อัยการสั่งไม่ฟ้องคดีชุมนุม P-move และ Saveบางกลอย ชี้ไม่ถึงขนาดแออัด-เสี่ยงโรค ไม่มีการยุยงให้เกิดความไม่สงบ

เมื่อต้นเดือนเมษายน 2566 คณะทำงานของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move) ได้รับแจ้งคำสั่งไม่ฟ้องคดีของพนักงานอัยการฝ่ายคดีศาลแขวง 3 จำนวน 2 คดี ที่มีนักพัฒนาเอกชน นักกิจกรรม และประชาชนรวม 14 คน ถูกกล่าวหาในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมของ P-move เมื่อช่วงเดือนมกราคม 2565 และการชุมนุมของภาคี #Saveบางกลอย เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2565

สำหรับทั้งสองคดีนี้ เป็นคดีที่มีตำรวจ สน.นางเลิ้ง เป็นผู้กล่าวหา ทางผู้ได้รับหมายเรียกได้เดินขบวนไปรับทราบข้อกล่าวหาเมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2565 ต่อมาตำรวจส่งสำนวนคดีให้พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 3 (ดุสิต) พิจารณา และมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีทั้งสองในที่สุด

.

ภาพการชุมนุมของ P-move (ภาพจากเพจ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม P-move)

.

คดีชุมนุม P-move ปักหลักเรียกร้องแก้ไขปัญหาที่ดิน

คดีนี้มี พ.ต.ท.จงศักดิ์ ชาญศรี เป็นผู้กล่าวหาต่อ จำนงค์ หนูพันธ์ กับพวกรวม 10 คน โดยกล่าวหาว่าช่วงระหว่างวันที่ 20-23 ม.ค. 2565 ทางกลุ่มขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move) และเครือข่ายสลัม 4 ภาค ได้จัดกิจกรรมชุมนุมกันที่เกาะกลางถนนหน้าองค์การสหประชาชาติ (UN) เพื่อยื่นข้อเสนอในการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะปัญหาจากนโยบายการจัดการที่ดินและที่อยู่อาศัยของรัฐ ต่อนายกรัฐมนตรี มีมวลชนมาเข้าร่วมชุมนุมประมาณ 80 คน โดยปักหลักชุมนุมต่อเนื่อง

ระหว่างนั้นได้มีการเคลื่อนขบวนไปยังบ้าน พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่รับผิดชอบของ สน.นางเลิ้ง ผู้กล่าวหาเห็นว่าเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย และเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงมาแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษ

ต่อมา น.ส.ชญาณี สุขะปุณพันธ์ อัยการประจำกอง ได้มีคำสั่งไม่ฟ้องคดีนี้ เนื้อหาคำวินิจฉัยโดยสรุปเห็นว่า ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 15) ข้อ 3 ซึ่งระบุว่า “การห้ามชุมนุม การมิให้มีการชุมนุมการทำกิจกรรม หรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัด หรือกระทำการดั่งกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย…” มีประเด็นสำคัญที่ต้องนำมาวินิจฉัย คือ

ประเด็นแรก ความหมายของคำว่า “สถานที่แออัด” ย่อมหมายถึงกรณีมีผู้ชุมนุมที่มีผู้ชุมนุมหนาแน่นตลอดพื้นที่ของสถานที่ อันเป็นสภาพที่บุคคลทุกคนในสถานที่ดังกล่าว ไม่สามารถเว้นระยะห่าง จนทำให้พื้นที่ทั้งหมดหรือส่วนใหญ่ของสถานที่ มีสภาพอันเสี่ยงต่อการใกล้ชิดสัมผัส ไม่ได้ขยายความรวมถึงกรณีที่มีการรวมกลุ่มคนใกล้ชิดกันในพื้นที่เพียงบางส่วนของสถานที่ชุมนุมแต่อย่างใด ซึ่งเมื่อพิจารณาจากสถานที่เกิดเหตุ คือบริเวณเกาะกลางหน้าองค์การสหประชาชาตินั้น มีลักษณะเป็นสถานที่เปิดโล่ง อากาศสามารถถ่ายเทได้สะดวก มีพื้นที่ว่างให้บุคคลสามารถยืนโดยเว้นระยะห่างมากเพียงพอ ประชาชนสามารถเคลื่อนย้ายได้โดยอิสระ สถานที่ชุมนุมจึงไม่มีสภาพเป็นสถานที่แออัด กรณีจึงถือไม่ได้ว่าผู้ต้องหาร่วมกันชุมนุมหรือทำกิจกรรมในสถานที่แออัด

