วันที่ 25 ก.ค. 2567 เวลา 13.30 น. ที่ศาลอาญา มีนัดฟังคำพิพากษาใน คดีมาตรา 112 – พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จาก 2 โพสต์ในเฟซบุ๊กของอานนท์ นำภา ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในช่วงเดือน ม.ค. – ก.พ. 2564 โดยโพสต์ดังกล่าวมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์การใช้อำนาจบริหารราชการแผ่นดินของรัชกาลที่ 10
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2564 พนักงานสอบสวน บก.ปอท. ได้เข้าแจ้งข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (3) กับอานนท์ในขณะที่ถูกคุมขังระหว่างสอบสวนในคดีมาตรา 112 คดีอื่น พ.ต.ท.ทศพร ศรีสัจจา สารวัตร (สอบสวน) กก.2 บก.ปอท. แจ้งพฤติการณ์คดีให้อานนท์ทราบผ่านระบบวิดิโอคอนเฟอเรนซ์ของทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง โดยมีทนายความอยู่ร่วมด้วย ใจคามโดยสรุปว่า
ร.ต.อ.ณัฐภัทร เรืองศิลป์ประเสริฐ ผู้กล่าวหา ได้รับคําสั่งจากผู้บังคับบัญชา และขณะปฏิบัติหน้าที่ตรวจสอบติดตามความเคลื่อนไหวและเฝ้าระวังข้อมูลข่าวสารที่ไม่เหมาะสมหรือผิดกฎหมายทางสื่อสังคมออนไลน์ ได้พบผู้ใช้เฟซบุ๊ก บัญชีชื่อ “อานนท์ นําภา” มีการลงเผยแพร่ข้อความ เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2564 และ 3 ก.พ. 2564 จึงได้รายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ สำนักงานกฎหมายและคดี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นการหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิเวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง
ต่อมาในวันที่ 28 มี.ค. 2565 ณัฐพล รัตนทัศนีย์ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 7 ยื่นฟ้องอานนท์ ต่อศาลอาญา ใน 2 ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จาก 2 โพสต์ที่อานนท์ถูกแจ้งข้อกล่าวหาไปก่อนหน้านี้
2 โพสต์ที่ถูกฟ้อง
1. วันที่ 11 ม.ค. 2564 เวลา 21.42 น. เฟซบุ๊ก “อานนท์ นำภา” โพสต์ว่า “การที่ในหลวงวชิราลงกรณ์ลงมาบริหารราชการแผ่นดินด้วยตนเอง นี่ขัดกับหลักประชาธิปไตยแน่ๆ ไม่มีใครบอกเลยหรือว่ามันผิด และถ้าไม่มีใครบอก ก็จะทําผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า พอคนรุ่นใหม่ลุกขึ้นมาพูด ก็โดน 112 แบบนี้ สังคมมีแต่จะพากันเดินลงเหว” อัยการระบุว่า การที่จําเลยโพสต์ข้อความดังกล่าว ทำให้บุคคลทั่วไปที่พบเห็นเข้าใจว่า รัชกาลที่ 10 ทรงใช้พระราชอํานาจเข้ามาแทรกแซงการบริหารราชการแผ่นดินด้วยตนเอง ซึ่งขัดกับหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทย เมื่อประชาชนออกมาแสดงความคิดเห็นก็จะถูกดําเนินคดีอาญาให้ได้รับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และทําให้สังคมตกต่ำลง |
2. วันที่ 3 ก.พ. 2564 เวลา 20.25 น. เฟซบุ๊ก “อานนท์ นำภา” โพสต์ว่า “ย้ายลูกจากอัยการไปเป็นทหาร นี่แหละตัวอย่างของการทําตัวอยู่เหนือระบบระบอบทั้งปวง ทําอะไรตามใจ และใช้อํานาจบริหารประเทศอย่างแท้จริง ไม่ทําตนให้เป็นกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย แล้วจะให้คนเคารพในฐานะกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยได้อย่างไร นี่คือเหตุผลหนึ่งที่เราต้องลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงสังคม ก่อนที่จะชิบหายไปมากกว่านี้” อัยการอ้างว่า การที่จําเลยโพสต์ข้อความดังกล่าว ทำให้บุคคลทั่วไปที่พบเห็นเข้าใจว่า รัชกาลที่ 10 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้รับโอนข้าราชการฝ่ายอัยการเป็นข้าราชการในพระองค์ ฝ่ายทหาร และพระราชทานพระยศทหารให้ พลโทหญิง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ อัยการผู้เชี่ยวชาญ สํานักงานอัยการภาค 2 สํานักงานอัยการสูงสุด มาทรงดํารงตําแหน่ง เสนาธิการกองบัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ (อัตรา พลเอก) และพระราชทานพระยศเป็นพลเอกหญิง เป็นการทรงใช้พระราชอํานาจบริหารประเทศตามอําเภอใจไม่เป็นไปตามกฎหมาย และเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนพระองค์ในการโยกย้ายดังกล่าว เป็นกษัตริย์ที่ไม่อยู่ภายใต้กฎหมายระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย . |
ภาพรวมการสืบพยาน
คดีนี้มีการสืบพยานรวม 2 นัด ในระหว่างวันที่ 25 – 26 มิ.ย. 2567 มีพยานโจทก์เข้าเบิกความ 3 ปาก และพยานจำเลย 1 ปาก โดยศาลมีคำสั่งตัดพยานโจทก์ปากที่เป็นพยานความเห็นรวม 4 คน ออกทั้งหมด ระบุว่า ศาลสามารถใช้ดุลยพินิจในการวินิจฉัยได้เอง โดยไม่จำเป็นต้องให้พยานบุคคลดังกล่าวมาเบิกความให้ความเห็น อย่างไรก็ตาม อัยการได้แถลงคัดค้านคำสั่งตัดพยานโจทก์ไว้ด้วย
ในการสืบพยานอัยการโจทก์นำสืบว่า โพสต์ข้อความของอานนท์ทั้งหมดทำให้บุคคลทั่วไปที่พบเห็นเข้าใจว่า รัชกาลที่ 10 ทรงใช้พระราชอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินโดยตรงด้วยตนเอง และทรงใช้พระราชอำนาจในการบริหารประเทศตามอำเภอใจไม่เป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งทำให้รัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียชื่อเสียง
ด้านอานนท์มีข้อต่อสู้ว่า โพสต์ข้อความตามฟ้องเป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตบนพื้นฐานของข้อเท็จจริง เป็นการวิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา ด้วยเจตนาที่ดีต่อสถาบันกษัตริย์ อันเป็นสิทธิเสรีภาพที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองซึ่งประเทศไทยมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม
.
