ศาลสงขลาพิพากษาคดี ม.112 “ณัฐพล” จำคุก 3 ปี ลดเหลือ 1 ปี 6 เดือน เหตุรีทวีตข้อความเกี่ยวกับ ร.10 ก่อนให้รอลงอาญา 1 ปี

วันที่ 1 ต.ค. 2567 เวลา 09.00 น. ศาลจังหวัดสงขลานัดฟังคำพิพากษาคดีของ “ณัฐพล” (สงวนนามสกุล) ประชาชนจากกรุงเทพฯ วัย 28 ปี ในข้อหาหลัก “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) (5)

คดีนี้สืบเนื่องมาจาก ทรงชัย เนียมหอม แกนนำกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบัน ได้เป็นผู้แจ้งความกล่าวหาต่อพนักงานสอบสวน สภ.คอหงส์ จังหวัดสงขลา โดยกล่าวหาผู้ที่รีทวีตข้อความในทวิตเตอร์เกี่ยวกับในหลวงรัชกาลที่ 10 ตั้งแต่ปี 2564

ณัฐพลต้องเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปรับทราบข้อกล่าวหา เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2566 โดยเขาให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา และตำรวจได้นัดส่งตัวให้กับอัยการจังหวัดสงขลาเมื่อเดือนมกราคม 2567 หลังจากนั้นอัยการได้นัดฟังคำสั่งในแต่ละเดือนไปทั้งหมด 5 ครั้ง โดยมีการโอนสำนวนไปยังสำนักงานอัยการภาค 9 ก่อนจะมีคำสั่งฟ้องในการนัดครั้งที่ 6

ต่อมาวันที่ 18 มิ.ย. 2567 ธรรมศักดิ์ แสงจันทร์ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 ภาค 9 สั่งฟ้องคดีนี้ต่อศาลจังหวัดสงขลา ระบุว่า เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2564 จำเลยได้ใช้บัญชีทวิตเตอร์เผยแพร่โพสต์สาธารณะที่ผู้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ โดยเขียนข้อความมีใจความว่า “เคยได้ยินตอนเด็กๆ มีครูมาเม้าให้ฟัง สรุปมันจริงหวะ” และมีการรีทวีตข้อความที่โพสต์ภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 ครั้งยังไม่ได้ขึ้นครองราชย์ คู่กับผู้หญิงคนหนึ่ง  พร้อมมีเนื้อหาบรรยายที่โจทก์กล่าวหาว่ามีเจตนาจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น ใส่ความ และหมิ่นประมาทรัชกาลที่ 10 

ต่อมา ศาลจังหวัดสงขลาอนุญาตให้ประกันตัวจำเลย ให้วางหลักทรัพย์จำนวน 150,000 บาท โดยได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ 

คดีนี้ ศาลนัดสอบคำให้การและนัดตรวจพยานหลักฐานไปเมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2567 จำเลยตัดสินใจให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลจึงมีคำสั่งให้สืบเสาะและพินิจจำเลย และให้ทนายจำเลยยื่นคำแถลงการณ์ประกอบคำรับสารภาพภายใน 30 วัน ก่อนนัดฟังคำพิพากษาในวันนี้ (1 ต.ค. 2567)

.

วันนี้ (1 ต.ค. 2567) ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 205 ศาลอ่านคำพิพากษาในคดีนี้ สามารถสรุปได้ว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) และ (5) การกระทำความผิดของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 112 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ให้ลงโทษจำคุก 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุการบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน

พิเคราะห์จากรายงานการสืบเสาะและพินิจแล้ว เห็นว่า หลังเกิดเหตุจำเลยมีหนังสือยื่นขอพระราชทานอภัยโทษเนื่องจากสำนึกผิดและรู้สึกเสียใจในการกระทำ พร้อมทั้งกราบเคารพพระบรมฉายาลักษณ์เพื่อเป็นการสำนึกในการกระทำความผิด พฤติการณ์ดังกล่าวนับว่าจำเลยรู้สำนึกในการกระทำความผิดแล้ว และได้ความอีกว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาจำเลยไม่เคยเข้าร่วมกิจกรรมชุมนุมทางการเมือง หรือกิจกรรมต่อต้านการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแต่อย่างใด

เห็นว่า จำเลยกระทำความผิดในคดีนี้เพราะความคึกคะนองหลงผิดชั่วขณะ ประกอบกับไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับโทษจำคุกมาก่อน เห็นสมควรให้โอกาสจำเลยกลับตนเป็นพลเมืองดีเพื่อเป็นกำลังในการพัฒนาประเทศชาติต่อไป โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้กำหนด 1 ปี 

ให้คุมความประพฤติจำเลยมีกำหนด 1 ปี โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง ตามเงื่อนไขและระยะเวลาที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควร และให้จำเลยทำการบริการสังคมเพื่อสาธารณะประโยชน์เกี่ยวกับรักชาติ ศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรเป็นเวลา 12 ชั่วโมง 


คดีนี้นับเป็นหนึ่งในชุดคดีมาตรา 112 ซึ่งมีแกนนำกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบันเป็นผู้ไปกล่าวหาไว้ในพื้นที่จังหวัดทางภาคใต้ ซึ่งพบว่ามีการดำเนินการไม่น้อยกว่า 12 คดีแล้ว กระจายไปในหลายสถานีตำรวจ และคดีนี้เป็นคดีแรกที่มีคำพิพากษาออกมาในศาลชั้นต้น

X