บันทึกสืบพยานก่อนพิพากษา คดี “ลูกเกด” ร่วมจัดม็อบใหญ่ #ขีดเส้นตายไล่เผด็จการ ปี 63 ต่อสู้คดี ตำรวจให้ขยายพื้นที่ชุมนุมด้วยวาจาแล้ว-ไม่มีการระบาดของโควิด

วันที่ 23 ม.ค. 2566 เวลา 9.00 น. ศาลแขวงดุสิตนัดฟังคำพิพากษาในคดีของ “ลูกเกด” ชลธิชา แจ้งเร็ว นักกิจกรรมทางการเมืองและว่าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล กรณีจัดการชุมนุม #ขีดเส้นตายไล่เผด็จการ หรือที่รู้จักกันในชื่อ #ม็อบประชาชนปลดแอก ที่บริเวนถนนราชดำเนินกลาง รอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2563

คดีนี้ลูกเกดถูกฟ้องเพียงคนเดียว ในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.การชุมนุมฯ, พ.ร.บ.จราจรฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมโฆษณาด้วยใช้เครื่องขยายเสียงฯ ในฐานะเป็นผู้แจ้งการชุมนุมสาธารณะต่อเจ้าพนักงาน โดยไม่มีผู้ชุมนุมคนอื่นถูกกล่าวหาอีก การสืบพยานในคดีนี้มีขึ้นระหว่างวันที่ 5-7 ต.ค. 2565 ที่ห้องพิจารณาคดี 502 ของศาลแขวงดุสิต

บรรยากาศในห้องพิจารณาค่อนข้างตึงเครียด ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนคดีเห็นว่าคดีการเมืองเหล่านี้มีต้นทุนและใช้ทรัพยากรในการพิจารณาคดีจำนวนมาก ซึ่งเป็นการลดทอนโอกาสของประชาชนคู่พิพาทในคดีอื่นที่จะได้รับการพิจารณาคดีที่รวดเร็วขึ้น ผู้พิพากษายังได้เรียกทนายความและจำเลยเข้าไปพูดคุยถึงเรื่องดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม จำเลยได้พยายามชี้แจงกับผู้พิพากษาว่าภาระในการพิจารณาคดีที่ไม่จำเป็นนี้ เป็นผลมาจากการดำเนินคดีเพื่อหวังผลทางการเมืองของตำรวจและอัยการ หากตำรวจและอัยการปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาและเคารพในสิทธิเสรีภาพของประชาชนแล้ว คดีที่ไม่จำเป็นเช่นนี้คงมาไม่ถึงศาล แต่เมื่อคดีเช่นนี้ขึ้นมาสู่ศาลแล้ว จำเลยก็จำเป็นต้องต่อสู้คดีเพื่อยืนยันถึงหลักการและสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของจำเลยและประชาชนทุกคน

ในคดีนี้ทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีลับหลังจำเลยเฉพาะนัดวันที่ 6 ต.ค. 2565 เนื่องจากจำเลยมีความจำเป็นในการประกอบอาชีพ ไม่สะดวกเดินทางมาศาล อัยการโจทก์ไม่คัดค้าน ศาลพิเคราะห์แล้วอนุญาตให้พิจารณาคดีลับหลังจำเลย ส่วนนัดวันที่ 5 และ 7 ต.ค. 2565 จำเลยเดินทางมาร่วมฟังการพิจารณาคดี

.

.

ย้อนลำดับเหตุการณ์ ม็อบ #ขีดเส้นตายไล่เผด็จการ ก่อนอ่านบันทึกสืบพยาน

การชุมนุมม็อบ #ขีดเส้นตายไล่เผด็จการ เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2563 จัดขึ้นโดยกลุ่ม คณะประชาชนปลดแอก (Free People) ที่บริเวณถนนราชดำเนินกลางรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและต่อเนื่องไปจนถึงแยกคอกวัว เป็นหนึ่งในการชุมนุมที่มีผู้เข้าร่วมมากที่สุดนับตั้งแต่การรัฐประหารปี 2557 คาดว่ามีผู้ชุมนุมเข้าร่วมจำนวนประมาณ 20,000 – 30,000 คน จุดน่าสนใจของการชุมนุมครั้งนี้คือการเป็นหมุดหมายสำคัญในการเคลื่อนย้ายสถานที่ชุมนุมจากในรั้วสถาบันการศึกษามาสู่ท้องถนนอย่างเป็นทางการ ซึ่งช่วยจุดประกายและต่อยอดกระแสการชุมนุมให้กลับมาอีกครั้ง หลังจากกระแสแฟลชม็อบของนักศึกษาที่ดำเนินต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี 2563 ซาลงไปในช่วงกลางปีที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19

กิจกรรมในการชุมนุมครั้งนี้มีทั้งการปราศรัย การแสดงละครและดนตรี และเทศกาลศิลปะ โดยนำเสนอเวทีเสวนาหลากหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็น การวิพากษ์วิจารณ์การบริหารงานของรัฐบาล การสืบทอดอำนาจของ คสช. ปัญหาการจัดหาวัคซีน ปัญหาของมาตรา 112 การคุกคามนักกิจกรรม การบังคับสูญหายโดยเจ้าหน้าที่รัฐ  สิทธิสตรีและความเท่าเทียมทางเพศ สิทธิแรงงาน สิทธิทางทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม และศิลปะกับการเมือง พร้อมกันนี้ ในช่วงท้ายของการชุมนุม อานนท์ นำภา ในฐานะตัวแทนของคณะประชาชนปลดแอก ได้ขึ้นเวทีอ่านแถลงการณ์ย้ำถึง 3 ข้อเรียกร้อง (หยุดคุกคามประชาชน, ยุบสภา, ร่างรัฐธรรมนูญใหม่) 2 จุดยืน (ไม่เอารัฐบาลแห่งชาติ, ไม่เอารัฐประหาร) และ 1 ความฝัน (ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ให้อยู่ร่วมกับระบอบประชาธิปไตย)

หลังการชุมนุมยุติลง กลุ่มนักศึกษาและประชาชนที่คาดว่าจะถูกดำเนินคดีจากการชุมนุม #เยาวชนปลดแอก เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2563 ได้เดินทางไปทวงถามความชัดเจนที่ สน.สำราญราษฎร์ ว่าตำรวจได้ออกหมายจับคดีดังกล่าวกับพวกตนหรือไม่ กี่คน และใครบ้าง แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้ให้ความชัดเจน นักศึกษาและประชาชนทั้งหมดจึงเดินทางมารอความชัดเจนและประชุมคดีบริเวณเสาชิงช้า ก่อนจะทยอยเดินทางกลับในเวลาต่อมา

อ่านไทม์ไลน์และรายละเอียดการชุมนุม #ขีดเส้นตายไล่เผด็จการ แบบนาทีต่อนาที ได้ที่ ทบทวน #ขีดเส้นตายไล่เผด็จการ การชุมนุมที่เป็นทั้งจุดสิ้นสุดเพดานเก่า-เริ่มต้นเพดานใหม่

.

.

