25 ก.ค. 2567 เวลา 13.30 น. ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาในคดีของอานนท์ นำภา นักกิจกรรมและทนายความสิทธิมนุษยชน ซึ่งถูกฟ้องในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จากการโพสต์ 2 ข้อความบนเฟซบุ๊ก ในช่วงเดือน ม.ค. – ก.พ. 2564 โดยโพสต์ดังกล่าวมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์การใช้อำนาจบริหารราชการแผ่นดินของรัชกาลที่ 10
ในคดีนี้ ศาลอาญาพิพากษาให้อานนท์มีความผิดตามฟ้อง จำคุกกระทงละ 3 ปี รวม 2 กระทง รวมเป็นจำคุก 6 ปี เห็นว่าทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดีอยู่บ้าง มีเหตุลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสาม คงจำคุก 4 ปี ไม่รอการลงโทษ
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2564 พ.ต.ท.ทศพร ศรีสัจจา พนักงานสอบสวนจาก บก.ปอท. ได้เข้าแจ้งข้อหาคดีนี้ต่ออานนท์ขณะถูกคุมขังระหว่างสอบสวนในคดีมาตรา 112 คดีอื่น โดยพบว่ามี ร.ต.อ.ณัฐภัทร เรืองศิลป์ประเสริฐ ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชา ให้เป็นผู้แจ้งความกล่าวหา
ต่อมาในวันที่ 28 มี.ค. 2565 ณัฐพล รัตนทัศนีย์ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 7 ได้เป็นผู้เรียงฟ้อง คดีต่อศาลอาญา โดยกล่าวหาว่าอานนท์มีความผิดตาม ม.112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จากการโพสต์บนเฟซบุ๊กส่วนตัวของ 2 ข้อความ เมื่อวันที่ 11 ม.ค.2564 และวันที่ 3 ก.พ. 2564
อานนท์ได้ยืนยันต่อสู้คดี โดยมีการสืบพยานรวม 2 นัด ในระหว่างวันที่ 25 – 26 มิ.ย. 2567 เขาต่อสู้คดีว่า โพสต์ข้อความตามฟ้องเป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตบนพื้นฐานของข้อเท็จจริง เป็นการวิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา ด้วยเจตนาที่ดีต่อสถาบันกษัตริย์ อันเป็นสิทธิเสรีภาพที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองซึ่งประเทศไทยมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม
.
ศาลพิพากษาจำคุก 4 ปี ชี้กษัตริย์อยู่ในสถานะที่แตกต่างจากคนทั่วไป แต่วินิจฉัยว่ากษัตริย์ย่อมมีอำนาจอธิปไตยเท่ากันกับประชาชนในการจัดตั้งรัฐธรรมนูญ ส่วนกรณีกฎหมาย 3 ฉบับ ที่อานนท์เบิกความสู้ ศาลชี้ไม่อยู่ในอำนาจที่จะวินิจฉัยเนื้อหาได้
วันนี้ (25 ก.ค.2567) เวลา 13.30 น. ที่ห้องพิจารณาคดี 713 ประชาชน และตัวแทนองค์กรสิทธิมนุษยชนหลายแห่งเดินทางมาร่วมฟังการพิจารณาคดีจนเต็มห้อง จนไม่สามารถนั่งฟังการพิจารณาคดีได้ทั้งหมด ศาลจึงขอให้ตำรวจศาลนำเก้าอี้จากข้างนอกเข้ามาเพิ่ม เพื่อให้ประชาชนที่ร่วมสังเกตการณ์คดีสามารถนั่งฟังการพิจารณาคดีได้ ส่วนอานนท์ได้ถูกนำตัวมาจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพื่อฟังคำพิพากษา
ต่อมาเวลาประมาณ 13.40 น. ศาลเรียกชื่อให้อานนท์ลุกขึ้นยืนแสดงตัว ก่อนจะบอกกับประชาชนที่อยู่ในห้องพิจารณาคดีว่าจะเริ่มอ่านคำพิพากษา ขอให้ทุกคนตั้งใจฟังร่วมกันให้ดี
คำพิพากษามีใจความสำคัญระบุว่า พิเคราะห์พยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยแล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่าตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้อง จำเลยพิมพ์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว ซึ่งตั้งค่าเป็นสาธารณะที่บุคคลทั่วไปเข้าถึงได้ว่า “การที่ในหลวงวชิราลงกรณ์ลงมาบริหารราชการแผ่นดินด้วยตนเอง นี่ขัดกับหลักประชาธิปไตยแน่ๆ ไม่มีใครบอกเลยหรือว่ามันผิด และถ้าไม่มีใครบอก ก็จะทำผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า พอคนรุ่นใหม่ลุกขึ้นมากพูด ก็โดน 112 แบบนี้ สังคมมีแต่จะพากันเดินลงเหว”
