ครึ่งเดือนมีนา อัยการฟ้องอีก 4 คดี ม็อบแยกบางนา – คดีเยาวชนตั้งหมู่บ้านทะลุฟ้า – ม็อบ #ปล่อยเพื่อนเรา ต้นปี 64 – ม็อบทะลุแก๊สยังทยอยฟ้องอีก

ระหว่างวันที่ 1 – 15 มี.ค. 2565 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่า มีคดีเกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมืองในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ถูกสั่งฟ้องอีก 4 คดี ได้แก่ คดีสืบเนื่องจากการชุมนุมเดินขบวนจากห้างสรรพสินค้าอิมพีเรียลสำโรง มาแยกบางนา เมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2564 มีจำเลยเป็นนักกิจกรรมและผู้ชุมนุม 3 ราย ได้แก่ “เพชร” ธนกร ภิระบัน, “จัสติน” ชูเกียรติ แสงวงค์ และลำไย จันทร์งาม

คดีสืบเนื่องจากการเข้าสลายการชุมนุม “หมู่บ้านทะลุฟ้า” ในช่วงเช้ามืดของวันที่ 28 มี.ค. 2564 มีจำเลยเป็นเยาวชน 3 ราย ทั้งนี้ การสลายการชุมนุมเกิดขึ้น 2 ช่วง อีกครั้งคือในช่วงเย็น รวมจำเลยที่ถูกดำเนินคดีจากการสลายการชุมนุมทั้ง 2 ครั้ง 99 ราย

คดีสืบเนื่องจากการชุมนุมเมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2564 ที่บริเวณสกายวอร์ค แยกปทุมวัน #ปล่อยเพื่อนเรา มีจำเลยเป็นนักกิจกรรม 2 ราย คือ “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และ “แรปเตอร์” สิรภพ อัตโตหิ ถูกกล่าวหา 2 ข้อหา

และคดีสุดท้ายเป็นคดีที่สืบเนื่องจากการชุมนุมเมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2564 ที่แยกดินแดงของกลุ่ม “ทะลุแก๊ส” มีจำเลย 2 ราย ถูกกล่าวหา 6 ข้อหา ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่อ้างว่าตรวจเจอเสื้อเกราะกันกระสุนที่ตัวจำเลยขณะที่ถูกจับกุมอีกด้วย

.

.

สั่งฟ้อง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 3 นักกิจกรรม เหตุร่วมม็อบแยกบางนา ศาลให้ประกันไม่กำหนดเงื่อนไข

7 มี.ค. 2565 – พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญาพระโขนง 3 ได้มีคำสั่งฟ้องนักกิจกรรมทางการเมืองและผู้ร่วมชุมนุม ได้แก่ “เพชร” ธนกร ภิระบัน (จำเลยที่ 1), “จัสติน” ชูเกียรติ แสงวงค์ (จำเลยที่ 2), และ ลำไย จันทร์งาม (จำเลยที่ 3) ต่อศาลอาญาพระโขนง ในคดีความสืบเนื่องจากเข้าร่วมในการชุมนุมเมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2564 เคลื่อนขบวนจากห้างสรรพสินค้าอิมพีเรียลสำโรงมาแยกบางนา เพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัวแกนนำราษฎรที่ถูกคุมขังในช่วงดังกล่าว

ทั้งหมดถูกฟ้องในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ร่วมกันเดินเป็นขบวนในลักษณะกีดขวางการจราจร, ร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะ, และร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต

ในคดีนี้ยังมีผู้ถูกกล่าวหาอีก 2 ราย คือ “ตี้” วรรณวลี ธรรมสัตยา และ “ปูน” ธนพัฒน์ กาเพ็ง แต่ไม่ได้ถูกสั่งฟ้องในวันดังกล่าว เนื่องจากตี้ติดป่วยด้วยเชื้อโควิด ในขณะที่ปูนมีความเสี่ยงติดเชื้อ เนื่องจากได้ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ จึงเลื่อนฟ้องทั้ง 2 เป็นวันที่ 22 มี.ค. 2565

>>> 4 นักกิจกรรม ถูกย้อนแจ้งข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เหตุชุมนุมแยกบางนา #ม็อบ9มีนา เรียกร้องสิทธิประกันตัว

.

สำหรับคำฟ้องในคดี ระบุว่า เมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2564 จำเลยทั้ง 3 กับเยาวชนอีกราย แยกดำเนินคดีต่างหาก และพวกอีก 2 คน ได้ร่วมกันเดินขบวนจากสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสสำโรง มาตามถนนสุขุมวิท ถึงสี่แยกบางนา ในลักษณะกีดขวางการจราจร ร่วมกันจัดให้มีการชุมนุมทางการเมือง มีผู้เข้าร่วมราว 50 คน โดยการชุมนุมดังกล่าวไม่ได้มีมาตรการในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสตามที่ราชการกำหนด โดยจำเลยที่ 1 และ 2 ยังได้ใช้เครื่องขยายเสียงไฟฟ้าในการชุมนุมอีกด้วย มีเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้กล่าวหาในคดีคือ พ.ต.ท.ณรงศักดิ์ วงศ์สิงห์ จาก สน.บางนา

หลังจากที่อัยการมีคำสั่งฟ้อง ศาลได้อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในชั้นพิจารณา กำหนดหลักประกันรายละ 22,500 บาท รวม 67,500 บาท กำหนดนัดคุ้มครองสิทธิและตรวจพยานหลักฐาน วันที่ 5 เม.ย. 2565 เวลา 13.30 น.