ภาพรวมของการสืบพยานและข้อต่อสู้

การสืบพยานในคดีนี้ มีพยานโจทก์เข้าเบิกความทั้งหมด 8 ปาก ได้แก่

(1) พ.ต.ท.สุทธิศักดิ์ พิริยะภิญโญ รองผู้กำกับการ (สืบสวน) สน.ชนะสงคราม ผู้กล่าวหา,

(2) ร.ต.อ.พิเชษฐ์ เทศนาบูรณ์ รองสารวัตร (สืบสวน) สน.ชนะสงคราม,

(3) พ.ต.อ.วรศักดิ์ พิสิษฐบรรณกร ผู้กำกับการ สน.ชนะสงคราม,

(4) พ.ต.อ.นิวัฒน์ พึ่งอุทัยศรี ผู้กำกับการ (สืบสวน) กองกำกับการสืบสวนสอบสวน กองบังคับการตำรวจนครบาล 1,

(5) ร.ต.อ.สงกรานต์ พุทธานุรักษ์ สารวัตร (สืบสวน) กองกำกับการสืบสวนสอบสวน กองบังคับการตำรวจนครบาล 1,

(6) พ.ต.ท.วิบูลย์ นนทะแสง รองผู้กำกับการ (สืบสวน) กองกำกับการสืบสวน 4 กองบังคับการสืบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล,

(7) รัตติกรณ์ สนั่นเอื้อ เจ้าหน้าที่สิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล สำนักงานเขตพระนคร,

(8) พ.ต.ต.นิธิศ สนาพรหม สารวัตร (สอบสวน) สน.ชนะสงคราม พนักงานสอบสวนในคดีนี้

ขณะที่ฝ่ายจำเลย นำพยานเข้าเบิกความทั้งหมด 3 ปาก ได้แก่ (1) ชลธิชา แจ้งเร็ว จำเลย อ้างตัวเองเป็นพยาน (2) กรกช แสงพันธุ์เย็น สมาชิกกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (3) ณัฏฐธิดา มีวังปลา พยาบาลอาสา และมีคำให้การของพยานผู้เชี่ยวชาญ ดร.พัชร์ นิยมศิลป์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหนังสือยื่นต่อศาล

ข้อกล่าวหาของฝ่ายโจทก์ พยายามชี้ให้เห็นว่า จำเลยเป็นผู้จัดกิจกรรมการชุมนุม “#ขีดเส้นตายไล่เผด็จการ” อันเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นโดยแออัด ผู้จัดการชุมนุมไม่ได้จัดเตรียมมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ตามเงื่อนไขที่เจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะได้กำหนดไว้ เช่น ไม่จัดให้มีการเว้นระยะห่าง ไม่มีจุดบริการเจลแอลกอฮอล์หรือจุดคัดกรองโควิด-19 ไม่มีการจำกัดทางเข้าออก ไม่มีการจัดเจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์หรือสาธารณสุขเข้าไปดูแล การชุมนุมดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นการร่วมกันชุมนุมหรือทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค

ประกอบกับจำเลยไม่สามารถควบคุมดูแลผู้ชุมนุมไม่ให้ลงมาชุมนุมในพื้นที่ที่ไม่ได้ขออนุญาตจัดการชุมนุมได้ ซึ่งทำให้ประชาชนที่สัญจรไปมาไม่ได้รับความสะดวกหรืออาจถึงขั้นไม่สามารถสัญจรได้ เป็นการฝ่าฝืนเงื่อนไขอีกประการหนึ่งที่เจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะได้กำหนดไว้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีคำสั่งให้แก้ไขแล้ว แต่จำเลยไม่ยอมแก้ไข  รวมถึงจำเลยยังใช้เครื่องขยายเสียงปราศรัยหรือแสดงดนตรีเกินกว่าเวลาที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานเขตพระนคร

สำหรับข้อต่อสู้ของจำเลย คือ ชลธิชา จำเลย ได้ระบุในหนังสือแจ้งจัดการชุมนุมที่ยื่นต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้วว่า ในกรณีที่ผู้ชุมนุมจำนวนมาก อาจจำเป็นต้องขอใช้พื้นที่ถนนราชดำเนินกลางฝั่งขาออก ทั้งนี้จำเลยแจ้งจัดการชุมนุมล่วงหน้า เจ้าหน้าที่ตำรวจมีเวลาเพียงพอต่อการประชาสัมพันธ์และปรับเปลี่ยนเส้นทางตามอำนาจหน้าที่ที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ.ชุมนุมฯ

ต่อมาเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจ้งให้แก้ไขการชุมนุม จำเลยได้ยื่นคำร้องขอขยายพื้นที่ชุมนุมต่อผู้บัญชาการตำรวจนครบาลด้วยวาจาตามที่เจ้าหน้าที่ตำรวจแนะนำ และผู้บัญชาการตำรวจนครบาลมีคำสั่งอนุญาตตามคำขอ ประกอบกับการชุมนุมเป็นไปโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ไม่มีเหตุรุนแรงหรือความวุ่นวายเกิดขึ้น การชุมนุมดังกล่าวจึงเป็นไปตามหลักเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ ซึ่งถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญและพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคี

ส่วนข้อกล่าวหาที่ระบุว่าจำเลยไม่ได้จัดให้มีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ในการชุมนุม จำเลยได้ต่อสู้ว่า ในช่วงเวลาเกิดเหตุ สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศไทยไม่รุนแรงแล้ว ไม่มีรายงานว่ามีผู้ติดเชื้อภายในประเทศ ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการชุมนุม ประกอบกับทีมผู้จัดการชุมนุม ได้จัดให้มีจุดบริการหน้ากากอนามัยและเจลแอลกอฮอล์ในที่ชุมนุม และประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือผู้ชุมนุมให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคทั้งในรูปแบบวิดีโอในเพจเฟซบุ๊กและการปราศรัย รวมทั้งมีการประสานงานกลุ่มแพทย์พยาบาลอาสาให้มาคอยบริการและดูแลในพื้นที่ตลอดการชุมนุม

ในประเด็นการใช้เครื่องขยายเสียงเกินกว่าเวลาที่ได้รับอนุญาต จำเลยต่อสู้ว่า อาจเป็นการระบุเวลาในหนังสือขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงคลาดเคลื่อน เนื่องจากจำเลยไม่ได้เป็นผู้ยื่นหนังสือด้วยตนเอง หากแต่มีการประสานงานให้ทีมผู้จัดการชุมนุมฝ่ายอื่นรับผิดชอบ และอาจมีการมอบหมายต่อเป็นช่วงๆ จนเกิดความสับสนในการดำเนินการ ทั้งนี้ระดับเสียงที่ใช้ในการชุมนุมเองก็ไม่เกินระดับตามที่กฎหมายกำหนดแต่อย่างใด

จำเลยยังได้ต่อสู้ในประเด็นข้อกฎหมายว่า ข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่โจทก์นำมาใช้กล่าวหาจำเลยนั้นจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบที่ได้รับการรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีความชัดเจน ไม่จำเป็นและไม่ได้สัดส่วน ทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไม่มีอำนาจตามกฎหมายในการให้อนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ชุมนุมสาธารณะ ทั้งไม่สามารถปฏิเสธหน้าที่ในการจัดการจราจรเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ชุมนุมและบุคคลทั่วไปบริเวณโดยรอบพื้นที่ชุมนุมที่ได้แจ้งไว้แล้วได้ ประกอบกับ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ ซึ่งมีการกำหนดหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการจราจรและการใช้เครื่องขยายเสียงเป็นการเฉพาะอยู่แล้ว ไม่มีความจำเป็นต้องบังคับใช้ พ.ร.บ.จราจรฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ อีก

.

.

ชุดสืบ สน.ชนะสงคราม รับ หนังสือแจ้งจัดการชุมนุม ระบุขอใช้กรณีชุมนุมมีจำนวนมาก จะขอใช้พื้นที่ฝั่งขาออกด้วย – มีการนำแผงเหล็กมากั้นหัวท้ายพื้นที่ชุมนุมจริง

พ.ต.ท.สุทธิศักดิ์ พิริยะภิญโญ รองผู้กำกับการ (สืบสวน) และ ร.ต.อ.พิเชษฐ์ เทศนาบูรณ์ รองสารวัตร (สืบสวน) สน.ชนะสงคราม เบิกความทำนองเดียวกันว่า เมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2563 ชลธิชา แจ้งเร็ว ได้เดินทางมาที่ สน.ชนะสงคราม แจ้งว่าจะจัดการชุมนุมที่บริเวณถนนราชดำเนินกลาง ตั้งแต่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจนถึงแยกคอกวัว จำนวนผู้ชุมนุมประมาณ 10,000 คน โดยจำเลยได้มอบแผนที่แสดงพื้นที่ชุมนุมโดยสังเขปไว้ให้แก่ พ.ต.ท.สุทธิศักดิ์ ระบุว่าจะใช้พื้นที่ถนนราชดำเนินฝั่งขาเข้าเพียงฝั่งเดียวเท่านั้น

