“ทุกคนย่อมรักสิ่งที่ใกล้ชิดตน,
แต่สิ่งที่อยู่ห่างไกลก็ย่อมเหมือนอยู่ใกล้ชิด
ถ้าหากหัวใจของเราใหญ่พอ.
แม่ต้องทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้
เพราะแม่มีความรักของแม่
อันใหญ่หลวงอยู่ในเรือนร่าง.”
ส่วนหนึ่งจากนวนิยายเรื่องแม่ ของแมกซิม กอร์กี้ แปลโดย จิตร ภูมิศักดิ์ วรรณกรรมบอกเล่าสถานะ ‘แม่’ ผู้ที่เป็นกรรมกรและทำงานหนักในโรงงาน จนได้มาต่อสู้ทางการเมืองกับเหล่าผู้ยากไร้และลูกชายของเธอ ที่ไม่ต่างนักกับ ‘มาลัย นำภา’ สตรีชาวร้อยเอ็ด อดีตคนงานโรงงาน ผู้เฝ้ารอการกลับมาของลูกชาย ยิ่งในวันเวลาที่ต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำครั้งแล้วครั้งเล่าจากเหตุแสดงออกทางการเมือง
26 ก.ย. 2567 ครบรอบ 1 ปี ที่อานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชนและนักกิจกรรมทางการเมือง ต้องสูญเสียอิสรภาพหลังจากเริ่มถูกศาลพิพากษาให้จำคุกในคดีมาตรา 112 จากการชุมนุมเมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2563 ก่อนที่จะเผชิญคำพิพากษาในข้อหาเดียวกันนี้มาอย่างต่อเนื่องในช่วงปีที่ผ่านมา ขณะนี้มีโทษจำคุกโดยที่ทุกคดียังไม่สิ้นสุดรวมกว่า 14 ปี และการคุมขังเขาก็เนิ่นยาวออกไปจากครั้งก่อน ๆ ทำให้มันเป็นช่วงเวลาไม่ง่ายนักของคน ๆ หนึ่งในการต้องห่างไกลจากครอบครัวและต้องใชัชีวิตในรั้วกำแพงสูง
“ก็ต้องอดทน รอลูกกลับมา เราต้องกินข้าวเยอะ ๆ หายใจลึก ๆ รักษาสุขภาพ ทำตัวให้ร่าเริง ถึงจะร้องไห้ก็ช่างมัน อย่าเพิ่งตาย รอลูกก่อน”
.
“คงมีอะไรกำหนดให้ลูกเราเป็นอย่างนั้น”
วันหนึ่งในปี 2527 ขณะกำลังตั้งครรภ์ หญิงสาวชวนคนรักไปดูหนังที่ย่านราชเทวี วันนั้นโรงภาพยนตร์ฉายเรื่อง ‘เจ้าสาวของอานนท์’ กำกับโดยรุจน์ รณภพ แสดงนำโดย ไพโรจน์ สังวริบุตร และ จารุณี สุขสวัสดิ์
จากนั้นไม่กี่เดือน เมื่อกลับไปคลอดลูกที่จังหวัดร้อยเอ็ด ด้วยความประทับใจในชื่อตัวละครเอกของเรื่อง ‘อานนท์’ จึงกลายเป็นชื่อลูกชายคนแรกของเธอ
มาลัยในช่วงวัยสาว ก็เหมือนชาวอีสานทั่วไปที่ต้องออกไปแสวงหาชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีกว่าบ้านเกิด จากร้อยเอ็ดเข้ากรุงเทพฯ เริ่มทำงานทั้งเป็นแม่บ้าน ต่อมาทำงานโรงงานเย็บผ้า เปลี่ยนที่อยู่หลายครั้ง ตั้งแต่ย่านลาดกระบัง ลาดพร้าว จนมาถึงดอนเมือง จะมีช่วงได้กลับบ้านตอนมีงานบุญประจำปี หรือกลับมาหาลูกบ้างนาน ๆ ครั้ง
เธอเล่าว่าตอนอานนท์เกิดปีแรก ๆ ได้กลับมาอยู่บ้านเพื่อเลี้ยงลูก และกลับมาทำไร่นาบ้าง แต่เมื่อลูกถึงวัยเข้าโรงเรียนที่ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ก็ต้องกลับเข้าเมืองหลวงไปทำงาน โดยฝากอานนท์กับน้องอีกสองคนที่เกิดตามติดกันมาไว้กับตาและยาย จะมีบ้างช่วงโรงเรียนปิดเทอมได้มารับลูกไปอยู่กรุงเทพฯ ด้วย
