สิงหาคม 65: จำนวนผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองรวม 1,853 คน ใน 1,120 คดี

เดือนสิงหาคม 2565 สถานการณ์คดีที่เกี่ยวเนื่องกับการเมือง ยังมีผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาอย่างน้อย 29 ราย การจับกุมในคดีมาตรา 112 ยังมีเกิดขึ้นเป็นระยะ โดยมีแนวโน้มที่ตำรวจจะขอออกหมายจับจากศาลทันที โดยไม่มีการออกหมายเรียกก่อน ขณะที่คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง ศาลได้มีคำพิพากษายกฟ้องคดีอย่างต่อเนื่อง 

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2565 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 1,853 คน ในจำนวน 1,120 คดี  ในจำนวนนี้ เป็นกลุ่มเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 283 ราย

เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีกับในช่วงสิ้นเดือนกรกฎาคม 2565 มีผู้ถูกดำเนินคดีรายใหม่เพิ่มขึ้น 10 คน คดีเพิ่มขึ้น 12 คดี (นับเฉพาะผู้ถูกกล่าวหาที่ไม่เคยถูกดำเนินคดีมาก่อน) 

หากนับจำนวนบุคคลที่ถูกดำเนินคดีซ้ำในหลายคดี โดยไม่หักออก แต่นำจำนวนมาเรียงต่อกันแล้ว จะพบว่ามีจำนวนการถูกดำเนินคดีไปอย่างน้อย 3,685 ครั้ง

สำหรับสถิติการดำเนินคดี แยกตามข้อกล่าวหาสำคัญ ได้แก่

1. ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 210 คน ในจำนวน 228 คดี

2. ข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 126 คน ในจำนวน 39 คดี

3. ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 1,467 คน ในจำนวน 647 คดี (นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 ที่เริ่มมีการดำเนินคดีข้อหานี้ต่อผู้ชุมนุมและทำกิจกรรมทางการเมือง) 

4. ข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ อย่างน้อย 107 คน ในจำนวน 75 คดี

5. ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อย่างน้อย 144 คน ในจำนวน 165 คดี

6. ข้อหาละเมิดอำนาจศาล อย่างน้อย 36 คน ใน 20 คดี และคดีดูหมิ่นศาล อย่างน้อย 27 คน ใน 7 คดี

จากจำนวนคดี 1,120 คดีดังกล่าว มีจำนวน 219 คดี ที่สิ้นสุดไปแล้ว โดยมากเป็นคดีที่ผู้ถูกกล่าวหายินยอมให้เปรียบเทียบปรับในชั้นตำรวจ หรือในชั้นศาล ในจำนวนนี้มีกรณีอัยการสั่งไม่ฟ้องจำนวน 23 คดี 

.

.

แนวโน้มเกี่ยวกับการดำเนินคดีในช่วงเดือนสิงหาคม 2565 นี้ มีสถานการณ์สำคัญ ดังต่อไปนี้

การจับกุมในคดี 112 ยังมีต่อเนื่อง ทิศทางคำพิพากษายังน่ากังวล

เดือนที่ผ่านมา ยอดรวมสถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 เพิ่มเป็นไม่น้อยกว่า 210 ราย ใน 228 คดี มากขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 2 ราย ใน 4 คดี ในจำนวนนี้มีผู้ถูกดำเนินคดีที่ยังเป็นเยาวชนรวมแล้ว 17 ราย โดยมีอย่างน้อย 3 ราย ที่ยังถูกคุมขังในเรือนจำระหว่างต่อสู้คดี

คดีสำคัญที่เกิดขึ้นใหม่ ได้แก่ คดีที่ “มิ้นท์ นาดสินปฏิวัติ” ถูกจับกุมจากเหตุโพสต์ภาพที่ตนเองชูป้ายข้อความวิพากษ์วิจารณ์กระบวนการพิจารณาในคดีมาตรา 112 ที่หน้าศาลอาญากรุงเทพใต้ จำนวน 3 โพสต์ โดยคดีมี ปิยกุล วงษ์สิงห์ จากกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) เป็นผู้กล่าวหาไว้ที่ สน.ยานนาวา

และคดีของ “บาส” มงคล ถิระโคตร ที่ถูกจับกุมที่จังหวัดเชียงราย และถูกแจ้งข้อหาจากการโพสต์ข้อความ 2 โพสต์ในช่วงเดือนกรกฎาคม นับเป็นคดีมาตรา 112 คดีที่สามของเขาแล้ว ทั้งสองคนยังถูกจับกุมโดยตำรวจไปขอศาลออกหมายจับทันที โดยไม่เคยมีการออกหมายเรียกมาก่อน 