หลังได้รับแจ้ง พ.ต.อ.วรศักดิ์ พิสิษฐบรรณกร ผู้กำกับการ สน.ชนะสงคราม ได้จัดทำหนังสือสรุปสาระสำคัญการชุมนุมแจ้งกลับให้แก่จำเลย โดยระบุว่า ให้ผู้ชุมนุมทำการชุมนุมในบริเวณที่ได้ขอพื้นที่ไว้ เพื่อไม่ให้กระทบต่อการจราจร จากนั้น พ.ต.อ.วรศักดิ์ ได้มอบหมายให้ พ.ต.ท.สุทธิศักดิ์ นำกำลังเจ้าหน้าที่ สน.ชนะสงคราม ลงพื้นที่สืบสวนหาข่าวในที่ชุมนุม

16 ส.ค. 2563 เวลาประมาณ 14.00 น. พยานทั้งสองได้ลงพื้นที่สืบสวนหาข่าวในที่ชุมนุม โดยแต่งกายนอกเครื่องแบบเช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่สืบสวนคนอื่น ร.ต.อ.พิเชษฐ์ เบิกความรับว่า ตนเป็นเจ้าหน้าที่สืบสวนผู้ทำหน้าที่บันทึกภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวในที่ชุมนุม โดยประจำจุดอยู่ที่ถนนดินสอ บริเวณทางเท้าหน้าร้านแมคโดนัลด์ สาขาอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เช่นเดียวกับ พ.ต.ท.สุทธิศักดิ์

พ.ต.ท.สุทธิศักดิ์ เล่าต่อไปว่า เมื่อลงพื้นที่แล้ว ตนพบเห็นกลุ่มผู้ชุมนุมเริ่มทยอยเข้าพื้นที่และมีการจัดตั้งเวทีบริเวณหน้าทางเท้าหน้าร้านแมคโดนัลด์ ซึ่งเป็นเวทีชั่วคราวขนาดเล็ก หลังจากนั้นจึงมีการขยายพื้นที่และจัดตั้งเวทีใหญ่ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หันหน้าไปทางแยกคอกวัว โดยจัดตั้งบนพื้นผิวจราจร มีลักษณะเป็นการกีดขวางการจราจร ในช่วงแรกรถยนต์สามารถสัญจรได้ประมาณ 1-2 ช่องทาง แต่ต่อมาผู้ชุมนุมมีจำนวนมากและได้ทำการปิดถนน ส่งผลให้ไม่สามารถสัญจรได้

สองเจ้าหน้าที่สืบสวน สน.ชนะสงคราม เบิกความสอดคล้องกันว่า พบเห็นจำเลยในช่วงเวลาประมาณ 14.00 น. จำเลยได้ขึ้นเวทีขนาดเล็กเพื่อปราศรัยประชาสัมพันธ์มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 และข้อกฎหมายเกี่ยวกับการชุมนุม โดยจำเลยปราศรัยผ่านเครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้า ขณะที่จำเลยปราศรัย ยังไม่มีการจัดกิจกรรมเกิดขึ้น แต่เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ผู้ชุมนุมเริ่มทยอยเข้ามาในพื้นที่ หลังจัดตั้งเวทีใหญ่เสร็จ พยานทั้งสองจำเวลาไม่ได้ แต่ได้เริ่มทำกิจกรรมปราศรัยและแสดงดนตรี

เวลาประมาณ 18.00 น. เป็นช่วงเวลาที่ผู้ชุมนุมมีจำนวนมากที่สุด คือประมาณ 10,000 คนเศษ มีการปิดพื้นผิวการจราจรถนนราชดำเนินกลางฝั่งขาออกตั้งแต่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจนถึงแยกคอกวัว ทำให้ไม่สามารถใช้เส้นทางสัญจรได้ทั้งขาเข้าและขาออก หลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจทราบถึงสภาพการจราจรแล้ว ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์ ได้มีคำสั่งแจ้งผู้จัดการชุมนุมให้แก้ไขพื้นที่การชุมนุม บริเวณถนนราชดำเนินกลางขาออก ซึ่งไม่มีการขอใช้พื้นที่มาก่อน

รองผู้กำกับการ (สืบสวน) เบิกความเพิ่มเติมว่า ตนได้รับแจ้งจากวิทยุว่ามีการแจ้งให้จำเลยทราบ แต่จำเลยไม่ได้ลงนามรับทราบแต่อย่างใด จำเลยไม่ได้แก้ไขพื้นที่การชุมนุม ผู้ชุมนุมยังคงชุมนุมที่ฝั่งขาออกจนกระทั่งแกนนำการชุมนุมประกาศยุติการชุมนุมในเวลา 22.40 น. ผู้ชุมนุมจึงแยกย้ายกันเดินทางกลับ

พยานทั้งสอง ยืนยันว่า การกระทำของจำเลยเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19  เนื่องจากในที่ชุมนุม มีผู้ชุมนุมบางส่วนที่ไม่สวมใส่หน้ากากอนามัย ประกอบกับเมื่อผู้ชุมนุมมีจำนวนมากขึ้นก็ไม่มีการเว้นระยะห่าง ทั้งสองไม่พบเห็นจุดตรวจวัดคัดกรองโควิด-19 และจุดบริการเจลแอลกอฮอล์แต่อย่างใด รวมถึงไม่มีจุดให้บริการลงทะเบียนแอพลิเคชั่นไทยชนะ

ในการตอบทนายจำเลยถามค้าน พ.ต.ท.สุทธิศักดิ์ อธิบายว่า ในวันเกิดเหตุ ตำรวจได้จัดตั้งศูนย์บริหารเหตุการณ์อยู่ภายในโรงเรียนสตรีวิทยา โดยมี พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ และ พ.ต.อ.อรรถวิทย์ สายสืบ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เป็นรองผู้บัญชาการเหตุการณ์ ส่วนจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจอื่นอีกกี่คน พยานจำจำนวนที่แน่ชัดไม่ได้ แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรเข้าร่วมประชุมด้วย หากมีคำสั่งเกี่ยวกับการจราจร จะมีการสั่งการผ่าน พ.ต.อ.วรศักดิ์

.

.

พ.ต.ท.สุทธิศักดิ์ รับว่า ตนทราบว่าในหนังสือแจ้งจัดการชุมนุมของจำเลย ได้แจ้งว่า ในกรณีที่ผู้ชุมนุมมีจำนวนมาก อาจจะต้องขยายพื้นที่การชุมนุมลงไปบนพื้นผิวจราจรและคาบเกี่ยวกับพื้นที่ของ สน.นางเลิ้ง อย่างไรก็ตาม พื้นที่บนผิวจราจรนั้นอยู่ในความรับผิดชอบของ สน.สำราญราษฎร์ ไม่ใช่ สน.นางเลิ้ง

เกี่ยวกับการจัดการด้านจราจร ร.ต.อ.พิเชษฐ์ ขยายความว่า โดยปกติแล้ว ในการจัดการจราจร จะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรคอยอำนวยความสะดวกและควบคุมผู้ชุมนุมไม่ให้ลงไปชุมนุมในพื้นที่ที่ไม่ได้ขอจัดการชุมนุม แต่การชุมนุมครั้งนี้มีผู้ชุมนุมจำนวนมาก ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรไม่สามารถควบคุมได้ ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำแผงเหล็กมาปิดกั้นทางหัวและท้ายของพื้นที่ชุมนุม เพื่อป้องกันรถที่สัญจรไปตามปกติไม่ให้เข้าไปในพื้นที่ชุมนุมและกันไม่ให้ผู้ชุมนุมล้นออกมา

พยานทั้งสอง ยืนยัน ไม่ทราบเรื่องที่จำเลยได้เข้าไปเจรจากับ พล.ต.ท.ภัคพงศ์ และ พ.ต.อ.อรรถวิทย์ ในศูนย์บริหารเหตุการณ์เพื่อขอขยายพื้นที่ชุมนุม และ พล.ต.ท.ภัคพงศ์ ได้มีคำสั่งอนุญาตขยายพื้นที่ชุมนุมด้วยวาจาแก่จำเลย มาก่อน

สำหรับเรื่องการขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงฯ พ.ต.ท.สุทธิศักดิ์ รับว่า ตนทราบจากหนังสือแจ้งจัดการชุมนุมว่าจะมีการใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้า และได้มีการประสานงานเจ้าหน้าที่จากสำนักงานเขตพระนครให้มาตรวจสอบการใช้เครื่องขยายเสียง ซึ่งตนทราบจากเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตว่าอนุญาตให้ใช้เครื่องขยายเสียงถึงแค่เวลา 16.00 น.

