เมษายน 65: ยอดรวมผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองเพิ่มเป็น 1,808 คน คดี ม.112 ทะลุไป 204 คดีแล้ว

เดือนเมษายน 2565 ความเคลื่อนไหวเรื่องการดำเนินคดีทางการเมืองยังเป็นอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะคดีมาตรา 112 ที่เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 10 คดี ทำให้ยอดรวมเพิ่มไปกว่า 204 คดีแล้ว ในรอบ 1 ปีครึ่งที่ผ่านมา  ขณะที่การดำเนินคดีและการสั่งฟ้องคดีข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง ก็ยังดำเนินต่อไป แม้จะมีแนวโน้มที่ศาลจะยกฟ้องและอัยการสั่งไม่ฟ้องคดีจำนวนหนึ่งแล้ว

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2565 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมทางการเมืองและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 1,808 คน ในจำนวน 1,065 คดี  ในจำนวนนี้ เป็นกลุ่มเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 280 ราย

เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีกับในช่วงสิ้นเดือนมีนาคม 2565 มีผู้ถูกดำเนินคดีรายใหม่เพิ่มขึ้น 13 คน คดีเพิ่มขึ้น 20 คดี (นับเฉพาะผู้ถูกกล่าวหาที่ไม่เคยถูกดำเนินคดีมาก่อน) โดยมีเยาวชนรายใหม่ถูกดำเนินคดีเพิ่มขึ้น 5 ราย

หากนับจำนวนบุคคลที่ถูกดำเนินคดีซ้ำในหลายคดี โดยไม่หักออก แต่นำจำนวนมาเรียงต่อกันแล้ว จะพบว่ามีจำนวนการถูกดำเนินคดีไปอย่างน้อย 3,589 ครั้ง

สำหรับสถิติการดำเนินคดี แยกตามข้อกล่าวหาสำคัญ ได้แก่

1. ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 190 คน ในจำนวน 204 คดี

2. ข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 125 คน ในจำนวน 39 คดี

3. ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 1,451 คน ในจำนวน 630 คดี (นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 ที่เริ่มมีการดำเนินคดีข้อหานี้ต่อผู้ชุมนุมและทำกิจกรรมทางการเมือง) 

4. ข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ อย่างน้อย 107 คน ในจำนวน 75 คดี

5. ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อย่างน้อย 129 คน ในจำนวน 148 คดี

6. ข้อหาละเมิดอำนาจศาล อย่างน้อย 34 คน ใน 18 คดี และคดีดูหมิ่นศาล อย่างน้อย 25 คน ใน 6 คดี

จากจำนวนคดี 1,065 คดีดังกล่าว มีจำนวน 183 คดี ที่สิ้นสุดไปแล้ว โดยมากเป็นคดีที่ผู้ถูกกล่าวหายินยอมให้เปรียบเทียบปรับในชั้นตำรวจ หรือในชั้นศาล เนื่องจากข้อกล่าวหามีอัตราโทษปรับ ในจำนวนนี้มีกรณีอัยการสั่งไม่ฟ้องจำนวน 9 คดี 

.

.

แนวโน้มเกี่ยวกับการดำเนินคดีที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบในช่วงเดือนเมษายน 2565 นี้ ยังมีสถานการณ์สำคัญ ดังต่อไปนี้

คดี 112 เพิ่มอีกอย่างน้อย 10 คดี ผู้ถูกคุมขังกลับมาเพิ่มขึ้นอีก

ในเดือนเมษายน จากจำนวนคดีใหม่ทั้งหมด 20 คดี พบว่าเป็นคดีข้อหาตามมาตรา 112 ครึ่งหนึ่ง คือ 10 คดี และมีผู้ถูกดำเนินคดีรายใหม่อย่างน้อย 7 คน หลายคดีเป็นการย้อนดำเนินคดีไปถึงการเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงปี 2563-64 ทำให้ยอดผู้ถูกดำเนินคดีโดยภาพรวมเพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 204 คดี ในจำนวนนี้เป็นเยาวชนจำนวน 16 คน