โรงเรียนบ้านหวายหลึม ในอำเภอธวัชบุรี (ภายหลังแยกเป็นอำเภอทุ่งเขาหลวง) คือสถานศึกษาแห่งแรกของอานนท์ แม้ในวันที่แม่ไม่ได้อยู่เคียงข้างกับเขา แต่ลูกชายของมาลัยก็เป็นเด็กเรียนดีตั้งแต่แรกเข้า สอบไล่ได้ที่ 1 แทบจะทุกเทอม หลังจบชั้นประถม ไปสอบเข้าเรียนต่อที่ร้อยเอ็ดวิทยาลัย อันเป็นโรงเรียนประจำจังหวัด
กระทั่งความมุ่งมั่นทั้งทางเรียนและทางกิจกรรม อานนท์ถูกเลือกให้เป็นประธานโรงเรียน จนฤดูกาลสอบเข้ามหาวิทยาลัยมาถึง การสอบเอ็นทรานซ์ปี 2546 เขาไม่ทำให้แม่ผิดหวัง หลังสอบติดคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่เขาใช้ชีวิตที่ธรรมศาสตร์ได้ระยะหนึ่ง ก่อนตัดสินใจออกมาเรียนกฎหมายเพียงอย่างเดียว ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง
“เราไม่ค่อยได้อยู่กับลูกเลยทั้งตอนเรียนประถม มัธยม หรือมหาลัยฯ ทั้งหมดแม่ไม่เคยถามว่าจะไปสอบเข้าอะไร แล้วแต่อานนท์” แต่สิ่งที่สัมผัสจากลูกชายคนนี้คือ เขาชอบเขียนหนังสือ เขียนบทกลอน และไม่ชอบความอยุติธรรมโดยเฉพาะหากมันเกิดกับผู้คนที่เปราะบางในสังคม
หลังจบนิติศาสตร์บัณฑิต และประกาศนียบัตรเนติบัณฑิต ที่สร้างความภูมิใจให้แม่มาก มาลัยคิดเพียงว่าลูกจะเป็นทนายความเหมือนทนายทั่ว ๆ ไป “เคยพูดหยอกล้อว่าเป็นทนายมีเงินเดือนไหม เขาบอกว่าไม่มี ไม่มีแล้วจะอยู่ยังไง เขาบอกก็อยู่ไปอย่างนี้ แล้วทนายมีรับใต้โต๊ะไหม เขาก็บอกจะเอาทำไม แค่นี้คนก็เดือดร้อนแล้ว แล้วจะกินอะไรในเมื่อเรียนหนังสือมา เขาก็บอกเดี๋ยวจะมีมาเอง จะไปเรียกร้องคนอื่นทำไมในเมื่อเขาก็เดือดร้อน” จากประโยคสนทนานั้นทำให้เธอเข้าใจทิศทางชีวิตลูกชายมากขึ้น
“หรือแม้แต่ไปช่วยจำเลยคนที่ยากจน ทั้งซื้อข้าวให้กิน และยังให้เงินเขากลับบ้าน เพราะสงสาร ความรับรู้ของแม่ในตอนนั้น การเป็นทนายคือมีคนมาหาแล้วได้เงินได้ทอง แต่อานนท์ทำอย่างนี้ บางทีก็เขาพูดติดตลกว่าได้ช่วยคนแล้วคงได้บุญแล้ว”
ก่อนผู้เป็นแม่เริ่มรับรู้ว่าอานนท์ทำหน้าที่เป็นทนายความให้กลุ่มคนเสื้อแดง ต่อมาทราบอีกทีก็กลายเป็นนักกิจกรรมร่วมกับกลุ่มพลเมืองโต้กลับในช่วงหลังรัฐประหารปี 2557 กระทั่งลูกชายเริ่มปราศรัยในเวทีการชุมนุมแฮร์รี่ พอตเตอร์ เมื่อปี 2563 ชีวิตลูกชายคนนี้ก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
มาลัยยอมรับว่าเห็นลูกชายจับไมค์แล้วรู้สึกตกใจทุกที กลัวเขาจับลูก “แต่คิดว่าห้ามคงไม่ฟัง คงมีอะไรกำหนดให้ลูกเราเป็นอย่างนั้น และทุกอย่างที่เขาเลือกทำคงคิดมาดีแล้ว”
.
