ก่อนวันพิพากษา: เปิดบันทึกต่อสู้คดี “ม็อบแฮร์รี่ พอตเตอร์” 6 นักกิจกรรม ถูกฟ้องฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ‘ลูกเกด’ ยันปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิดแล้ว

ระหว่างวันที่ 14-16 และ 28 กันยายน 2565 ที่ห้องพิจารณาคดี 5 ศาลแขวงดุสิต มีนัดสืบพยานโจทก์และจำเลยในคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.ชุมนุมฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมโฆษณาด้วยใช้เครื่องขยายเสียงฯ ของนักกิจกรรมทางการเมืองจำนวน 6 ราย ได้แก่ “ลูกเกด” ชลธิชา แจ้งเร็ว, สุวรรณา ตาลเหล็ก, ณรงค์ ดวงแก้ว, ชูเวช เดชดิษฐรักษ์, “มายด์” ภัสราวลี ธนกิจวิบูรณ์ผล และ “บอย” ชาติชาย แกดำ ซึ่งถูกตั้งข้อกล่าวหาจากกรณีขึ้นปราศรัยและแสดงดนตรี ในการชุมนุม “เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย” หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ม็อบแฮร์รี่ พอตเตอร์” ที่บริเวณทางเท้าหน้าร้านแมคโดนัลด์ สาขาอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2563

เหตุการณ์ชุมนุมในคดีนี้เป็นเหตุการณ์เดียวกันกับที่ อานนท์ นำภา นักกิจกรรมทางการเมืองและทนายความสิทธิมนุษยชน ถูกฟ้องเป็นจำเลยที่ศาลอาญา ในข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามมาตรา 112 และยุยงปลุกปั่นฯ ตามมาตรา 116 อีก 2 ข้อหา เพิ่มเติมจากข้อหาที่มีการดำเนินคดีกับจำเลยทั้ง 6 ในคดีนี้ ซึ่งสองข้อหาดังกล่าวมีอัตราโทษจำคุกสูงสุดเกิน 3 ปี เกินอำนาจการพิจารณาของศาลแขวง อัยการจึงแยกสำนวนของอานนท์ออกเป็นอีกสำนวนและยื่นฟ้องต่อศาลอาญาแทน

บรรยากาศในห้องพิจารณาเป็นไปอย่างผ่อนคลาย ในคดีนี้ทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีลับหลังจำเลยทุกรายในนัดสืบพยาน เนื่องจากจำเลยมีความจำเป็นในการประกอบอาชีพ ไม่สะดวกเดินทางมาศาล อัยการโจทก์ไม่คัดค้าน ศาลพิเคราะห์แล้วอนุญาตให้พิจารณาคดีลับหลังจำเลย แต่ชลธิชาหรือจำเลยที่ 1 ได้เดินทางมาเบิกความในนัดสืบพยานจำเลยด้วยตนเอง

หลังสืบพยานเสร็จ ศาลแขวงดุสิตนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 28 พ.ย. 2565 เวลา 13.30 น.

.

ย้อนชุมนุม #ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์ ก่อนอ่านบันทึกสืบพยาน

การชุมนุม #เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 3 ส.ค.  2563 เกิดขึ้นโดยกลุ่มมหานครเพื่อประชาธิปไตย และกลุ่มมอกะเสด (KU Daily) บริเวณทางเท้าหน้าร้านแมคโดนัลด์ สาขาอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยกิจกรรมเป็นการชุมนุมและปราศรัยวิพากษ์วิจารณ์การบริหารงานของรัฐบาล การบังคับสูญหายโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ปัญหาพระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจล้นเกิน รวมถึงเรียกร้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญและมาตรา 112

อีกหนึ่งจุดน่าสนใจของการชุมนุมนี้ คือการนำเอานิยายชื่อดังเรื่อง “แฮร์รี่ พอตเตอร์” มาใช้เป็นธีมในการดำเนินกิจกรรม แกนนำและผู้ชุมนุมบางส่วนแต่งกายเลียนแบบตัวละคร ซึ่งในนิยายเรื่องนี้มีตัวร้ายที่ถูกเรียกว่า “คนที่คุณก็รู้ว่าใคร” เพราะตัวละครในเรื่องต่างตกอยู่ภายใต้ความกลัว ไม่กล้าเอ่ยชื่อตัวร้ายอย่างตรงไปตรงมา จึงต้องเชิญชวนคนรุ่นใหม่ที่เป็นตัวแทนแห่งแสงสว่าง ไม่เกรงกลัวอำนาจมืด มาร่วมเสกคาถาเวทมนต์เพื่อขับไล่เผด็จการ

นอกจากนั้นในการชุมนุมครั้งนี้ ยังเป็นจุดเริ่มต้นของการปราศรัยในประเด็นปัญหาสถานะและบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในการเมืองไทย โดย อานนท์ นำภา อย่างตรงไปตรงมาในที่สาธารณะ นำไปสู่ข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในเวลาต่อมา

หลังจากกิจกรรม อานนท์ถูกดำเนินคดีในข้อหาหลักตามมาตรา 112 ขณะที่นักกิจกรรมอีก 6 คน ได้ถูกออกหมายเรียกในข้อหาหลักฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ และได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.ชนะสงคราม เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2563 โดยก่อนเข้ารายงานตัว ผู้ต้องหาทั้งหกแสดงออกเชิงสัญลักษณ์โดยแต่งกายด้วยชุดจากนิยายแฮร์รี่พอตเตอร์ และร่วมยืนอ่านคำปราศรัยของอานนท์ นำภา ก่อนขึ้นไปรายงานตัวและให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

วันที่ 29 ก.ค. 2564 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 3 มีความเห็นสั่งฟ้องชลธิชาและผู้ร่วมกิจกรรมรวม 6 ราย ต่อศาลแขวงดุสิต และศาลอนุญาตให้ประกันตัวทั้งหก โดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์

.

.

