วันที่ 22 ต.ค. 2567 เวลา 09.00 น. ที่ศาลอาญา รัชดาฯ มีนัดสืบพยานคดีของ “ต้นไผ่” (นามสมมติ) ซึ่งถูกฟ้องในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) กรณีถูกกล่าวหาว่าใช้บัญชีทวิตเตอร์ “Guillotine 2475” โพสต์ภาพและข้อความพาดพิงรัชกาลที่ 10 รวม 10 โพสต์ ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2564 ถึงมีนาคม 2565
การสืบพยานมีขึ้นลับหลังจำเลยที่ไม่มาศาล โจทก์นำพยานเข้าสืบทั้งสิ้น 6 ปาก และศาลไม่อนุญาตให้เลื่อนสืบพยานโจทก์ปากพนักงานสอบสวนซึ่งอยู่ระหว่างศึกษาต่อที่ต่างประเทศตามที่พนักงานอัยการขอ อ้างเหตุว่าเป็นการเนิ่นช้าเกินไปโดยไม่มีเหตุสมควร ส่งผลกระทบต่อการอำนวยความยุติธรรม จึงให้งดสืบพยานปากดังกล่าว ส่วนฝ่ายจำเลยไม่มีพยานจำเลยเข้าสืบ คดีจึงเสร็จการพิจารณา ศาลให้รอการพิพากษาคดีไว้ชั่วคราวจนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 172 ทวิ/1 (การพิจารณาคดีลับหลังจำเลย) ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 หรือไม่ โดยให้นัดพร้อมเพื่อรอฟังผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 25 ก.พ. 2568 เวลา 09.00 น.
.
ศาลยกคำร้องเบิกตัวอานนท์มาทำหน้าที่ทนายจำเลย อ้างไม่สามารถสวมครุยได้ แต่ให้ตามตัวให้มาทำหน้าที่หลังจำเลยไม่มาศาล – สั่งให้สืบพยานลับหลังจำเลย ชี้เพื่อให้คดีไม่ล่าช้า และจำเลยมีทนายความ
คดีนี้ เดิมมีนัดสืบพยานในวันที่ 11 – 12 มิ.ย. 2567 ก่อนหน้านั้นในวันที่ 3 พ.ค. 2567 ทนายจำเลย คือ อานนท์ นำภา ได้ยื่นคำร้องขอให้เบิกตัวทนายจำเลยจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาศาลเพื่อปฏิบัติหน้าที่ทนายความ แต่ในวันที่ 20 พ.ค. 2567 ศาลมีคำสั่งยกคำร้อง โดยอ้างเหตุว่า อานนท์เป็นจำเลยในคดีอาญาซึ่งถูกคุมขังในคดีอื่นและเป็นผู้ต้องขัง ต้องแต่งกายตามแบบที่ระเบียบกรมราชทัณฑ์กำหนด ทั้งยังมีข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาทในการแต่งกาย ข้อบังคับเนติบัณฑิตยสภาเกี่ยวกับการสวมครุยเนติบัณฑิต และ พ.ร.บ.เสื้อครุยเนติบัณฑิตฯ ที่ห้ามมิให้สวมเสื้อครุยเนติบัณฑิตในเวลาที่เป็นจำเลยในคดีอาญา กรณีตามคำร้องยังไม่มีเหตุสมควรที่จะเบิกตัวมาทำหน้าที่ทนายความ
ในวันที่ 11 มิ.ย. 2567 ต้นไผ่ไม่ได้เดินทางมาศาล นายประกันได้แถลงว่า ไม่สามารถติดต่อจำเลยได้และจำเลยไม่ได้เดินทางมาศาลตามนัดในคดีตามมาตรา 112 อีกคดีที่ศาลอาญา ซึ่งนัดสืบพยานช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2567 ด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 11 มิ.ย. 2567 อานนท์ถูกเบิกตัวมาศาลในคดีมาตรา 112 จากกรณีเขียนและโพสต์จดหมาย #ราษฏรสาส์น ถึงกษัตริย์รัชกาลที่ 10 ซึ่งเป็นจำเลยอยู่ก่อนแล้ว ศาลจึงให้ตามตัวอานนท์มาทำหน้าที่ทนายจำเลยในคดีนี้ ก่อนมีคำสั่งให้ออกหมายจับจำเลย ให้ปรับนายประกันเต็มตามสัญญา และเพื่อให้การพิจารณาเป็นไปโดยไม่ล่าช้า ประกอบกับจำเลยมีทนายความแล้ว อาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 172 ทวิ/1 ศาลจึงให้เลื่อนไปสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยลับหลังในวันที่ 19 พ.ย. และ 6 ธ.ค. 2567 ซึ่งทนายจำเลยได้แถลงคัดค้านการกำหนดนัดสืบพยานลับหลัง เนื่องจากไม่เป็นธรรมกับจำเลย
ต่อมา ในวันที่ 8 ต.ค. 2567 ทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องคัดค้านการพิจารณาคดีลับหลังจำเลย โดยขอให้ศาลจำหน่ายคดีออกจากสารบบความชั่วคราว เมื่อจับจำเลยได้แล้วค่อยยกคดีขึ้นพิจารณา เพื่อให้จำเลยได้มีโอกาสต่อสู้คดีอย่างเต็มที่
.