ผู้กล่าวหาเบิกความ ได้รับคำสั่งให้ติดตามโพสต์บนโซเชียลมีเดียของกลุ่มนักกิจกรรม หากพบข้อความเข้าข่ายผิดกฎหมายให้รายงานผู้บังคับบัญชาเพื่อแจ้งความดำเนินคดี
พ.ต.ต.ณัฐภัทร เรืองศิลป์ประเสริฐ เบิกความในฐานะผู้กล่าวหาว่า ขณะเกิดเหตุพยานรับราชการในตำแหน่งรองสารวัตรสอบสวน กองป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางเทคโนโลยีสารสนเทศ กระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชา ให้ติดตาม ตรวจสอบความเคลื่อนไหวและเฝ้าระวังข้อมูลข่าวสารที่ไม่เหมาะสมหรือผิดกฎหมายทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยหนึ่งในเฟซบุ๊กที่พยานติดตามความเคลื่อนไหวคือเฟซบุ๊กของ “อานนท์ นำภา” ที่มีการเผยแพร่ข้อความเมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2564 และวันที่ 3 ก.พ. 2564
พ.ต.ต.ณัฐภัทร เบิกความอธิบายถึงข้อความตามฟ้อง โดยบอกว่า ข้อความของวันที่ 11 ม.ค. 2564 เป็นข้อความสาธารณะ บุคคลสามารถเข้าถึงและมองเห็นได้ ส่วนข้อความจะกล่าวว่าอย่างไร พยานไม่อยากพูดซ้ำ แต่ศาลได้บันทึกว่า ข้อความเป็นไปตามฟ้อง
อานนท์ได้ลุกขึ้นค้านการบันทึกคำเบิกความของศาล โดยขอให้ศาลบันทึกตามที่พยานเบิกความว่า ไม่อยากพูดซ้ำ ไม่ใช่บันทึกว่า ข้อความเป็นไปตามฟ้อง ซึ่งศาลได้บอกให้ พ.ต.ต.ณัฐภัทร เบิกความใหม่ พยานจึงได้อ่านข้อความตามที่ปรากฏในคำฟ้อง
ต่อมา ในวันที่ 3 ก.พ. 2564 พยานได้พบข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัวของจำเลยเอง ข้อความที่โพสต์เป็นไปตามคำฟ้อง ซึ่งหลังจากพยานตรวจพบข้อความทั้ง 2 โพสต์แล้วเห็นว่า เข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 112 จึงรายงานต่อผู้บังคับบัญชา และทำหนังสือส่งให้สำนักงานกฎหมายและคดี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พิจารณา
หลังจากนั้น ผู้บังคับบัญชาได้แต่งตั้งคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน และมอบหมายให้พยานเป็นผู้ไปแจ้งความร้องทุกข์ที่ บก.ปอท. ซึ่งพยานได้ทำการรวบรวมหลักฐานเป็นภาพแคปหน้าจอโพสต์ที่เป็นข้อความตามฟ้องส่งให้กับพนักงานสอบสวน บก.ปอท.
อัยการให้พยานเล่าย้อนถึงวันที่พบเจอข้อความว่า ในตอนที่ตรวจพบโพสต์ดังกล่าวพยานอยู่ที่ไหน ซึ่ง พ.ต.ต.ณัฐภัทร กล่าวว่า ได้พบเจอข้อความของอานนท์ขณะทำงานอยู่ที่กระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) ในวันที่ไปแจ้งความดำเนินคดีก็ยังได้พบว่า โพสต์ดังกล่าวยังไม่ได้ถูกลบทิ้ง และพยานทราบว่า อานนท์ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 ในอีกหลายคดี
ตอบทนายจำเลยถามค้าน
ทนายจำเลยถามค้าน พ.ต.ต.ณัฐภัทร ว่า ในคดีนี้พยานเพิ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคณะทำงาน เมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2564 ซึ่งเป็นระยะเวลาภายหลังจากที่จำเลยได้โพสต์ข้อความตามฟ้องใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ไม่ใช่ พยานได้รับมอบหมายให้ติดตามการเคลื่อนไหวของอานนท์มาระยะหนึ่งแล้ว
ทนายจำเลยจึงให้ดูหนังสือแต่งตั้งคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน ลงวันที่ 9 มี.ค. 2564 ซึ่งมีชื่อของพยานเป็นหนึ่งในเจ้าพนักงานที่ได้รับแต่งตั้ง พ.ต.ต.ณัฐภัทร เบิกความว่า ผู้บังคับบัญชามอบหมายงานให้พยานด้วยวาจา แต่มั่นใจว่ามีหนังสือแต่งตั้งด้วย อย่างไรก็ตาม ไม่ปรากฏหนังสือดังกล่าวอยู่ในสำนวนคดีนี้
พ.ต.ต.ณัฐภัทร ตอบทนายจำเลยต่อไปว่า พยานเป็นเจ้าหน้าที่ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ตั้งแต่ปี 2563 ถึงปัจจุบัน ในการเข้าแจ้งความดำเนินคดีจำเลยในคดีนี้ พยานได้นำหลักฐานเป็นภาพแคปหน้าจอไปมอบให้พนักงานสอบสวน อย่างไรก็ตาม พยานรับว่า พยานหลักฐานที่มีความน่าเชื่อถือ จะต้องปรากฏ IP Adress และ Link URL ด้วย เนื่องจากหากเป็นภาพแคปหน้าจออาจมีการตัดต่อ ซึ่งใครก็สามารถทำได้
พยานไม่ได้เป็นเพื่อนกับจำเลยในเฟซบุ๊ก แต่แค่กดติดตามไว้ โดยจำเลยมักโพสต์ข้อความตั้งค่าแบบสาธารณะที่ใครก็สามารถดูได้ ทำให้พยานสามารถเข้าถึงข้อความของจำเลยได้โดยไม่ต้องเป็นเพื่อนกันทางเฟซบุ๊ก นอกจากจำเลยแล้ว พยานยังติดตามโซเชียลมีเดียของนักกิจกรรมคนอื่น ๆ ด้วย
กลุ่มคนที่พยานจับตาดูความเคลื่อนไหวทางโซเชียลมีเดียเป็นผู้ชุมนุมที่ออกมาเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ โดยได้ติดตามกลุ่มประชาชนดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2563 แล้ว
ในการเข้าไปติดตามเฟซบุ๊กของจำเลยพยานไม่ได้ใช้บัญชีส่วนตัวของพยานเอง ทั้งยอมรับว่า พยานหลักฐานที่เป็นภาพแคปหน้าจอของโพสต์ตามฟ้อง ไม่มีตรงจุดไหนที่แสดงให้เห็นว่า พยานกดติดตามเฟซบุ๊กของจำเลยตามที่พยานเบิกความ
ในการติดตามเฟซบุ๊กของผู้ชุมนุมคนอื่น ๆ พยานก็ตรวจพบข้อความที่เข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 112 แต่พยานได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้มาแจ้งความแค่ในส่วนของจำเลยเท่านั้น ส่วนโพสต์ของผู้ชุมนุมคนอื่น ๆ พยานไม่ทราบว่าผู้บังคับบัญชาได้มอบหมายให้ใคร
