มิถุนายน 65: ยอดรวมผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองรวม 1,832 คน ในจำนวน 1,095 คดี

เดือนมิถุนายน 2565 สถานการณ์การดำเนินคดีทางการเมืองยังคงเข้มข้น ผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ทะลุหลักสองร้อยแล้ว โดยเพิ่มขึ้นไปเป็นไม่น้อยกว่า 203 รายแล้ว ขณะที่การคุมขังผู้ถูกดำเนินคดี ทั้งในส่วนของคดีข้อหามาตรานี้ และคดีจากการชุมนุมทะลุแก๊สยังทยอยเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาจากคดีทางการเมืองเพิ่มขึ้นเป็นไม่น้อยกว่า 22 ราย  

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2565 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 1,832 คน ในจำนวน 1,095 คดี  ในจำนวนนี้ เป็นกลุ่มเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 282 ราย

เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีกับในช่วงสิ้นเดือนพฤษภาคม 2565 มีผู้ถูกดำเนินคดีรายใหม่เพิ่มขึ้น 19 คน คดีเพิ่มขึ้น 21 คดี (นับเฉพาะผู้ถูกกล่าวหาที่ไม่เคยถูกดำเนินคดีมาก่อน) 

หากนับจำนวนบุคคลที่ถูกดำเนินคดีซ้ำในหลายคดี โดยไม่หักออก แต่นำจำนวนมาเรียงต่อกันแล้ว จะพบว่ามีจำนวนการถูกดำเนินคดีไปอย่างน้อย 3,641 ครั้ง

สำหรับสถิติการดำเนินคดี แยกตามข้อกล่าวหาสำคัญ ได้แก่

1. ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 203 คน ในจำนวน 218 คดี

2. ข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 125 คน ในจำนวน 39 คดี

3. ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 1,464 คน ในจำนวน 642 คดี (นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 ที่เริ่มมีการดำเนินคดีข้อหานี้ต่อผู้ชุมนุมและทำกิจกรรมทางการเมือง) 

4. ข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ อย่างน้อย 107 คน ในจำนวน 75 คดี

5. ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อย่างน้อย 136 คน ในจำนวน 155 คดี

6. ข้อหาละเมิดอำนาจศาล อย่างน้อย 34 คน ใน 18 คดี และคดีดูหมิ่นศาล อย่างน้อย 25 คน ใน 6 คดี

จากจำนวนคดี 1,095 คดีดังกล่าว มีจำนวน 197 คดี ที่สิ้นสุดไปแล้ว โดยมากเป็นคดีที่ผู้ถูกกล่าวหายินยอมให้เปรียบเทียบปรับในชั้นตำรวจ หรือในชั้นศาล ในจำนวนนี้มีกรณีอัยการสั่งไม่ฟ้องจำนวน 14 คดี 

.

.

แนวโน้มเกี่ยวกับการดำเนินคดีในช่วงเดือนมิถุนายน 2565 นี้ ยังมีสถานการณ์สำคัญ ดังต่อไปนี้

ผู้ถูกดำเนินคดี 112 ทะลุ 200 ราย ยังมีผู้ถูกคุมขังทางการเมืองไม่ได้ประกันตัว

ในเดือนมิถุนายน สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 เพิ่มทะลุหลักสองร้อยขึ้นไป โดยล่าสุดมีผู้ถูกดำเนินคดีไม่น้อยกว่า 203 ราย ใน 218 คดี เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 8 ราย ใน 7 คดี พบว่าตั้งแต่เริ่มนำมาตรานี้กลับมาบังคับใช้อีกครั้งในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2563 จนถึงปัจจุบัน มียอดผู้ถูกดำเนินคดีเพิ่มขึ้นเฉลี่ยราว 11-12 คดี ต่อเดือน

คดีสำคัญในเดือนที่ผ่านมา ได้แก่ กรณีของปิยบุตร แสงกนกกุล ที่ถูกเทพมนตรี ลิมปพะยอม กล่าวหาที่ สน.ดุสิต กรณีทวิตข้อความเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่รักษาสถาบันกษัตริย์ไว้อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ นับเป็นคดีแรกที่เลขาธิการคณะก้าวหน้ารายนี้ถูกกล่าวหาในข้อหานี้