ภาพรวมของการสืบพยาน

การสืบพยานในคดีนี้ มีพยานโจทก์เข้าเบิกความทั้งหมด 9 ปาก ได้แก่

  1. พ.ตท.สุทธิศักดิ์ พิริยะภิญโญ รองผู้กำกับการ (สืบสวน) สน.ชนะสงคราม ผู้กล่าวหา,
  2. ด.ต.ธเนตร สินสมุทร์ ผู้บังคับหมู่ (สืบสวน) สน.ชนะสงคราม,
  3. พ.ต.อ.วรศักดิ์ พิสิษฐบรรณกร ผู้กำกับการ สน.ชนะสงคราม,
  4. พ.ต.ท.ปิติพันธ์ กฤดากร ณ อยุธยา รองผู้กำกับการ (ป้องกันและปราบปราม) สน.ชนะสงคราม,
  5. พ.ต.อ.นิวัฒน์ พึ่งอุทัยศรี ผู้กำกับการ กองกำกับการสืบสวนสอบสวน ตำรวจนครบาล 1,
  6. พ.ต.ท.อลงกต ส้มจีน รองผู้กำกับการ กองกำกับการ 6 ตำรวจสันติบาล,
  7. พ.ต.ท.อิสรพงศ์ ทิพย์อาภากุล รองผู้กำกับการ กองกำกับการ 3 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญกรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.),
  8. รัตติกรณ์ สนั่นเอื้อ เจ้าหน้าที่สิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล สำนักงานเขตพระนคร,
  9. พ.ต.ท.โชคอำนวย วงษ์บุญฤทธิ์ รองผู้กำกับการ (สอบสวน) สน.ชนะสงคราม พนักงานสอบสวนในคดีนี้

ขณะที่ฝ่ายจำเลย นำพยานเข้าเบิกความทั้งหมด 1 ปาก ได้แก่ ชลธิชา แจ้งเร็ว จำเลยที่ 1 อ้างตัวเองเป็นพยาน

ข้อกล่าวหาของฝ่ายโจทก์ พยายามชี้ให้เห็นว่า จำเลยทั้งหมดร่วมกันเป็นผู้จัดกิจกรรมการชุมนุม “เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย” อันเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นโดยแออัด ผู้จัดการชุมนุมไม่ได้จัดเตรียมมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ตามเงื่อนไขที่เจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะได้กำหนดไว้ เช่น ไม่มีการจัดให้มีการเว้นระยะห่าง ไม่มีจุดบริการเจลแอลกอฮอล์หรือจุดคัดกรองวัดอุณหภูมิ ไม่มีการจำกัดทางเข้าออก ไม่มีการจัดเจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์หรือสาธารณสุขเข้าไปดูแล การชุมนุมดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นการร่วมกันชุมนุมหรือทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค

ประกอบกับจำเลยทั้งหมดไม่สามารถควบคุมดูแลผู้ชุมนุมไม่ให้ลงมาชุมนุมที่พื้นผิวจราจรได้ ซึ่งทำให้ประชาชนที่สัญจรไปมาไม่ไม่ได้รับความสะดวกหรืออาจถึงขั้นไม่สามารถสัญจรได้ เป็นการฝ่าฝืนเงื่อนไขอีกประการหนึ่งที่เจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะได้กำหนดไว้ รวมถึงจำเลยทั้งหมด ยังร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงปราศรัยหรือแสดงดนตรีโดยไม่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานเขตพระนคร

สำหรับข้อต่อสู้ของจำเลย คือ ชลธิชา จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการชุมนุมเพียงคนเดียว จำเลยที่เหลือไม่ได้เป็นผู้จัดให้มีการชุมนุมหรือแกนนำการชุมนุม เป็นเพียงผู้เข้าร่วมการชุมนุม และไม่ได้มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับกลุ่ม “มอกะเสด” หรือกลุ่ม “มหานครเพื่อประชาธิปไตย” รวมทั้งการชุมนุมเองก็เป็นไปโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ไม่มีเหตุรุนแรงหรือความวุ่นวายเกิดขึ้น เป็นไปตามหลักเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ ซึ่งถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญและพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคี

ส่วนข้อกล่าวหาที่ระบุว่าจำเลยไม่ได้จัดให้มีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ในการชุมนุม จำเลยได้ต่อสู้ว่า ในช่วงเวลาเกิดเหตุ สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศไทยไม่รุนแรงแล้ว ไม่มีรายงานว่ามีผู้ติดเชื้อภายในประเทศ ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการชุมนุม ประกอบกับจำเลยที่ 1 ได้จัดให้มีจุดบริการหน้ากากอนามัยและเจลแอลกอฮอล์ในที่ชุมนุม และปราศรัยประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือผู้ชุมนุมให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามที่เจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะกำหนด

ในประเด็นการใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยยืนยันว่า ได้แจ้งเรื่องการใช้เครื่องขยายเสียงในหนังสือแจ้งการชุมนุมที่นำส่งต่อหัวหน้าสถานีตำรวจท้องที่ชุมนุมแล้ว เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ต้องประสานงานเรื่องการใช้เครื่องขยายเสียงกับสำนักงานเขตพระนคร อีกทั้งระดับเสียงที่ใช้ในการชุมนุมเองก็ไม่เกินระดับตามที่กฎหมายกำหนดห้ามแต่อย่างใด

.

ทีมผู้บริหาร สน.ชนะสงคราม มึน! เบิกความขัดแย้งไปมา ผู้กำกับฯ เผย ขอใช้เครื่องขยายเสียง ตนแค่รับเรื่อง

พ.ต.ท.สุทธิศักดิ์ พิริยะภิญโญ รองผู้กำกับการ (สืบสวน) ผู้กล่าวหา และ ด.ต.ธเนตร สินสมุทร์ ผู้บังคับหมู่ (สืบสวน) สน.ชนะสงคราม เบิกความสอดคล้องกันว่า ก่อนเกิดเหตุ เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2563 ชลธิชา แจ้งเร็ว ได้ยื่นหนังสือแจ้งจัดการชุมนุมผ่านทางอีเมล์ที่ สน.ชนะสงคราม มีเนื้อหาแจ้งจัดการชุมนุมในวันที่ 3 ส.ค. 2563 เวลา 18.00 – 22.00 น. บริเวณรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีวัตถุประสงค์เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยและต่อต้านเผด็จการ พร้อมระบุว่าจะมีการใช้เครื่องขยายเสียงเป็นลำโพงขนาด 80 วัตต์ จำนวน 4 ตัว และขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจช่วยอำนวยความสะดวกเรื่องการจราจรและความปลอดภัยจากบุคคลที่สาม ส่วนเรื่องการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทางผู้ชุมนุมจะจัดดูแลกันเอง และจะมีการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ชุมนุมสวมใส่หน้ากากอนามัยและใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ

พอได้รับแจ้งจัดการชุมนุม พ.ต.ท.สุทธิศักดิ์ ได้แจ้งต่อให้ พ.ต.อ.วรศักดิ์ พิสิษฐบรรณกร ผู้กำกับการ สน.ชนะสงคราม ทราบ ขณะที่ พ.ต.ท.ปิติพันธ์ กฤดากร ณ อยุธยา รองผู้กำกับการ (ป้องกันและปราบปราม) สน.ชนะสงคราม เบิกความเล่าว่า พยานทราบเรื่องแจ้งจัดการชุมนุมจาก พ.ต.อ.บวรศักดิ์ แต่พยานไม่ทราบเรื่องรายละเอียดการแจ้ง ซึ่งในประเด็นนี้ พ.ต.อ.วรศักดิ์ จะให้การขัดแย้งกับคำเบิกความของรองผู้กำกับการทั้งสอง เนื่องจาก พ.ต.อ.วรศักดิ์เบิกความว่า เขาได้รับแจ้งจาก พ.ต.ท.ปิติพันธ์ ว่าจำเลยที่ 1 ได้เดินทางมาที่ สน.ชนะสงคราม ด้วยตนเอง ในวันที่ 2 ส.ค. 2563 เพื่อยื่นหนังสือแจ้งการชุมนุม

พ.ต.ท.สุทธิศักดิ์, พ.ต.อ.วรศักดิ์, พ.ต.ท.ปิติพันธ์ และ ด.ต.ธเนตร เบิกความทำนองเดียวกันว่า เมื่อ พ.ต.อ.วรศักดิ์ ทราบเรื่องแจ้งจัดการชุมนุมแล้ว พ.ต.อ.วรศักดิ์ ได้ทำหนังสือสรุปสาระสำคัญการชุมนุมสาธารณะ มอบกลับให้แก่จำเลยที่ 1 เพื่อเป็นการกำหนดเงื่อนไขการชุมนุมสาธารณะ โดย พ.ต.อ.วรศักดิ์ เพิ่มเติมรายละเอียดว่า พยานได้มอบหมายให้ พ.ต.ท.ปิติพันธ์ เป็นผู้ส่งมอบหนังสือ แต่ พ.ต.ท.ปิติพันธ์ ไม่ได้เบิกความถึงเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด

หนังสือสรุปสาระสำคัญการชุมนุมสาธารณะ มีเนื้อหาคือกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ชุมนุมใช้พื้นที่ชุมนุมบริเวณทางเท้าหน้าร้านแมคโดนัลด์ สาขาอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ห้ามผู้ชุมนุมลงมาชุมนุมบนพื้นผิวจราจร และห้ามชูป้ายที่มีข้อความกระทบ ละเมิดหรือพาดพิงสิทธิของผู้อื่น ส่วนการใช้เครื่องขยายเสียงให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งต้องขออนุญาตต่อสำนักงานเขตพระนคร

พ.ต.อ.วรศักดิ์ ยังเบิกความเพิ่มว่า ประเด็นการขอใช้เครื่องขยายเสียงที่จำเลยที่ 1 ระบุลงในหนังสือแจ้งจัดการชุมนุม มีผลเป็นเพียงการแจ้งให้พยานรับทราบเรื่องเฉยๆ เท่านั้น ไม่ได้เป็นผลให้จำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตในการใช้เครื่องขยายเสียงแต่อย่างใด

.

.

เจ้าหน้าที่สืบ-บันทึกภาพ ยืนยันที่ชุมนุมมีจุดตรวจคัดกรอง-จุดบริการเจลแอลกอฮอล์

เจ้าหน้าที่ สน.ชนะสงคราม ทั้ง 4 ยังเบิกความต่อไปว่า พ.ต.อ.วรศักดิ์ มีคำสั่งให้จัดชุดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปดูแลความสงบเรียบร้อย ตามหนังสือคำสั่ง สน.ชนะสงคราม เรื่องการรักษาความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกการจัดกิจกรรมการชุมนุม แบ่งกำลังออกเป็น 5 ฝ่าย ได้แก่ (1) ฝ่ายอำนวยการ มีหน้าที่จัดการเรื่องทั่วไปและรักษาความสงบเรียบร้อยในภาพรวม (2) ฝ่ายสืบสวน เป็นเจ้าหน้าที่สืบสวนแต่งกายนอกเครื่องแบบ มีหน้าที่สืบสวนหาข่าวการชุมนุม ซึ่งมี พ.ต.ท.สุทธิศักดิ์ เป็นหัวหน้าฝ่าย และ ด.ต.ธเนตร เป็นผู้บันทึกภาพและเสียง (3) ฝ่ายป้องกันและปราบปราม เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจแต่งกายในเครื่องแบบ ทำหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อย มี พ.ต.ท.ปิติพันธ์ เป็นหัวหน้าฝ่าย (4) ฝ่ายจราจร ให้ดูแลเรื่องการจราจร และ (5) ฝ่ายสอบสวนให้ดูแลเรื่องการประกาศระเบียบการชุมนุมและข้อกฎหมายต่างๆ

ในวันเกิดเหตุ เวลา 16.30 น. พ.ต.ท.สุทธิศักดิ์ และ ด.ต.ธเนตร สองเจ้าหน้าที่สืบสวน เบิกความว่า พวกตนพร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจอื่นรวม 10 นาย ทั้งหมดแต่งกายนอกเครื่องแบบ ได้ลงพื้นที่เกิดเหตุเพื่อสืบสวนหาข่าว พบเห็นผู้ชุมนุมเริ่มเดินทางทยอยเข้าพื้นที่จนมีจำนวนประมาณ 100 คน และเริ่มจัดตั้งเวทีบริเวณทางเท้าหน้าร้านแมคโดนัลด์ในเวลา 16.50 น.

ด้าน พ.ต.ท.ปิติพันธ์ หัวหน้าฝ่ายป้องกันและปราบปราม เบิกความว่า ได้นำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวน 25-30 นาย แต่งกายในเครื่องแบบ ลงพื้นที่เกิดเหตุเพื่อรักษาความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกผู้ชุมนุม ในเวลา 16.30 น. เช่นกัน โดยแบ่งกำลังเจ้าหน้าที่ออกประจำจุดทั้งหมด 4 จุด ได้แก่ ทางเท้าหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา ทางเท้าหน้าร้านแมคโดนัลด์ หน้าร้านศึกษาภัณฑ์เก่า และซอยข้างร้านแมคโดนัลด์ ทั้งนี้ พยานและเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบจะอยู่บริเวณรอบนอกของการชุมนุม ไม่ได้เข้าไปรวมอยู่ด้านใน เพื่อง่ายต่อการการอำนวยความสะดวกและดูแลความปลอดภัย ส่วน พ.ต.อ.วรศักดิ์ ให้การถึงเรื่องการลงพื้นที่ว่า ตนเดินทางไปที่เกิดเหตุพร้อมกับ พ.ต.ท.ปิติพันธ์

เจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบทั้งสอง ยังให้การสอดคล้องกับเจ้าหน้าที่สืบสวน คือเมื่อไปถึงที่เกิดเหตุ ทั้งสองพบจำนวนผู้ชุมนุมประมาณ 80-100 คน อยู่ทั้งด้านในและด้านนอกร้านแมคโดนัลด์ แต่ยังคงไม่มีการตั้งเวทีจนกระทั่งเวลา 17.30 น. ต่อมาเริ่มมีผู้ชุมนุมทยอยมารวมตัวกันเพิ่มมากขึ้น จนมีประมาณ 200 คน ในเวลา 18.00 น.