ตามบันทึกคำให้การชั้นสอบสวน พยานไม่ได้ให้ความเห็นไว้กับพนักงานสอบสวนว่า ข้อความของจำเลยเข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 112 อย่างไร เนื่องจากได้ผู้บังคับบัญชามีคำสั่งด้วยวาจาให้ไปแจ้งความร้องทุกข์เท่านั้น
นอกจากนี้ คณะพนักงานสืบสวนสอบสวนคดีนี้ก็ไม่ให้ความเห็นเป็นลายลักษณ์อักษรว่า ข้อความตามฟ้องเข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 112 อย่างไร มีเพียงการลงความเห็นทางวาจากันเท่านั้น
พยานไม่ทราบว่า ผู้ใดเป็นผู้ใช้เฟซบุ๊กบัญชี “อานนท์ นำภา”
ทนายจำเลยถามพยานเกี่ยวกับเนื้อหาของโพสต์ที่ 1 ว่า พยานทราบหรือไม่ว่า ร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ได้ผ่านการลงประชามติแล้ว แต่รัชกาลที่ 10 ไม่ได้ลงพระปรมาภิไธย กลับมีรับสั่งให้แก้ หมวด 2 เรื่องการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในเวลาที่กษัตริย์ไม่ได้ประทับอยู่ในประเทศ โดยให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัยว่าจะแต่งตั้งหรือไม่ก็ได้ ซึ่งการกระทำเช่นนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 ที่บัญญัติไว้ว่า กษัตริย์ต้องใช้อำนาจผ่านทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล และขัดกับหลักการ The King can do no wrong หรือ “ปกเกล้า แต่ไม่ปกครอง” ซึ่งหมายถึงการที่กษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยไม่สามารถดำเนินการตามพระราชอัธยาศัยได้ จะต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการเสมอ
พ.ต.ต.ณัฐภัทร ตอบว่า ไม่ทราบว่า รัชกาลที่ 10 ทรงลงพระปรมาภิไธยหรือไม่ และไม่เข้าใจหลักการ “ปกเกล้า แต่ไม่ปกครอง” รวมทั้งไม่ทราบว่า การกระทำของรัชกาลที่ 10 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 หรือไม่
ขณะทนายจำเลยจะถามค้านพยานโจทก์ปากนี้ในประเด็นกฎหมายต่อไป ศาลได้พยายามให้ทนายหยุดถาม โดยกล่าวว่า พยานไม่สามารถตอบคำถามของทนายในประเด็นดังกล่าวได้ แต่อานนท์ได้ลุกขึ้นแถลงยืนยันว่า ขอให้ทนายได้ถามค้านต่อ เนื่องจากพยานปากนี้คือผู้แจ้งความกล่าวหาเขา ย่อมต้องมีความเข้าใจในเรื่องหลักการต่าง ๆ ก่อนที่จะไปแจ้งความ
ทนายจำเลยจึงถามต่อไปว่า พยานทราบหรือไม่ว่า ตามรัฐธรรมนูญ ประชาชนมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น พยานตอบว่า ทราบ และทราบว่า โพสต์ตามฟ้องก็เป็นการที่อานนท์ใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
พยานยังทราบด้วยว่า รัชกาลที่ 10 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้โอนย้ายสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ หรือองค์ภา ที่มีตำแหน่งเป็นข้าราชการฝ่ายอัยการไปเป็นทหารส่วนพระองค์ โดยไม่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ รวมถึงทราบเรื่องพระบรมราชโองการแต่งตั้งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นองคมนตรี โดยไม่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการด้วย แต่พยานไม่ทราบว่า การโอนย้ายกำลังพลไปเป็นข้าราชการในพระองค์ โดยไม่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการจะเป็นความผิดหรือไม่ ทั้งนี้ พยานเชื่อว่า มีกฎหมายและระเบียบรองรับไว้แล้ว
ก่อนจบการถามค้าน พยานได้ยืนยันว่า พยานทราบว่าจำเลยในคดีนี้ทำงานเป็นทนายความสิทธิมนุษยชน และออกมาชุมนุมเรียกร้องด้านประชาธิปไตยอย่างเปิดเผยมาตลอด
ตอบอัยการถามติง
พ.ต.ต.ณัฐภัทร ตอบอัยการถามติงว่า ตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา พยานมีหน้าที่ในการตรวจดูโพสต์ทางการเมือง หากเป็นการแสดงความคิดเห็นทั่ว ๆ ไปก็ไม่ต้องรายงานผู้บังคับบัญชา แต่หากเข้าข่ายเป็นความผิดตามกฎหมายก็ต้องรายงาน
อัยการถามว่า เมื่อพยานเห็นข้อความตามฟ้องแล้วมีความรู้สึกอย่างไร พยานตอบว่า เข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 112 แต่อานนท์ได้ลุกขึ้นแถลงค้านคำถามนี้ เนื่องจากเป็นการถามในประเด็นใหม่ ไม่ใช่การถามติงในประเด็นที่ทนายจำเลยถามค้านไป และขอให้ศาลบันทึกไว้
อัยการจึงเปลี่ยนคำถาม โดยถามพยานว่า ใคร ๆ ก็สามารถแจ้งความดำเนินคดีมาตรา 112 ได้ใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ใช่ แม้จะไม่เป็นเพื่อนกันทางเฟซบุ๊ก หากโพสต์ดังกล่าวเปิดสาธารณะ และเข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 112 ก็สามารถนำไปแจ้งความได้
อัยการถามพยานต่อในประเด็นรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 แต่อานนท์ก็ได้ลุกขึ้นแถลงค้านด้วยเหตุผลเช่นเดิม อัยการแถลงว่า ทนายจำเลยก็ถามค้านในประเด็นรัฐธรรมนูญ คำถามนี้จึงไม่ใช่คำถามใหม่ อานนท์แถลงว่า ทนายจำเลยถามค้านเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญมาตรา 3 ไม่ใช่มาตรา 6 หากโจทก์จะถามติงเกี่ยวกับมาตรา 3 เขาจะไม่คัดค้านเลย ศาลจึงให้โจทก์เปลี่ยนคำถาม แต่โจทก์หมดคำถามติงแล้ว
.
