18 ก.ค. 2565 เวลา 09.00 น. ศาลจังหวัดสมุทรปราการนัดฟังคำพิพากษาในคดีของ “มีชัย” (สงวนนามสกุล) พนักงานโรงแรมวัย 51 ปี จากจังหวัดจันทบุรี ซึ่งถูกฟ้องในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) กรณีโพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัวรวม 2 ข้อความ ซึ่งมีเนื้อหาตั้งคำถามต่อการใช้ภาษีประชาชนของสถาบันกษัตริย์
ทั้งนี้ มีชัยถูกอัยการฟ้องรวมเป็นสองกรรม ได้แก่ กรรมแรก จากข้อความ “ความเห็นส่วนตัว สถาบันกษัตริย์ไม่จำเป็นต้องใช้ภาษี ปชช. เพราะกษัตริย์มีธุรกิจผูกขาดอยู่มากมาย” กรรมสอง จากข้อความ “ปชช.มอบเงินให้ระบอบกษัตริย์ 2-3 หมื่นล้านต่อปี กษัตริย์มอบอะไรให้กับ ปชช.” ทั้งสองกรรมเป็นข้อความที่โพสต์ช่วงเดือนพฤษภาคม 2563
ย้อนอ่านบันทึกสืบพยาน >> ศาลสมุทรปราการสั่งห้ามเผยแพร่การสืบพยาน คดี “มีชัย” จำเลย 112 วิจารณ์การใช้ภาษีของสถาบันกษัตริย์ ก่อนฟังคำพิพากษาพรุ่งนี้
ที่ห้องพิจารณา 6 เวลา 09.00 น. มีชัย และน้องชายของมีชัย ได้มานั่งรออยู่หน้าห้องพิจารณา ก่อนที่ทนายผู้รับมอบฉันทะ, นายประกัน และผู้สังเกตการณ์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เข้าร่วมติดตามคดีได้ทยอยมาศาล
ทั้งนี้ ทางเจ้าหน้าที่ประจำห้องพิจารณาได้แจ้งว่า ขณะนี้คำพิพากษากำลังส่งมาจากอธิบดีผู้พิพากษาภาค 1 ให้จำเลยรอก่อนสักระยะ ระหว่างนั้นในห้องพิจารณา ศาลได้มีการสืบพยานคดีอื่นก่อน
เวลา 11.00 น. ประพันธ์ กึ่งพุทธพงษ์ ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน ได้ออกนั่งอ่านคำพิพากษาในคดีนี้ โดยสรุปว่า ข้อความทั้งสองของจำเลยนั้น เป็นการโพสต์ลงเฟซบุ๊ก โดยมีการตั้งค่าเป็นสาธารณะ ประชาชนทั่วไปสามารถพบเห็นและเข้าถึงได้
สำหรับข้อความแรก “ความเห็นส่วนตัว สถาบันกษัตริย์ไม่จำเป็นต้องใช้ภาษี ปชช. เพราะกษัตริย์มีธุรกิจผูกขาดอยู่มากมาย” ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คำว่า ‘ธุรกิจส่วนตัว’ หมายถึง สงวนสิทธิไว้ให้แต่เพียงผู้เดียว เจตนาต้องการสื่อให้เห็นว่า กษัตริย์เป็นผู้ประกอบธุรกิจแต่เพียงผู้เดียว กีดกันประชาชนทั่วไปไม่ให้ทำธุรกิจ ซึ่งความจริงแล้วในประเทศไทย มี พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้าฯ เพื่อป้องกันการผูกขาดและการค้าที่ไม่เป็นธรรมไว้ ดังนั้น ข้อความที่จำเลยโพสต์ จึงเป็นการกล่าวหาว่ากษัตริย์ทำผิดกฎหมาย เป็นข้อความเท็จ มีเจตนาลดเกียรติและดูหมิ่นพระมหากษัตริย์
ต่อมา ข้อความที่สอง “ปชช.มอบเงินให้ระบอบกษัตริย์ 2-3 หมื่นล้านต่อปี กษัตริย์มอบอะไรให้กับ ปชช.” ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้จะอ้างว่าข้อความของจำเลยเป็นเพียงการตั้งคำถาม แต่จำเลยได้มีการยืนยันข้อเท็จจริงว่า 2-3 หมื่นล้านนั้น ทำให้เข้าใจว่างบประมาณที่สถาบันกษัตริย์เอาไว้ใช้ส่วนพระองค์ ซึ่งถือว่าเป็นการกล่าวข้อความเท็จ
เนื่องจากในความเป็นจริงแล้ว งบประมาณสถาบันพระมหากษัตริย์ดังกล่าวนั้น ไม่ได้นำไปใช้ส่วนตัวเสียทั้งหมด แต่ได้มีการกระจายไปที่หลายหน่วยงาน กระทรวงต่างๆ และมีการดำเนินโครงการในพระราชดำริฯ เพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ตัวอย่างเช่น ในระหว่างที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 ในสื่อทั่วไป ก็ได้มีการรายงานว่า พระมหากษัตริย์ได้พระราชทานรถเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์โรคระบาด ดังนั้น ข้อความดังกล่าวจึงเป็นข้อความเท็จ ทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติ เพราะพระมหากษัตริย์ได้ทำพระราชกรณียกิจและพระราชทานเงินบริจาคแก่ประชาชน
