4 นักกิจกรรม ถูกย้อนแจ้งข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เหตุชุมนุมแยกบางนา #ม็อบ9มีนา เรียกร้องสิทธิประกันตัว

วันที่ 11 สิงหาคม 2564 ที่สน.บางนา 4 นักกิจกรรม ได้แก่ ชูเกียรติ แสงวงค์ หรือ “จัสติน”, วรรณวลี ธรรมสัตยา หรือ “ตี้ พะเยา”, ลำไย จันทร์งาม, ธนกร (สงวนนามสกุล) หรือเพชร เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน ตามหมายเรียก เหตุจากการร่วมชุมนุม #ม็อบ9มีนา เดินขบวนจากอิมพีเรียลสำโรง ไปยังแยกบางนา เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2564 เพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัวแกนนำราษฎรที่ถูกคุมขังในช่วงดังกล่าว

ก่อนหน้านี้นักกิจกรรมทยอยได้รับหมายเรียกในคดีที่มี พ.ต.ท.ณรงค์ศักดิ์ วงค์สิงห์ เป็นผู้กล่าวหา โดยพบว่ามีผู้ถูกออกหมายเรียก 6 คน โดยอีก 2 ราย ยังไม่ได้เดินทางมา ได้แก่ ธนพัฒน์ (สงวนนามสกุล) หรือ “ปูน” ซึ่งขณะนี้ถูกคุมขังเนื่องจากไม่ได้รับการประกันตัวในคดี #ม็อบ2สิงหา ชุมนุมหน้า บก.ตชด.ภาค 1 และมีผู้ร่วมชุมนุมอีกหนึ่งรายที่ยังไม่ได้มารับทราบข้อหาในวันนี้

ในการแจ้งข้อกล่าวหา มี พ.ต.ท.เศกสิทธิ์ แพลอย รองผู้กำกับ (สอบสวน) สน.บางนา, พ.ต.ต.ภานุพงศ์ นิ่มสุวรรณ์ สารวัตรสอบสวน สน.บางนา, ร.ต.อ.ณัฐพสิษฐ์ ทองเจริญพร และ ร.ต.อ.กองพล วงค์จันทร์ รองสารวัตรสอบสวน สน.บางนา เป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหาต่อทั้ง 4 คน

โดยสรุปตำรวจกล่าวหาว่า ก่อนเกิดเหตุกลุ่มผู้ชุมนุมได้โพสต์เฟซบุ๊กนัดรวมตัวดาวกระจายกันที่ BTS สำโรง ใกล้ห้างอิมพีเรียลสำโรง ในวันที่ 9 มีนาคม 2564 เวลา 16.00 น.

จนถึง เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2564 เวลาประมาณ 17.00 น. ได้มีกลุ่มมวลชนประมาณ 50 คน รวมตัวกันที่หน้าห้างอิมพิเรียล สำโรง โดยมีแกนนำใช้โทรโข่งพูดปราศรัยเรียกร้องทางการเมือง โดยต้องการให้นายกรัฐมนตรีลาออกและแก้ไขรัฐธรรมนูญ

จากนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมเดินเท้ามุ่งหน้าเข้าสี่แยกบางนา มีแกนนำใช้โทรโข่งพูดปราศรัยมาตลอดทาง จนถึงบริเวณสี่แยกบางนา และเวลา 18.30 น. ได้มีรถกระบะบรรทุกเครื่องขยายเสียงมาจอด และเปิดเครื่องเสียงให้กับกลุ่มผู้ต้องหาซึ่งเป็นแกนนำสลับกันปราศรัยเกี่ยวกับการบริหารงานของรัฐบาล และมีข้อเรียกร้องให้ประยุทธ์ฯ ลาออก จนถึงเวลา 22.00 น. จึงเลิกการชุมนุม

ช่วงเวลาเกิดเหตุมีประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่องห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุม ที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ฉบับที่ 5)

.

.

พนักงานสอบสวนจึงแจ้งข้อหาว่าผู้ต้องหาทั้ง 4 คน ร่วมกระทำความผิด 4 ฐานความผิด ได้แก่

1. ร่วมกันชุมนุมฯ อันเป็นการฝ่าฝืนประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่องห้ามการชุมนึมการทำกิจกรรมการมั่วสุมที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ฉบับที่ 5) ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548” (ฉบับที่ 15) ข้อ 3

2. เดินแถวเป็นขบวนแก่หรือเดินเป็นขบวนใด ๆ ลักษณะที่เป็นการกีดขวางทางจราจร ตาม พ.ร.บ.จราจรฯ มาตรา 108, 148

3. ทำการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ มาตรา 4,9

4. กีดขวางทางสาธารณะจนอาจเป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัยหรือความสะดวก ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 385

ผู้ต้องหาทุกคนให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะยื่นคำให้การเป็นหนังสือภายในวันที่ 30 สิงหาคม 64 พนักงานสอบสวนไม่ได้ควบคุมตัวไว้ และนัดหมายส่งสำนวนคดีให้พนักงานอัยการในวันที่ 1 กันยายน 64

ทั้งนี้ “เพชร” ธนกร ก่อนหน้านี้เคยถูกดำเนินคดีทางการเมืองในฐานะเยาวชน แต่หลังอายุครบ 18 ปี เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ทำให้คดีนี้เพชรถูกดำเนินกระบวนการเช่นเดียวกับคดีของผู้ใหญ่แล้ว

สำหรับการชุมนุมเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2564 ยังเกิดขึ้นภายหลังเมื่อวันที่ 8 มีนาคม ศาลอาญามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว “รุ้ง” ปนัสยา, “ไมค์” ภาณุพงศ์”, “ไผ่” จตุภัทร์ ภายหลังถูกอัยการสั่งฟ้องคดีชุมนุม “19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร” รวมทั้งไม่ให้ประกันตัว “โตโต้” ปิยรัฐ ในคดีจับกุมกลุ่มวีโว่ ทำให้มีการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิในการประกันตัว

.

ภาพประกอบจากเหตุการณ์ชุมนุมเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2564 ที่สี่แยกบางนา ภาพจากทวิตเตอร์ iLaw

.

X