2 เดือนแรกปี 2565: จนท.รัฐติดตามประชาชนระหว่างมีขบวนเสด็จเข้มข้น ยอดผู้ถูกคุกคามไม่น้อยกว่า 83 ราย

นับแต่หลังการรัฐประหาร 2557 ซึ่งเป็นยุคสมัยที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ควบคุมการแสดงออกทางการเมืองด้วยวิธีการที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าจะเป็นการนำกำลังทหารบุกไปยังบ้านของประชาชน หรือการเข้าควบคุมตัวประชาชนผู้เห็นต่างเพื่อนำไป “ปรับทัศนคติ” ในค่ายทหารก็ตาม ปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่รัฐในลักษณะที่เรียกได้ว่าเป็นการติดตามคุกคามประชาชนก็ดำเนินเรื่อยมา

แม้คณะรัฐประหารจะได้เปลี่ยนผ่านสถานภาพและบทบาทของตนเองมาสู่คณะรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งแต่ในช่วงกลางปี 2562 แล้ว หากแต่สถานการณ์ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้อำนาจนอกกฎหมาย ในการคุกคาม ติดตาม จัดทำข้อมูลส่วนตัวของประชาชน เพื่อพยายามควบคุมการแสดงออกทางการเมืองยังคงมีอยู่โดยตลอด จนกลายเป็นสภาวะ “ปกติ” ที่ประชาชนทั้งผู้ที่แสดงออกและไม่แสดงออกทางการเมืองถูกทำให้รู้สึก “คุ้นชิน”

ในปี 2564 เท่าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนทราบข้อมูล พบว่ามีประชาชนและนักกิจกรรมที่ถูกเจ้าหน้าที่ติดตามไปบ้านหรือคุกคามในรูปแบบต่างๆ ไม่น้อยกว่า 291 ราย แนวโน้มส่วนใหญ่เกิดจากกรณีการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ โดยเฉพาะในประเด็นสถาบันกษัตริย์ และการติดตามคุกคามในระหว่างมีการเสด็จของพระบรมวงศานุวงศ์

.

ภาพเจ้าหน้าที่เข้าติดตามนักกิจกรรมระหว่างมีการเสด็จในจังหวัดนครสวรรค์

.

เพียง 2 เดือนแรกของปี 65 จำนวนผู้ถูกคุกคามทะยานไปกว่า 83 ราย

สถานการณ์ดังกล่าวยังคงสืบเนื่องมาถึงต้นปี 2565 นี้ โดยเฉพาะการคุกคามก่อนการมีขบวนเสด็จในจังหวัดต่างๆ มีรายงานเข้มข้นขึ้นเป็นอย่างมาก เนื่องเพราะมีการเสด็จไปพระราชทานปริญญาบัตรมากขึ้น หลังจากมีการเลื่อนมาจากช่วงสถานการณ์โควิด-19 ในปี 2563-64

เพียงแค่ห้วงเวลามกราคมและกุมภาพันธ์ของปี 2565 จากการเก็บข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่ามีจำนวนผู้ถูกเจ้าหน้าที่รัฐติดตามคุกคามอย่างน้อย 83 ราย ในจำนวนนี้เป็นเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 9 ราย 

เมื่อพิจารณาตามพื้นที่ที่มีประชาชนถูกติดตามคุกคาม แยกได้เป็นพื้นที่ภาคกลาง 46 ราย ภาคเหนือ 21 ราย ภาคอีสาน 13 ราย และภาคใต้ 3 ราย (ข้อมูลถึงวันที่ 3 มี.ค. 2565) 

ในส่วนรูปแบบของการคุกคาม มีทั้งการไปพบถึงที่พักอาศัย เพื่อพูดคุยสอบถามข้อมูลหรือจับตาเฝ้าระวัง โดยไม่มีหมายเรียกหรือหมายค้นใด กรณีลักษณะนี้มีจำนวนไม่น้อยกว่า 56 ราย เท่าที่ได้รับรายงาน นอกเหนือจากนั้นมีกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐโทรศัพท์ติดต่อสอบถามข้อมูล การเข้าติดตามสอดแนมระหว่างบุคคลใช้ชีวิตประจำวัน ตลอดจนการเรียกมาพูดคุยโดยไม่มีหมายเรียกใดๆ บางรายยังโดนติดตามอย่างต่อเนื่องเป็นจำนวนหลายครั้งด้วย

อย่างไรก็ตาม จำนวนดังกล่าวนี้เป็นเพียงข้อมูลที่ทางศูนย์ทนายความฯ ได้รับแจ้งหรือทราบข้อมูลเท่านั้น ยังไม่นับรวมกรณีเจ้าหน้าที่นำหมายเรียกไปส่งหรือการเข้าจับกุมเพื่อดำเนินคดีต่างๆ

.

จำนวนการคุกคามจำแนกตามภาค เดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2565 (เท่าที่ทราบข้อมูล)

.

เหตุแห่งการคุกคาม

สำหรับสาเหตุของการคุกคาม เนื่องจากในช่วงต้นปี 2565 ยังไม่มีการชุมนุมขนาดใหญ่หรือการทำกิจกรรมแสดงออกทางการเมืองเข้มข้นเหมือนช่วงปี 2563-64 ดังนั้นการลงพื้นที่ของบุคคลสำคัญ โดยเฉพาะสมาชิกราชวงศ์ กลายเป็นสาเหตุหลักของการถูกคุกคามส่วนใหญ่ โดยมีประชาชนอย่างน้อย 38 ราย ถูกติดตามคุกคามด้วยสาเหตุนี้อย่างชัดเจน ซึ่งในจำนวนนี้มีเยาวชนรวมอยู่ด้วย 3 ราย  

