23 ก.พ. 2566 เวลา 09.00 น. ศาลแขวงดุสิตนัดฟังคำพิพากษาในคดีของ “ลูกเกด” ชลธิชา แจ้งเร็ว นักกิจกรรมทางการเมืองและว่าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล กรณีเข้าร่วมชุมนุม
#21ตุลาไปอนุสาวรีย์ชัย เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2563 ซึ่งถูกฟ้องในข้อหาฝ่าฝืนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งห้ามมิให้กระทำการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป หรือกระทำการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย
เวลา 10.00 น. ที่ห้องพิจารณา 409 ศาลออกพิจารณาคดี โดยในวันนี้มีอัยการโจทก์เดินทางมาแถลงต่อศาล กรณีที่จำเลยได้ยื่นหนังสือถึงอัยการสูงสุด เรื่องการยุติการดำเนินคดีกับประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุม เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2563 โดยแถลงว่า ในวันนี้โจทก์ต้องการยุติการดำเนินคดีกับจำเลย ซึ่งศาลได้เรียกให้จำเลยเข้าไปคุยบริเวณหน้าห้องพิจารณา ก่อนชี้แจงว่าหากจำเลยไม่ประสงค์คัดค้านการยุติการดำเนินคดีนี้ จะต้องทำการเลื่อนการฟังคำพิพากษาออกไปก่อน เนื่องจากหนังสือที่จำเลยเคยทำส่งถึงอัยการสูงสุดยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา
แต่ลูกเกดกล่าวว่า ตนประสงค์ที่จะคัดค้านการยุติการดำเนินคดีดังกล่าว เนื่องจากคดีนี้ได้ผ่านการพิจารณาคดีมาแล้ว และในวันนี้ก็เป็นนัดฟังคำพิพากษา ซึ่งเธอเปิดเผยว่าไม่มีความจำเป็นต้องเลื่อนการฟังคำพิพากษาออกไป เพื่อรอฟังผลการพิจารณาจากอัยการสูงสุดอีก
ต่อมา 10.20 น. ศาลได้อ่านคำพิพากษา โดยมีใจความสำคัญระบุว่า พิเคราะห์แล้ว จากการสืบพยานโจทก์ได้ความเพียงว่า จำเลยเข้าร่วมการชุมนุมในวันดังกล่าวจริง แต่ไม่ได้ปรากฏว่าจำเลยมีการใช้ความรุนแรง พกพาอาวุธ หรือสิ่งของที่จะทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจได้
และตามที่โจทก์เบิกความว่า ในการชุมนุมดังกล่าวมีการขว้างปาสิ่งของใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ก็ไม่ได้ปรากฏหลักฐานว่า จำเลยเป็นผู้ร่วมขว้างปาสิ่งของแต่อย่างใด พยานหลักฐานของโจทก์จึงรับฟังไม่ได้ การเข้าร่วมชุมนุมของจำเลยจึงเป็นการชุมนุมตามสิทธิที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว
นอกจากนี้ การที่โจทก์เบิกความตามฟ้องว่า จำเลยและผู้ชุมนุมมีการรวมตัวกัน มั่วสุมตั้งแต่ 5 – 10 คนขึ้นไป และการเคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไปทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกและแก้ไขรัฐธรรมนูญ เห็นว่า การชุมนุมในวันดังกล่าวของจำเลยเป็นการใช้สิทธิทางการเมืองที่สามารถทำได้ตามปกติ พิพากษายกฟ้อง
ในคดีนี้ นับเป็นคดีชุมนุมทางการเมืองที่ศาลแขวงดุสิตทยอยมีคำพิพากษายกฟ้องอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ต้องใช้ระยะเวลาในการต่อสู้คดี โดยกรณีของลูกเกดใช้เวลากว่า 2 ปี และนับเป็นคดีที่ 10 แล้ว ที่ศาลยกฟ้อง ต่อจากคดีของ “มายด์” ภัสราวลี, อานันท์ ลุ่มจันทร์, ไพศาล จันปาน, สุวรรณา ตาลเหล็ก และวสันต์ กล่ำถาวร, วีรวิชญ์ รุ่งเรืองศิริผล, อภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์, กรกช แสงเย็นพันธ์ และ “โตโต้” ปิยรัฐ จงเทพ โดยทั้งหมดศาลวินิจฉัยไปในทำนองเดียวกันว่า เป็นการใช้สิทธิในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ ไม่ถึงขนาดฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่มีความร้ายแรง ขณะเดียวกัน ยังเหลือคดีของ “บอย” ธัชพงศ์ แกดำ เท่านั้น ที่ยังไม่ได้สืบพยาน โดยจะเริ่มสืบพยานในเดือน มิ.ย. 2566
สำหรับคดีการชุมนุม #21ตุลาไปอนุสาวรีย์ชัย เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2563 เกิดขึ้นในช่วงที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้อำนาจในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง โดยเป็นการชุมนุมของกลุ่ม “ราษฎร” และประชาชน ซึ่งรวมตัวกันที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ก่อนจะเดินเท้ามุ่งหน้าไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่น “จดหมายลาออกของนายกฯ ฉบับจำลอง” ให้ตัวแทนจากสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมยืนยัน 3 ข้อเรียกร้อง และ 2 เงื่อนไข
หลังจากนั้น มีผู้ร่วมการชุมนุมดังกล่าว ถูกตำรวจกล่าวหาดำเนินคดีทั้งหมด 14 คน ในข้อหาฝ่าฝืนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง โดยผู้ถูกกล่าวหาแต่ละคนถูกฟ้องแยกเป็นรายคดี มีกรณีของอนุรักษ์ เจนตวนิชย์ และ น.พ.ทศพร เสรีรักษ์ ที่ให้การรับสารภาพ และศาลมีคำพิพากษาลงโทษปรับ