พ.ต.ท.สุทธิศักดิ์, พ.ต.ท.ปิติพันธ์ และ พ.ต.อ.วรศักดิ์ เบิกความว่า การชุมนุมไม่มีจุดคัดกรองวัดอุณหภูมิ ไม่มีการใช้เจลแอลกอฮอล์ และไม่มีการเว้นระยะห่าง แต่ ด.ต.ธเนตร กลับเบิกความแย้งกัน โดยยืนยันว่าในที่ชุมนุมมีการตั้งจุดคัดกรองวัดอุณหภูมิและผู้ชุมนุมใช้เจลแอลกอฮอล์และสวมใส่หน้ากากอนามัย เพียงแค่ไม่มีการเว้นระยะห่าง และไม่มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขลงพื้นที่ดูแล

ก่อนเริ่มการชุมนุม พ.ต.อ.วรศักดิ์ เบิกความต่อว่า ได้มอบหมายให้ พ.ต.ท.ปิติพันธ์ เป็นผู้ประกาศเงื่อนไขการชุมนุมตามหนังสือสรุปสาระสำคัญการชุมนุมแก่ผู้ชุมนุม พร้อมยืนยันด้วยภาพถ่ายจากรายงานสืบสวนว่า พ.ต.ท.ปิติพันธ์ เป็นผู้ถือไมค์ประกาศ ซึ่งสวนทางกับคำเบิกความของทั้ง พ.ต.ท.สุทธิศักดิ์, พ.ต.ท.ปิติพันธ์ และ ด.ต.ธเนตร ที่เบิกความว่า พ.ต.อ.วรศักดิ์ เป็นผู้ประกาศเงื่อนไขการชุมนุมตามหนังสือสรุปสาระสำคัญการชุมนุม ไม่ใช่ พ.ต.ท.ปิติพันธ์

พ.ต.อ.วรศักดิ์ ตอบทนายจำเลยถามค้านรับว่า ไม่ได้ประกาศให้เลิกการชุมนุม แต่ให้ผู้ชุมนุมชุมนุมภายใต้กรอบของกฎหมาย ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ชนะสงคราม ทั้งสี่ รับว่าการชุมนุมเป็นไปโดยสงบ ไม่มีความวุ่นวายหรือเหตุรุนแรงเกิดขึ้น

.

ชุดสืบรับ! พบเห็นจำเลยที่ 1 ประกาศให้ผู้ชุมนุมปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่โรค สองรองผู้กำกับฯแท็กทีม ระบุ การจราจรยังสัญจรได้ เพียงแต่ไม่สะดวก

ภายหลังการประกาศ พ.ต.ท.ปิติพันธ์ ได้ออกจากบริเวณทางเท้าหน้าร้านแมคโดนัลด์ ไปสังเกตการณ์อยู่บริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา ส่วน พ.ต.อ.วรศักดิ์ ได้เดินทางกลับไปพักที่ สน.ชนะสงคราม ก่อนจะกลับมาที่เกิดเหตุอีกครั้งในเวลาราว 1 ชั่วโมงให้หลัง ระหว่างนั้น พ.ต.ท.สุทธิศักดิ์ และ ด.ต.ธเนตร เบิกความตรงกันว่า ในเวลา 18.30 น. พบเห็นจำเลยที่ 1 ประกาศให้ผู้ชุมนุมสวมใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ และเว้นระยะห่าง หลังจากนั้นจำเลยที่ 2 และ 5 จึงขึ้นทำหน้าที่เป็นพิธีกรผู้ดำเนินรายการคู่กันบนเวที แล้วจึงมีผู้ชุมนุม รวมทั้งจำเลยที่ 3, 4, และ 6 ผลัดกันขึ้นปราศรัยและแสดงดนตรี

การปราศรัยมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์การบริหารงานของรัฐบาล เรียกร้องให้รัฐบาลหยุดคุกคามประชาชน ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และยุบสภา ตลอดการปราศรัยไม่มีผู้ใดขึ้นพร้อมกัน ยกเว้นแต่จำเลยที่ 2 และ 5 ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการคู่ที่ขึ้นเวทีพร้อมกันเท่านั้น พร้อมกันนี้ ด.ต.ธเนตร ได้ถอดข้อความการปราศรัยและลำดับการปราศรัย จัดทำเป็นรายงานสืบสวนเสนอต่อ พ.ต.ท.สุทธิศักดิ์ เป็นผู้รับรอง

เกี่ยวกับเครื่องขยายเสียง ด.ต.ธเนตร ให้การว่า ในการชุมนุมครั้งนี้มีการใช้ไมโครโฟนและลำโพงจำนวน 4 ตัว เป็นไปตามรายละเอียดที่ระบุไว้ในหนังสือแจ้งการชุมนุม แต่ตนไม่ทราบว่ามีการขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงต่อสำนักงานเขตหรือไม่ ด้าน พ.ต.ท.สุทธิศักดิ์ เบิกความว่าจากผลการตรวจสอบ ไม่มีการขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงไปที่สำนักงานเขต และในวันเกิดเหตุมีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานเขตลงพื้นที่ตรวจวัดระดับเสียงในการชุมนุมด้วย แต่ค่าความดังไม่เกินตามที่กฎหมายกำหนด

