ซีรีส์: Youngมีหวัง
ในจังหวัดเพชรบุรี เข้าไปลึกสุดเขตตะวันตกของประเทศไทย มีชนเผ่าปกาเกอะญอหลายร้อยชีวิตเคยอาศัยผืนป่าใหญ่ใกล้เขตแดนพม่าอยู่มาช้านาน พวกเขาหล่อเลี้ยงชีพอยู่ได้ด้วยการทำเกษตรกรรมแบบไร่หมุนเวียน ณ บ้านใหญ่ในป่าลึกที่มีชื่อว่า “ใจแผ่นดิน”
การเติบโตของชาวปกาเกอะญอ สงบสุขเรื่อยมาโดยไม่ต้องพึ่งพาเงินตราหรือเทคโนโลยีในการยังชีพใดๆ จากคนในเมืองใหญ่ และจากชุมชนเล็กๆ ได้ขยับขยายสร้างถิ่นฐานมาถึงหมู่บ้านบางกลอยบน จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2504 ประเทศไทยได้บัญญัติกฎหมาย พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ และการประกาศตั้งอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานขึ้นในปี 2524 นั่นหมายความว่า ‘บ้าน’ ของพวกเขากำลังกลายเป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งรัฐต้องการให้คงสภาพของ ‘ป่า’ โดยห้ามไม่ให้บุคคลใดเข้าไปตั้งถิ่นฐานและใช้ชีวิตในพื้นที่แห่งนั้น
จากเจ้าของบ้านผู้ซึ่งรู้วิธีการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ ต้องกลายเป็นจำเลยและถูกตีตราว่าคือผู้บุกรุกป่า แม้ตลอดหลายปีที่่ผ่านมาจะมีการเจรจาขอให้ชาวบ้านได้กลับไปอยู่ในถิ่นฐานดั้งเดิมหลายๆ ครั้ง ก็ไม่ได้เป็นผลให้รัฐบาลเหลียวแลหรือรับฟังคำร้องขอที่แสนจะเรียบง่ายของประชาชนกลุ่มนี้
อีกทั้งในปี 2554 คณะรัฐมนตรีได้ผลักดันจนทำให้พื้นที่ป่าแก่งกระจานได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติจาก UNESCO ซึ่งหมายความว่าความหวังที่จะได้กลับบ้านของชาวปกาเกอะญอก็แทบจะกลายเป็นเพียงความหวังลมๆ แล้งๆ ของชาวบ้านกลุ่มนี้ไปเสียแล้ว
การต่อสู้ยังคงดำเนินเรื่อยมาโดยไม่มีทีท่าว่าเสียงของชาวปกาเกอะญอจะมีโอกาสแทรกซึมเข้าไปเป็นวาระระดับชาติบนโต๊ะประชุมของคณะรัฐบาลหรือไม่ แต่สิ่งหนึ่งที่ดำเนินควบคู่มาด้วยคือการเติบโตของเยาวชนรุ่นใหม่อย่าง “จัน” เยาวชนอายุ 18 ปี ผู้เป็นความหวังใหม่ แล้วเชื่อว่าสักวันหนึ่งเธอจะพาทุกชีวิตกลับบ้านได้
.
ชีวิตเยาวชนวัย 18 ปี ท่ามกลางความวุ่นวายของการทวงคืนผืนป่าที่ยังไม่สิ้นสุด
จากเสี้ยวหนึ่งของความทรงจำ จันบอกว่า ปัญหาเรื้อรังของที่ดินในป่าแก่งกระจานมีการปะทุขึ้นหนักในปี 2539 เจ้าหน้าที่อุทยานได้สนธิกำลังไปอพยพชาวบ้านให้ลงมาจากบางกลอยบน มาอยู่ที่บางกลอยล่างและ
หมู่บ้านโป่งลึก “เขาบอกว่าจะจัดสรรที่ดินให้กับพวกเราทำกิน ตอนนั้นทุกคนรวมถึงปู่คออี้ก็ยอมเจ้าหน้าที่หมดนะคะ แต่เหมือนจะมีแค่ 3 ครอบครัวที่ยังอยู่ ไม่ได้ลงมา”
