27 ม.ค. 2568 เวลา 09.00 น. ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาในคดีของประชาชนและนักกิจกรรมกลุ่ม We Volunteer หรือ WeVo (วีโว่) รวม 45 คน หนึ่งในนั้นคือ “โตโต้” ปิยรัฐ จงเทพ ซึ่งปัจจุบันเป็น สส.กทม. พรรคประชาชน ทั้งหมดตกเป็นจำเลยในข้อหาร่วมกันเป็นอั้งยี่-ซ่องโจร, ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ บางรายยังมีข้อหามียุทธภัณฑ์ (เสื้อเกราะ) และเครื่องวิทยุคมนาคมไว้ในครอบครองฯ และหลบหนีไประหว่างที่ถูกคุมขังฯ ด้วย จากเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมทีมการ์ดวีโว่ที่บริเวณห้างเมเจอร์ รัชโยธิน เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2564 ก่อนการชุมนุมของกลุ่ม REDEM ที่นัดหมายเดินขบวนจากห้าแยกลาดพร้าวไปหน้าศาลอาญา
คดีนี้ศาลนัดหมายฟังคำพิพากษาครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 2567 แต่ “พงษ์” (นามสมมติ) จำเลยที่ 45 มีเหตุจำเป็นไม่สามารถเดินทางมาฟังคำพิพากษาได้ ศาลจึงเลื่อนนัดมาเป็นวันที่ 27 ม.ค. 2568 ส่วนพงษ์ซึ่งขออนุญาตเลื่อนนัด แต่ศาลไม่อนุญาตและให้ออกหมายจับ รวมทั้งไม่อนุญาตให้ประกันเมื่อเขาเดินทางไปรายงานตัวในวันที่ 6 ม.ค. 2568 ก่อนศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ประกันโดยให้ติด EM และได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2568 ทำให้พงษ์ถูกขังก่อนฟังคำพิพากษามาแล้ว 9 วัน
นอกจากคดีนี้แล้ว สมาชิกกลุ่มวีโว่ 8 ราย ยังเคยถูกกล่าวหาว่าเป็นอั้งยี่และซ่องโจรอีกคดีหนึ่ง จากกรณีที่ทั้งหมดถูกจับกุมบริเวณลานจอดรถวัดมหรรณพารามและบริเวณห้องพักในเขตพระนคร ก่อน #ม็อบ7สิงหา64 โดยก่อนหน้านี้ศาลอาญามีคำพิพากษายกฟ้องในข้อหาเป็นอั้งยี่และซ่องโจร แต่ลงโทษปรับจำเลย 5 ราย ในข้อหามีเครื่องวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาต รวมทั้งปรับจำเลย 1 ราย ในข้อหาพกพาอาวุธ (กระบองดิ้ว) ไปในเมืองโดยไม่มีเหตุอันควร ปัจจุบันคดีถึงที่สุดแล้ว เนื่องจากทั้งโจทก์และจำเลยไม่ได้อุทธรณ์
.
ตร.เข้าจับกุมการ์ดวีโว่และประชาชน 48 ราย เป็นเยาวชน 3 ราย ไม่แสดงหมายจับหรือแจ้งข้อหา มีรายงานการทำร้ายร่างกายและใช้อาวุธข่มขู่ ยึดสิ่งของ 550 รายการ ก่อนดำเนินคดี 4 ข้อหา
ที่มาที่ไปของคดีนี้ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2564 กลุ่ม “รีเด็ม” (REDEM) นัดหมายชุมนุม #ม็อบ6มีนา เดินขบวนจากห้าแยกลาดพร้าวไปหน้าศาลอาญา เพื่อทำกิจกรรมเผาขยะหน้าศาล ทว่าก่อนเริ่มการชุมนุมกลับมีเจ้าหน้าที่พร้อมอาวุธเข้าจับกุมทีมการ์ดวีโว่และประชาชนที่บริเวณลานจอดรถห้างสรรพสินค้าเมเจอร์ รัชโยธิน โดยไม่ได้แสดงหมายจับหรือแจ้งข้อกล่าวหา รวมทั้งไม่แจ้งว่าจะควบคุมตัวไปที่ใด ทั้งนี้ มีรายงานการทำร้ายร่างกายและใช้อาวุธข่มขู่ผู้ถูกจับกุมบางคน ทั้งยังมีการยึดสิ่งของทั้งหมดที่พกติดตัว เช่น โทรศัพท์ กระเป๋า เงินสด
หลังการจับกุมผู้ถูกจับกุมรวม 48 คน ถูกนำตัวขึ้นรถควบคุมผู้ต้องขัง 3 คัน คันแรกมี “โตโต้” ปิยรัฐ จงเทพ และผู้ถูกจับกุมรวม 18 ราย ซึ่งเป็นเยาวชนอายุ 17 ปี 2 ราย เดินทางไปที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดน ภาค 1 จังหวัดปทุมธานี (บก.ตชด.ภาค 1) ก่อนแจ้งข้อกล่าวหาทั้ง 18 ราย ในความผิดฐานเป็นอั้งยี่, เป็นซ่องโจร, ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ โดยหนึ่งในผู้ต้องหาเป็นศัลยแพทย์จากโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ซึ่งในวันนั้นเดินทางมาจากต่างจังหวัดเพื่อพูดคุยกับปิยรัฐเรื่องเครื่องกระตุกหัวใจ ซึ่งวีโว่ประกาศรับบริจาคเพื่อจัดหาไว้เป็นอุปกรณ์ช่วยเหลือชีวิตฉุกเฉินในที่ชุมนุม หลังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนเสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ใน #ม็อบ28กุมภา หน้ากรมทหารราบที่ 1
ส่วนรถควบคุมผู้ต้องขังอีก 2 คัน ถูกประชาชนที่ทราบเหตุการณ์การจับกุมที่ไม่ชอบเข้าสกัด จนรถทั้งสองคันไม่สามารถวิ่งไปต่อได้ ผู้ถูกควบคุมตัวรวม 30 ราย จึงเดินทางไปลงบันทึกประจำวันที่ สน.พหลโยธิน ในคืนนั้น เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจว่าไม่ได้หลบหนี ทั้งสอบถามเหตุผลการจับกุมและขอให้ติดตามทรัพย์สินส่วนตัวที่ถูกยึดไป โดยมี 1 ราย ให้ปากคำกับพนักงานสอบสวนไว้ด้วยว่า ตนเองเพียงแต่มาเอากระเป๋าจากเพื่อนเท่านั้น แต่กลับถูกจับกุมด้วย จากนั้นตำรวจได้ปล่อยตัวทั้งหมดกลับ โดยไม่ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาใด แต่ในภายหลังได้ออกหมายเรียกทั้ง 30 คน เป็นเยาวชน 1 ราย ให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาใน 4 ข้อหาเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ สิ่งของที่เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจยึดไปเป็นของกลางขณะเข้าจับกุม ตำรวจได้ทำบัญชีของกลางไว้ พบว่ามีจำนวนถึง 550 รายการ
.
ขัง “โตโต้” 26 วัน ก่อนให้ประกัน – หลายคนถูกแจ้งข้อหาเพิ่มเติมมียุทธภัณฑ์-วิทยุโดยไม่ได้รับอนุญาต-หลบหนีระหว่างถูกคุมขัง
หลังการแจ้งข้อกล่าวหาที่ บก.ตชด.พนักงานสอบสวนปล่อยตัวศัลยแพทย์โดยให้ทำสัญญาประกัน ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ และขอฝากขังผู้ต้องหา 15 คน ต่อศาลอาญาและศาลเยาวชนฯ ก่อนศาลให้ประกันทุกคน ยกเว้นปิยรัฐ โดยอ้างเหตุที่ไม่ให้ประกันว่า ผู้ต้องหามีพฤติการณ์ที่อุกอาจ ไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว มีเหตุอันควรให้เชื่อว่าจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นอีก ทำให้ปิยรัฐถูกคุมขังตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค. 2564 กระทั่งวันที่ 2 เม.ย. 2564 จึงได้รับอนุญาตให้ประกัน รวมเวลาถูกขังระหว่างสอบสวน 26 วัน
นอกจากนี้ พนักงานสอบสวนยังได้ออกหมายเรียกให้ผู้ต้องหาบางรายเข้ารับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2564 โดยมี 8 ราย ถูกแจ้งข้อหามียุทธภัณฑ์ (เสื้อเกราะ) ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และ 10 ราย ถูกแจ้งข้อหามีเครื่องวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาต อีกทั้งกลุ่มที่เดินเข้าไปพบพนักงานสอบสวน สน.พหลโยธิน ในคืนวันเกิดเหตุ ถูกแจ้งข้อหาเพิ่มเติมว่า หลบหนีไประหว่างที่ถูกคุมขังฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 190 ส่วนปิยรัฐถูกแจ้งข้อหาเพิ่มเติมระหว่างถูกขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ว่า มียุทธภัณฑ์ไว้ในครอบครองด้วย
ทั้งยังมีผู้ถูกดำเนินคดีที่เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์สกัดรถควบคุมผู้ต้องขังในวันเกิดเหตุอีก 2 คดี คือ คดีของ ยงยุทธ (สงวนนามสกุล) ซึ่งถูกกล่าวหาว่าทำร้ายเจ้าพนักงานด้วยการสับศอกใส่นอกเครื่องแบบที่มาถ่ายภาพประชาชนที่เข้าล้อมรถผู้ต้องขัง โดยยงยุทธ์ยังถูกดำเนินคดีอั้งยี่ในคดีนี้อีกด้วย และคดีของ “ปรณัท” และ “มารุต” ซึ่งถูกกล่าวหาว่าร่วมกันกระทำการให้ผู้ที่ถูกคุมขังหลุดพ้นจากการคุมขังและต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน จากกรณีพยายามเข้าช่วยเหลือผู้ที่ถูกจับกุมในรถคุมขัง
.