สำหรับประเด็นผู้ชุมนุมลงมาบนพื้นผิวจราจร พ.ต.ท.สุทธิศักดิ์ และ พ.ต.อ.วรศักดิ์ เบิกความว่า มีผู้ชุมนุมจำนวนมากลงมาบนพื้นผิวจราจร กีดขวางเส้นทางจราจรและก่อความไม่สะดวกแก่ผู้สัญจรไปมา ขัดแย้งกับ พ.ต.ท.ปิติพันธ์ ที่เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ในวันเกิดเหตุมีการตั้งแผงเหล็กกั้นไว้ ไม่ให้ผู้ชุมนุมล้ำลงมาที่พื้นผิวจราจรและมีเจ้าหน้าที่ตำรวจลงไปดูแลอยู่ที่พื้นผิวจราจร แม้ในบางช่วงจะมีผู้ชุมนุมจำนวนหนึ่งลงไปที่พื้นผิวจราจร แต่พอเจ้าหน้าที่ตำรวจประชาสัมพันธ์ ผู้ชุมนุมที่อยู่บนผิวจราจรก็ขยับขึ้นไปบนทางเท้า ส่วนสาเหตุที่ผู้ชุมนุมลงมาบนทางเท้านั้น พ.ต.ท.ปิติพันธ์ เห็นว่าเป็นเพราะทางเท้ามีผู้ชุมนุมอยู่อย่างหนาแน่นและแออัด

ในด้านการจราจร พ.ต.ท.สุทธิศักดิ์ และ พ.ต.ท.ปิติพันธ์ ตอบอัยการโจทก์ซักถามว่า รถยนต์และชาวบ้านสามารถสัญจรไปมาได้ เพียงแต่อาจไม่ได้รับความสะดวกตามปกติ ขณะที่ พ.ต.อ.วรศักดิ์ ยืนยันว่าผู้ชุมนุมปิดช่องทางการจราจร รถยนต์ไม่สามารถสัญจรไปมาได้

ตำรวจท้องที่เกิดเหตุทั้งสี่คน เห็นตรงกันว่าการชุมนุมครั้งนี้ขัดต่อสาระสำคัญการชุมนุม แต่มีการกระทำความผิดแตกต่างกัน พ.ต.ท.สุทธิศักดิ์ และ พ.ต.อ.วรศักดิ์ ระบุว่ามีผู้ชุมนุมจำนวนมากลงมาชุมนุมบนพื้นผิวจราจรและกีดขวางเส้นทางจราจร ก่อให้เกิดความไม่สะดวกแก่ผู้สัญจรไปมา ส่วน ด.ต.ธเนตร และ พ.ต.ท.ปิติพันธ์ ให้น้ำหนักไปที่เรื่องของมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 เนื่องจากเห็นว่าผู้ชุมนุมไม่มีการเว้นระยะห่าง และผู้ชุมนุมด้านหน้าเวทีมีความหนาแน่นมากจนไม่สามารถเคลื่อนที่ไปมาได้ รวมทั้งผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันตามที่จำเลยที่ 1 ได้ปราศรัยหรือประชาสัมพันธ์ไว้

พ.ต.อ.วรศักดิ์ ยังเบิกความทิ้งท้ายว่า การกระทำความผิดในคดีนี้เกิดจากการที่ผู้จัดการชุมนุมไม่สามารถควบคุมผู้ชุมนุมได้ จนทำให้ผู้ชุมนุมแยกรั้วที่กั้นออกและลงมาชุมนุมที่พื้นผิวจราจร

.

.

4 เจ้าหน้าที่ สน.ชนะสงคราม ขานรับ การชุมนุมเป็นไปโดยสงบ ไม่มีความวุ่นวาย-รุนแรง หรืออาวุธ

ในการตอบคำถามค้านของทนายจำเลย พ.ต.อ.วรศักดิ์, พ.ต.ท.สุทธิศักดิ์, พ.ต.ท.ปิติพันธ์ และ ด.ต.ธเนตร รับว่า (1) ที่เกิดเหตุเป็นพื้นที่โล่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก (2) เวทีในการชุมนุมเป็นเวทีขนาดเล็ก ผู้ชุมนุมขึ้นปราศรัยได้เพียงหนึ่งหรือสองคน (3) การชุมนุมเป็นไปโดยสงบ ไม่มีความวุ่นวายหรือความรุนแรง เมื่อยุติการชุมนุม ผู้ชุมนุมได้แยกย้ายกันเดินทางกลับ (4) ไม่มีจำเลยคนใดปราศรัยปลุกปั่นให้ผู้ชุมนุมกระทำการฝ่าฝืนกฎหมาย (5) ข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมเป็นข้อเรียกร้องที่อยู่ในกรอบของรัฐธรรมนูญที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และ (6) ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่สวมใส่หน้ากากอนามัย

พ.ต.ท.ปิติพันธ์ ยังรับกับทนายจำเลยอีกว่า ในการชุมนุมครั้งนี้ไม่ตรวจพบอาวุธหรือวัตถุอันตรายใดๆ

ทนายจำเลยให้ พ.ต.ท.สุทธิศักดิ์ ดู เอกสารรายงานผู้ติดเชื้อของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ระหว่างวันที่ 2 ก.ค. 2563 ถึง 3 ก.ย. 2563 แล้วถาม พ.ต.ท.สุทธิศักดิ์ ว่า ในรายงานปรากฏผู้ติดเชื้อภายในประเทศเป็นศูนย์ใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สุทธิศักดิ์ ดูแล้วรับว่าใช่ แต่เห็นว่าสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในตอนนั้นยังคงน่ากังวล โดยเฉพาะผู้ที่ยังไม่เคยติดเชื้อมาก่อน เช่นตนเอง รวมถึงรัฐบาลก็ยังไม่ได้ผ่อนคลายมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประชาชนยังคงต้องสวมใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง และล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์

ทนายจำเลยให้ พ.ต.ท.ปิติพันธ์ ดู ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 14) แล้วถาม พ.ต.ท.ปิติพันธ์ ว่า ในข้อกำหนดฯ ดังกล่าว ระบุว่าแนวโน้มสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีแนวโน้มดีขึ้น จึงเห็นควรให้ผ่อนคลายมาตรการใช่หรือไม่ พ.ต.ท.ปิติพันธ์ ดูแล้วรับว่าใช่

ทนายจำเลยให้ พ.ต.ท.ปิติพันธ์ ดู ประกาศขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 6) แล้วถาม พ.ต.ท.ปิติพันธ์ ว่า ในข้อกำหนดฯ ดังกล่าว ระบุว่าการดำเนินมาตรการทางสาธารณสุขภายใต้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ประสบความสำเร็จในการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 จนเป็นที่ยอมรับทั่วโลก ใช่หรือไม่ พ.ต.ท.ปิติพันธ์ ดูแล้วรับว่าใช่

ทนายจำเลยให้ พ.ต.ท.ปิติพันธ์ ดู ข่าวจากเว็บไซต์ Hfocus.org เรื่อง ปธ.บอร์ด อภ.ห่วงปัญหาราคาหน้ากากอนามัย หลังพบคลินิกขาดแคลน ลงวันที่ 8 ส.ค. 2563 แล้วถาม พ.ต.ท.ปิติพันธ์ ในข่าวดังกล่าว ระบุว่า ประเทศไทยกำลังประสบกับปัญหาการหน้ากากอนามัยคลาดแคลน ใช่หรือไม่ พ.ต.ท.ปิติพันธ์ ดูแล้วรับว่าใช่

.

