลงจากยอดเสาธงหน้าอาคารสิริคุณากร ตึกอธิการบดีหลังเก่า ในมหาวิทยาลัยขอนแก่น ก่อนนำธง “ปฏิรูปกษัตริย์” ชักขึ้นยอดเสา จากนั้นเพจ “ขอนแก่นพอกันที” ได้โพสต์ข้อความว่า “[ ธง “ปฏิรูปกษัตริย์” ถูกนำขึ้นสู่ยอดเสาหน้าตึกอธิการบดี มข. ]เพื่อเป็นการแสดงสัญลักษณ์ว่าประเทศไทยจะเป็นประชาธิปไตยอย่างเต็มใบได้ ก็ต่อเมื่อมีการปฏิรูปกษัตริย์ให้แล้วเสร็จ เราไม่ได้เกลียดชังธงชาติ แต่เราต้องการให้ธงชาติเป็นธงชาติที่สง่างามอย่างแท้จริง ในระบอบประชาธิปไตยตามหลักสากลนิยม”
ต่อมาเมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2565 ศาลแขวงขอนแก่นมีคำพิพากษาว่า จําเลยทั้งสามมีความผิดฐานร่วมกันชักธงที่มีความหมายถึงประเทศไทยโดยไม่เคารพ และโดยทําให้เกิดความเสื่อมเสียซึ่งเกียรติภูมิของประเทศไทย และร่วมกันชักธงชาติไทยไว้ ณ ที่หรือโดยวิธีการอันไม่สมควร ตาม พ.ร.บ.ธงฯ มาตรา 45, 53(3) เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐาน ร่วมกันชักธงที่มีความหมายถึงประเทศไทยโดยไม่เคารพ และโดยทําให้เกิดความเสื่อมเสียซึ่งเกียรติภูมิของประเทศไทย ซึ่งเป็นบทที่โทษหนักที่สุด พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งความผิด ประกอบกับจําเลยทั้งสามยังเป็นนักศึกษา ทั้งไม่เคยต้องโทษจําคุกมาก่อน จึงให้รอการกําหนดโทษไว้มีกําหนด 2 ปี
เซฟให้ความเห็นสั้นๆ ภายหลังทราบคำพิพากษาว่า “ผมยังไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาล และคิดว่าการแสดงออกทางการเมืองไม่ว่าจะเป็นการแสดงออกทางความคิด การพูด หรือการแสดงออกทางสัญลักษณ์ ไม่ควรมีใครต้องถูกพิพากษาว่ามีความผิด และถูกลงโทษ แม้กระทั่งโทษปรับก็ไม่ควรต้องถูกปรับ เบื้องต้นผมเห็นว่าจะอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้น เพราะมีประเด็นที่ผมเห็นแย้งและคิดว่ามีข้อต่อสู้เพื่อคัดค้านคำวินิฉัยของศาลได้”
ดูคำพิพากษาศาลชั้นต้น>> รอการกำหนดโทษ 2 ปี 3 นศ.ชักธง “ปฏิรูปกษัตริย์” ผิด พ.ร.บ.ธงฯ จำเลยยังไม่เห็นพ้องคำพิพากษา ชี้ไม่ควรมีใครมีความผิดจากการแสดงออกทางการเมือง
อ่านบันทึกสืบพยาน>> ปากคำพยานคดีชักธง “ปฏิรูปกษัตริย์” ใน ม.ขอนแก่น: 3 นศ.ยืนยัน เพียงทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ไม่ได้แสดงความไม่เคารพ-ไม่มีเจตนาเหยียดหยามธงชาติ
ภาพจากเพจ ขอนแก่นพอกันที
.