นอกจากนี้ คำว่า “ระบอบกษัตริย์” จำเลยเจตนาสื่อถึงพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ ตั้งแต่ในหลวงรัชกาลที่ 1 ถึง ในหลวงรัชกาลที่ 10 จึงถือว่าเป็นการกล่าวเท็จ ใส่ร้าย และดูหมิ่นในหลวงรัชกาลที่ 10 ให้เสื่อมพระเกียรติด้วย ถึงแม้จำเลยจะอ้างว่าเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก และเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 34 ที่ระบุไว้ว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำมิได้เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐเพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน”
แต่อย่างไรก็ตาม การจำกัดสิทธิดังกล่าวจะทำไม่ได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นโดยเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 6 บัญญัติไว้ว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้” ดังนั้น ผู้ใดจะใช้สิทธิเสรีภาพเป็นปฎิปักษ์กับองค์พระมหากษัตริย์ไม่ได้
พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) เป็นการกระทำกรรมเดียว ผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทหนักสุดตามมาตรา 112 ให้ลงโทษจำคุก 4 ปี จำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ลดโทษให้หนึ่งในสาม เหลือโทษจำคุก 2 ปี 8 เดือน โดยไม่รอลงอาญา
คำพิพากษาลงนามโดย ปุณณวิทย์ ภัสรารุจินันท์, ประพันธ์ กึ่งพุทธพงษ์, และพลากร ฮะวังจู
หลังฟังคำพิพากษาเสร็จสิ้นแล้ว ตำรวจศาลได้ใส่กุญแจมือ “มีชัย” และพาเขาลงไปรอที่ห้องเวรชี้ ขณะที่ทนายความยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวเพื่อต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ต่อไป โดยใช้หลักทรัพย์ประกันเดิมจำนวน 150,000 บาท และเพิ่มหลักทรัพย์อีก 75,000 บาท รวมทั้งหมด 225,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์
ต่อมา เวลา 14.27 น. ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ โดยไม่ได้กำหนดเงื่อนไขใดเพิ่มเติม แต่กำหนดนัดให้รายงานตัวในวันที่ 18 ส.ค. 2565
ทั้งนี้ มีชัยได้กล่าวถึงความรู้สึกที่มีต่อคำพิพากษาสั้นๆ ว่า รู้สึกผิดความคาดหมายและก็ผิดหวังในเวลาเดียวกัน เพราะนึกว่าศาลจะยกฟ้องคดี
“เราแค่พูดเจาะจงไปที่งบสถาบันฯ ไม่ได้เจาะจงไปที่ตัวบุคคลไหน และเราก็ได้ศึกษาเรื่องกฎหมาย มาตรา 112 มาบ้างว่าข้อความไหนเข้าข่ายไม่เข้าข่าย เราระมัดระวังเรื่องการแสดงความคิดเห็นมาโดยตลอด ข้อความที่โพสต์ไปก็คิดว่าเนื้อความไม่ได้เป็นการให้ร้าย อาฆาตมุ่งร้ายต่อสถาบันฯ หรือองค์รัชทายาท แต่ศาลได้พิจารณาออกมาอย่างนี้ ก็ค่อนข้างแปลกใจ เราคงต้องสู้คดีต่อไปในชั้นอุทธรณ์ เพื่อแสดงให้ศาลเห็นว่าเจตนาของเราเป็นการวิจารณ์โดยสุจริต” มีชัยกล่าว
สำหรับ “มีชัย” เป็นชาวจังหวัดจันทบุรี และถูกกล่าวหาที่สมุทรปราการ โดยประกอบอาชีพเป็นพนักงานโรงแรม และเป็นเสาหลักของบ้าน ดูแลลูกสาวที่กำลังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษา และคุณแม่ในวัย 70 กว่าปี
อนึ่ง คดีของมีชัย นับเป็นหนึ่งในคดีมาตรา 112 ของ สภ.บางแก้ว จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งมีไม่น้อยกว่า 13 คดี และนับเป็นหนึ่งในคดีที่มี ศิวพันธ์ุ มานิตย์กุล เป็นผู้ไปกล่าวหา จากเท่าที่มีข้อมูลจำนวน 9 คดี โดยส่วนใหญ่พบว่า เป็นคดีที่เกิดจากการแสดงความคิดเห็นในโลกออนไลน์ในช่วงกลางปี 2563 และตำรวจได้มีการเริ่มออกหมายเรียกมาแจ้งข้อกล่าวหาในช่วงปี 2564 โดยคดีเหล่านี้ได้มีการสืบพยานและมีคำพิพากษาออกมาบ้างแล้ว