เดือนกรกฎาคม 2565 สถานการณ์คดีที่เกี่ยวเนื่องกับการเมือง ยังมีผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า คดีมาตรา 112 ยังมีคดีใหม่เป็นระยะ รวมทั้งต้องจับตาสถานการณ์คำพิพากษาในคดีที่อยู่ในชั้นศาลจำนวนมาก ขณะที่คดีในข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ตำรวจก็ยังมีการย้อนแจ้งข้อหาจากการชุมนุมที่ดินแดงในช่วงปี 2564
จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2565 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 1,843 คน ในจำนวน 1,108 คดี ในจำนวนนี้ เป็นกลุ่มเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 282 ราย
เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีกับในช่วงสิ้นเดือนมิถุนายน 2565 มีผู้ถูกดำเนินคดีรายใหม่เพิ่มขึ้น 11 คน คดีเพิ่มขึ้น 13 คดี (นับเฉพาะผู้ถูกกล่าวหาที่ไม่เคยถูกดำเนินคดีมาก่อน)
หากนับจำนวนบุคคลที่ถูกดำเนินคดีซ้ำในหลายคดี โดยไม่หักออก แต่นำจำนวนมาเรียงต่อกันแล้ว จะพบว่ามีจำนวนการถูกดำเนินคดีไปอย่างน้อย 3,671 ครั้ง
สำหรับสถิติการดำเนินคดี แยกตามข้อกล่าวหาสำคัญ ได้แก่
1. ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 208 คน ในจำนวน 224 คดี
2. ข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 126 คน ในจำนวน 39 คดี
3. ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 1,465 คน ในจำนวน 645 คดี (นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 ที่เริ่มมีการดำเนินคดีข้อหานี้ต่อผู้ชุมนุมและทำกิจกรรมทางการเมือง)
4. ข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ อย่างน้อย 107 คน ในจำนวน 75 คดี
5. ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อย่างน้อย 140 คน ในจำนวน 160 คดี
6. ข้อหาละเมิดอำนาจศาล อย่างน้อย 35 คน ใน 19 คดี และคดีดูหมิ่นศาล อย่างน้อย 25 คน ใน 6 คดี
จากจำนวนคดี 1,108 คดีดังกล่าว มีจำนวน 210 คดี ที่สิ้นสุดไปแล้ว โดยมากเป็นคดีที่ผู้ถูกกล่าวหายินยอมให้เปรียบเทียบปรับในชั้นตำรวจ หรือในชั้นศาล ในจำนวนนี้มีกรณีอัยการสั่งไม่ฟ้องจำนวน 21 คดี
.
.
แนวโน้มเกี่ยวกับการดำเนินคดีในช่วงเดือนกรกฎาคม 2565 นี้ ยังมีสถานการณ์สำคัญ ดังต่อไปนี้
คดี 112 สถานการณ์ยังเข้มข้น คดีเพิ่มอย่างน้อย 6 คดี ทิศทางคำพิพากษาน่ากังวล
ในเดือนกรกฎาคม ยอดรวมสถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 เพิ่มเป็นไม่น้อยกว่า 208 ราย ใน 224 คดี เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 5 ราย ใน 6 คดี ในจำนวนนี้มีผู้ถูกดำเนินคดีที่ยังเป็นเยาวชนรวมแล้ว 17 ราย
คดีสำคัญในเดือนที่ผ่านมา ได้แก่ คดีของชินวัตร จันทร์กระจ่าง ที่ถูกกล่าวหาเป็นคดีที่ 7 จากเหตุปราศรัยในกิจกรรมเรียกร้องสิทธิการประกันตัวผู้ต้องขังทางการเมือง หน้าศาลอาญากรุงเทพใต้ เมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2565 โดยมีสมาชิกของกลุ่ม ศปปส. เป็นผู้กล่าวหา ชินวัตรถูกจับกุมโดยไม่เคยมีหมายเรียกมาก่อน และต่อมาเขาปฏิเสธอำนาจศาล โดยไม่ขอยื่นประกันตัว ทำให้ถูกนำตัวไปคุมขังในเรือนจำ
คดีของ “แซม” พรชัย ยวนยี ที่ถูกจับกุมย้อนหลังในกรณีถูกกล่าวหาเกี่ยวกับการเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติ ในการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2564 โดยเขาไม่ได้รับการประกันตัว ทำให้จนถึงต้นเดือนสิงหาคม ยังมีผู้ถูกคุมขังในคดีมาตรา 112 ระหว่างต่อสู้คดี อยู่ไม่น้อยกว่า 4 ราย
คดีของ “ตั้ม” ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้วาดการ์ตูนในเพจ “คนกลมคนเหลี่ยม” และโพสต์ภาพการ์ตูนเข้าข่ายมาตรา 112 จำนวน 4 ภาพ และคดีของเวหา ที่ถูกกล่าวหาเป็นคดีที่ 3 จากกรณีโพสต์ข้อความเกี่ยวกับคำพิพากษาคดี “กูKult” ทั้งสองคดีนี้มีสมาชิกกลุ่ม ศปปส. เป็นผู้กล่าวหาเช่นกัน
นอกจากนั้นยังมีกรณี “เบลล์” เยาวชนพัทลุงอายุ 17 ปี ถูกกล่าวหาเพิ่มเติมจากเหตุตั้งแต่เมื่อสิงหาคมปี 2563 กรณีกลุ่มนักกิจกรรมไปถ่ายภาพในสถานที่ต่างๆ ของเมืองพัทลุง และใส่ข้อความทางการเมืองโพสต์เฟซบุ๊กเพจ “พัทลุงปลดแอก” และ “ประชาธิปไตยในด้ามขวาน” โดยเบลล์ถูกแยกดำเนินคดีเนื่องจากยังเป็นเยาวชน
.