“เจ้าหน้าที่บอกเราว่า ให้ลองมาอยู่ดูก่อน ถ้าอยู่ไม่ได้ก็สามารถกลับขึ้นไปบางกลอยบนได้ แต่ทีนี้พอครบ 3 ปี ชาวบ้านก็ตัดสินใจว่าอยากจะกลับขึ้นไป เพราะมันอยู่ไม่ได้จริงๆ มันไม่ใช่วิถีชีวิตของเรา” จันเล่าว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในบางกลอยล่างและบ้านโป่งลึกบีบบังคับให้ชาวกะเหรี่ยงไม่สามารถใช้ชีวิตด้วยวิถีดั้งเดิมได้ และในบางครอบครัวก็ไม่ได้รับการจัดสรรที่ดินตามที่เจ้าหน้าที่ให้สัญญาไว้ สุดท้ายทุกคนก็ทยอยกันเดินทางกลับไปบางกลอยบน
อย่างไรก็ตาม ในช่วงปี 2540 จันเล่าว่า กลุ่มเจ้าหน้าที่ได้ส่งเฮลิคอปเตอร์เข้ามาสอดส่องและติดตามความเป็นอยู่ของชาวบ้านที่บางกลอยบนตลอดเวลา จนไม่มีใครสามารถทำมาหากินได้เพราะการรบกวนของเจ้าหน้าที่รัฐ
“แม่เล่าว่า แค่หุงข้าวก่อไฟ ก็ต้องแอบไปทำตอนกลางคืน เราใช้ชีวิตปกติของเราไม่ได้เลย” การคุกคามและกดดันจากเจ้าหน้าที่อุทยานในหลายๆ ครั้ง ส่งผลให้สุดท้ายชาวบ้านก็ต้องอพยพกันอีกครั้งในปีเดียวกันนี้
ตลอดบทสนทนาทำให้เข้าใจได้ว่าเพียงแค่พื้นที่ของบางกลอยบนก็ยากมากแล้วที่จะกลับเข้าไปอยู่ จันบอกว่าใจแผ่นดินยิ่งยากเข้าไปอีก เพราะพื้นที่ดังกล่าวอยู่ลึกเข้าไปกว่านี้มากในป่าใหญ่
“จริงๆ ตอนนี้บางกลอยบน กลายเป็นพื้นที่หวงห้ามไปแล้ว ชาวบ้านไม่สามารถกลับเข้าไปอยู่ได้ ตอนเขามาเผาบ้านเรา ทุกคนยังกลับไปปลูกพริกปลูกอะไรได้ แต่ตอนนี้ไม่ได้เลย” จันเล่าเปรียบเทียบกับตอนที่หมู่บ้านถูกเผา เพื่อต้องการไล่ให้ชาวบ้านลงมาอยู่บ้านโป่งลึกและบางกลอยล่าง ซึ่งเป็นผลพวงจาก ‘ยุทธการตะนาวศรี’ ที่เคยปรากฏเป็นข่าวครึกโครมสนั่นบนหน้าสื่อหลายสำนัก เมื่อปี 2554
“จนมาปี 2564 พอมันมีโควิดเข้ามา ไม่มีใครจ้างงานชาวบ้าน บางกลอยล่างมันไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ เขาก็เลยพยายามจะกลับไปบางกลอยบนกันอีกครั้ง เจ้าหน้าที่ก็มาเกลี้ยกล่อมเราอีกบอกว่าถ้าต้องการอะไรก็ขอให้บอก แต่ชาวบ้านไม่ไว้ใจเขาแล้ว” จันบอกว่าเหตุของการไม่ไว้ใจเกิดขึ้นจากการอพยพในครั้งแรกที่เจ้าหน้าที่ไม่ได้ทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับชาวบ้าน
“เขาพูดกับเราว่า ครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้ายแล้วนะที่จะคุยดีๆ ด้วย ครั้งต่อไปจะไม่เป็นแบบนี้แล้วอาจต้องรุนแรงขึ้น”
การคุกคามเริ่มทวีความรุนแรงขึ้นตามคำขู่ของเจ้าหน้าที่อุทยาน หลังชาวบ้านตัดสินใจลุกขึ้นสู้ จนนำไปสู่การแจ้งข้อกล่าวหาต่อชาวบ้านราว 30 ชีวิต ในฐานความผิดบุกรุกผืนป่า “คนที่ถูกตั้งข้อกล่าวหามีพ่อกับแม่หนูด้วย พวกเขาถูกจับนอนคุก 2 คืน”
จันเล่าว่าตัวเธอในขณะนั้นกำลังเรียน กศน. และทำงานอยู่ในกรุงเทพมหานคร เพื่อส่งเงินกลับบ้านให้กับพ่อแม่ที่ไม่ได้มีรายได้มากนัก “ป้าหนูโทรมาบอกว่าให้รีบกลับมาบ้านตอนนี้เลย แม่กับพ่อหนูโดนคดี น้องๆ ในหมู่บ้านกำลังถูกจับไปสถานสงเคราะห์ ป้าอยากให้หนูกลับไปเพื่อเอาตัวน้องๆ คืนมา”
