กรกฎาคม 2567: จำนวนผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองยอดรวม 1,954 คน ใน 1,299 คดี

เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา สถานการณ์การดำเนินคดีทางการเมือง ยังมีคดีตามมาตรา 112 และคดีตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ คดีใหม่เพิ่มขึ้นอย่างละ 1 คดี ขณะที่ยังมีประชาชนถูกคุมขังด้วยคดีมาตรา 112 เพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 3 ราย ซึ่งมีทั้งผู้ที่ไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ และผู้ที่คดีถึงที่สุดแล้ว รวมทั้งยังมีคำพิพากษาในคดีสำคัญของอานนท์ นำภา ที่ต้องติดตามคำพิพากษาในฉบับเต็มต่อไป แต่ในส่วนของคดีตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ นั้น ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องในข้อหานี้อีก 2 คดี 

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2567 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 1,954 คน ในจำนวน 1,299 คดี  เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีกับในช่วงเดือนมิถุนายน  มีคดีเพิ่มขึ้น 2 คดี

หากนับจำนวนบุคคลที่ถูกดำเนินคดีซ้ำในหลายคดี โดยไม่หักออก แต่นำจำนวนมาเรียงต่อกันแล้ว จะพบว่ามีจำนวนการถูกดำเนินคดีไปอย่างน้อย 4,005 ครั้ง

สำหรับสถิติการดำเนินคดี แยกตามข้อกล่าวหาสำคัญ ได้แก่

1. ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 272 คน ในจำนวน 304 คดี

2. ข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 152 คน ในจำนวน 50 คดี

3. ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 1,466 คน ในจำนวน 672 คดี 

4. ข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 181 คน ในจำนวน 99 คดี

5. ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 202 คน ในจำนวน 225 คดี

6. ข้อหาละเมิดอำนาจศาล อย่างน้อย 43 คน ใน 25 คดี และคดีดูหมิ่นศาล อย่างน้อย 34 คน ใน 10 คดี

จากจำนวนคดี 1,299 คดีดังกล่าว มีจำนวน 603 คดี ที่สิ้นสุดไปแล้ว เท่ากับยังมีคดีอีกกว่า 696 คดี ที่ยังดำเนินอยู่ในกระบวนการชั้นต่าง ๆ

.

แนวโน้มการดำเนินคดีในช่วงเดือนกรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา มีสถานการณ์สำคัญ ดังต่อไปนี้

คดี ม.112 ศาลมีคำพิพากษา 7 คดี ผู้ถูกคุมขังเพิ่มอีก 3 ราย

เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มีรายงานคดีมาตรา 112 เพิ่มขึ้น 1 คดี โดยเป็นคดีของเยาวชนรายหนึ่งที่เคยถูกดำเนินคดีมาก่อน และถูกแจ้งข้อหาในคดีใหม่เพิ่มเติม ทำให้ยอดรวมคดีมาตรา 112 หลังปี 2563 เป็นต้นมา เพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 304 คดี แต่ในช่วงสามสี่เดือนหลังนี้ แนวโน้มคดีชะลอตัวลงไป

ขณะเดียวกันในรอบเดือน มีคดีที่ศาลมีคำพิพากษาออกมาอีกอย่างน้อย 7 คดี แยกเป็นคำพิพากษาในศาลชั้นต้น 5 คดี และศาลอุทธรณ์ 2 คดี

คดีที่สำคัญ ได้แก่ คดีของอานนท์ นำภา กรณีถูกกล่าวหาโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก 2 ข้อความ เกี่ยวการใช้อำนาจบริหารราชการแผ่นดินของกษัตริย์ ช่วงต้นปี 2564 ซึ่งศาลอาญามีคำพิพากษาจำคุกรวม 4 ปี โดยคำวินิจฉัยพยายามลงรายละเอียดโต้แย้งข้อต่อสู้ของอานนท์ ว่าการใช้อำนาจของรัชกาลที่ 10 ในการแก้รัฐธรรมนูญหลังผ่านประชามติ ไม่ขัดต่อหลักการปกครอง และการออกกฎหมายเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับทรัพย์สินกษัตริย์และการจัดการบริหารราชการในพระองค์ เป็นความเห็นชอบของสภา ไม่เกี่ยวข้องกับพระองค์ จึงเห็นว่าจำเลยใส่ความพระมหากษัตริย์ทำให้พระองค์เสื่อมเสียพระเกียรติ 