จำเลยอุทธรณ์ ไม่มีเจตนา ทั้งโจทก์ไม่มีหลักฐานพอรับฟังได้ว่า จำเลยชักธงชาติลงติดพื้น หรือทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติภูมิประเทศได้อย่างไร
นำมาซึ่งการยื่นอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามเมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2565 เพื่อโต้แย้งคำพิพากษาดังกล่าวต่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 ทั้งในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย และขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำพิพากษายกฟ้อง โดยมีประเด็นดังต่อไปนี้
1. ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในข้อเท็จจริงว่า จำเลยทั้งสามทำให้ชายธงตกอยู่กับพื้นนั้น เนื่องจากคดีนี้พยานโจทก์ที่มาเบิกความไม่มีผู้ใดที่อยู่ในเหตุการณ์ดังกล่าว คงมีเพียงหลักฐานเป็นคลิปจากเฟซบุ๊กของจำเลยที่ 1 มาเท่านั้น ทั้งในคดีนี้เหตุการณ์เกิดขึ้นในช่วงพลบค่ำ พยานก็ย่อมจะไม่เห็นเหตุการณ์ผ่านภาพเคลื่อนไหวได้อย่างชัดเจน พยานหลักฐานของโจทก์จึงไม่เพียงพอว่า การกระทำของจำเลยทั้งสามทำให้ชายธงอยู่ติดกับพื้นแต่อย่างใด
2. ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการชักธงที่มีความหมายถึงประเทศไทยโดยไม่เคารพ และโดยทำให้เกิดความเสื่อมเสียซึ่งเกียรติภูมิของประเทศไทย โดยอาศัยความเห็นของพยานผู้เชี่ยวชาญ คือ วิทวัส ยี่สารพัฒน์ และวิสุทธิ์ ฉัตรานุฉัตร แต่ขณะสืบพยาน ศาลได้มีคำสั่งให้ตัดพยานโจทก์ปากวิสุทธ์ไปแล้ว การรับฟังพยานตามบันทึกคำให้การชั้นสอบสวน อันเป็นพยานบอกเล่า จึงไม่เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/3
อีกทั้ง คำเบิกความและในคำให้การชั้นสอบสวนของวิทวัส ก็ไม่ได้ระบุแต่อย่างใดว่า การกระทำของจำเลยทั้งสามทำให้เกิดความเสื่อมเสียซึ่งเกียรติภูมิของประเทศไทยได้อย่างไร
3. จำเลยทั้งสามไม่ได้มีเจตนาที่จะกระทำต่อธงชาติผืนที่ติดตั้งอยู่ที่เสาธงตามฟ้อง หากแต่จำเลยทั้งสามไม่สามารถแกะธงชาติออกจากเชือกได้ จึงได้รวบเก็บธงชาติไว้บริเวณเชิงเสา ไม่ได้ปล่อยให้ชายธงชาติร่วงลงติดพื้น และภาพที่ปรากฏในสื่อเฟซบุ๊กก็ไม่มีภาพของธงชาติประกอบอยู่ด้วย แสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสามประสงค์ที่จะแสดงออกทางสัญลักษณ์เท่านั้น โดยไม่จำต้องมีธงชาติมาประกอบ
.
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ยกฟ้องตามจำเลยอุทธรณ์
กว่า 1 ปี 4 เดือน หลังศาลแขวงขอนแก่นมีคำพิพากษา และเกือบ 1 ปี ที่จำเลยยื่นอุทธรณ์ ศาลจึงได้นัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4
เวลา 09.30 น. เซฟ, กราฟฟิก และเชน พร้อมด้วยทนายความเดินทางไปที่ห้องพิจารณาที่ 6 ศาลแขวงขอนแก่นตามนัด หลังผู้พิพากษาออกนั่งพิจารณาคดี ได้เรียกชื่อจำเลยทั้งสามและเริ่มอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ลงวันที่ 25 พ.ค. 2566 มีใจความดังนี้
