จับ-ปรับ กลุ่ม Korat Movement 1 หมื่นบาท เหตุไปที่ มทร.อีสาน ขณะพระเทพฯ เสด็จ ตัวแทนระบุ ‘เพียงแค่อยากไปดูงานรับปริญญา’

4 มี.ค. 2565 เวลา 11.30 น.ที่ จ.นครราชสีมา นักกิจกรรมและเยาวชนจากกลุ่ม Korat Movement รวม 5 ราย ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมขณะปรากฏตัวบริเวณมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.อีสาน) ศูนย์การศึกษาหนองระเวียง ในระหว่างที่สมเด็จพระเทพฯ จะเสด็จไปพระราชทานปริญญาบัตร ควบคุมตัวกว่า 7 ชั่วโมง จึงปล่อยตัว หลังเปรียบเทียบปรับคนละ 2,000 บาท ฐาน ขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน

หลังเข้าจับกุม ตำรวจควบคุมตัวนักกิจกรรมทั้งห้าแยกขึ้นรถ 2 คัน โดยไม่ได้บอกว่าจะนำตัวไปที่ใด กระทั่งรถมุ่งหน้าไป สภ.เฉลิมพระเกียรติ ซึ่งอยู่ห่างจากจุดเกิดเหตุถึง 27 กิโลเมตร โดยไม่นำตัวไป สภ.มะเริง ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่จับกุม โดยอ้างว่าตำรวจ สภ.มะเริง ติดภารกิจรับเสด็จ สร้างความสับสนและความวิตกกังวลให้กับนักกิจกรรมอย่างมาก ด้วยพวกเขาและเธอไม่ทราบชะตากรรมว่าจะถูกพาไปที่ไหนและดำเนินคดีข้อหาอะไร

ภาพจาก Korat Movement

นักกิจกรรมทั้ง 5 ราย ที่ถูกจับกุม ได้แก่ วรัญญู คงสถิตย์ธรรม, นุดา (นามสมมติ) อายุ 23 ปี, ฟ้า (นามสมมติ) อายุ 18 ปี, มอส (นามสมมติ) อายุ 17 ปี และไนท์ (นามสมมติ) อายุ 16 ปี โดยวรัญญูกับฟ้าถูกควบคุมตัวขึ้นรถกระบะแยกไปก่อน ไปถึง สภ.เฉลิมพระเกียรติ ตั้งแต่ช่วง 12.00 น. ส่วนมอสและนักกิจกรรมหญิง 2 คน ถูกคุมตัวขึ้นรถผู้ต้องขังตามมาสมทบ เมื่อถึง สภ.พบว่า นุดาได้รับบาดเจ็บที่ข้อเท้า เธอเล่าว่า น่าจะเกิดจากการที่ตำรวจใช้กำลังเข้าจับกุมเธอที่หน้ามหาวิทยาลัย 

ก่อนที่ พ.ต.ท.อัครพงษ์ วรรณพงษ์ ทนายความเครือข่ายของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน จะตามไปพบ จากการสอบถามเบื้องต้น พนักงานสอบสวน สภ.เฉลิมพระเกียรติ แจ้งว่าทั้ง 5 คน จะถูกดำเนินคดีข้อหาไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงาน แต่ทั้งทนายความและนักกิจกรรมต้องรอพนักงานสอบสวนอยู่ราว 4 ชั่วโมง ระหว่างนั้นตำรวจพยายามจะยึดโทรศัพท์มือถือของพวกเขาด้วย แต่พวกเขาไม่ยินยอม กระทั่ง 17.00 น. ตำรวจจึงเริ่มทำบันทึกจับกุมและแจ้งข้อกล่าวหา ทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานซึ่งสั่งการตามอำนาจที่มีกฎหมายให้ไว้ แล้วไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนั้นโดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368

