28 พ.ย. 2565 เวลา 13.30 น. ศาลแขวงดุสิตนัดฟังคำพิพากษาในคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.ชุมนุมฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมโฆษณาด้วยใช้เครื่องขยายเสียงฯ ของนักกิจกรรมทางการเมืองจำนวน 6 ราย ได้แก่ “ลูกเกด” ชลธิชา แจ้งเร็ว, สุวรรณา ตาลเหล็ก, ณรงค์ ดวงแก้ว, ชูเวช เดชดิษฐรักษ์, “มายด์” ภัสราวลี ธนกิจวิบูรณ์ผล และ “บอย” ชาติชาย แกดำ ซึ่งถูกตั้งข้อกล่าวหาจากกรณีขึ้นปราศรัยและแสดงดนตรี ในการชุมนุม “เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย” หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ม็อบแฮร์รี่ พอตเตอร์” ที่บริเวณทางเท้าหน้าร้านแมคโดนัลด์ สาขาอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2563
.
จำเลยทั้งห้า ยกเว้นชูเวช เดินมาถึงห้องพิจารณาคดี 509 ศาลแขวงดุสิต ตั้งแต่ก่อนเวลา 13.30 น. ส่วนชูเวชอยู่ระหว่างทำเรื่องขอปล่อยตัวชั่วคราวที่ห้องเวรชี้ภายในศาลอาญาตลิ่งชัน ภายหลังพนักงานอัยการ สำนักอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญาตลิ่งชัน มีคำสั่งฟ้องชูเวชในคดีชุมนุมทางการเมืองในอีกคดีหนึ่ง ทำให้ทนายจำเลยต้องยื่นคำร้องขอให้ชูเวช ซึ่งเป็นจำเลยที่ 4 ในคดีนี้ ฟังคำพิพากษาผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์เป็นกรณีพิเศษ ศาลแขวงดุสิตพิเคราะห์แล้วอนุญาตตามคำขอ แต่ต้องใช้เวลาประสานงานกับทางศาลอาญาตลิ่งชันสักพักหนึ่ง จึงขอให้จำเลยรอก่อน
ด้านมาตรการรักษาความปลอดภัยในวันนี้เป็นไปตามปกติของศาล ไม่มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยหรือตำรวจศาลมาเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ในห้องพิจารณามีเพียงทนายความ จำเลยทั้งห้า และเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จำนวน 2 คน ส่วนผู้ติดตามจำเลยจำนวน 5 คน เฝ้ารออยู่หน้าห้องพิจารณาคดี
บรรยากาศภายในห้องเป็นไปอย่างผ่อนคลาย จำเลยทั้งห้าหยอกล้อและพูดคุยกัน จนเมื่อเวลาราว 15.00 น. ระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ของห้องพิจารณาคดีเชื่อมต่อกับภาพจากกล้องของศาลอาญาตลิ่งชัน ปรากฏภาพชูเวชนั่งอยู่ภายในห้องพิจารณาคดีของศาลอาญาตลิ่งชัน พร้อมฟังคำพิพากษา โดยมีเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์คอยควบคุมตัวอยู่ข้างๆ
เมื่อคู่ความมากันครบแล้ว ราวเวลา 15.10 น. ผู้พิพากษาได้เข้ามาในห้องพิจารณาคดีและเริ่มอ่านคำพิพากษา เนื้อหาคำพิพากษาในช่วงแรกได้กล่าวถึง ประกาศและคำสั่งที่ใช้บังคับในช่วงเวลาขณะเกิดเหตุในคดีนี้ ได้แก่
หนึ่ง ประกาศนายกรัฐมนตรี เรื่อง สถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ลงวันที่ 25 มี.ค. 2563 สอง ประกาศนายกรัฐมนตรี เรื่อง การขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ลงวันที่ 29 ก.ค. 2563 สาม ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 13) ลงวันที่ 31 ก.ค. 2563 ข้อ 1 และ 5
.
.
