ยกฟ้องคดี “ปอ กรกช‘ ร่วมชุมนุม #21ตุลาไปอนุสาวรีย์ชัย ศาลชี้ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ไม่ได้เป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย

27 ธ.ค. 2565 ศาลแขวงดุสิตนัดฟังคำพิพากษาคดีของ “ปอ” กรกช แสงเย็นพันธ์ นักกิจกรรมจากกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) กรณีร่วมชุมนุม #21ตุลาไปอนุสาวรีย์ชัย เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2563 ซึ่งถูกฟ้องในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามความมาตรา 9 ประกอบมาตรา 11 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยชุมนุมมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป หรือกระทำการอันใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ในขณะที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

ย้อนดูคดี >> ประชาชน 12 คน รับทราบข้อกล่าวหาฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กรณีชุมนุม #21ตุลาไปอนุสาวรีย์ชัย

ที่ห้องพิจารณา 401 เวลา 09.35 น. ศาลเริ่มอ่านคำพิพากษาสั้นๆ โดยสรุปว่า การชุมนุมของจำเลยเป็นไปอย่างสงบ ไม่มีความรุนแรง และปราศจากอาวุธ เป็นการใช้สิทธิตามที่รัฐธรรมนูญรับรองเอาไว้ เห็นว่าไม่เป็นความผิดในการฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามความใน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่อย่างใด

ศาลยังเห็นว่าการไปยื่นหนังสือเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลาออกนั้น เป็นเรื่องปกติทั่วไปที่สามารถทำได้ ไม่ได้เป็นการมั่วสุมหรือยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย พิพากษายกฟ้อง

หลังอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้นแล้ว “กรกช” ได้กล่าวถึงความรู้สึกสั้นๆ ว่า “รู้สึกโอเคที่ศาลยืนยันว่าเรามีสิทธิที่จะใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ เราสามารถเรียกร้องรัฐบาลได้ เราใช้เสรีภาพได้ ไม่ได้เป็นการกระทำที่ไม่สงบ”

สำหรับคดีการชุมนุม #21ตุลาไปอนุสาวรีย์ชัย เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2563 เกิดขึ้นในช่วงที่ พล.อ.ประยุทธ์ ใช้อำนาจในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง โดยเป็นการชุมนุมของกลุ่มราษฎรและประชาชน ซึ่งรวมตัวกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ก่อนจะเดินเท้ามุ่งหน้าไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่น “จดหมายลาออกของนายกฯ ฉบับจำลอง” ให้ตัวแทนจากสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมยืนยัน 3 ข้อเรียกร้อง และ 2 เงื่อนไข 

หลังจากนั้น มีผู้ร่วมการชุมนุมดังกล่าว ถูกตำรวจกล่าวหาดำเนินคดีทั้งหมด 14 คน ในข้อหาฝ่าฝืนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง โดยผู้ถูกกล่าวหาแต่ละคนถูกฟ้องแยกเป็นรายคดี โดยมีกรณีของอนุรักษ์ เจนตวนิชย์ และ น.พ.ทศพร เสรีรักษ์ ที่ให้การรับสารภาพ และศาลมีคำพิพากษาลงโทษปรับ

แต่ส่วนของผู้ที่ต่อสู้คดี ศาลแขวงดุสิตทยอยมีคำพิพากษายกฟ้องอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ต้องใช้ระยะเวลาในการต่อสู้คดี โดยกรณีของกรกชนับเป็นคดีที่ 8 แล้ว ที่ศาลยกฟ้อง ต่อจากคดีของ “มายด์” ภัสราวลี, อานันท์ ลุ่มจันทร์, ไพศาล จันปาน, สุวรรณา ตาลเหล็ก และ วสันต์ กล่ำถาวร,  วีรวิชญ์ รุ่งเรืองศิริผล, อภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์ ทั้งหมดศาลวินิจฉัยไปในทำนองเดียวกันว่าเป็นการใช้สิทธิในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ ไม่ถึงขนาดฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

ขณะเดียวกันยังมีคดีของปิยรัฐ จงเทพ, ธัชพงษ์ แกดำ และชลธิชา แจ้งเร็ว ที่ยังอยู่ระหว่างต่อสู้คดีในศาล และรอฟังคำพิพากษา และมีส่วนคดีของประชาชนอีก 1 ราย ที่อัยการยังไม่ได้มีคำสั่งฟ้องคดีเข้ามาด้วย

X