คำฟ้องอัยการระบุ กลุ่มวีโว่เป็น ‘อั้งยี่’ มีวัตถุประสงค์สร้างความปั่นป่วนวุ่นวาย วันเกิดเหตุเตรียมไปก่อเหตุหน้าศาลอาญา
ต่อมา วันที่ 22 เม.ย. 2564 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 7 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องกลุ่มวีโว่และประชาชนทั้ง 45 ราย ในข้อหา ร่วมกันเป็นอั้งยี่, เป็นซ่องโจร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209, 210, ร่วมกันชุมนุมในที่แออัดฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ โดยมี 9 ราย ถูกฟ้องในข้อหามียุทธภัณฑ์ (เสื้อเกราะ) ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตด้วย, 10 ราย ถูกฟ้องข้อหามีเครื่องวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาต และ 29 ราย ถูกฟ้องในข้อหาหลบหนีไปจากการถูกคุมขังฯ ด้วย
คำฟ้องมีสาระสำคัญโดยสรุปว่า จําเลยทั้ง 45 คนกับพวกอีก 3 คน ซึ่งเป็นเยาวชนได้แยกไปดําเนินคดีต่างหากแล้ว ได้ร่วมกันกระทําความผิดหลายกรรมต่างกันดังนี้
1. ประมาณวันที่ 26 ส.ค. 2563 – 5 มี.ค. 2564 จําเลยทั้ง 45 คนกับพวกได้สมคบกันเป็นอั้งยี่ โดยร่วมกับพวกอีกประมาณกว่า 600 คน เข้าเป็นสมาชิกของคณะบุคคล We Volunteer หรือ WEVO ซึ่งปกปิดวิธีดําเนินการ สามารถรับรู้กันได้เฉพาะในระหว่างสมาชิก โดยมี ปิยรัฐ จําเลยที่ 1 เป็นหัวหน้า สมาชิกมีการแสดงสัญลักษณ์ในรูปแบบเครื่องแต่งกายและอุปกรณ์ต่าง ๆ มีพฤติกรรมร่วมกันชุมนุม สมคบกันวางแผน ซ่องสุมกําลัง ฝึกกําลังพล แบ่งหน้าที่กันทำ ตระเตรียมซุกซ่อนอาวุธ เช่น หนังสติ๊ก ลูกแก้ว ลูกเหล็ก ระเบิดควัน และวัตถุอื่น ใช้แอพพลิเคชั่นออนไลน์ต่าง ๆ ในการติดต่อสื่อสาร จากนั้นจะแฝงตัวออกมาในกลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมืองในบทบาทของการ์ดอาสาสมัครดูแลความปลอดภัย แต่ความจริงคณะบุคคลดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย โดยมีความมุ่งหมายเพื่อสร้างความปั่นป่วนให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน และสร้างความวุ่นวายในบ้านเมือง
2. เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2564 จำเลยทั้งสี่สิบห้ากับพวกได้สมคบกันเป็นซ่องโจร โดยนัดหมายประชุมวางแผน แบ่งหน้าที่ระหว่างกัน และตกลงกันจะไปกระทำความผิดในการชุมนุมทางการเมืองที่บริเวณหน้าศาลอาญา โดยได้ร่วมกันตระเตรียมอาวุธ หนังสติ๊ก ลูกแก้ว ลูกเหล็ก ระเบิดควัน และวัตถุอื่น, เสื้อเกราะ 16 ตัว และหน้ากากอันเป็นยุทธภัณฑ์เพื่อใช้ในการป้องกันตนจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ และตระเตรียมวิทยุสื่อสารจํานวน 24 เครื่อง เพื่อติดต่อสื่อสารระหว่างกันในการกระทำความผิด
3. จากนั้นจําเลยทั้ง 45 คนกับพวกได้ร่วมกันชุมนุมมั่วสุมกันภายในห้องคาราโอเกะและบริเวณลานจอดรถในอาคารจอดรถของห้างเมเจอร์ รัชโยธิน เพื่อรวมพลกันจะเคลื่อนตัวไปกระทําการอันมิชอบด้วยกฎหมายในการชุมนุมบริเวณหน้าศาลอาญา อันมีลักษณะเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ โดยไม่มีมาตรการป้องกัน อันเป็นการฝ่าฝืนข้อกําหนดและประกาศที่ออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และประกาศของกรุงเทพมหานคร
4. ในวันดังกล่าว จําเลยที่ 1, 5, 12, 13, 15, 30, 33, 41 ได้มีเสื้อเกราะป้องกันกระสุนคนละ 1 ตัว และจำเลยที่ 23 มีเสื้อเกราะป้องกันกระสุน 2 ตัว ทั้งหมดประกอบด้วยเสื้อกั้กและตัวแผ่นเกราะซึ่งผลิตจากโลหะแผ่นผสม ไม่มียี่ห้อและหมายเลข ซึ่งสามารถใช้ป้องกันกระสุนได้ อันเป็นยุทธภัณฑ์ตามกฎหมายและประกาศกระทรวงกลาโหมไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต
5. นอกจากนี้ จําเลยที่ 5, 6, 7, 8, 10, 16, 30 ยังมีเครื่องวิทยุคมนาคมชนิดมือถือ ย่านความถี่ 136-174 และ 240-260 เมกกะเฮิร์ตซ์ คนละ 1 เครื่อง, จำเลยที่ 15, 23 มีเครื่องวิทยุคมนาคมชนิดมือถือ ย่านความถี่ 245-246.9875 เมกกะเฮิร์ตซ์ คนละ 1 เครื่อง และจำเลยที่ 41 มีเครื่องวิทยุคมนาคมชนิดมือถือ ไม่สามารถตรวจสอบย่านความถี่ได้เนื่องจากชำรุด อันเป็นเครื่องวิทยุคมนาคมตามกฎหมายไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต
6. ภายหลังเจ้าพนักงานตํารวจผู้มีอํานาจสืบสวนคดีอาญาได้ร่วมกันคุมตัวจําเลยไปเพื่อส่งให้พนักงานสอบสวน สน.พหลโยธิน ดําเนินการสอบสวนที่กองบังคับการตํารวจตระเวนชายแดนภาค 1 จําเลยที่ 17-45 ได้หลบหนีไประหว่างที่ถูกคุมตัวตามอํานาจของเจ้าพนักงานดังกล่าว
ท้ายคำฟ้อง อัยการขอให้นับโทษจำคุกของปิยรัฐในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกในคดีหมายเลขดำที่ 1762/2563 ของศาลแขวงดุสิต (คดีฝ่าฝืนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง จากการชุมนุม #ม็อบ21ตุลา) และขอให้ริบเครื่องวิทยุคมนาคม จำนวน 24 เครื่อง, เสื้อเกราะ รวมทั้งของกลางอื่นอีกรวม 150 รายการ
.
สืบพยานยาว 31 นัด พยานโจทก์-จำเลย 54 ปาก ฝ่ายจำเลยยืนยัน กลุ่มวีโว่ไม่ได้ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อมีวัตถุประสงค์ในการกระทำผิดกฎหมาย แต่เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการชุมนุมของประชาชน
คดีนี้จำเลยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ก่อนที่ศาลนัดสืบพยานทั้งสิ้น 31 นัด ตั้งแต่ช่วงเดือน เม.ย. – ต.ค. 2567 ทั้งนี้ ระหว่างการสืบพยานจำเลยที่ 12 เสียชีวิต ศาลจึงมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
ในการสืบพยานโจทก์ 27 นัด อัยการโจทก์นำพยานเข้าเบิกความทั้งสิ้น 48 ปาก เกือบทั้งหมดเป็นตำรวจ ได้แก่ ผู้กล่าวหา, ตำรวจผู้จับกุม, ตำรวจผู้ถ่ายภาพขณะจับกุม, ตำรวจผู้ขับรถควบคุมผู้ต้องหา, ตำรวจผู้ตรวจค้นของกลางในที่เกิดเหตุ, เจ้าหน้าที่ตรวจพิสูจน์หลักฐาน, สันติบาล, ชุดสืบสวน, พนักงานสอบสวน หัวหน้าฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล เขตจตุจักร, พนักงานห้างเมเจอร์ รัชโยธิน และพนักงาน Blu-O สาขาเมเจอร์ รัชโยธิน
ตลอดการสืบพยานฝ่ายโจทก์ พยานตำรวจแทบจะทุกคนล้วนเบิกความในทำนองว่า ผู้ถูกจับกุมมีการชุมนุมมั่วสุมกัน และวางแผนเตรียมอาวุธเพื่อก่อเหตุวุ่นวายและทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในการชุมนุมก่อนเกิดเหตุมักมีเหตุปะทะกับเจ้าหน้าที่ ทำให้เจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ วันเกิดเหตุยังมีการล้อมรถควบคุมผู้ต้องขังและรุมทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วย อย่างไรก็ตาม ในการตอบคำถามค้านของทนายจำเลย พยานเหล่านี้ไม่ยืนยันว่า เหตุปะทะในการชุมนุมครั้งก่อนเกิดจากการ์ดวีโว่ ทั้งในวันเกิดเหตุตรวจค้นผู้ถูกจับไม่พบอาวุธ และไม่ยืนยันว่า กลุ่มคนที่ล้อมรถผู้ต้องขังเป็นกลุ่มวีโว่
สำหรับการสืบพยานจำเลย 4 นัด ทนายจำเลยนำพยานเข้าเบิกความทั้งสิ้น 6 ปาก ได้แก่ ทนายความในชั้นจับกุม, พยานความเห็น และจำเลย 4 คน โดยฝ่ายจำเลยมีข้อต่อสู้ในคดีดังนี้
- ข้อหาร่วมกันเป็นอั้งยี่ – ซ่องโจร ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 – 210 : กลุ่มวีโว่ไม่ได้ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อมีวัตถุประสงค์ในการกระทำผิดกฎหมาย แต่เป็นกลุ่มที่ประชาชนรวมตัวกันขึ้นเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการชุมนุมของประชาชน
- ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ : วันที่เกิดเหตุไม่ได้รวมตัวที่เป็นการมั่วสุม และสถานที่เกิดเหตุ คือ ลานจอดรถห้างเมเจอร์ รัชโยธิน เป็นสถานที่โล่งกว้าง ไม่แออัด และไม่เสี่ยงต่อการแพร่โรค
- ข้อหามียุทธภัณฑ์ (9 คน) และวิทยุคมนาคมฯ (10 คน) : มีข้อน่าสงสัยเกี่ยวกับวิธีการตรวจยึดและจัดเก็บพยานหลักฐานในที่เกิดเหตุของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
- ข้อหาหลบหนีไประหว่างที่ถูกคุมขังฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 190 (เฉพาะจําเลยที่ 17-45) : จำเลยไม่ได้หลบหนีขณะถูกคุมขัง และหลังจากเหตุชุลมุน จำเลยได้เดินทางไปมอบตัวที่ สน.พหลโยธิน ทันที
คำเบิกความพยานทั้งสองฝ่ายมีรายละเอียดดังนี้
.