สารวัตรสืบสวนเบิกความ มีหน้าที่แค่ตรวจสอบว่ามีข้อความโพสต์อยู่จริงหรือไม่ แต่ไม่ได้ตรวจสอบว่า ข้อความที่จำเลยโพสต์เป็นเรื่องจริงหรือไม่
พ.ต.ท.ชญานนท์ ขณะเกิดเหตุรับราชการเป็นสารวัตรสืบสวน ที่กองกำกับการ 2 บก.ปอท. มีหน้าที่สืบสวนเกี่ยวกับการก่ออาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ตั้งแต่ปี 2562 – 2564
พ.ต.ท.ชญานนท์ เบิกความว่า เกี่ยวกับคดีนี้ พยานได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาการให้สืบสวนเฟซบุ๊กของอานนท์ นำภา ซึ่งได้โพสต์ข้อความ 2 ข้อความ เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2564 และวันที่ 3 ก.พ. 2564 โดยมีเนื้อหาเป็นไปตามคำฟ้อง
ข้อความดังกล่าว ปรากฏขึ้นในเฟซบุ๊กส่วนตัวของอานนท์ โดยมีการตั้งค่าโพสต์เป็นสาธารณะ บุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ ทั้งมีภาพโปรไฟล์เป็นรูปของจำเลย พยานยืนยันได้ว่า บัญชีที่ใช้โพสต์ข้อความเป็นของอานนท์จริง เนื่องจากมีการโพสต์นัดหมายชุมนุมทางการเมืองอยู่อย่างต่อเนื่อง
พยานได้สืบสวนและรวบรวมข้อมูลทั้งหมดจัดทำเป็นรายงานการสืบสวนเสนอต่อผู้บังคับบัญชา ระบุว่า เจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าวเป็นบุคคลเดียวกันกับจำเลยในคดีนี้ ทั้งนี้ พยานเห็นว่า ข้อความตามฟ้องที่จำเลยโพสต์ เป็นความผิดตามมาตรา 112
ตอบทนายจำเลยถามค้าน
พ.ต.ท.ชญานนท์ ตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า เกี่ยวกับคดีนี้ พยานได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาเพียงแค่ให้ตรวจสอบว่า ข้อความที่จำเลยโพสต์ตามฟ้องมีอยู่จริงหรือไม่เท่านั้น ไม่ได้รับมอบหมายให้ลงความเห็นว่า ข้อความเป็นความผิดตามกฎหมายหรือไม่ อย่างไร
พยานจบการศึกษาในระดับปริญญาตรี สาขานิติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ในความเห็นของพยาน ข้อความตามฟ้องไม่มีข้อความใดเลยที่เป็นคำหยาบคาย ไม่มีข้อความที่แสดงถึงเจตนาที่จะประทุษร้ายต่อร่างกายหรือจิตใจของกษัตริย์ อย่างไรก็ตาม โพสต์ของจำเลยเป็นการเผยแพร่เพื่อให้ประชาชนที่เข้ามาอ่านข้อความเข้าใจได้ว่า กษัตริย์เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการบริหารจัดการบ้านเมือง
ทนายจำเลยถามเกี่ยวกับข้อความตามฟ้องว่า พยานทราบหรือไม่ว่าที่การโอนย้ายองค์ภาที่รับราชการเป็นอัยการไปเป็นทหารส่วนพระองค์ พยานตอบว่า ทราบตอนที่เห็นโพสต์ของอานนท์ รวมถึงทราบว่า มีการแต่งตั้งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นองคมนตรี โดยไม่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ซึ่งตามหลักการที่ในบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 นั้น พระมหากษัตริย์จะทรงใช้อำนาจอธิปไตยผ่านรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาลเท่านั้น ไม่สามารถใช้อำนาจเองได้ โดยจะต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการเสมอ
พยานยังรับว่า ทราบเรื่องการไม่ลงพระปรมาภิไธยในร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านการลงประชามติของประชาชนแล้ว
แต่ไม่ทราบถึงขั้นตอนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พยานมีหน้าที่เพียงสืบสวนเกี่ยวกับเฟซบุ๊กที่โพสต์ข้อความเท่านั้น ไม่ได้มีหน้าที่ลงความเห็นเกี่ยวกับข้อกฎหมาย
ตามรายงานการสืบสวนที่พยานจัดทำ พยานได้ลงความเห็นว่า โพสต์ของจำเลยเป็นความผิดตามมาตรา 112 แต่ไม่ได้ระบุว่า ผิดอย่างไร หรือมีลักษณะดูหมิ่น หมิ่นประมาทพระมาหกษัตริย์อย่างไร เนื่องจากพยานตรวจสอบแค่ว่ามีการโพสต์จริงหรือไม่ แต่ไม่ได้ตรวจสอบว่า ข้อความที่โพสต์เป็นเรื่องจริงหรือไม่ อย่างไร
ส่วนบัญชีเฟซบุ๊กของจำเลย พยานจำไม่ได้แล้วว่าเป็นบัญชีส่วนบุคคลหรือเปิดเป็นเพจสาธารณะ แต่ข้อความที่พยานสืบสวนมาเปิดเป็นสาธารณะ บุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงได้
ตอบอัยการถามติง
พ.ต.ท.ชญานนท์ ตอบอัยการถามติงว่า ขณะพยานสืบสวนโพสต์ตามฟ้อง ยังมีข้อความโพสต์อยู่ ไม่ได้ถูกลบออกไป แม้พยานไม่ได้เป็นเพื่อนทางเฟซบุ๊กกับจำเลยก็สามารถตรวจสอบเจอได้ โดยค้นจากช่องค้นหา และจาก URL ซึ่งเป็นลิงค์ที่เชื่อมโยงไปที่โพสต์ดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า มีการโพสต์ข้อความตามฟ้องในบัญชีเฟซบุ๊กของจำเลยจริง
ที่พยานตอบทนายถามค้านว่า ข้อความตามฟ้องไม่มีคำหยาบคายนั้น พยานคิดว่าคำว่า ‘ชิบหาย’ ก็เป็นคำหยาบคาย และที่พยานระบุในรายงานการสืบสวนว่า ข้อความของจำเลยเข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 112 นั้น เป็นการทำตามหน้าที่เท่านั้น
.
พนักงานสอบสวนเบิกความมีความเห็นควรสั่งฟ้องอานนท์ เนื่องจากเห็นว่าทำให้ ร.10 เสื่อมเสีย แต่ยอมรับว่า ไม่ได้ตรวจสอบว่าข้อความที่โพสต์เป็นข้อเท็จจริงหรือไม่
พ.ต.ท.ทศพร ศรีสัจจา สารวัตรสอบสวน กองกำกับการ 2 บก.ปอท. พนักงานสอบสวนในคดีนี้ เบิกความว่า เกี่ยวกับคดีนี้ พยานได้รับแต่งตั้งให้เป็นคณะทำงานสืบสวนสอบสวนคดีความมั่นคงตามคำสั่งของ บก.ปอท. มีผลตั้งแต่วันที่ 12 ม.ค. 2564 โดยมีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติงานทั่วราชอาณาจักร
เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2564 พ.ต.ต.ณัฐภัทร ผู้กล่าวหา ได้เข้ามาแจ้งความกล่าวโทษจำเลยในคดีนี้ว่า มีการกระทำความผิดตามมาตรา 112 โดยการโพสต์เฟซบุ๊ก 2 ข้อความตามฟ้อง ซึ่งเมื่อตรวจสอบแล้วโพสต์ดังกล่าวมีการตั้งค่าเป็นสาธารณะ ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้
ในการแจ้งความ ผู้กล่าวหาได้ส่งหนังสือคำสั่งของผู้บังคับบัญชา และภาพข้อความตามฟ้องเป็นหลักฐาน พยานได้จัดทำรายงานเสนอต่อผู้บังคับบัญชา จากนั้นมีการแต่งตั้งคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนคดีนี้ พยานได้สอบคำให้การของพยานทุกปาก
