ศาลฎีกาพิพากษา “บุปผา” ผู้ป่วยจิตเวช ยืนยกฟ้อง 112 แต่ลงโทษตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เฉพาะ 4 โพสต์ที่เกี่ยวกับกษัตริย์-รัชทายาท จำคุก 24 เดือน ให้รอลงอาญา

วันที่ 28 ส.ค. 2567 ศาลจังหวัดพัทยาอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีของ “บุปผา” (นามสมมติ) ผู้ป่วยจิตเวช ซึ่งถูกฟ้องในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน และข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 เหตุจากการโพสต์ภาพพร้อมข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัวระหว่างวันที่ 25 ก.พ. 2558 – 19 พ.ค. 2559 จำนวน 13 โพสต์ พาดพิงรัชกาลที่ 9 และสมาชิกราชวงศ์รายอื่น

ศาลฎีกาพิพากษาแก้ว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ตามฟ้องเฉพาะข้อ 1.5, 1.8, 1.9 และ 1.11 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป จำคุกกระทงละ 6 เดือน รวม 4 กระทง เป็นจำคุก 24 เดือน ข้อหาและฟ้องข้ออื่นให้ยก ก่อนให้รอการลงโทษและคุมประพฤติ ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 คือ รอการลงโทษมีกำหนด 3 ปี ให้จําเลยรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 6 ครั้ง ภายในระยะเวลา 2 ปี และให้รักษาอาการทางจิตเวชต่อ 

ทั้งนี้ โพสต์ที่ศาลฎีกาพิพากษาให้เป็นความผิดรวม 4 โพสต์นั้น เป็นข้อความที่เกี่ยวกับรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์ และรัชกาลที่ 10 ซึ่งเป็นรัชทายาท ณ ขณะเกิดเหตุ ส่วนอีก 9 โพสต์ที่เหลือเป็นโพสต์เกี่ยวกับสมาชิกราชวงศ์องค์อื่น ๆ

คดีนี้เดิมถูกพิจารณาลับในศาลทหาร โดยเธอถูกคุมขังในระหว่างการสอบสวนและพิจารณาคดีเป็นเวลานานเกือบ 2 ปี ก่อนที่จะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ในระหว่างการคุมขังศาลได้มีคำสั่งส่งตัวไปตรวจรักษาที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ ต่อมา หลังมีการเลือกตั้งและ คสช.ยุติบทบาทลง คดีได้ถูกโอนย้ายมายังศาลยุติธรรม แต่การสืบพยานต่อในศาลจังหวัดพัทยาก็เป็นการลับเช่นเดิม ผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าฟังการพิจารณาคดี รวมถึงในการอ่านคำพิพากษาของศาลทั้งสามชั้นก็มีคำสั่งให้ทำเป็นการลับ

เมื่อวันที่ 18 ส.ค. 2563 ศาลจังหวัดพัทยามีคำพิพากษายกฟ้องข้อหาตามมาตรา 112 แต่ลงโทษในความผิดนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จำนวน 13 กระทง จําคุกกระทงละ 6 เดือน รวมจำคุก 78 เดือน แต่เนื่องจากจำเลยไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน ให้รอการลงโทษไว้ มีกําหนด 3 ปี คุมความประพฤติจําเลยโดยให้จําเลยรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 6 ครั้ง ภายในระยะเวลา 2 ปี และให้รักษาอาการทางจิตเวชต่อ

ต่อมา ทั้งโจทก์และจำเลยยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 ในวันที่ 1 มี.ค. 2565 ศาลจังหวัดพัทยาอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ซึ่งพิพากษาแก้ว่า จำเลยมีความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น 

ทั้งโจทก์และจำเลยยื่นฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ต่อศาลฎีกา จากนั้นศาลจังหวัดพัทยาได้นัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา ในวันที่ 18 ก.ค. 2567 อย่างไรก็ตาม เนื่องจากจำเลยไม่ได้เดินทางมาศาลตามนัด ถือว่ามีพฤติการณ์หลบหนี ศาลจังหวัดพัทยาจึงมีคำสั่งให้ออกหมายจับมาฟังคำพิพากษา และเลื่อนมานัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกาในวันนี้ (28 ส.ค. 2567)

.