ปากคำพยานโจทก์
สายตรวจ 191 ผู้กล่าวหาอ้าง ได้รับแจ้งว่า กลุ่มวีโว่นัดหมายรวมกลุ่ม-จะมีการใช้ความรุนแรงโดยทําร้ายเจ้าหน้าที่ แต่รับว่า ตรวจค้นไม่พบอาวุธในที่เกิดเหตุ
พ.ต.ต.กฤตพร แสงสุระ ผู้กล่าวหา เบิกความว่า วันเกิดเหตุพยานรับราชการอยู่ที่กองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ (191) กองบัญชาการนครบาล (บช.น.) ทําหน้าที่สืบสวนหาข่าว
วันที่ 6 มี.ค. 2564 ประมาณ 15.00 น. พยานได้รับแจ้งจากผู้บังคับบัญชา คือ พ.ต.ต.ไพบูลย์ สอโส ให้ชุดปฏิบัติการพิเศษเข้ามาประชุมที่กองบังคับการสายตรวจ เนื่องจากได้รับข่าวจากกองบังคับการสืบสวน บช.น. และกองสืบสวนของตํารวจสันติบาลว่า ในวันดังกล่าวกลุ่ม “WE VOLUNTEER” หรือวีโว่ ซึ่งมีปิยรัฐ จงเทพ หรือโตโต้ เป็นหัวหน้ากลุ่ม และมีสมาชิกประมาณ 600 คน นัดหมายรวมกลุ่มกันที่อาคารจอดรถของห้างเมเจอร์ รัชโยธิน กลุ่มดังกล่าวอ้างว่าจัดตั้งมาเพื่อเป็นการ์ดของผู้ชุมนุม แต่จะมีการใช้ความรุนแรงโดยทําร้ายเจ้าหน้าที่
การประชุมดังกล่าวมีหลายหน่วยเข้าร่วม ประกอบด้วย กองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน หน่วยอรินทราช กองกํากับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ และกองกำกับการสืบสวนกองบังคับการตํารวจนครบาล
พยานได้รับแจ้งจากที่ประชุมว่า กลุ่มการ์ดดังกล่าวจะมีการแต่งตัวด้วยเสื้อสีดํา กางเกงยุทธวิธี หมวกยุทธวิธี ผ้าพันคอสีเหลือง ปลอกแขนจําสีไม่ได้ แต่จะมีข้อความว่า “การ์ด” ติดอยู่บริเวณเสื้อ โล่มีข้อความว่า “People” หลังจากประชุมแล้วได้แบ่งกําลังไปตามจุดต่าง ๆ ชุดของพยานประมาณ 10 นาย ไปที่อาคารจอดรถ 3 โดยถึงเวลาประมาณ 16.30 น. นอกจากพยานแล้วยังมี ร.ต.อ.ภุชงค์ เม้าทุ่ง เป็นผู้รับผิดชอบบริเวณด้านล่างของห้างเมเจอร์ฯ
พยานไปตรวจสอบอาคารจอดรถ 3 แต่ไม่พบผู้ชุมนุม หลังจากนั้นจําเวลาไม่ได้พยานได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ชุดอื่นว่า ปิยรัฐมากับรถตู้สีเขียวยี่ห้อโฟล์คเข้ามาจอดที่อาคารชั้น 3 ของอาคารจอดรถ 2 หลังจากนั้นผู้บังคับบัญชาได้สั่งให้ชุดปฏิบัติการทั้งหมดไปรวมกันที่อาคารจอดรถ 2 เนื่องจากได้รับแจ้งว่ากลุ่มวีโว่กําลังรวมตัวกันอยู่ที่ชั้น 5 ของอาคารจอดรถดังกล่าว พยานกับพวกจึงขึ้นไปที่ชั้นดังกล่าวพร้อมกับชุดปฏิบัติการชุดอื่นพบว่า มีกลุ่มบุคคลแต่งกายตามที่ได้รับแจ้งจากที่ประชุมกําลังรวมตัวกันประมาณ 50 คน
พยานกับพวกจึงแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานตํารวจ มีบางส่วนวิ่งหลบหนีขึ้นไปดาดฟ้าและลงไปชั้น 4 และชั้น 3 พยานกับพวกจึงกระจายกําลังกันเข้าควบคุมตัวกลุ่มคนดังกล่าวมารวมกันที่ชั้น 5 มีทั้งผู้หญิงและผู้ชายแต่ผู้ชายมีจํานวนมากกว่า โดยสั่งให้นอนคว่ํากับพื้นมือไขว้หลัง ซึ่งเป็นไปตามยุทธวิธี เนื่องจากเป็นการควบคุมคนเป็นจํานวนมาก จากการตรวจค้นตัวพบเสื้อเกราะกันกระสุนประมาณ 10 ตัว วิทยุโทรคมนาคม 60 เครื่อง พลุไฟ หนังสติ๊ก ค้อน ลูกแก้ว และน้ําปัสสาวะใส่ถุง
พยานได้รับแจ้งว่ามีตํารวจอีกชุดหนึ่ง ควบคุมตัวปิยรัฐกับพวกรวม 4 คนได้ที่ชั้น 3 จะนําขึ้นมารวมกลุ่มที่ชั้น 5 แต่ผู้บังคับบัญชาเห็นว่า หากควบคุมตัวปิยรัฐมารวมกลุ่มกับพวกที่ชั้น 5 จะก่อให้เกิดความวุ่นวาย จึงได้แยกตัวปิยรัฐไปที่กองกํากับการตํารวจตระเวนชายแดน ภาคที่ 1 (บก.ตชด.ภาค 1) จังหวัดปทุมธานี ส่วนอีก 3 คน ควบคุมตัวมารวมอยู่ที่ชั้น 5 ตรวจค้นพบกระเป๋า ซึ่งภายในบรรจุวิทยุโทรคมนาคม 2 เครื่อง เงินสด นับภายหลังมีประมาณ 130,000 บาท
ระหว่างนั้นได้มีกลุ่มที่แต่งกายเช่นเดียวกับกลุ่มที่ถูกควบคุมตัวยิงลูกน็อตและลูกแก้วมาที่ชั้น 5 ซึ่งไม่ทราบว่ายิงมาจากชั้นใด ผู้บังคับบัญชาจึงสั่งให้นำกลุ่มคนที่ควบคุมตัวอยู่ที่ชั้น 5 ไปที่ บก.ตชด.ภาค 1 โดยใช้รถ 3 คัน บรรทุกได้คันละ 15 – 20 คน และแบ่งกําลังเจ้าหน้าที่ควบคุมไปคันละเท่า ๆ กัน โดยพยานไปกับรถคันที่ 2 ซึ่ง พ.ต.ต.ไพบูลย์ มอบหมายให้พยาน เป็นผู้เก็บรักษาเงินสดจํานวน 130,000 บาทเศษ ที่ตรวจยึดได้
รถคันที่พยานควบคุมไปนั้นมีผู้ถูกควบคุมตัว 10 คนเศษ มีผู้ใต้บังคับบัญชาของพยาน 2 คน นั่งควบคุมตัวไป ส่วนพยานนั่งข้างคนขับคือ ร.ต.ต.ประยูร รถทั้ง 3 คัน เคลื่อนตัวออกจากห้างเมเจอร์ฯ ราว 18.00 น. ซึ่งการจราจรติดขัด ระหว่างนั้นได้มีกลุ่มบุคคลที่แต่งกายเช่นเดียวกับกลุ่มที่ถูกควบคุมตัวใช้ของแข็งขว้างปาใส่รถ คันแรกขับมุ่งหน้าไปที่ถนนรัชดา ทราบภายหลังว่าถูกกลุ่มบุคคลดังกล่าวให้หยุดรถหน้ามหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม และได้มีการช่วยผู้ถูกควบคุมหลบหนีไป
ส่วนคันที่ 2 ไม่สามารถเคลื่อนที่ต่อได้ เนื่องจากมีม้านั่งของจักรยานยนต์รับจ้างที่อยู่บริเวณดังกล่าวขวางไว้ จากนั้นมีกลุ่มคนใช้ของแข็งทุบกระจกบริเวณคนขับและทุบศีรษะ ร.ต.ต.ประยูร พร้อมทั้งข่มขู่เอากุญแจเพื่อนำไปเปิดห้องขังด้านหลัง ร.ต.ต.ประยูร จึงได้มอบกุญแจห้องขังซึ่งอยู่ในพวงเดียวกับกุญแจรถ พยานชักชวน ร.ต.ต.ประยูร ให้ลงจากรถ แต่ ร.ต.ต.ประยูร ไม่ลง เมื่อพยานลงจากรถมีกลุ่มคนเข้ามากระโดดถีบ ชกต่อย ซึ่งพยานจําหน้าไม่ได้ แต่ได้มีบุคคลซึ่งไม่ทราบว่าเป็นผู้ใดมาช่วยดึงพยานออกไป ขณะที่พยานลงจากรถไม่ได้นํากระเป๋าบรรจุธนบัตรซึ่งวางไว้ข้างคนขับไปด้วย
หลังจากนั้นพยานรีบเดินทางกลับไปที่กองกํากับการสายตรวจ โดยไม่ได้สังเกตว่ายังมีผู้ถูกควบคุมอยู่ภายในรถหรือไม่ แต่ผู้บังคับบัญชาให้เดินทางไปที่ บก.ตชด.ภาค 1 เมื่อไปถึงพบเพียงรถคันที่ 3 ซึ่งมีผู้ถูกควบคุมตัวจํานวน 17 คน มีเยาวชน 2 ราย เมื่อรวมปิยรัฐที่ถูกควบคุมตัวมาก่อนหน้า ทำให้มีผู้ถูกควบคุมตัวรวม 18 คน
พยานกับพวกได้ร่วมกันแจ้งข้อกล่าวหาผู้ถูกควบคุมตัวทั้ง 18 ราย ว่า ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ, เป็นอั้งยี่และซ่องโจร และให้ผู้ถูกควบคุมตัวทั้ง 18 คน ตรวจสอบสิ่งของแต่ละคนที่เจ้าหน้าที่ตรวจยึดได้ เพื่อจัดทําบัญชีของกลางคดีอาญาไว้
สําหรับกระเป๋าใส่ธนบัตรที่พยานเป็นผู้เก็บรักษาไว้ และไม่ได้นําออกมาขณะลงจากรถควบคุมตัวนั้น ทราบภายหลังว่า ร.ต.ต.ประยูร ได้นําไปเก็บรักษาไว้ และได้นํามามอบให้กับพยาน
หลังจากพยานนําส่งสิ่งของที่ตรวจยึดและบันทึกการตรวจยึดให้กับพนักงานสอบสวน พยานจึงได้ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลตํารวจ เนื่องจากพยานได้รับบาดเจ็บมีรอยฟกช้ําบริเวณใบหน้าและร่างกายหลายแห่ง
เหตุที่ผู้บังคับบัญชาเรียกประชุมดําเนินการดังที่พยานเบิกความข้างต้น เนื่องจากในวันดังกล่าวมีการประกาศผ่านสื่อสังคมออนไลน์ของกลุ่มม็อบราษฎรว่า กลุ่ม “REDEM” นัดชุมนุมจะทํากิจกรรมเทขยะหน้าศาลอาญา โดยนัดรวมตัวกันบริเวณห้าแยกลาดพร้าว เวลาประมาณ 17.00 น. ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวมีการระบาดของโรคโควิด-19 มีการประกาศห้ามชุมนุม
ในการควบคุมตัว, การรวมกลุ่มการทําร้ายตํารวจ และการชิงตัวผู้ถูกควบคุม มีทั้งประจักษ์พยานและภาพจากกล้องวงจรปิดบริเวณที่เกิดเหตุเป็นหลักฐาน
พยานตอบทนายจำเลยถามค้านต่อมาว่า ช่วงปี 2563 – 2564 มีกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ได้ออกมาชุมนุมเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตําแหน่งนายกรัฐมนตรี และแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งการชุมนุมโดยชอบตามรัฐธรรมนูญ
พยานไม่ทราบว่า กลุ่มวีโว่เป็นกลุ่มเปิดเป็นสาธารณะหรือไม่ แต่ตามภาพถ่ายที่ทนายจำเลยให้ดูเป็นเพจเฟซบุ๊กของกลุ่มวีโว่ ซึ่งตั้งค่าเป็นสาธารณะ มีผู้ติดตาม 1.1 แสนคน และมีการโพสต์เปิดรับสมัครสมาชิก โดยระบุด้วยว่า รับสมัครแพทย์และพยาบาลด้วย
พยานไม่ทราบว่า กลุ่มวีโว่จะมีการช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด หรือไปแจกสิ่งของรวมถึงประสานงานช่วยผู้ป่วยโควิดในช่วงระยะเวลาใกล้กับช่วงเกิดเหตุหรือไม่