นอกจากนี้ พยานได้ตรวจพบว่า บัญชีเฟซบุ๊กที่ถูกกล่าวหาได้โพสต์คลิปวีดิโอของจำเลยที่กำลังร้องเพลงไว้ด้วย พยานได้ส่งมาเป็นหลักฐานเพิ่มเติมในคดีนี้เพื่อยืนยันว่า เจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กตามฟ้อง คือ อานนท์ นำภา
ศาลขอให้เจ้าหน้าที่เปิดคลิปวีดิโอดังกล่าวซึ่งมีความยาวประมาณ 2 นาที ปรากฏภาพเคลื่อนไหวขณะอานนท์ร้องเพลง ‘ลูกทุ่งคนยาก’ ศาลถามพยานว่า คลิปนี้เกี่ยวข้องกับคดีอย่างไร พยานตอบว่า ไม่ได้เกี่ยวโดยตรง แค่ส่งมาเพื่อยืนยันว่า อานนท์เป็นเจ้าของเฟซบุ๊กตามฟ้องจริง
ศาลจึงบอกให้ปิดคลิป แต่อานนท์แถลงต่อศาลว่า ขอให้เปิดคลิปให้จบ เพราะกลัวว่าจะมีการตัดต่อในช่วงท้าย ศาลจึงอนุญาตตามที่ขอ
ในชั้นสอบสวน อานนท์ได้ยอมรับว่าบัญชีเฟซบุ๊กที่โพสต์ข้อความเป็นของเขาจริง แต่ปฏิเสธข้อกล่าวหา พยานได้ตรวจสอบประวัติอาชญากรรมของจำเลย พบว่า ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ก่อนหน้านี้หลายคดี พยานจึงได้รวบรวมหลักฐานและมีความเห็นควรสั่งฟ้องจำเลยในคดีนี้
ในฐานะประชาชนทั่วไป พยานเห็นว่า ข้อความตามฟ้องข้อความที่ 1 เป็นการกล่าวหารัชกาลที่ 10 ว่า ทรงลงมาบริหารจัดการราชการแผ่นดิน ทำผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า อันเป็นการลดทอนกษัตริย์ ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง ส่วนข้อความที่ 2 ที่เกี่ยวกับองค์ภา พยานเห็นว่า การโอนย้ายดังกล่าวกษัตริย์ได้ทำตามกฎหมายที่ให้อำนาจรับรองไว้แล้ว
ตอบทนายจำเลยถามค้าน
ทนายจำเลยถามพยานว่า ในคดีนี้มีการสอบปากคำประชาชนทั่วไปเป็นพยานจำนวน 4 คน คนแรกคือ วลัยพรรณ บงกชมาศ ใช่หรือไม่ พ.ต.ต.ทศพร ตอบว่า ใช่ วลัยพรรณเข้ามาทำธุระที่ บก.ปอท. พยานจึงได้เรียกมาสอบปากคำในฐานะพยานในคดีนี้ แต่พยานไม่ทราบมาก่อนว่า วลัยพรรณเป็นบุคคลที่เข้าแจ้งความดำเนินคดีประชาชนตามมาตรา 112 ในหลายคดีก่อนหน้านี้ ตามที่ปรากฏเป็นข่าวที่ทนายจำเลยให้ดู
พยานรับว่า ในการสอบปากคำพยาน พยานไม่ได้สอบถามว่า สังกัดกลุ่มการเมืองใดหรือไม่ รวมถึงพยานปาก ระพีพงษ์ ชัยยารัตน์ ก็เช่นเดียวกัน พยานไม่ทราบเช่นกันว่า ระพีพงษ์ได้แจ้งความดำเนินคดีมาตรา 112 กับประชาชนมากี่คดีแล้ว ส่วน คมสัน โพธิ์คง ที่พยานเรียกสอบปากคำในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย พยานก็ไม่ได้ตรวจสอบว่า คมสันมีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์หรือไม่
ทนายจำเลยตั้งข้อสังเกตว่า พยานในคดีมาตรา 112 หลายคนเป็นบุคคลที่เข้าแจ้งความดำเนินคดีมาตรา 112 กับประชาชนที่ บก.ปอท. พยานเบิกความตอบว่า เป็นปกติที่จะมีคนทั่วไปเข้ามาแจ้งความในคดีมาตรา 112
ทนายจำเลยถาม พ.ต.ต.ทศพร ต่ออีกว่า พยานเคยเห็นรายงานข่าวของ BBC เรื่องที่เด็กชายชาวเยอรมนียิงปืนอัดลมใส่ขบวนเสด็จของรัชกาลที่ 10 ในขณะที่พระองค์ได้ประทับอยู่ที่เยอรมันหรือไม่ ซึ่งภายหลังอัยการในเยอรมันก็มีคำสั่งไม่ฟ้องเด็กชายคนดังกล่าว และไม่ได้มีการแจ้งข้อหาตามมาตรา 112 ด้วย พยานตอบว่า ไม่ทราบ
ศาลแย้งว่า คำถามนี้ไม่เกี่ยวข้องกับคดี แต่อานนท์แถลงค้านว่า ที่ต้องถามเกี่ยวกับข่าวนี้ แม้ไม่เกี่ยวกับคดีโดยตรง เพราะมีประเด็นว่า รัชกาลที่ 10 ทรงประทับอยู่ที่ประเทศเยอรมนีเป็นระยะเวลานาน และมีการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านการลงประชามติแล้ว โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย
อานนท์กล่าวต่อไปว่า หน้าที่ของพนักงานสอบสวน และอัยการคือการสอบสวนหาข้อเท็จจริงมาอธิบายและพิสูจน์ให้ได้ว่า ข้อความตามฟ้องไม่ใช่ข้อเท็จจริง และเป็นความผิด แต่พยานซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนเคยสอบสวนถึงข้อเท็จจริงตามที่พยานกล่าวถึงหรือไม่ พ.ต.ต.ทศพร ยอมรับว่า ไม่ได้สอบสวน รวมทั้งไม่ได้สอบสวนว่า ร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านการลงประชามติของประชาชนแล้วจะสามารถแก้ไขได้หรือไม่
ศาลได้ขอให้อานนท์และทนายจำเลยยุติการถามค้านในประเด็นของรัฐธรรมนูญกับพยานปากนี้ โดยกล่าวว่า ศาลสามารถหาอ่านเองได้ แต่อานนท์แถลงค้านว่า สิ่งนี้ต้องถามพยานโจทก์ได้ ถ้าหากศาลจะไม่ให้ถามก็ขอให้บันทึกไว้ว่า จำเลยค้าน เนื่องจากประเด็นนี้เป็นเรื่องง่าย ๆ ที่อยู่ในความรับผิดชอบของพนักงานสอบสวนและอัยการที่มีหน้าที่หาข้อเท็จจริงก่อนมาสั่งฟ้องจำเลย โจทก์ควรจะมีความรู้เรื่องที่จำเลยกับทนายถามไปทั้งหมดก่อนสั่งฟ้อง และพยานก็ควรจะรู้ว่ากษัตริย์กระทำการต่าง ๆ อย่างถูกต้องตามรัฐธรรมนูญแล้วหรือไม่
เมื่อศาลอนุญาตให้ถามต่อ ทนายจำเลยได้ให้ พ.ต.ต.ทศพร ดูพระบรมราชโองการโอนย้ายข้าราชการโดยไม่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ก่อนถามว่า ตามรัฐธรรมนูญแล้วกษัตริย์สามารถใช้อำนาจผ่านทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาลเท่านั้น ไม่สามารถกระทำการด้วยพระองค์เองได้โดยตรงใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ใช่
พยานรับว่า ไม่ทราบว่ามีการออกกฎหมายโอนย้ายทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไปเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ ซึ่งทำให้กษัตริย์สามารถใช้ทรัพย์สินได้ตามพระราชอัธยาศัย โดยไม่อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงการคลังอีกต่อไป แต่ทราบว่า ตามกฎหมายมรดก ถ้าเจ้าของมรดกตาย ทรัพย์สินที่เป็นมรดกจะตกทอดไปยังทายาทตามกฎหมาย
ในส่วนที่เกี่ยวกับเนื้อหาของข้อความตามฟ้อง พยานเห็นว่า ข้อความ ‘ซ้ำแล้วซ้ำเล่า’ เป็นการกล่าวหาอย่างหยาบคายต่อกษัตริย์ ส่วนข้อความ ‘สังคมจะชิบหายไปมากกว่านี้’ เป็นการกล่าวหากษัตริย์โดยตรง ทั้งนี้ พยานไม่ทราบว่า ที่จำเลยโพสต์ข้อความตามฟ้องมีเจตนาเพื่อให้เกิดการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์หรือไม่ อย่างไร