พฤติการณ์ในบันทึกจับกุม ระบุว่า เวลา 11.30 น. ขณะตำรวจปฏิบัติหน้าที่ถวายความปลอดภัยสมเด็จพระเทพฯ โดยการสืบสวนหาข่าวความเคลื่อนไหวที่อาจกระทบต่อการถวายความปลอดภัยและการถวายพระเกียรติ รวมทั้งบุคคลหรือกลุ่มที่มีพฤติกรรมเคลื่อนไหวทางการเมือง และมีความเห็นต่างต่อสถาบัน ได้เฝ้าติดตามพฤติการณ์ของผู้ถูกจับกุม ซึ่งเคยแสดงออกในสถานที่และเวลาที่ต่างกัน ในลักษณะเห็นต่างเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ พบกลุ่มผู้ถูกจับกุมจำนวน 5 คน รวมกลุ่มในพื้นที่เสด็จพระราชดำเนิน และกำลังจะแสดงออกเชิงสัญลักษณ์โดยจะนำป้ายผ้าของกลางออกมาถือและถ่ายภาพ พร้อมทั้งไลฟ์สด 

เจ้าพนักงานผู้จับกุมเห็นว่า เป็นการกระทำที่ไม่สมควร และอาจเกิดผลกระทบต่อการถวายความปลอดภัยและการถวายพระเกียรติ พ.ต.อ.ถิรเดช จันทร์ลาด ผกก.สืบสวน ภ.จว.นครราชสีมา ผู้ควบคุมชุดปฏิบัติการสืบสวนหาข่าวความเคลื่อนไหวนั้น จึงได้สั่งให้ผู้ถูกจับกุมหยุดทำการดังกล่าว แต่ผู้ถูกจับกุมเมื่อทราบคำสั่งก็ไม่ได้ปฏิบัติตาม เจ้าพนักงานจึงร่วมกันจับกุมตัวผู้ถูกจับกุมดำเนินคดี

 

ทั้งนี้ ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 เป็นความผิดลหุโทษ มีโทษเพียงจำคุกไม่เกิน 10 วัน หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ พนักงานสอบสวน สภ.มะเริง แจ้งว่า หากทั้งห้าให้การรับสารภาพก็จะเปรียบเทียบปรับ คนละ 2,000 บาท ซึ่งจะทำให้คดีอาญายุติลงในชั้นนี้ นักกิจกรรมทั้งห้าจึงตัดสินใจให้การรับสารภาพ ทำให้ต้องเสียค่าปรับรวมเป็นเงิน 10,000 บาท โดยได้ขอรับการสนับสนุนจากกองทุนราษฎรประสงค์รวม 5,000 บาท ก่อนที่ทั้งหมดจะได้รับการปล่อยตัวในช่วง 19.00 น. 

ฟ้าหนึ่งในเยาวชนที่ถูกจับกุมเล่าว่า รู้สึกกังวลอย่างมากว่าตัวเอง จะถูกเจ้าหน้าที่รัฐยัดเยียดคดีความร้ายแรงให้โดยที่ยังไม่ได้ทำอะไรแม้แต่น้อย และในวันเกิดเหตุกลุ่ม Korat Movement เพียงแค่อยากไปดูงานรับปริญญาและเพียงแค่อยากจะแสดงออกทางสัญลักษณ์เล็กน้อย เพื่อแสดงให้เห็นว่านักศึกษาหรือบัณฑิตมีทางเลือกที่อยากจะรับปริญญากับใครคนใดคนหนึ่งที่เขาต้องการมากกว่าเชื้อพระวงศ์ก็ได้ 

“ตอนที่เราเข้าไปในบริเวณมหาวิทยาลัยนั้น เรายังไม่ได้ทำอะไรก็ถูกเจ้าหน้าที่กดดันให้ออกมาภายนอก เราก็ยอมถอยออกมาและเจรจาขอชูป้ายเล็กน้อย แต่ก็ไม่เป็นผลจนทำให้พวกเราทั้ง 5 คนถูกอุ้มขึ้นรถ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะถูกพาตัวไปที่ไหน รู้แค่ว่าในตอนนั้นเรากำลังทำข้อสอบอยู่ และเจ้าหน้าก็มาดึงแขนขาเราอย่างแรงจนทำให้จอโทรศัพท์แตกเล็กน้อย และทำให้ทำข้อสอบไม่ทัน ซึ่งตอนถูกพาขึ้นรถเรากลัวมากครับ” 

ฟ้าเล่าต่อว่า เขาไม่รู้เลยว่าตำรวจจะพาไปไหนกันแน่ เพราะถามอะไรก็ไม่ยอมตอบ และเพื่อนอีกคันก็มีผู้หญิง ทั้งยังเป็นเยาวชนถึง 2 คน ซึ่งถูกพาขึ้นรถคุมขัง และตอนนั้นก็ยังไม่ทราบว่าจะพาอีกคันไปไหน ฟ้าย้ำว่าสิ่งที่กลัวมากๆ คือ กลัวจะถูกยัดเยียดคดีความให้ เพราะก่อนที่จะถูกจับขึ้นรถ เจ้าหน้าที่ก็พูดจาข่มขู่ว่า โดนคดีแน่ๆ ฟ้า เอาให้เข็ด 