เพจเฟซบุ๊กวีโว่เคยโพสต์ข้อความว่า วีโว่ไม่สนับสนุนความรุนแรงทุกรูปแบบ ในวันเกิดเหตุ พยานไม่ทราบว่า ปิยรัฐ จําเลยที่ 1 โพสต์เฟซบุ๊กว่า จะไม่เข้าร่วมกิจกรรมกับกลุ่มรีเดมหรือไม่ และตามใบเสร็จรับเงินในวันเกิดเหตุของบริษัทเมเจอร์โบว์ลกรุ๊ป ซึ่งเป็นร้านอาหารที่อยู่ในห้างเมเจอร์ รัชโยธิน ผู้ที่จ่ายค่าอาหารคือจําเลยที่ 1
วันเกิดเหตุห้างเมเจอร์ รัชโยธิน เปิดให้บริการตามปกติ พยาน ไม่ทราบว่า ก่อนเข้าใช้บริการในห้างดังกล่าวจะต้องตรวจคัดกรองหรือไม่
ก่อนควบคุมจําเลยที่ 1 กับพวกนั้น ได้รับแจ้งว่า จําเลยที่ 1 กับพวกรวม 4 คน อยู่ภายในห้าง ซึ่งตามวีดิโอหลักฐานปรากฏว่า ในการจับกุมจําเลยที่ 1 นั้น ตํารวจไม่มีหมายจับและไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหา และในการตรวจค้นก็ไม่ได้แจ้งว่ามีพฤติการณ์น่าสงสัยอย่างไร และในการควบคุมตัวจำเลยทั้งหมดในวันเกิดเหตุดังกล่าวก็ไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาเช่นเดียวกัน
เวลาประมาณ 21.50 น.ของวันเกิดเหตุ ผู้ที่ถูกควบคุมตัวในรถคันที่ 1 และคันที่ 2 ได้ไปรายงานตัวต่อพนักงานสอบสวนที่ สน.พหลโยธิน
รถที่ควบคุมตัวผู้ถูกจับกุมในวันเกิดเหตุนั้นมีกระจกทึบทั้งสี่ด้าน หากไม่เปิดช่องระบายอากาศหรือเครื่องปรับอากาศ ผู้ที่ถูกควบคุมตัวภายในรถจะหายใจลําบาก
ตามภาพถ่ายประกอบคดีจําเลยที่ 1 สวมกางเกงขาสั้น และไม่ได้สวมปลอกแขนสัญลักษณ์ของกลุ่มวีโว่
สิ่งของที่ตรวจค้นได้ในวันเกิดเหตุ ไม่มีสิ่งของที่เป็นอาวุธโดยสภาพ พยานไม่ทราบว่า ภายหลังมีการส่งสิ่งของที่ตรวจยึดได้คืนให้เจ้าของหรือไม่
พยานไม่เคยสืบสวนกลุ่มวีโว่มาก่อน หลังเกิดเหตุในคดีนี้ก็ยังมีการชุมนุมเรียกร้องทางการเมือง ซึ่งมีกลุ่มการ์ดเข้าร่วมชุมนุมด้วย พยานไม่ทราบว่า นอกจากกลุ่มการ์ดวีโว่แล้วมีการ์ดกลุ่มอื่น ๆ ในการชุมนุมหรือไม่ และกลุ่มการ์ดที่เข้ามาร่วมชุมนุมนั้นทําหน้าที่อะไร
ในการชุมนุมบางครั้งเกิดการกระทบกระทั่งระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ ซึ่งเท่าที่ทราบจากข่าวสารก็มีการบาดเจ็บทั้งสองฝ่าย
หมวกยุทธวิธีที่พยานเบิกความเป็นหมวกกันน็อคที่มีขายตามท้องตลาด บุคคลที่พยานกับพวกควบคุมตัวที่อาคารจอดรถชั้น 5 นั้น มีทั้งใส่เสื้อสีดํา กางเกงยุทธวิธี และแต่งกายแบบอื่นปะปนกัน ส่วนตํารวจ 3 ชุดที่เข้าปฏิบัติการแต่งกายนอกเครื่องแบบ มีเพียงหน่วยอรินทราชที่แต่งกายในเครื่องแบบ
ขณะเกิดเหตุอาคารจอดรถที่เกิดเหตุมีประชาชนทั่วไปมาใช้บริการจอดรถด้วย อาคารดังกล่าวมีทางเดินเข้าห้างได้ พยานจําไม่ได้ว่า ในการแจ้งให้ชุดปฏิบัติการไปที่ชั้น 5 นั้น มีการแจ้งหรือไม่ว่า กลุ่มวีโว่บางส่วนกําลังนั่งรับประทานอาหารกันอยู่ ทั้งนี้ ในวันเกิดเหตุไม่มีผู้ถูกควบคุมตัวคนใดได้รับบาดเจ็บ
เสื้อเกราะที่ตรวจยึดได้ตามบัญชีของกลางนั้นคล้ายกับเสื้อเกราะของตํารวจที่ใช้ปฏิบัติราชการ เหตุที่บันทึกการตรวจยึดระบุว่า เป็นเสื้อคล้ายเกราะ เนื่องจากยังไม่มีการส่งไปตรวจพิสูจน์ว่าเป็นเสื้อเกราะ ซึ่งเป็นยุทธภัณฑ์ตามกฎหมายหรือไม่
วันเกิดเหตุมีประชาชนเข้ามาใช้บริการห้างเมเจอร์ รัชโยธิน ตามปกติ ซึ่งพยาน ไม่ทราบว่าเป็นผู้ที่จะร่วมชุมนุมหรือไม่
ในการสื่อสารของเจ้าพนักงานตํารวจที่ปฏิบัติการในวันเกิดเหตุมีการสื่อสารกันผ่านวิทยุโทรคมนาคมและโทรศัพท์เคลื่อนที่ แต่ไม่ได้เก็บเป็นหลักฐานไว้
ผู้ถูกควบคุมตัวทั้ง 50 คน ส่วนใหญ่ใส่หน้ากากอนามัย แต่เมื่อถูกควบคุมตัวแล้ว ตํารวจได้ให้เอาหน้ากากอนามัยลงไว้ใต้คางเพื่อถ่ายภาพ โดยไม่ได้ให้ผู้ถูกควบคุมตัวเว้นระยะห่างตามมาตรการป้องกันโรค
พยานไม่ทราบว่า สถานที่โล่งแจ้ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก จะเป็นสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อโรคหรือไม่ โดยในวันเกิดเหตุไม่มีการติดต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพื่อสอบถามว่า บริเวณลานจอดรถเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดโรคหรือไม่
รถควบคุมผู้ต้องขังคันที่พยานนั่งมีประตูเข้าออกทางเดียวอยู่ด้านหลัง มีโดยแบ่ง 2 ชั้น ชั้นที่ใช้ควบคุมผู้ต้องหาและชั้นที่เจ้าหน้าที่นั่งควบคุม ระหว่างชั้นมีประตูล็อก พยานนั่งอยู่ด้านหน้า ไม่ทราบว่าผู้ต้องหาที่อยู่ภายในรถออกจากรถอย่างไร
จำเลยที่ 40 ไม่ได้ลงชื่อรับรองว่า กระเป๋าที่มีเงินของกลางบรรจุอยู่นั้น ตรวจยึดได้จากตน และขณะตรวจยึดของกลางในที่เกิดเหตุ ไม่ได้มีการทำหมายเลขหรือระบุชื่อ-สกุล ว่าเป็นของบุคคลใด
.
สันติบาลชี้ วีโว่มีการสั่งการเป็นระบบ ชุมนุมครั้งก่อนหน้ามีการใช้อาวุธกับเจ้าหน้าที่ เผยส่ง 2 สายลับสมัครเป็นสมาชิกตั้งแต่เริ่ม มีข้อมูลการพูดคุยเรื่องการผลิตระเบิด แต่รับไม่เคยเข้าตรวจค้นว่าผลิตจริงหรือไม่
พ.ต.อ.เทอดไทย สุขไทย สันติบาลผู้ควบคุมการสืบสวนหาข่าว เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุเป็นผู้กํากับการ 6 กองบังคับการตํารวจสันติบาล 1 ทําหน้าที่หาข่าวด้านความมั่นคงในเขตกรุงเทพฯ
ก่อนเกิดเหตุพยานได้รับแจ้งจากผู้ใต้บังคับชาว่าจะมีการนัดหมายชุมนุมกันของกลุ่มรีเดม บริเวณหน้าศาลอาญา ในวันที่ 6 มีนาคม 2564 เพื่อกดดันศาลให้ปล่อยตัวผู้ร่วมชุมนุมที่ถูกจับกุม โดยจะมีกลุ่มการ์ดวีโว่ซึ่งมีปิยรัฐหรือโตโต้เป็นแกนนํา มาสนับสนุนการชุมนุม รวมทั้งจะมีอีกหลายกลุ่มเข้าร่วมชุมนุม เท่าที่จําได้มีกลุ่มเยาวชนปลดแอก กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย ที่มีชลธิชาหรือลูกเกดเป็นแกนนํา
จากการตรวจสอบเชิงลึกพบว่า กลุ่มวีโว่จะเป็นผู้ทําหน้าที่เป็นการ์ดของผู้ชุมนุมรวมทั้งร่วมชุมนุมด้วย โดยมีการทำงานลักษณะแบ่งเป็นกองร้อย รายงานตามสายบังคับบัญชา มีปิยรัฐเป็นผู้ควบคุมสั่งการทั้งหมด ในการชุมนุมในวันเกิดเหตุกลุ่มวีโว่จะเตรียมอุปกรณ์ ได้แก่ วิทยุสื่อสารเพื่อใช้ติดต่อระหว่างกัน โล่ที่ทํามาจากถังน้ํามัน ซึ่งมีการตกลงกันว่าหากเดินขบวนมาเจอเจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชนให้กลุ่มที่ถือโล่ใช้โล่ดันเจ้าหน้าที่เพื่อเปิดทางให้กลุ่มผู้ชุมนุมมาถึงหน้าศาลอาญา และมีการวางกําลังไว้ด้านหลังเจ้าหน้าที่ หากมีการใช้ความรุนแรงจะเข้าไปตลบหลัง ซึ่งทุกกระบวนการจะต้องรอการสั่งการจากปิยรัฐ กรณีที่มีเหตุรุนแรงจะมีการอนุมัติให้ใช้อาวุธที่ไม่มีคมต่อสู้กับเจ้าหน้าที่
เมื่อพยานได้รับรายงานและเช็คกับหน่วยข่าวอื่นแล้ว พยานจึงได้รายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ และเรียกประชุมผู้ใต้บังคับบัญชาเพื่อแบ่งกําลังเข้าไปปะปนในการชุมนุมและรายงานสถานการณ์มาที่พยานเพื่อสั่งการต่อ นอกจากนี้ พยานยังติดตามสถานการณ์การชุมนุมจากสื่อต่าง ๆ ที่มีการไลฟ์สด ประมวลผลและรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ
พยานแบ่งกําลังผู้ใต้บังคับบัญชาเป็น 4 ชุด โดยชุดที่ 1 อยู่บริเวณห้าแยกลาดพร้าว ชุดที่ 2 กระจายอยู่ตามเส้นทางที่จะมีการเดินไปยังศาลอาญา ชุดที่ 3 ประจําอยู่จุดแยกรัชโยธิน ชุดที่ 4 อยู่บริเวณหน้าศาลอาญา หลังเกิดเหตุไม่เกิน 1 วัน พยานจัดทํารายงานเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุจากข้อมูลที่ผู้ใต้บังคับบัญชารายงานให้พยานทราบ ปัจจุบันพยานจํารายละเอียดเหตุการณ์ในวันดังกล่าวไม่ได้แล้ว
จากการสังเกตการณ์การร่วมชุมนุมของกลุ่มการ์ดวีโว่นั้น จะมีการสั่งการเป็นระบบ ซึ่งตรงกับคําให้สัมภาษณ์ของปิยรัฐที่ให้สัมภาษณ์กับสํานักข่าวมติชน เมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2564
พยานได้จัดทําโครงสร้างการทํางานของกลุ่มวีโว่รายงานผู้บังคับบัญชา จากการสืบสวนทราบว่า ในช่วงแรกกลุ่มวีโว่มีสมาชิก 20-30 คน เท่านั้น ภายหลังเพิ่มเป็นเกือบ 500 คน