สืบมั่นคง-สันติบาล เบิกความยืนยัน ไม่พบเห็นผู้ชุมนุมลงมาที่พื้นผิวจราจร

พ.ต.อ.นิวัฒน์ พึ่งอุทัยศรี ผู้กำกับการ กองกำกับการสืบสวน กองบังคับตำรวจนครบาล 1 และ พ.ต.ท.อลงกต ส้มจีน รองผู้กำกับการ กองบังคับการ 6 กองบัญชาการตำรวจสันติบาล เบิกความทำนองเดียวกันว่า พยานทั้งสองมีหน้าที่สืบสวนหาข่าวบุคคลที่เป็นภัยต่อความมั่นคงและความไม่สงบในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยเฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมือง

ในวันที่ 2 ส.ค. 2563 ทั้งสองตรวจสอบพบเพจเฟซบุ๊กของกลุ่มมอกระเสด และกลุ่มมหานครเพื่อประชาธิปไตย ได้มีการโพสต์เชิญชวนให้ประชาชนมาร่วมชุมนุม ชื่อกิจกรรม “เสกคาถาผู้พิทักษ์ ปกป้องประชาธิปไตย” ในวันที่ 3 ส.ค. 2563 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย พ.ต.อ.นิวัฒน์ เบิกความเพิ่มว่า พบเห็น จำเลยทั้ง 1, 2, 3, 4, 5 และอานนท์ นำภา ร่วมกันแชร์โพสต์เชิญชวนดังกล่าวด้วย

พ.ต.อ.นิวัฒน์ เบิกความต่อไปว่า พยานได้ลงพื้นที่เพื่อสืบสวนการกระทำความผิดในวันเกิดเหตุตั้งแต่เวลา 15.00 น. โดยยืนสังเกตการณ์อยู่บริเวณทางเท้าหน้าร้านแมคโดนัลด์และแต่งกายนอกเครื่องแบบ ขณะที่พยานไปถึง มีผู้ชุมนุมประมาณ 40-50 คน พยานพบเห็น ภัทรพล ธนเดชพรเลิศ หรือ “ไก่ บิ๊กแมน” แกนนำกลุ่ม “วันอาทิตย์สีแดง” กับพวก กำลังเชิญชวนนักนิสิตนักศึกษามาร่วมเป็นการ์ดอาสาเพื่อดูแลผู้ชุมนุมที่บริเวณอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา รวมถึงพบเห็น กรกช แสงเย็นพันธ์ สมาชิกกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย และพบจำเลยที่ 1 ในช่วงเวลา 16.00 น. กำลังช่วยกันขนเครื่องขยายเสียงจากรถที่อยู่บริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา 2

ด้าน พ.ต.ท.อลงกต เบิกความว่า พยานลงพื้นที่เกิดเหตุในเวลา 18.00 น. แต่งกายนอกเครื่องแบบและยืนสังเกตการณ์อยู่บริเวณด้านข้างร้านแมคโดนัลด์ การชุมนุมเริ่มต้นขึ้นในเวลาราว 18.00 น. และยุติลงในเวลา 20.30 น. ผู้ชุมนุมมีจำนวนสูงสุดประมาณ 200 คนเศษ

เจ้าหน้าที่สืบนครบาลฯ เบิกความว่าเห็น จำเลยที่ 1 ปราศรัยประชาสัมพันธ์ให้ผู้ชุมนุมสวมใส่หน้ากากอนามัย ส่วนตำรวจสันติบาลยืนยันว่าจำเลยทั้งหมดขึ้นปราศรัย ยกเว้นจำเลยที่ 3 และ 4 ที่ขึ้นร้องเพลงแสดงดนตรี และสองตำรวจด้านความมั่นคงเห็นพ้องต้องตรงกันว่า การชุมนุมเป็นไปโดยสงบ ไม่มีเหตุรุนแรงหรือความวุ่นวายเกิดขึ้น

นอกจากนี้ทั้งสองคนยังกล่าวว่า ไม่พบเห็นว่ามีผู้ชุมนุมลงมาที่พื้นผิวจราจร เพราะมีรั้วเหล็กกั้นผู้ชุมนุมไว้ ดังนั้นแล้วจึงไม่มีผลกระทบต่อการจราจร พ.ต.ท.อลงกต เพิ่มเติมว่า เห็นคนบางส่วนอยู่บนพื้นผิวจราจร แต่ไม่แน่ใจว่าผู้ชุมนุมหรือไม่ อาจจะเป็นสื่อมวลชน

สำหรับมาตรการป้องกันโควิด เจ้าหน้าที่สืบทั้งสองยืนยันว่า ไม่พบเห็นจุดตรวจคัดกรองวัดอุณหภูมิ จุดจำกัดทางเข้าออก และจุดบริการเจลแอลกอฮอล์ ผู้ชุมนุมไม่มีการเว้นระยะห่าง แต่ส่วนใหญ่สวมใส่หน้ากากอนามัย แต่ทั้งสองยังตอบทนายจำเลยถามค้านด้วยว่า จำนวนผู้ชุมนุมสูงสุดที่มีประมาณ 200 คนนั้น รวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจ สื่อมวลชน และผู้สังเกตการณ์ในพื้นที่ด้วย พ.ต.ท.อลงกต ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ผู้ชุมนุมทุกคนนั้นต่างคนต่างมา ไม่มีการรวมตัวกันแล้วมาในครั้งเดียว การชุมนุมมีการเข้าออกอยู่ตลอดเวลา แต่บางส่วนก็ยึดประจำที่บริเวณหน้าเวที

.

.

