ศาลแขวงดุสิตยกฟ้องคดี “ลูกเกด” จัดชุมนุม #ขีดเส้นตายไล่เผด็จการ ชี้กฎหมายไม่ใช่เครื่องมือทางการเมืองเพื่อปราบปรามการชุมนุมอย่างไร้เหตุผล

วันที่ 23 ม.ค. 2566 เวลา 09.00 น. ศาลแขวงดุสิตนัดฟังคำพิพากษาในคดีของ “ลูกเกด” ชลธิชา แจ้งเร็ว นักกิจกรรมทางการเมืองและว่าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล กรณีจัดการชุมนุม #ขีดเส้นตายไล่เผด็จการ หรือ #ม็อบประชาชนปลดแอก ที่บริเวนถนนราชดำเนินกลาง รอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2563

คดีนี้ลูกเกดถูกฟ้องโดยพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 3 ในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.การชุมนุมฯ, พ.ร.บ.จราจรฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมโฆษณาด้วยใช้เครื่องขยายเสียงฯ ในฐานะเป็นผู้แจ้งการชุมนุมสาธารณะต่อเจ้าพนักงาน โดยการสืบพยานในคดีนี้มีขึ้นระหว่างวันที่ 5-7 ต.ค. 2565 

ย้อนอ่านบันทึกสืบพยาน >>> บันทึกสืบพยานก่อนพิพากษา คดี “ลูกเกด” ร่วมจัดม็อบใหญ่ #ขีดเส้นตายไล่เผด็จการ ปี 63 ต่อสู้คดี ตำรวจให้ขยายพื้นที่ชุมนุมด้วยวาจาแล้ว-ไม่มีการระบาดของโควิด

.

ศาลอ่านคำพิพากษา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ใช่เครื่องมือทางการเมือง การบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวควรเป็นไปเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 

ในวันนี้ เวลา 09.10 น. ลูกเกดมาพร้อมกับทนายความที่ห้องพิจารณา 502 บริเวณห้องพิจารณามีประชาชนมาร่วมการพิจารณาในคดีอื่นจำนวนมาก คดีของลูกเกดจึงเริ่มอ่านคำพิพากษาในเวลาประมาณ 10.00 น.

ศาลได้เรียกให้จำเลยและทนายความไปอยู่บริเวณหน้าบัลลังก์เพื่อฟังคำพิพากษา โดยศาลได้แจ้งว่าพิพากษายกฟ้องทั้ง 4 ข้อกล่าวหา มีใจความสำคัญโดยสรุปว่า ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การออก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นกฎหมายที่บังคับใช้เพื่อจำกัดเสรีภาพบางประการ ซึ่งย่อมกระทำได้ เพื่อป้องกันและสร้างความปลอดภัยของประชาชนโดยรวม มิใช่นำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง โดยการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต้องเป็นไปเพื่อการป้องกันการแพร่กระจายของโรคโควิด-19 ไม่ใช่เพื่อปราบปรามผู้ชุมนุมหรือการชุมนุมอย่างไร้เหตุผล

อีกทั้ง ในระดับการป้องกันโรคโควิด-19 ในพื้นที่ชุมนุมขณะเกิดเหตุนั้น เป็นเรื่องที่ยอมรับได้ ยังไม่ถึงขนาดเสี่ยงต่อการแพร่โรค และสถานการณ์ติดเชื้อในขณะนั้นก็เป็นศูนย์ นอกจากนี้ในคำเบิกความของพยานโจทก์ที่อ้างถึงการที่จำเลยปราศรัยผ่านเครื่องขยายเสียงเกินกว่าระยะเวลาที่แจ้งขออนุญาต แต่ในการชุมนุมดังกล่าว ศาลมองว่ามีคนเข้าร่วมเป็นจำนวนกว่าหมื่นคน ถ้าไม่มีการใช้เครื่องขยายเสียง ก็ควบคุมมวลชนได้ยาก ศาลไม่ถือว่าเป็นสาระสำคัญ พิพากษายกฟ้อง

หลังฟังคำพิพากษา ชลธิชาได้เปิดเผยความรู้สึกว่าตนเองรู้สึกดีใจและตื่นเต้นอยู่เสมอกับคำพิพากษายกฟ้องในคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพราะตั้งแต่ที่โดนคดีมา ยังไม่เคยมีคดีไหนที่ศาลพิพากษาให้มีความผิดเลย