.

ภาพการจับกุมชาวหมู่บ้านทะลุฟ้า เข้าไปใน บก.ตชด.ภาค 1 เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 64

.

สั่งฟ้อง 3 เยาวชน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เหตุสลายชุมนุม #หมู่บ้านทะลุฟ้า

8 มี.ค. 2565 – พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด (สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีเยาวชนและครอบครัว 3) ได้มีคำสั่งฟ้องผู้ร่วมชุมนุมเยาวชน 3 ราย ต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ในคดีความสืบเนื่องจากการการเข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มผู้ชุมนุม “หมู่บ้านทะลุฟ้า” ในช่วงเช้าวันที่ 28 มี.ค. 2564 โดยทั้งหมดถูกฟ้องข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน, กีดขวางการจราจร, พ.ร.บ.ความสะอาดฯ มาตรา 19, และร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต

ทั้งนี้ ในวันที่มีคำสั่งฟ้อง มีเยาวชน 1 ราย ที่ไม่ได้ตัวมาฟ้องในวันนี้ เนื่องจากติดเชื้อไวรัสโควิด อัยการจะแยกฟ้องอีกครั้ง สำหรับคดีหมู่บ้านทะลุฟ้านี้ ในกรณีของผู้ใหญ่ได้ถูกสั่งฟ้องที่ศาลแขวงดุสิตไปแล้วแยกเป็น 2 คดี รวมจำนวนผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด 93 คน

>>> สรุปคดีหมู่บ้านทะลุฟ้า จับมากสุดเป็นสถิติ 99 คน แจ้ง 5 ข้อหา ก่อนได้ประกันตัวทั้งหมด

>>> เพียง 1 เดือน หลังเข้าสลาย “หมู่บ้านทะลุฟ้า” ช่วงเช้ามืด อัยการยื่นฟ้องนักกิจกรรม-พระ-คนไร้บ้าน 61 ราย

>>> นัดสอบคำให้การ คดี “พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ” ปชช.และนักกิจกรรมทะลุฟ้า 93 ราย เหตุคฝ. สลายหมู่บ้านทะลุฟ้า 28 มี.ค.

.

สำหรับพฤติการณ์ตามคำฟ้อง ระบุว่า ในช่วงวันที่ 13 – 28 มี.ค. 2564 จำเลยทั้ง 3 กับพวกที่เป็นเยาวชนอีก 3 ราย แยกดำเนินการ กับจำเลยที่เป็นผู้ใหญ่ รวม 61 ราย ถูกดำเนินคดีโดยศาลแขวงดุสิต และประชาชนอีกจำนวน 300 คน ที่ไม่ตัวมาฟ้อง ได้ร่วมกันตั้งเวทีและเต็นท์ วางแผงเหล็ก ป้ายผ้า และสิ่งของบนช่องทางเดินรถถนนพระราม 5 บริเวณด้านหน้าศาลกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ข้างทำเนียบรัฐบาล ซึ่งเป็นทางสาธารณะในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจร รถไม่สามารถแล่นผ่านได้ 

ต่อมาจำเลยทั้งหมดได้ร่วมกันทำกิจกรรมตั้งหมู่บ้าน “ทะลุฟ้า” ที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในเขตพื้นที่ที่สถานการณ์ฉุกเฉินกำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษทางการเมือง ให้มีการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้มีการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112  และให้นายกรัฐมนตรีลาออก ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้มีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก และมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่าย โดยไม่จัดให้มีมาตรการป้องกันตามที่ทางราชการกำหนด อันเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดและประกาศเกี่ยวกับสถานการณ์ฉุกเฉิน

จำเลยทั้งหมดกับพวกได้ร่วมกันทำการโฆษณาโดยการปราศรัยบนเวที ชี้แจง แนะนำ และแสดงความคิดเห็นแก่ผู้เข้าร่วมทำกิจกรรม เป็นการใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต

หลังจากที่อัยการมีคำสั่งฟ้อง ศาลเยาวชนฯ ได้อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยใช้หลักประกันเดิมในชั้นสอบสวน และกำหนดนัดสอบคำให้การครั้งต่อไป วันที่ 9 พ.ค. 2565

.

ภาพการชุมนุมวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564

.

