ยกฟ้อง Wevo ข้อหา ‘อั้งยี่ – ซ่องโจร’  ไม่พบเตรียมการทำผิดกฎหมาย แต่รอลงอาญา – ปรับ 12 ราย ฐานมียุทธภัณฑ์ – วิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาต

27 ม.ค. 2568 เวลา 09.30 น. ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาในคดีของประชาชนและนักกิจกรรมกลุ่ม We Volunteer (WeVo) รวมทั้งสิ้น 45 คน ในข้อหาร่วมกันเป็นอั้งยี่-ซ่องโจร, ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ บางรายยังมีข้อหามียุทธภัณฑ์ (เสื้อเกราะ) และเครื่องวิทยุคมนาคมไว้ในครอบครองฯ และหลบหนีไประหว่างที่ถูกคุมขังฯ ด้วย จากเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมทีมการ์ดวีโว่ที่บริเวณห้างเมเจอร์รัชโยธิน เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2564 ก่อนการชุมนุมของกลุ่ม REDEM ที่นัดหมายเดินขบวนจากห้าแยกลาดพร้าวไปหน้าศาลอาญา

คดีนี้จำเลยทั้งสี่สิบห้าให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา โดยมีข้อต่อสู้ว่า กลุ่มวีโว่ไม่ได้ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อมีวัตถุประสงค์ในการกระทำผิดกฎหมาย แต่เป็นกลุ่มที่ประชาชนรวมตัวกันขึ้นเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการชุมนุมของประชาชน วันเกิดเหตุไม่ได้รวมตัวที่เป็นการมั่วสุม และไม่เสี่ยงต่อการแพร่โรค ทั้งเสื้อเกราะและวิทยุคมนาคมไม่ใช่ของจำเลย รวมถึงจําเลยที่ 17-45 ไม่ได้หลบหนีขณะถูกคุมขัง หลังจากเหตุชุลมุน จำเลยได้เดินทางไปมอบตัวที่ สน.พหลโยธิน ทันที

ระหว่างการสืบพยานจำเลยที่ 12 เสียชีวิต ศาลจึงมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

อ่านประมวลคดีนี้: เปิดปากคำพยานคดี ‘อั้งยี่’ ก่อนศาลพิพากษา “โตโต้” ยืนยัน WeVo ตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือประชาชนในการชุมนุม เน้นสันติวิธี ไม่สนับสนุนความรุนแรง

.

วันนี้ (27 ม.ค. 2568) เวลา 10.17 น. ห้องพิจารณาที่ 701 จำเลยทั้ง 44 ราย เดินทางมาฟังคำพิพากษา โดยมีครอบครัวและประชาชนมาร่วมฟังและให้กำลังใจจำเลย

เวลา 10.23 น. ผู้พิพากษาออกนั่งพิจารณาคดีและเริ่มเรียกขานชื่อจำเลยครบทั้ง 44 คน จากนั้นได้อ่านคำพิพากษาโดยสรุปใจความได้ดังนี้

จำเลยที่ 17 มีคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยว่า คำฟ้องในคดีนี้เป็นลักษณะฟ้องซ้ำกับคดีก่อนหน้านี้ของจำเลยที่ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องหรือไม่ ศาลเห็นว่าคำฟ้องในคดีนี้เป็นคำฟ้องซ้ำกับคดีก่อนหน้า จึงทำให้คดีนี้ของจำเลยที่ 17 ระงับลง

ในส่วนของจำเลยอื่น พยานโจทก์ได้นำสืบว่า ก่อนเกิดเหตุคดีนี้กลุ่มวีโว่มักจะมาเป็นการ์ดการชุมนุมในหลายการชุมนุม มีการปะทะกับหลายกลุ่ม เช่น การ์ดอาชีวะ เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน มีการจัดกิจกรรมขายกุ้งที่อนุสรณ์ 14 ตุลา มีกิจกรรมปราศรัยบริเวณสถานทูตเมียนมาร์ 

พยานโจทก์เบิกความตรงกันว่า วันเกิดเหตุพบกลุ่มคนรวมตัวกันที่ลานจอดรถขั้น 4 – 5 ของห้างเมเจอร์ รัชโยธิน จึงแสดงตัวและเข้าตรวจค้น มีตำรวจพบจำเลยที่ 1 กำลังจะขึ้นรถตู้ จึงเข้าตรวจค้นรถตู้ด้วย ก่อนจะแยกคุมตัวจำเลยที่ 1 จากจำเลยคนอื่น 

หลังควบคุมตัวจำเลยเสร็จสิ้นก็ได้นำตัวจำเลยขึ้นรถควบคุมไปยังกองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดน ภาค 1 จ.ปทุมธานี