ศาลยกคำร้องคัดค้านการพิจารณาคดีลับหลังและขอถอนทนาย แต่ให้ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย สืบพยานลับหลังจำเลยขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
ในวันที่ 11 ต.ค. 2567 จำเลยได้ส่งคำร้องคัดค้านการพิจารณาคดีลับหลังจำเลยตามมาตรา 172 ทวิ/1 และขอถอนทนายจำเลย เข้ามาทางอีเมลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ทนายจำเลยจึงได้ยื่นคำร้องดังกล่าวต่อศาลในวันที่ 15 ต.ค. 2567
วันเดียวกันทนายจำเลยยังได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยและรอการพิพากษาไว้ชั่วคราว ในประเด็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 172 ทวิ/1 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 29 หรือไม่
โดยในคำร้องขอให้ศาลส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยและรอการพิพากษาไว้ชั่วคราวข้างต้น มีเนื้อหาเช่นเดียวกันกับที่ทนายจำเลยได้เคยยื่นไปในคดีตามมาตรา 112 อีกคดีของต้นไผ่ที่ศาลมีคำสั่งสืบพยานลับหลังจำเลยเช่นกัน
วันที่ 19 พ.ย. 2567 จำเลยไม่ได้เดินทางมาศาล ส่วนอานนท์ถูกเบิกตัวมาเพื่อทำหน้าที่ทนายจำเลย โดยถูกพันธนาการด้วยกุญแจข้อเท้า นอกจากนี้ ยังมีประชาชนจำนวนมากเดินทางมาสังเกตการณ์คดี รวมถึง ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่
ก่อนเริ่มการสืบพยานลับหลัง ทนายจำเลยได้ยื่นคำแถลงไม่ประสงค์ให้ทนายความปฏิบัติหน้าที่และถามค้านพยานโจทก์ ซึ่งจำเลยได้ส่งเข้ามาในอีเมลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
เนื้อหาในคำแถลงดังกล่าวระบุว่า จำเลยมีความประสงค์ขอศาลได้โปรดจำหน่ายคดีออกจากสารบบความชั่วคราว หากศาลมีคำสั่งให้สืบพยานลับหลังจำเลย จำเลยไม่ประสงค์ให้อานนท์ทำหน้าที่ในฐานะทนายความจำเลย และซักค้านพยานโจทก์ เนื่องจากหากทนายจำเลยดำเนินกระบวนพิจารณาคดีต่อไปอาจจะทำให้เกิดความเสียหายต่อรูปคดีและทำให้จำเลยเสียเปรียบไม่อาจต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่
เมื่อศาลออกนั่งพิจารณาคดี ศาลได้มีคำสั่งต่อคำร้องทั้งหมดข้างต้น โดยไม่จำหน่ายคดีและให้สืบพยานลับหลังจำเลยต่อไป และไม่อนุญาตให้ถอนทนายความ ส่วนคำร้องขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญนั้น เห็นว่า คำร้องครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ จึงให้ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แต่ไม่เป็นเหตุให้จำหน่ายคดีชั่วคราว ให้ยกคำร้องในส่วนนี้ และให้ดำเนินการพิจารณาคดีต่อไป โดยให้รอการพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ
ทนายจำเลยแถลงต่อศาลว่า แม้ศาลจะมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ถอนทนายความ แต่ศาลไม่สามารถสั่งให้ทนายความถามความหรือปฏิบัติหน้าที่ทนายความได้ โดยเรื่องนี้เป็นเรื่องระหว่างตัวความและทนายความ
ในช่วงเช้า โจทก์นำพยานโจทก์เข้าสืบจำนวน 2 ปาก ได้แก่ ร.ต.อ.ธรรมชาติ ดำรงจักษ์ และ ร.ต.อ.กษิดิศ ดิลกคุณานันท์ สองตำรวจจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) โดยทนายจำเลยยืนยันไม่ถามค้าน ไม่ลงชื่อในคำเบิกความพยานโจทก์และรายงานกระบวนพิจารณา เนื่องจากเป็นความประสงค์ของจำเลย และจำเลยได้ยื่นคำร้องขอถอนทนายแล้ว
.