สั่งฟ้อง รุ้งแรปเตอร์ เหตุร่วมม็อบ 9 ก.พ. 64 #ปล่อยเพื่อนเรา ศาลให้ประกัน เรียกหลักทรัพย์รายละ 20,000 บาท

9 มี.ค. 2565 – พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 6 (ปทุมวัน) ได้มีคำสั่งฟ้อง 2 นักกิจกรรมทางการเมือง ได้แก่ “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และ “แรปเตอร์” สิรภพ อัตโตหิ ต่อศาลแขวงปทุมวัน ในข้อหา ร่วมกันฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ในคดีสืบเนื่องจากเข้าร่วมการชุมนุม #ปล่อยเพื่อนเรา เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2564 ที่บริเวณสกายวอล์ค หน้าห้างมาบุญครอง

คดีนี้มีจำเลยนักกิจกรรมทางการเมืองที่ถูกฟ้องคดีจากการร่วมชุมนุมดังกล่าวอีก 7 ราย โดยทั้งหมดถูกฟ้องไปก่อนหน้านี้แล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2565

คดีนี้ พนักงานสอบสวนไม่เคยยื่นคำร้องฝากขังในชั้นสอบสวนแต่อย่างใด ภายหลังจากที่อัยการมีคำสั่งฟ้อง ศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลย กำหนดหลักทรัพย์ประกันรายละ 20,000 บาท กำหนดนัดพร้อม สอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐานวันที่ 23 พ.ค. 2565

>>> ต้นกุมภา อัยการฟ้องคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อีก 3 คดี เหตุชุมนุมหน้า สภ.คลองหลวง – #ตีหม้อไล่เผด็จการ – #ปล่อยเพื่อนเรา สกายวอล์คปทุมวัน ตั้งแต่ต้นปี 64

.

สั่งฟ้อง 2 ผู้ชุมนุม #ทะลุแก๊ส 29 ส.ค. 64 เจ้าหน้าที่ระบุเจอเสื้อเกราะที่ตัวจำเลย ศาลให้ประกันโดยใช้หลักประกันเดิม

15 มี.ค. 2565 – พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด (สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4) ได้มีคำสั่งฟ้อง รังสรรค์ และ ปราณี (สงวนนามสกุล) เหตุเข้าร่วมในการชุมนุมที่บริเวณแยกสามเหลี่ยมดินแดงเมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2564 โดยถูกฟ้องในข้อหาฐานร่วมกันมียุทธภัณฑ์โดยไม่ได้รับอนุญาต, ปิดบังไม่แสดงแผ่นป้ายทะเบียนรถ, มั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป โดยผู้ร่วมกระทำการคนหนึ่งคนใดมีอาวุธ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 และไม่ยอมเลิกมั่วสุมตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน ตาม มาตรา 216, ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เรื่องการชุมนุม, และร่วมกันชุมนุมหรือทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค

>>> ม็อบ29สิงหา วันที่ คฝ. สลายชุมนุม “เยาวชนทะลุแก๊ส” โดยไม่มีอำนาจ แต่จับ 37 ราย ดำเนินคดี 29 ราย เป็นเยาวชน 13 ราย

.

สำหรับพฤติการณ์ตามคำฟ้อง ระบุว่า เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2564 จำเลยทั้ง 2 ได้มีเสื้อเกราะป้องกันกระสุน ซึ่งเป็นยุทธภัณฑ์ที่ต้องมีการขออนุญาตในการครอบครองตาม พ.ร.บ.ควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ.2564 และยังขับรถมอเตอร์ไซค์บริเวณถนนดินแดง มีการปิดบังป้ายทะเบียนรถ

จำเลยยังมีการรวมตัวกันชุมนุมกับพวกมากกว่า 25 คน จัดกิจกรรมมั่วสุมใต้ทางด่วนดินแดง เป็นการชุมนุมที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ ไม่มีมาตรการป้องกันการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ตามที่ทางรัฐบาลกำหนด จำเลยทั้ง 2 กับพวกยังทำการพกพาหนังสติ๊กและลูกแก้วที่สามารถใช้ทำอันตรายได้มาร่วมชุมนุม เมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกมั่วสุม กลับไม่ยอมเลิก ทำการจุดไฟเผายางรถยนต์และวัสดุอื่นๆ กลางถนน ทั้งยังร่วมกันใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญ เจ้าหน้าที่ที่เข้ามาทำหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยโดยการขว้างปาสิ่งของต่างๆ ใส่ มีเจตนาต้องการทำร้ายถึงขั้นสาหัส

ต่อมา วันที่ 29 ส.ค. 2564 เจ้าพนักงานสามารถจับกุมทั้ง 2 ได้ พร้อมเสื้อเกราะ ถังบรรจุน้ำมัน ขวดบรรจุน้ำมัน แกลลอนกรอกน้ำมัน และสิ่งของที่ใช้กระทำความผิดอื่นๆ ทำการสอบสวนแล้ว ทั้งหมดให้การปฏิเสธ 

ระหว่างสอบสวน พนักงานสอบสวนได้เคยยื่นคำร้องฝากขังจำเลย ศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว กำหนดหลักประกันเป็นเงินรายละ 35,000 บาท ใช้เงินจากกองทุนราษฎรประสงค์ หลังจากที่อัยการมีคำสั่งฟ้อง ศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยทั้งสองในชั้นพิจารณาโดยใช้หลักประกันเดิม กำหนดนัดตรวจพยานหลักฐานวันที่ 25 เม.ย. 2565 เวลา 9.00 น.

.

X