ต่อมาจึงเข้าสู่ส่วนของการวินิจฉัย สรุปใจความได้ว่า คดีนี้เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2563 ซึ่งเป็นวันเกิดเหตุ อยู่ในช่วงที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร มีผู้ชุมนุมมารวมตัวกันประมาณ 100-200 คน บริเวณหน้าร้านแมคโดนัลด์ สาขาอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จำเลยทั้งหกอยู่ในที่ชุมนุมดังกล่าวคดีนี้มีปัญหาข้อวินิจฉัยประการแรกว่า จำเลยทั้งหกร่วมชุมนุมฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และเป็นผู้จัดการชุมนุม แต่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานผู้ดูแลการชุมนุมสาธารณะ ตามฟ้องหรือไม่
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะครั้งนี้ และเป็นผู้แจ้งการชุมนุมตามหนังสือแจ้งการชุมนุม ส่วนจำเลยที่ 2-6 ได้โพสต์เฟซบุ๊กเชิญชวนให้ผู้อื่นมาร่วมชุมนุมในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุ แสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 2-6 เป็นผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะ ต้องด้วยความหมายของผู้จัดการชุมนุม ตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มาตรา 10 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ประกอบมาตรา 4 จำเลยทั้งหกจึงเป็นผู้จัดการชุมนุม
ต่อมา ข้อเท็จจริงยังรับฟังได้ว่า การชุมนุมสาธารณะครั้งนี้ มีผู้ชุมนุมจำนวนประมาณ 100-200 คน แม้ผู้ชุมนุมบางส่วนลงมาที่พื้นผิวจราจร แต่ได้ความจากคำเบิกความของ พ.ต.ท.ปิติพันธ์ ว่า เมื่อมีการประกาศให้กลุ่มผู้ชุมนุมที่อยู่บนพื้วผิวจราจรขึ้นไปบนทางเท้า ผู้ชุมนุมก็ให้ความร่วมมือขึ้นไปบนทางเท้า และ พ.ต.ท.อลงกต เบิกความว่า ผู้ชุมนุมไม่ได้ล้ำเข้าไปที่พื้นผิวจราจร เนื่องจากมีแผงเหล็กกั้น พยานเห็นกลุ่มคนบางส่วนเดินไปตามถนน ไม่แน่ใจว่าเป็นผู้ชุมนุม หรือนักข่าว หรือเจ้าหน้าที่
พ.ต.ท.อลงกต และ พ.ต.ท.สุทธิศักดิ์ ยังเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า วันเกิดเหตุรถยนต์สามารถแล่นผ่านหน้าร้านแมคโดนัลด์ที่เกิดเหตุได้ พ.ต.ท.ปิติพันธ์ เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า มีการกั้นแผงเหล็กเป็นรั้วเพื่อป้องกันมิให้ผู้ชุมนุมล้ำเข้าไปบนพื้นผิวจราจร แสดงว่า การชุมนุมในวันเกิดเหตุไม่มีการชุมนุมบนพื้นผิวจราจร แต่ชุมนุมบนทางเท้าหน้าร้านแมคโดนัลด์ รถยนต์สามารถแล่นผ่านไปได้ ไม่ปรากฏว่าการชุมนุมครั้งนี้มีการปิดถนนสาธารณะ อันส่งผลกระทบกระเทือนต่อการจราจรหรือประชาชนเกินสมควร หรือเกินกว่าที่จะถูกคาดหมายได้
จำเลยทั้งหกกับผู้ชุมนุมรวมตัวกันในสถานที่เปิดโล่ง อากาศถ่ายเทได้ดี ใช้เวลารวมตัวกันไม่นานนัก ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่สวมใส่หน้ากากอนามัย พ.ต.ท.สุทธิศักดิ์ และ พ.ต.อ.นิวัฒน์ พยานโจทก์ เบิกความว่า จำเลยที่ 1 ขึ้นพูดบนเวทีแจ้งเรื่องมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ให้ผู้ชุมนุมใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือและสวมหน้ากากอนามัย แม้จะมีผู้ชุมนุมบางส่วนไม่เว้นระยะห่างกัน แต่ก็เป็นธรรมดาของการจัดกิจกรรมรวมกลุ่มคนจำนวนมากที่อาจมีความคิดเห็นแตกต่างกันไปบ้าง ซึ่งจำเลยทั้งหกก็นำสืบว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงเกิดเหตุ ไม่มีการติดเชื้อในประเทศไทย และรัฐบาลมีการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคอย่างเคร่งครัดอยู่แล้ว โดยภาพรวมแล้ว ถือว่าการชุมนุมยังไม่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรค
.