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ตรวจสํานวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้อุทธรณ์โต้แย้งรับฟังยุติว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จําเลยทั้งสามร่วมกันลดธงชาติลงจากเสาธง แล้วนําผ้าสีแดงผืนสี่เหลี่ยมคล้ายธงมีข้อความสีขาวว่า ปฏิรูปกษัตริย์ ชักขึ้นสู่ยอดเสาแทน โดยธงชาติยังคงผูกติดกับสายสลิงอยู่โคนเสา นายกรัฐมนตรีได้อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 45 และมาตรา 46 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติธง พ.ศ. 2522 วางระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการใช้ การชัก หรือการแสดงธงชาติและธงของต่างประเทศในราชอาณาจักร พ.ศ. 2529 ข้อ 6 ว่า ธงชาติเป็นธงที่แสดงความหมายถึงประเทศไทยหรือชาติไทย ให้ปฏิบัติต่อธงดังกล่าวด้วยความเคารพ ไม่ดูถูกเหยียดหยาม หรือทําให้เกิดความเสื่อมเสียซึ่งเกียรติภูมิของประเทศหรือชาติไทย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจําเลยทั้งสามว่า จําเลยทั้งสามกระทําความผิดตามคําพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่
โจทก์มี ด.ต.สังคม พรมบัญชา เป็นพยานเบิกความว่า พยานกับพวกไปถึงที่เกิดเหตุพบพนักงานรักษาความปลอดภัยของมหาวิทยาลัยขอนแก่นเอาผืนผ้าสีแดงลงมาแล้วและมอบผืนผ้าดังกล่าวให้แก่พยาน จากการสังเกตเห็นมีธงชาติผูกอยู่ที่ลวดสลิงสําหรับชักธงโดยชายธงยังอยู่กับพื้น เห็นว่า โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานมาเบิกความให้เห็นว่าจําเลยทั้งสามปฏิบัติต่อธงชาติอย่างไร อันเป็นการไม่สมควร ไม่เคารพ หรือทําให้เกิดความเสื่อมเสียซึ่งเกียรติภูมิของประเทศไทย
คดีได้ความจาก ด.ต.สังคม ที่เบิกความตอบคําถามค้านทนายจําเลยที่ 2 ว่า ขณะไปถึงที่เกิดเหตุธงชาติถูกผูกมีลักษณะตามภาพถ่ายหมาย ล.2 ซึ่งเมื่อพิจารณาภาพถ่ายดังกล่าวแล้วธงชาติมิได้มีลักษณะกองอยู่กับพื้นแต่อย่างใด ทั้งผืนผ้าสีแดงมีข้อความสีขาวว่า ปฏิรูปกษัตริย์ มิใช่ธงที่มีความหมายถึงประเทศอื่นใด
ซึ่งคดีได้ความจากจําเลยทั้งสามว่า การชักผืนผ้าสีแดงขึ้นสู่ยอดเสาธงเพื่อเป็นการทํากิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ แต่เนื่องจากธงชาติผูกติดกับลวดสลิง ไม่สามารถแกะออกได้ จึงผูกรวมธงชาติไว้โคนเสาแทน พยานหลักฐานโจทก์ที่นําสืบมา จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า จําเลยมีเจตนาปฏิบัติต่อธงชาติโดยวิธีอันไม่สมควร ไม่เคารพ หรือทําให้เกิดความเสื่อมเสียซึ่งเกียรติภูมิของประเทศไทยหรือชาติไทย อันจะเป็นความผิดตามคําพิพากษาศาลชั้นต้น ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลอุทธรณ์ภาค 4 อุทธรณ์ของจําเลยทั้งสามฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง.
องค์คณะผู้พิพากษาที่ลงนามท้ายคำพิพากษาประกอบด้วย กิตติ อารีรักษ์, เดชะ วีระเดช และวิรัตน์ สีดาคุณ
.
ภายหลังการออกมาชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยของนักศึกษาและประชาชนตั้งแต่ปี 2563 เซฟมีคดีจากการเข้าร่วมชุมนุมที่ถูกฟ้องต่อศาลรวม 5 คดี ขณะที่กราฟฟิกและเชนถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีนี้เพียงคดีเดียว คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 4 ในวันนี้ที่พิพากษากลับ โดยให้ยกฟ้องนั้น ทำให้ภาระทางคดีของนักศึกษา-นักกิจกรรมทั้งสามสิ้นสุดลง โดยในส่วนคดีของเซฟศาลถือว่ามีคำพิพากษายกฟ้องทั้งหมด
.