ศาลอุทธรณ์แก้ ยกฟ้อง ม.215 คดี “สองสามีภรรยา” ขับรถจากที่ชุมนุมดินแดงปี 64 แต่เห็นว่าผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ-ครอบครองเสื้อเกราะ โดยให้รอการลงโทษจำคุก

29 ม.ค. 2568  ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในคดีของ “รังสรรค์” และ “ปราณี” (สงวนนามสกุล)  คู่สามีภรรยาอายุ 52 และ 48 ปี ในเหตุที่ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนจับกุมและตรวจค้นรถยนต์ พบเสื้อเกราะ บริเวณสะพานข้ามสามเหลี่ยมดินแดง ในเหตุการณ์ชุมนุมบริเวณแยกดินแดงเมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2564  ในศาลชั้นต้นได้พิพากษาว่าทั้งคู่มีความผิดตามฟ้อง ลงโทษจำคุกคนละ 1 ปี 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นให้ยกฟ้องในข้อหาตามมาตรา 215 และแก้ไขโทษเป็นจำคุก 12 เดือน โดยให้รอลงอาญาไว้

.

จำเลยรับข้อหาครอบครองเสื้อเกราะ-ปิดบังทะเบียนรถ แต่ต่อสู้เรื่องการไปชุมนุม ศาลชั้นต้นเห็นว่าผิด ลงโทษจำคุก 1 ปี 6 เดือน

ทั้งคู่ถูกจับกุมในวันเกิดเหตุ 29 ส.ค. 2564 เวลาประมาณ 19.30 น. โดยในช่วงดังกล่าวมีการชุมนุมของประชาชนที่เรียกตัวเองว่า #ทะลุแก๊ส มีการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจบริเวณสามเหลี่ยมดินแดงแทบจะรายวัน เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชน 10 นาย อ้างว่าพบว่าทั้งสองเป็นผู้ร่วมชุมนุมได้ขณะขับรถออกจากที่ชุมนุม จึงเข้าตรวจค้น พบถังน้ำมัน, ขวดน้ำดื่มบรรจุน้ำมัน 10 ขวด, หน้ากากกันแก๊ส 1 อัน, เสื้อเกราะกันกระสุน 1 ตัว และอื่น ๆ รวมทั้งพบหน้ากากอนามัยปิดบังแผ่นป้ายทะเบียนรถ จึงยึดไว้เป็นของกลางพร้อมรถยนต์ พร้อมทั้งตรวจยึดโทรศัพท์มือถือรวม 2 เครื่อง ไว้เป็นวัตถุพยาน อ้างว่าผู้ถูกจับกุมใช้ในการถ่ายรูปและนัดหมายเข้าร่วมการชุมนุม

ทั้งคู่ถูกควบคุมตัวไปที่กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) และถูกแจ้ง 5 ข้อหา ได้แก่ ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 และ 216 มั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้ายให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง และเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกแล้วไม่เลิก, ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ข้อหามียุทธภัณฑ์ไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต (เสื้อเกราะ) และข้อหาร่วมกันนำวัสดุปิดบังป้ายทะเบียน ตาม พ.ร.บ.รถยนต์ฯ

ต่อมาทั้งคู่ได้รับการประกันตัว และถูกสั่งฟ้องคดีต่อศาลอาญาเมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2565 ในชั้นศาล ทั้งคู่ให้การรับสารภาพในข้อหาตาม พ.ร.บ.ยุทธภัณฑ์ฯ และ พ.ร.บ.รถยนต์ฯ แต่ในข้อหาอื่น ๆ ยืนยันให้การปฏิเสธ

วันที่ 7 ก.ย. 2566 ศาลอาญามีคำพิพากษาเห็นว่าทั้งคู่มีความผิดตามฟ้อง โดยในข้อหาที่ให้การปฏิเสธ ศาลเห็นว่าพยานโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจเบิกความทำนองเดียวกันว่า จับกุมทั้งสองได้ใกล้สามเหลี่ยมดินแดง  ทั้งสองขับรถมาจากทางที่ชุมนุม ใช้หน้ากากอนามัยปิดป้ายทะเบียน จึงเชื่อว่าหากไม่ได้ร่วมชุมนุมก็ไม่มีความจำเป็นต้องปิดป้ายทะเบียน เชื่อได้ว่าจำเลยทั้งสองเข้าร่วมชุมนุม แต่พยานหลักฐานยังเชื่อไม่ได้ว่าทั้งสองมีส่วนร่วมในการใช้ประทัดปาใส่เจ้าหน้าที่

