เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2567 ศาลจังหวัดนนทบุรีนัดฟังคำพิพากษาในคดีของ “ไบรท์” ชินวัตร จันทร์กระจ่าง นักกิจกรรมในจังหวัดนนทบุรี ซึ่งถูกฟ้องในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต จากกรณีปราศรัยมีเนื้อหาเกี่ยวกับประเด็นการโอนย้ายทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ มาเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ ระหว่างกิจกรรม “ยืนหยุดขัง” ที่ท่าน้ำนนทบุรี เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2565 โดยศาลลงโทษจำคุก 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ จึงลดโทษให้เหลือจำคุก 1 ปี 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา
.
ศาลจำคุกอีก 3 ปี ก่อนลดเหลือ 1 ปี 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา
สำหรับเหตุคดีนี้ ในช่วงวันเกิดเหตุ กลุ่มของชินวัตรได้ทํากิจกรรม “ยืนหยุดขัง” ที่บริเวณวงเวียนหอนาฬิกา ท่าน้ำนนทบุรี และได้นําแผ่นกระดาษที่เขียนข้อความ “ยกเลิก 112” และภาพของผู้ต้องขังทางการเมืองวางไว้บริเวณรอบวงเวียน โดยไบรท์ได้ใช้เครื่องขยายเสียงแบบไมล์ลอยพูดปราศรัยระหว่างกิจกรรม เป็นที่มาของการถูกกล่าวหาดำเนินคดีจากเนื้อหาคำปราศรัยดังกล่าว
ภายหลังถูกสั่งฟ้องคดี ก่อนหน้าการเริ่มสืบพยานเมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2567 ไบรท์ได้เปลี่ยนคำให้การเป็นรับสารภาพตามฟ้อง ศาลจึงสั่งสืบเสาะและพินิจพฤติการณ์จำเลยเพิ่มเติม พร้อมนัดฟังคำพิพากษาเมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2567 แต่ในวันดังกล่าว ไบรท์ถูกเบิกตัวจากเรือนจำไปศาลในคดีอื่น ทำให้ศาลจังหวัดนนทบุรีเลื่อนฟังคำพิพากษาออกมา
ในวันฟังคำพิพากษา ไบรท์ถูกเบิกตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาศาล ศาลได้อ่านคำพิพากษา โดยเห็นว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้อง ลงโทษในข้อหาตามมาตรา 112 จำคุก 3 ปี ส่วนข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานนั้น ระหว่างพิจารณาได้มี พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 ใช้บังคับ ความผิดดังกล่าวจึงเปลี่ยนจากความผิดทางอาญา เป็นความผิดทางพินัย จึงให้ลงโทษปรับเป็นพินัย 200 บาท
จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน ปรับเป็นพินัย 100 บาท โดยให้ชำระค่าปรับภายใน 30 วัน ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษจำคุกต่อจากโทษจำคุกในคดีชุมนุม “19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร” ซึ่งจำเลยถูกฟ้องที่ศาลอาญานั้น เนื่องจากคดีดังกล่าว ศาลยังไม่ได้มีคำพิพากษา จึงไม่อาจนับโทษต่อได้ ให้ยกคำขอในส่วนนี้
.
พิพากษาคดี 112 ของไบรท์ในศาลชั้นต้นครบทุกคดีแล้ว รวมโทษจำคุก 15 ปี 24 เดือน
สำหรับคดีนี้นับเป็นคดีมาตรา 112 คดีที่ 8 ของไบรท์ที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาออกมา ซึ่งเป็นคดีสุดท้ายที่เขาถูกกล่าวหาแล้ว หลังไบรท์เปลี่ยนมาให้การรับสารภาพในทุกคดี โดยมีเพียงคดีเดียวที่ศาลให้รอลงอาญา ได้แก่ กรณีปราศรัยที่หน้าศาลอาญากรุงเทพใต้
ส่วนอีก 7 คดี ศาลลงโทษจำคุกโดยไม่รอลงอาญาทุกคดี ได้แก่ คดีชุมนุม #2ธันวาไปห้าแยกลาดพร้าว ศาลอาญาลงโทษจำคุก 3 ปี, คดีชุมนุม #25พฤศจิกาไปSCB ศาลอาญาลงโทษจำคุก 3 ปี, คดีปราศรัยหน้า สน.บางเขน ศาลอาญาลงโทษจำคุก 1 ปี 6 เดือน, คดีชุมนุม #ม็อบ29พฤศจิกา63 “ปลดอาวุธศักดินาไทย” ศาลอาญาลงโทษจำคุก 3 ปี, คดีให้สัมภาษณ์สื่อที่หน้าสำนักงานอัยการสูงสุด ศาลอาญาลงโทษจำคุก 1 ปี 6 เดือน, คดีร่วมกิจกรรมและร้องเพลงโชคดีที่มีคนไทย ศาลอาญากรุงเทพใต้ลงโทษจำคุก 3 ปี 6 เดือน และล่าสุดคือคดีที่ศาลจังหวัดนนทบุรีคดีนี้ ลงโทษจำคุก 1 ปี 6 เดือน (โทษหลังลดหย่อนแล้วทุกคดี)
หากนับโทษทุกคดีที่ไม่รอลงอาญาต่อกัน ไบรท์ถูกลงโทษจำคุกไปรวมแล้ว 15 ปี 24 เดือน (คิดเป็นเกือบ 17 ปี) แต่ทั้งนี้ยังต้องตรวจสอบข้อมูลโทษรวมทั้งหมดของชินวัตรต่อไป เนื่องจากมีบางคดี ศาลไม่ได้สั่งให้นับโทษต่อจากคดีอื่น อีกทั้งในแต่ละคดีนั้น ยังไม่สิ้นสุดลง เนื่องจากไบรท์ประสงค์ที่จะอุทธรณ์คำพิพากษาต่อไป
ทั้งนี้ ไบรท์ถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาตั้งแต่วันที่ 29 ก.พ. 2567 หลังไม่ได้ประกันตัวชั้นอุทธรณ์ในคดีปราศรัยในการชุมนุม #25พฤศจิกาไปSCB และต่อมาทยอยถูกพิพากษาจำคุกเพิ่มในคดีอื่น ๆ เพิ่ม โดยหากรวมโทษจำคุกในทุกคดีแล้วมากกว่า 15 ปี เขาอาจจะถูกย้ายตัวไปคุมขังที่เรือนจำกลางคลองเปรมตามกฎของเรือนจำอีกด้วย
.