คำวินิจฉัยฉบับนี้มีนัยสำคัญต่อการวินิจฉัยเรื่องอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ และกระทั่งการย้อนกลับไปรับรองการใช้พระราชอำนาจ แต่ยังต้องติดตามคำพิพากษาฉบับเต็มต่อไป โดยคดีนี้นับเป็นคดีมาตรา 112 คดีที่ 4 ของอานนท์ที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาออกมา หากรวมโทษจำคุกในคดีต่าง ๆ ของเขาจะกลายเป็น 14 ปี 2 เดือน 20 วันแล้ว โดยทุกคดียังอยู่ระหว่างอุทธรณ์คำพิพากษา และอานนท์ยังมีคดีมาตรา 112 อีก 10 คดี ที่อยู่ระหว่างต่อสู้คดี

.

.

นอกจากนั้นยังมีคดี “มานี-ขุนแผน-ไบรท์” กรณีทำกิจกรรม “ยืนบอกเจ้าว่าเราโดนรังแก” เรียกร้องสิทธิประกันตัวบุ้ง-ใบปอ และมีการร้องเพลง “โชคดีที่มีคนไทย” ของวงไฟเย็น เมื่อช่วงปี 2565 คดีนี้ทั้งสามถูกกล่าวหาทั้งข้อหาตามมาตรา 112, ดูหมิ่นศาล และหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ทั้งสามให้การรับสารภาพ และศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาจำคุกคนละ 3 ปี 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา ในกรณีของมานีและขุนแผน ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์อีกด้วย ทำให้ทั้งคู่กลายเป็นผู้ต้องขังในเรือนจำเพิ่มขึ้นอีก

นอกจากนั้น “ไบรท์” ชินวัตร จันทร์กระจ่าง ยังถูกลงโทษในคดีปราศรัยประเด็นการโอนทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ระหว่างกิจกรรมยืนหยุดขังที่ท่าน้ำนนทบุรีเพิ่มอีกคดี โดยศาลจังหวัดนนทบุรีพิพากษาจำคุก 1 ปี 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา ทำให้ไบรท์ถูกลงโทษจำคุกรวม 15 ปี 24 เดือนแล้ว แต่ต้องตรวจสอบข้อมูลโทษรวมทั้งหมดของไบรท์ต่อไป เนื่องจากมีบางคดี ศาลไม่ได้สั่งให้นับโทษต่อจากคดีอื่น และในทุกคดี ไบรท์ยังประสงค์จะอุทธรณ์คำพิพากษาต่อ

.

.

ส่วนคำพิพากษาในศาลอุทธรณ์นั้น มีคดีในศาลเยาวชนฯ 2 คดี ที่มีคำพิพากษาออกมา ได้แก่ คดีของ “สายน้ำ” กรณีถูกกล่าวหาแปะกระดาษ และใช้สีสเปรย์สีดำพ่นทับข้อความบนรูปรัชกาลที่ 10 ระหว่างการชุมนุม 18 ก.ค. 2564 โดยศาลอุทธรณ์พิพากษายืนให้ยกฟ้องคดี เพราะพยานหลักฐานโจทก์ยังไม่เพียงพอว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้อง

อีกคดีหนึ่ง คือคดีของ “เบลล์” เยาวชนที่จังหวัดพัทลุง กรณีถูกกล่าวหาโพสต์รูปภาพถ่ายจุดต่าง ๆ ในเมืองพัทลุง และใส่ข้อความทางการเมืองประกอบในเพจเฟซบุ๊ก “พัทลุงปลดแอก” และ “ประชาธิปไตยในด้ามขวาน” คดีนี้ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาแก้ โดยเห็นว่าจำเลยมีความผิด 1 กระทง และยกฟ้องอีก 1 กระทง จากเดิมที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าผิดทั้ง 2 กระทง เนื่องจากเห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์ระบุได้เพียงว่าจำเลยเกี่ยวข้องกับเพจเฟซบุ๊กเดียว ศาลลงโทษจำคุก 1 ปี 6 เดือน แต่ให้รอลงอาญาไว้ 3 ปี พร้อมกำหนดเงื่อนไขคุมประพฤติต่าง ๆ

.