ขณะเดียวกัน กรณีของ 3 เน็ทไอดอล ได้แก่ มัมดิว, นารา และหนูรัตน์ ได้ถูกออกหมายจับดำเนินคดีจากกรณีทำคลิปวิดีโอโปรโมทแคมเปญลดราคาสินค้าของ Lazada โดยถูกศรีสุวรรณ จรรยา กล่าวหาว่าเป็นการล้อเลียนอดีตพระราชินีและสมาชิกราชวงศ์ ทั้งที่ไม่ใช่บุคคลตามองค์ประกอบมาตรา 112

นอกจากนั้น ยังมีกรณีของ “ไบรท์ ชินวัตร” ที่ถูกกล่าวหามาตรา 112 เป็นคดีที่ 6 แล้ว เหตุจากการให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนที่บริเวณหน้าสำนักงานอัยการสูงสุด และกรณีของ “ทอปัด” ศิลปินนักวาดรูป ที่ถูกจับกุมดำเนินคดีจากการวาดรูปรัชกาลที่ 10 โพสต์ลงในอินสตาแกรม

ในเดือนที่ผ่านมา ทางศูนย์ทนายฯ ยังได้รับแจ้งถึงกรณีของ “เมธิน” พลทหารอายุ 22 ปี ที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 และถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำ มทบ.11 เหตุจากการถูกกล่าวหาว่าพูดพาดพิงถึงรัชกาลที่ 10 ขณะมีปากเสียงกับคู่กรณีที่ขับรถเฉี่ยวชน เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 โดยเขาถูกฟ้องคดีที่ศาลทหารกรุงเทพ และยังถูกคุมขังอยู่ในปัจจุบัน

นอกจากเมธิน ยังมีผู้ถูกคุมขังด้วยข้อหานี้ในระหว่างต่อสู้คดี โดยไม่ได้รับการประกันตัว อีก 3 คน ได้แก่ บุ้ง เนติพร, ใบปอ, สมบัติ ทองย้อย กรณีของสองรายแรกยังทำการอดอาหารประท้วงอยู่ในเรือนจำมากกว่า 1 เดือนแล้วอีกด้วย

ขณะที่สถานการณ์การพิจารณาคดีมาตรา 112 ในชั้นศาล ยังเต็มไปด้วยข้อจำกัด ซึ่งกระทบต่อหลักการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม โดยในเดือนที่ผ่านมา อาทิ ในคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ศาลยังไม่อนุญาตให้ออกหมายเรียกพยานเอกสารที่ฝ่ายจำเลยร้องขอเพื่อนำมาต่อสู้เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ โดยออกให้เพียงบางส่วน

นอกจากนั้น ศาลจังหวัดสมุทรปราการยังมีคำพิพากษาในคดีของ “ปุญญพัฒน์” ผู้ป่วยพัฒนาการช้าและสมาธิสั้นวัย 29 ปี กรณีโพสต์เฟซบุ๊ก 4 ข้อความ ลงในกลุ่ม “รอยัลลิสต์มาร์เกตเพลส” โดยให้จำคุกกระทงละ 3 ปี รวมจำคุก 12 ปี ให้การรับสารภาพ จึงมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้เหลือจำคุก 4 ปี 24 เดือน โดยศาลไม่ได้นำเรื่องอาการป่วยของจำเลยเข้ามาร่วมพิจารณาด้วยแต่อย่างใด คดีนี้จำเลยยังได้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์คำพิพากษาต่อไป

.

.

แม้มาตรการป้องกันโควิดลดระดับลง แต่การกล่าวหาคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยังดำเนินต่อไป

สถานการณ์คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อันเนื่องมาจากการชุมนุมทางการเมือง แม้การจัดกิจกรรมต่างๆ ในประเทศจะทำได้มากขึ้น ท่ามกลางนโยบายการผ่อนคลายมาตรการเกี่ยวกับโควิด-19 ของรัฐบาล แต่เจ้าหน้าที่รัฐก็ยังมีการใช้ข้อกล่าวหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ดำเนินคดีต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ชุมนุมทะลุแก๊สในช่วงกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ที่ถูกตำรวจกล่าวหาไปพร้อมกับข้อหาอื่นๆ ด้วย โดยพบว่ามีผู้ถูกดำเนินคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในเดือนมิถุนายนอย่างน้อย 21 คน ใน 9 คดี (บางรายเคยถูกกล่าวหาข้อหานี้มาก่อนแล้ว)