ส่วนการที่กษัตริย์โยกย้ายกำลังพล พยานเห็นว่า ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3
ตอบอัยการถามติง
อัยการโจทก์ถามพยานว่า พยานอ่านข้อความนี้แล้วรู้สึกอย่างไรบ้าง อานนท์ได้แถลงค้านว่า การถามของโจทก์ไม่ใช่การถามติง เป็นการถามใหม่ แต่อัยการได้โต้แย้งว่า ในเมื่อจำเลยกล่าวว่าตัวเองแสดงความคิดเห็นด้วยความสุจริตใจ โจทก์ก็ย่อมสามารถถามคำถามนี้กับพยานได้ อานนท์กล่าวว่า หากต้องการจะถามคำถามนี้อัยการควรถามตั้งแต่ที่พยานเบิกความ ไม่ใช่มาถามติง
พยานโจทก์ที่จะเข้าเบิกความให้ความเห็น 4 ปาก ถูกสั่งตัดพยาน ศาลชี้พยานความเห็นไม่สำคัญ ศาลใช้ดุลยพินิจเองได้ ก่อนระพีพงษ์โวยวายจนถูกเชิญออกจากห้องพิจารณา
ในระหว่างที่ทนายถามค้านพนักงานสอบสวน ระพีพงษ์ พยานโจทก์ที่นั่งอยู่ในห้องพิจารณาคดีด้วย หลังศาลสั่งตัดพยานความเห็นฝ่ายโจทก์ทั้ง 4 ปาก ได้ยกมือขึ้นคัดค้านกระบวนการพิจารณาคดี และตะโกนบอกว่า ไม่สามารถรับคำถามค้านของทนายที่เอ่ยชื่อของเขาได้
ศาลบอกให้ระพีพงษ์นั่งอยู่เฉย ๆ เนื่องจากเขาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพิจารณาคดีแล้ว แต่ระพีพงษ์ก็ได้ลุกขึ้นโวยวาย และตะโกนท้วงติงศาลถึงคำถามของทนายจำเลยที่เขาคิดว่า มีการหมิ่นประมาทกษัตริย์ ด้านอานนท์ได้ลุกขึ้นแถลงต่อศาลว่า บุคคลดังกล่าวได้ลุกขึ้นขัดขวางกระบวนการพิจารณาคดีเป็นจำนวนกว่า 4 คร้ัง แล้ว ไม่ใช่ 1 หรือ 2 ครั้ง ขอให้ศาลพิจารณาให้บุคคลดังกล่าวออกจากห้องด้วย
ศาลจึงบอกกับระพีพงษ์ว่า หากไม่พอใจกระบวนการพิจารณาคดี ให้เขาออกจากห้องพิจารณาไปได้ แต่หากยังนั่งอยู่ก็ห้ามก่อความวุ่นวาย เพราะจะถือว่าขัดขวางกระบวนการพิจารณาคดีและจะถูกดำเนินคดีฐานละเมิดอำนาจศาล ระพีพงษ์จึงตะโกนโวยวายก่อนเดินออกจากห้องพิจารณาคดีไป
อานนท์เบิกความในฐานะพยานจำเลย ยืนยันข้อความที่โพสต์เป็นข้อเท็จจริงที่ตรวจสอบได้ เป็นการแสดงความเห็นด้วยความสุจริตใจ เพื่อให้สังคมก้าวต่อไปข้างหน้า
อานนท์ นำภา จำเลย อ้างตัวเองเป็นพยานในคดีนี้เบิกความว่า พยานจบการศึกษาในระดับปริญญาตรี สาขานิติศาสตร์ ประกอบอาชีพเป็นทนายความสิทธิมนุษยชน เคยทำคดีที่เกี่ยวเนื่องกับสิทธิมนุษยชนในหลายพื้นที่ ตลอดการทำงานพยานได้รับรางวัลจากนิตยสาร Time ในการจัดอันดับ 100 Next 2021 ในหมวดผู้นำ (Leaders) ผู้สร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดขึ้นในสังคม และรางวัลสิทธิมนุษยชนกวางจู จากประเทศเกาหลีใต้
ก่อนเกิดเหตุในคดีนี้ พยานได้เสนอข้อเรียกร้อง และเข้าร่วมการชุมนุมหลายพื้นที่ในปี 2563 โดยข้อเรียกร้องดังกล่าวคือ การขอให้เปลี่ยนแปลงทางการเมืองหลายข้อ หนึ่งในนั้นคือการแสดงข้อกังวลต่อบทบาทของกษัตริย์ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมือง
การชุมนุมของพยานและกลุ่มคนรุ่นใหม่มีคำถามถึงบทบาทของรัชกาลที่ 10 ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมือง และการที่ไม่ได้ประทับอยู่ในประเทศไทย ตลอดจนการขยายพระราชอำนาจของกษัตริย์
ทั้งนี้ ในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 3 ได้บัญญัติไว้ว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน และพระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขใช้อำนาจนั้นผ่านทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล นั่นหมายความว่าพระมหากษัตริย์จะทรงใช้อำนาจโดยตรงไม่ได้ แต่ต้องใช้อำนาจผ่านทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล
ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองในวันที่ 24 มิ.ย. 2475 โดยเปลี่ยนให้พระมหากษัตริย์ลงมาอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ และมีหลักการว่า The king can do no wrong หรือแปลเป็นภาษาไทยว่า “ปกเกล้า แต่ไม่ปกครอง” ดังนั้น สถานะอันล่วงละเมิดมิได้ของพระมหากษัตริย์ภายใต้ระบอบการปกครองนี้ ย่อมเป็นการจัดวางให้สถาบันกษัตริย์อยู่เหนือการเมือง หรือกษัตริย์ไม่สามารถกระทำความผิดได้
ในรัฐธรรมนูญฉบับแรก (ชั่วคราว) มาตรา 3 บทบาทของกษัตริย์ได้ถูกบัญญัติไว้ให้ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้ ซึ่งคำว่า “ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้” หมายความว่า ใครจะไปฟ้องร้องกษัตริย์ไม่ได้ และมาตรา 6 บัญญัติว่า หากกษัตริย์ทำผิดอาญาจะไม่สามารถฟ้องร้องต่อศาลได้ แต่เป็นหน้าที่ของรัฐสภาที่จะวินิจฉัยความผิดนั้นเอง
แต่หลังจากนั้นมีการแก้บทบัญญัตินี้หลายครั้ง ในรัฐธรรมนูญ 2492 มีบทบัญญัติเพิ่มเติมขึ้นมาด้วยข้อความว่า “ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้” ซึ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ไม่ให้บุคคลฟ้องร้องพระมหากษัตริย์
ซึ่งต่อมาเป็นบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 6 การฟ้องร้องกษัตริย์ไม่ได้จึงหมายถึง กษัตริย์จะทำผิดไม่ได้ การกระทำหรือการใช้พระราชอำนาจจะต้องมีผู้รับสนองพระราชโองการ
อานนท์เห็นว่า การตีความมาตรา 6 ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ไม่ได้มีผลบังคับประชาชนเพียงฝ่ายเดียว แต่บังคับโดยตรงต่อพระมหากษัตริย์ที่ต้องดำรงตนให้เป็นที่เคารพสักการะด้วย ที่พยานคิดแบบนี้ก็เพราะในมาตรา 7 แห่งรัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้ว่า ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญบังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข
ดังนั้น การวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ของพยาน ไม่ได้เกี่ยวกับมาตรา 6 แห่งรัฐธรรมนูญ เพราะตราบใดที่พระมหากษัตริย์ดำรงตนอยู่ในที่เคารพสักการะ ผู้ใดก็จะล่วงละเมิดมิได้ แต่ถ้าหากกษัตริย์ไม่สามารถดำรงตนอยู่ในสถานะดังกล่าวได้แล้ว ประชาชนก็ย่อมมีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์ สามารถติเตียนได้
.