ประเด็นที่ 2 คือ การกระทำดังกล่าวนั้นมีลักษณะเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยหรือไม่ เมื่อพิจารณาพยานหลักฐานจากสำนวนโดยละเอียดแล้ว การร่วมกันชุมนุมดังกล่าวนั้นมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ เพื่อร่วมกันเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม โดยเฉพาะเรื่องปัญหาจากนโยบายการจัดการที่ดินและที่อยู่อาศัยของรัฐ อันถือเป็นการแสดงความคิดเห็นและแสดงออกถึงข้อเรียกร้องของผู้ร่วมชุมนุมผ่านทางการทำกิจกรรมรวมกลุ่มโดยทั่วไปเท่านั้น มีเพียงการปักหลักชุมนุมโดยมีการใช้เครื่องขยายเสียงและเคลื่อนขบวนไปยื่นหนังสือที่ทำเนียบรัฐบาล

จากพยานหลักฐานในสำนวน ไม่ปรากฏว่าผู้ต้องหาทั้ง 10 ได้พูดหรือกระทำการอื่นใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยขึ้น ไม่ปรากฏความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินของประชาชนอื่นๆ จากการชุมนุมดังกล่าว กรณีจึงไม่เป็นการร่วมกันชุมนุม ทำกิจกรรม อันมีลักษณะยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย

.

ภาพการชุมนุมภาคี #Saveบางกลอย เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2565 (ภาพจากเพจ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม P-move)

.

คดีชุมนุม #Saveบางกลอย ตามหาประยุทธ์ ถามความคืบหน้าแก้ปัญหาบางกลอย

สำหรับคดีชุมนุมของ “ภาคี Save บางกลอย” นั้น มี พ.ต.ท.บุญโปรด แสงทับทิม เป็นผู้กล่าวหาต่อ พชร คำชำนาญ กับพวกรวม 5 คน (พชรเป็นเพียงคนเดียวที่ถูกกล่าวหาในทั้งสองคดี) โดยคดีนี้นอกจากข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แล้วทั้งห้าคนยังถูกกล่าวหาในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 มั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป และมาตรา 216 ไม่เลิกมั่วสุมตามคำสั่งเจ้าพนักงานอีกด้วย 

ข้อกล่าวหาระบุว่า ทางเพจเฟซบุ๊ก “ภาคี save บางกลอย” ได้นัดหมายมวลชนทำกิจกรรม ที่หน้าโรงเรียนราชวินิต ถนนพิษณุโลก ในวันที่ 1 ก.พ. 2565  เพื่อวางแนวทางและข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม โดยเฉพาะปัญหาจากนโยบายการจัดการที่ดินและที่อยู่อาศัยของรัฐ และตามหานายกรัฐมนตรีเพื่อลงนามในคณะกรรมการแก้ปัญหาบางกลอย ต่อมากลุ่มผู้ต้องหาและกลุ่มผู้ชุมนุมประมาณ 200 คน ได้เดินทางมายังหน้ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร อันเป็นสถานที่เกิดเหตุ โดยมีการกางเต็นท์ผ้าใบป้องกันแดด และมีการมั่วสุมในพื้นที่ดังกล่าว และได้มีการเคลื่อนขบวนไปประชิดแผงรั้วกั้นของเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน เวลาต่อมากลุ่มผู้ชุมนุมได้รื้อแผงรั้วกั้นออก และมีการใช้กำลังต่อเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้น