จำเลยทั้งสองนำสืบว่าไม่ได้เข้าร่วมชุมนุม โดยไปทำงานติดตั้งลิฟต์ตั้งแต่เวลา 9.00 – 18.30 น. มาทำงานโดยรับแจ้งผ่านทางไลน์ กำลังขับรถกลับบ้าน แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจนำตู้คอนเทนเนอร์มาปิดเส้นทาง แจ้งให้ไปทางอื่น จึงเปลี่ยนเส้นทาง จนถูกตรวจค้นและจับกุม แต่จำเลยไม่มีหลักฐานหรือพยานบุคคลมาแสดง จึงเห็นว่าไม่สามารถหักล้างพยานโจทก์ได้ 

พิพากษาว่า ในข้อหาตาม พ.ร.บ.ยุทธภัณฑ์ฯ ลงโทษจำคุกคนละ 1 ปี และข้อหาตาม พ.ร.บ.รถยนต์ฯ ลงโทษปรับคนละ 2,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือจำคุกคนละ 6 เดือน และปรับคนละ 1,000 บาท 

ส่วนข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ มาตรา 215 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทหนักสุด คือ มาตรา 215 ลงโทษจำคุกคนละ 1 ปี รวมลงโทษจำคุกคนละ 1 ปี 6 เดือน และปรับคนละ 1,000 บาท ให้ริบเสื้อเกราะ และหน้ากากอนามัย

ต่อมาศาลอนุญาตให้ประกันตัวทั้งคู่ระหว่างอุทธรณ์ โดยให้วางหลักประกันคนละ 1 แสนบาท ได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ และทั้งคู่ได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาต่อมา

.

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ เป็นยกฟ้อง ม.215 ลงโทษจำคุกเหลือ 12 เดือน และให้รอลงอาญา

วันนี้ รังสรรค์และปราณีเดินทางมาฟังคำพิพากษาที่ห้องพิจารณคดีที่ 909  ศาลอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์โดยสรุป ในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ศาลเห็นว่า แม้โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานว่าจำเลยทั้งสองเข้าร่วมการชุมนุม เพียงแต่เห็นว่ารถยนต์ขับมาจากทางที่มีการชุมนุม แต่ได้ความจากพยานโจทก์ผู้จับกุมจำเลยทั้งสองว่าพบรถยนต์ของจำเลยทั้งสองในที่ชุมนุม สอดคล้องกับแผนที่สังเขปแสดงการชุมนุม 

ที่จำเลยทั้งสองอ้างว่ากำลังขับรถกลับจากที่ทำงานนั้น แต่เห็นว่าวันเกิดเหตุเป็นวันอาทิตย์ จำเลยไม่มีพยานหลักฐานมาแสดงว่าไปทำงานจริง เป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ อีกทั้งจำเลยยังใช้หน้ากากอนามัยปิดบังแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ พร้อมตรวจพบเสื้อเกราะและหน้ากากกันแก๊ส ซึ่งผิดปกติวิสัยในการทำงาน ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องว่าจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ตามศาลชั้นต้น พิพากษาจำคุกคนละ 6 เดือน ปรับคนละ 5,000 บาท

ส่วนในข้อหาตามมาตรา 215 ศาลอุทธรณ์เห็นว่า แม้พยานโจทก์จะเบิกความว่าผู้ชุมนุมมีการใช้ประทัดและใช้กำลังประทุษร้าย แต่ไม่มีพยานโจทก์คนใดเบิกความยืนยันว่าพบเห็นจำเลยทั้งสองกระทำการประทุษร้ายหรือใช้อาวุธ หรือเป็นผู้เกี่ยวข้องกับการใช้กำลังปะทะกับเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วยกับศาลชั้นต้น จึงให้ยกฟ้องในข้อหานี้

ส่วนข้อหาครอบครองยุทธภัณฑ์โดยไม่ได้รับอนุญาต ศาลอุทธรณ์เห็นว่า จำเลยทั้งสองครอบครองเสื้อเกราะเพียง 1 ตัว อ้างว่าเพื่อใช้ป้องกันตัว พฤติการณ์ไม่ได้ร้ายแรง จึงพิพากษาจำคุกคนละ 1 ปี ปรับคนละ 10,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพในข้อหานี้ ลดโทษลงกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุกคนละ 6 เดือน ปรับคนละ 5,000 บาท

ในข้อหาปิดบังแผ่นป้ายทะเบียน อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.รถยนต์ฯ พิพากษาปรับเช่นเดียวกับศาลชั้นต้น ปรับคนละ 1,000 บาท แต่ให้แก้เป็นปรับเป็นพินัย

รวมพิพากษาจำคุกคนละ 12 เดือน ปรับคนละ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี และให้พบพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง (จำเลยถูกควบคุมตัวหลังถูกจับกุมเป็นระยะเวลา 2 วัน จึงหักจำนวนค่าปรับ 500 บาทต่อวัน)

.

X