ในการชุมนุมครั้งก่อน ๆ นั้น กลุ่มวีโว่จะเป็นกลุ่มที่มีความก้าวร้าวและใช้อาวุธกับเจ้าหน้าที่ หากเกิดการปะทะกันการ์ดวีโว่จะถ่ายภาพออกสื่อขณะที่ถูกเจ้าหน้าที่เข้าทําร้าย แต่ความจริงเกิดจากการยั่วยุของกลุ่มดังกล่าวก่อน
กลุ่มการ์ดวีโว่จะแต่งกายชุดจรยุทธ์เหมือนเจ้าหน้าที่ โดยมีหมวกและสวมเสื้อกั๊กคล้ายเสื้อเกราะ มีวิทยุสื่อสาร สวมผ้าพันคอสีเหลือง ปลอกแขนสีเขียว มีคําว่า วีโว่
จากนั้นพยานตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ก่อนจัดทํารายงานการสืบสวนในคดีนี้พยานไม่เคยจัดทํารายงานเกี่ยวกับกลุ่มวีโว่มาก่อน และจากการตรวจสอบประวัติบุคคล ไม่ปรากฏว่าจําเลยทั้งหมดในคดีนี้เคยถูกดําเนินคดีเกี่ยวกับความมั่นคงมาก่อน
ก่อนวันเกิดเหตุพยานทราบจากผู้ใต้บังคับบัญชาว่า ปิยรัฐประกาศจะไม่ร่วมชุมนุมในวันเกิดเหตุ ข้อความตามหลักฐานแนบท้ายรายงานการสืบสวนที่อ้างว่าเป็นข้อมูลนัดหมายของกลุ่มวีโว่นั้นก็ไม่ใช่ของปิยรัฐ และไม่สามารถยืนยันได้ว่าข้อความดังกล่าวมาจากบุคคลใด
พยานไม่ทราบชื่อกลุ่มเทเลแกรมของกลุ่มวีโว่และไม่ทราบจํานวนสมาชิกในกลุ่มนั้น รวมทั้งจําไม่ได้ว่า ปิยรัฐใช้ชื่อในเทเลแกรมว่าอย่างไร
นอกจากข้อมูลที่พยานรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบแล้ว พยานไม่ทราบว่าผู้บังคับบัญชาจะนําข้อมูลมาจากแหล่งอื่นอีกหรือไม่
กลุ่มการ์ดในการชุมนุมมีหลายกลุ่ม ที่รายงานว่ายั่วยุเจ้าหน้าที่และนิยมความรุนแรงนั้นเป็นการ์ดของเกือบทุกกลุ่ม
ขณะเกิดเหตุมีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งการชุมนุมไม่ต้องแจ้งล่วงหน้าตาม พ.ร.บ.การชุมนุมฯ
ในช่วงเดือน ธ.ค. 2563 – มี.ค. 2564 มีการชุมนุมกันหลายสิบครั้งในเขตกรุงเทพฯ ซึ่งพบว่า ปิยรัฐและกลุ่มวีโว่เข้าร่วมชุมนุมด้วยหลายครั้ง พยานจําไม่ได้ว่า มีการดําเนินคดีกับกลุ่มวีโว่เกี่ยวกับการก่อความรุนแรงและทําร้ายเจ้าหน้าที่หรือไม่ ที่จําได้คือช่วงเดือน ส.ค. 2564 มีการจับกุมดําเนินคดีสมาชิกกลุ่มวีโว่ข้อหา อั้งยี่และซ่องโจร ส่วนข้อหาอื่นนั้นจําไม่ได้แล้ว
พยานมีฐานข้อมูลสมาชิกกลุ่มวีโว่จากการลงพื้นที่และตรวจสอบบุคคลที่มาร่วมชุมนุม ซึ่งเมื่อเห็นสัญลักษณ์ว่าเป็นสมาชิกกลุ่มวีโว่ พยานกับพวกจะนําไปพิสูจน์ทราบชื่อและนามสกุล ฐานข้อมูลจะระบุชื่อเฉพาะแกนนําและบุคคลที่สามารถพิสูจน์ทราบได้เท่านั้น ซึ่งพยานจําไม่ได้ว่ามีกี่คน และไม่ทราบว่าจําเลยแต่ละคนในคดีนี้อยู่ในฐานข้อมูลดังกล่าวหรือไม่ รายงานการสืบสวนและรายงานเหตุการณ์วันเกิดเหตุก็ไม่ได้แนบฐานข้อมูลดังกล่าว รวมทั้งพยานไม่ได้ให้การกับพนักงานสอบสวนในเรื่องนี้
พ.ต.ต.ขวัญชัย ได้ทำรายงานการสืบสวนรายงานต่อพยานด้วย เมื่อได้รับพยานไม่ได้สั่งการให้พิสูจน์ทราบว่า สมาชิกกลุ่มวีโว่ที่ระบุในรายงานดังกล่าวมีใครบ้าง และไม่ได้สั่งการให้นําไปเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลที่มี
พยานไม่ทราบว่า ตามรายงานเหตุการณ์วันเกิดเหตุ แผ่นที่ 3 และ 4 เป็นการสนทนาของบุคคลใด ส่วนในแผ่นที่ 5 ข้อความที่ว่า กลุ่มการ์ดที่นิยมความรุนแรงนั้นก็ไม่ได้หมายถึงกลุ่มใดโดยเฉพาะ
ปิยรัฐให้สัมภาษณ์ถึงระบบงานว่า เป็นหัวหน้าสายงาน ไม่ได้เป็นระบบกองร้อยและกองพัน แต่ที่พยานระบุว่า มีการแบ่งงานเป็นกองร้อย กองพันนั้น ได้จากการสืบสวน
การชุมนุมเรียกร้องสิทธิสามารถทำได้ตามกรอบของกฎหมาย ในการชุมนุมแต่ละครั้งผู้จัดจะมีวัตถุประสงค์ชัดเจน ผู้ใดก็สามารถเข้าร่วมได้ ส่วนในวันเกิดเหตุมีวัตถุประสงค์ว่าจะนําขยะมาทิ้งที่หน้าศาลอาญา
ก่อนเกิดเหตุพยานทราบว่า กลุ่มวีโว่มีการจัดกิจกรรมขายกุ้งบริเวณหน้าทําเนียบรัฐบาลและสนามหลวง ซึ่งพยานได้ให้ผู้ใต้บังคับบัญชาไปสังเกตการณ์ที่สนามหลวงและรายงานให้พยานทราบด้วย
ระหว่างพยานทํางานที่สันติบาลไม่เคยได้รับคําสั่งจากรัฐบาลให้ติดตามกลุ่มที่ต่อต้านรัฐบาล แต่พยานจะสืบสวนเกี่ยวกับกลุ่มที่เห็นว่าจะมีผลกระทบต่อความมั่นคง
พยานไม่เคยสั่งผู้ใต้บังคับบัญชาให้ไปเช่าคอนโดบริเวณใกล้บ้านของจําเลยที่ 1 เพื่อสืบสวน เป็นเรื่องที่ผู้ใต้บังคับบัญชาหาวิธีการสืบสวนเอง
วันเกิดเหตุพยานได้รับรายงานเหตุการณ์จากผู้ใต้บังคับบัญชาผ่านไลน์กลุ่ม ซึ่งเป็นไลน์เฉพาะหน่วยงานของพยานเท่านั้น ในกลุ่มมีสมาชิกหลายสิบคน พยานจําจํานวนที่แน่นอนไม่ได้ ผู้ใต้บังคับบัญชาของพยานที่แยกไปตาม 4 จุด เข้าประจําจุดประมาณ 15.00 น. ซึ่งผู้ใต้บังคับบัญชาของพยานก็ไม่ได้มีการส่งภาพนิ่งหรือภาพเคลื่อนไหวของบุคคลใดเข้ามาในไลน์กลุ่มก่อนเจ้าหน้าที่เข้าควบคุมตัวจำเลยที่อาคารจอดรถ
การ์ดที่ร่วมชุมนุมจะใช้วอแดงในการสื่อสารกัน ซึ่งพยานกับพวกไม่เคยดักฟัง
ข้อความที่ระบุในรายงานการสืบสวนว่า ก่อนวันเกิดเหตุกลุ่มวีโว่มีการใช้ความรุนแรงและปะทะกับเจ้าหน้าที่นั้น ไม่ได้ระบุถึงรายละเอียดของเหตุการณ์
ด้าน พ.ต.ท.ขวัญชัย วงษ์แหวน สันติบาลผู้สืบสวนรวบรวมข่าวกลุ่มวีโว่ เบิกความว่า พยานมีหน้าที่สืบสวนรวบรวมข่าวสารเกี่ยวกับความมั่นคงและเคลื่อนไหวของกลุ่มมวลชนที่มีการจัดการชุมนุม ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ
ในช่วงเดือน ก.ค. 2563 หลายกลุ่ม เช่น กลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม กลุ่มเยาวชนปลดแอก กลุ่มประชาชนปลดแอก ชุมนุมเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีขณะนั้นลาออก ยุบสภา และปฏิรูปสถาบันฯ มีการชู 3 นิ้ว เป็นสัญลักษณ์ สําหรับกลุ่มวีโว่จะทําหน้าที่เป็นการ์ดในการชุมนุม และจัดชุมนุมเองในหลายครั้งด้วย
พยานติดตามข่าวกลุ่มวีโว่ผ่านสื่อโซเชียลมีเดียของกลุ่มวีโว่ และส่งสายลับ 2 คน แฝงตัวเข้าไปเป็นสมาชิกตั้งแต่เริ่มตั้งกลุ่มวีโวใหม่ ๆ โดยสายลับจะแคปข้อความที่สมาชิกกลุ่มวีโว่ติดต่อกันในกลุ่มเทเลแกรมส่งให้พยานทางกลุ่มไลน์ “เด็กติดเกาะ” ซึ่งมีสมาชิกเป็นตํารวจในกลุ่มพยาน รวม 5 คน หลังจากได้ข้อมูลพยานจัดทําเป็นรายงานการสืบสวน
ในการรับสมาชิกของกลุ่มวีโว่นั้น จะมีการประกาศรับสมัครทางเพจของกลุ่ม ผู้สมัครจะผ่านการตรวจสอบและคัดเลือก เมื่อเข้าไปเป็นสมาชิกแล้วจะต้องเข้าอบรมเพื่อปฏิบัติหน้าที่ จนถึงวันเกิดเหตุกลุ่มวีโว่เปิดรับสมาชิกทั้งหมด 11 รุ่น มีการอบรมรวม 11 ครั้ง เนื้อหาในอบรมเกี่ยวกับการสังเกตเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ การควบคุมฝูงชน การต่อสู้ และการใช้อุปกรณ์ในการชุมนุม เช่น แก๊สน้ําตา และการปฐมพยาบาลผู้ได้รับบาดเจ็บ
สมาชิกกลุ่มวีโว่มีประมาณ 600 คน มีการแบ่งสายบังคับบัญชาเช่นเดียวกับทหาร แยกเป็นกองพัน กองร้อย และชุดปฏิบัติการ ซึ่งเมื่อมีภารกิจจะมีการสั่งการผ่าน ผบ.ร้อย ข้อมูลดังกล่าวที่พยานสืบสวนมาตรงกับที่ปิยรัฐให้สัมภาษณ์มติชนออนไลน์เมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2564
จากการสืบสวนทราบว่า ปิยรัฐเป็นผู้สั่งการสูงสุด ซึ่งการพูดคุยในกลุ่มเทเลแกรมชื่อ ก็มาติละ ปิยรัฐก็แสดงออกว่าเป็นผู้สั่งการกลุ่ม มีชื่อเรียกขานว่า กัปตัน 11 โดยคําว่า กัปตัน ในทางทหารแปลว่า ผู้กอง
สมาชิกของกลุ่มวีโว่แบ่งเป็น 5 กองร้อย แต่ละกองร้อยมี ผบ.ร้อย โดยใช้ชื่อในเทเลแกรมว่า เซ็นเตอร์ ตามด้วยเลขกองร้อย ภายในกองร้อยจะแบ่งเป็นกลุ่ม แต่ละกลุ่มมีชื่อเรียกเป็นการเฉพาะ
การที่สมาชิกกลุ่มวีโว่มีการตั้งชื่อในกลุ่มเทเลแกรมดังกล่าวนั้นเป็นการปกปิดตนเอง ยากต่อการตรวจสอบ ทำให้พยานไม่สามารถพิสูจน์บุคคลได้ แต่สามารถพิสูจน์ทราบและยืนยัน ผบ.ร้อย ได้เป็นบางคน
ในการปฏิบัติการกลุ่มวีโว่จะแจ้งสถานการณ์ให้สมาชิกทราบ โดยใช้คําว่าสภาพอากาศ ระดับ 1 หมายถึง ปกติ, ระดับ 2 มีเหตุการณ์รุนแรง, ระดับ 3 มีการปะทะ, ระดับ 4 มีผู้บาดเจ็บ และระดับ 5 มีผู้เสียชีวิต