ทนายจำเลยตั้งข้อรังเกียจศาล – โต้แย้งการพิจารณาคดีมาตรา 112 ที่ไม่เป็นธรรม ระบุ กระบวนพิจารณาส่อไปในทางไม่ยุติธรรมและรวบรัดเพื่อให้คดียุติ โดยไม่เปิดโอกาสให้จำเลยต่อสู้คดีอย่างเต็มที่
ต่อมา ก่อนเริ่มสืบพยานในช่วงบ่าย ทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องเพิกถอนกระบวนพิจารณาและตั้งข้อรังเกียจศาล สืบเนื่องจากการที่ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ถอนทนายความและให้สืบพยานลับหลังจำเลยต่อไป อันเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ โดยทนายจำเลยขอให้ศาลมีคำสั่ง 4 ข้อ ดังนี้
- ขอให้ศาลสั่งจำหน่ายคดี ไม่สืบพยานลับหลังจำเลย อันเป็นการกระทำที่ขัดต่อความยุติธรรมอย่างชัดแจ้ง
- ขอให้ศาลเพิกถอนกระบวนพิจารณาและมีคำสั่งให้จำหน่ายคดี รอจนกว่าจะมีตัวจำเลยมาพิจารณาคดี และให้ถอน อานนท์ นำภา ออกจากการเป็นทนายจำเลย
- ขอให้ส่งสำนวนคดีไปยังอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา เพื่อเปลี่ยนตัวผู้พิพากษา เนื่องจากหากพิจารณาคดีต่อไปย่อมเกิดความไม่เป็นธรรมแก่จำเลย
- ขอให้ส่งสำนวนไปคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม เพื่อพิจารณาการทำคำสั่งขององค์คณะที่ทำคำสั่งคำร้องในคดีนี้ว่า ผิดต่อกฎหมาย ต่อรัฐธรรมนูญ และจริยธรรมของข้าราชการตุลาการหรือไม่
ศาลได้นำคำร้องและสำนวนคดีนี้เสนอต่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาเพื่อพิจารณาสั่งตามข้อ 3 ต่อมา อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญามีคำสั่งให้ยกคำขอ โดยให้องค์คณะผู้พิพากษาทำหน้าที่ต่อไป
ส่วนข้อ 1 และข้อ 2 นั้น ศาลมีคำสั่งเองโดยระบุว่า เห็นว่า จำเลยหลบหนีไม่มาศาล อันแสดงถึงเจตนาของจำเลยที่ไม่ต้องการเข้าสู่กระบวนการพิจารณาที่เป็นขั้นตอนตามกฎหมายเพื่อพิสูจน์ความผิด และศาลได้มีคำสั่งออกหมายจับจำเลย ทั้งนี้ คดีนี้เข้าเงื่อนไขตามมาตรา 172 ทวิ/1 เพื่อมิให้คดีล่าช้า จึงเห็นควรให้สืบพยานลับหลังจำเลย
ปรากฏว่าในวันนัดสืบพยานวันนี้ (19 พ.ย. 2567) จำเลยยังคงหลบหนีไม่มาศาลและได้ยื่นคำร้องคัดค้านการพิจารณาคดีลับหลังและขอถอนทนายความ รวมถึงยื่นคำแถลงไม่ประสงค์ให้ทนายความปฏิบัติหน้าที่และถามค้าน กับขอให้จำหน่ายคดีชั่วคราว อ้างว่า การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีอาจทำให้จำเลยเสียเปรียบ ซึ่งแสดงให้เห็นพฤติการณ์ของจำเลยที่หลบเลี่ยงการเข้าสู่กระบวนพิจารณาคดีตามปกติ อันมีลักษณะเป็นการประวิงคดี จึงไม่มีเหตุสมควรให้ศาลสั่งจำหน่ายคดี ไม่สืบพยานลับหลังและเพิกถอนกระบวนพิจารณา กับให้ทนายจำเลยถอนตัว ให้ยกคำขอทั้งสองข้อนี้
