22 ต.ค. 2567 ที่ศาลอาญา รัชดาฯ มีนัดสืบพยานคดีของ “ต้นไผ่” (นามสมมติ) ซึ่งถูกฟ้องในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) กรณีถูกกล่าวหาว่าใช้บัญชีเฟซบุ๊ก “ศักดินาปรสิต – Parasite Monarchy” และบัญชีทวิตเตอร์ “Guillotine Activists for Democracy” โพสต์เนื้อหาพาดพิงรัชกาลที่ 10 ในช่วงเดือนมกราคม 2565
โดยวันนี้โจทก์นำพยานเข้าสืบ 1 ปาก และศาลไม่อนุญาตให้เลื่อนสืบพยานจำเลยตามที่ทนายจำเลยขอ อ้างเหตุว่าจำเลยไม่มาศาล ถือว่าไม่ประสงค์อ้างตนเองเป็นพยาน ส่วนพยานบุคคลที่ประสงค์จะนำเข้าสืบ ทนายจำเลยไม่ได้ระบุในบัญชีพยานว่าเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญ ทำให้ศาลและโจทก์ขาดโอกาสในการตรวจสอบความถูกต้องและความน่าเชื่อถือของพยานปากดังกล่าว จึงไม่อนุญาตให้นำสืบและไม่อนุญาตเลื่อนการสืบพยาน เมื่อจำเลยมีพยานเพียง 2 ปาก และไม่มีพยานมาในนัดสืบพยาน ถือว่าจำเลยไม่มีพยานมาสืบ คดีเสร็จการพิจารณา
.
ย้อนไปเมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2565 ต้นไผ่ได้เข้าไปรับทราบข้อกล่าวหาในคดีนี้ซึ่งเป็นคดีมาตรา 112 คดีที่ 2 ของเขา โดยคดีนี้มี พ.ต.ต.ครรชิต สีหะรอด เป็นผู้กล่าวหา
ต่อมา วันที่ 30 พ.ค. 2566 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 ได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลโดยกล่าวหาว่า ต้นไผ่โพสต์ข้อความและภาพบิดเบือน ให้ร้าย ร.10 ในช่วงเดือนมกราคม 2565 โดยโพสต์เฟซบุ๊ก 5 โพสต์ และบัญชีทวิตเตอร์ 5 โพสต์ เป็นเนื้อหาเดียวกัน และในเวลาใกล้เคียงกัน และศาลได้อนุญาตให้ประกันตัวต้นไผ่ในระหว่างพิจารณาคดี
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2567 ในนัดสืบพยานนัดแรกจำเลยไม่ปรากฏตัวต่อศาล นายประกันแถลงว่าไม่สามารถติดต่อจำเลยได้ ศาลเห็นว่าจำเลยมีพฤติการณ์หลบหนีจึงให้ออกหมายจับและเลื่อนนัดสืบพยานเป็นวันที่ 15 และ 22 ต.ค. 2567
.
ศาลเห็นว่าควรสืบพยานลับหลังจำเลย แม้ทนายคัดค้าน – ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการสืบพยานลับหลังจำเลยขัดต่อรัฐธรรมนูญ
ก่อนถึงวันนัดสืบพยานในวันที่ 15 ต.ค. 2567 ทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องคัดค้านการสืบพยานลับหลังจำเลยรวม 2 ฉบับ
อย่างไรก็ตาม วันที่ 15 ต.ค. 2567 ศาลยืนยันให้สืบพยานลับหลังจำเลยต่อไป โดยให้เหตุผลว่า จำเลยมาศาลในวันตรวจพยานหลักฐาน ทั้งยังแถลงแนวทางต่อสู้ต่อศาลแล้ว แต่เมื่อถึงนัดสืบพยานวันที่ 30 พ.ค. 2567 จำเลยไม่มาศาล ศาลได้ออกหมายจับและยังจับตัวจำเลยมาศาลไม่ได้ ถือว่าจำเลยสละสิทธิ์ที่จะเผชิญหน้ากับพยานโจทก์
ประกอบกับเมื่อพิจารณารูปคดีแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงในคดีส่วนใหญ่โจทก์และจำเลยสามารถพิสูจน์ข้อเท็จจริงด้วยพยานเอกสารและพยานวัตถุ (ภาพถ่าย) กับพยานอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก เมื่อจำเลยมีทนายความซึ่งสามารถปกป้องสิทธิของจำเลยได้อยู่แล้ว แม้ไม่มีตัวจำเลยมาศาลก็ไม่ทำให้เสื่อมเสียสิทธิที่จำเลยจะต่อสู้คดี ทั้งคดีนี้เป็นคดีอาญาต่อแผ่นดิน รัฐเป็นผู้เสียหาย หากการพิจารณาเนินช้าออกไปอีก จะทำให้เสียความยุติธรรม
ส่วนที่จําเลยยื่นคําร้องคัดค้านการพิจารณาคดีลับหลังและขอถอนทนาย ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาต อ้างเหตุว่า จําเลยยื่นคําร้องโดยไม่แสดงตัวว่าเป็นความประสงค์ของจําเลยหรือไม่
อานนท์ นำภา ทนายจำเลยจึงได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลส่งคําร้องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 172 ทวิ/1 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 29 หรือไม่ ศาลเห็นว่า คําร้องของผู้ร้องครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 212 จึงให้ส่งคําร้องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ส่วนการพิจารณาของศาลนี้ให้ดําเนินการต่อไป โดยให้รอการพิพากษาคดีไว้ชั่วคราวจนกว่าจะมีคําวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