คดีสำคัญในเดือนที่ผ่านมา ได้แก่ การจับกุมสมาชิกกลุ่มทะลุวังใน 3 คดี รวมผู้ถูกดำเนินคดี 4 ราย คือ “เมนู” สุพิชฌาย์, “ใบปอ”, เนติพร และ “พลอย” เบญจมาภรณ์ เยาวชนอายุ 17 ปี  จากกรณีแชร์โพสต์ของเพจทะลุวัง เรื่องงบประมาณสถาบันกษัตริย์ปี 2565 และจากการทำโพลสำรวจ “เห็นด้วยหรือไม่ที่รัฐบาลอนุญาตให้กษัตริย์ใช้อำนาจตามอัธยาศัย” รวม 4 จุดในกรุงเทพฯ ทั้งสองคดีตำรวจไม่เคยออกหมายเรียกมาก่อน แต่มีการร้องขอศาลออกหมายจับทันที แนวโน้มการควบคุม-ดำเนินคดีต่อสมาชิกทะลุวังยังเป็นไปอย่างเข้มข้น

ขณะเดียวกันยังมีสองคดีสำคัญเกิดขึ้นที่ สน.นางเลิ้ง ซึ่งมีอภิวัฒน์ ขันทอง ทนายความของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้กล่าวหาทั้งสองคดี ได้แก่ คดีของยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง ที่ถูกกล่าวจากการทวิตข้อความเมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 และคดีของ “ฮาร์ท” สุทธิพงศ์ ทัดพิทักษ์กุล ซึ่งถูกกล่าวหาจากการแชร์ข้อความจากเพจ Royal World Thailand เกี่ยวกับพลานามัยของรัชกาลที่ 10 ในช่วงเดียวกัน โดยโพสต์ดังกล่าวมีผู้แชร์มากกว่า 2 หมื่นครั้ง แต่ยังไม่มีการรายงานการดำเนินคดีกับบุคคลอื่น หรือแม้แต่เพจที่เป็นผู้นำเสนอเนื้อหาแต่อย่างใด

.

.

คดีของ “ฟลุค” กิตติพล กราฟิกดีไซเนอร์และนักกิจกรรมวัย 19 ปี ถูกตำรวจ สภ.เมืองอุบลราชธานี ย้อนแจ้งข้อกล่าวหา จากกรณีการถือกรอบรูปที่มีข้อความ “ไม่มีจะแดกในรัชกาลที่ 10” ระหว่างกิจกรรมคาร์ม็อบเมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2565

นอกจากนั้น ยังมีคดีของ “สุรีมาศ” และมณีขวัญ ที่ สภ.เมืองกระบี่ และ สภ.บางแก้ว จังหวัดสมุทรปราการ ตามลำดับ ทั้งสองคนถูกศาลออกหมายจับตามมาตรา 112 ในคดีที่มีประชาชนทั่วไปไปกล่าวหาเอาไว้ รายแรกถูกกล่าวหาจากการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก พร้อมแปะลิงก์ไปยังกรุ๊ป “ตลาดหลวง” ขณะที่รายหลังถูกกล่าวหาจากการแชร์โพสต์จากเพจ KonthaiUK ตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคมปี 2563

แนวโน้มในคดีเหล่านี้ ยังตอกย้ำปัญหาการตีความมาตรา 112 ที่ถูกใช้อย่างกว้างขวาง การเปิดโอกาสให้ใครก็ได้ไปกล่าวหา การกลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง และมาตรการที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้เพื่อพยายามควบคุมการแสดงความคิดเห็น

ขณะเดียวกันในเดือนนี้ ยังเริ่มมีผู้ถูกคุมขังจากคดีมาตรา 112 เพิ่มมากขึ้น นอกจากกรณีเวหาที่ถูกคุมขังมาตั้งแต่เดือนมีนาคมแล้ว ยังมีผู้ถูกคุมขังเพิ่มเติม ได้แก่ ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ ที่ถูกถอนประกันตัวในคดีไลฟ์สดก่อนมีขบวนเสด็จ และสมบัติ ทองย้อย ที่ถูกคุมขังหลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาจำคุก 6 ปี ในคดีโพสต์ 3 ข้อความ รวมทั้งข้อความ “เก่งมาก กล้ามาก ขอบใจนะ” แนวโน้มคำสั่งและคำพิพากษาของศาลที่ตีความข้อกล่าวหามาตรานี้อย่างกว้างขวาง ยังเป็นสถานการณ์ที่ต้องจับตา