สำหรับคำขอข้อ 4 นั้น หากทนายจำเลยประสงค์ดำเนินการก็สามารถดำเนินการได้ด้วยตนเอง ให้ยกคำขอเช่นกัน
จากนั้นโจทก์ได้นำพยานเข้าสืบต่ออีก 4 ปาก ได้แก่ พ.ต.ท.แทน ไชยแสง, พ.ต.อ.วราวุธ เมฆชัย, พ.ต.ต.ชยกฤต จันหา และ ร.ต.อ.ประเสริฐ สังข์ทอง จากกองบัญชาการตำรวจสันติบาล โดยทนายจำเลยยืนยันไม่ถามค้าน ไม่ลงชื่อในคำเบิกความพยานโจทก์และรายงานกระบวนพิจารณาเช่นกัน
โจทก์แถลงต่อศาลว่า ติดใจสืบพยานปาก พ.ต.ต.หญิง เศวรัตน์ ปุริสาย พนักงานสอบสวน ซึ่งลาราชการเพื่อไปศึกษาต่อต่างประเทศจนถึงวันที่ 6 ก.ค. 2568 และขอให้เลื่อนคดีเพื่อรอ พ.ต.ต.หญิง เศวรัตน์ กลับจากต่างประเทศ ทนายจำเลยแถลงไม่ค้าน
ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาต เห็นว่าเป็นการเนิ่นช้าไปโดยไม่มีเหตุสมควร กระทบต่อการอำนวยความยุติธรรม ไม่มีเหตุให้เลื่อนคดีและให้งดสืบพยานปากดังกล่าว
ทนายจำเลยแถลงโต้แย้งว่า คดีมาตรา 112 เป็นคดีนโยบาย หากจำเป็นต้องเลื่อนก็ควรเลื่อน โดยทนายความอาจต้องการถามค้านเกี่ยวกับการสอบสวนว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งหากไม่สืบพยานปากพนักงานสอบสวนจะเป็นการไม่ถูกต้อง หากศาลไม่เลื่อนคดีด้วยเหตุผลว่านานไป ทนายจำเลยเห็นว่าเป็นการเร่งรัดคดีเกินไป ไม่ยุติธรรม
ศาลแจ้งว่า ทุกคำร้องที่ทนายจำเลยและอัยการยื่นมาในคดี ศาลปรึกษากับผู้บริหารแล้วทั้งหมด ไม่ได้ใช้ดุลยพินิจโดยลำพัง เมื่อพนักงานสอบสวนซึ่งโจทก์ต้องนำสืบไม่มาก็ขึ้นกับว่าพยานโจทก์ฟังได้หรือฟังไม่ได้
ทนายจำเลยแถลงว่า ต้องการความชัดเจนว่าที่ศาลไม่ให้สืบพยานปากพนักงานสอบสวนเพราะอะไร แม้ในทางคดีจะสู้ไม่ได้ แต่ในทางการเมืองและทางวิชาการสามารถบันทึกและโต้แย้งได้ว่ากระบวนพิจารณาคดีมาตรา 112 เป็นอย่างไร
ศาลกล่าวว่า คดีมาตรา 112 ไม่ใช่คดีทางการเมือง ศาลมองว่าเป็นคดีอาญาปกติ และไม่แน่ชัดว่าพนักงานสอบสวนจะกลับมาในช่วงเวลาดังกล่าวหรือไม่ เป็นการเนิ่นช้าเกินไป ศาลจึงให้งดการสืบพยาน
ต่อมา ศาลขึ้นไปปรึกษาอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาอีกครั้ง ก่อนมีคำสั่งว่า คดีนี้มีการกำหนดนัดสืบพยานไว้ล่วงหน้าแล้ว และเป็นเวลาก่อนที่ พ.ต.ต.หญิง เศวรัตน์ จะลาราชการไปศึกษาต่อต่างประเทศ ซึ่งโจทก์สามารถยื่นคำร้องขอศาลสืบพยานล่วงหน้าได้ แต่โจทก์ไม่ได้ดำเนินการใด ทั้งการทำหน้าที่ของพนักงานสอบสวนเป็นเพียงการรวบรวมพยานหลักฐานในสำนวนและทำความเห็นในคดีจึงถือเป็นพยานบอกเล่า หากมีเหตุขัดข้องที่พนักงานสอบสวนไม่สามารถมาเบิกความได้ โจทก์อาจนำตัวผู้บังคับบัญชาที่กำกับดูแลการสอบสวนในคดีนี้หรือพยานบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องมาเบิกความในส่วนนี้แทนได้ การให้เลื่อนคดีไปจนกว่า พ.ต.ต.หญิง เศวรัตน์ จะกลับจากต่างประเทศเป็นการเนิ่นช้าเกินไปโดยไม่มีเหตุสมควร ส่งผลกระทบต่อการอำนวยความยุติธรรม จึงไม่มีเหตุให้เลื่อนคดีและเห็นควรให้งดสืบพยานโจทก์ปากดังกล่าว