อานนท์เบิกความต่ออีกว่า เมื่อถามถึงการติเตียนกษัตริย์ว่า เราจะสามารถทำได้มากน้อยแค่ไหน หรือมีขอบเขตการวิพากษ์วิจารณ์อย่างไร เราต้องตีความตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 34 ซึ่งได้รับรองเสรีภาพของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นไว้ ซึ่ง ต่อพงศ์ กิตติยานุพงศ์ นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ ได้เสนอแนวทางการพิจารณาประเด็นดังกล่าวไว้ว่า รัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตย นอกเหนือจากเสรีภาพของมนุษย์ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์แล้ว ไม่มีคุณค่าใดที่สูงสุดหรือเป็นคุณค่าที่แตะต้องไม่ได้ ดังนั้น การวิพากษ์วิจารณ์หากกระทำโดยสุจริตใจก็ย่อมเป็นสิ่งที่ทำได้
ส่วนการแสดงความคิดเห็นที่จะไม่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ อานนท์เห็นว่า การแสดงความคิดเห็นที่เสนอให้ล้มล้างการปกครอง ไม่ถือว่าอยู่ในหลักเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
สำหรับข้อความในคดีนี้ อานนท์กล่าวว่า ตนได้โพสต์ลงบนเฟซบุ๊กของตัวเองภายหลังช่วงที่มีการชุมนุมของกลุ่มคนรุ่นใหม่ในปี 2563 ซึ่งมีการออกมาตั้งคำถามถึงบทบาทของกษัตริย์รัชกาลที่ 10 ในทางอ้อมโดยใช้พื้นที่การชุมนุมสาธารณะ
อานนท์กล่าวต่อศาลว่า คำพูดทางอ้อมที่หมายถึงรัชกาลที่ 10 เกิดขึ้นจำนวนมากในช่วงเวลานั้น พยานเองได้ยินจากกลุ่มคนรุ่นใหม่หลายคำ ซึ่งในความเห็นส่วนตัวเห็นว่า การสื่อสารเช่นนี้ไม่เหมาะสม พยานจึงได้ริเริ่มการวิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมาในพื้นที่การชุมนุมสาธารณะอย่างม็อบแฮรี่พอตเตอร์ เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2563
การปราศรัยวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ของเขาในวันนั้น อานนท์ได้กล่าวต่อศาลว่า ไม่มีการกล่าวคำหยาบคายต่อกษัตริย์แม้แต่คำเดียว
อานนท์เบิกความต่อไปว่า ในการชุมนุมวันดังกล่าว เขาได้อภิปรายบทบาทของกษัตริย์ที่เขามีข้อห่วงกังวลว่าพระองค์ไม่ได้กำลังดำรงอยู่ในบทบาทที่เหมาะสมตามรัฐธรรมนูญ ตามหลักการ The king can do no wrong
.
อานนท์บอกว่า การพูดของเขาทั้งหมดเป็นความจริง และข้อเท็จจริงก็มีให้เห็นกระจ่างชัด โดยเริ่มตั้งแต่ภายหลังการสวรรคตของกษัตริย์รัชกาลที่ 9 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีการจัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2560 โดยทำเสร็จสิ้นในวันที่ 7 ส.ค. 2559 และได้นำร่างรัฐธรรมนูญทูลเกล้าถวายต่อรัชกาลที่ 9 แต่ไม่ทันได้ลงพระปรมาภิไธย เนื่องจากพระองค์สวรรคตไปเสียก่อน
ร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวถูกแช่แข็งไว้จนกระทั่งการขึ้นครองราชย์ของรัชกาลที่ 10 ซึ่งพระองค์ไม่ลงพระปรมาภิไธย โดยประยุทธ์ได้แถลงข่าวว่า รัชกาลที่ 10 ต้องการที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งได้ผ่านการลงประชามติของประชาชนไปแล้ว
ซึ่งประเด็นที่ในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงมีพระประสงค์ให้แก้ไขคือ มาตรา 16 ที่บัญญัติไว้ว่า เมื่อพระมหากษัตริย์ไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือทรงบริหารราชการแผ่นดินไม่ได้ด้วยเหตุใดก็ตาม จะต้องแต่งตั้งบุคคลหรือคณะบุคคลให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แต่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน บทบัญญัติดังกล่าวได้ถูกแก้ไขโดยให้อำนาจกษัตริย์จะแต่งตั้งหรือไม่แต่งตั้งผู้สำเร็จราชการฯ ก็ได้
การรับสั่งให้แก้รัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติของประชาชนเช่นนี้ ขัดต่อหลักการของรัฐธรรมนูญที่ระบุไว้ว่าอำนาจอธิปไตย และอำนาจในการสถาปนากฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นของประชาชน การกระทำเช่นนี้ไม่มีกษัตริย์พระองค์ไหนเคยทำมาก่อน
นอกจากนี้ ตามหลักการทางกฎหมายแล้ว การรับสั่งให้แก้มาตรา 16 ย่อมเป็นการแก้เพียงเพื่อประโยชน์ส่วนตัวของกษัตริย์ ซึ่งทรงประทับอยู่ที่ประเทศเยอรมนี และไม่ประสงค์ที่ต้องการให้มีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในประเทศไทย
อานนท์ยังได้แสดงหลักฐานยืนยันจากข่าวว่า รัฐสภาประเทศเยอรมนีมีการอภิปรายถึงความกังวลต่อการใช้พระราชอำนาจทางการเมืองของในหลวงรัชกาลที่ 10 ในแผ่นดินเยอรมัน
และข้อห่วงกังวลที่ 2 คือ การเสด็จประทับประเทศเยอรมนีของพระองค์ ได้นำข้าราชบริพารติดตามไปเป็นจำนวนมาก และมีการเช่าโรงแรมในแคว้นบาวาเรียให้ข้าราชบริพารและพระองค์ใช้ชีวิตอยู่ ซึ่งประชาชนมองว่าเป็นการใช้งบประมาณโดยสิ้นเปลือง
นอกจากนี้ ในปี 2563 ซึ่งยังคงมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 แต่พระมหากษัตริย์กลับไม่ทรงประทับอยู่ในประเทศไทย และสร้างความกังวลให้กับประชาชนและคนรุ่นใหม่ไม่สบายใจ โดยเฉพาะการใช้ชีวิตส่วนตัวของพระองค์ที่ต่างประเทศ และมีภาพไม่เหมาะสมหลายประการ จนถูกนำไปล้อเลียนและกลายเป็นการดำเนินคดีตามมาตรา 112 หลายคดี