“มันทำให้เรากลัวมากๆ เพราะเป็นครั้งแรกที่เจ้าหน้าที่ทำแบบนี้ใส่กับเรา หลายๆ คนก็โดนเหมือนกัน”

ตัวแทน Korat Movement สะท้อนต่อว่า กรณีนักกิจกรรมที่ถูกคุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐ เวลาที่จะมีขบวนเสด็จ หรือบุคคลสำคัญต่างๆ ผ่านมา ทำให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่กำลังใช้อำนาจที่ไม่ชอบธรรมไปคุกคามผู้ที่เห็นต่างหรือผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวในประเด็นทางการเมืองต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการข่มขู่ หรือกดดันผู้ปกครองหรือคนใกล้ชิด ให้เกิดความกลัวว่าลูกหลายจะเกิดอันตรายหรือจะไปทำลายงานพิธีนั้นๆ แต่มันจะง่ายกว่านั้นมากเลย ถ้าเจ้าหน้าที่รัฐพูดคุยกันด้วยเหตุผล ไม่ใช้การข่มขู่ หรือใช้คำพูดหรือการกระทำต่างๆ ที่ทำให้เกิดความกลัว 

“เราเป็นคนเหมือนกัน เราคนเท่ากัน จริงๆ แล้วขบวนเสด็จจะมีหรือไม่มี พวกเราก็ไม่ควรที่จะถูกคุกคามหรือทำให้เกิดความกลัว เพราะว่าการที่บุคคลสำคัญจะมาในแต่ละที่มันก็ไม่ใช่ปัญหาสำหรับเรา แต่มันอาจจะเป็นปัญหาสำหรับพวกท่านเองที่หวาดกลัวทุกสิ่งอย่างว่ามันจะเกิดขึ้น กลัวจะเสียอำนาจตำแหน่งหน้าที่การงาน” 

เมื่อถามถึงประเด็นของ ‘ตะวัน’  นักกิจกรรมรายล่าสุดที่ถูกจับกุมในขณะไปไลฟ์สดที่หน้าสำนักงานสหประชาชาติในช่วงที่จะมีขบวนเสด็จฯ ที่กรุงเทพฯ และต่อมาถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ฟ้ากล่าวว่า ตะวันเพียงแค่จะออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับขบวนเสด็จ เหมือนกับพวกเขาที่พยายามแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ แต่ก็ต้องถูกอุ้มขึ้นรถไป ทั้งที่ยังไม่ได้ทำอะไร และถูกยัดเยียดข้อหาต่างๆ และที่สำคัญตะวันถูกยัดเยียดข้อหา ม.112 ที่เจ้าหน้าที่รัฐเอามาใช้จนเคยชิน มันไม่สมควรเลย และไม่มีใครสมควรที่จะถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 เพียงเพราะออกมาเคลื่อนไหวแบบนี้

นอกจากการถูกจับกุมควบคุมตัวนานหลายชั่วโมง ก่อนการเสด็จของสมเด็จพระเทพฯ ไปที่นครราชสีมาครั้งนี้ มีรายงานจากกลุ่ม Korat Movement ว่ามีนักกิจกรรมถูกติดตามคุกคามอย่างน้อย 7 ราย ไม่เพียงเท่านั้น จตุพร แซ่อึง นักกิจกรรมกลุ่มบุรีรัมย์ปลดแอก ก็ถูกติดตาม พร้อมทั้งข่มขู่คุกคามด้วย

ทั้งนี้ จากการติดตามข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ของปี 2565 มีจำนวนผู้ถูกเจ้าหน้าที่รัฐติดตามคุกคามก่อนมีขบวนเสด็จ อย่างน้อย 83 ราย ในจำนวนนี้เป็นเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 9 ราย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

2 เดือนแรกปี 2565: จนท.รัฐติดตามประชาชนระหว่างมีขบวนเสด็จเข้มข้น ยอดผู้ถูกคุกคามไม่น้อยกว่า 83 ราย

X