ขณะเดียวกัน แนวโน้มผลทางคดี ศาลยังคงมีคำพิพากษายกฟ้องอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยเดือนที่ผ่านมา ศาลยกฟ้องไปอีก 4 คดี ได้แก่ คดีชุมนุม #21ตุลาไปอนุสาวรีย์ชัย วันที่ 21 ต.ค. 2563 ของ วีรวิชญ์ รุ่งเรืองศิริผล, คดีคาร์ม็อบนครราชสีมา 2 คดี และคดีคาร์ม็อบกำแพงเพชร ขณะเดียวกันอัยการยังสั่งไม่ฟ้องคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพิ่มเติมอีก 2 คดี ได้แก่ คดีผู้ร่วมสังเกตการณ์ #ม็อบทะลุแก๊ซ ดินแดง วันที่ 23 ส.ค. 2564 และวันที่ 2 ก.ย. 2564  (ดูสถิติคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ศาลยกฟ้องและอัยการสั่งไม่ฟ้อง)

ปรากฏการณ์ที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการปิดกั้นปราบปรามการชุมนุมทางการเมือง โดยที่แม้ในท้ายที่สุดผลทางคดี ศาลจะยกฟ้องหรืออัยการสั่งไม่ฟ้องเป็นส่วนใหญ่ แต่นักกิจกรรมก็มีภาระในการต่อสู้คดีเป็นเวลานับปี ทำให้กระบวนการยุติธรรมเองต้องใช้งบประมาณและบุคลากรกับคดีลักษณะนี้จำนวนมาก ยังเป็นสถานการณ์สำคัญที่สร้างปัญหาให้ระบบนิติรัฐในสังคมไทย  

ขณะเดียวกันในเดือนกรกฎาคมนี้ ยังต้องจับตาการพิจารณาการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของรัฐบาลว่าจะมีการต่ออายุประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินต่อไปอีกหรือไม่ด้วย 

.

.

การกล่าวหา บก.ฟ้าเดียวกัน เปิดเผย “เอกสารลับ” สำหรับความปลอดภัยของประเทศ

ช่วงปลายเดือนมิถุนายน ยังมีคดีที่น่าสนใจเกิดขึ้นอีกคดีหนึ่ง ได้แก่ คดีที่เจ้าหน้าที่ บก.ปอท. เข้าจับกุม ธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน หลังศาลมีการออกหมายจับใน 4 ข้อกล่าวหา เกี่ยวกับการได้มาและเปิดเผยเอกสารอันปกปิดไว้เป็นความลับสำหรับความปลอดภัยของประเทศ 

ต่อมา พบว่าธนาพลถูกกล่าวหาจากการโพสต์เผยแพร่หนังสือสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ลงวันที่ 11 พ.ย. 2563 ที่เป็นการสรุปผลการประชุมของหัวหน้าหน่วยงานด้านข่าวกรองและความมั่นคง โดยมีเนื้อหาส่วนหนึ่งสั่งการให้ตำรวจสันติบาลติดตามสืบสวนประวัติของอดีตนักการทูตที่เกษียณอายุราชการ ที่เผยแพร่ข้อมูล “โจมตีรัฐบาล” เพื่อประกอบการ “ปฏิบัติการข่าวสารตอบโต้” และยังมีการให้กระทรวงมหาดไทยประสานผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ (ในทางลับ) เพื่อดำรงการจัดกิจกรรมแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันหลักของชาติอย่างต่อเนื่อง

ที่น่าสนใจ นอกจากข้อกล่าวหาลักษณะที่แทบไม่เคยพบว่าถูกนำมาใช้ดำเนินคดีมาก่อน ยังมีประเด็นการเปิดเผยเอกสารของรัฐ ที่หมิ่นเหม่ต่อการใช้อำนาจโดยมิชอบ และนอกเหนือกฎหมาย ทั้งการสั่งการให้หน่วยงานรัฐติดตามข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชน เพื่อปฏิบัติการข่าวสาร (IO) หรือการระดมหน่วยงานราชการจัดกิจกรรมบางลักษณะที่ตรงกันข้ามกับประชาชนที่เคลื่อนไหวเรียกร้องในขณะนั้น จะนับเป็น “ความผิด” ตามกฎหมายตามข้อกล่าวหานี้หรือไม่

.

X