“ต้องบอกตามตรงว่าดีใจที่ศาลยกฟ้องทุกข้อกล่าวหา เกดคิดว่าแนวคำพิพากษาในประเด็น พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของศาลนี้เป็นแนวทางที่ดี และเราคาดหวังว่าผู้พิพากษาในศาลอื่นๆ น่าจะลองมาศึกษาแนวทางของศาลนี้” โดยเธอได้อธิบายเพิ่มเติมว่าถึงแม้จะมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ได้ แต่ก็ควรจะต้องดูในเรื่องของสัดส่วนและความจำเป็นด้วย

นอกจากนี้ ชลธิชาได้กล่าวถึงเหตุการณ์ในวันชุมนุมใหญ่เมื่อ 16 ส.ค. 2563 ว่า ในการชุมนุมดังกล่าว สถานการณ์โควิด-19 เป็นศูนย์ และยังไม่ได้มีการแพร่ระบาดในประเทศไทยแต่อย่างใด การที่ตำรวจและอัยการฟ้องคดีข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยเอาประเด็นเรื่องการแพร่โรคโควิด-19 มาใช้ มันดูไม่สมเหตุสมผลเท่าไหร่

อย่างไรก็ตาม ชลธิชายังได้กล่าวถึงการยกฟ้องในข้อหาตาม พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ แม้ข้อหานี้จะมีเพียงโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 200 บาท แต่ศาลนี้ก็เห็นว่าไม่เป็นความผิดแต่อย่างใด 

“ในทุกคดีที่สู้มา การบังคับใช้เครื่องขยายเสียงเป็นข้อหาที่สู้ยากที่สุดแล้ว แล้วเราก็ไม่คิดว่าเขาจะยกในข้อหานี้ ศาลให้เหตุผลว่าเนื่องจากเป็นการชุมนุมขนาดใหญ่มันเลยมีความจำเป็นที่จะต้องใช้เครื่องขยายเสียงเพื่อควบคุมสถานการณ์ เกดมองว่ามันเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะมันแสดงให้เห็นว่าการเข้าร่วมชุมนุม กับการควบคุมโรคโควิด-19 มันสามารถไปด้วยกันได้”

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2563 การชุมนุมม็อบ #ขีดเส้นตายไล่เผด็จการ เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2563 จัดขึ้นโดยกลุ่ม คณะประชาชนปลดแอก (Free People) ที่บริเวณถนนราชดำเนินกลางรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและต่อเนื่องไปจนถึงแยกคอกวัว เป็นหนึ่งในการชุมนุมที่มีผู้เข้าร่วมมากที่สุดนับตั้งแต่การรัฐประหารปี 2557 คาดว่ามีผู้ชุมนุมเข้าร่วมจำนวนประมาณ 20,000 – 30,000 คน

กิจกรรมในการชุมนุมครั้งนี้มีทั้งการปราศรัย การแสดงละครและดนตรี และเทศกาลศิลปะ โดยนำเสนอเวทีเสวนาหลากหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็น การวิพากษ์วิจารณ์การบริหารงานของรัฐบาล การสืบทอดอำนาจของ คสช. ปัญหาการจัดหาวัคซีน ปัญหาของมาตรา 112 การคุกคามนักกิจกรรม การบังคับสูญหายโดยเจ้าหน้าที่รัฐ  สิทธิสตรีและความเท่าเทียมทางเพศ สิทธิแรงงาน สิทธิทางทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม และศิลปะกับการเมือง 

พร้อมกันนี้ ในช่วงท้ายของการชุมนุม อานนท์ นำภา ในฐานะตัวแทนของคณะประชาชนปลดแอก ได้ขึ้นเวทีอ่านแถลงการณ์ย้ำถึง 3 ข้อเรียกร้อง (หยุดคุกคามประชาชน, ยุบสภา, ร่างรัฐธรรมนูญใหม่) 2 จุดยืน (ไม่เอารัฐบาลแห่งชาติ, ไม่เอารัฐประหาร) และ 1 ความฝัน คือ ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ให้อยู่ร่วมกับระบอบประชาธิปไตย

.

* ติดตามคำพิพากษาฉบับเต็มในคดีนี้ต่อไป

X