“การบังคับใช้กฎหมายไม่ใช่เพื่อปราบปรามผู้ชุมนุม หรือห้ามการชุมนุมทางการเมืองอย่างไร้เหตุผล”: ชวนอ่านคำพิพากษาฉบับเต็มคดี “ลูกเกด” ชุมนุม #ขีดเส้นตายไล่เผด็จการ

ช่วงต้นปี 2566 สถานการณ์การดำเนินคดีจากการชุมนุมทางการเมืองยังเป็นไปอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะคดีจากเหตุการชุมนุมในช่วงปี 2563-64 ซึ่งส่วนใหญ่ถูกกล่าวหาในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ศาลทยอยสืบพยานและมีคำพิพากษาออกมาอย่างต่อเนื่อง

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่าแนวโน้มส่วนใหญ่ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องมากกว่า แม้จะมีคดีที่ศาลเห็นว่ามีความผิดอยู่บ้าง แต่ก็มักลงโทษปรับเป็นหลัก แต่กระนั้นหลายคดีอัยการก็ยังอุทธรณ์คำพิพากษาต่อไป รวมทั้งสั่งฟ้องคดีใหม่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ยังคงมีคดีจากการชุมนุมและแสดงออกทางการเมืองอยู่ “เต็มศาล” แม้สถานการณ์โควิด-19 จะลดระดับไปแล้วก็ตาม และโลกกำลังกลับสู่ “ภาวะปกติ”

ในบรรดาคำพิพากษาที่ออกมาในช่วงต้นปีนี้ พบว่ามีคำพิพากษาหนึ่งที่น่าสนใจ ที่วินิจฉัยถึงประเด็นความสมดุลได้สัดส่วนของการบังคับใช้ข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในช่วงดังกล่าว กับสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชน ได้แก่ คดีของ “ลูกเกด” ชลธิชา แจ้งเร็ว นักกิจกรรมทางการเมืองและว่าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล ซึ่งถูกฟ้องที่ศาลแขวงดุสิตจากการจัดชุมนุมที่ใช้ชื่อว่า #ขีดเส้นตายไล่เผด็จการ หรือ #ม็อบประชาชนปลดแอก ที่บริเวณถนนราชดำเนินกลาง รอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2563

การชุมนุม #ขีดเส้นตายไล่เผด็จการ นับได้ว่าเป็นการชุมนุมใหญ่และมีผู้เข้าร่วมจำนวนมากครั้งหนึ่งในช่วงปี 2563 คาดว่ามีผู้ชุมนุมเข้าร่วมจำนวนประมาณ 20,000 – 30,000 คน นับได้ว่ามีผู้เข้าร่วมมากกว่าการชุมนุมในหลายคดีที่ถูกฟ้องลักษณะเดียวกัน โดยเป็นการชุมนุมยืนยันถึงข้อเรียกร้อง 3 ข้อที่ถูกประกาศหลังการชุมนุมเยาวชนปลดแอกเมื่อเดือนกรกฎาคม 2563

หลังการชุมนุมดังกล่าวมีเพียงชลธิชา ในฐานะผู้ไปแจ้งจัดการชุมนุมดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานที่ถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมครั้งนี้ โดยถูกกล่าวหาในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.การชุมนุมฯ, พ.ร.บ.จราจรฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมโฆษณาด้วยใช้เครื่องขยายเสียงฯ

.

.

ศาลแขวงดุสิตได้มีคำพิพากษาคดีนี้ไปเมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2566 เนื้อหาในคำพิพากษาเป็นไปอย่างน่าสนใจ โดยศาลพิเคราะห์ว่าข้อกำหนดต่างๆ ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อจัดการกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงปี 2563 ส่งผลโดยตรงต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ อันเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่จะแสดงความคิดเห็นในการชุมนุมอย่างสงบและปราศจาการอาวุธ ศาลจำต้องพิจารณาถึงเจตจำนงที่แท้จริงของการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว โดยคำนึงถึงความสมดุลได้สัดส่วนในการบังคับใช้กฎหมาย

“กล่าวคือ การบังคับใช้กฎหมายต้องมีลักษณะเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรคติดเชื้อโคโรนา 2019 ไม่ใช่เพื่อปราบปรามผู้ชุมนุมหรือห้ามการชุมนุมทางการเมืองอย่างไร้เหตุผล ซึ่งสามารถดูได้จากสถานการณ์ความรุนแรงของเชื้อโรค ประกอบกับพฤติการณ์แห่งการกระทำของผู้ชุมนุมในสภาพแวดล้อมที่ดำรงอยู่ในขณะนั้นว่า มีสถานการณ์ฉุกเฉินที่จำเป็นต้องจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการชุมนุมหรือไม่”