ขณะเดียวกันมีผู้ถูกเจ้าหน้าที่ติดตามคุกคามเนื่องจากการแสดงออกที่ไม่ใช่การชุมนุม อาทิ การติดป้าย หรือออกทำโพลล์เกี่ยวกับมาตรา 112 พบอย่างน้อย 9 ราย 

ขณะที่การถูกติดตาม เนื่องจากการแสดงความเห็นออนไลน์เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ก็ยังพบอย่างน้อย 4 ราย และจากการแสดงความเห็นออนไลน์ในประเด็นที่ไม่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ จำนวน 1 ราย โดยพบกรณีตำรวจเข้าพูดคุยกับเจ้าของร้าน “ดิ ออดินารี บาร์” ขอให้ลบโพสต์โปรโมชั่นเนื่องในวันเด็กแห่งชาติ ซึ่งมีการระบุส่วนลดสำหรับลูกค้าผู้แสดงออกทางการเมืองในรูปแบบต่างๆ

นอกจากนี้แล้ว ยังมีผู้ที่ถูกติดตามคุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐโดยไม่ทราบเหตุแน่ชัดด้วย ซึ่งผู้ที่ถูกคุกคามด้วยเหตุนี้มีเป็นจำนวนมากถึง 27 ราย อาทิ กรณีคุกคามอดีตนักกิจกรรมหญิงในภาคตะวันออก ซึ่งยุติบทบาทตนเองไปแล้ว หรือการติดตามผู้มีบทบาททางการเมืองต่างๆ เช่น ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์, เอกชัย หงส์กังวาน, สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือผู้สื่อข่าวอิสระในเพจเฟซบุ๊กต่างๆ โดยมักพบว่ามีการติดตามตรวจสอบความเคลื่อนไหวเป็นระยะของเจ้าหน้าที่ ในฐานะ “บุคคลเฝ้าระวัง” (ถ้อยคำของเจ้าหน้าที่เอง)

.

ภาพรายชื่อ “บุคคลเฝ้าระวัง” ที่เจ้าหน้าที่รัฐนำมาติดตามศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ พิธีกร Voice TV (ภาพจาก Voice TV)

.

การลงพื้นที่ของสมาชิกราชวงศ์: หัวใจสำคัญของการคุกคาม

สาเหตุที่ดูจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเพิ่มขึ้นของสถานการณ์ที่เจ้าหน้าที่รัฐเข้าติดตามคุกคามนักกิจกรรมในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2565 คือ การลงพื้นที่จังหวัดต่างๆ ของบุคคลสำคัญ โดยเฉพาะสมาชิกของราชวงศ์

ในช่วงก่อนและระหว่างที่มีการลงพื้นที่เหล่านั้น บรรดานักกิจกรรมหรือประชาชนตามจังหวัดต่างๆ ซึ่งเคยมีบทบาทในการเคลื่อนไหวทางการเมือง มักจะถูกจับตามองจากบรรดาเจ้าหน้าที่รัฐในฐานะ “บุคคลเฝ้าระวัง”

เจ้าหน้าที่โดยเฉพาะตำรวจ จะเข้าติดตามถึงที่บ้านหรือที่ทำงาน เพื่อสอบถามข้อมูลความเคลื่อนไหว และสอบถามว่าจะไป “รับเสด็จ” หรือไม่ หรือใช้วิธีโทรศัพท์เพื่อสอบถามข้อมูล หรือแม้แต่ไปคอยเฝ้าดูความเคลื่อนไหวที่หน้าบ้านตลอดช่วงที่มีการเสด็จฯ เช่น กรณีเยาวชนนักกิจกรรมในพื้นที่กรุงเทพฯ หรือการติดตามบัณฑิตที่เข้ารับปริญญา แต่เคยมีประวัติการเคลื่อนไหวทางการเมมือง ไปตลอดพิธี เช่น ที่จังหวัดพะเยา

.

เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบติดตามและเข้าถ่ายรูปกับบัณฑิตมหาวิทยาลัยพะเยา ซึ่งเคยเคลื่อนไหวทางการเมือง

.

นอกจากนั้น ยังพบรูปแบบการยกกำลังเจ้าหน้าที่มาเป็นจำนวนกว่า 30 – 40 นาย เพื่อควบคุมป้องกันไม่ให้นักกิจกรรมเข้าใกล้ “ขบวนเสด็จ” อาทิ กรณีการคุกคามนักกิจกรรมหญิงที่จังหวัดนครสวรรค์ หรือนักศึกษาในจังหวัดนครสวรรค์ไม่ต่ำกว่า 9 ราย หรืออีกกรณีคือ การติดตามคุกคามนักศึกษาหรือบัณฑิตก่อนมีการรับปริญญาที่จังหวัดชลบุรี จำนวนไม่น้อยกว่า 10 ราย รวมทั้งที่จังหวัดอุดรธานี

.

ภาพเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเข้าไปที่บ้านของนักศึกษาหญิงที่มหาวิทยาลัยบูรพา ระหว่างมีงานปริญญา

.

นอกจากนั้น ในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ ยังมีกรณีที่มีผู้ถูกตำรวจตามตัวถึงบ้าน เพียงเพราะไปร่วมแสดงความเห็นโพลล์ฺ “ขบวนเสด็จ” ที่จัดโดยนักกิจกรรมกลุ่มทะลุวังด้วย

โดยภาพรวม สถานการณ์การติดตามคุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐที่มีแนวโน้มสูงและเข้มข้นมากขึ้นในช่วงต้นปีนี้ ทำให้ยังต้องติดตามสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนนี้ในเดือนต่อๆ ไป

.

ประชาชนที่ถูกติดตามคุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐเนื่องจากการแสดงออกทางการเมือง สามารถแจ้งเรื่องร้องเรียนมาที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนในทุกช่องทาง

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

.

X