จันเล่าว่าเธอคิดไว้แล้วว่ายังไงก็ต้องเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นสักวัน แต่ไม่คิดว่ามันจะเกิดขึ้นในช่วงที่เธอห่างไกลบ้านแบบนี้ “หนูโทรไปลาออกจาก กศน. แล้วก็ลากับที่ทำงาน แต่ที่ทำงานเขาไม่ยอมให้หนูลา เราเลยต้องจำใจหนีกลับบ้านเพื่อไปช่วยทุกคน”
“เหตุการณ์นั้น หนูเห็นแล้วสะเทือนใจมาก คนแก่หัวหงอกยกมือกราบเท้าเจ้าหน้าที่อุทยานเพื่อขอเข้าไปพบครอบครัวตัวเอง เขาก็ไม่ยอม” เพียงแค่ขอเห็นหน้าครอบครัวตัวเอง จันเล่าว่าชาวบ้านผู้หญิงหลายคนยังถูกเจ้าหน้าที่ล่วงละเมิดร่างกายอีกด้วย
“หนูจำได้ว่าในตอนที่ชุลมุนเพื่อกดดันเจ้าหน้าที่ให้เราได้เข้าไปพบครอบครัว มีชาวบ้านผู้หญิงบางคนถูกจิกหัว บีบหัวและก็บีบนมด้วยนะคะ” จันขอโทษ เมื่อต้องเล่าเหตุการณ์ที่แลดูไม่เหมาะสม แต่เธอรู้สึกอดกลั้นเหลือเกินกับพฤติกรรมแย่ๆ ของเจ้าหน้าที่รัฐ
“ภาพนั้น หนูเห็นแล้วน้ำตาไหลเลย มันไม่ควรเกิดขึ้น เขาแค่ขอไปพบครอบครัว ทำไมต้องเข้มงวดขนาดนั้น ถึงขั้นกราบเท้าก็แล้ว ยังมาทำร้ายร่างกายเขาอีก มันทำให้หนูร้องไห้” แล้วทุกอย่างก็ผ่านเลยไป เพราะไม่มีหลักฐานที่มากไปกว่าคำบอกเล่าของเหยื่อที่ถูกกระทำ
.
ชาวบ้านบางกลอยกับวิถีชีวิตที่ไม่ดั้งเดิม
“ตอนที่เราอยู่ข้างบน เราทำไร่หมุนเวียน และเพราะป่ามันใหญ่ เราก็ไม่ต้องใช้ชีวิตอยู่อย่างแออัด เรามีข้าว มีพริกแห้งที่เป็นผลผลิตของเราเอง ขายได้วันละ 100 – 200 บาท” นอกจากนี้ จันยังบอกอีกว่าพวกเธอไม่ได้มีความจำเป็นต้องใช้เงินมากมายอะไรไปมากกว่าการซื้อของใช้ทั่วไป อย่างเช่น เกลือ ผงชูรส เพื่อนำมาปรุงกับข้าวที่ทำกินเองจากผลผลิตในไร่หมุนเวียน
“พอถูกอพยพลงมา ชาวบ้านบางครอบครัวยังต้องอาศัยพื้นที่ญาติในการสร้างบ้านของตัวเอง วิถีการทำไร่หมุนเวียนก็ไม่สามารถทำได้ เพราะสภาพดินมันไม่สมบูรณ์ ทำให้เราต้องปรับตัวกันหลายแบบ” จันเล่า
“ตอนนี้ เราอยู่บางกลอยล่าง คนในหมู่บ้านเราส่วนมากก็มีแต่คนแก่กับเด็ก ผู้หญิงก็อาศัยศูนย์ทอผ้าในการเลี้ยงชีพเป็นหลัก ผู้ชายก็จะออกไปรับจ้างเล็กๆ น้อยๆ วันไหนที่ไม่ไปทำงานก็ไม่ได้เงิน หรือบางทีเงินเดือนที่ควรได้แต่ละเดือนก็ยังได้ไม่ตรงเดือนเลยค่ะ”
จันเล่าต่อว่าในเรื่องของรายได้จากการทอผ้าของผู้หญิง โดยเฉลี่ยแล้วจะอยู่ที่วันละ 120 – 140 บาท การบีบให้ชาวบ้านต้องเปลี่ยนอาชีพ และสร้างรายได้ เพื่อผลตอบแทนเป็นธนบัตรเพียงไม่กี่ใบ ส่งผลกระทบมหาศาลต่อวิถีชีวิตเดิมของชาวกะเหรี่ยงเป็นอย่างมาก จนอาจกล่าวได้ว่าพวกเขาถูกบังคับให้ต้องติดกับของโลกทุนนิยมที่ทุกคนจะต้องดิ้นรนหาเงินให้พอเอาชีวิตรอดไปได้เท่านั้นเอง
.
