ฟ้อง ม.112 “อานนท์ นำภา” คดีที่ 12 เหตุโพสต์ #ราษฎรสาส์น พ.ย. 63 วิพากษ์ ร.10 เรื่องการขยายพระราชอำนาจ

ตั้งแต่วันที่ 14 มิ.ย. 2565 เวลา 09.00 น. พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 8 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง “อานนท์ นำภา” ทนายความสิทธิมนุษยชน ในข้อหา “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์” หรือมาตรา 112 ตามประมวลกฎหมายอาญา และข้อหาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 มาตรา 14(3) จากกรณีเขียนและโพสต์จดหมาย #ราษฏรสาส์น ถึงกษัตริย์รัชกาลที่ 10

เมขลา อัจฉราวงศ์ชัย พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 8 บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2563 เวลากลางวัน จําเลยได้หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ ด้วยการนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูล รูปภาพ ข้อความและตัวอักษร ด้วยการโพสต์รูปภาพพร้อมด้วยตัวหนังสือ เป็นข้อความภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยมีข้อความภาษาไทยตอนหนึ่งว่า

“…นับแต่ท่านได้ขึ้นครองราชย์ ท่านได้ก้าวล่วงและละเมิดต่อหลักการประชาธิปไตยที่อนุญาตให้มีกษัตริย์เป็นประมุขในหลายประการ เช่น การสั่งให้แก้รัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติแล้ว การแก้ไขกฎหมายเพื่อประโยชน์ส่วนตนของท่าน การรับเอาเงินภาษีของพวกเราไปใช้อย่างเกินความจําเป็น รวมทั้งความเคลือบแคลงต่อการละเมิดสิทธิของราษฎรในหลายกรณี ซึ่งการกระทําเช่นนี้นับว่าร้ายแรงอย่างยิ่ง เพราะถือเป็นการขยายอํานาจจนเกินกว่าที่ระบอบอนุญาตให้ท่านทําได้

พวกเราเหล่าราษฎรเฝ้ามองปรากฏการณ์นี้มานานจนกระทั่งความไม่พอใจ ความคับแค้นใจได้ประทุขึ้นในห้วงเวลานี้ ดังที่ท่านคงทราบดี พวกเราเหล่าราษฎรได้ร่วมกันชุมนุมหลายคราว เพื่อสื่อสารและส่งสาส์นไปยังท่าน ทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อหวังให้ท่านปรับปรุงตน และกลับมาเป็นกษัตริย์ของพวกเราทุกคนตามที่ระบอบกําหนดไว้ แต่ท่านก็ไม่มีท่าทีที่จะปรับตนแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้ามกลับพยายามแสดงออกถึงความไม่พอใจในความเคลื่อนไหวครั้งนี้ รวมทั้งพยายามแสดงออกให้พวกเรากลายเป็น “ราษฎรอื่น” ในสายตาท่านไปเสีย”

ผ่านทางบัญชีเฟซบุ๊ก “อานนท์ นําภา” ซึ่งเป็นบัญชีเฟซบุ๊กของจําเลย ที่มีการกําหนดเป็นค่าการโพสต์ข้อความดังกล่าวเป็นสาธารณะ ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ เพื่อให้ประชาชนหรือบุคคลทั่วไปที่พบเห็นโพสต์ดังกล่าวเข้าใจว่า รัชกาลที่ 10 ทรงสั่งให้แก้รัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติ และสั่งให้แก้ไขกฎหมายเพื่อประโยชน์ส่วนตน อันเป็นการล่วงละเมิดต่อหลักการประชาธิปไตย และเอาเงินภาษีของประชาชนไปใช้อย่างเกินความจําเป็น และกระทําการละเมิดสิทธิของราษฎร

อันเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ซึ่งไม่เป็นความจริง และเป็นการใส่ร้าย จาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายรัชกาลที่ 10 โดยประการที่น่าจะทําให้เสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น และถูกเกลียดชัง โดยจําเลยมีเจตนาอาฆาตมาดร้าย ทําลายสถาบันพระมหากษัตริย์ และทําให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพสักการะต่อพระมหากษัตริย์ ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร

ทั้งนี้ อัยการได้คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวอานนท์ระหว่างพิจารณาคดี อ้างเหตุว่า คดีมีอัตราโทษสูง และเป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคง ทั้งยังขอให้ศาลนับโทษจำคุกอานนท์ในคดีนี้ ต่อจากโทษจำคุกในอีก 17 คดี โดยเป็นคดีของศาลอาญารัชดา จำนวน 13 คดี ศาลอาญากรุงเทพใต้ 2 คดี ศาลแขวงดุสิตและศาลแขวงปทุมวันที่ละ 1 คดี

หลังศาลรับฟ้อง และถามคำให้การในเบื้องต้น โดยอานนท์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ศาลได้อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวอานนท์ตามที่ยื่นคำร้อง ด้วยหลักทรัพย์เป็นเงินสด 90,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ พร้อมกำหนด 5 เงื่อนไข ดังนี้

  1. ห้ามทำกิจกรรมหรือกระทำการใดๆ อันจะทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่สถาบันกษัตริย์และศาลในทุกด้าน รวมทั้งห้ามกระทำการใดๆ อันเป็นการขัดขวางกระบวนการพิจารณาคดีของศาล
  2. ห้ามเข้าร่วมชุมนุม ที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง
  3. ให้ติด EM
  4. ห้ามออกนอกเคหะสถาน ตั้งแต่เวลา 21.00 น. – 06.00 น. ของวันใหม่ เว้นแต่มีเหตุจำเป็น หรือได้รับอนุญาตจากศาล
  5. ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาต
    คำสั่งให้ประกันยังระบุด้วยว่า หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าว ศาลอาจมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติมคำสั่งตามพฤติกรรมของจำเลยที่เปลี่ยนไปตามความเหมาะสม และความร้ายแรงของพฤติกรรมต่อไป

นัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 18 ก.ค. 2565 เวลา 09.00 น.

สำหรับความเป็นมาในคดีนี้ อานนท์ถูกว่าที่ ร.ต.นรินทร์ ศักดิ์เจริญชัยกุล หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม “ไทยภักดี” เข้าแจ้งความร้องทุกข์ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) หลังเมื่อวันที่ 8 พ.ย. 63 กลุ่ม “ประชาชนปลดแอก” ได้จัดการชุมนุม #ราษฎรสาส์น ให้ประชาชนร่วมกันเขียนจดหมายถึงกษัตริย์ และมีการเดินขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปใกล้พระบรมมหาราชวัง เพื่อส่งจดหมาย ทำให้นักกิจกรรมมีการเขียนจดหมายถึงกษัตริย์ในรูปแบบต่างๆ เพื่อยืนยันข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

นอกจากอานนท์แล้ว การเขียนจดหมายถึงกษัตริย์ในกิจกรรมดังกล่าว ยังมีนักกิจกกรรมอีก 4 คน ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 เช่นเดียวกัน ได้แก่ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์, “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก และ “ลูกเกด” ชลธิชา แจ้งเร็ว ทั้งหมดมาจากการเข้าแจ้งความของประชาชนกลุ่มที่มีความเห็นต่างทางการเมือง

อานนท์ได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาคดีนี้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2563 และนับเป็นคดีมาตรา 112 คดีที่ 12 แล้วที่อานนท์ถูกฟ้องต่อศาล

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
บก.ปอท.แจ้ง “ม.112” อานนท์ กรณีโพสต์จดหมาย #ราษฎรสาสน์ ถึงรัชกาลที่ 10

X