ในวันนี้ (28 ส.ค. 2567) เวลา 09.20 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 7 ผู้พิพากษาออกนั่งพิจารณาคดี ทนายความแถลงว่า จำเลยไม่ได้เดินทางมาศาล โดยทนายสามารถติดต่อพี่สาวจำเลยได้เมื่ออาทิตย์ก่อน ได้รับแจ้งว่าปัจจุบันจำเลยอาศัยอยู่ที่จังหวัดนครศรีธรรมราชกับพี่สาว และต้องดูแลพ่อที่แก่ชรา ไม่สามารถเดินทางมาศาลในวันนี้ได้ และขอให้ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาลับหลังจำเลย

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ศาลส่งหมายนัดให้แก่จำเลยโดยชอบแล้ว จำเลยรับทราบแต่ไม่สามารถเดินทางมาศาลได้ ถือว่ามีพฤติการณ์หลบหนี เมื่อศาลออกหมายจับเกิน 1 เดือนแล้ว ยังไม่สามารถจับตัวได้ เห็นสมควรให้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาลับหลังจำเลย

ก่อนอ่านคำพิพากษา ผู้พิพากษาได้สั่งให้บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องเป็นคู่ความออกไปจากห้องพิจารณาคดี ก่อนอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา สามารถสรุปได้ดังนี้

คดีนี้โจทก์และจำเลยฎีกา ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นที่ยุติว่า จำเลยนำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ด้วยการโพสต์ข้อความและรูปภาพลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว จำเลยเคยเข้ารับการรักษาอาการทางจิต แพทย์วินิจฉัยว่าจำเลยเป็นผู้ป่วยทางจิตเภท ชนิดหวาดระแวง อาการโดยทั่วไปจะหลงผิดเกี่ยวกับราชวงศ์ มีความคิดบิดเบือนไปจากความเป็นจริง 

ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์บรรยายอุทธรณ์ของโจทก์ไว้แล้วว่า ศาลน่าที่จะลงโทษจำเลยตามมาตรา 112 ตามฟ้องด้วย เพราะจำเลยรู้สำนึกในการกระทำ ย่อมถือว่าโจทก์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ยกฟ้องความผิดตามมาตรา 112 แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่ได้วินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงดังกล่าว เป็นการไม่ชอบ ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น

อย่างไรก็ตาม ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้เป็นคดีอาญา เมื่อจำเลยให้การปฏิเสธ โจทก์ย่อมมีหน้าที่นำพยานหลักฐานเข้าสืบให้รับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยมีเจตนาในการกระทำอันเป็นความผิดตามที่ถูกกล่าวหา แต่โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานใดมานำสืบในประเด็นดังกล่าว ข้อเท็จจริงจากพยานโจทก์กลับรับฟังได้เจือสมกับทางนำสืบจำเลยว่า จำเลยเป็นผู้ป่วยจิตเวชและมีอาการหลงผิดเกี่ยวกับราชวงศ์

พยานหลักฐานโจทก์จึงไม่เพียงพอให้ฟังได้ว่าจำเลยมีเจตนาโดยประสงค์ต่อผลหรือเล็งเห็นผลในการกระทำอันเป็นความผิดข้อหาหมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์หรือรัชทายาท ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องในความผิดข้อหาดังกล่าวนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น

จำเลยฎีกาว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า ศาลชั้นต้นปรับบทคลาดเคลื่อนไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย แล้ววินิจฉัยว่า จำเลยกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) จึงเป็นการไม่ชอบ ทั้งมิใช่การลงโทษตามที่พิจารณาได้ความ ต้องพิพากษายกฟ้องนั้น

ศาลฎีกาเห็นว่า ศาลชั้นต้นฟังว่าจำเลยไม่ทราบว่าข้อมูลที่นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์เป็นข้อมูลเท็จ จึงลงโทษเฉพาะความผิดตามมาตรา 14 (3)  จึงเท่ากับว่าศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องข้อหาตามมาตรา 14 (1) เมื่อโจทก์อุทธรณ์เพียงขอให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา 112  และขอให้ไม่รอการลงโทษจำคุกจำเลยเท่านั้น ดังนั้น ข้อหาตามมาตรา 14 (1) ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว ทั้งการยกฟ้องในข้อหาดังกล่าวก็ไม่ปรากฏว่าศาลชั้นต้นรับฟังข้อเท็จจริงในสำนวนโดยคลาดเคลื่อน จึงมิใช่การปรับบทกฎหมายคลาดเคลื่อนไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยแต่อย่างใด