ตำรวจไซเบอร์ชี้ ใครๆ ก็สามารถแชร์โพสต์เชิญชวนได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้จัดการชุมนุม

พ.ต.ท.อิสรพงศ์ ทิพย์อาภากุล รองผู้กำกับการ กองกำกับการ 3 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญกรรมทางเทคโนโลยี อีกหนึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจด้านความมั่นคงในคดี เบิกความว่า พยานมีหน้าที่ตรวจสอบความเคลื่อนไหวของกลุ่มแกนนำการชุมนุมผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยได้ตรวจสอบเฟซบุ๊กส่วนตัวของ อานนท์ นำภา พบว่ามีการเชิญชวนประชาชนให้เข้าร่วมการชุมนุมในวันที่ 3 ส.ค. 2563 และมีจำเลยที่ 1, 2 และอีกหลายคนแชร์โพสต์เชิญชวนดังกล่าวไปที่เฟซบุ๊กของตนเอง

เหตุที่พยานทราบว่าเป็นเฟซบุ๊กส่วนตัวของอานนท์นั้น เป็นเพราะมีภาพส่วนตัวและภาพกิจวัตรประจำวันของอานนท์ปรากฏอยู่ในเฟซบุ๊กบัญชีดังกล่าวเป็นจำนวนมาก และเป็นภาพที่ไม่ได้ปรากฎตามสื่อมวลชนต่างๆ

พ.ต.ท.อิสรพงศ์ ตอบทนายจำเลยถามค้าน รับว่า โพสต์เชิญชวนให้มาชุมนุมดังกล่าว บุคคลทั่วไปหรือใครก็สามารถแชร์ข้อความได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้จัดการชุมนุม

.

เจ้าหน้าที่สำนักงานเขตพระนครผู้รับแจ้ง แต่ชุมนุมนี้ไม่มีใครมาแจ้ง ส่วนระดับเสียงไม่เกินตามที่กฎหมายกำหนด

รัตติกรณ์ สนั่นเอื้อ นักวิชาการสุขาภิบาลชำนาญการ ฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล สำนักงานเขตพระนคร เบิกความว่า ก่อนช่วงเวลาเกิดเหตุ สน.ชนะสงคราม ได้ประสานงานมายังสำนักงานเขตพระนคร ขอให้จัดส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจวัดระดับเสียงในการชุมนุม ในวันที่ 3 ส.ค. 2563 ที่หน้าร้านแมคโดนัลด์ สาขาอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ต่อมาผู้บังคับบัญชาได้มอบหมายให้พยานเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ตรวจวัดระดับเสียงตามคำร้องขอ

ในการทำกิจกรรมโฆษณาด้วยเครื่องขยายเสียงในเขตพระนคร ผู้จัดกิจกรรมต้องขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงที่ฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล สำนักงานเขตพระนคร ซึ่งพยานเป็นผู้มีหน้าที่รับแจ้ง ในคดีนี้ไม่มีผู้ใดมาแจ้งขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียง และสำนักงานเขตพระนครได้มีหนังสือไปถึง สน.ชนะสงคราม แจ้งว่าผู้ชุมนุมไม่ได้ขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียง

3 ส.ค. 2563 เวลาประมาณ 16.15 น. พยานเดินทางไปถึงที่เกิดเหตุและได้ตั้งจุดเครื่องวัดขยายเสียงบริเวณหน้าร้านแมคโดนัลด์ ห่างจากการชุมนุมประมาณ 3 เมตร พยานไม่ได้เดินทางหรือเคลื่อนที่ไปไหนตลอดการชุมนุม เนื่องจากต้องระมัดระวังไม่ให้เครื่องวัดระดับเสียงเสียหาย ผลการวัดระดับเสียงคือ 98.3 ไม่เกินค่าตามที่กฎหมายกำหนด ตามประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง กำหนดระดับเสียงของเครื่องขยายเสียงที่ใช้ในการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558

ในเรื่องมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 รัตติกรณ์เบิกความว่า ตนเป็นหนึ่งในคณะทำงานศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรค สำนักงานเขตพระนคร แต่ในวันเกิดเหตุ ตนได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้ไปตรวจวัดระดับเสียงเท่านั้น ผู้ชุมนุมในที่เกิดเหตุมีจำนวนประมาณไม่เกิน 200 คน ไม่มีการเว้นระยะห่างทางสังคม ไม่มีการตั้งจุดคัดกรองวัดอุณหภูมิหรือจุดบริการเจลแอลกอฮอล์ ทั้งนี้ สำนักงานเขตไม่ได้จัดเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเข้าไปดูแลมาตรการป้องกันโควิด-19 ในการชุมนุม เป็นหน้าที่ของผู้ชุมนุมที่ต้องจัดหามาตรการมาป้องกันเอง

เจ้าหน้าที่สำนักงานเขตพระนคร ตอบทนายจำเลยถามค้าน อธิบายว่า สาเหตุที่ต้องขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงนั้นมีเหตุผลเนื่องมาจากปัจจัยด้านสุขภาพของประชาชนที่อยู่ในการชุมนุมและชุมชนใกล้เคียง แม้ระดับเสียงไม่ถึงค่าที่กำหนดตามกฎหมาย แต่ก็จำเป็นต้องขออนุญาต

นอกจากนี้ รัตติกรณ์ ระบุว่า ผู้ชุมนุมจำนวน 200 คนที่เบิกความไปก่อนหน้านี้นั้น รวมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจและเทศกิจที่อยู่ภายในพื้นที่ชุมนุมด้วย

.

พนักงานสอบสวนเห็นควรสั่งฟ้องคดี แม้ยอมรับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชนเกินสมควร

พ.ต.ท.โชคอำนวย วงศ์บุญฤทธิ์ รองผู้กำกับการ (สอบสวน) สน.ชนะสงคราม เบิกความว่า เมื่อวันที่ 4 ส.ค. 2563 เวลา 06.00 น. พ.ต.ท.สุทธิศักดิ์ ได้มาแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับ อานนท์ นำภา ในข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 กรณีปราศรัยพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์ในการชุมนุมเมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2563 บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

11 ส.ค. 2563 พ.ต.ท.สุทธิศักดิ์ ได้มากล่าวหาเพิ่มเติมว่า อานนท์ นำภา และพวกรวม 7 คน ได้กระทำความผิดในข้อหาจัดชุมนุมโดยไม่เป็นตามเงื่อนไขเจ้าพนักงาน, ร่วมกันจัดการชุมนุมฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ฉบับที่ 13), ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

ต่อมา พยานได้ออกหมายเรียก และจำเลยทั้ง 6 มารายงานตัวตามหมาย พยานได้แจ้งสิทธิผู้ต้องหาและสอบคำให้การ จำเลยทั้ง 6 ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ภายหลังสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานแล้ว เห็นว่าจำเลยทั้ง 6 มีความผิดจริง เห็นควรสั่งฟ้องในข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.ชุมนุมฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมการใช้เครื่องขยายเสียงฯ ส่วนอานนท์ นำภา ให้ฟ้องคดีแยกเป็นอีกสำนวนหนึ่งเนื่องจากข้อกล่าวหาเกินอำนาจศาลแขวง