แนวโน้มคดี 112 ในช่วงหลายเดือนหลัง พบว่าตำรวจดำเนินการขอออกหมายจับในลักษณะนี้เลย โดยไม่เคยมีการออกหมายเรียกมาก่อน หลังจากช่วงปี 2563-64 ยังใช้วิธีออกหมายเรียกผู้ต้องหาในระดับหนึ่ง

เดือนที่ผ่านมา ศาลชั้นต้นยังมีคำพิพากษาคดีมาตรา 112 ในอย่างน้อย 4 คดี โดยมี 2 คดี ที่ต่อสู้คดีและศาลวินิจฉัยว่ามีความผิด ได้แก่ คดีของกัลยา ที่ศาลจังหวัดนราธิวาสลงโทษจำคุก 6 ปี จากการโพสต์ข้อความ 2 ข้อความ และคดีของ “พอร์ท ไฟเย็น” ที่ศาลอาญาลงโทษจำคุก 9 ปี ให้การเป็นประโยชน์ ลดเหลือ 6 ปี ในคดีจากการโพสต์ข้อความ 3 ข้อความ ทั้งสองคนยังได้รับการประกันตัวระหว่างชั้นอุทธรณ์

.

.

ขณะที่ยังมีอีก 2 คดี ที่จำเลยตัดสินใจให้การรับสารภาพ ได้แก่ คดีของพลทหารเมธิน ที่ถูกกล่าวหาจากกล่าวถ้อยคำพาดพิงกษัตริย์ระหว่างถกเถียงกับคู่กรณีที่ขับรถเฉี่ยวชน ศาลทหารพิพากษาจำคุก 5 ปี รับสารภาพ ลดโทษเหลือ 2 ปี 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา คดีนี้เบื้องต้นจำเลยตัดสินใจไม่อุทธรณ์คำพิพากษาต่ออีก

อีกคดีหนึ่งน่าสนใจที่จำเลยให้การรับสารภาพ และศาลให้รอการกำหนดโทษ ได้แก่ คดีของชลสิทธิ์ หนุ่มสวนยางวัย 21 ปี กรณีแชร์สตอรี่เฟซบุ๊กภาพคล้ายรัชกาลที่ 10 ศาลจังหวัดกันทลักษ์พิพากษาให้รอกำหนดโทษ 2 ปี ชี้รายงานสืบเสาะพบว่าไม่มีประวัติเคยทำผิดมาก่อน ขณะโพสต์รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ก่อน-หลังถูกดำเนินคดีไม่มีพฤติการณ์เช่นที่ถูกฟ้อง จึงเห็นควรให้โอกาสจำเลย

.

.

คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ศาลยกฟ้องต่อเนื่องเพิ่มอีก 6 คดี อัยการสั่งไม่ฟ้องอีก 2 คดี

สถานการณ์คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมทางการเมือง เดือนที่ผ่านมา ไม่มีคดีใหม่เพิ่มขึ้นนัก แต่ในคดีเดิมที่ทยอยขึ้นสู่ศาลนั้น หลังการต่อสู้คดี ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องเพิ่มเติมอีกถึง 6 คดี ทั้งคดีคาร์ม็อบสระบุรี, คดีคาร์ม็อบสุราษฎร์ธานี, คดีคาร์ม็อบยะลา, คดีชุมนุมหน้า บก.ตชด. ภาค 1 วันที่ 2 ส.ค. 2564, คดีกิจกรรมรำลึก 10 ปี การถูกยิงเสียชีวิตของ “เสธฯ แดง” บริเวณสวนลุมพินี วันที่ 13 พ.ค. 2563 และ คดีชุมนุม #คนเจียงฮายก้ายคนง่าวบ่เอาคนหลายใจ ที่หอนาฬิกา จังหวัดเชียงราย  เดือนที่ผ่านมา อัยการยังมีคำสั่งไม่ฟ้องคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพิ่มเติมอีก 2 คดีด้วย 

ขณะที่มีคดีที่ศาลมีคำพิพากษาว่ามีความผิดในเดือนที่ผ่านมา ใน 2 คดี ได้แก่ คดีชุมนุมหน้าอาคารเนชั่น วันที่ 29 ต.ค. 2563 และคดีชุมนุมแยกอุดมสุข ถึงสี่แยกบางนา วันที่ 1 พ.ย. 2563 ที่ศาลอาญาพระโขนงวินิจฉัยไปในแนวว่าผู้ปราศรัยในกิจกรรมมีหน้าที่ต้องจัดมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนด จึงเห็นว่ามีความผิด และให้ลงโทษปรับจำเลย