จากบนเขาห่างไกลสู่ถนนกลางเมืองกรุง
หลังการจับกุมชาวบ้านกว่า 30 ราย ฐานบุกรุกอุทยานแห่งชาติ ก่อนได้รับการประกันตัวโดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์ในเวลาต่อมา เป็นเหตุการณ์ที่จุดประกายให้จันรู้สึกว่าตัวเธอต้องลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง จนนำไปสู่การลงถนนในนามขบวนการ P – Move เมื่อช่วงเดือนธันวาคม 2564 ซึ่งเป็นขบวนการที่รวมเครือข่ายภาคีประชาชนกว่า 10 เครือข่าย ซึ่งหนึ่งในประเด็นที่ขบวนการพีมูฟเรียกร้องต่อรัฐบาลคือให้นายกรัฐมนตรีเร่งแก้ปัญหาของชาวบ้านบางกลอย ตามที่ภาคประชาชนเสนอ
ย้อนอ่านข้อเรียกร้องของขบวนการพีมูฟ >>> พีมูฟ บางกลอย ทรักพาวเวอร์ รวมพลังแรงกดดันจากประชาชนถึงรัฐบาล
“ตอนนั้นหนูก็ยังไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไร แต่มีน้าที่เขาทำหน้าที่ล่ามให้ประจำอยู่ บังเอิญเขามีธุระ แม่เลยโทรมาตามให้หนูรีบเข้ากรุงเทพฯ มารวมกับชาวบ้าน เพื่อทำหน้าที่ล่ามแทนน้า” จุดเริ่มต้นอันฉุกละหุกสร้างความตื่นเต้นอย่างบอกไม่ถูก ราวกับแม่ได้บอกกับเธอว่า นับต่อจากนี้เยาวชนอย่างเธอจะต้องกลายเป็นเสียงของหมู่บ้านบางกลอย
“เขามักจะบอกเราว่า อย่าเถียงผู้ใหญ่ มันไม่ดี แต่ตอนนั้นที่หนูได้จับไมค์ มันมีความรู้สึกว่า ไม่พูดไม่ได้แล้ว ต้องพูดแล้ว” แม้ผู้ใหญ่ที่มีอำนาจบางคนจะมองว่า การที่เด็กอย่างจันมาตอบโต้ถึงปัญหาต่างๆ ทางการเมือง จะเป็นการต่อล้อต่อเถียงที่ไม่เหมาะสม แต่สำหรับเธอแล้ว ชีวิตของพี่น้องชาวบางกลอยนั้นสำคัญกว่าความคิดเห็นของผู้ใหญ่เหล่านั้นมาก
เมื่อถามถึงการต่อสู้เพียงกำลังคนหยิบมือหนึ่งของชาวบ้านบางกลอยเปรียบเทียบกับม็อบในเมือง ทำให้เธอรู้สึกโดดเดี่ยวให้กับบ้างหรือไม่ ประกอบกับการต่อสู้ที่ลากยาวมานับหลายสิบปี และยังไม่มีสัญญาณว่าพวกเขาจะได้รับชัยชนะในเร็ววัน ทำให้ชาวบ้านรวมถึงเยาวชนรุ่นใหม่บางคนของกะเหรี่ยงปกาเกอะญอ เริ่มหันหน้าเข้าสู่ชีวิตใหม่ในเมืองกรุง ปรับตัวกับโลกทุนนิยมและเทคโนโลยี กลายมาเป็นทางเลือกหนึ่งเพื่อหลีกหนีความวุ่นวาย
“มันมีบางคนที่ยังอยู่กับเรานะ แต่เขาแค่ไม่ได้เคลื่อนไหวเต็มที่แบบเรา เพราะทุกคนก็ต้องทำงาน แต่ถ้าขอความช่วยเหลือเขาก็พร้อมที่จะเข้ามาช่วยเหมือนกัน แต่สำหรับคนที่ปรับตัวเข้ากับสังคมเมืองแล้ว เขาก็ไม่ได้อยากมีปัญหา เราเองก็ไม่อยากให้เขามีปัญหาเหมือนกัน ถ้าเขาคิดว่ามันเป็นทางเลือกที่ดีแล้วสามารถพึ่งพาตัวเองได้มากกว่า เราก็ไม่มีสิทธิไปบังคับเขานะคะ”
.