กลุ่มวีโว่มีการเคลื่อนไหวครั้งแรกในวันที่ 18 ก.ค. 2563 ถึงวันเกิดเหตุมีการเคลื่อนไหวประมาณ 50 ครั้ง ช่วงแรกใช้ชื่อว่า มวลชนอาสา เปลี่ยนมาใช้ชื่อ วีโว่ เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2563
ในการชุมนุมของกลุ่มราษฎรวันที่ 25 พ.ย. 2563 หน้าธนาคารไทยพาณิชย์ สํานักงานใหญ่ กลุ่มวีโว่ก็ได้เข้าร่วมชุมนุม ก่อนวันชุมนุมได้มีการประชุมแจ้งให้สมาชิกจัดเตรียมอุปกรณ์ เช่น หัวน็อต หนังสติ๊ก น้ํามันจารบี เพื่อนํามาใช้กรณีที่มีการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตํารวจหรือมีการก่อเหตุจากผู้ไม่หวังดี และมีการพูดคุยในกลุ่มย่อยเกี่ยวกับการทดลองผลิตวัตถุระเบิด, เสื้อเกราะ รวมถึงปืนฉีดน้ําแรงดันสูงเพื่อจะใช้ในการชุมนุมดังกล่าวด้วย ในวันชุมนุมเกิดเหตุปะทะกันระหว่างกลุ่มการ์ดวีโว่กับ คฝ. และมีเสียงอาวุธปืนและเสียงคล้ายประทัดยักษ์หรือวัตถุระเบิดดังขึ้น
เดือน ธ.ค. 2563 ปิยรัฐประกาศว่า จะถอนตัวจากการเป็นผู้นําของกลุ่มวีโว่ แต่หลังจากนั้นกลุ่มวีโว่ก็ยังมีการเคลื่อนไหวโดยมีปิยรัฐเป็นแกนนําอยู่ ทั้งกิจกรรมรื้อลวดหนามบริเวณแยกอุรุพงษ์, ขายกุ้งหน้าทำเนียบรัฐบาลและสนามหลวง และการชุมนุมของกลุ่มรีเดมหน้าบ้านพัก พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งสายลับแจ้งว่า กลุ่มวีโว่ไม่มีการนัดหมายเข้าร่วมชุมนุม แต่ปรากฏภาพข่าวว่า ปิยรัฐเข้าร่วมชุมนุมด้วย โดยในการชุมนุมดังกล่าวเกิดเหตุปะทะระหว่างกลุ่มการ์ดกับเจ้าหน้าที่ และมีการเผารถยนต์ของราชการด้วย
วันที่ 6 มี.ค. 2564 กลุ่มรีเดมนัดหมายชุมนุมเพื่อนําขยะมาทิ้งบริเวณหน้าศาลอาญา ก่อนวันเกิดเหตุ สายลับแจ้งว่ากลุ่มวีโว่จะเข้าร่วมชุมนุมในวันเกิดเหตุด้วย โดยมีการตระเตรียมอุปกรณ์ เช่น โล่ป้องกันทําจากถังน้ํามัน เสื้อเกราะ สิ่งที่จะใช้เป็นอาวุธได้ เช่น ลูกเหล็ก หนังสติ๊ก พลุ ประทัดยักษ์ และหน้ากากกันแก๊ส มีการตระเตรียมกำลังเข้าชุมนุม 5 กองร้อย แบ่งหน้าที่กันทำ ได้แก่ เข้าและหลอกล่อเจ้าหน้าที่, เป็นแนวกั้นระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ชุมนุม, ปฐมพยาบาล และหน่วยจรยุทธ
ในวันเกิดเหตุพยานอยู่กับผู้บังคับบัญชาเพื่อรับรายงานจากเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติและสายลับที่รายงานเหตุการณ์ผ่านกลุ่มไลน์เด็กติดเกาะ สายลับแจ้งว่า กองร้อยที่ 3 นัดหมายกันที่ชั้น 5 อาคารจอดรถของห้างเมเจอร์ รัชโยธิน เวลา 17.00 น. โดยกําชับให้สมาชิกแต่งกายปะปนกับบุคคลทั่วไป ไม่ให้แสดงสัญลักษณ์ของกลุ่ม ส่วนอุปกรณ์และชุดแต่งกายให้ใส่เป้สะพายไป และกองร้อยที่ 4 นัดหมายรวมกันที่บริเวณใต้สถานีรถไฟฟ้า หน้าห้างเมเจอร์ รัชโยธิน
พยานแจ้งข้อมูลจากสายลับให้ผู้บังคับบัญชาทราบ ต่อมา ทราบว่าได้มีการจับกุมปิยรัฐและสมาชิกกองร้อยที่ 3 บริเวณลานจอดรถห้างเมเจอร์ฯ นำตัวไปที่ บก.ตชด.ภาค 1 พยานจึงเดินทางตามไปเพื่อตรวจสอบรายชื่อผู้ถูกจับกุมทั้งหมด ซึ่งพบว่ายังมีสมาชิกกลุ่มวีโว่ไปในที่เกิดเหตุด้วยแต่ไม่ถูกจับกุมตัว
ในการตอบทนายจำเลยถามค้าน พยานเบิกความว่า วันที่ 24 พ.ย. 2563 ปิยรัฐ จําเลยที่ 1 ถูกจับกุมไปดําเนินคดีที่ศาลจังหวัดอุบลฯ ดังนั้น วันที่ 25 พ.ย. 2563 ที่มีการชุมนุมกันที่ธนาคารไทยพาณิชย์ สํานักงานใหญ่นั้น ปิยรัฐจึงไม่ได้เข้าร่วม และในการชุมนุมดังกล่าว ไม่มีการจับกุมและดําเนินคดีกลุ่มการ์ดวีโว่ พยานทราบจากข่าวภายหลังว่า เหตุปะทะกันในการชุมนุมดังกล่าวนั้น เกิดจากการ์ดกลุ่มอื่นทะเลาะกัน
พยานไม่สามารถบอกได้ว่า สายลับ 2 คน ที่ส่งไปเป็นสมาชิกกลุ่มวีโว่นั้น เป็นหญิงหรือชาย เข้าอบรมสมาชิกรุ่นใด ใช้นามแฝงว่าอะไรในกลุ่มเทเลแกรม เนื่องจากหากบอกไปจะสามารถทราบตัวได้
พยานทราบว่ามีการอบรมสมาชิกทั้งหมด 11 ครั้ง เนื่องจากมีการโพสต์ในเพจวีโว่ ซึ่งการจัดอบรมแต่ละครั้งก็จัดที่โรงแรม มีการเชิญวิทยากรซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไปบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับการชุมนุม
ภาพแคปหน้าจอการพูดคุยในกลุ่มเทเลแกรมชื่อ แลปวิจัยของเล่นและแผนการรบ มีร่องรอยการลบข้อความด้วยสีขาวทุกภาพ
ภาพถ่ายจากโทรศัพท์ของสายลับที่พยานส่งให้ ปอท. ตรวจสอบตามรายงานการตรวจสอบข้อมูล กับภาพถ่ายจากโทรศัพท์ของจําเลยที่ 30 ซึ่งตํารวจนครบาลส่งให้ตรวจ ปอท.ตรวจสอบและนํามาให้พยาน ตรวจดู ตรงกันเกือบทุกภาพ ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวมีการตั้งคณะกรรมการรวบรวมพยานหลักฐาน โดยสันติบาลและนครบาลอยู่ด้วย โดยมีการประชุมเพื่อนําหลักฐานที่พบมาสรุปข้อมูลร่วมกัน
พยานไม่ได้ตรวจสอบว่า กลุ่มเทเลแกรม ก็มาติละ นั้น ผู้ใดเป็นผู้เปิดใช้บริการ แต่เมื่อนําหมายเลขโทรศัพท์ไปตรวจสอบกับแอปพลิเคชันไลน์แล้วปรากฏว่า เป็นเครื่องหมายเขียนว่า WE VOLUNTEER ซึ่งไม่มีชื่อและใบหน้าของปิยรัฐ
กลุ่มการ์ดวีโว่ ไม่เคยถูกดําเนินคดีข้อหาเกี่ยวกับความมั่นคง และไม่เคยถูกดําเนินคดีข้อหาทําร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่
ข้อความพูดคุยเกี่ยวกับการผลิตวัตถุระเบิดนั้นเป็นห้วงเวลาก่อนการชุมนุมที่บริเวณหน้าธนาคารไทยพาณิชย์สํานักงานใหญ่ ซึ่งจนถึงปัจจุบันก็ไม่มีการขอหมายค้นไปตรวจค้นสถานที่ที่มีการพูดถึง และหลังจากการพูดคุยดังกล่าวจนถึงวันเกิดเหตุในคดีนี้ พยานไม่เคยได้รับแจ้งจากสายลับว่าสมาชิกกลุ่มวีโว่ได้ใช้วัตถุระเบิดในการชุมนุม รวมถึงของกลางที่ตรวจยึดได้ในวันเกิดเหตุไม่ปรากฏว่ามีวัตถุระเบิด
ตามภาพถ่ายที่พยานเขียนข้อความว่า เป็นสารประกอบวัตถุระเบิดนั้น สายลับไม่ได้แจ้งว่าแต่ละภาพเป็นวัตถุใด ซึ่งพยานและสายลับไม่มีความรู้เกี่ยวกับการผลิตวัตถุระเบิด และพยานไม่ได้ให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบว่าเป็นสารประกอบวัตถุระเบิดจริงหรือไม่ อีกทั้งภาพที่ลงในกลุ่มเป็นรูปภาพที่คนในกลุ่มไปเสาะหามาจากอินเตอร์เน็ต แต่จะมีการซื้อหาวัสดุดังกล่าวจริงหรือไม่ สายลับไม่ได้แจ้งให้พยานทราบ
รายงานที่พยานจัดทํานั้น เป็นการรายงานเกี่ยวกับกลุ่มการ์ดวีโว่ทั้งหมด ซึ่งในบางฉบับก็มีพูดถึงกลุ่มการ์ดกลุ่มอื่นด้วย ซึ่งจากการติดตามกลุ่มวีโว่พยานทราบว่า สมาชิกกลุ่มบางคนก็ไปทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์ด้วย
พยานทราบว่า สมาคมป่อเต็กตึ๊งก็มีรหัสในการสื่อสาร และมีชั้นความลับระหว่างสมาชิกด้วย
พยานทราบว่า ในการเข้าใช้เทเลแกรมครั้งแรกจะต้องยืนยันตัวตน จากนั้นสามารถเปลี่ยนชื่อ รูป และข้อมูลต่าง ๆ ได้ ข้อความในกลุ่มเทเลแกรมที่เป็นการสนทนาเกี่ยวกับวัตถุระเบิด ซึ่งอ้างว่าจําเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งการ แต่ไม่มีข้อความตอบของจําเลยที่ 1
รายงานการสืบสวนเกี่ยวกับกลุ่มวีโว่นั้นพยานเคยใช้เป็นหลักฐานเบิกความในคดีที่กลุ่มวีโว่ 8 ราย ถูกกล่าวหาว่าเป็นอั้งยี่ ซึ่งศาลมีคําพิพากษายกฟ้อง
สายลับไม่ได้รายงานว่า ในวันเกิดเหตุปิยรัฐจะเข้าร่วมชุมนุมหรือทําหน้าที่การ์ดด้วย
สายลับทั้งสองคนไม่เคยแจ้งพยานว่า ในการชุมนุมแต่ละครั้งมีการประชุมวางแผนไปทําร้ายเจ้าหน้าที่ รวมทั้งไม่เคยส่งหลักฐานการประชุมในเรื่องดังกล่าวมาให้พยานด้วย
การชุมนุมเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยตั้งแต่ปี 2562 จนถึงวันเกิดเหตุ ในบางครั้งก็มีกลุ่มที่เห็นต่างออกมาคัดค้านและเกิดเหตุปะทะกัน
ในการทําหน้าที่ของการ์ดกลุ่มวีโว่นั้น จะเป็นการอํานวยความสะดวกด้านการจารจร, ดูแลความปลอดภัยให้กับผู้ชุมนุม, ปฐมพยาบาลผู้ได้รับบาดเจ็บ และประสานงานกับเจ้าหน้าที่ ซึ่งสัญลักษณ์ปลอกแขนของกลุ่มวีโว่นั้นสามารถรับรู้ได้ทั่วไป
ในรายงานการสืบสวนที่พยานจัดทำนั้นไม่ได้ระบุว่า บุคคลใดเป็นสมาชิกกลุ่มวีโว่บ้าง และไม่มีภาพถ่ายการฝึกกองกําลัง
ภาพถ่ายและข้อความที่สายลับส่งมาให้พยานนั้น พยาน ไม่ได้ตรวจสอบว่ามีการตัดต่อมาก่อนหรือไม่
.