ในเดือนที่ผ่านมา ศาลยังมีคำสั่งให้พิจารณาคดี “บาส” มงคล ที่จังหวัดเชียงราย เป็นการลับด้วย โดยอ้างเหตุเพื่อประโยชน์แห่งความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน สถานการณ์ความโปร่งใสและเป็นธรรมในการพิจารณาคดี จึงเป็นอีกประเด็นสำคัญในการต่อสู้คดีมาตรา 112 ที่ต้องจับตาต่อไป

.

.

ศาลยกฟ้องคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คาร์ม็อบอีก 1 คดี แต่หลายคดี อัยการยังทยอยสั่งฟ้อง

ด้านสถานการณ์คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อันเนื่องมาจากการชุมนุมทางการเมือง เดือนเมษายนมีรายงานคดีใหม่เพิ่มขึ้น 1 คดี ของ สน.นางเลิ้ง แต่ผู้ต้องหายังไม่ได้เข้ารับทราบข้อหา โดยท่ามกลางสถานการณ์การเปิดประเทศมากขึ้นและการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ รัฐบาลยังคงบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต่อเนื่องต่อไป รวมเป็นระยะเวลา 2 ปี 1 เดือน เศษแล้ว 

ในเดือนที่ผ่านมา ศาลยังมีคำพิพากษายกฟ้องคดีคาร์ม็อบลพบุรีเพิ่มเติมอีก 1 คดี ซึ่งนับได้ว่าเป็นคดีจากกิจกรรมคาร์ม็อบในช่วงปี 2564 คดีแรก ที่มีการต่อสู้คดีและศาลมีคำพิพากษาออกมา โดยศาลเห็นว่าการชุมนุมในพื้นที่โล่งแจ้ง อากาศถ่ายเท ผู้เข้าร่วมและตำรวจสามารถขยับไปมาได้ จึงเห็นว่ายังไม่ใช่การชุมนุมในสถานที่แออัด และการชุมนุมเป็นไปโดยสงบเรียบร้อย ถือเป็นการใช้สิทธิการชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญ (อยู่ระหว่างรอคัดถ่ายคำพิพากษา) ทำให้รวมแล้วมีคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ รวม 8 คดีแล้ว ที่ศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง

แต่อย่างไรก็ตาม พนักงานอัยการในคดีต่างๆ ยังคงทยอยสั่งฟ้องคดีข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต่อไป แม้จะเริ่มมีแนวทางคำพิพากษาของศาลและคำวินิจฉัยของอัยการที่สั่งไม่ฟ้องคดี โดยเดือนเมษายน มีทั้งคดีคาร์ม็อบอุตรดิตถ์, คดีคาร์ม็อบนครราชสีมา, คดีคาร์ม็อบสิงห์บุรี, คดีคาร์ม็อบหาดใหญ่, คดีเยาวชนที่ร่วมกิจกรรมหมู่บ้านทะลุฟ้า ที่อัยการสั่งฟ้องเพิ่มเติม

รวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจยังมีการไล่จับกุมผู้สังเกตการณ์หรือสื่ออิสระจากกรณีการชุมนุมที่ดินแดงในช่วงปลายปี 2564 ในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อยู่เป็นระยะด้วย เช่น กรณีของวิษณุ และนันทพร ที่ถูกจับในช่วงปลายเดือนที่ผ่านมา

แม้ในเดือนที่ผ่านมา นักกิจกรรมหลายคนจะเข้ายื่นหนังสือที่สำนักงานอัยการสูงสุด ให้ยุติการฟ้องคดี หรือถอนฟ้องคดี อันเนื่องมาจากการชุมนุมทางการเมือง โดยเฉพาะคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร้ายแรง ในช่วงการชุมนุมเดือนตุลาคมปี 2563 ที่ยังรอการสืบพยานอีกหลายคดี แต่ยังไม่มีท่าทีใดๆ จากทางอัยการ จนถึงปัจจุบัน คดีต่างๆ ยังคงดำเนินนัดต่อไป 

.

X