กระบวนการยุติธรรมที่ไม่ยุติธรรมสำหรับคนชายขอบ
จุดเริ่มต้นของการโดนคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาจากการที่จันเข้าไปเป็นล่ามภาษากลางให้กับชาวบ้านบางกลอยในการชุมนุมของภาคีเซฟบางกลอยเมื่อเดือนธันวาคม ปี 2564 ซึ่งมีหลายเครือข่ายรวมตัวกันออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องในประเด็นต่างๆ ภายใต้ขบวนการ P-move
จันเล่าว่าในการชุมนุมดังกล่าว แม้ทางภาครัฐจะมีการตั้งคณะกรรมการและมีการลงพื้นที่ แต่เจ้าหน้าที่รัฐที่ลงพื้นที่ไม่ได้เข้าไปพูดคุยกับชาวบ้าน หนำซ้ำยังใส่ร้ายชาวบ้านว่ามีการปลูกกัญชาในพื้นที่
“เขาไม่ให้โอกาสเราพูดเลย เขาเป็นคนถือไมค์ เขาบอกเราว่าห้ามเถียงผู้ใหญ่ แต่บางครั้งมันก็อดไม่ได้ที่จะต้องตอบโต้ คือถึงแม้ว่าเราจะเป็นเด็ก แต่สิ่งที่เราพูดมันก็คือความจริง เขาต้องรับฟัง”
หลังจากโดนคดีข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จันก็ไม่ได้เรียนต่อ กศน. เนื่องจากไม่สามารถออกไปจากหมู่บ้านบางกลอยล่างได้ เพราะจะไม่มีใครอยู่ประสานงานกับเจ้าหน้าที่รัฐให้คนในหมู่บ้าน และต้องอยู่ดูแลพ่อกับแม่ที่ไม่สบาย
แม้ครอบครัวของจันจะเข้าใจ แต่คนในชุมชนบางคนก็ตั้งคำถามว่าทำไมเธอถึงต้องไปสร้างเรื่องให้โดนคดี แต่พอเวลาผ่านไป คนเหล่านั้นก็เข้าใจเธอมากขึ้นและคอยให้กำลังใจอยู่ห่างๆ
การต้องอยู่ประจำที่หมู่บ้านส่งผลให้จันไม่มีงานทำ ในขณะที่การเดินทางจากบางกลอยเข้าสู่กรุงเทพฯ เพื่อรายงานตัวตามนัดต้องใช้ค่าใช้จ่ายจำนวนมาก
เธอเล่าว่าในการเดินทางมาศาลเยาวชนและครอบครัวฯ หากต้องค้างคืนจะมีค่าใช้จ่ายเกือบ 1,000 บาท ถ้าต้องพาแม่ไปด้วยก็เกือบ 2,000 บาท เงินที่เธอนำติดตัวเข้ามากรุงเทพฯ ก็มาจากการประสานงานกับองค์กรต่างๆ เพื่อให้ได้รับการสนับสนุนเรื่องค่าเดินทางทั้งสิ้น
จันต้องเดินทางจากหมู่บ้านบางกลอยล่างซึ่งอยู่บนเขาในพื้นที่ป่าแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี มาศาลเยาวชนและครอบครัวกลางที่กรุงเทพฯ ทุกครั้งที่มีนัดรายงานตัว เมื่อสอบถามถึงวิธีการเดินทาง จันก็เล่าให้ฟังว่า เธอจะขับมอเตอร์ไซค์จากเขาลงไปในอำเภอแก่งกระจาน บางทีรถก็เสียกลางทาง แต่ก็ต้องระหกระเหินไปให้ถึงแก่งกระจาน หลังจากนั้นเธอก็ต้องต่อรถตู้เข้าไปตัวเมืองเพชรบุรี และจากตัวเมืองเพชรบุรีไปหมอชิต จากนั้นก็ต้องนั่งแท็กซี่จากหมอชิตไปที่พัก โดยเธอมักจองที่พักใกล้ๆ หมอชิต เพื่อไม่ให้รายจ่ายมันบานปลายเกินกำลัง
“กรุงเทพฯ มันใหญ่ คนเยอะ ตัวหนูเองยังพอช่วยเหลือตัวเองได้ แต่พอต้องไปรายงานตัว หนูต้องพาแม่ไปด้วย ค่าใช้จ่ายมันก็เพิ่มขึ้นเท่าตัว” การเผชิญหน้ากับเมืองใหญ่ที่ไม่เคยปรานีใคร ทำให้จันและแม่แทบจะหมดเรี่ยวแรงในทุกๆ ครั้งที่ต้องมารายงานตัวตามนัดของศาล
อย่างไรก็ตาม เธอออกความเห็นว่าถ้าสามารถไปรายงานตัวโดยไม่ต้องพาแม่ไปด้วย ปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายก็น่าจะดีขึ้น แต่ถ้าไม่โดนคดี ไม่มีให้ต้องเดินทางไปรายงานตัวน่าจะดีที่สุด เพราะหากโดนคดียังไงก็มีค่าใช้จ่ายตามมา