นายนรบดี สุริโย อัยการประจำกอง ได้มีคำสั่งไม่ฟ้องคดีนี้ โดยวินิจฉัยว่า มีประเด็นในคดีที่จะต้องนำมาพิจารณาคือ ผู้ต้องหาทั้ง 5 คน ได้ร่วมกันชุมนุมในสถานที่แออัด และกระทำการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยหรือไม่

ประเด็นแรก อัยการได้วินิจฉัยความหมายของคำว่า “สถานที่แออัด” ในทำนองเดียวกับคดีแรกข้างต้น และเห็นว่าในคดีนี้เกิดขึ้นที่บริเวณถนนพิษณุโลก ซึ่งเป็นทางเดินเท้าขนาดใหญ่ เป็นพื้นที่เปิดโล่ง มิได้มีลักษณะเป็นสถานที่ปิด หรือทำให้ผู้คนในบริเวณนั้นที่สัญจรไปมาต้องถูกบีบบังคับให้อยู่ในบริเวณที่จำกัด ไม่สามารถเดินทางเข้า-ออกได้อย่างอิสระได้ และจากพยานหลักฐานก็เห็นว่า ในวันชุมนุมดังกล่าวนั้น สถานที่ชุมนุมยังมีพื้นที่ว่างเหลืออยู่ให้ผู้ชุมนุมได้เว้นระยะห่างระหว่างกันได้ อีกทั้งส่วนใหญ่ผู้เข้าร่วมชุมนุมหรือประชาชนทั่วไปเอง หากไม่ได้ใช้ยานพาหนะในการสัญจรแล้ว ก็สามารถเดินเข้า-ออกบริเวณดังกล่าวได้โดยอิสระ มิได้ถูกจำกัดให้อยู่ในสถานที่ปิดแต่อย่างใด ดังนั้นการชุมนุมดังกล่าวของผู้ต้องหาทั้ง 5 และผู้ชุมนุมคนอื่นๆ จึงไม่อาจถือว่าเป็นการชุมนุมในสถานที่แออัดตามความหมายของข้อกำหนดดังกล่าว

ประเด็นที่ 2 เรื่อง “การยุยง” อัยการเห็นว่าต้องพิจารณาว่าในการชุมนุมนั้น มีผู้ใดปราศรัยหรือกระทำใดอันเป็นการยุยงบ้างหรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่ามีการปราศรัยให้มวลชนเข้าประชิดแนวรั้วของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และมีการปราศรัยเกี่ยวกับปัญหาของชาวบางกลอย แต่ไม่ปรากฏว่ามีการปราศรัยยุยงให้ผู้ชุมนุมก่อให้เกิดความไม่สงบ คงมีแต่การปราศรัยถึงข้อเรียกร้อง กิจกรรมขับร้องเพลง ตั้งวงพูดคุยกับรัฐมนตรี และการแถลงข่าวของแกนนำที่เข้าไปเจรจากับเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ ซึ่งตลอดเวลาที่มีการปราศรัยย่อมมีโอกาสที่ผู้ปราศรัยจะปราศรัยยุยงให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมซึ่งมีจำนวนมาก ก่อความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นได้ แต่การชุมนุมกลับเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย การชุมนุมดังกล่าวจึงมิใช่การยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยตามหมายความของข้อกำหนดดังกล่าว

