ศาลยกฟ้องข้อหา พ.ร.บ.ชุมนุมฯ-ขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน คดี 12 นักกิจกรรมเดินขบวน “ไซอิ๋วตะลุยเอเปค” แต่ปรับพินัย 500 บาท ฐานกีดขวางจราจร

15 ก.ค. 2567 เวลา 09.00 น. ศาลแขวงปทุมวันนัดฟังคำพิพากษาคดีของนักกิจกรรมจำนวน 12 ราย ซึ่งถูกฟ้องในข้อหา ฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ, พ.ร.บ.จราจรฯ และขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน จากกรณีเข้าร่วมกิจกรรม “ไซอิ๋วตะลุยเอเปค” เดินถือป้ายประท้วงนโยบายจีนเดียวของรัฐบาลจีน และต่อต้านบรรดาผู้นำเผด็จการที่เข้าร่วมประชุม APEC2022 เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2565 บริเวณถนนเยาวราช

ศาลพิพากษาว่า จำเลยทั้งสิบสองมีความผิดทางพินัยตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ ปรับเป็นพินัยคนละ 500 บาท แต่ยกฟ้องความผิดตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ โดยเห็นว่าการเดินขบวนดังกล่าวไม่ถือเป็นการชุมนุมสาธารณะ ไม่มีการเชิญชวนให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วม และยกฟ้องความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงาน เนื่องจากเห็นว่าพนักงานสอบสวนสามารถรวบรวมหลักฐานผ่านวิธีการอื่นได้ จึงไม่มีความจำเป็นต้องใช้วิธีพิมพ์ลายนิ้วมือ

คดีนี้มี พ.ต.ท.ณัฐวุฒิ สุขวัต กับพวก เป็นผู้กล่าวหา โดยตำรวจได้ออกหมายเรียกลงวันที่ 17 ก.ค. 2566 กับนักกิจกรรมทั้ง 12 ราย ได้แก่ “ตะวัน” ทานตะวัน ตัวตุลานนท์, “แบม” อรวรรณ, “สายน้ำ”, ออย สิทธิชัย, อาย กันต์ฤทัย, แก๊ป จิรภาส, รณกร, ณัฐพร, นรินทร์, สุชาติ, สมชาย คำนะ และ สมพร

เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2566 ทั้ง 12 คน ได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหา ฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ และ พ.ร.บ.จราจรฯ ที่ สน.พลับพลาไชย 2 โดยนักกิจกรรมทั้งหมดได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และปฏิเสธลงลายมือชื่อในบันทึกประจำวัน บันทึกคำให้การ และไม่ยินยอมพิมพ์ลายนิ้วมือ ทำให้ตำรวจแจ้งข้อกล่าวหา ฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 เพิ่มอีก 1 ข้อหา

วันที่ 7 พ.ย. 2566 พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องคดีของนักกิจกรรมจำนวน 11 คน ยกเว้น “สายน้ำ” โดยฟ้องใน 3 ข้อหา ได้แก่ 1. ฝ่าฝืน พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ มาตรา 16 (1) (8), 2. ฝ่าฝืน พ.ร.บ.จราจรฯ และ  3. ขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน ส่วนสายน้ำติดธุระในวันดังกล่าว จึงไม่ได้เดินทางมาพร้อมกับเพื่อนนักกิจกรรม อัยการจึงได้นัดหมายส่งฟ้องคดีของสายน้ำในวันที่ 13 พ.ย. 2566 และพิจารณาคดีร่วมกัน

คดีนี้มีการสืบพยานต่อสู้คดีไปในช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน 2567  โดยจำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ก่อนศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 15 ก.ค. 2567

วันนี้ (15 ก.ค. 2567) จำเลยทั้ง 12 คน ทยอยเดินทางมารอฟังคำพิพากษาที่ห้องพิจารณาคดีที่ 710 พร้อมกับเพื่อนนักกิจกรรมและประชาชนที่เดินทางมาให้กำลังใจด้วย

ต่อมา ศาลออกพิจารณาคดี และเริ่มอ่านคำพิพากษา มีใจความสำคัญโดยสรุปว่า คดีนี้มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกว่าจำเลยทั้งสิบสองกระทำความผิดตาม พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 และ พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 หรือไม่