.

ในเดือนที่ผ่านมา ยังมีคดีของ “มีชัย” พ่อครัววัย 52 ปี จากจังหวัดจันทบุรี ที่ถูกกล่าวหาคดีมาตรา 112 ที่จังหวัดสมุทรปราการ จากกรณีการโพสต์ตั้งคำถามต่อการใช้ภาษีประชาชนของสถาบันกษัตริย์ ที่ศาลนัดอ่านคำสั่งการขออนุญาตฎีกา แต่ปรากฏว่าไม่มีผู้พิพากษารับรองให้ฎีกาในคดีนี้ ทำให้มีชัยต้องถูกคุมขังตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ที่ลงโทษจำคุก 2 ปี 8 เดือน โดยไม่รอลงอาญา 

การถูกคุมขังของมีชัยยังส่งผลกระทบถึงคนในครอบครัว เมื่อเขาเป็นเสาหลักของบ้าน ต้องดูแลลูกสาวที่กำลังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมปลาย พร้อมมารดาชราวัย 83 ปี

จนถึงต้นเดือนสิงหาคมนี้ มีผู้ต้องขังในคดีมาตรา 112 ถูกคุมขังอยู่อย่างน้อย 27 คน แยกเป็นผู้ต้องขังระหว่างพิจารณา 16 คน และผู้ต้องขังคดีถึงที่สุดอีก 10 คน ทั้งยังน่ากังวลต่อสถานการณ์ผู้ถูกคุมขังที่เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีคำพิพากษาในชั้นศาลอุทธรณ์และฎีกาเพิ่มขึ้นด้วย

.

คดี พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ศาลยกฟ้อง 2 คดี แต่ยังมีหมายเรียกคดีใหม่ ส่วนคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยังดำเนินไปอีกเกือบ 400 คดี

ในเดือนกรกฎาคม มีรายงานคดีจากการชุมนุมคดีใหม่เพิ่มขึ้นอีก 1 คดี ได้แก่ “มายด์” ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล ได้รับหมายเรียกของ สน.ยานนาวา ในข้อหาไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะ ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ แต่ยังไม่ได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหา ทำให้ยังไม่ทราบสาเหตุที่ถูกกล่าวหา

เดือนที่ผ่านมา ศาลชั้นต้นยังมีคำพิพากษายกฟ้องคดีตาม พ.ร.บ.การชุมนุมฯ อย่างน้อย 2 คดี ได้แก่ คดีของนักกิจกรรม 12 ราย ที่ถูกฟ้องจากการเข้าร่วมกิจกรรม “ไซอิ๋วตะลุยเอเปค” กรณีเดินถือป้ายประท้วงนโยบายจีนเดียวเมื่อปี 2565 โดยศาลแขวงปทุมวันเห็นว่าการเดินขบวนดังกล่าวไม่ถือเป็นการชุมนุมสาธารณะตามกฎหมาย เพราะไม่มีการเชิญชวนให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วม และยังยกฟ้องความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงาน จากการไม่พิมพ์ลายนิ้วมือของนักกิจกรรม เนื่องจากเห็นว่าพนักงานสอบสวนสามารถรวบรวมประวัติอาชญากรรมผ่านวิธีการอื่นได้ แต่ให้ลงโทษปรับในข้อหาตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ คนละ 500 บาท

.

.