“เขาคงจะคิดถึงลูกตัวเอง เหมือนแม่ที่คิดถึงลูก”
“แม่มองไม่เห็นเลย ปาเวล ว่าที่ลูกทำอยู่นี้ ทำไมถึงจะเป็นสิ่งที่อันตราย ทำไมถึงจะต้องเป็นของต้องห้าม ก็ลูกไม่ได้ทำผิดคิดร้ายอะไรสักหน่อย” (ข้อความอีกตอนจากนวนิยายเรื่อง “แม่”)
ปัจจุบัน มาลัย อายุ 59 ปี ตอนนี้กลับไปอาศัยอยู่บ้านที่ จ.ร้อยเอ็ด โดยอยู่กับยายผู้ที่เลี้ยงอานนท์มาตั้งแต่เด็ก ๆ ช่วงจะครบรอบ 1 ปีในเรือนจำ เธอได้ไปหาลูกบ้างตอนที่เขาถูกเบิกตัวมาพิจารณาคดีที่ศาล ล่าสุดที่เจอก็บอกว่า คงไม่ได้ไปหาบ่อย ๆ ดูแลตัวเองดี ๆ แม่ไม่ได้มาหาง่าย
“ตอนนี้คิดถึงก็ดูในโทรศัพท์เอา คิดไปทุกอย่างว่าเขาจะอยู่ในนั้นยังไง ตอนไหนจะได้ออกมาหาลูกเมีย เขามีลูก เขาคงจะคิดถึงลูกเขาเหมือนกัน เหมือนแม่ที่คิดถึงลูก”
ยิ่งฝนตกฟ้าร้องทีไรยิ่งต้องคิด “แม่เป็นห่วงกลัวเขาฆ่าหรือวางยา เพราะเห็นแต่ข่าวตายแบบปริศนา แต่เขาก็บอกว่าอยู่ได้ ตอนกินก็ได้กิน ได้อ่านหนังสือ แค่ไม่ได้ออกมาข้างนอก”
ในความเป็นแม่ของผู้ต้องขังคดีทางการเมือง มาลัยบอกว่าเป็นห่วงผู้ต้องขังทุกคน ทั้งคนที่ต้องลี้ภัยและคนยังอยู่ในประเทศ คนอยู่ในเรือนจำก็คิดถึง คิดว่าหากคนข้างในได้รับรู้ว่าคนข้างนอกยังห่วงหา ก็น่าจะทำให้พวกเขามีกำลังใจ ตอนเจอกันล่าสุดกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา “แม่ก็บอกอานนท์เพียงว่าแม่มาเจอได้แค่วันนี้ แต่เขาก็บอกว่าไม่เป็นไร ยามว่างค่อยลงมา ฝากดูแลคุณยายด้วย”
ในความรู้สึกของแม่ อานนท์น่าจะคิดหนักเรื่องลูก ทั้งลูกที่เข้าโรงเรียนแล้วกับลูกที่ยังเล็ก เหมือนหลายสิบปีก่อนตอนที่เธออยู่กรุงเทพฯ แล้วไม่ได้อยู่กับลูก กินข้าวเย็นเสร็จไปอยู่บนดาดฟ้า ร้องไห้คิดถึงลูก แต่จะกลับก็ไม่ได้เพราะต้องหาเงินส่งให้ลูกเรียน สิ่งที่ทำได้วันนั้นคงเหมือนวันนี้คือเปิดอ่านข้อความ แล้วดูภาพเขาต่างหน้า
มาลัยเล่าอีกว่าวันดีคืนดี ที่แอบร้องไห้ “หลาน ๆ จะถาม ย่า ๆ ไหวไหม ๆ หลานยังรู้ และไม่ชอบตำรวจเพราะไปจับลุงเขา ลุงทำอะไรผิด ไม่ได้ฆ่าใครตาย สงสัยเห็นว่าลุงพูดความจริง หลานก็ช่างถามอีกว่าพูดความจริงทำไมต้องจับ แล้วเราไม่ควรพูดความจริงเหรอย่า”
ถึงที่สุดสิ่งเดียวที่ปรารถนาคืออยากให้ลูกออกมาไว ๆ “แม่คิดถึงและเป็นห่วง อยู่ไหนก็รักและเป็นห่วงเหมือนเดิม อานนท์คงจะเข้าใจแม่ เพราะตอนนี้ก็มีลูกเหมือนกัน”
.