พยานโจทก์เบิกความไปในทำนองเดียวกันว่า เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2565 เวลาประมาณ 21.00 – 22.00 น. จำเลยทั้งสิบสองคนได้ร่วมกันเดินขบวนคัดค้านการประชุมผู้นําเขตเศรษฐกิจเอเปค (การประชุม APEC) ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ จัดการประชุมระหว่างวันที่ 18-19 พ.ย. 2565 อันเป็นการร่วมการชุมนุมสาธารณะ โดยได้ร่วมกันจัดแถวเดินขบวน พร้อมถือป้ายตะโกนถ้อยคำ เช่น “STOP APEC” ไปตามถนนผดุงด้าว ถนนเยาวราช และถนนแปลงนาม ซึ่งในขณะนั้นมีการจราจรหนาแน่น ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจร ทําให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเกินสมควร และเกิดความไม่สะดวกที่จะใช้ถนนทางสาธารณะดังกล่าวในการเดินทางสัญจร อีกทั้งยังไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย

เห็นว่า ทางนำสืบของโจทก์ได้ความเพียงว่า จำเลยทั้งสิบสองได้ร่วมกันเดินขบวนเพื่อแสดงความคิดเห็นคัดค้านการประชุมผู้นําเขตเศรษฐกิจเอเปค (การประชุม APEC) ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ จัดการประชุมระหว่างวันที่ 18-19 พ.ย. 2565 พร้อมถือป้ายตะโกนถ้อยคำ เช่น “STOP APEC” ไปตามถนนผดุงด้าว ถนนเยาวราช และถนนแปลงนาม ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจร จำเลยทั้งสิบสองจึงมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 108, 148

แต่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยทั้งสิบสองได้เข้าร่วมเดินขบวนดังกล่าว โดยมีการเผยแพร่ข่าวสาร เชิญชวนให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมชุมนุม ทั้งไม่ปรากฏว่าการเดินขบวนดังกล่าวทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเกินสมควร หรือเกิดความไม่สะดวกที่จะใช้ถนนทางสาธารณะดังกล่าวในการเดินทางสัญจร การร่วมกันเดินขบวนดังกล่าวจึงไม่ถือเป็นการชุมนุมสาธารณะ ตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558

ปัญหาต้องวินิจฉัยประการถัดมา จำเลยทั้งสิบสองกระทำความผิดฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 หรือไม่ 

เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 131 ได้บัญญัติว่า “ให้พนักงานสอบสวนรวบรวมหลักฐานทุกชนิด เท่าที่สามารถจะทำได้ เพื่อประสงค์จะทราบข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่าง ๆ อันเกี่ยวกับความผิดที่ถูกกล่าวหา เพื่อจะรู้ตัวผู้กระทำผิดและพิสูจน์ให้เห็นความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา” 

ส่วนมาตรา 368 แห่งประมวลกฎหมายอาญา บัญญัติว่า “มาตรา 368 ผู้ใดทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานซึ่งสั่งการตามอำนาจที่มีกฎหมายให้ไว้ ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนั้นโดยไม่มีเหตุ หรือข้อแก้ตัวอันสมควร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 วัน หรือปรับไม่เกิน 500 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

และได้ความจากคำเบิกความของพนักงานสอบสวนว่า พยานทราบพฤติการณ์การกระทำความผิดของจำเลยทั้งสิบสองมาก่อนแล้ว และแม้จำเลยทั้งสิบสองปฏิเสธที่จะไม่พิมพ์ลายนิ้วมือ พยานก็ยังสามารถรวบรวมประวัติการกระทำความผิดของจำเลย ด้วยวิธีการตรวจสอบผ่านบัตรประจำตัวประชาชน เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า พยานสามารถตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐานผ่านวิธีการอื่นได้ จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้วิธีพิมพ์ลายนิ้วมือ ฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสิบสองกระทำความผิดฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงาน ตามมาตรา 368 

พิพากษาว่า จำเลยทั้งสิบสองมีความผิดทางพินัยตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 108, 148 วรรคหนึ่ง ปรับเป็นพินัยคนละ 500 บาท หากจำเลยทั้งสิบสองไม่ชำระค่าปรับทางพินัยภายใน 30 วัน ให้จัดการตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ.2565 มาตรา 30, 31 ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ ให้ยกคำขอในส่วนนี้

รวมจำเลยทั้งหมดต้องชำระค่าปรับเป็นพินัยทั้งหมด 6,000 บาท

สำหรับเหตุในคดีนี้ สืบเนื่องมาจากประเทศไทย ได้เป็นเจ้าภาพให้จัดการประชุม APEC ซึ่งเป็นการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29 ในระหว่างวันที่ 18–19 พ.ย. 2565 ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยมี ‘สี จิ้นผิง’ ผู้นำของประเทศจีน และหนึ่งในผู้นำที่เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว ซึ่งเป็นเหตุให้กลุ่มผู้ชุมนุมออกมาเดินประท้วง เนื่องมาจากนโยบายจีนเดียว และเรียกร้องขอให้คืนอิสรภาพแก่ฮ่องกง

X