วันที่ 23 ก.พ. 2566 เวลา 09.00 น. ศาลแขวงดุสิตนัดฟังคำพิพากษาในคดีของ “โตโต้ — ปิยรัฐ จงเทพ” นักกิจกรรมทางการเมืองและว่าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล กรณีเข้าร่วมชุมนุม
#21ตุลาไปอนุสาวรีย์ชัย เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2563 ซึ่งถูกฟ้องในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่มีความร้ายแรง ซึ่งห้ามมิให้กระทำการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป หรือกระทำการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย
เวลา 09.40 น. ที่ห้องพิจารณา 502 ศาลขึ้นพิจารณาคดี ก่อนจะอ่านคำพิพากษาสั้นๆ โดยกล่าวกับจำเลยว่า ศาลพิพากษายกฟ้อง ให้จำเลยนำร่างคำพิพากษาไปนั่งอ่านด้วยตนเอง
ในคำพิพากษาฉบับดังกล่าว มีใจความสำคัญระบุว่า การออก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นกฎหมายที่บังคับใช้เพื่อจำกัดเสรีภาพบางประการ ซึ่งย่อมกระทำได้ เพื่อป้องกันและสร้างความปลอดภัยของประชาชนจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 แต่มิไม่ใช่การนำมาใช้เพื่อปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุมอย่างไร้เหตุผล
และพยานโจทก์ ไม่ได้นำสืบให้ศาลเห็นว่ามีสถิติจำนวนผู้ติดเชื้อในช่วงเวลาที่เกิดเหตุ หรือการชุมนุมอย่างไรบ้าง มีเพียงฝ่ายจำเลยที่เบิกความว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ในขณะนั้นมีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนศูนย์ราย อีกทั้งจำเลยได้สวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดการชุมนุม
นอกจากนี้ การที่โจทก์เบิกความว่าจำเลยมีพฤติการณ์ยุยงปลุกปั่น ศาลเห็นว่าจำเลยเพียงเข้าร่วมชุมนุมที่มีลักษณะกีดขวางทางจราจรเท่านั้น และไม่ถึงขั้นยุยงปลุกปั่น
อีกทั้งการเข้าร่วมชุมนุมของจำเลยก็เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพตามที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ไม่ปรากฏว่าจำเลยมีอาวุธ หรือใช้ความรุนแรงต่อเจ้าหน้าที่จนมีใครได้รับบาดเจ็บ ไม่ปรากฏว่าจำเลยเป็นผู้จัดการชุมนุม เห็นว่าเป็นเพียงประชาชนที่เข้าร่วมการชุมนุมเท่านั้น พิพากษายกฟ้อง
ภายหลังการฟังคำพิพากษา โตโต้ได้เปิดเผยความเห็นของตนเองว่า “ผมรู้สึกว่าเป็นไปตามกระบวนการที่เราคาดหวังไว้ คดีนี้จะมีการยกฟ้องเหมือนเช่นกรณีก่อนหน้านี้ของจำเลยคนอื่น ผมเป็นคนสุดท้ายที่ได้รับการยกฟ้องเช่นเดียวกับเพื่อนๆ”
นอกจากนี้ เขายังได้กล่าวอีกว่า “ผมได้รับการยืนยันจากกระบวนการยุติธรรมแล้วว่าการชุมนุมในวันนั้นเป็นการชุมนุมโดยสงบสันติ ตามสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในรัฐธรรมนูญ และในคำพิพากษานี้ก็ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า การนำ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เข้ามาใช้กับผู้ชุมนุมนั้นเป็นเรื่องที่ไร้เหตุผล”
ในคดีนี้ นับเป็นคดีการเมืองที่ศาลแขวงดุสิตทยอยมีคำพิพากษายกฟ้องอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ต้องใช้ระยะเวลาในการต่อสู้คดี โดยกรณีของโตโต้นับเป็นคดีที่ 9 แล้ว ที่ศาลยกฟ้อง ต่อจากคดีของ “มายด์” ภัสราวลี, อานันท์ ลุ่มจันทร์, ไพศาล จันปาน, สุวรรณา ตาลเหล็ก และ วสันต์ กล่ำถาวร, วีรวิชญ์ รุ่งเรืองศิริผล, อภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์ และ กรกช แสงเย็นพันธ์ โดยทั้งหมดศาลวินิจฉัยไปในทำนองเดียวกันว่าเป็นการใช้สิทธิในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ ไม่ถึงขนาดฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่มีความรุนแรง
ขณะเดียวกัน ยังเหลือคดีของ “ลูกเกด” ชลธิชา แจ้งเร็ว ที่อยู่ระหว่างรอฟังคำพิพากษา และคดีของ “บอย” ธัชพงศ์ แกดำ ที่ยังไม่ได้สืบพยาน
สำหรับคดีการชุมนุม #21ตุลาไปอนุสาวรีย์ชัย เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2563 เกิดขึ้นในช่วงที่ พล.อ.ประยุทธ์ ใช้อำนาจในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง โดยเป็นการชุมนุมของกลุ่มราษฎรและประชาชน ซึ่งรวมตัวกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ก่อนจะเดินเท้ามุ่งหน้าไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่น “จดหมายลาออกของนายกฯ ฉบับจำลอง” ให้ตัวแทนจากสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมยืนยัน 3 ข้อเรียกร้อง และ 2 เงื่อนไข
หลังจากนั้น มีผู้ร่วมการชุมนุมดังกล่าว ถูกตำรวจกล่าวหาดำเนินคดีทั้งหมด 14 คน ในข้อหาฝ่าฝืนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง โดยผู้ถูกกล่าวหาแต่ละคนถูกฟ้องแยกเป็นรายคดี โดยมีกรณีของอนุรักษ์ เจนตวนิชย์ และ น.พ.ทศพร เสรีรักษ์ ที่ให้การรับสารภาพ และศาลมีคำพิพากษาลงโทษปรับ