มีนาคม 65: สถิติคดีทางการเมืองรวมอย่างน้อย 1,045 คดี ผู้ถูกกล่าวหาไม่น้อยกว่า 1,795 ราย

เดือนมีนาคม 2565 สถานการณ์คดีทางการเมืองยังเข้มข้น โดยในคดีมาตรา 112 มีผู้ถูกกล่าวหารายใหม่อีกไม่ต่ำกว่า 10 ราย ขณะคดีต่างๆ ทยอยขึ้นสู่การต่อสู้สืบพยานในชั้นศาล และศาลเริ่มมีคำพิพากษา รวมทั้งคดีข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ศาลก็ทยอยมีคำพิพากษายกฟ้อง เดือนเดียวไม่ต่ำกว่า 4 คดี ทำให้ยังไม่มีคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมทางการเมือง ที่ผู้ถูกกล่าวหาต่อสู้คดี แล้วศาลพิพากษาว่ามีความผิดแต่อย่างใด

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2565 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมทางการเมืองและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 1,795 คน ในจำนวน 1,045 คดี  ในจำนวนนี้ เป็นกลุ่มเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 275 ราย

เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีกับในช่วงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2565 มีผู้ถูกดำเนินคดีรายใหม่เพิ่มขึ้น 8 คน คดีเพิ่มขึ้น 18 คดี (นับเฉพาะผู้ถูกกล่าวหาที่ไม่เคยถูกดำเนินคดีมาก่อน) โดยมีเยาวชนรายใหม่ถูกดำเนินคดีเพิ่มขึ้น 1 ราย

หากนับจำนวนบุคคลที่ถูกดำเนินคดีซ้ำในหลายคดี โดยไม่หักออก แต่นำจำนวนมาเรียงต่อกันแล้ว จะพบว่ามีจำนวนการถูกดำเนินคดีไปอย่างน้อย 3,549 ครั้ง

สำหรับสถิติการดำเนินคดี แยกตามข้อกล่าวหาสำคัญ ได้แก่

1. ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 183 คน ในจำนวน 194 คดี

2. ข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 125 คน ในจำนวน 39 คดี

3. ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 1,448 คน ในจำนวน 629 คดี (นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 ที่เริ่มมีการดำเนินคดีข้อหานี้ต่อผู้ชุมนุมและทำกิจกรรมทางการเมือง) 

4. ข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ อย่างน้อย 107 คน ในจำนวน 75 คดี

5. ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อย่างน้อย 120 คน ในจำนวน 136 คดี

6. ข้อหาละเมิดอำนาจศาล อย่างน้อย 34 คน ใน 18 คดี

จากจำนวนคดี 1,045 คดีดังกล่าว มีจำนวน 183 คดี ที่สิ้นสุดไปแล้ว โดยมากเป็นคดีที่ผู้ถูกกล่าวหายินยอมให้เปรียบเทียบปรับในชั้นตำรวจ หรือในชั้นศาล เนื่องจากข้อกล่าวหามีอัตราโทษปรับ ในจำนวนนี้มีกรณีอัยการสั่งไม่ฟ้องจำนวน 9 คดี ซึ่งถือว่ายังอยู่ในปริมาณไม่มากนัก

,

แนวโน้มเกี่ยวกับการดำเนินคดีที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบในช่วงเดือนมีนาคม 2565 นี้ ยังมีสถานการณ์สำคัญ ดังต่อไปนี้

.

.

ผู้ถูกดำเนินคดี 112 เพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 10 ราย จับตาสถานการณ์การตั้งเงื่อนไขประกันตัวและการถอนประกัน 

ในเดือนมีนาคม มีรายงานการดำเนินคดีมาตรา 112 เป็นผู้ถูกดำเนินคดีรายใหม่อย่างน้อย 10 คน มีจำนวนคดีใหม่เพิ่มขึ้น 8 คดี ทำให้ยอดผู้ถูกดำเนินคดีโดยภาพรวมเพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 194 คดี 

คดีสำคัญในเดือนที่ผ่านมา ได้แก่ คดีจากกิจกรรมทำโพล “ขบวนเสด็จสร้างความเดือดร้อนหรือไม่” ที่บริเวณลานหน้าห้างสยามพารากอน ซึ่งมีผู้ถูกดำเนินคดีที่ สน.ปทุมวัน รวม 9 คน ในจำนวนนี้เป็นเยาวชนอายุย่าง 15 ปี และสื่ออิสระ 2 คน ที่ไลฟ์ถ่ายทอดสดกิจกรรม ก็ถูกกล่าวหาไปด้วย 

คดีนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจกล่าวหาในข้อหาหลักตามมาตรา 112 และมาตรา 116 โดยที่ข้อกล่าวหาไม่มีความชัดเจนว่ากิจกรรมนี้เข้าข่ายความผิดทั้งสองข้อหานี้อย่างไร  และแม้ผู้ต้องหาทั้งหมดจะเข้าพบตำรวจตามหมายเรียก แต่กลับถูกนำตัวไปขอฝากขัง แม้ศาลให้ประกันตัว แต่ก็กำหนดเงื่อนไข 4 ประการ รวมทั้งการให้ติดกำไล EM ด้วย ทั้งที่ผู้ต้องหาเกือบทั้งหมดเพิ่งถูกกล่าวหาในคดีมาตรา 112 เป็นคดีแรก

ในเดือนที่ผ่านมา ยังมีสถานการณ์การจับกุมนักกิจกรรมอย่างน้อย 4 ราย ในข้อหามาตรา 112 โดยมีกรณีที่มีหมายจับ ได้แก่ กรณีชินวัตร จันทร์กระจ่าง, กรณีเวหา แสนชนชนะศึก และกรณีพิมชนก ใจหงษ์  และกรณีที่ไม่มีหมายจับ ได้แก่ ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ จากการไลฟ์สดก่อนจะมีขบวนเสด็จผ่านบริเวณตรงข้ามองค์กรสหประชาชาติ 

กรณีนักกิจกรรม 3 ราย หลังการแจ้งข้อหายังได้ถูกตำรวจยื่นขอฝากขัง แม้ศาลจะให้ประกันตัว แต่ก็ภายใต้เงื่อนไขทั้งเรื่องการติด EM หรือถูกกำหนดให้มารายงานตัวต่อศาลทุกๆ 12 วัน อย่างกรณีของพิมชนก ที่ถูกกล่าวหาที่จังหวัดเชียงใหม่ด้วย   แต่กรณีของเวหา ที่ถูกกล่าวหาคดีมาตรา 112 เป็นคดีที่สอง จากกรณีการแชร์โพสต์จากเพจเยาวชนปลดแอก เมื่อช่วงเดือนสิงหาคม 2564 และโพสต์ข้อความในวันขึ้นปีใหม่ 2565 ศาลไม่ให้ประกันตัว แม้จะมีการยื่นขอประกันแล้ว 3 ครั้งก็ตาม 

และล่าสุดตำรวจยังมีการร้องขอถอนประกันตัวนักกิจกรรมกลุ่มทะลุวังนี้ และชินวัตร จันทร์กระจ่าง ซี่งจะมีนัดไต่สวนในช่วงเดือนเมษายนนี้ด้วย ทำให้ยังต้องติดตามสถานการณ์ไต่สวนต่อไป

แกนนำนักกิจกรรมหลายคนยังถูกกล่าวหาในคดีใหม่เพิ่มเติมอีก ทั้งคดีของ “ฟ้า” พรหมศร และ “ปูน” ธนพัฒน์ ที่ถูกกล่าวหามาตรา 112 เพิ่มเติม ที่ สน.ลุมพินี เหตุจากการปราศรัยในการชุมนุม #ราษฎรประสงค์ยกเลิก112 ที่สี่แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2564  และกรณีของ “บี๋-รุ้ง-เบนจา” ที่ถูกแจ้งข้อหาคดีใหม่ที่ บก.ปอท. เหตุจากโพสต์ในเพจแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ช่วงปี 2564 

.

.

ขณะเดียวกัน ยังมีคดีมาตรา 112 ที่ศาลมีคำพิพากษาในช่วงเดือนมีนาคมอย่างน้อย 3 คดี โดยมีทั้งคดีที่ศาลยกฟ้องทุกข้อหา ได้แก่ คดีของ “อิศเรศ” โพสต์ตั้งคำถามกรณีไม่แต่งตั้งกษัตริย์พระองค์ใหม่ ในช่วงหลังการสวรรคตของรัชกาลที่ 9, คดีที่ศาลยกฟ้องเฉพาะข้อหามาตรา 112 เนื่องจากเห็นว่าองค์ประกอบกฎหมายคุ้มครองเฉพาะกษัตริย์ที่ครองราชย์อยู่ แต่ไปลงโทษตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ แทน ได้แก่ คดีของ “วุฒิภัทร” โพสต์ตั้งคำถามถึงกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8

สุดท้ายคือคดีของ “นรินทร์” ที่ถูกกล่าวหากรณีแปะสติกเกอร์ “กูkult” บนภาพรัชกาลที่ 10 ศาลพิพากษาว่ามีความผิดตามมาตรา 112 ลงโทษจำคุก 3 ปี โดยจำเลยยังได้รับการประกันตัวในระหว่างชั้นอุทธรณ์

การพิจารณาของศาลในคดีต่างๆ และแนวทางการตีความมาตรา 112 ในคำพิพากษา จึงยังเป็นสถานการณ์ที่ต้องติดตามจับตาต่อไป

.

.