พยานโจทก์ได้รับข้อมูลจากสายลับซึ่งแฝงตัวเข้าไปเป็นสมาชิกกลุ่มวีโว่รายงานว่า กลุ่มดังกล่าวมีการประกาศรับสมัครสมาชิกผ่านเฟซบุ๊ก จากนั้นจะมีการคัดเลือกและจัดอบรม เช่น การอบรมการปฏิบัติหน้าที่ในการชุมนุม อบรมการต่อสู้ อบรมการสังเกตว่าผู้ใดเป็นเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ อบรมการปฐมพยาบาลเบื้องต้น

กลุ่มวีโว่มีปิยรัฐ จงเทพ หรือ โตโต้ จำเลยที่ 1 เป็นผู้กำกับการสูงสุด ในกลุ่มมีการแบ่งกองเหมือนทหาร การสื่อสารหลักในกลุ่มจะใช้แอปพลิเคชันเทเลแกรมเป็นหลัก โดยผู้ใช้บัญชีจะตั้งชื่อแบบปกปิด ใช้นามแฝงไม่ให้คนนอกรับรู้ได้ ในกลุ่มจะมีการใช้สัญลักษณ์แตกต่างออกไปในแต่ละครั้ง 

การทำกิจกรรมของกลุ่มวีโว่จะมีการประกาศผ่านเฟซบุ๊ก แต่ไม่บอกรายละเอียดชัดเจน และก่อนที่จะทำกิจกรรมจะมีการนัดไปมั่วสุมเตรียมอุปกรณ์ที่บ้านของจำเลยที่ 1

ในการชุมนุมจะมีการรายงานสถานการณ์เข้ามาในกลุ่มโดยใช้คำว่าสภาพอากาศระดับ 1 – 5 เรียงตามสถานการณ์ และสายลับยังรายงานว่ามีการทดลองวัตถุระเบิดด้วย

พิเคราะห์ในประเด็นที่ 1 ฐานความผิดอั้งยี่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 โจทก์ฟ้องว่า กลุ่มวีโว่ มีจำเลยที่ 1 เป็นหัวหน้า โดยกลุ่มดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายไม่ชอบด้วยกฎหมาย

เห็นว่า ความผิดฐานอั้งยี่ ความผิดสำเร็จทันทีเมื่อเข้าไปเป็นสมาชิกกลุ่มที่ปกปิดวิธีดำเนินการ รับรู้กันเพียงในหมู่คณะและมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย 

ในการสืบพยานได้ความว่า กลุ่มวีโว่มีการรับประกาศสมัครสมาชิก มีการจัดการฝึกอบรมให้กับสมาชิก เช่น การอบรมการปฏิบัติหน้าที่ในการชุมนุม อบรมการต่อสู้ อบรมการสังเกตว่าผู้ใดเป็นเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ อบรมการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ไม่พบว่าการอบรมดังกล่าวเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ไม่ปรากฏว่าจะนำความรู้ที่ได้จากการอบรมไปใช้ในทางไม่ชอบอย่างไร

การใช้แอปพลิเคชันเทเลแกรมโดยปกปิดชื่อ ใช้นามสมมุติ มีการแบ่งหน้าที่ แบ่งกองร้อย ไม่ปรากฏข้อความในห้องสนทนาว่าจะทำการใดที่ผิดกฎหมาย ปรากฏเพียงข้อความนัดหมายการชุมนุมและการเตรียมตัวก่อนไปชุมนุม

ส่วนที่พยานโจทก์เบิกความว่า กลุ่มวีโว่มักใช้ความรุนแรง ปะทะกับเจ้าหน้าที่บ่อยครั้ง เห็นว่า กลุ่มวีโว่เป็นกลุ่มที่จัดการชุมนุมแสดงออกความเห็นทางการเมือง การปะทะกับเจ้าหน้าที่แต่ละครั้งที่โจทก์ยกมา เป็นสถานการณ์เฉพาะหน้า กลุ่มวีโว่ไม่ได้เตรียมการมาเพื่อก่อความวุ่นวายหรือปะทะกับเจ้าหน้าที่

ประเด็นที่ 2 ฐานความผิดเป็นซ่องโจร ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 210 เป็นความผิดเมื่อบุคคล 5 คนขึ้นไป ตกลงหารือเพื่อกระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใด ตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 ของประมวลกฎหมายอาญา

