เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2566 ที่ศาลแขวงปทุมวัน พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 6 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง 11 นักกิจกรรม ประกอบด้วย “ตะวัน” ทานตะวัน ตัวตุลานนท์, “แบม” อรวรรณ (สงวนนามสกุล), “ออย” สิทธิชัย, “อาย” กันต์ฤทัย, “แก๊ป” จิรภาส, รณกร (สงวนนามสกุล), ณัฐพร (สงวนนามสกุล), นรินทร์ (สงวนนามสกุล), สุชาติ (สงวนนามสกุล), สมชาย คำนะ และสมพร (สงวนนามสกุล) ในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ, พ.ร.บ.จราจรฯ และขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน จากกรณีเข้าร่วมกิจกรรม “ไซอิ๋วตะลุยเอเปค” เดินถือป้ายประท้วงนโยบายจีนเดียวของรัฐบาลจีน และต่อต้านบรรดาผู้นำเผด็จการที่เข้าร่วมประชุม APEC2022 เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2565 บริเวณถนนเยาวราช
ในคดีนี้ทั้ง 11 คน พร้อมทั้ง “สายน้ำ” (นามสมมติ) เคยเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหา ฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ และ พ.ร.บ.จราจรฯ ที่ สน.พลับพลาไชย 2 เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2566 โดยนักกิจกรรมทั้งหมดได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และปฏิเสธลงลายมือชื่อในบันทึกประจำวัน บันทึกคำให้การ และไม่ยินยอมพิมพ์ลายนิ้วมือ ทำให้ตำรวจแจ้งข้อกล่าวหา ฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 เพิ่มอีก 1 ข้อหา จากนั้นทั้งหมดได้รับการปล่อยตัวในชั้นตำรวจ ก่อนพนักงานอัยการจะมีความเห็นสั่งฟ้องนักกิจกรรมทั้ง 12 คน โดยมีการขออนุญาตฟ้องจากรองอัยการสูงสุด เนื่องจากพนักงานอัยการไม่ได้ฟ้องคดีภายในระยะเวลาผัดฟ้อง
ทั้งนี้ ในวันนัดส่งฟ้องของอัยการ สายน้ำติดธุระอยู่ต่างจังหวัดจึงไม่ได้เดินทางมาพร้อมกับเพื่อนนักกิจกรรม โดยอัยการจะนัดหมายมาส่งฟ้องในภายหลังต่อไป
กวิตา ทองสันตติ์ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 6 บรรยายฟ้องระบุว่า เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2565 จําเลยทั้ง 11 คน กับพวก ได้ร่วมกันเดินขบวนเพื่อแสดงความคิดเห็นคัดค้านการประชุมผู้นําเขตเศรษฐกิจเอเปค (การประชุม APEC) ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ จัดการประชุมระหว่างวันที่ 18-19 พ.ย. 2565 พร้อมถือป้ายตะโกนถ้อยคํา เช่น “STOP APEC” หรือ “สต๊อป เอเปค” เป็นต้น ไปตามถนนผดุงด้าว ถนนเยาวราช และถนนแปลงนาม ซึ่งในขณะนั้นมีการจราจรหนาแน่น ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจร ทําให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเกินสมควร และเกิดความไม่สะดวกที่จะใช้ถนนทางสาธารณะดังกล่าวในการเดินทางสัญจร อีกทั้งยังไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ในข้อหา
- ฝ่าฝืน พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ มาตรา 16 (1) (8) ร่วมกันชุมนุมสาธารณะ ก่อให้เกิดความไม่สะดวกแก่ประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ และเดินขบวนในระหว่างเวลา 18.00 น. – 06.00 น. ของวันรุ่งขึ้น โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ดูแลการชุมนุมสาธารณะ
- ฝ่าฝืน พ.ร.บ.จราจรฯ ร่วมกันเดินขบวนในลักษณะที่กีดขวางทางจราจร
- ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงาน โดยไม่มีเหตุแก้ตัวอันสมควร
พนักงานอัยการยังได้ขอให้ศาลนับโทษจำคุกในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกในคดีอื่น ๆ ของ 7 นักกิจกรรม ได้แก่ ตะวัน, แบม, รณกร, สุชาติ, แก๊ป, ออย และสมชาย
ทั้ง 11 คนให้การปฎิเสธตลอดข้อกล่าวหา ก่อนศาลจะอนุญาตให้ประกันตัวระหว่างพิจารณาคดีโดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์ แต่ให้ทำสัญญาประกันว่า หากจำเลยไม่เดินทางมาศาลตามนัดให้ปรับนายประกันคนละ 20,000 บาท พร้อมทั้งนัดสอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 29 พ.ย. 2566 เวลา 09.00 น.
คดีนี้ สืบเนื่องมาจากประเทศไทย ได้เป็นเจ้าภาพให้จัดการประชุม APEC ซึ่งเป็นการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29 ในระหว่างวันที่ 18 – 19 พ.ย. 2565 ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยมี ‘สี จิ้นผิง’ ผู้นำของประเทศจีน เป็นหนึ่งในผู้นำที่เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว ซึ่งเป็นเหตุให้กลุ่มผู้ชุมนุมออกมาเดินประท้วง เนื่องมาจากนโยบายจีนเดียว และเรียกร้องขอให้คืนอิสรภาพแก่ฮ่องกง