พ.ต.ท.โชคอำนวย ตอบทนายจำเลยถามค้านระบุว่า แม้โพสต์เฟซบุ๊กที่กลุ่มมอกะเสดโพสต์ประกาศเชิญชวนให้มาชุมนุม ทุกคนจะสามารถเข้าถึงและแชร์ข้อความได้ แต่พยานเห็นว่าจำเลยทั้ง 6 นั้นล้วนขึ้นเวทีปราศรัยและแชร์ข้อความออกไป จึงเป็นคนละกรณีกับผู้เข้ามาร่วมการชุมนุมอื่น

พยานยังทราบว่า พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ไม่ใช้บังคับในช่วงที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 3 (6) แต่มี ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 13) ยกเว้นให้มีการบังคับใช้ พ.ร.บ. ชุมนุมฯ ได้

พนักงานสอบสวนยังรับกับทนายจำเลยว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนเกินสมควร ในสภาวะการแพร่ระบาดของโควิด-19 รัฐบาลยังสามารถใช้กฎหมายปกติควบคุมการแพร่ระบาดได้ โดยกำหนดมาตรการที่จำเป็น เช่น การสวมใส่หน้ากากอนามัย การล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ การตรวจคัดกรองวัดอุณหภูมิ เพียงแต่ขณะเกิดเหตุ ยังคงมีการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อยู่

ที่สำคัญ ทนายจำเลยถามว่า พยานปากใดใกล้ชิดกับเหตุการณ์มากที่สุด พ.ต.ท.โชคอำนวย ตอบว่าเป็น ด.ต.ธเนตร

.

.

“ลูกเกด” รับเป็นผู้จัดกิจกรรมเพียงคนเดียว ยืนยัน การชุมนุม “เสกคาถาผู้พิทักษ์ ปกป้องประชาธิปไตย” ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิดแล้ว

ชลธิชา เบิกความว่า ในวันที่ 2 ส.ค. 2563 พยานได้ส่งหนังสือแจ้งจัดการชุมนุมถึง สน.ชนะสงคราม ผ่านทางอีเมล์ มีเนื้อหาว่าจะจัดการชุมนุมในวันที่ 3 ส.ค. 2563 เวลา 18.00 – 24.00 น. พร้อมระบุอุปกรณ์ที่จะใช้งานและขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียง รวมทั้งขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจช่วยอำนวยความสะดวกเรื่องการจราจรและความปลอดภัย สถานที่ชุมนุมเป็นทางเท้าหน้าร้านแมคโดนัลด์ สาขาอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีขนาดกว้างพอให้ประชาชนมารวมตัวกัน และยังมีลักษณะเป็นพื้นที่โล่งแจ้ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก

ขณะเกิดเหตุ ประเทศยังไม่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ภายในประเทศ และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศยังไม่รุนแรง ซึ่งภายหลังเหตุการณ์ก็ไม่ปรากฎว่ามีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ภายในประเทศแต่อย่างใด อีกทั้งในการชุมนุมก็มีการตั้งจุดให้บริการหน้ากากอนามัยและเจลแอลกอฮอล์ มีการประชาสัมพันธ์โดยพยานและจำเลยที่ 5 ขอความร่วมมือผู้ชุมนุมให้สวมใส่หน้ากาก ล้างมือด้วยเจลแอลฮอล์และเว้นระยะห่างทางสังคม ซึ่งผู้ชุมนุมก็ปฏิบัติตามเป็นอย่างดี

ผู้ปราศรัยทุกคนต่างมาด้วยตนเอง ไม่ได้มีการนัดแนะมาก่อน เนื้อหาการปราศรัยเป็นการพูดถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนและการรักษาผลประโยชน์สาธารณะ รวมทั้งข้อเรียกร้อง 3 ข้อได้แก่ หยุดคุกคามประชาชน ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และยุบสภา ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ที่รองรับไว้ในรัฐธรรมนูญ

การชุมนุมเป็นไปโดยสงบเรียบร้อย ไม่มีเหตุวุ่นวายหรือความรุนแรง พอประกาศยุติการชุมนุม ผู้ชุมนุมทุกคนก็แยกย้ายกันเดินทางกลับ ซึ่งเป็นไปตามเสรีภาพในการชุมนุมที่ถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 44

พยานทราบว่า ประเทศไทยมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งรับรองสิทธิที่จะมีความคิดเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง และสิทธิในเสรีภาพที่จะแสดงความคิดเห็น แสวงหา ได้รับและสื่อสารข้อมูลและความคิดทุกชนิด โดยไม่คำนึงถึงพรมแดน ไม่ว่าด้วยาจา เป็นลายลักษณ์อักษรด้วยการพิมพ์ ในรูปแบบของศิลปะหรือโดยสื่อประการอื่นใด

พยานทราบว่า ศาลแขวงอุดรธานีมีคำพิพากษายกฟ้องคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ กรณีไลฟ์สดขณะชุมนุมเมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2563 โดยทนายความได้ยื่นตัวอย่างคำพิพากษายกฟ้องประกอบการพิจารณาของศาล

ชลธิชาตอบอัยการโจทก์ถามค้านว่า แม้พยานจะไม่ได้ขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงต่อสำนักงานเขต แต่พยานได้แจ้งไปในหนังสือแจ้งจัดการชุมนุมแล้ว ส่วนรายละเอียดว่าเครื่องขยายเสียงมีกี่ตัว ขนาดเท่าใด พยานจำไม่ได้ เพราะพยานไม่ได้เป็นผู้รับผิดชอบเครื่องขยายเสียง ในวันเกิดเหตุมีผู้ชุมนุมบางส่วนเป็นผู้นำเครื่องขยายเสียงมา

ที่สำคัญ ถึงเครื่องขยายเสียงจะมีขนาดเล็ก แต่ก็ไม่ได้เป็นสาเหตุให้ผู้ชุมนุมต้องมายืนรวมกันที่หน้าเวที เพราะในที่ชุมนุมมีลำโพงขนาดเล็ก จำนวนหลายตัวกระจายอยู่รอบพื้นที่การชุมนุม ผู้ชุมนุมจึงไม่มีความจำเป็นต้องมารวมตัวกันที่หน้าเวที

เกี่ยวกับประเด็นการควบคุมโรค ชลธิชารับกับอัยการโจทก์ว่าไม่ได้แจ้งรายละเอียดการชุมนุมต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เนื่องจากตนเข้าใจว่าเมื่อแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจไปแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจมีหน้าที่จะต้องประสานงานกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ตนจึงไม่ได้แจ้ง

.

X