อานนท์ยังได้หยิบยกตัวอย่างการออกข้อกฎหมายและการเปลี่ยนแปลงข้อกฎหมายอีกหลายประการ รวมถึงการออกพระบรมราชโองการที่เขาเห็นว่าแปลกประหลาด กล่าวคือ การถอดยศเจ้าคุณพระสินีนาฏ และลงโทษให้ถูกคุมขังในทัณฑสถานหญิงกลางกรุงเทพฯ ก่อนภายหลังมีการรับสั่งแต่งตั้งยศให้ใหม่ โดยไม่มีการลงชื่อผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
และในปี 2564 ก็ได้มีการออกพระบรมราชโองการโอนย้ายข้าราชการอัยการ คือองค์ภาฯ ซึ่งเป็นลูกสาวของพระองค์เอง ไปเป็นข้าราชการทหารส่วนพระองค์ โดยไม่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการเช่นเดิม
หรือในปี 2566 ก็ได้มีการแต่งตั้ง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นองคมนตรี โดยไม่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
อานนท์กล่าวว่า ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เขาต้องการจะอธิบายและยืนยันข้อเท็จจริงเพื่อปฏิเสธข้อกล่าวหาตามที่อัยการฟ้องมา สิ่งที่เขาโพสต์เพียงแค่ต้องการส่งข้อความบอกกับสังคมว่า หากไม่มีใครหยุดการกระทำเช่นนี้ พระองค์ก็จะทำผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า และเขาเชื่อว่าหากรัชกาลที่ 9 ยังมีชีวิตอยู่ก็จะไม่ทำแบบนี้ โดยเฉพาะการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านการลงประชามติมาแล้ว
นอกจากนี้ การโพสต์ข้อความวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ตามที่โจทก์ฟ้อง อยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริงของการเปลี่ยนแปลงกฎหมายตามที่รัชกาลที่ 10 ทรงรับสั่ง รวม 2 ฉบับ ได้แก่ 1. พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลฯ ของกรมทหารราบที่ 1 และ 11 ไปเป็นส่วนราชการในพระองค์ ซึ่งพยานเห็นว่า กษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยไม่ควรจะมีกองกำลังส่วนตัวเช่นนี้
2. การแก้ไข พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งทำให้กษัตริย์มีอำนาจถ่ายโอนทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ รวมถึงส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ไปเป็นทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ และใช้ได้ตามพระราชอัธยาศัย โดยไม่อยู่ในการดูแลของกระทรวงการคลังอีกต่อไป พยานเห็นว่าสิ่งนี้สร้างความคลุมเครือและไม่ชัดเจน
.
อานนท์กล่าวว่า การแก้ไข พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ นี้มีความน่ากังวลและเป็นเรื่องใหญ่ โดยเขาได้อธิบายให้ศาลเห็นภาพว่า ทรัพย์สินที่เป็นส่วนพระมหากษัตริย์ ยกตัวอย่างเช่น วัดพระแก้ว หากที่ดินดังกล่าวอยู่การครอบครองส่วนพระองค์แล้ว เมื่อมีการสวรรคตของกษัตริย์องค์ปัจจุบัน ทรัพย์สินที่ควรจะเป็นสมบัติสาธารณแผ่นดินก็จะถูกโอนย้ายไปตามกฎหมายมรดก ซึ่งสามารถตกทอดสู่ลูกหลานหรือบุคคลใดก็ได้ที่อยู่ในพินัยกรรม
ทั้งนี้ ในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงมีพระราชโอรสและพระราชธิดาหลายพระองค์ โดยล่าสุด “ท่านอ้น” ซึ่งเป็นพระราชโอรสก็ได้แสดงตัวและเดินทางกลับเข้ามาในประเทศไทยเป็นครั้งแรก หลังไม่สามารถเดินทางกลับมาได้กว่า 20 ปี
อีกประการหนึ่ง หากทรัพย์สินของราชบัลลังก์ตกทอดสู่รัชทายาทอย่างเช่น เจ้าฟ้าทีปังกร ซึ่งขณะนี้ศึกษาและใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศเยอรมนี หากพระองค์ได้รับมรดกไปก็จะต้องมีการเสียภาษีมรดกตามกฎหมายของประเทศที่อยู่ ซึ่งหากไม่สามารถแบกรับภาระหนี้สินหรือจ่ายภาษีตามกฎหมายได้ เจ้าหนี้ก็สามารถยึดทรัพย์สินดังกล่าวไปได้
การวิพากษ์วิจารณ์ของเขาเพียงต้องการแสดงความห่วงกังวลเรื่องทรัพย์สินที่เป็นของราชบัลลังก์ว่า มีความเป็นได้สูงมากที่จะถูกส่งต่อให้กับบุคคลอื่น และเขาไม่ต้องการให้ทรัพย์สินเหล่านี้สูญหายไปจากประเทศของเรา นอกจากนี้ ข้อเสนอต่าง ๆ ที่เขาพูดในที่สาธารณะก็เพียงอยากให้กษัตริย์ดำรงตนอยู่ในสถานะเป็นที่เคารพสักการะในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
.
ก่อนจบการพิจารณาคดี อานนท์ได้ทิ้งท้ายโดยกล่าวถึงการตีความมาตรา 6 แห่งรัฐธรรมนูญ 2560 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ไว้ว่า การที่อัยการฟ้องโดยระบุข้อกฎหมายข้างต้นมาด้วยกันนั้น เป็นคนละเรื่องเดียวกัน การที่ระบุว่า เราไม่สามารถติชมหรือฟ้องร้องกษัตริย์ได้นั้น ขัดต่อหลักการของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ปัจจุบันประเทศไทยได้ให้สัตยาบันและเข้าร่วมเป็นสมาชิกกฎหมายระหว่างประเทศหลายฉบับ จึงมีพันธะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 19 เพื่อรองรับเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน
ในการพูดหรือแสดงความเห็นของตนทุกครั้งก็แสดงออกไปด้วยความสุจริตใจ อานนท์บอกกับศาลว่า แล้วแต่ท่านว่าจะเชื่อหรือไม่ แต่การวิพากษ์วิจารณ์ย่อมต้องมีหน่วยกล้าตายเช่นนี้ เพื่อให้สังคมมันก้าวต่อไปข้างหน้าได้
“ผมขอต่อท่านทั้งหลายว่า ในการพิพากษาคดี ม.112 ขอท่านอย่าได้สถาปนาคำพิพากษาเช่นในคดีที่ผ่านมาต่อไปเรื่อย ๆ เพราะเมื่อสังคมอารยประเทศเขามองเข้ามา มันน่าละอาย การพิพากษาเช่นนี้ไม่ได้สอดคล้องกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่อารยประเทศเขาใช้กัน”