22 ส.ค. 2567 เวลา 13.44 น. ที่สถานีตำรวจภูธรเมืองพัทลุง “ฟ้า” พรหมศร วีระธรรมจารี นักกิจกรรมจากกลุ่มราษฎรมูเตลู เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกในฐานความผิด “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ สืบเนื่องจากถูกกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัววิจารณ์กลุ่มปกป้องสถาบัน โดยกล่าวพาดพิงถึงรัชกาลที่ 10 เมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2565
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2567 พรหมศรได้รับหมายเรียกครั้งที่ 2 ลงวันที่ 25 ก.ค. 2567 ซึ่งออกโดย ร.ต.อ.วัลลพ ยั่งยืน รองสารวัตร (สอบสวน) สภ.เมืองพัทลุง ให้ไปรับทราบข้อกล่าวหามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ในวันที่ 13 ส.ค. 2567 โดยในหมายเรียกระบุว่ามี “ทรงชัย เนียมหอม” แกนนำกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบัน (ปภส.) เป็นผู้กล่าวหา
พรหมศรได้ติดต่อทนายความ พร้อมกับแจ้งขอเลื่อนวันเข้ารับทราบข้อกล่าวหา เนื่องจากไม่สะดวกตามวันเวลาดังกล่าว ก่อนที่จะนัดหมายเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในวันนี้
พรหมศรซึ่งเดินทางจากกรุงเทพมหานคร พร้อมกับทนายความ เข้าพบ ร.ต.อ.วัลลพ ยั่งยืน พนักงานสอบสวน ซึ่งได้แจ้งพฤติการณ์ในคดีให้พรหมศรทราบ มีสาระสำคัญโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2565 ทรงชัย เนียมหอม ผู้กล่าวหา ได้เข้าใช้เฟซบุ๊กและพบผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กชื่อ “พรหมศร วีระธรรมจารี” โพสต์ข้อความเมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2565 พาดพิงถึงกษัตริย์รัชกาลที่ 10 จำนวน 1 โพสต์
ผู้กล่าวหาเห็นว่า ข้อความดังกล่าวเป็นข้อความอันเป็นเท็จ ล่วงละเมิดองค์พระมหากษัตริย์ โดยมีเจตนาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น และใส่ร้ายพระมหากษัตริย์ให้ต้องเสื่อมเสียพระเกียรติยศอย่างร้ายแรง และนำข้อมูลที่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริง หรือข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ผู้กล่าวหาจึงได้มาพบพนักงานสอบสวนเพื่อแจ้งความให้ดำเนินคดีกับพรหมศร เจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าว
จากนั้นพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหา “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์, ทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจาหรือวิธีอื่นใดอันไม่ใช่เป็นการกระทำในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างเดื่องในหมู่ประชาชน, ใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง โดยการโฆษณา และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน” อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, 116, 328 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1)
ด้านพรหมศร ได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา หลังจากนั้นเจ้าพนักงานสอบสวนได้สอบคำให้การเกี่ยวกับบัญชีผู้ใช้งานและการโพสต์ข้อความดังกล่าว พรหมศรแจ้งว่าประสงค์ที่จะให้การในชั้นศาล ต่อมา พนักงานสอบสวนได้ให้พิมพ์ลายนิ้วมือและลงบันทึกประจำวันไว้ แต่ไม่ได้ขอตรวจสอบโทรศัพท์ของพรหมศรแต่อย่างใด ก่อนปล่อยตัวพรหมศร โดยไม่ได้มีการควบคุมตัวหรือนำไปขอฝากขังต่อศาล แจ้งเพียงว่าจะนัดหมายมาส่งตัวให้อัยการต่อไป
.
จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน นับตั้งแต่เริ่มมีการเผยแพร่รายชื่อผู้ถูกดำเนินคดีประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2563 มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุมทางการเมืองในข้อหาตามมาตรา 112 แล้วอย่างน้อย 272 คน ใน 305 คดี โดยปัจจุบัน “ฟ้า” พรหมศร วีระธรรมจารี ถูกดำเนินคดีในข้อหาตามมาตรา 112 คดีนี้เป็นคดีที่ 6
และในกรณีกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบัน ได้ดำเนินการแจ้งความคดีมาตรา 112 จำนวนมากไว้ในพื้นที่จังหวัดทางภาคใต้ โดยใช้วิธีการกล่าวหากระจายไปในหลายสถานีตำรวจ เบื้องต้นพบว่ามีผู้ถูกแจ้งข้อหาแล้วไม่น้อยกว่า 10 คดี อาทิที่ สภ.ตะโหมด จ.พัทลุง, สภ.ทะเลน้อย จ.พัทลุง, สภ.ควนขนุน จ.พัทลุง, สภ.คอหงส์ จ.สงขลา รวมถึง สภ.เมืองพัทลุง ในคดีนี้ด้วย
.
สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-67