ศาลยกฟ้องคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 4 คดีรวด อัยการไม่ฟ้องอีก 1 คดี แต่มีหลายคดียังทยอยสั่งฟ้อง

ในด้านสถานการณ์คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อันเนื่องมาจากการชุมนุมทางการเมือง  ศาลเริ่มมีคำพิพากษามากขึ้น โดยได้มีคำพิพากษายกฟ้อง 4 คดี ในช่วงเดือนมีนาคม  แยกเป็นกลุ่มคดีชุมนุม #21ตุลาไปอนุสาวรีย์ชัย เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2563 ของอานันท์ ลุ่มจันทร์, ไพศาล จันปาน, สุวรรณา ตาลเหล็ก-วสันต์ กล่ำถาวร ซึ่งถูกกล่าวหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร้ายแรง และคดี #คนพะเยาบ่าเอาแป้ง ทั้งหมดศาลวินิจฉัยเห็นว่าเป็นการชุมนุมโดยสงบ ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ

นอกจากนั้นในคดีพะเยา ศาลยังเห็นว่าประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง ฉบับลงวันที่ 3 เมษายน 2563 ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ไม่มีผลใช้บังคับด้วย

รวมทั้งเดือนที่ผ่านมา ยังมีคดีที่อัยการสั่งไม่ฟ้องเพิ่มอีก 1 คดี ได้แก่ คดีคาร์ม็อบ 1 สิงหาคม 2564 ที่หน้าสนามบินดอนเมือง ซึ่งอัยการเห็นว่ากิจกรรมไม่ได้เสี่ยงต่อโรค ไม่ใช่สถานที่แออัด และเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ

ทำให้จนถึงปัจจุบัน เท่าที่ทราบข้อมูล ยังไม่พบว่ามีคดีที่จำเลยเลือกจะต่อสู้คดี แล้วศาลมีคำพิพากษาว่ามีความผิดแต่อย่างใด 

แต่ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ อัยการในหลายคดียังคงทยอยสั่งฟ้องคดีขึ้นสู่ศาลต่อไป ส่งผลเป็นการสร้างภาระให้กับนักกิจกรรมและประชาชนที่ไปร่วมชุมนุมต่อไป โดยในเดือนที่ผ่านมา อัยการพื้นที่ต่างๆ มีคำสั่งคดีจากการชุมนุมอาทิเช่น คดีชุมนุมราษฎรโขงชีมูล และคดีชุมนุม #หมายที่ไหนม็อบที่นั่น ที่จังหวัดขอนแก่น, คดีคาร์ม็อบโคราช, คดีคาร์ม็อบปัตตานี, คดีคาร์ม็อบกระบี่ หรือคดีชุมนุมที่แยกบางนาช่วงมีนาคม 2564 เป็นต้น

อีกทั้งในช่วงปลายเดือนมีนาคม รัฐบาลยังต่ออายุการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกไปอีก 2 เดือน ทำให้การใช้กฎหมายฉบับนี้ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 จะดำรงอยู่ต่อไปไม่ต่ำกว่า 2 ปี 2 เดือน และยังคงถูกนำมาใช้จำกัดเสรีภาพในการชุมนุมได้ต่อไป (อ่านรายงาน 9 ข้อสังเกต กับ 2 ปี การบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต่อการชุมนุม)

.

.

จับตาปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่รัฐในขณะมีขบวนเสด็จ

สถานการณ์สำคัญอีกประการหนึ่งในช่วงเดือนมีนาคม คือการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมนักกิจกรรมหรือเยาวชน ในระหว่างที่ขบวนเสด็จ โดยนอกจากทานตะวัน ที่ถูกจับกุมและนำไปสู่การแจ้งข้อหามาตรา 112 แล้ว ยังมีกรณีนักกิจกรรมและเยาวชนจากกลุ่ม Korat Movement รวม 5 ราย ถูกจับกุมขณะปรากฏตัวบริเวณมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ในระหว่างที่สมเด็จพระเทพฯ จะเสด็จไปพระราชทานปริญญาบัตร ทั้งหมดถูกควบคุมตัวกว่า 7 ชั่วโมง จึงปล่อยตัว หลังเปรียบเทียบคนละ 2,000 บาท ฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน

และกรณีของ “เก็ท” โสภณ สมาชิกกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ ถูกตำรวจจับกุมบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หลังเจ้าหน้าที่ตรวจพบป้ายข้อความ “เราพร้อมจะอยู่ร่วมกับสถาบันกษัตริย์ ที่พูดถึงได้ ถามถึงได้ วิจารณ์ได้ ทรงพระเจริญ” เขาถูกนำตัวไปยัง บช.ปส. และแจ้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานเช่นกัน แต่เก็ทยืนยันให้การปฏิเสธขอต่อสู้คดี

สถานการณ์การคุกคามนักกิจกรรมและประชาชนในช่วงที่มีการเสด็จของพระบรมวงศานุวงศ์ไปยังจังหวัดต่างๆ รวมทั้งการควบคุมการแสดงออกที่เกิดขึ้นโดยเจ้าหน้าที่รัฐ จึงยังเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องจับตาต่อไป

.

X