ดังนั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 2 จึงไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยตามมาตรา 14 (1) ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้นเป็นการไม่ชอบ ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น แต่อย่างไรก็ดี ศาลอุทธรณ์ภาค 2  ยังมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยโดยชัดแจ้งว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ 

ศาลฎีกาเห็นว่า เฉพาะตามฟ้องข้อ 1.5, 1.8, 1.9 และ 1.11 เท่านั้น ที่โจทก์บรรยายฟ้องรวมไปด้วยว่าจำเลยนำเข้าสู่ข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ซึ่งมีพยานโจทก์เบิกความยืนยันว่ามีข้อความที่กล่าวถึงพระมหากษัตริย์และรัชทายาทในทางที่ไม่ดี  อันเป็นการที่โจทก์นำสืบข้อเท็จจริงสมฟ้องแล้ว 

แม้ศาลชั้นต้นจะวินิจฉัยแล้วว่า จำเลยไม่มีเจตนาหมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์หรือรัชทายาทก็ตาม ก็มิใช่ว่าต้องฟังว่าจำเลยไม่มีเจตนากระทำความผิดในข้อหานี้ด้วย เพราะองค์ประกอบความผิดแตกต่างกัน การพิจารณาถึงเจตนาจึงแตกต่างกันไปด้วย เมื่อในกรณีนี้จำเลยนำข้อมูลอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์โดยรับรู้และเข้าใจถึงการกระทำจึงเป็นการกระทำโดยเจตนาแล้ว 

ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตามฟ้องข้อ 1.5, 1.8, 1.9 และ 1.11 มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ส่วนที่ลงโทษตามฟ้องข้ออื่นมาด้วยไม่ชอบ อุทธรณ์จำเลยฟังขึ้นบางส่วน

ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของแพทย์ผู้ตรวจรักษาอาการป่วยของจำเลยว่า จำเลยเป็นผู้ป่วยทางจิตเวช เป็นโรคจิตเภท มีความเชื่อบิดเบือนไปจากความเป็นจริง มีอาการหลงผิดเกี่ยวกับราชวงศ์ โดยบอกว่าจำเลยเป็นรัชทายาทของรัชกาลที่ 5 จากการประเมินเชื่อว่า จำเลยเริ่มมีอาการป่วยตั้งแต่ต้นปี 2556 และแสดงอาการรุนแรงต้นปี 2559 สองคล้องกับหนังสือแจ้งประวัติการรักษา จึงเชื่อว่า จำเลยกระทำไปเพราะมีจิตบกพร่องหรือโรคจิต 

อย่างไรก็ตาม การที่จำเลยสามารถพิพม์ข้อความและนำรูปภาพเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ได้ และสามารถใช้ข้อความที่สื่อถึงความรู้สึกนึกคิดของจำเลยได้ด้วย แสดงว่าจำเลยยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง หรือบังคับตนเองได้บ้าง เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงสมควรให้โอกาสจำเลยได้รับการบำบัดรักษาเพื่อจะได้หายเป็นปกติและเป็นพลเมืองดีต่อไป ที่ศาลล่างทั้งสองรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น 

.

ศาลฎีกาพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ตามฟ้องข้อ 1.5, 1.8, 1.9 และ 1.11 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป จำคุกกระทงละ 6 เดือน รวม 4 กระทง เป็นจำคุก 24 เดือน ข้อหาและฟ้องข้ออื่นให้ยก การรอการลงโทษ การคุมความประพฤติ และนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 

ผู้พิพากษาที่ลงนามในคำพิพากษา ได้แก่ ชนากานต์ ธีรเวชพลกุล, วินิตย์ ศรีภิญโญ และ ปิยนุช มนูรังสรรค์

.

อ่านฐานข้อมูลคดี: 

บุปผา ผู้ป่วยจิตเภท คดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ (โพสต์เฟซบุ๊ก)

X