ส่วนที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า มีการใช้ป้ายแสดงข้อความต่างๆ ในลักษณะดูหมิ่นรัฐบาลหรือสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ได้รับความเสียหาย ยุยงเสียดสีบุคคลให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง อันเป็นการผิดเงื่อนไขการชุมนุมนั้น ก็ได้ความจาก พ.ต.ท.ปิติพันธ์ เบิกความว่า ไม่แน่ใจว่ามีป้ายของผู้ชุมนุมมาด้วยหรือไม่ แต่น่าจะมี และ พ.ต.อ.นิวัฒน์ เบิกความอีกว่า เห็นป้ายเขียนว่า “กลุ่มพลังประชาธิปไตย” แต่ใครจะนำมาติดพยานไม่ทราบ เป็นข้อพิรุธสงสัยได้ว่า จำเลยทั้งหก ซึ่งเป็นผู้จัดการชุมนุม ได้นำป้ายมาแสดงในการชุมนุมครั้งนี้เองหรือผู้ร่วมชุมนุมนำมาเอง และเป็นป้ายที่มีข้อความหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นผู้ใดหรือไม่ โจทก์ก็ไม่นำสืบให้เห็นชัด
ดังนี้เชื่อว่าจำเลยทั้งหกในฐานะผู้จัดการชุมนุม ได้ดูแลรับผิดชอบการชุมนุมและให้ความร่วมมือแก่เจ้าพนักงานผู้ดูแลการชุมนุมสาธารณะอย่างเต็มความสามารถแล้ว เพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขการชุมนุมตามที่ พ.ต.อ.วรศักดิ์ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานผู้รับแจ้งการชุมนุม ได้ส่งหนังสือสรุปสาระสำคัญการชุมนุมสาธารณะให้ทราบแล้ว ตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มาตรา 11
นอกจากนี้ การชุมนุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เรียกร้องประชาธิปไตย ต่อต้านเผด็จการ มีการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล อันเป็นการใช้สิทธิ์ตรวจสอบการทำงานของผู้ใช้อำนาจรัฐ ตามวิถีทางแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และรัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรองสิทธิดังกล่าวไว้ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 44 ทั้งการชุมนุมไม่ปรากฏว่ามีการปลุกปั่นยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยแต่อย่างใด อันอาจจะเป็นความผิดตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 13) ลงวันที่ 31 ก.ค. 2563 ข้อ 1 และ 5
เมื่อหลักฐานของโจทก์ ไม่ปรากฏพฤติการณ์อื่นใดให้เห็นเป็นอย่างอื่น จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยในข้อหานี้ให้เป็นคุณแก่จำเลยทั้งหก ว่าไม่ได้กระทำความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และเป็นผู้จัดการชุมนุมไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานผู้ดูแลการชุมนุมสาธารณะ
.
มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายว่า จำเลยทั้งหกร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่ เห็นว่า พยานโจทก์ที่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้ง 5 ปาก ต่างเบิกความยืนยันว่าจำเลยทั้งหกขึ้นเวทีปราศรัยโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าพูดในการชุมนุมครั้งนี้ โดยไม่ได้ขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงจากสำนักงานเขตพระนครก่อน
โจทก์มี รัตติกรณ์ สนั่นเอื้อ เจ้าหน้าที่สำนักงานเขตพระนคร เบิกความยืนยันข้อเท็จจริงว่า ไม่ได้มีการขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงดังกล่าว สอดคล้องกับภาพถ่ายประกอบรายงานสืบสวน แม้ว่าพยานโจทก์บางปากจะไม่ได้เห็นจำเลยทั้งหกใช้เครื่องขยายเสียงทุกคน แต่พยานปากเหล่านั้นต่างเบิกความตามข้อเท็จจริงเท่าที่ตนได้รู้เห็นมา คำเบิกความจึงน่าเชื่อถือ เมื่อจำเลยทั้งหกไม่ได้นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น หลักฐานของโจทก์จึงรับฟังได้ว่า จำเลยทั้งหกร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต
ศาลพิพากษาว่า จำเลยทั้งหกมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ. 2493 มาตรา 4 วรรค หนึ่ง มาตรา 9 วรรคหนึ่ง ปรับคนละ 200 บาท รวมปรับ 1,200 บาท ส่วนข้อหาอื่นให้ยกฟ้อง
.
จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในคดีข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง ศาลต่างๆ ยังมีแนวโน้มจะมีคำพิพากษายกฟ้องเป็นส่วนใหญ่ หากนับรวมคำพิพากษาในคดีนี้แล้ว พบว่ามีคดีที่ศาลยกฟ้องหลังการต่อสู้คดีไปแล้ว ไม่น้อยกว่า 38 คดี แต่จำเลยในแต่ละคดีก็มีต้นทุนและภาระในการต่อสู้คดีเหล่านี้กว่าคดีจะถึงที่สุด