แนวโน้มโดยภาพรวมทำให้มีคดีที่ศาลยกฟ้องไปแล้วอย่างน้อย 24 คดี และอัยการสั่งไม่ฟ้องไปแล้ว 20 คดี คดีที่ศาลเห็นว่ามีความผิดมีจำนวน 7 คดี ส่วนใหญ่วินิจฉัยลงโทษปรับ สะท้อนการใช้ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต่อการชุมนุมทางการเมืองในช่วงสองปีเศษที่ผ่านมา ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการเมืองมากกว่าการจัดการกับสถานการณ์โรคระบาด มุ่งสร้างภาระให้แกนนำและผู้ชุมนุมทางการเมืองด้วยคดีจำนวนมาก แม้ในท้ายที่สุดจะไม่มีความผิดก็ตาม

ขณะเดียวกัน แม้จะมีแนวคำวินิจฉัยในคดีจำนวนมากขึ้นแล้ว แต่อัยการในหลายคดี ยังทยอยมีคำสั่งฟ้องคดีจากการชุมนุมทางการเมืองข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อยู่อย่างต่อเนื่อง  

.

.

คดีละเมิดอำนาจศาลเพิ่ม 1 คดี และคดีดูหมิ่นศาลเพิ่มอีก 1 คดี

เดือนที่ผ่านมา ยังมีคดีละเมิดอำนาจศาลคดีใหม่เกิดขึ้น ได้แก่ คดีที่ประชาชนรายหนึ่งเดินทางไปให้กำลังใจในวันฟังคำพิพากษาของคดีคาร์ม็อบสระบุรี หลังการพิจารณา เจ้าหน้าที่ศาลพบว่าประชาชนรายดังกล่าวได้ถ่ายคลิปวิดีโออยู่ด้านหน้าห้องพิจารณา ทำให้ศาลมีการตั้งเรื่องละเมิดอำนาจศาล และไต่สวนในวันดังกล่าวทันที ก่อนศาลได้ให้กล่าวตักเตือน เนื่องจากเห็นว่าพฤติการณ์ที่ไม่ร้ายแรง และผู้ถูกกล่าวหาได้ยอมรับว่ากระทำผิดจริงจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ พร้อมสัญญาว่าจะไม่ปฏิบัติพฤติกรรมเช่นนี้อีก 

ขณะเดียวกัน ยังมีคดีดูหมิ่นศาล ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 198 เกิดขึ้นใหม่อีก 1 คดี ได้แก่ คดีที่ “มานี” และ “จินนี่” มวลชนสองคนได้กล่าวปราศรัยวิจารณ์การทำงานของศาลระหว่างกิจกรรมเรียกร้องสิทธิการประกันตัวของ “บุ้ง-ใบปอ” ที่หน้าศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เมื่อวันที่ 15 ก.ค. 2565 

คดีนี้มี สันติ ชูกิจทรัพย์ไพศาล รองอธิบดีศาลอาญากรุงเทพใต้ มอบอำนาจให้กล่าวหาทั้งสองคน โดยศาลอาญากรุงเทพใต้ยังไม่ให้ประกันตัวทั้งสองคน จนถูกคุมขังอยู่ 9 วัน ก่อนศาลอุทธรณ์จะมีคำสั่งให้ประกันตัวในที่สุด

สถานการณ์คดีละเมิดอำนาจศาลและดูหมิ่นศาลมีนัยยะสำคัญ เนื่องจากเป็นข้อหาที่เกี่ยวข้องกับการกระทำต่อศาลเอง โดยศาลทำหน้าที่ดำเนินการไต่สวนหรือพิจารณา และจัดทำคำสั่งหรือคำพิพากษาเอง ทำให้สุ่มเสี่ยงต่อความไม่เป็นอิสระในการพิจารณา รวมทั้งการกลายเป็นคู่กรณีต่อผู้ถูกกล่าวหาโดยตรง

ทั้งบทบาทของศาลที่เข้ามาเกี่ยวกับการตัดสินคดีการเมืองจำนวนมากในช่วงสองปีที่ผ่านมา ทำให้การแสดงออกหรือการวิพากษ์วิจารณ์ต่อองค์กรตุลาการเป็นไปอย่างเข้มข้นขึ้นมากในสังคมด้วย การดำเนินคดีจึงเป็นส่วนสะท้อนของสถานการณ์การแสดงออกที่ประชาชนมีต่อกระบวนการยุติธรรมไทย

.

X