และ “ย้ายลูกจากอัยการไปเป็นทหาร นี่แหละตัวอย่างของการทำตัวอยู่เหนือระบบระบอบทั้งปวง ทำอะไรตามใจ และใช้อำนาจบริหารประเทศอย่างแท้จริง ไม่ทำตนให้เป็นกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย แล้วจะให้คนเคารพในฐานะกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยได้อย่างไร นี่คือเหตุผลหนึ่งที่เราต้องลุก ขึ้นมาเปลี่ยนแปลงสังคม ก่อนที่จะชิบหายไปมากกว่านี้” ตามฟ้อง
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องโจทก์หรือไม่ เห็นว่าสำหรับพระมหากษัตริย์เป็นบุคคลหนึ่งที่เป็นผู้ทรงสิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 34 ย่อมได้รับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพเฉกเช่นเดียวกัน แต่เนื่องจากพระมหากษัตริย์ทรงดำรงฐานะพิเศษแตกต่างจากบุคคลทั่วไป กล่าวคือ ทรงเป็นประมุขของรัฐ
โดยเฉพาะสังคมไทยที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาแตกต่างจากสังคมตะวันตก ประชาชนย่อมมีความรักความผูกพันต่อสถาบันพระมหากษัตริย์มาอย่างยาวนาน เป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจและเป็นเสาหลักของบ้านเมืองในการแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศชาติมาแล้วหลายครั้ง ทั้งการปฏิบัติพระองค์ยังมีหลักทศพิธราชธรรมหรือหลักธรรมของนักปกครองให้ทรงยึดถือปฏิบัติ ดังนั้นพระมหากษัตริย์จึงต้องได้รับความคุ้มครองพระเกียรติยศเป็นกรณีพิเศษกว่าบุคคลทั่วไป
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 6 การแสดงความคิดเห็น การ พูด การเขียน การพิมพ์ หรือการโฆษณาที่เกินเลยขอบเขตแห่งเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ จึงถือว่า เป็นการละเมิดพระเกียรติยศของพระองค์ อันเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ดังจะเห็นได้จากประมวลกฎหมายอาญาได้บัญญัติความผิดว่า ด้วยการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ไว้ในหมวดความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร แยกต่างหากจากความผิดฐานหมิ่นประมาท ฐานดูหมิ่น หรือความผิดต่อเสรีภาพต่อบุคคลทั่วไป ทั้งได้กำหนดบทลงโทษไว้หนักกว่า
นอกจากนี้ยังไม่มีบทบัญญัติยกเว้นความผิดหรือยกเว้นโทษเหมือนกับความผิดฐานหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไป แสดงว่า ฝ่ายนิติบัญญัติเล็งเห็นว่าสถาบันพระมหากษัตริย์มีความสำคัญที่จะต้องปกป้องและรักษาไว้ตามรัฐธรรมนูญในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
นอกจากนี้ การที่จำเลยเบิกความอ้าง ถึงร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งรัชกาลที่ 10 ทรงไม่ลงพระปรมาภิไธย โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้แถลงข่าวว่า รัชกาลที่ 10 ต้องการที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งได้ผ่านการลงประชามติของประชาชนไปแล้วนั้น
เห็นว่า ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 แก้ไขเพิ่มเติมปี 2560 บัญญัติแก้ความในวรรคสิบเอ็ดของมาตรา 39/1 ว่า “เมื่อนายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายตามวรรคเก้าประกอบกับวรรคสิบแล้ว หากมีกรณีที่พระมหากษัตริย์พระราชทานข้อสังเกตว่าสมควรแก้ไขเพิ่มเติมข้อความใดภายใน 90 วัน ให้นายกรัฐมนตรีขอรับพระราชทานร่างรัฐธรรมนูญนั้นคืนมา เพื่อดําเนินการแก้ไขเพิ่มเติมเฉพาะประเด็นตามข้อสังเกตนั้นและประเด็นที่เกี่ยวเนื่อง และแก้ไขเพิ่มเติมคําปรารภของร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกัน
“แล้วให้นายกรัฐมนตรีนําร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายใหม่ ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับพระราชทานคืนมาตามที่ขอ เมื่อนายกรัฐมนตรีนําร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายและทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและใช้บังคับได้ โดยให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญหรือร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมและพระราชทานคืนมา หรือเมื่อพ้น 90 วัน นับแต่วันที่นายกรัฐมนตรีนําร่างรัฐธรรมนูญหรือร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติม แล้วแต่กรณีขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายแล้วมิได้พระราชทานคืนมา ให้ร่างรัฐธรรมนูญหรือร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมนั้นเป็นอันตกไป”
บทบัญญัติดังกล่าวจึงมีความหมายว่า แม้ร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านการพิจารณาจากสภาปฏิรูปแห่งชาติตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) ปี 2557 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) ปี 2558 มาตรา 37 และผ่านการลงประชามติตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) ปี 2557 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) ปี 2559 มาตรา 39/1 วรรคสี่ ถึงวรรคสิบสอง แต่การที่รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) ปี 2557 แก้ไขเพิ่มเติม ปี 2560 มาตรา 39/1 วรรคสิบเอ็ด บัญญัติไว้เช่นนั้น ย่อมเห็นได้ว่าพระมหากษัตริย์เป็นหนึ่งในผู้มีอำนาจในการจัดให้มีรัฐธรรมนูญหรืออำนาจในการจัดตั้งองค์กรสูงสุดทางการเมืองเช่นเดียวกับปวงชนชาวไทยในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตย กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ในขณะนั้นองค์พระมหากษัตริย์เป็นผู้มีอำนาจอธิปไตยที่จะจัดให้มีรัฐธรรมนูญใช้บังคับภายในรัฐได้
ดังนั้นรัชกาลที่ 10 จึงมีอำนาจที่จะแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติแล้วได้ การใช้พระราชอำนาจดังกล่าวจึงไม่ขัดต่อหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
ที่จำเลยนำสืบว่ารัชกาลที่ 10 ทรงถอดฐานันดรศักดิ์และยศทางทหาร และเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์เจ้าคุณพระสินีนาฏ พิลาสกัลยาณี โดยไม่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ จากนั้นมีการแต่งตั้งให้ดำรงฐานันดรศักดิ์และพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้โดยไม่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ และทรงมีพระบรมราชโองการให้รับโอนพลโทหญิงสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา อัยการผู้เชี่ยวชาญ สำนักงานอัยการภาค 2 สำนักงานอัยการสูงสุด มาทรงดำรงตำแหน่งเสนาธิการกองบัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ และพระราชทานยศเป็นพลเอกหญิงโดยไม่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ทั้งมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นองคมนตรี โดยไม่มีประธานองคมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ เป็นการทรงใช้พระราชอำนาจบริหารราชการประเทศตามอำเภอใจ เป็นการใช้พระราชอำนาจขัดต่อหลักการปกครองตามหลัก “The king can do no wrong” หรือหลักปกเกล้า แต่ไม่ปกครอง