“เราต้องนั่งแท็กซี่ มันมีมิเตอร์ด้วย รถมันติดด้วย ทำให้เสียค่าเดินทางเพิ่มกว่าเดิม เราเสียเยอะมากเลยค่ะ แม้กระทั่งเข้าห้องน้ำในกรุงเทพฯ ยังเสียค่าใช้จ่าย”
“มันทำให้เราลำบากขึ้น ถ้าเราไม่โดนคดี หนูก็อาจจะกลับไปเรียน กศน.ได้ หาเงินได้ แต่พอมาเจอแบบนี้ เงินที่เก็บไว้ก็หมดไปกับการเดินทางไปศาล” การโดนคดีสร้างภาระทางการเงินให้กับจันอย่างมาก
ถึงแม้ว่าจะพอมีเครือข่ายและองค์กรสิทธิมนุษยชนต่างๆ ช่วยเหลือในเรื่องการเงินในการต่อสู้คดี แต่ก็ไม่ได้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่จันและแม่ต้องเสียไปเพื่อให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรม
เมื่อไม่นานมานี้ จันถูกศาลเยาวชนฯ ออกหมายจับ เพราะความซับซ้อนของกระบวนการและการสื่อสารที่ผิดพลาด แม้จะได้รับความช่วยเหลือเรื่องค่าเดินทาง ค่าปรับ และค่าประกัน แต่ก็ยังไม่พอจ่ายทั้งหมด ทำให้ต้องนำเงินทุนเพื่อการศึกษาของน้องที่บังเอิญได้รับมาในช่วงนั้นมาช่วยจ่ายไปก่อน
เมื่อถูกถามว่าจันและแม่มีความเข้าใจกระบวนการยุติธรรมมากน้อยเพียงใด เธอก็ตอบตามตรงว่า “หนูไม่เข้าใจอะไรเลยว่ากระบวนการยุติธรรมเป็นยังไง” เวลาไปศาล เธอก็ต้องคอยแปลให้แม่ฟังตลอด ทั้งๆ ที่ตัวเองก็ไม่ได้เข้าใจทั้งหมดได้อย่างดีนัก
“กระบวนการในศาล หนูเองก็ยังงงๆ ไม่ค่อยเข้าใจ ด้วยความที่เราอยู่ชายขอบ เราก็ไม่ค่อยสันทัดเรื่องนี้เท่าไหร่ ถามว่าแม่หนูเข้าใจอะไรมั้ย บอกได้เลยค่ะว่าแม่ไม่เข้าใจเลย เราได้แต่พึ่งพาทนายความ”
“เราไม่เข้าใจเลยว่ากระบวนการยุติธรรมมันเป็นยังไง เพราะเรารู้สึกว่าที่ผ่านมามันก็ไม่ยุติธรรมเท่าไหร่อยู่แล้ว” จันกล่าวด้วยความอัดอั้นตันใจ
เมื่อให้จันช่วยขยายความว่าทำไมจึงรู้สึกเช่นนั้น เธอก็เล่าให้ฟังว่า “อย่างชาวบ้านที่โดนดำเนินคดีบุกรุกพื้นที่อุทยาน พวกเขาไม่มีสิทธิเข้าพบทนาย ถูกบังคับตรวจ DNA ถูกจับไปขังไม่ให้พบทนาย ไม่ให้พบญาติ เราก็ไม่เข้าใจว่ากฎหมายมันเป็นแบบนี้อยู่แล้วหรือยังไง”
ศาลเยาวชนและครอบครัวถูกตั้งขึ้นโดยมีเจตนารมณ์เพื่อคุ้มครองสิทธิของเด็กและเยาวชนที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นที่ตั้ง ผู้เขียนจึงขอให้จันเล่าให้ฟังว่าศาลเยาวชนและครอบครัวมีกระบวนการและบุคลากรที่เป็นมิตรต่อเด็กและเยาวชนจริงหรือไม่
“ตอนที่หนูไปศาลเยาวชนฯ เขาก็พูดดีนะคะ หนูก็คิดว่าเขาน่าจะดี แต่มันมีเรื่องที่ทำให้หนูต้องเข้าห้องควบคุมเยาวชน หนูไม่ค่อยจะชอบเท่าไหร่ เจ้าหน้าที่ถามว่าศาลว่ายังไงบ้าง หนูก็ตอบว่าศาลจะสั่งปรับ 500 บาท เจ้าหน้าที่ก็พูดกับหนูว่า ศาลก็ใจดีเกิน ปล่อยไปแบบนี้เด็กมันก็ได้ใจ”
“ตอนนั้นตัวหนูเองก็ไม่ได้จะหลบหนีอะไร ติดธุระจริงๆ ทำให้หนูไม่สามารถมารายงานตัวได้ คือหนูคิดว่าเจ้าหน้าที่ในศาลก็ไม่ได้ดีทุกคน ก่อนหน้านี้ก็รู้สึกว่าไม่ได้กดดัน แต่พอมาอยู่ส่วนห้องควบคุม เจ้าหน้าที่บอกว่าข้อแก้ตัวของหนูมันฟังไม่ขึ้นเลย หนูเลยเงียบไปเลย”
.