คำร้องที่ทนายจำเลยยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญมีรายละเอียดโดยสรุปดังนี้
1. หลักการทั่วไปในการสืบพยานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 172 มีหลักว่า “การพิจารณาและการสืบพยานในศาลจะต้องกระทำโดยเปิดเผยต่อหน้าจำเลย” มาจากแนวคิดเรื่องสิทธิที่จะเชิญหน้ากับพยานหรือสิทธิที่จะถามพยานที่เป็นปฏิปักษ์ต่อตน ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Convenant on Civil and Political Rights หรือ ICCPR) ข้อ 14 (3) (D)
การพิจารณาต้องกระทำต่อหน้าจำเลยเพื่อให้จำเลยได้มีโอกาสซักค้านพยานหรือเตรียมหาพยานหลักฐานมาสืบหักล้างพยานโจทก์เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนได้ เป็นการให้โอกาสจำเลยได้ต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ และการให้จำเลยได้เผชิญหน้ากับพยานอาจทำให้พยานไม่กล้าเบิกความปรักปรำใส่ร้ายจำเลย เพราะจำเลยมีสิทธิซักค้านพยานได้
หลักนี้เป็นบทบังคับของกฎหมายที่ให้ประโยชน์แก่จำเลย แม้จำเลยจะยินยอมหรือจำเลยจะมีทนายความช่วยแก้ต่างศาลก็ไม่อาจพิจารณาคคีโดยไม่มีตัวจำเลยได้
2. คดีนี้ไม่มีผู้เสียหาย หากศาลสั่งจำหน่ายคดี ย่อมไม่ส่งผลต่อผู้เสียหาย ทำให้ผู้เสียหายไม่ได้รับการเยียวยาหรือได้รับการเยียวยาล่าช้าแต่อย่างใด การพิจารณาคดีลับหลังจำเลยตามตามมาตรา 172 ทวิ/1 นั้น มีเจตนารมณ์เพื่อให้คดีไม่ชักช้า เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมแก่ผู้เสียหายที่จะได้รับการเยียวยาอย่างรวดเร็วและเป็นธรรม แต่คดีนี้ไม่มีผู้เสียหาย อีกทั้งพยานหลักฐานล้วนเป็นหลักฐานทางคอมพิวเตอร์ซึ่งพนักงานสอบสวนได้รวบรวมไว้และอยู่ในครอบครองของโจทก์แล้ว จำเลยไม่อาจยุ่งเหยิงแทรกแซงหรือทำลายพยานหลักฐานได้ จึงขอให้ศาลให้โอกาสจำเลยได้ต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ มีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความชั่วคราว เมื่อจับจำเลยได้แล้วค่อยยกคดีขึ้นพิจารณา
3. หากศาลพิจารณาคดีนี้ต่อไปและมีคำพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยโดยไม่รอการลงโทษ ย่อมตัดสิทธิจำเลยในการอุทธรณ์คำพิพากษาและเป็นเหตุให้คดีถึงที่สุดโดยจำเลยไม่มีโอกาสต่อสู้คดีและสืบพยานหักล้างหลักฐานโจทก์ได้อย่างเต็มที่ ซึ่งคดีนี้เป็นคดีที่มีข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเกี่ยวข้องจำนวนมาก อีกทั้งมีเนื้อหาอ่อนไหวและต้องรับฟังพยานหลักฐานอย่างรอบด้าน หากพิจารณาลับหลังจำเลยย่อมไม่เป็นธรรมกับจำเลยอย่างยิ่ง
ดังนั้น การพิจารณาคคีอาญาโดยไม่มีตัวจำเลยจึงเป็นการละเมิดสิทธิของจำเลยในการที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยไม่มีความผิด ก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้ ตามมาตรา 29 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งการพิจารณาคคีอาญาโดยไม่มีตัวจำเลยเป็นการปฏิบัติต่อจำเลยเสมือนหนึ่งว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดจึงสามารถละเมิดสิทธิจำเลยโดยการพิจารณาคดีโดยไม่มีตัวจำเลยหรือลับหลังจำเลยได้นั่นเอง อันเป็นหลักการพื้นฐานที่มีบัญญัติไว้ตามหลักสากลและรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ด้วยเหตุผลดังที่กล่าวข้างต้นจึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง และวินิจฉัยว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 172 ทวิ/1 เป็นบทกฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และไม่อาจนำบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับในคดีได้
.