สืบนครบาลเผย ซุ่มดูบริเวณบ้านโตโต้ตลอดเวลา – แฝงตัวในที่ชุมนุม เห็นการรวมพลก่อนการชุมนุม -ชี้การชุมนุมที่วีโว่เป็นการ์ดมีการปะทะกับเจ้าหน้าที่ แต่ไม่มีการพิสูจน์ทราบว่าเป็นกลุ่มวีโว่จริงหรือไม่
ตำรวจชุดสืบจากกองบังคับการสืบสวนสอบสวน, กองบังคับการตํารวจนครบาล 1 และกองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ (191) กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ซึ่งทำหน้าที่สืบสวนหาข่าวเกี่ยวกับกลุ่มวีโว่ เข้าเบิกความรวม 6 นาย
ร.ต.ท.อัศวิน มะลัยสิทธิ์ เบิกความว่า ในช่วงเดือน มิ.ย. 2563 ผู้บังคับบัญชาให้พยานสืบสวนหาข่าวเกี่ยวกับกลุ่มผู้ชุมนุมหลายกลุ่ม ทั้งกลุ่มวีโว่ ทะลุแก๊ส รีเดม กลุ่มปลดแอก พยานจึงไปติดตามหาข่าวโตโต้หรือปิยรัฐ หัวหน้ากลุ่มวีโว่ โดยไปเช่าคอนโดอยู่ใกล้ ๆ บ้านพักของโตโต้ ห่างกันไม่เกิน 100 เมตร ห้องที่เช่าอยู่ชั้นสูง สามารถมองเห็นหน้าบ้านโตโต้ซึ่งเป็นลานจอดรถได้
พยานสังเกตดูเหตุการณ์บริเวณหน้าบ้านโตโต้ตลอดเวลาโดยใช้ตาเปล่าร่วมกับใช้กล้องส่องทางไกล พบว่าในช่วง 08.00 – 10.00 น. จะมีคนทยอยกันมา มีจำนวนประมาณ 10-30 คน มีการจัดเตรียมอุปกรณ์ เช่น โล่ ไม้ น้ําดื่ม พร้อมทั้งเครื่องเสียงขึ้นรถกระบะสีแดงเพื่อนําไปที่ชุมนุม และในช่วงบ่ายกลุ่มคนดังกล่าวจะเริ่มทยอยกันไปบริเวณที่มีการชุมนุมตามที่ได้มีการแจ้งผ่านสื่อต่าง ๆ โดยโตโต้จะใช้รถตู้ยี่ห้อโฟล์คสวาเกน สีออกน้ําเงิน
เมื่อกลุ่มโตโต้ออกจากบ้านก็จะมีสืบนครบาลอีกชุดขับรถติดตาม เมื่อทราบว่าโตโต้กับพวกไปชุมนุมที่ใด พยานก็จะตามไปเพื่อแฝงตัวหาข่าว เช่น การชุมนุมที่แยกปทุมวัน
สมาชิกกลุ่มวีโว่มีสัญลักษณ์เป็นผ้าพันคอลูกเสือสีเหลือง มีสัญลักษณ์ชูสามนิ้วติดบริเวณหน้าอกหรือแขนเสื้อ ใส่หมวกสนาม มีเสื้อเกราะอ่อน และมีวิทยุสื่อสาร ส่วนบุคคลที่เป็นการ์ดอยู่ใกล้ชิดกับโตโต้ซึ่งจะมาที่บ้านโตโต้ก่อนไปชุมนุมจะมีกระเป๋าคาดเอวไว้ใส่สิ่งของด้วย
ต่อมา พยานได้รับคําสั่งให้ไปติดตามรุ้ง (ปนัสยา) และมีชุดสืบคนอื่นมาติดตามโตโต้แทน ซึ่งพยานไม่ทราบว่าเป็นตํารวจคนใด
วันเกิดเหตุพยานได้รับคําสั่งจาก พ.ต.อ.เผด็จ งามละม่อม ผู้บังคับบัญชา ให้มาสนับสนุนชุดสืบสวนหาข่าวที่อาคาร 2 ลานจอดรถห้างเมเจอร์ รัชโยธิน โดยพยานทำหน้าที่สังเกตการณ์บริเวณชั้น 2 ถึงชั้น 5 เวลา 14.00 น.เศษ พยานเห็นโตโต้กับพวกรวมประมาณ 10 คน แต่งกายลักษณะเดียวกับเวลาไปชุมนุม เดินออกจากห้างมาที่ลานจอดรถ จําชั้นไม่ได้ พยานจึงรายงานให้กับผู้บังคับบัญชาทราบ
จากนั้นมีตํารวจชุดอื่นเข้าควบคุมตัวโตโต้กับพวกและตรวจค้นพบระเบิดเสียง ถุงน้ําปลาร้า วิทยุสื่อสาร หนังสติ๊ก ลูกแก้ว พยานยืนดูอยู่ห่าง ๆ โดยไม่ได้แสดงตัวว่าเป็นตํารวจ แล้วจึงเดินลงมาที่ชั้นล่าง พบว่ามีการควบคุมตัวผู้ต้องหาขึ้นรถควบคุมผู้ต้องหาแล้วหลายคัน พยานจึงขึ้นไปกับรถคันหนึ่งโดยอาสาพาไป ตชด. ภาค 1 เนื่องจากคนขับแจ้งว่าไปไม่ถูก พยานนั่งด้านหน้าติดกับประตูข้างซ้าย มี ร.ต.อ.กฤตวัฒน์ นั่งระหว่างคนขับกับพยาน
เมื่อรถจะออกจากห้างกลุ่มวีโว่ มีสัญลักษณ์กลุ่มที่ปลอกแขน ได้นําแผงเหล็กและกระถางต้นไม้มาขวางไม่ให้รถออก แต่รถคันที่พยานนั่งขับฝ่าออกไปได้และเลี้ยวซ้ายเข้าถนนรัชดาเพื่อกลับรถ แต่ไม่สามารถกลับรถได้ เนื่องจากกลุ่มผู้ชุมนุมขับรถจักรยานยนต์มาขวางหน้าไว้ คนขับรถจึงขับตรงมาจนถึงทางเข้ามหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม กลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งชุมนุมอยู่บริเวณดังกล่าวได้โดยปิดถนน สาดน้ํามันเครื่องสีดํา ขว้างตัวหนอน นําสีสเปรย์มาพ่น ทําให้รถไปต่อไม่ได้ คนขับรถวิ่งลงจากรถหลบหนีไป พยานจึงวิ่งหลบหนีเข้าไปในมหาวิทยาลัย ระหว่างวิ่งฝ่ากลุ่มผู้ชุมนุมไปนั้นไม่ทราบว่าถูกใครทําร้าย แต่พยานได้รับบาดเจ็บ ศีรษะด้านหลังขวาแตก ส่วน ร.ต.อ.กฤตวัฒน์ ถูกกลุ่มผู้ชุมนุมรุมทําร้ายบริเวณกําแพงมหาวิทยาลัย
จากนั้นมีตํารวจมารับพยานพาไปส่งโรงพยาบาล รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลประมาณ 4 วัน ก่อนไปพบพนักงานสอบสวนและแจ้งความดําเนินคดีกับผู้ที่ทําร้ายร่างกาย
ต่อมา พยานตอบทนายจำเลยถามค้านว่า พยานจําชื่อคอนโดที่ไปเช่าเพื่อสังเกตการณ์โตโต้ ไม่ได้ จําได้ว่าอยู่ชั้น 3 หรือ 4 อยู่ใกล้กับโรงเจ หน้าโรงเจมีถนนออกได้อีกซอยหนึ่ง โดยเช่าอยู่ประมาณเดือนเศษ พ.ต.อ.เผด็จ เป็นผู้จ่ายค่าเช่า แต่พยานไม่เคยให้การกับพนักงานสอบสวนเกี่ยวกับกรณีนี้ พยานสังเกตการณ์อยู่ที่ห้องพักดังกล่าวประมาณ 10 วัน จากนั้นมีเจ้าหน้าที่คนอื่นผลัดเปลี่ยนกันเข้าสังเกตการณ์ เท่าที่จําได้มี พ.ต.ต.กฤตวัฒน์
บ้านโตโต้เป็นอาคารพาณิชย์ หน้าบ้านเป็นถนน 2 ช่องทาง รถสามารถวิ่งสวนกันได้ ถัดจากถนนเป็นที่จอดรถ ไม่ทราบว่าเป็นของผู้ใด ตามภาพถ่ายที่ทนายจําเลยให้ดู พยานจําไม่ได้ว่าบ้านโตโต้คืออาคารพาณิชย์ห้องใด พยานไม่ได้ถ่ายภาพขณะที่มีการรวมพลกันบริเวณหน้าบ้านโตโต้ และไม่เคยตรวจสอบว่า กลุ่มคนดังกล่าวเป็นสมาชิกของกลุ่มวีโว่จริงหรือไม่ ทั้งไม่สามารถยืนยันได้ว่า คนกลุ่มนั้นได้ไปเข้าร่วมชุมนุม รวมถึงไม่ทราบว่า เจ้าหน้าที่ได้ไปขอศาลออกหมายค้นบ้านดังกล่าวหรือไม่
พยานไม่เห็นโตโต้ในการชุมนุมสี่แยกปทุมวัน แต่เห็นสมาชิกกลุ่มวีโว่ และที่พยานเบิกความว่าเป็นสมาชิกกลุ่มวีโว่นั้น พยานดูจากสัญลักษณ์ แต่ไม่ได้ตรวจสอบกับฐานข้อมูลที่หน่วยงานทําไว้
วันที่ 24 พ.ย. 2563 ซึ่งพยานไปจับกุมโตโต้ตามหมายจับของศาลจังหวัดอุบลฯ ได้มีการตรวจค้นรถตู้ของโตโต้ แต่ไม่พบสิ่งผิดกฎหมาย
วันเกิดเหตุ พยานเห็นโตโต้ใส่ชุดยุทธวิธีสีดำ พวกที่เดินมาด้วยก็ใส่ชุดยุทธวิธี มีปลอกแขนสัญลักษณ์ แต่เมื่อทนายจําเลยให้พยานดูวีดิโอหลักฐานของโจทก์ พยานรับว่า ไม่ปรากฏภาพว่า โตโต้สวมชุดยุทธวิธี และพวกที่มาด้วยสวมปลอกแขนสัญลักษณ์
กลุ่มที่มาทุบรถควบคุมผู้ต้องหานั้นเป็นกลุ่มวีโว่ ซึ่งสวมปลอกแขนสัญลักษณ์ด้วย แต่ตามวีดิโอหลักฐานกลุ่มที่มาล้อมรถควบคุมตัวผู้ต้องหาและขว้างปาสิ่งของนั้น ไม่ปรากฏว่าสวมปลอกแขนหรือสัญลักษณ์กลุ่มวีโว่ และพยานก็ไม่ได้ไปตรวจสอบว่า กลุ่มบุคคลดังกล่าวเป็นสมาชิกกลุ่มวีโว่หรือไม่