ประเด็นที่ 3 ประเด็นว่าผู้ต้องหาทั้ง 5 ได้ร่วมกันจัดการชุมนุมที่ไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ทำให้เกิดความเสี่ยงในการติดต่อสัมผัสที่สามารถแพร่โรคได้หรือไม่ กรณีนี้ผู้กล่าวหาไม่ได้ยืนยันว่าผู้ต้องหาทั้ง 5 เป็นผู้ร่วมจัดการชุมนุมหรือเป็นบุคคลสำคัญที่ทำให้การชุมนุมนี้เกิดขึ้น หรือยืนยันว่ามีอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการชุมนุมเป็นของหรือเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับผู้ต้องหาทั้ง 5 หรือไม่ ปรากฏเพียงว่าผู้ต้องหาทั้ง 5 นั้นได้ยืนร่วมอยู่ในการทำกิจกรรมดังกล่าว และมีผู้ต้องหาที่ 1 และ 2 เข้าไปร่วมพูดคุยติดตามความคืบหน้าจากเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจเท่านั้น ไม่อาจถือได้ว่าเป็นผู้ริเริ่มให้มีการชุมนุมขึ้น จึงฟังไม่ได้ว่าผู้ต้องหาทั้ง 5 เป็นผู้จัดกิจกรรมที่มีหน้าที่ในการขออนุญาตจัดกิจกรรม

.

ภาพการเข้ารับทราบข้อกล่าวหาของเครือข่าย P-move เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2565 ภาพจากเพจ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม P-move)

.

ประเด็นที่ 4 เรื่องประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมนุม มั่วสุม อันจะก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ กรณีนี้จากพยานหลักฐานในสำนวนพบว่า ผู้เข้าร่วมชุมนุมเกือบทั้งหมดมีการสวมหน้ากากอนามัย และโดยเฉพาะในช่วงที่รัฐมนตรีได้เข้าร่วมพูดคุยกับประชาชน ก็มีการประกาศให้จัดเตรียมเจลแอลกอฮอล์สำหรับล้างมือ และจัดให้มีการนั่งเว้นระยะห่างระหว่างกันเพื่อป้องกันการแพร่โรค จึงเห็นว่าการชุมนุมมีความระมัดระวังการแพร่ระบาดของโรคด้วยการปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขตามที่ทางราชการกำหนดแล้ว กรณีจึงไม่อาจคาดเห็นได้ว่าการมาร่วมชุมนุมดังกล่าวจะเป็นปัจจัยที่เสี่ยงต่อการแพร่โรคเพียงใด ประกอบกับไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าจากการชุมนุมดังกล่าวทำให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 หรือไม่

นอกจากนี้ หากผู้ชุมนุมมีเจตนาที่จะกลั่นแกล้งแพร่โรค หรือฉวยโอกาสซ้ำเติมความเดือดร้อนของผู้ประชาชนแล้ว ย่อมไม่มีความจำเป็นใดที่ผู้ชุมนุมส่วนมากจะต้องสวมหน้ากากอนามัยที่มีจุดประสงค์เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อและป้องกันการรับเชื้อเข้าสู่ร่างกายผ่านการหายใจอีก ประกอบกับในส่วนของการทำกิจกรรม ก็ไม่ปรากฏว่ามีลักษณะเชิญชวน หรือบังคับให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมถอดหน้ากาอนามัยระหว่างทำกิจกรรม หรือมีกิจกรรมให้สัมผัสร่างกายกัน หรือมีการห้ามมิให้ผู้ชุมนุมเว้นระยะห่างระหว่างกัน หรือมีกิจกรรมที่มีลักษณะทำให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ได้โดยง่าย กรณีจึงยังไม่เพียงพอให้รับฟังได้ว่าเป็นการมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่โรคฯ

ประเด็นสุดท้าย เรื่องการชุมนุมมั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 เห็นว่าคำว่า “ประทุษร้าย” นั้น ต้องเป็นการทำการประทุษร้ายแก่กายหรือจิตใจของบุคคล ไม่ว่าจะทำด้วยใช้แรงกายภาพ หรือด้วยวิธีอื่นใด และให้ความหมายรวมถึงการกระทำใดๆ ซึ่งเป็นเหตุให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ แต่ในกรณีนี้ ตามข้อเท็จจริงที่ว่ามีผู้ชุมนุมรื้อแผงรั้วเหล็กกั้นของเจ้าหน้าที่และพยายามฝ่าแผงรั้วมานั้น เป็นการกระทำต่อทรัพย์ มิได้กระทำต่อร่างกายหรือจิตใจของผู้ใด ย่อมไม่ถือว่าเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายตามหมายความของกฎหมาย

ส่วนการที่มีผู้ชุมนุมผลักดันกับเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนนั้น แม้ลักษณะการผลักดันโดยเจ้าหน้าที่มีโล่กำบังกายเป็นเครื่องป้องกัน ทั้งลักษณะการผลักดันมิได้มีลักษณะเป็นการมุ่งทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายหรือจิตใจของเจ้าหน้าที่ กับทั้งไม่ปรากฏว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือได้รับอันตรายจากการกระทำดังกล่าว  

คงเหลือประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อไปว่า ผู้ชุมนุมทำให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองหรือไม่ ปรากฏตามวัตถุพยานว่าเจ้าหน้าที่ได้วางแผงเหล็กกั้นตลอดช่องทางถนนพิษณุโลก ประชาชนทั่วไปย่อมไม่อาจสัญจรไป-มาในพื้นที่ดังกล่าวได้ ส่วนที่เกิดเหตุบริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ ซึ่งมีการวางตู้คอนเทนเนอร์ขนาดใหญ่ขวางอยู่ โดยไม่มีพยานหลักฐานยืนยันว่ามีผู้ชุมนุมมีอาวุธอย่างใดที่อาจก่อให้เกิดอันตรายในพื้นที่โดยรอบ หรือก่อให้เกิดอันตรายแก่ประชาชนที่อาจอยู่ห่างไกลออกไปได้

ทั้งจุดประสงค์ที่มีการผลักดันกัน ก็เพื่อเปิดทางให้ผู้ชุมนุมเข้าไปยื่นหนังสือข้อร้องเรียนกับเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ การผลักดันเกิดขึ้นในระยะเวลาไม่ถึง 10 นาที ผู้ชุมนุมก็หยุดการกระทำดังกล่าวตามที่มีผู้แจ้งขอให้หยุด เพื่อรอตัวแทนเข้าไปเจรจากับผู้มีอำนาจ จึงไม่อาจถือได้ว่ามีการก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง อันเป็นสาระสำคัญของความผิดในลักษณะเกี่ยวกับความสงบของประชาชนตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย การกระทำของผู้ต้องหาจึงไม่ครบองค์ประกอบความผิด

.

.

ทั้งนี้ ในส่วนคดีการชุมนุมของกลุ่มพีมูฟ ยังมีผู้ถูกดำเนินคดีที่เป็นเยาวชนอีก 1 ราย ได้แก่ “จัน” เยาวชนปกาเกอะญอจากกลุ่มบางกลอยคืนถิ่น ที่ขณะเกิดเหตุอายุ 17 ปี  และในคดีของการชุมนุมของ “ภาคี Save บางกลอย” นั้น ก็ยังมี “ต้นอ้อ” เยาวชนที่ขณะเกิดเหตุอายุ 16 ปี ถูกกล่าวหาดำเนินคดีด้วยเช่นกัน โดยมีรายงานว่าพนักงานอัยการได้มีคำสั่งไม่ฟ้องคดีของทั้งสองคนเช่นเดียวกับคดีของผู้ใหญ่แล้วเช่นกัน แต่ยังไม่ได้เอกสารคำสั่งไม่ฟ้องอย่างเป็นทางการ

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน จนถึงวันที่ 19 เม.ย. 2566 มีคดีจากการชุมนุมซึ่งถูกกล่าวหาในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในช่วงปี 2563-65 ที่พนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้องคดีไปแล้วรวมจำนวน 42 คดี

.

X