สำหรับหลักที่ว่า องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 6 นั้น หมายความว่าพระมหากษัตริย์จะต้องปฏิบัติตนให้เป็นที่เคารพสักการะด้วย หากดำรงพระองค์ไม่ถูกต้องประชาชนมีสิทธิติติงได้นั้น
เห็นว่า หลัก “The king can do no wrong” หรือหลักพระมหากษัตริย์ทรงไม่ต้องรับผิด หรือหลักองค์อธิปัตย์ปกเกล้าแต่ไม่ปกครอง เป็นหลักธรรมเนียมปฏิบัติในทางรัฐธรรมนูญของสหราชอาณาจักร เพื่อคุ้มครองพระมหากษัตริย์ในฐานะประมุขของรัฐไม่ให้ต้องรับผิดทางการเมือง โดยให้มีองค์กรอื่นเป็นผู้รับผิดชอบแทนพระองค์ พระมหากษัตริย์จึงมิอาจทำผิดกฎหมายได้ จึงต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการแทน
อย่างไรก็ตาม หากเป็นเรื่องเกี่ยวกับพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์โดยตรงหรือที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้โดยเฉพาะ พระองค์ย่อมมีพระราชอำนาจที่จะทรงกระทำได้ด้วยพระองค์เอง เช่น พระราชอำนาจที่จะสถาปนาและถอดถอนฐานันดรศักดิ์ และพระราชทานและเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 9 การแต่งตั้งและการให้ข้าราชการในพระองค์พ้นจากตำแหน่ง ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัยตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 15 นอกจากนี้ยังมีสิทธิบางประการที่จะกระทำได้ในฐานะดำรงตำแหน่งองค์พระมหากษัตริย์ที่แสดงออกถึงพระราชบารมี เช่น สิทธิที่จะพระราชทานคำแนะนำคณะรัฐมนตรี สิทธิที่จะทรงรับรู้เรื่องราวต่าง ๆ ของบ้านเมือง
ส่วนหลักการตามมาตรา 6 แห่งรัฐธรรมนูญปี 2560 นั้น นอกจากหลักพระมหากษัตริย์ไม่ต้องทรงรับผิดแล้ว ยังรวมถึงหลักการคุ้มครองป้องกันองค์พระมหากษัตริย์ในฐานะทรงเป็นประมุขของรัฐที่จะไม่ถูกล่วงละเมิดจากบุคคลใด ไม่ว่าการกล่าวหาหรือการฟ้องร้องทางใด ๆ เป็นการคุ้มครองพระบรมเดชานุภาพขององค์พระมหากษัตริย์ ดังนั้นการที่รัชกาลที่ 10 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ถอดถอนฐานันดรศักดิ์ยศทหารและเครื่องราชอิสริยาภรณ์เจ้าคุณพระสินีนาฏ พิลาสกัลยาณี และมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานฐานันดรศักดิ์และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุกชั้นตราคืนในภายหลัง จึงเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 9 บัญญัติ
สำหรับพระบรมราชโองการให้รับโอนพลโทหญิงสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา จากข้าราชการฝ่ายอัยการ มาทรงดำรงตำแหน่งข้าราชการในพระองค์ฝ่ายทหารและพระราชทานพระยศทางทหารนั้น ก็เป็นพระราชอำนาจของพระองค์โดยเฉพาะตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 15 วรรคสอง และ พ.ร.ก.จัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 มาตรา 14 บัญญัติไว้เช่นกัน จึงไม่ได้ขัดกับหลักการดังกล่าว
สำหรับพระบรมราชโองการแต่งตั้งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นองคมนตรีนั้น เป็นพระบรมราชโองการที่มีขึ้นภายหลังจากจำเลยพิมพ์ข้อความทั้งสองข้อความดังกล่าวแล้ว ขณะที่จำเลยพิมพ์ข้อความหมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ จึงยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงดังกล่าว กรณีเป็นไปไม่ได้ที่จำเลยจะมีพยานหลักฐานเพื่อสนับสนุนความคิดเห็นไว้ล่วงหน้า