ศาลพิจารณาลับหลังจำเลย – ตัดพยานจำเลยทั้งหมด 2 ปาก ก่อนให้จำหน่ายคดีรอคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ
ล่าสุดวันที่ 22 ต.ค. 2567 ซึ่งศาลกำหนดเป็นนัดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลย ในห้องพิจารณามีนักศึกษาฝึกงานจากสำนักงานอัยการและประชาชนทั่วไปเข้าร่วมสังเกตการณ์การพิจารณาด้วย ส่วนจำเลยยังคงไม่มาศาล หลังศาลออกหมายจับแล้วและยังจับตัวไม่ได้
โจทก์ได้นำพยานเข้าสืบ 1 ปาก คือ พ.ต.ท.ฉัตรชัย ถาวรทรัพย์ ซึ่งถูกแต่งตั้งเป็นเลขานุการคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนคดีนี้ หลังจากสืบพยานปากดังกล่าวเสร็จ อัยการโจทก์แถลงว่า โจทก์หมดพยานแล้ว
ทนายจำเลยได้แถลงต่อศาลว่า ในนัดตรวจพยานหลักฐานฝ่ายจำเลยระบุว่าติดใจที่จะสืบพยาน 2 ปาก คือจำเลยอ้างตนเองเป็นพยาน 1 ปาก และพยานบุคคลอีก 1 ปาก โดยประสงค์จะสืบพยานจำเลยก่อนและสืบพยานผู้เชี่ยวชาญภายหลัง เนื่องจากในวันนี้ยังไม่สามารถจับตัวจำเลยได้ ขอให้เลื่อนนัดสืบพยานจำเลยไปก่อน
หลังทนายจำเลยแถลง ศาลได้พิจารณาตัดพยานทั้งสองของจำเลย โดยระบุว่า จำเลยได้แจ้งตั้งแต่ชั้นตรวจพยานหลักฐานว่าจะอ้างตนเองเป็นพยาน จำเลยจึงต้องมาเป็นพยานด้วยตนเอง เมื่อจำเลยไม่มาศาลถือว่าไม่ประสงค์อ้างตนเองเป็นพยาน
ในส่วนพยานบุคคลที่ทนายอ้างว่าเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญนั้น ศาลเห็นว่า จำเลยแสดงความประสงค์จะอ้างความเห็นของพยาน เมื่อจำเลยไม่ได้ระบุในบัญชีพยานว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญ ทำให้ศาลและโจทก์ขาดโอกาสในการตรวจสอบความถูกต้องและความน่าเชื่อถือของพยานปากนี้ จึงไม่อนุญาตให้นำสืบและไม่อนุญาตให้เลื่อนการสืบพยานออกไปเพื่อรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อจำเลยมีพยานเพียง 2 ปาก และไม่มีพยานมาในนัดสืบพยานในวันนี้ ถือว่าจำเลยไม่มีพยานมาสืบ คดีเสร็จการพิจารณา
ศาลแจ้งว่า เนื่องจากคดีอยู่ระหว่างส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการพิจารณาคดีและการสืบพยานลับหลังจำเลยชอบด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งไม่เป็นที่แน่นอนว่าจะมีคำวินิจฉัยเมื่อใด จึงให้จำหน่ายคดีชั่วคราว เมื่อได้รับคำวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญจะรีบแจ้งคู่ความและทนายให้ทราบกำหนดนัดฟังคำพิพากษา
.
สำหรับต้นไผ่ ถูกดำเนินคดีกรณีถูกกล่าวหาว่าโพสต์เนื้อหาเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ซึ่งมีทั้งข้อความวิพากษ์วิจารณ์การใช้ภาษีประชาชนและพระราชจริยวัตรของรัชกาลที่ 10 รวม 2 คดี โดยในอีกคดี ศาลอาญากำหนดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยลับหลังเช่นเดียวกับคดีนี้ในวันที่ 19 พ.ย. และ 6 ธ.ค. 2567
จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน นับตั้งแต่เริ่มมีการเผยแพร่รายชื่อผู้ถูกดำเนินคดีประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2563 มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุมทางการเมืองในข้อหาตามมาตรา 112 แล้วอย่างน้อย 275 คน ใน 307 คดี
.
ดูสถิติผู้ถูกดำเนินคดี
สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-66
ดูฐานข้อมูลคดีนี้
คดี 112 “ต้นไผ่” ถูกสันติบาลกล่าวหาคดีที่ 2 อ้างโพสต์เฟซบุ๊ก-ทวิตเตอร์ 10 โพสต์ ใส่ร้าย ร.10