ทั้งนี้ พ.ต.ท.สุทธิศักดิ์ ไม่ทราบว่า พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ได้อนุญาตให้มีการใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าได้จนถึงเวลา 24.00 น. และไม่ทราบว่ามีประกาศแนวปฏิบัติของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเกี่ยวกับการใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าในการชุมนุมสาธารณะโดยเฉพาะหรือไม่

และไม่ทราบด้วยว่า ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 13) ข้อ 1 ขัดต่อ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 3 (6) ที่กำหนดไม่ให้ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ไม่ใช้บังคับในระหว่างเวลาที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือไม่

ร.ต.อ.พิเชษฐ์ เบิกความตอบทนายจำเลยว่า พบเห็นจำเลยปราศรัยถึงหน้าที่ในการอำนวยความสะดวกในการดูแลการจราจรของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 19 และ 20 ด้าน พ.ต.ท.สุทธิศักดิ์ ยอมรับว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถบริหารสิทธิในการใช้เส้นทางสัญจรของประชาชนทั่วไปและสิทธิในการชุมนุมของผู้ชุมนุมให้ดำเนินควบคู่กันไปได้ โดยผ่านการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนหลีกเลี่ยงเส้นทางการจราจรในวันดังกล่าว

เจ้าหน้าที่สืบสวนทั้งสอง ยืนยันกับทนายจำเลยว่า การชุมนุมเป็นไปโดยสงบ ไม่มีความวุ่นวาย และจำเลยไม่มีพฤติการณ์ยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมือง

ทนายจำเลยให้ พ.ต.ท.สุทธิศักดิ์ ดู เอกสารรายงานผู้ติดเชื้อของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ช่วงเดือน ส.ค. 2563 แล้วถาม พ.ต.ท.สุทธิศักดิ์ ว่า ในรายงานปรากฏผู้ติดเชื้อภายในประเทศเป็นศูนย์ใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สุทธิศักดิ์ ดูแล้วรับว่าใช่ และตัวพยานเองไม่ได้ติดเชื้อโควิด-19 จากการชุมนุมดังกล่าว

ทนายจำเลยให้ พ.ต.ท.สุทธิศักดิ์ ดู ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 13) แล้วถาม พ.ต.ท.สุทธิศักดิ์ ว่า ในข้อกำหนดฯ ดังกล่าว ระบุว่าแนวโน้มสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีแนวโน้มดีขึ้น จึงเห็นควรให้ผ่อนคลายมาตรการใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สุทธิศักดิ์ ดูแล้วรับว่าใช่

ทนายจำเลยให้ พ.ต.ท.สุทธิศักดิ์ ดู ประกาศขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน (คราวที่ 5) แล้วถาม พ.ต.ท.ปิติพันธ์ ว่า ในข้อกำหนดฯ ดังกล่าว ระบุว่า รัฐบาลตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดเพื่อให้บรรดาสถานที่ กิจการ หรือกิจกรรมที่อาจมีความเสี่ยงสูงต่อการแพร่ระบาด สามารถเปิดดำเนินการได้ ใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สุทธิศักดิ์ ดูแล้วรับว่าใช่

ทนายจำเลยให้ พ.ต.ท.สุทธิศักดิ์ ดู คลิปวิดีโอจากเพจเฟซบุ๊กของคณะประชาชนปลดแอก แล้วถาม พ.ต.ท.สุทธิศักดิ์ ว่า คลิปวิดีโอดังกล่าวเป็นการแนะนำมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยการขอให้ผู้ชุมนุมสวมใส่หน้ากากอนามัยและล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สุทธิศักดิ์ ดูแล้วรับว่า ใช่ แล้วยังรับด้วยว่า มีการแคปภาพคลิปวิดีโอดังกล่าวเพื่อประกอบการจัดทำรายงานการสืบสวนด้วย

ทนายจำเลยถาม พ.ต.ท.สุทธิศักดิ์ ต่อว่า คลิปวิดีโอดังกล่าว สำนักข่าวไทยรัฐออนไลน์ไดนำไปเผยแพร่ต่อ และมียอดผู้ชมคลิปวิดีโอจำนวน 7.9 หมื่นคน ใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สุทธิศักดิ์ ดูแล้วรับว่า ใช่

ทนายจำเลยให้ พ.ต.ท.สุทธิศักดิ์ ดู บทความจากเว็บไซต์ของโรงพยาบาลราชพฤกษ์ เรื่อง คุณรู้ไหม การสวมหน้ากากอนามัยสำคัญแค่ไหน ลงวันที่ 5 พ.ค. 2564 แล้วถาม พ.ต.ท.สุทธิศักดิ์ ว่าในบทความดังกล่าว ระบุว่า การสวมใส่หน้ากากอนามัยช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 ถึงร้อยละ 95 ใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สุทธิศักดิ์ รับว่าใช่

.

.

ชุดสืบความมั่นคง เผย เห็นจำเลยขึ้นปราศรัยเกี่ยวกับมาตรการป้องกันโควิด-19 และข้อกฎหมายเกี่ยวกับการชุมนุม – ยันการชุมนุมเป็นไปด้วยความสงบ ไม่มีเหตุวุ่นวาย

พ.ต.อ.นิวัฒน์ พึ่งอุทัยศรี ผู้กำกับการ (สืบสวน), ร.ต.อ.สงกรานต์ พุทธานุรักษ์ สารวัตร (สืบสวน) กองกำกับการสืบสวนสอบสวน กองบังคับการตำรวจนครบาล 1 และ พ.ต.ท.วิบูลย์ นนทะแสง รองผู้กำกับการ (สืบสวน) กองกำกับการสืบสวน 4 กองบังคับการสืบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล เบิกความทำนองเดียวกันว่า พยานทั้งสามมีหน้าที่สืบสวนคดีความมั่นคงในเขตท้องที่รับผิดชอบ เกี่ยวกับคดีนี้ ทั้งสามได้รับแจ้งข่าวจากผู้กำกับการ สน.ชนะสงคราม ว่า คณะประชาชนปลดแอก ได้ประกาศเชิญชวนให้ประชาชนเข้าร่วมการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในวันที่ 16 ส.ค. 2563

เมื่อทราบข่าวแล้ว ในช่วงเช้าของวันเกิดเหตุ พ.ต.อ.นิวัฒน์ ได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สืบสวนหาข่าว โดยมี ร.ต.อ.สงกรานต์ เป็นหนึ่งในเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ทำการลงพื้นที่ตั้งแต่เวลา 10.00 น. ทั้งสองแต่งกายนอกเครื่องแบบและยืนประจำจุดอยู่ที่บริเวณหน้าร้านแมคโดนัลด์ สาขาอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย พบเห็นกลุ่มผู้ชุมนุมทยอยเข้าพื้นที่มารวมตัวกันและจัดตั้งเวทีขนาดเล็กขึ้น ด้าน พ.ต.ท.วิบูลย์ ซึ่งมาจากต่างสังกัด เบิกความว่าตนลงพื้นที่ในในช่วงเวลา 15.00 น. และแต่งกายนอกเครื่องแบบเช่นเดียวกัน

สามเจ้าหน้าที่สืบสวนความมั่นคง เบิกความทำนองเดียวกันต่อไปว่า เมื่อเวลาราว 17.00 น. ได้มีการจัดตั้งเวทีใหญ่บนพื้นผิวจราจรที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หันหน้าเข้าแยกคอกวัว ตลอดการชุมนุมมีผู้ชุมนุมหมุนเวียนกันขึ้นปราศรัยและเล่นดนตรี มีการใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าคือ ไมโครโฟนและลำโพง ผู้ชุมนุมมีจำนวนสูงสุดในช่วงเวลา 18.00 – 19.00 น. จำนวนประมาณ 20,000 – 30,000 คน โดยผู้ชุมนุมได้ลงมาอยู่บนพื้นผิวจราจร ถนนราชดำเนินกลางทั้งขาเข้าและขาออก ตั้งแต่หน้าเวทีไปจนถึงแยกคอกวัว การจราจรไม่สามารถสัญจรได้