ในทางนำสืบของโจทก์ พยานของโจทก์เบิกความว่า จำเลยที่ 1 ได้จัดการประชุมที่ห้องคาราโอเกะบนห้างเมเจอร์ รัชโยธิน เห็นว่า การประชุมดังกล่าวเป็นการประชุมพูดคุยเกี่ยวกับการซื้อเครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ หรือ AED 

ประเด็นที่ 3 ฐานความผิดฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ

ในช่วงที่เกิดเหตุมีการประกาศใช้ข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 ข้อ 3 ห้ามมิให้มีการชุมนุมการทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ ในสถานที่แออัด ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และมีการประกาศให้พื้นที่กรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด

เห็นว่า การชุมนุม การทำกิจกรรม ต้องทำในที่แออัด เป็นการมั่วสุม ยุยงให้ทำผิดกฎหมาย แต่ในทางนำสืบของโจทก์ พยานโจทก์ไม่ได้ชี้ให้เห็นว่าสถานที่แออัดอย่างไร มั่วสุมอย่างไร พยานเบิกความว่า เห็นผู้ชุมนุมบางคนนั่งกินข้าว บางคนเล่นโทรศัพท์ มีการสวมหน้ากากอนามัย และสถานที่เกิดเหตุเป็นลานจอดรถ มีลักษณะโล่งกว้าง

ประเด็นที่ 4 ฐานหลบหนีไประหว่างถูกคุมขัง เฉพาะจำเลยที่ 17 – 45

พยานโจทก์ผู้ควบคุมรถควบคุมตัวเบิกความว่า มีกลุ่มผู้ชุมนุมปาสิ่งของ ขวางรถควบคุมตัว พยานโจทก์ที่ควบคุมรถได้หลบหนีจากกลุ่มผู้ชุมนุมที่ทำลายรถจนเสียหาย กระจกแตก ทำให้พยานไม่เห็นว่าจำเลยหลบหนีหรือไม่ และไม่ปรากฏว่าจำเลยจะมีท่าทีหลบหนี 

เห็นว่า ความผิดในฐานการหลบหนีไประหว่างถูกคุมขังต้องมีเจตนาที่จะหลบหนีด้วย การที่ภายหลังจำเลยได้มามอบตัวต่อ สน.พหลโยธิน แสดงว่าจำเลยไม่ได้มีเจตนาจะหลบหนีการจับกุม

ประเด็นที่ 5 ฐานครอบครองยุทธภัณฑ์โดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.ควบคุมยุทธภัณฑ์ฯ และ ฐานครอบครองวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.วิทยุคมนาคมฯ

ในการตรวจค้นจำเลยพบเสื้อเกราะซึ่งเป็นยุทธภัณฑ์ที่ต้องได้รับอนุญาตจากกระทรวงกลาโหมก่อนจึงจะครอบครองและใช้งานได้ และพบวิทยุสื่อสารซึ่งต้องได้รับการอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.วิทยุคมนาคมฯ

เห็นว่า โจทก์มีเจ้าหน้าที่ตรวจค้นและมีการให้จำเลยยืนยันว่าเสื้อเกราะและวิทยุที่ตรวจเป็นของตนหรือไม่ โดยมีการถ่ายรูปเก็บไว้เป็นหลักฐานก่อนจะแยกออกเป็นกอง ๆ สำหรับกองที่ไม่ได้มีการแปะชื่อไว้ในภายหลังก็มีจำเลยที่มามอบตัวที่ สน.พหลโยธิน ได้ชี้ว่ากองใดเป็นของตน

ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1, 13 และ 33 มีเสื้อเกราะไว้ในครอบครอง จึงมีความผิดฐานครอบครองยุทธภัณฑ์โดยไม่ได้รับอนุญาต และจำเลยที่ 6, 7, 8, 10 และ 16 มีวิทยุสื่อสารไว้ในครอบครอง จึงมีความผิดฐานครอบครองวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาต ส่วนจำเลยที่ 5, 15, 23, 30 และ 41 ที่ครอบครองทั้งเสื้อเกราะและวิทยุ จึงมีผิดฐานครอบครองยุทธภัณฑ์และวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาต

พิพากษาว่า จำเลยที่ 1, 13 และ 33 มีความผิดฐานครอบครองยุทธภัณฑ์โดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 2 เดือน และปรับ 5,000 บาท 

จำเลยที่ 6, 7, 8, 10 และ 16 มีความผิดฐานครอบครองวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับ 5,000 บาท  

จำเลยที่ 5, 15, 23 และ 30 มีผิดฐานครอบครองยุทธภัณฑ์และวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาต

จำคุก 2 เดือน และปรับ 10,000 บาท 

ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้เป็นเวลา 2 ปี คุมประพฤติ 1 ปี โดยให้รายงานตัวต่อเจ้าพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง

ส่วนจำเลยที่ 41 มีผิดฐานครอบครองยุทธภัณฑ์และวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาต

จำคุก 2 เดือน และปรับ 5,000 บาท จำเลยที่ 41 เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกในคดีอื่น และได้กระทำผิดในคดีนี้ภายในเวลา 5 ปี นับแต่พ้นโทษ จึงให้เพิ่มโทษ 1 ใน 3 รวมจำคุก 2 เดือน 20 วัน ปรับ 5,000 บาท จำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน จึงไม่มีเหตุให้รอการลงโทษ 

ยกฟ้องจำเลยที่เหลือ 30 ราย

ผู้พิพากษาที่ลงชื่อในคำพิพากษาได้แก่ ทรงธน ติระการ และบุญรัตน์ จูอี้

.

หลังอ่านคำพิพากษาเสร็จอัครเดช (สงวนนามสกุล) จำเลยที่ 41 ได้พูดคุยกับบิดาเล็กน้อยก่อนจะถูกใส่กุญแจข้อมือและนำตัวลงไปคุมขังที่ใต้ถุนศาลระหว่างรอผลการประกันตัวในชั้นฎีกา ที่ปิยรัฐใช้ตำแหน่ง สส.ยื่นประกัน โดยระหว่างนำตัวออกจากห้องพิจารณาเพื่อน ๆ ได้ตะโกนให้กำลังใจเขาว่า “เราต้องกลับบ้านด้วยกัน”

ต่อมา ประมาณ 17.00 น. ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ประกันอัครเดชระหว่างอุทธรณ์ โดยไม่ได้กำหนดเงื่อนไขใด ๆ

.

ในการสืบพยานคดีนี้ ผู้ถูกจับกุมหลายคนยืนยันว่าโดนตำรวจข่มขู่และทำร้ายร่างกายหลายรูปแบบ ทั้งรุมกระทืบ บังคับให้คลาน โดนหมวกกันน็อคฟาด โดนทรมานจนหายใจไม่ออก และโดนเอาพลุควันยัดปาก โดนตบหน้า เตะ และเหยียบส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็น เท้า ขา หลัง มือ ไปจนถึงบริเวณศีรษะ โดยมีบางคนถูกนำปืนจี้หัวและบังคับให้คลานอีกด้วย  

เมื่อทนายจำเลยจะพยายามถามถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังทำร้ายร่างกายผู้ถูกจับกุมจนได้รับบาดเจ็บ ก็ได้รับคำตอบกลับเพียงว่า ‘เจ้าหน้าที่ไม่ได้ใช้ความรุนแรงกับกลุ่มผู้ต้องหา และการที่เจ้าพนักงานตำรวจเข้าควบคุมตัวโดยสั่งให้ผู้ถูกจับกุมนอนคว่ำลงกับพื้นนั้น เป็นไปอย่างถูกต้องตามยุทธวิธีแล้ว เพื่อความปลอดภัยและป้องกันการหลบหนี เนื่องจากเป็นการควบคุมคนจำนวนมาก’

นอกจากนี้ ในระหว่างสอบสวนและพิจารณาคดีมีจำเลย 2 ราย ถูกคุมขัง  ได้แก่ ปิยรัฐ จำเลยที่ 1 ซึ่งถูกคุมขังตั้งแต่วันถูกจับกุมและในชั้นฝากขัง รวม 26 วัน (6 มี.ค. – 2 เม.ย. 2564) และ “พงษ์” จำเลยที่ 45 ถูกคุมขังก่อนฟังคำพิพากษารวม 9 วัน (6 -14 ม.ค. 2568) หลังเข้ารายงานตัวกรณีศาลออกหมายจับเนื่องจากเขามีเหตุจำเป็นไม่สามารถเดินทางมาฟังคำพิพากษาเมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 2567 ได้ ก่อนศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ประกันโดยให้ติด EM 

แต่ในที่สุดวันนี้ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องพงษ์และให้รอลงอาญาปิยรัฐ โดยไม่มีโทษจำคุก ชี้ให้เห็นความสำคัญของการให้สิทธิประกันตัวระหว่างต่อสู้คดีและหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยยังเป็นผู้บริสุทธิ์ก่อนมีคำสั่งพิพากษาถึงที่สุดว่ามีความผิด  

.

.

อ่านประมวลคดี : เปิดปากคำพยานคดี ‘อั้งยี่’ ก่อนศาลพิพากษา “โตโต้” ยืนยัน WeVo ตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือประชาชนในการชุมนุม เน้นสันติวิธี ไม่สนับสนุนความรุนแรง  

X