ศาลยกฟ้องคดี #คาร์ม็อบนครนายก ชี้การชุมนุมมีการป้องกัน ไม่มีสภาพแออัด ไม่มีความสามารถแพร่โรคได้

วันที่ 8 ธ.ค. 2565 เวลา 09.00 น. ศาลจังหวัดนครนายกนัดฟังคำพิพากษาคดี ‘คาร์ม็อบนครนายก’ ของ กุลกานต์ จินตกานนท์ เหตุจากการถูกกล่าวหาว่าเป็นแกนนำคณะราษฎรนครนายก และจัดกิจกรรมคาร์ม็อบในจังหวัดนครนายก เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2564  โดยถูกฟ้องในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดเรื่องการชุมนุมฯ ตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ

ในคดีนี้ มีพนักงานอัยการจังหวัดนครนายกเป็นผู้ฟ้อง โดยกล่าวหาว่า เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2564 ซึ่งอยู่ในระหว่างที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน จำเลยได้เป็นแกนนำจัดกิจกรรมชุมนุมปราศรัยที่บริเวณริมถนนร้อยล้าน อำเภอเมืองนครนายก เป็นการชุมนุม มั่วสุม ทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการแพร่โรคไวรัสโควิด-19  โดยเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2564 ผู้ต้องหาเข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน สภ.เมืองนครนายก แล้ว ต่อมา อธิบดีอัยการภาค 2 ได้อนุญาตให้พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องในคดีนี้

ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่าในคำฟ้องของอัยการโจทก์ ยังได้ระบุในตอนท้ายว่า การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำโดยสำนึกรู้ แต่ขาดความรับผิดชอบต่อส่วนรวมในการป้องกันโรคระบาด ขอให้ศาลลงโทษสถานหนักและไม่รอการลงโทษ ทั้งยังขอให้ศาลมีคำสั่งบังคับใช้วิธีการเพื่อความปลอดภัยกับจำเลย โดยให้จำเลยทำทัณฑ์บนโดยกำหนดจำนวนเงินไม่เกินกว่า 50,000 บาท และจะมีคำสั่งให้มีประกันด้วยหรือไม่ก็ได้ หากจำเลยไม่ยอมทำทัณฑ์บนหรือหาประกันไม่ได้ ขอให้ศาลได้โปรดมีคำสั่งกักขังจำเลยไว้

แต่ภายหลังศาลได้อนุญาตให้ประกันตัวกุลกานต์ โดยไม่ต้องวางหลักประกัน แต่ให้สาบานตนว่าจะมาตามนัดแทน และไม่ได้บังคับใช้วิธีการทำทัณฑ์บนตามที่อัยการเสนอในคำฟ้อง

สำหรับคำพิพากษามีใจความสำคัญสรุปได้ว่า คดีนี้มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัย ประการแรกคือ จำเลยเป็นแกนนำจัดกิจกรรมชุมนุมตามฟ้องที่บริเวณถนนร้อยล้าน ตำบลนครนายก อำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก หรือไม่ พยานโจทก์ปากเจ้าหน้าที่ตำรวจนำสืบว่า ได้ไปดูแลการชุมนุมและเห็นจำเลยพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ ว่าตนเป็นผู้นำการชุมนุม หากมีปัญหาจะเป็นผู้รับผิดชอบ ฝ่ายจำเลยนำสืบว่าผู้จัดการชุมนุมคือกลุ่มคณะราษฎรนครนายก จำเลยเป็นเพียงสมาชิก ไม่ใช่แกนนำ

พฤติการณ์การพูดคุยเจรจากับเจ้าหน้าที่ ว่าจำเลยเป็นผู้นำการชุมนุมครั้งนี้ ถือได้ว่าจำเลยเป็นผู้จัดกิจกรรมการชุมนุมแล้ว จำเลยจะเป็นแกนนำกลุ่มคณะราษฎรนครนายกหรือไม่ ไม่ใช่ข้อสำคัญ

ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า การจัดการชุมนุมที่ถนนร้อยล้านมีลักษณะเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดโรคติดต่ออันตรายหรือไม่ แต่เมื่อพยานโจทก์นำสืบ พบว่าจำเลยสวมหน้ากากอนามัยตลอดการปราศรัยอยู่บนรถที่ติดเครื่องขยายเสียง ซึ่งเป็นพื้นที่โล่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก ผู้ร่วมการชุมนุมมีจำนวนเพียงประมาณ 20 คน 

ผู้ชุมนุมใส่หน้ากากอนามัยและยืนห่างจากกัน เมื่อเปิดคลิปหลักฐานของพยานโจทก์ ก็ปรากฏภาพจำเลยปราศรัยบนรถและเผาหุ่นผ้า ไม่พบภาพขนาดจับมือใกล้ชิดกันแต่อย่างใด สำหรับรูปถ่ายที่ปรากฏว่ามีคนถอดหน้ากากอนามัยขณะถ่ายรูป ก็ไม่ปรากฏว่ามีบุคคลอื่นอยู่ใกล้กับบุคคลนั้น เมื่อมีการจัดการชุมนุมบนถนนในสถานที่โล่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก ไม่มีสภาพแออัด และใช้เวลาอยู่รวมกันไม่นาน จึงไม่เข้าลักษณะเป็นการรวมกลุ่มกันของบุคคลที่มีการติดต่อสัมพันธ์กันที่สามารถแพร่โรคได้ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามฟ้อง พิพากษายกฟ้อง

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน คดีจากการชุมนุมทางการเมืองในช่วงปี 2563-64 ที่ถูกฟ้องในข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ศาลยังคงมีคำพิพากษายกฟ้องเป็นส่วนใหญ่ โดยคดีนี้นับเป็นคดีที่ 43 แล้ว ที่ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องหลังการต่อสู้คดี

.

X