และที่จำเลยนำสืบว่าพระองค์ขยายพระราชอำนาจโดยการแก้ไข พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479 และมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2561, พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560, พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย ไปเป็นหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ พ.ศ. 2562 เห็นว่ากฎหมายทั้งสามฉบับที่จำเลยอ้างถึง ได้ผ่านการเห็นชอบของรัฐสภาตามกระบวนการนิติบัญญัติที่รัฐธรรมนูญ ปี 2560 บัญญัติไว้แล้ว ไม่ได้มีส่วนใดเกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจของพระองค์ ส่วนเนื้อหาของกฎหมายจะเป็นอย่างไร เหมาะสมหรือถูกต้องหรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ไม่อยู่ในอำนาจของศาลที่จะวินิจฉัยได้
และที่จำเลยอ้างว่าการตรากฏหมายดังกล่าวใช้บังคับมีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงสถานะของทรัพย์สินส่วนพระองค์นั้น ก็เป็นเพียงความเห็นของจำเลยเท่านั้น หาได้เป็นการที่กฎหมายไม่สมบูรณ์ และกลายเป็นไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ดังนั้น การที่จำเลยพิมพ์ข้อความทั้งสองข้อความจึงเป็นการใส่ความพระมหากษัตริย์ทำให้พระองค์เสื่อมเสียพระเกียรติ ไม่ได้เป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด หรือเขียนโดยสุจริต อันได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 34 พยานโจทก์รับฟังได้ว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามฟ้องจริง
พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (3) การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 112 ซึ่งเป็นบทหนักที่สุด จำคุกกระทงละ 3 ปี รวม 2 กระทง รวมเป็นจำคุก 6 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดีอยู่บ้าง มีเหตุลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสาม คงจำคุก 4 ปี ไม่รอการลงโทษ
ลงนามผู้พิพากษา นายปิยวุฒิ เครือจันทร์, นายสุธี สระบัว
หลังสิ้นสุดการฟังคำพิพากษา ประชาชนได้ร่วมเข้าให้กำลังใจอานนท์ ก่อนที่เขาจะถูกเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ควบคุมตัวกลับไปที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ
ก่อนหน้านี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดีมาตรา 112 ของอานนท์ไปแล้ว 3 คดี เมื่อรวมคดีนี้ ทำให้เขาถูกลงโทษจำคุกรวม 14 ปี 20 วัน และยังมีโทษในคดีตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากกรณีชุมนุม #ม็อบ27พฤศจิกา2563 ที่ถูกจำคุกอีก 2 เดือน รวมเป็น 14 ปี 2 เดือน 20 วันแล้ว โดยทุกคดียังอยู่ระหว่างอุทธรณ์คำพิพากษา
ในวันนี้ อานนท์ยังได้ยื่นประกันตัวในคดี ม.112 ที่มีคำพิพากษาของศาลชั้นต้นแล้ว รวมทั้งหมด 3 คดี โดยต้องรอผลคำสั่งของศาลอุทธรณ์ในอีก 2 – 3 วัน
วันที่ 26 ก.ย. 2567 ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำร้อง ระบุ พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์คดีแล้ว การกระทำที่จำเลยถูกฟ้องกระทบกระเทือนและสร้างความเสียหายต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข กรณีเป็นเรื่องร้ายแรง ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก 4 ปี หากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว มีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ ให้ยกคำร้อง
.
อ่านบันทึกการสืบพยานคดีนี้ : “ขอศาลอย่าสถาปนาคำพิพากษาคดี ม.112 อย่างที่ผ่านมา เพราะเมื่อสังคมอารยประเทศเขามองเข้ามา มันน่าละอาย” : ชวนอ่านบันทึกการสืบพยานคดี ม.112 คดีที่ 4 ของ อานนท์ นำภา
* รอติดตามคำพิพากษาคดีนี้ในฉบับเต็มต่อไป
.