“อีกนานไหมเราถึงจะได้มาอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากัน”
ในโอกาสครบ 1 ปี ที่อานนท์ นำภา ลูกชายคนโตต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำ เพียงเพราะแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในประเด็นต้องห้ามของประเทศนี้ ในความระลึกถึงจากผู้เป็นแม่ มาลัย แปรความคิดถึงเหล่านั้น จารจดเป็นตัวอักษร บอกเล่าสู่สาธารณะ และหวังอย่างยิ่งว่าข้อความเหล่านั้นจะไปถึงผู้ที่เธอต้องการให้รับรู้ที่สุด
“นานแล้วที่แม่ไม่ได้ไปเยี่ยมลูก ขอให้ลูกรู้ว่าแม่คนนี้เป็นห่วง คิดถึงลูกตลอดเวลา ตอนเช้าแม่ตื่นขึ้นมาก็คิดว่าลูกแม่จะได้กินข้าวหรือเปล่า กินกับอะไร เวลานอนจะนอนยังไง ตอนที่ลูกเข้าไปอยู่ในเรือนจำครั้งแรกก็ไม่เท่าไหร่ แต่ตอนนี้ลูกมีทั้งลูกสาว ลูกชาย ลูกชายตัวเล็ก ๆ ที่มาหาพ่อที่ศาลก็คงจะคิดถึงลูกมากเหมือนแม่คนนี้นี่แหละ คิดถึงลูกนะ แม่ไม่ได้ไปเยี่ยมลูกเพราะไม่มีใครอยู่กับยายและหลานต้องไปโรงเรียน แม่หวังว่าลูกคงเข้าใจแม่
“อีกนานไหมเราถึงจะได้มาอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากัน เหมือนตอนลูกยังเล็กอยู่ ตอนนั้นลูกอยู่โรงเรียนชั้นประถมกับน้อง ๆ พอถึงหน้าเกี่ยวข้าว ลูกก็ช่วยแม่กับตานวดข้าว เสร็จแล้วก็พากันกลับบ้าน เราทำอย่างนี้เป็นประจำจนลูกโต ลูกก็ไปเรียนต่อกรุงเทพฯ เวลาบ้านเรามีงานประจำปีลูกก็มา เช่นบุญบั้งไฟ เราได้มาอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากัน กินรำร้องเพลงอย่างสนุกสนาน แม่เห็นลูกมีความสุขแม่ก็สุขไปด้วย แต่ตอนนี้ลูกของแม่อยู่ในเรือนจำ
“ช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมาแม่ได้รับกำลังใจจากคนรอบข้าง ที่สำคัญก็คือคนในครอบครัว ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน สิ่งที่ทำให้ใช้ชีวิตทุกวันนี้ได้คือ การอยากเห็นลูกหลานที่มีอนาคตที่ดีกว่านี้ แม่อยากจะบอกสังคมว่า ขอบคุณทุกคน ลุง ป้า น้า อา แม่ ๆ ทุกคน รวมถึงนักข่าว ที่ไม่เคยลืมลูกของแม่ ขอบคุณมากค่ะ
รักและเป็นห่วงลูกเสมอ
แม่มาลัย นำภา
8 กันยายน 2567