ส่วนอีกคดีหนึ่ง ได้แก่ คดีของสมยศ พฤกษาเกษมสุข และ ธนพร วิจันทร์ กรณีเดินขบวนเนื่องในวันแรงงานสากล เมื่อปี 2566 ศาลแขวงดุสิตได้ยกฟ้องข้อหาตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ โดยวินิจฉัยไปในแนวว่ากิจกรรมในวันแรงงานนั้นเป็นกิจกรรมประเพณี ไม่ใช้ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ บังคับ ตามมาตรา 3 (2) จึงไม่เป็นความผิดฐานไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะ แต่ลงโทษปรับจำเลยทั้งสองในข้อหาตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ และใช้เครื่องขยายเสียง

สถานการณ์ดังกล่าว ทำให้เห็นการใช้ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ ของเจ้าหน้าที่ตำรวจไปกล่าวหาต่อการจัดชุมนุมอย่างกว้างขวางจนเกินไป แทนที่จะกฎหมายในการสร้างสมดุลระหว่างการใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุม และการอำนวยความสะดวกให้การสัญจรของประชาชนคนอื่น ๆ แต่กลับมุ่งใช้กล่าวหาต่อการทำกิจกรรมสาธารณะต่าง ๆ ที่ไม่ได้แจ้งการชุมนุมล่วงหน้า แม้ทางตำรวจจะทราบถึงกิจกรรมเหล่านั้นอยู่แล้ว และมีการไปดูแลความเรียบร้อย จนกิจกรรมเสร็จสิ้นไป 

นอกจากนั้น ยังน่าสนใจว่าในคดีแรกนั้น ศาลวินิจฉัยยกฟ้องเรื่องที่ผู้ต้องหาปฏิเสธจะพิมพ์ลายนิ้วมือ ว่าไม่เป็นการฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงาน เพราะพนักงานสอบสวนสามารถรวบรวมประวัติอาชญากรรมผ่านวิธีการอื่นได้ หากยึดแนวทางคำพิพากษาเช่นนี้ การที่พนักงานสอบสวนให้พิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อวัตถุประสงค์การตรวจสอบประวัติของผู้ต้องหา จึงไม่ใช่สิ่งจำเป็นอีกต่อไป เนื่องจากสามารถตรวจสอบข้อมูลผ่านบัตรประชาชนได้อยู่แล้ว

.

.

เดือนที่ผ่านมา ยังมีคำพิพากษาในคดีชุมนุม ที่ถูกกล่าวหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อีกส่วนหนึ่ง โดยมีทั้งคดีของเยาวชน 3 คน ที่ร่วมกิจกรรม Rainbow Carmob ของกลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564 ศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น คือเห็นว่ามีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ลงโทษปรับคนละ 4,000 บาท ทั้งที่คดีจากกิจกรรมเดียวกันนี้ในส่วนของผู้ใหญ่อีก 3 คนนั้น ศาลพิพากษายกฟ้องในข้อหานี้ และคดีสิ้นสุดไปแล้ว

สถานการณ์ดังกล่าวสะท้อนถึงปัญหาแนวคำวินิจฉัยที่ลักลั่นและไม่คงเส้นคงวาของศาลในคดีตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในช่วงที่ผ่านมาด้วย

นอกจากนั้น ยังมีคดีจากการชุมนุมในช่วงปี 2564 อีก 2 คดี ที่จำเลยรับสารภาพ และศาลมีคำพิพากษา ได้แก่ คดีของประชาชน 1 ราย ที่ถูกจับกุมช่วงเคอร์ฟิวภายหลังการชุมนุม Car Mob x Car Park เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2564  และคดีของประชาชนอีก 5 ราย กรณีชุมนุมบริเวณสามย่านมิตรทาวน์เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2564 ทั้งสองคดีศาลลงโทษปรับ

จนถึงปัจจุบัน ยังมีคดีตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมในช่วงปี 2563-65 ที่ยังไม่สิ้นสุดอีกไม่น้อยกว่า 382 คดี โดยนักกิจกรรมและประชาชนหลายคนยังมีคดีค้างคาอยู่อีกหลายคดี และมีภาระในทางคดีอย่างต่อเนื่อง

.

X