วิถีชีวิตของชาวบ้านบางกลอยภายใต้กฎของธรรมชาติ
จันเล่าว่าก่อนหน้าที่รัฐจะเข้ามาในพื้นที่ชุมชนบางกลอย แทรกแซงความเป็นอยู่ของชาวบ้าน และบีบบังคับให้ต้องย้ายออกจากพื้นที่โดยใช้ทั้งกฎหมายและกำลัง ชุมชนบางกลอยมีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับธรรมชาติอย่างลึกซึ้ง ในฐานะที่เป็นทั้งผู้ให้และผู้รับ ชาวบ้านไม่ได้ฉกฉวยประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในบริเวณนั้นเพียงอย่างเดียว แต่ยังอนุรักษ์และฟื้นฟูไปในเวลาเดียวกันด้วย
“เรามีกฎธรรมชาติ อาจจะมองว่าเป็นไสยศาสตร์ก็ได้ ความเชื่อของชาวบ้านในเรื่องธรรมชาติมีหลากหลาย เช่น ถ้ามีประจำเดือน เราไม่สามารถลงเล่นแม่น้ำหรือข้ามแม่น้ำได้ เพราะมันจะทำให้แม่น้ำเสีย แม้กระทั่งฉี่หรือขี้ในแม่น้ำก็ไม่ได้”
“การจะตัดต้นไม้มาสร้างบ้านเราก็ต้องดูสภาพต้นไม้ ว่าเราตัดได้ไหม แม้กระทั่งการทำไร่หมุนเวียน เราจะเริ่มจากฟันต้นไม้แค่ต้นเดียวแล้วกลับมานอน ดูว่าตอนกลางคืนเราจะฝันร้ายหรือไม่ หากมีงูผ่านใต้ถุนบ้าน หมายความว่ามันจะบอกเราว่าพื้นที่ตรงนี้เราทำไร่ไม่ได้ เราก็จะไม่ทำ”
“แม้กระทั่งไก่ที่เราเลี้ยงเอง คือ ถ้าไก่ตัวเมียออกไข่แล้วมันกินไข่ตัวเอง เราต้องฆ่าทิ้ง ถ้าเราไม่ฆ่าทิ้งเราจะถูกเสือลงโทษ ประมาณนี้ค่ะ”
“การทำไร่หมุนเวียน ในปีนึงเราก็ไม่ได้ทำซ้ำๆ ที่เราเผาดินมันเป็นการปรับหน้าดินด้วย คือทำให้หน้าดินได้มีปุ๋ยเองตามธรรมชาติ สัตว์บางชนิดเราก็จะไม่ฆ่า การใช้ชีวิตของเรามันไปตามกฎของธรรมชาติ หรืออย่างต้นไม้ที่เติบโตอยู่คู่กันตามธรรมชาติ เราก็จะไปแทรกกลางไม่ได้”
จากคำบอกเล่าของจัน ทำให้เห็นว่า ‘กฎธรรมชาติ’ ที่เธอกล่าวว่าเป็นความเชื่อนั้น ความจริงแล้วกำลังสะท้อนให้เห็นภูมิปัญญาและกุศโลบายของชาวบ้านบางกลอยที่สืบทอดต่อกันมาเพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติบริเวณบ้านของพวกเขาไว้ ทั้งแหล่งน้ำ ป่าไม้ สัตว์ป่า หรือแม้กระทั่งเรื่องการฆ่าแม่ไก่ที่กินไข่ตัวเอง ก็อาจมาจากการศึกษาพฤติกรรมของสัตว์ คือ หากมีแม่ไก่ตัวหนึ่งจิกกินไข่ หลังจากนั้นแม่ไก่ตัวอื่นๆ ก็จะทำตาม สร้างความเสียหายให้กับเล้าไก่นั้น
ความฝันสูงสุดของจันและชาวบ้านบางกลอยคือการได้กลับไปอยู่ที่ใจแผ่นดิน แม้ชาวบ้านจะถูกบังคับให้ลงมาอยู่ที่หมู่บ้านบางกลอยล่างและหลายครอบครัวก็เปลี่ยนวิถีชีวิตไปแล้วเพื่อความอยู่รอด แต่จันเชื่อว่าหากได้กลับบ้านไปอยู่ที่ใจแผ่นดิน วิถีชีวิตของชาวบ้านก็จะกลับไปเป็นเช่นเดิม
“ที่เราเรียกร้องทุกวันนี้เพราะเราปรับตัวกับสังคมเมืองไม่ได้ เราต้องพึ่งเงิน เทคโนโลยี ไฟฟ้า เราต้องซื้อทุกอย่าง ถ้าเราได้กลับไปใช้ชีวิตแบบเดิม เราไม่ต้องซื้ออะไรสักอย่าง ไม่ลำบากขนาดนี้”
.