ศาลได้พิเคราะห์ต่อไปถึงสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงเดือนสิงหาคม 2563 ตามรายงานสถิติของหน่วยงานรัฐ พบว่ามีผู้ติดเชื้อในประเทศไทยเป็นศูนย์ สถานการณ์แพร่ระบาดไม่มีความรุนแรง พยานโจทก์ที่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจยังเบิกความถึงการพบว่ามีบุคคลติดเครื่องหมายกาชาดคอยแจกเจลแอลกอฮอล์ให้แก่ผู้เข้าร่วมชุมนุม อีกทั้งผู้ชุมนุมส่วนใหญ่สวมหน้ากากอนามัย โดยฝ่ายจำเลยมีพยาบาลอาสาที่มาเบิกความถึงการตั้งเตนท์ปฐมพยาบาลและมีมาตรการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 อยู่ในระหว่างการชุมนุม

ศาลเชื่อว่าจำเลยมีมาตรการที่เพียงพอแก่การป้องกันการแพร่ระบาดของโรค แม้การเว้นระยะจะกระทำไม่ได้ เพราะมีผู้คนแออัดและมีจำนวนมากถึงหลักหมื่น แต่ก็มีการสวมหน้ากากอนามัยตามคำโฆษณาประชาสัมพันธ์ของผู้จัด ถือได้ว่าจำเลยจัดให้มีมาตรการเพียงพอเหมาะสมกับสถานการณ์การแพร่ระบาด ซึ่งขณะนั้นมีตัวเลขผู้ติดเชื้อภายในประเทศเป็นศูนย์ การชุมนุมของจำเลยจึงเป็นการชุมนุมโดยสงบเปิดเผย และได้รับการคุ้มครองโดยรัฐธรรมนูญ มาตรา 44 อีกทั้งไม่ปรากฏว่าภายหลังการชุมนุมมีการแพร่ระบาดในระหว่างผู้ชุมนุมอย่างมีนัยสำคัญของการแพร่เป็นกลุ่มก้อน

ศาลยังวินิจฉัยในช่วงสุดท้ายว่าแม้ตามหนังสือแจ้งการชุมนุมสาธารณะของจำเลย เห็นว่าจำเลยได้รับอนุญาตให้จัดชุมนุมในบริเวณถนนราชดำเนินกลางฝั่งขาเข้า ตั้งแต่สี่แยกคอกวัวถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเพียงฝั่งเดียว แต่เนื่องจากในสถานการณ์ที่มีผู้มาชุมนุมจำนวนมาก ทำให้ฝูงชนล้นมาถึงถนนราชดำเนินกลางฝั่งขวา การที่การชุมนุมไม่เป็นไปในกรอบพื้นที่ตามที่ได้รับอนุญาตก็เป็นเพราะผู้คนมีจำนวนมาก และเป็นหนทางที่ประชาชนจะได้แสดงออกซึ่งสิทธิเสรีภาพที่บุคคลมีอยู่ตามรัฐธรรมนูญ

อีกทั้งการใช้เครื่องขยายเสียงเกินเวลาที่ได้รับอนุญาตหาใช่สาระสำคัญถึงขั้นที่จะทำให้จำเลยมีความผิด เพราะมีเหตุผลเพียงพอที่จะทำให้จำต้องทำเช่นนั้น เนื่องจากในสถานการณ์ที่มีผู้คนจำนวนมากมาชุมนุม การสื่อสารโดยใช้กำลังเครื่องเสียงเพื่อควบคุมมวลชนย่อมเป็นสิ่งที่จำเป็น ระดับของเสียงก็ไม่เกินมาตรฐานที่กำหนด

พิพากษายกฟ้องจำเลย

ลงนามคำพิพากษาโดย นางมาริษษา ผดุงพจน์

.

.

ย้อนอ่านบันทึกสืบพยาน ก่อนพิพากษา คดี “ลูกเกด” ร่วมจัดม็อบใหญ่ #ขีดเส้นตายไล่เผด็จการ ปี 63 ต่อสู้คดี ตำรวจให้ขยายพื้นที่ชุมนุมด้วยวาจาแล้ว-ไม่มีการระบาดของโควิด

ย้อนอ่านความรู้สึกของชลธิชาหลังฟังคำพิพากษา ศาลแขวงดุสิตยกฟ้องคดี “ลูกเกด” จัดชุมนุม #ขีดเส้นตายไล่เผด็จการ ชี้กฎหมายไม่ใช่เครื่องมือทางการเมืองเพื่อปราบปรามการชุมนุมอย่างไร้เหตุผล

.

X