ทั้งสามยืนยันว่า พบเห็นผู้ชุมนุมบางส่วนไม่สวมใส่หน้ากากอนามัย ไม่มีการเว้นระยะห่างระหว่างผู้ชุมนุม ไม่มีการตั้งจุดตรวจคัดกรองโควิด-19 และจุดบริการเจลแอลกอฮอล์ รวมถึงผู้ที่ปราศรัยบนเวทีก็ไม่สวมใส่หน้ากากอนามัย

ร.ต.อ.สงกรานต์ เบิกความเพิ่มเติมว่า ในเวลา 12.00 น. ตนพบเห็นจำเลยในพื้นที่ชุมนุมและได้ขึ้นปราศรัยประชาสัมพันธ์มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 และข้อกฎหมายเกี่ยวกับการชุมนุม ด้าน พ.ต.อ.นิวัฒน์ ระบุว่าตนได้บันทึกเสียงและถอดข้อความปราศรัยของจำเลยไว้ด้วย แต่พยานจำไม่ได้ว่าจำเลยสวมใส่หน้ากากอนามัยหรือไม่ แต่ได้ถ่ายรูปไว้ นอกจากนี้ พ.ต.อ.นิวัฒน์ ยังเบิกความว่าเห็นจำเลยช่วยจัดตั้งเวทีใหญ่ร่วมกับผู้ชุมนุม

ในการตอบทนายจำเลยถามค้าน ร.ต.อ.สงกรานต์ รับว่า ตนเป็นผู้พาจำเลยไปพบกับ พล.ต.ท.ภัคพงศ์ และ พ.ต.อ.อรรถวิทย์ ที่ศูนย์บริหารเหตุการณ์ในโรงเรียนสตรีวิทยาเพื่อทำการเจรจาขอขยายพื้นที่ชุมนุม แต่รายละเอียดการพูดคุยเป็นอย่างไร พยานไม่ทราบ เนื่องจากเมื่อพาจำเลยไปพบแล้ว ตนก็เดินออกมาทันที ด้าน พ.ต.อ.นิวัฒน์ และ พ.ต.ท.วิบูลย์ เบิกความว่า ตนไม่ทราบเรื่องการเจรจาขอขยายพื้นที่ชุมนุม

ส่วนเรื่องรายงานถอดเทปถ้อยคำปราศรัย พ.ต.อ.นิวัฒน์ เบิกความตอบทนายจำเลยว่า เป็นถ้อยคำปราศรัยที่จำเลยปราศรัยอยู่ที่เวทีชั่วคราว แต่ขอยืนยันว่าจำเลยร่วมจัดตั้งเวทีทั้งเวทีชั่วคราวและเวทีใหญ่ พยานได้ถ่ายรูปภาพจำเลยไว้ด้วย แต่ไม่ได้นำเข้ามาอยู่ในรายงานสืบสวนแต่อย่างใด

ร.ต.อ.สงกรานต์ ยังตอบทนายจำเลยอีกว่า ภาพที่จำเลยปราศรัยและไม่สวมใส่หน้ากากอนามัยนั้น เป็นภาพช่วงที่จำเลยปราศรัยสั้นๆ จำเลยเว้นระยะห่างและยืนสูงกว่าคนอื่น 

ทนายจำเลยให้ ร.ต.อ.สงกรานต์, พ.ต.อ.นิวัฒน์ และ พ.ต.ท.วิบูลย์ ดู คลิปวิดีโอภาพบรรยากาศชุมนุมในบัญชีวัตถุพยานโจทก์ แล้วถามทั้งสองว่า ในคลิปวิดีโอปรากฎภาพแผงเหล็กจราจรกั้นอยู่ทั้งสองฝั่งของถนนบริเวณแยกคอกวัวใช่หรือไม่ ทั้งสามดูแล้ว รับว่าใช่ แต่ไม่ทราบว่าใครเป็นคนนำมากั้น ส่วนตำรวจที่ปรากฎอยู่กับแผงเหล็กจราจรนั้น  ร.ต.อ.สงกรานต์ และ พ.ต.อ.นิวัฒน์ เบิกความเหมือนกันว่าเป็นเจ้าหน้าที่จราจรของ สน.ชนะสงคราม

ทนายจำเลยถาม พ.ต.อ.นิวัฒน์ ต่อไปว่า การนำแผงเหล็กจราจรมากั้นนั้นทำให้ผู้ชุมนุมถูกบังคับให้อยู่ในพื้นที่จำกัดและไม่สามารถเว้นระยะห่างได้ใช่หรือไม่ พ.ต.อ.นิวัฒน์ ไม่ตอบคำถาม ขอยืนยันเพียงแต่ว่าผู้ชุมนุมมีจำนวนมากและส่งผลให้เว้นระยะห่างไม่ได้

ทนายจำเลยให้ พ.ต.อ.นิวัฒน์ ดู ภาพเหตุการณ์ขณะชุมนุม แล้วถามว่า บุคคลในภาพเป็นอาสาสมัครพยาบาลและกำลังแจกเจลแอลกอฮอล์และหน้ากากอนามัยอยู่ใช่หรือไม่ พ.ต.อ.นิวัฒน์ ดูแล้วเบิกความว่า ไม่ทราบมาก่อน

ทั้งสามตอบทนายจำเลยถามค้าน ยืนยันเช่นเดียวกันว่า ตั้งแต่เริ่มจนจบการชุมนุม ไม่ปรากฎว่ามีผู้ชุมนุมยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมือง การชุมนุมเป็นไปโดยสงบ ไม่มีความวุ่นวาย

.

.

เจ้าหน้าที่ สนง.เขต ระบุ ระดับเสียงไม่เกินกำหนด แต่ใช้เกินกว่าเวลาที่ขออนุญาต

รัตติกรณ์ สนั่นเอื้อ นักวิชาการสุขาภิบาลชำนาญการ สำนักงานเขตพระนคร เบิกความว่า พยานได้รับหนังสือแจ้งจาก สน.สำราญราษฎร์ ให้ไปตรวจวัดระดับเสียงในการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในวันที่ 16 ส.ค. 2563 เนื่องจากมีประชาชนมาแจ้งจัดการชุมนุมทางการเมือง พยานได้ลงพื้นที่พร้อมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอีกหนึ่งคนในเวลา 16.00 น. พบเห็นผู้ชุมนุมยืนกระจัดกระจาย ผู้ชุมนุมเกือบทุกคนสวมใส่หน้ากากอนามัย แต่ไม่พบเห็นจุดให้บริการเจลแอลกอฮอล์

พยานตรวจวัดระดับเสียงทั้งหมด 4 จุด ได้แก่ (1) หน้าโรงแรมดินสอ (2) หน้าโรงเรียนสตรีวิทยา (3) หน้าร้านศึกษาภัณฑ์เก่า และ (4) หน้าอาคาร บริษัท ธนบุรีพาณิช  จำกัด ผลการตรวจวัดระดับเสียงไม่เกินค่าที่กำหนดตามประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง กำหนดระดับเสียงของเครื่องขยายเสียงที่ใช้ในการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558

ตามกฎหมายแล้ว การใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้า ต้องขออนุญาตต่อสำนักงานเขตพระนครก่อน เนื่องจากเป็นหน่วยงานดูแลท้องที่รับผิดชอบ ในคดีนี้ พยานได้ตรวจสอบแล้ว พบว่ามีการขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้ามาถึงสำนักงานเขตพระนครจริง และสำนักงานเขตพระนครได้อนุญาตให้ใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าในพื้นที่ชุมนุมตั้งแต่เวลา 10.00 – 16.00 น. อย่างไรก็ตาม พยานปฏิบัติหน้าที่อยู่ในที่เกิดเหตุตั้งแต่เวลา 16.00 – 21.00 น. พบเห็นกลุ่มผู้ชุมนุมยังคงใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าในการพูดคุยปราศรัย แม้ว่าเกินกำหนดเวลาที่มีการอนุญาตให้ใช้แล้ว