สารถึงภาครัฐ จากใจของ ‘จัน’ เยาวชนชาวปกาเกอะญอ
เมื่อถูกถามว่าหากได้กลับไปที่ใจแผ่นดิน แล้วภาครัฐต้องการเข้ามาแทรกแซงเพื่อดูแลและควบคุม จันต้องการให้ภาครัฐดำเนินมาตรการและนโยบายอย่างไรบ้าง
“ก่อนหน้านี้มีหน่วยงานรัฐเยอะมากที่เข้ามาแทรกแซง แต่กลับไม่ได้ช่วยเหลืออะไร มีงบประมาณเพื่อบริหารจัดการเรื่องนี้เยอะมาก แต่ไม่เคยถึงชาวบ้าน คนภายนอกมองว่าเราเป็นคนโลภ แบบขอแล้วขออีก ถ้าเราได้ไปใจแผ่นดินแล้วนี่เราขออิสระเลยดีกว่า ไม่ต้องมาก้าวก่ายชีวิตเรา” เธอตอบทันควัน “ถ้ารัฐจะเข้ามาก็ควรมาในแนวเพื่อทำความเข้าใจเรา”
“ทุกวันนี้ชาวบ้านถามหนูตลอดว่าเมื่อไหร่เราจะได้กลับ หนูก็ตอบเลยค่ะว่าหนูไม่รู้ ไปถามรัฐบาลเลย” แน่นอนว่าคงไม่มีใครตอบคำถามนี้ได้ดีไปกว่าภาครัฐอยู่แล้ว
เมื่อให้จันกล่าวก่อนจะจบบทสนทนาว่า อยากฝากอะไรถึงเจ้าหน้าที่และหน่วยงานรัฐหรือไม่ จันก็กล่าวว่า อยากให้ภาครัฐให้สิทธิชาวบ้านกลับไปที่ใจแผ่นดิน
“คุณบอกว่าคุณรักษาป่า แต่ทำไมที่ที่คุณอยู่ถึงไม่มีป่าเลย แล้วทำไมคุณถึงมาขับไล่ชาวบ้านที่อยู่ในป่า คุณกล่าวหาว่าเขาทำลายป่า ทั้งๆ ที่มันไม่จริงเลย เขาอยู่กับป่ากันแบบนี้มานานแล้ว พื้นที่ที่คุณอนุรักษ์ ถ้าคุณบอกว่าอนุรักษ์จริง ทำไมคุณถึงไม่มาใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ ทำไมต้องมายุ่งกับชาวบ้าน”
“ชาวบ้านไม่ได้เรียกร้องอะไรมากเลย เขาไม่ได้จะไปโกงกิน ไม่ได้จะไปเอาอำนาจมาจากคุณ เขาแค่อยากใช้ชีวิตของเขา ไม่ได้ต้องการให้ใครมาดูแล คือคุณมาดูแลเพื่อต้องการขับเราออกไปจากป่า แต่เราอยู่กับป่ามาหลายชั่วอายุคน ป่ามันก็สมบูรณ์เหมือนเดิม ทำไมถึงต้องพยายามแย่งป่าที่เราพยายามปกป้องกันไปด้วย”
“คุณเอาความคิดส่วนไหนมาคิดว่าเราทำลายป่า อย่างที่คุณบอกว่าคุณรักสัตว์ คุณก็มาจับสัตว์ป่าไป ถามจริงๆเถอะ คุณเอาไปขังไว้ เลี้ยงไว้ มันมีอิสระไหม มันควรได้อยู่แบบอิสระตามธรรมชาติ”
“ฝากไว้ให้คิดว่า คุณรักษาป่า คุณรักสัตว์มันจริงไหม” จันทิ้งท้าย
.
ความฝันคือได้กลับบ้าน
“แต่ก่อนหนูมีความฝันเยอะมากนะคะ บางทีตอนเด็กๆ เพ้อฝันว่าอยากเป็นนักร้องเลย พอเห็นความลำบากของพ่อแม่ เราก็ฝันอยากจะมีงานที่ดี สามารถสร้างบ้านให้พ่อแม่ได้” เธอเล่าไปพร้อมกับขบขันในความฝันของตัวเองตอนเด็กๆ แต่ชีวิตที่นำพาให้ออกมาเป็นนักกิจกรรมเคลื่อนไหวเพื่อทวงคืนผืนป่า ความฝันในวัยเด็กก็เริ่มเลือนลาง เหลือเพียงเป้าหมายที่กำลังแบกรับไว้ แต่จันก็ยังคงมุ่งมั่นและตั้งใจที่จะบอกให้กับรัฐบาลและสังคมรู้ว่า ‘เยาวชนปกาเกอะญอก็ยังมีหวัง’
“ตอนนี้ ความฝันของหนูคือการพาชาวบางกลอยกลับไปอยู่บ้านให้ได้ก็พอแล้วค่ะ”
.
.