18 ก.ค. 2565 เวลา 09.00 น. ศาลจังหวัดสมุทรปราการนัดฟังคำพิพากษาในคดีของ “มีชัย” (สงวนนามสกุล) เกษตรกรวัย 51 ปี จากจังหวัดจันทบุรี ซึ่งถูกฟ้องในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) กรณีโพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัวรวม 2 ข้อความ ซึ่งมีเนื้อหาตั้งคำถามต่อการใช้ภาษีประชาชนของสถาบันกษัตริย์ คดีนี้มีการสืบพยานเสร็จสิ้นไปเมื่อวันที่ 7-8 พ.ค. 2565
ทั้งนี้ มีชัยถูกอัยการฟ้องรวมเป็นสองกรรม ได้แก่ กรรมแรก จากข้อความ “ความเห็นส่วนตัว สถาบันกษัตริย์ไม่จำเป็นต้องใช้ภาษี ปชช. เพราะกษัตริย์มีธุรกิจผูกขาดอยู่มากมาย” กรรมสอง จากข้อความ “ปชช.มอบเงินให้ระบอบกษัตริย์ 2-3 หมื่นล้านต่อปี กษัตริย์มอบอะไรให้กับ ปชช.” ทั้งสองกรรมเป็นข้อความที่โพสต์ช่วงเดือนพฤษภาคม 2563
ย้อนอ่านคำฟ้อง >> ฟ้อง ม.112! “มีชัย” ชาวจันทบุรี เหตุโพสต์เฟซบุ๊กแสดงความเห็น-ตั้งคำถาม กษัตริย์กับภาษีประชาชน
.
ศาลไม่ให้ผู้ไม่ใช่คู่กรณีร่วมเข้าฟังการพิจารณา อ้างสถานการณ์โควิด – สั่งห้ามเผยแพร่กระบวนการพิจารณา แม้ไม่ได้สั่งพิจารณาลับ ด้านจำเลยต่อสู้ข้อความเพียงตั้งคำถามงบประมาณสถาบันฯ ด้วยเจตนาสุจริต
ในวันแรกของการสืบพยาน ที่ห้องพิจารณา 6 เวลา เวลา 09.00 น. มีชัย, ทนายจำเลย, ผู้สังเกตการณ์จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, iLaw และนักศึกษา ได้ทยอยมานั่งรอในห้องพิจารณา
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ประจำห้องพิจารณาได้ออกมาแจ้งว่า เนื่องด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาด จึงขอให้แค่ให้ผู้ที่เป็นคู่ความเข้าห้องพิจารณาเท่านั้น ด้านผู้สังเกตการณ์ iLaw ชี้แจงต่อศาลว่า ห้องพิจารณาค่อนข้างกว้างขวาง สามารถนั่งเว้นระยะห่างเพื่อป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ได้ ภายหลังศาลจึงอนุญาตให้ผู้สังเกตการณ์เข้าห้องพิจารณา
เวลา 09.40 น. ศาลออกนั่งพิจารณา ก่อนเริ่มการสืบพยาน ทนายจำเลยได้ชี้แจงต่อศาลว่า ในคำให้การของพนักงานสอบสวนมีข้อผิดพลาดบางประการ โดยพนักงานสอบสวนได้เขียนรายงานว่า จำเลยยอมรับว่าตนโพสต์ข้อความจริง ด้านศาลระบุว่ามันเป็นเพียงการกล่าวหาของตำรวจเท่านั้น ส่วนข้อความดังกล่าวจะเข้าข่ายตามฟ้องหรือไม่ ศาลจะเป็นผู้วินิจฉัยเอง
ต่อมา ศาลได้เรียกผู้สังเกตการณ์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษย์มาตักเตือนว่า หากจะจดบันทึกจำเป็นต้องขออนุญาตศาลก่อน พร้อมกับถามว่าจดบันทึกไปเพื่อจุดประสงค์อะไร ภายหลังศาลอนุญาตให้จดบันทึกต่อและสั่งห้ามนำกระบวนการพิจารณาไปเผยแพร่เป็นอันขาด พร้อมกับระบุว่า คดีนี้หากศาลจะสั่งพิจารณลับก็สามารถทำได้ ก่อนจะกลับไปพิจารณาคดีตามปกติ
อัยการโจทก์นำพยานเข้าเบิกความจำนวน 4 ปาก ประกอบด้วย ศิวพันธุ์ มานิตย์กุล ในฐานะผู้กล่าวหา, จรินทร์ ภูริคุปต์ ทนายความผู้ให้ความเห็นเกี่ยวกับมาตรา 112, วาสนา โอภาสวัฒนาธร ครูสอนภาษาไทย และ พ.ต.ท.รังสรรค์ คำสุข พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดี
ส่วนฝ่ายจำเลยได้นำพยานเข้าเบิกความ 2 ปาก คือ ตัวจำเลย และ บรรณาธิการสำนักข่าวประชาไท
ในประเด็นข้อต่อสู้ อัยการโจทก์นำสืบว่า ข้อความทั้งสองของจำเลยที่ตั้งคำถามถึงงบประมาณสถาบันกษัตริย์นั้น สื่อทำนองว่ากษัตริย์เอารัดเอาเปรียบประชาชน มีธุรกิจผูกขาดส่วนตัว รวมถึงสื่อทำนองว่านำภาษีประชาชนไปใช้ส่วนตัว ไม่ได้มอบอะไรกลับคือให้ประชาชน โดยมีเจตนาที่จะทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิด เป็นการดูหมิ่นอาฆาตมาดร้าย ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียเกลียดชัง เป็นการกล่าวเท็จใส่ร้ายสถาบันกษัตริย์
ขณะที่ข้อต่อสู้ของจำเลยคือ ยอมรับว่าโพสต์ข้อความทั้งสองข้อความจริง แต่ข้อความดังกล่าวเป็นเพียงการตั้งคำถาม อยากให้สังคมร่วมกันคิดว่าจะสามารถปรับลดงบประมาณสถาบันกษัตริย์เพื่อเป็นประโยชน์กับสังคมโดยรวมได้อย่างไร เป็นเพียงการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต ไม่ได้มีอคติกับสถาบันกษัตริย์แต่อย่างใด
อนึ่งคดีนี้มี ศิวพันธุ์ มานิตย์กุล เป็นผู้ไปร้องทุกข์เอาไว้ที่ สภ.บางแก้ว ตั้งแต่เมื่อพฤษภาคม 2563 โดยจากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ผู้กล่าวหารายนี้แจ้งความคดีมาตรา 112 ไว้ที่สถานีตำรวจนี้ไม่น้อยกว่า 9 คดี โดยคดีทั้งหมดกำลังทยอยขึ้นสู่ศาล
.