.
สถานการณ์ทางคดี ยังต้องจับตาการต่อสู้ในชั้นศาลและผลคำพิพากษาอย่างน้อยในศาลชั้นต้นที่กำลังทยอยออกมา โดยเฉพาะคดีของประชาชนทั่วไป ที่ถูกกล่าวหาไว้ที่สถานีตำรวจจังหวัดต่างๆ โดยในเดือนกรกฎาคม มีคดีของมีชัย โพสต์ข้อความตั้งคำถามต่อการใช้ภาษีประชาชนของสถาบันกษัตริย์ ถูกศาลจังหวัดสมุทรปราการพิพากษาว่ามีความผิด ลงโทษจำคุก 4 ปี ให้การเป็นประโยชน์ลดเหลือ 2 ปี 8 เดือน
และคดีของอุดม โพสต์ข้อความ 7 ข้อความ ที่ศาลจังหวัดนราธิวาสเห็นว่ามีความผิดใน 2 ข้อความ ลงโทษจำคุก 6 ปี ให้การเป็นประโยชน์ลดเหลือ 4 ปี โดยศาลเห็นว่ามีข้อความที่ไม่เข้าข่าย เพราะกล่าวถึงรัชกาลที่ 9 ที่กฎหมายไม่ได้คุ้มครองอดีตกษัตริย์
แม้ทั้งสองรายจะได้รับการประกันตัวในชั้นอุทธรณ์ แต่สถานการณ์การต่อสู้ในชั้นศาลที่เต็มไปด้วยข้อจำกัด และอุดมการณ์ที่สะท้อนอยู่ในแนวคำพิพากษา ก็ทำให้น่ากังวลต่อสถานการณ์คดีต่างๆ ที่รอการสืบพยานอยู่อีกจำนวนมาก
.
.
ทิศทางคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คำพิพากษาแยกเป็นสองแนว ขณะเหตุชุมนุมดินแดงปี 64 ยังมีการย้อนแจ้งข้อหา
สถานการณ์คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อันเนื่องมาจากการชุมนุมทางการเมืองในเดือนที่ผ่านมา มีการย้อนแจ้งข้อกล่าวหาผู้ชุมนุมหรือผู้ไปสังเกตการณ์บริเวณดินแดง ในช่วงปลายปี 2564 เช่น “พิชัย” ผู้ต้องขังทะลุแก๊ส ถูกตำรวจเข้าแจ้งข้อหาในเรือนจำเพิ่มเติม 2 คดี จากคดีชุมนุมในช่วงเดือนกันยายนและตุลาคม 2564 หรือ “ป่าน ทะลุฟ้า” ก็ถูกแจ้งข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพิ่มอีก 1 คดี จากการไปสังเกตการณ์การชุมนุมที่ดินแดงเมื่อวันที่ 2 ต.ค. 2564
กระนั้นก็ตาม เดือนที่ผ่านมา อัยการทยอยมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีของผู้ไปสังเกตการณ์และคดีจากการชุมนุมที่ดินแดงไปเพิ่มอีก รวม 3 คดี โดยแนวการวินิจฉัยเห็นว่าผู้ต้องหาที่ตำรวจกล่าวหา เป็นเพียงบุคคลที่น่าสนใจซึ่งตำรวจดูพฤติกรรม ไม่ปรากฏว่าผู้ต้องหารายใดเป็นแกนนำจัดกิจกรรมชุมนุม และการชุมนุมไม่เสี่ยงต่อโรค ทั้งยังมีคดีคาร์ม็อบที่จังหวัดลำพูน และคาร์ม็อบที่สกลนคร รวมอีก 4 คดี ที่อัยการสั่งไม่ฟ้องในข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เช่นกัน
ขณะเดียวกัน ศาลยังมีคำพิพากษายกฟ้องคดีชุมนุมในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อีก 4 คดี ได้แก่ คดีการชุมนุมที่จังหวัดลำพูน, คดีคาร์ม็อบที่นครราชสีมา 2 คดี และคดีชุมนุมที่จังหวัดมหาสารคาม โดยรวมเห็นว่าการชุมนุมไม่ได้เสี่ยงต่อโรค และเป็นไปโดยสงบเรียบร้อย เป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ
ดูสถิติ >> คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ศาลยกฟ้องและอัยการสั่งไม่ฟ้อง
ในทางตรงกันข้าม มีคดีการชุมนุมในกรุงเทพฯ ที่ศาลมีคำพิพากษาในทิศทางตรงกันข้าม แม้ยังเป็นแนวคำวินิจฉัยที่เป็นส่วนน้อยจากแนวคำพิพากษาก่อนหน้านี้ ได้แก่ คดีชุมนุม #Saveวันเฉลิม ที่ศาลแขวงปทุมวันเห็นว่า “เพนกวิน” และ “อั๋ว” มีความผิด โดยเห็นไปในแนวทางว่า ไม่จำเป็นต้องพิจารณาพฤติการณ์ชุมนุมว่าเป็นไปตามมาตรการป้องกันโรค เกิดขึ้นในสถานที่แออัดหรือไม่ หรือมีความไม่สงบเรียบร้อยหรือไม่ เพราะมีผลเท่ากับว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่สามารถใช้บังคับ เพียงแค่จำเลยเข้าร่วมก็ถือเป็นความผิดแล้ว
แนวทางการพิจารณาเช่นนี้ ทำให้ประเด็นการชั่งน้ำหนักระหว่างเสรีภาพในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ กับความจำเป็นในการป้องกันโรคระบาดในสถานการณ์และช่วงเวลาต่างๆ กัน ไม่ถูกนำมาพิจารณา เพราะความเข้มข้นของการระบาดของโควิด-19 ก็มีความแตกต่างกันไป รวมถึงรูปแบบการจัดกิจกรรมหรือการชุมนุมแต่ละครั้งก็แตกต่างกันไป
.
.
สื่ออิสระถูกศาลตั้งเรื่องละเมิดอำนาจศาล เหตุไลฟสดหน้าศาล
เดือนที่ผ่านมา ยังมีคดีละเมิดอำนาจศาลคดีใหม่เกิดขึ้น ได้แก่ คดีที่ผู้อำนวยการศาลอาญากรุงเทพใต้ตั้งข้อหากับ ภราดร เกตุเผือก สื่อพลเมือง เจ้าของเพจ “ลุงดร เกตุเผือก” โดยถูกกล่าวหาว่าตั้งกล้องไลฟ์สดอยู่ใกล้กับประตูทางออกศาล เพื่อติดตามสถานการณ์ “บุ้ง-ใบปอ” ที่ถูกเบิกตัวมาศาลในนัดตรวจพยานหลักฐาน รวมถึงรอฟังคำสั่งประกันตัวของทั้งคู่ เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2565
ภราดรยืนยันว่าตนเองเป็นผู้สื่อข่าวอิสระ ยืนยันว่าไม่ได้มีเจตนาที่จะละเมิดอำนาจศาล ทั้งตนเคยไลฟ์สดเกาะติดสถานการณ์ที่ศาลนี้และศาลอื่นหลายครั้ง ตำรวจศาลหรือเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยก็ไม่ได้เข้ามาตักเตือน และที่ศาลนี้ ก็ไม่พบว่ามีป้ายประกาศข้อกำหนดมาตรการของศาลเกี่ยวกับการไลฟ์สดติดให้ทราบแต่อย่างใด
กรณีนี้ยังต้องติดตามการไต่สวนต่อไป รวมถึงติดตามแนวทางการวินิจฉัยว่าเหตุใดการไลฟ์สดบริเวณหน้าศาล ไม่ใช่ในห้องพิจารณา ถึงจะเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อย หรือจะกระทบต่อการพิจารณาคดี ซึ่งจะถือเป็นการละเมิดอำนาจศาลได้
.