ในการตอบทนายจำเลยถาม รัตติกรณ์ ยืนยันว่า ตนมีหน้าที่ต้องตรวจวัดระดับเสียงทั้งที่มีการขออนุญาตและไม่มีการขออนุญาต แต่ในวันเกิดเหตุ ช่วงเวลาระหว่าง 10.00 – 16.00 น. นั้น ผู้ชุมนุมยังไม่มีการใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้า พยานจึงไม่ได้ตรวจวัดระดับเสียง

ส่วนการขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียง ผู้ขออนุญาตจะต้องแจ้งต่อแบบฟอร์มของเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อให้ตำรวจทำความเห็นว่าควรอนุญาตให้ใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าหรือไม่ จากนั้นผู้ขออนุญาตจึงจะนำแบบฟอร์มดังกล่าวแจ้งต่อสำนักงานเขตพระนคร ทั้งนี้แบบฟอร์มดังกล่าวเป็นคนละฉบับกับหนังสือแจ้งจัดการชุมนุม

เกี่ยวกับเหตุผลที่มีการอนุญาตให้ใช้เครื่องขยายเสียงด้วยถึงแค่เวลา 16.00 น. นั้น รัตติกรณ์ เบิกความคาดการณ์ว่าอาจเป็นเหตุผลด้านสาธารณสุขเพื่อคุ้มครองสุขภาพของประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าว เนื่องจากหลังเวลา 16.00 น. เป็นต้นไป เป็นช่วงเวลาที่กำลังเข้าสู่ยามวิกาล ประชาชนทั่วไปอาจจะกำลังเตรียมตัวพักผ่อน

พยานรับว่า ไม่ได้สังเกตว่ามีเตนท์พยาบาลอาสาตั้งอยู่ในพื้นที่ชุมนุมหรือไม่ เนื่องจากผู้ชุมนุมมีจำนวนมากและพยานยืนประจำจุดวัดระดับเสียงอยู่ตลอดเวลา ไม่ได้เคลื่อนย้ายไปไหน

.

.

พนักงานสอบสวนเห็นควรสั่งฟ้องคดี แม้ไม่ได้ตรวจสอบสถานการณ์การแพร่เชื้อ – ไม่ได้ขอความเห็นนักวิชาการด้านกฎหมายว่า ข้อกำหนดฯ ขัด พ.ร.บ.ชุมนุมฯ หรือไม่

พ.ต.ต.นิธิศ สนาพรหม สารวัตร (สอบสวน) สน.ชนะสงคราม พนักงานสอบสวนเจ้าของคดี เบิกความว่า เมื่อวันที่ 18 ส.ค. 2563 พ.ต.ท.สุทธิศักดิ์ พิริยะภิญโญ ได้มาแจ้งความร้องทุกข์ให้มีการดำเนินคดีกับชลธิชา แจ้งเร็ว จากกรณีจัดการชุมนุมที่ถนนราชดำเนินกลาง ตั้งแต่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจนถึงแยกคอกวัว

สำหรับพฤติการณ์แห่งคดี ในวันที่ 16 ส.ค. 2563 จำเลยได้จัดการชุมนุมและไม่สามารถควบคุมดูแลผู้ชุมนุมให้อยู่ในพื้นที่ที่ขออนุญาตจัดการชุมนุมได้ ส่งผลให้การจราจรติดขัด ต่อมาตำรวจได้มีหนังสือสั่งให้จำเลยแก้ไขและยุติการชุมนุม แต่จำเลยไม่ได้ปฏิบัติตาม และยังคงชุมนุมต่อไปจนกระทั่งยุติการชุมนุม

ทั้งนี้ พ.ต.ท.สุทธิศักดิ์ ผู้กล่าวหา ได้ส่งมอบหนังสือแจ้งจัดการชุมนุมและหนังสือสรุปสาระสำคัญการชุมนุมสาธารณะให้แก่พยาน หลังจากได้รับแจ้งความแล้ว ฝ่ายสืบสวนของ สน.ชนะสงคราม ได้ส่งมอบรายงานการสืบสวนให้แก่พยาน ขณะที่ฝ่ายสืบสวนของกองบังคับการตำรวจนครบาล 1 ได้ส่งมอบรายงานความเคลื่อนไหวการชุมนุมและบันทึกถอดเทปถ้อยคำปราศรัยของกลุ่มผู้ชุมนุมให้แก่พยานเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ ในการชุมนุมยังปรากฎข้อเท็จจริงว่าผู้ชุมนุมได้ใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้า พยานจึงได้ทำหนังสอบถามไปถึงสำนักงานเขตพระนคร ทราบว่ามีการอนุญาตให้ใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าตั้งแต่เวลา 10.00 – 16.00 น. แต่ในการชุมนุมจริง มีการใช้เครื่องขยายเสียงจนถึงเวลา 22.00 น. หลังรวบรวมพยานหลักฐานแล้ว พยานได้ออกหมายเรียกจำเลยเพื่อมารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 7 ม.ค. 2564  หลังรวบรวมพยานหลักฐานแล้ว พยานมีความเห็นสั่งฟ้องคดีต่อพนักงานอัยการ

ในการตอบทนายจำเลยถามค้าน พ.ต.ต.นิธิศ เบิกความว่า ในการสอบสวน ตนไม่แน่ใจว่าได้รวบรวมข้อมูลสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยหรือไม่ และยังรับอีกว่า ในหนังสือสั่งแก้ไขการชุมนุม ไม่ได้ระบุเหตุผลว่า ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่ระบุว่า ฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ทั้งนี้พยานทราบว่า ตาม พ.ร.บ.ชุมนุม มาตรา 3 (6) กำหนดให้ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ไม่ใช้บังคับในช่วงเวลาที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือกฎอัยการศึก

พนักงานสอบสวนเจ้าของคดี ยังรับอีกว่า ในทางสอบสวน ไม่ได้มีการสอบถามผู้เชี่ยวชาญหรือนักวิชาการด้านนิติศาสตร์ว่า ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 13) ขัดหรือแย้งกับ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ หรือไม่

ทนายจำเลยให้ พ.ต.ต.นิธิศ ดู ภาพเหตุการณ์เตนท์พยาบาลและจุดบริการเจลแอลกอฮอล์ แล้วถามว่า เจ้าหน้าที่สืบสวนได้นำส่งให้แก่พยานหรือไม่ พ.ต.ต.นิธิศ ดูแล้ว ตอบว่า ไม่แน่ใจและเจ้าหน้าที่สืบสวนไม่ได้มีการกล่าวถึงหรือบรรยายถึงประเด็นดังกล่าว

.

.

“ลูกเกด” ยืนยัน ผบช.น. อนุญาตให้ขยายพื้นที่ชุมนุมด้วยวาจาแล้ว ชี้มาตรการโควิดมีความเหมาะสม ด้านการขอใช้เครื่องขยายเสียงอาจระบุเวลาคลาดเคลื่อน

ชลธิชา เบิกความว่า ตนสังกัดกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) ทำงานรณรงค์เกี่ยวกับประชาธิปไตย สิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมือง เหตุในคดีนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2563 ขณะนั้น ประเทศไทยไม่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 พยานได้แจ้งจัดการชุมนุมต่อ สน.ชนะสงคราม พร้อมกับขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจช่วยดูแลความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกเรื่องการจราจร ทั้งนี้ยังระบุในหนังสือด้วยว่า หากผู้ชุมนุมมีจำนวนมาก อาจจะต้องขอใช้พื้นที่ถนนราชดำเนินกลางทั้งสองฝั่ง ตั้งแต่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปจนถึงแยกคอกวัว

ในช่วงแรกของการชุมนุม ผู้ชุมนุมยังคงอยู่เพียงแค่ถนนราชดำเนินฝั่งขาเข้า แต่พอผู้ชุมนุมมีจำนวนมากขึ้นและเจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำแผงเหล็กจราจรมากั้นหน้าและท้ายของพื้นที่ชุมนุมฝั่งขาเข้า ทำให้ผู้ชุมนุมต้องล้นออกไปอยู่ที่ถนนราชดำเนินกลางฝั่งขาออก พยานพยายามเจรจากับเจ้าหน้าที่ตำรวจผ่านทางโทรศัพท์ ขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจนำแผงเหล็กจราจรออก ต่อมา ร.ต.อ.สงกรานต์ จึงได้พาพยานไปพบกับเจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นผู้ใหญ่ที่ศูนย์บริหารเหตุการณ์ในโรงเรียนสตรีวิทยา

เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยื่นหนังสือแจ้งแก้ไขการชุมนุมให้แก่พยาน แต่พยานไม่ได้ลงลายมือชื่อรับทราบหนังสือดังกล่าว เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจมีจุดประสงค์ต้องการให้พยานควบคุมผู้ชุมนุมให้อยู่เพียงถนนราชดำเนินกลางฝั่งขาเข้า ซึ่งพยานไม่สามารถกระทำได้ เพราะมีผู้ชุมนุมอยู่ในพื้นที่เป็นจำนวนมาก พยานจึงได้เจรจาขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจนำแผงเหล็กจราจรออกแทน เจ้าหน้าที่ตำรวจนายหนึ่งจึงเสนอให้พยานเขียนหนังสือขอขยายพื้นที่ชุมนุม แต่พยานอยู่ในพื้นที่ชุมนุม ไม่สะดวกที่จะจัดทำหนังสือในทันที เจ้าหน้าที่นายนั้นจึงแนะนำให้ขอขยายพื้นที่ชุมนุมแบบปากเปล่ากับ พล.ต.ท.ภัคพงศ์ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล พยานจึงได้ทำตาม

โดยปกติแล้ว ถ้าเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถเจรจากับผู้จัดการชุมนุมได้ เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องมีหนังสือห้ามการชุมนุมมาถึงผู้จัดการชุมนุม แต่ในเหตุการณ์นี้ ไม่ปรากฎว่ามีหนังสือมาถึงพยานและไม่มีการประกาศห้ามการชุมนุมจากเจ้าหน้าที่ตำรวจแต่อย่างใด

สำหรับประเด็นเรื่องระยะเวลาในการขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้านั้น พยานคาดว่าอาจเป็นการระบุเวลาคลาดเคลื่อนไปจาก 10.00 – 23.59 น. เป็นเวลา 10.00 – 16.00 น. เพราะพยานเห็นว่าในทุกการชุมนุม มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้เครื่องขยายเสียง และในเอกสารขออนุญาต มีข้อความชื่อผู้ขออนุญาต ซึ่งพยานไม่รู้จักมาก่อน ส่วนสาเหตุที่บุคคลดังกล่าวไปขออนุญาต คาดว่าเป็นเพราะพยานได้มอบหมายเรื่องการจัดการเครื่องขยายเสียงให้กับทีมงานคนอื่น และทีมงานคนอื่นอาจมีการมอบหมายต่อ

สาเหตุที่พยานไม่ได้แจ้งการขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงด้วยตัวเอง เนื่องจากพยานติดประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาและแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการลอบประทุษร้ายประชาชน ของสภาผู้แทนราษฎร และสาเหตุที่พยานไม่ได้โต้แย้งเรื่องรายละเอียดในเอกสาร เป็นเพราะเพิ่งเห็นเอกสารดังกล่าวภายหลังจากถูกดำเนินคดีแล้ว

นอกจากนี้ กลุ่มคณะประชาชนปลดแอกได้มีการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ชุมนุมสวมใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ ผ่านภาพกราฟฟิกและคลิปวิดีโอที่เผยแพร่ผ่านเพจเฟซบุ๊ก รวมถึงในการชุมนุมก็ได้มีพิธีกรขึ้นประชาสัมพันธ์มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 อยู่เป็นระยะตลอดการชุมนุม มีการหน่วยบริการพยาบาลอาสาและจุดบริการเจลแอลกอฮอล์

สำหรับภาพถ่ายของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งปรากฎภาพว่า พยานไม่ได้สวมใส่หน้ากากอนามัยนั้น เพราะพยานเป็นภูมิแพ้ เมื่อสวมใส่หน้ากากสักระยะหนึ่ง พยานต้องถอดออกเพื่อถ่ายเทอากาศและจึงสวมใส่อีกครั้ง ทั้งยังไม่สะดวกขณะปราศรัย ซึ่งพยานไม่มีภาพมายืนยันว่าพยานได้สวมใส่หน้ากากอนามัย เพราะเหตุการณ์ผ่านมานานแล้ว แต่ช่วงเวลาดังกล่าว พยานยืนยันว่าพยานปราศรัยไม่นานและเป็นการอธิบายถึงข้อกฎหมายเกี่ยวกับการชุมนุม

ในการชุมนุมครั้งนี้ พยานเชื่อว่า ตำรวจสามารถคาดหมายได้อยู่แล้วว่าจะมีผู้ชุมนุมเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก และอาจกระทบกระทั่งต่อประชาชนผู้ใช้เส้นทางสัญจร พยานคาดหวังว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะปฏิบัติตามหน้าที่ที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 19 และ 20 ซึ่งให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตำรวจประชาสัมพันธ์และปรับเปลี่ยนเส้นทางการจราจรเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน  ทั้งนี้พยานแจ้งจัดการชุมนุมล่วงหน้า เจ้าหน้าที่ตำรวจมีเวลาเพียงต่อการประชาสัมพันธ์และปรับเปลี่ยนเส้นทาง

พยานขอยืนยันว่า ภายหลังการชุมนุมยุติลง ไม่มีรายงานว่าพบการแพร่ระบาดเป็นกลุ่มก้อนหรือคลัสเตอร์อันมีสาเหตุมาจากการชุมนุมครั้งนี้

ในการตอบอัยการโจทก์ถามค้าน ชลธิชา อธิบายว่า สาเหตุที่ไม่ได้ขอชุมนุมในพื้นที่ถนนราชดำเนินกลางขาออก เป็นเพราะขณะที่พยานเข้าไปแจ้งจัดการชุมนุมที่ สน.ชนะสงคราม เจ้าหน้าที่ตำรวจแนะนำว่าให้เขียนระบุเพียงแค่ถนนราชดำเนินกลางขาเข้า เพราะหากใช้ทั้งสองฝั่ง เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถอนุญาตได้ทันที หากแต่ต้องขออนุญาตจากผู้บังคับบัญชาอีกระดับ

พยานทราบดีว่า หนังสือสรุปสาระสำคัญการชุมนุมที่ พ.ต.อ.วรศักดิ์ ผู้กำกับการ สน.ชนะสงคราม ได้ส่งมอบให้แก่พยาน ระบุแจ้งว่าให้ผู้ชุมนุมใช้พื้นที่ตามที่ขอแจ้งจัดการชุมนุม แต่พยานได้แจ้งไปในแบบฟอร์มแจ้งจัดการชุมนุมแล้วว่า ถ้าผู้ชุมนุมมีจำนวนมาก พยานมีความจำเป็นจะต้องใช้พื้นที่ถนนราชดำเนินกลางทั้งสองฝั่ง

นอกจากจุดเตนท์พยาบาลที่ถนนดินสอแล้ว ยังมีจุดบริการที่หน้าร้านแมคโดนัลด์ฯ ซึ่งให้บริการทั้งเจลแอลกอฮอล์และหน้ากากอนามัย ทั้งนี้ พยานจำไม่ได้ว่ามีจุดตรวจคัดกรองโควิด-19 หรือไม่ แต่ในทางปฏิบัติแล้วก็เป็นไปได้ยากที่จะจัดให้มีทางเข้าออกเพียงทางเดียว เนื่องจากพื้นที่ชุมนุมมีขนาดใหญ่ กว้างขวาง และมีตรอกซอยจำนวนมาก ผู้ชุมนุมสามารถเดินพื้นที่ได้จากทุกทิศทาง

ชลธิชา รับกับอัยการโจทก์ว่า ตนจำไม่ได้ว่ามีการประชาสัมพันธ์จุดลงทะเบียนไทยชนะในเพจเฟซบุ๊กของคณะประชาชนปลดแอกหรือไม่ แต่ทั้งนี้พยานทราบว่า ผู้จัดการชุมนุมมีหน้าที่ต้องจัดหามาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้กับผู้ชุมนุม และพยานได้พยายามจัดให้มีมาตรการที่เหมาะสมที่สุดแล้ว โดยพิจารณาว่าในช่วงเวลาดังกล่าวไม่มีการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และภายหลังการชุมนุมก็ไม่มีรายงานการระบาดแต่อย่างใด

ว่าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งพรรคก้าวไกล รับว่า รู้จักพยานโจทก์ในคดีนี้แทบทุกนาย เพราะทำงานร่วมกันในพื้นที่ชุมนุมอยู่บ่อยครั้ง แต่พยานไม่มีสาเหตุโกรธเคือง

.