เมื่อเป็นเช่นนี้ โจทก์จึงแถลงหมดพยาน ส่วนทนายจำเลยแถลงว่าไม่มีพยานที่จะเข้าสืบต่อในวันที่ 6 ธ.ค. 2567 คดีจึงเสร็จการพิจารณา ศาลมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีชั่วคราวจนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ โดยให้นัดพร้อมเพื่อรอฟังผลคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 25 ก.พ. 2568 เวลา 09.00 น.
หลังคดีเสร็จการพิจารณา อานนท์ได้ยื่นคำร้องโต้แย้งการพิจารณาคดีมาตรา 112 ที่ไม่เป็นธรรม ระบุว่า ทนายความจำเลยยื่นคำร้องหลายฉบับเพื่อโต้แย้งกระบวนพิจารณาที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งทนายความจำเลยเห็นว่ามีหลายขั้นตอนที่ส่อให้เห็นถึงความผิดปกติและไม่ยุติธรรมในคดีมาตรา 112 สรุปได้ดังนี้
- เดิมคดีนี้ศาลมีคำสั่งไม่ให้ทนายความทำหน้าที่ทนายความโดยอ้างว่าทนายเป็นผู้ต้องขัง แต่งกายไม่สุภาพ และทราบจากนายประกันว่าจำเลยไม่มาศาล ศาลจึงให้ทนายทำหน้าที่เพื่อจะได้พิจารณาลับหลังจำเลย โดยขังทนายจำเลยในคดีของศาลนี้ตั้งแต่วันที่ 25 ก.ย. 2566 ทำให้จำเลยและทนายจำเลยไม่สามารถปรึกษาเตรียมต่อสู้คดีได้
- ทนายจำเลยจึงขอให้ศาลจำหน่ายคดีเพื่อให้ได้ตัวจำเลยมาพิจารณาต่อหน้าเสียก่อน ศาลยกคำร้อง โดยให้พิจารณาคดีลับหลังต่อไป
- ต่อมา วันที่ 15 ต.ค. 2567 จำเลยยื่นถอนทนายและขอให้จำหน่ายคดี และยื่นอีกครั้งในวันนี้ ศาลยกคำร้องโดยให้สืบพยานโดยไม่มีตัวจำเลยต่อไป
- และในวันนี้ระหว่างสืบพยาน โจทก์ขอเลื่อนสืบพยานโดยพนักงานสอบสวนติดภารกิจ ศาลสอบถามแล้วสามารถมาได้ในเดือนกรกฎาคม 2568 ทนายความจำเลยเห็นพ้องด้วยเพราะเห็นว่าการสอบสวนไม่ชอบ ควรนำตัวพนักงานสอบสวนมาเบิกความ ศาลกลับไม่ให้เลื่อนโดยเห็นว่านานไป ทำให้คดีจบการพิจารณา
ทนายความจำเลยเห็นว่า กระบวนพิจารณาทั้งหมดส่อไปในทางไม่ยุติธรรมและรวบรัด ตัดตอน เพื่อให้คดียุติ โดยไม่เปิดโอกาสให้ต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ เพราะการไม่มีตัวจำเลยและขังทนายจำเลยทำให้คำสั่งศาลไม่ว่าจะดีหรือไม่ดี ชอบหรือไม่ชอบ ก็ไม่สามารถอุทธรณ์ต่อศาลสูงได้ จึงเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่อาจเรียกว่า “กระบวนยุติธรรม” ได้ จึงแถลงคัดค้านให้เห็นปรากฏในสำนวน