.

ทีมงานกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย ระบุ ตนไม่ได้มีหน้าที่จัดตั้งเวที เพียงแต่อำนวยความสะดวกในที่ชุมนุม

กรกช เบิกความว่า ตนสังกัดกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย ช่วยประสานงานภายในการชุมนุมและอำนวยความสะดวกในการชุมนุมแก่ผู้เข้าร่วมการชุมนุม เช่น การติดป้ายบอกทางไปห้องน้ำ

ตามรายงานการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ระบุว่า พยานมีหน้าที่จัดตั้งเวทีนั้นไม่เป็นความจริง พยานเพียงประสานเรื่องพื้นที่กับทีมจัดตั้งเวที สำหรับการชุมนุมครั้งนี้ พยานมีหน้าที่แจกหน้ากากอนามัยและเจลแอลกอฮอล์ โดยประจำจุดอยู่ที่หน้าร้านแมคโดนัลด์ สาขาอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อให้อาสาสมัครคนอื่นมารับของไปแจกแก่ผู้ชุมนุม

พยานทราบว่า ในบางช่วงของการชุมนุม ผู้ชุมนุมไม่มีการเว้นระยะห่าง แต่ทุกคนสวมใส่หน้ากากอนามัย ส่วนสาเหตุที่ผู้ปราศรัยบางคนไม่สวมใส่หน้ากากอนามัยนั้น เป็นเพราะขณะนั้นยังไม่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ภายในประเทศไทย และมีการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลที่ยืนอยู่บนเวที

พยานเป็นหนึ่งในผู้ยืนอยู่บนเวทีตามภาพที่ทนายจำเลยส่งมอบแก่ศาล เนื่องจากพยานเป็นหนึ่งในผู้ถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมเมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2563 และจะร่วมกิจกรรมเดินทางไปทวงถามความชัดเจนกับตำรวจที่ สน.สำราญราษฎร์ การยืนบนเวทีดังกล่าวใช้ระยะเวลาไม่นาน ประมาณ 5 นาที

พยานยืนยันว่าการชุมนุมเป็นไปโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ส่วนสถานการณ์การจราจรจะเป็นอย่างไร พยานไม่ทราบ เพราะพยานอยู่ด้านในของพื้นที่ชุมนุม

ในการตอบอัยการโจทก์ถามค้าน กรกช รับว่า ตนไม่แน่ใจว่าผู้ชุมนุมอยู่เต็มถนนราชดำเนินกลางทั้งฝั่งขาเข้าและขาออกหรือไม่ เนื่องจากตนอยู่ประจำจุดที่หน้าร้านแมคโดนัลด์ฯ อย่างไรก็ตาม ตลอดการชุมนุมมีการสลับเปลี่ยนกันขึ้นปราศรัยและเล่นดนตรี มีการใช้เครื่องขยายเสียงตลอดเวลา และมีการตั้งเวทีขนาดใหญ่บนพื้นผิวจราจร

อัยการโจทก์ให้ กรกช ดูภาพรถบรรทุกสีขาวที่จอดอยู่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แล้วถามว่า เป็นจุดที่มีการจัดตั้งเวทีใหญ่ใช่หรือไม่ กรกช ดูแล้ว รับว่าใช่ กรกช ยังเบิกความอีกว่า ในบริเวณที่ชุมนุมไม่มีการตั้งจุดตรวจคัดกรองโควิด-19 และไม่มีการตั้งจุดสแกนแอพลิเคชั่นไทยชนะ

.

พยาบาลอาสา ตอบอัยการ ในทางปฏิบัติแล้ว เป็นไปไม่ได้จะมีการตั้งจุดคัดกรองผู้ชุมนุมได้ครบทุกคน

ณัฏฐธิดา เบิกความว่า ตนสังกัดกลุ่มหน่วยปฐมพยาบาลภาคสนาม FAV.53 ปฏิบัติหน้าที่ดูแลประชาชนและสิ่งมีชีวิตทุกชนิดที่ร้องขอความช่วยเหลือ พยานมีบัตรประจำตัววิชาชีพพยาบาลฉุกเฉิน และผ่านการอบรมหลักสูตรเสนารักษ์และพยาบาลเฉพาะทาง ในการชุมนุมนี้ พยานได้รับการประสานงานให้เข้ามาดูแลและบริการผู้ชุมนุม พยานจึงได้วางแผนเตรียมรับมือกับผู้ชุมนุม พร้อมกับจัดเตรียมอุปกรณ์การแพทย์และรถพยาบาลฉุกเฉิน โดยเป็นไปตามแนวทางการรับมืออุบัติภัยหมู่ตามหลักสูตรสากล

สำหรับการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 พยานได้จัดให้มีจุดบริการเจลแอลกอฮอล์และหน้ากากอนามัยสำหรับผู้ชุมนุม รายละเอียดปรากฎตามภาพหลักฐาน พยานลงพื้นที่พร้อมกับอาสาสมัครแพทย์และพยาบาลอื่นอีกประมาณ 20 คน แต่งกายด้วยสัญลักษณ์กาชาดและบัตรประจำตัว แต่ในที่ชุมนุมไม่มีการตั้งจุดคัดกรองโควิด-19 แต่อย่างใด เนื่องจากในช่วงนั้นไม่มีการแพร่ระบาดภายในประเทศไทย

ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่สวมใส่หน้ากากอนามัย ตลอดการชุมนุมไม่มีความวุ่นวายและความรุนแรงเกิดขึ้น ในกรณีที่ไม่สามารถเว้นระยะห่างอย่างน้อย 1 เมตรได้ กรมอนามัยโลกมีคำแนะนำให้สวมใส่หน้ากากอนามัยและใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ

ณัฏฐธิดา ตอบอัยการโจทก์ถามค้าน อธิบายว่า การชุมนุมครั้งนี้ผู้ชุมนุมมีจำนวนมาก ในทางปฏิบัติแล้ว แทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะสามารถตั้งจุดคัดกรองโควิด-19 ให้สามารถคัดกรองผู้ชุมนุมได้ครบทุกคน

.

ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ชี้ข้อกำหนดฯ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย – ตำรวจไม่มีอำนาจอนุญาตหรือไม่อนุญาต และมีหน้าที่ดูแลการจราจรอย่างเคร่งครัด

ดร.พัชร์ นิยมศิลป อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้สอนวิชากฎหมายการชุมนุมสาธารณะและวิชาเสรีภาพในการชุมนุม ให้ความเห็นว่า การกระทำของจำเลย เป็นการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบซึ่งได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 44 และ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 21 ด้วยเหตุผล 6 ประการดังต่อไปนี้

 1)    การชุมนุมของจำเลย เป็นการชุมนุมที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญและพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยต้องคุ้มครอง

2)  ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อควบคุมการระบาดโรคโควิด-19 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากไม่มีความชัดเจน ไม่จำเป็น และไม่ได้สัดส่วน

3)  รัฐไม่อาจจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสิ้นเชิงระหว่างมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

4) ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ. 2548 มีความไม่ชัดเจนและคลุมเครือ

5) เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่มีอำนาจตามกฎหมายในการให้อนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ชุมนุมสาธารณะ ทั้งไม่สามารถปฏิเสธหน้าที่ในการจัดการจราจรเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ชุมนุมและบุคคลทั่วไป บริเวณโดยรอบพื้นที่ชุมนุมที่ได้แจ้งไว้แล้วได้

6)    ไม่มีความจำเป็นต้องบังคับใช้ พ.ร.บ.จราจรฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ เนื่องจากมีเนื้อหาทับซ้อนกับ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ซึ่งมีการกำหนดหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการจราจรและการใช้เครื่องขยายเสียงเป็นการเฉพาะอยู่แล้ว

.

X