กลุ่มที่มาชุมนุมในช่วงก่อนเกิดเหตุมีหลายกลุ่ม การ์ดในการชุมนุมก็มีหลายกลุ่ม แต่โดยทั่วไปจะแต่งกายด้วยชุดโทนสีดํา ส่วนโล่ปกติจะใช้กรณีที่มีการยิงกระสุนยางหรือฉีดน้ําใส่ผู้ชุมนุม
พยานเข้าไปติดตามการชุมนุมหลายครั้ง ซึ่งบางครั้งก็มีกลุ่มผู้ชุมนุมกระทบกระทั่งกับเจ้าหน้าที่ หรือกระทบกระทั่งกับผู้ที่เห็นต่าง ผู้ชุมนุมจึงอาจจะเตรียมอุปกรณ์ไปเพื่อใช้ป้องกันตัว
การชุมนุมในช่วงก่อนเกิดเหตุมีข้อเรียกร้องต่อ พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี เป็นหลัก ซึ่งโดยปกติแล้วเมื่อยุติการชุมนุมก็จะแยกย้ายกันโดยสงบ
ชุดของพยานกับพวกที่ไปติดตามดูบ้านพักของโตโต้ หากพบการกระทําความผิดต้องถ่ายภาพรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ ทั้งนี้ บริเวณลานจอดรถและหน้าบ้านโตโต้เป็นที่โล่ง คนทั่วไปสามารถเข้าออกได้
ขณะที่พยานเฝ้าสังเกตการณ์ 10 วันนั้น พ.ต.อ.เผด็จ ไม่ได้มาที่คอนโด พยานจะส่งภาพและรายงานสถานการณ์ให้ พ.ต.อ.เผด็จ ทราบทางไลน์กลุ่ม ซึ่งกล้องที่ใช้ส่องดูเหตุการณ์สามารถบันทึกภาพได้ด้วย แต่เหตุที่ไม่มีการนําภาพถ่ายบริเวณหน้าบ้านโตโต้ส่งมอบให้พนักงานสอบสวน เนื่องจากพนักงานสอบสวนไม่ได้ร้องขอ
พ.ต.ต.กฤตวัฒน์ ขุนอินทร์ ชุดสืบอีกรายเบิกความว่า ประมาณ พ.ย. 2563 พยานได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้ทําการสืบสวนเกี่ยวกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่ชุมนุมบริเวณอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ซึ่งใช้รถสามล้อแดงติดเครื่องเสียง และรถตู้สีแดงติดสติ๊กเกอร์สีเขียว มีคําว่า We Volunteer โดยให้ติดตามรถดังกล่าวว่าไปที่ใดบ้าง และให้ติดตามปิยรัฐหรือโตโต้ หัวหน้ากลุ่มวีโว่ เนื่องจากฝ่ายความมั่นคงแจ้งว่า กลุ่มของปิยรัฐจะเป็นผู้ก่อความรุนแรง
ในวันดังกล่าวหลังจากเลิกการชุมนุมแล้วพยานจึงติดตามไป พบว่ารถทั้งสองคันไปจอดอยู่ที่ตึกแถวแห่งหนึ่ง มีประมาณ 10 คูหา และ พยานกับพวกรวม 10 คน จึงไปเช่าคอนโดใกล้ ๆ ตึกแถวดังกล่าวเพื่อสังเกตการณ์ โดยตาเปล่า กล้องส่องทางไกล และกล้องถ่ายภาพ
จากการสังเกตการณ์เห็นปิยรัฐอยู่ที่ตึกแถวดังกล่าวและจะมีกลุ่มคนมาหาปิยรัฐก่อนที่จะออกไปร่วมชุมนุม โดยแต่งกายด้วยชุดดํา สวมแมสก์ปิดบังใบหน้า และสวมสนับแข้งสนับเข่า
ในการชุมนุมที่บริเวณหน้าสถานทูตพม่า ซึ่งมีเหตุปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ชุมนุม พยานทราบจากรายงานข่าวของเจ้าหน้าที่ว่า พบปิยรัฐกับพวกอยู่ในที่ชุมนุมด้วย นอกจากนี้ ในวันใดจําไม่ได้ปิยรัฐกับพวกได้ไปตัดลวดหนามที่เจ้าหน้าที่วางกั้นไว้บริเวณริมคลองตลาดเทเวศร์ จึงเกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่ พยานเห็นเหตุการณ์โดยตลอดและเห็นปิยรัฐกับพวกวิ่งหลบหนีไปในซอยวัดอินทร์
โตโต้กับพวกยังได้เข้าร่วมชุมนุมบริเวณสามเหลี่ยมดินแดงและมีเหตุปะทะกับเจ้าหน้าที่ ซึ่งนอกจากกลุ่มวีโว่แล้วมีกลุ่มอื่นอีก เช่น กลุ่มราษฎร กลุ่มรีเดม แต่ละกลุ่มจะรวมกันอยู่เฉพาะกลุ่มของตน ทำให้พยานแยกออกได้ ในการติดตามปิยรัฐกับพวก พยานกับพวกได้ถ่ายภาพไว้และส่งเข้ากลุ่มไลน์ของงานสืบสวนนครบาล
วันเกิดเหตุคดีนี้ พยานได้รับคําสั่งจาก พ.ต.อ.เผด็จ ผู้บังคับบัญชา ให้ทําหน้าที่สืบสวนหาข่าวกลุ่มวีโว่ พยานจึงเดินทางไปที่ห้างเมเจอร์ รัชโยธิน และไปสังเกตการณ์ที่อาคารจอดรถ 2 ชั้น 3 บริเวณทางเชื่อมเข้าห้าง เวลาต่อมาพยานเห็นปิยรัฐกับพวกรวม 5-6 คน เดินมาที่รถโฟล์คสีเทาเข้ม พ.ต.อ.เผด็จ กับพวกจึงเข้าขอตรวจค้น แต่ไม่พบอะไร ซึ่งพยานได้ถ่ายวีดีโอไว้ และกลุ่มของปิยรัฐก็มีการไลฟ์สดด้วย จากนั้น พ.ต.อ.เผด็จ กับพวกได้ควบคุมตัวปิยรัฐกับพวกขึ้นไปชั้นบน ส่วนพยานยังเฝ้าดูเหตุการณ์อยู่ที่เดิม
ต่อมา พยานได้รับแจ้งให้ลงไปช่วยบริเวณชั้นล่าง พยานกับ ร.ต.ท.อัศวิน จึงลงไปชั้นล่าง พบว่า ผู้ต้องหาถูกลําเลียงขึ้นรถควบคุมผู้ต้องหาจํานวน 3 คัน เจ้าหน้าที่ที่ขับรถคันแรกมาสอบถามพยานกับ ร.ต.ท.อัศวิน เนื่องจากไป ตชด.ภาค 1 ไม่ถูก พยานกับ ร.ต.ท.อัศวิน จึงอาสาพาไป โดยขึ้นไปนั่งข้างคนขับ พยานนั่งกลาง
ระหว่างรถควบคุมผู้ต้องหากําลังจะเคลื่อนออกจากห้าง กลุ่มผู้ชุมนุมหลายกลุ่ม ส่วนใหญ่ปิดบังใบหน้า ได้นําแผงเหล็กมากั้นไม่ให้รถออกไป มีการขว้างปาสิ่งของและหมึกสีดํา ยิงหนังสติ๊กที่เป็นลูกเหล็ก รถคันที่พยานนั่งออกมาถูกชายชุดดํา ซึ่งพยานเคยเห็นที่ตึกแถวและเห็นอยู่กับปิยรัฐในที่ชุมนุมบริเวณแยกเทเวศร์ ขับรถจักรยานยนต์มาจอดขวางหน้ารถแท็กซี่ซึ่งจอดอยู่หน้ารถผู้ควบคุมผู้ต้องหา คนขับรถจึงขับตรงขึ้นมาจนถึงก่อนประตูทางเข้ามหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษมและไม่สามารถเคลื่อนต่อไปได้ เนื่องจากมีกลุ่มผู้ชุมนุมบริเวณหน้าศาลอาญาขวางไว้
จากนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมได้ขว้างปาสิ่งของและยิงหนังสติ๊กใส่รถ จนกระจกรถแตก และมีคนล้วงมือเข้ามาเพื่อปลดล็อกห้องควบคุมผู้ต้องหา พยานและ ร.ต.ท.อัศวิน จึงตัดสินใจเปิดประตูออกจากรถและวิ่งหนี แต่พยานถูกผู้ชุมนุมดึงคอเสื้อรั้งไว้และรุมทําร้าย แต่ผู้ชุมนุมบางคนได้มาช่วยกันไว้ หน่วยพยาบาลก็พาพยานไปปฐมพยาบาลก่อนพาไปส่งบริเวณใกล้ ๆ สน. สุทธิสาร หลังจากนั้นพยานจึงไปที่โรงพยาบาลตํารวจ พบว่ามีรอยฟกช้ําบริเวณศีษระและฟันกรามด้านในบิ่น พยานรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล 2 วัน
ในระหว่างที่พยานได้รับการปฐมพยาบาลบริเวณข้างรถนั้น พยานไม่ได้สังเกตว่าผู้ถูกควบคุมตัวในรถเป็นอย่างไร
ในการตอบทนายจำเลยถามค้าน พยานเบิกความว่า ซอยบ้านปิยรัฐเป็นซอยสั้น ๆ ทะลุออกถนนได้ ไม่ใช่ซอยตัน ปกติมีรถผ่านเข้าออกเป็นประจํา
พยานไม่ทราบว่า กลุ่มที่มารวมตัวกันบริเวณหน้าบ้านปิยรัฐ เมื่อออกจากบริเวณดังกล่าวแล้วจะไปชุมนุมที่ใดหรือไม่ มีตํารวจอีกชุดติดตาม แต่ทราบว่ากลุ่มดังกล่าวเป็นสมาชิกกลุ่มวีโว่ โดยพยานดูจากการแต่งกายและเป็นการเข้าออกเป็นประจํา แต่พยานไม่ได้ตรวจสอบว่าเป็นสมาชิกกลุ่มวีโว่จริงหรือไม่ เป็นหน้าที่ของตำรวจอีกชุด
วันเกิดเหตุ พยานเป็นคนแจ้งว่าพบปิยรัฐ แต่พยานไม่ทราบว่าจะมีการแจ้งสิทธิและแจ้งข้อกล่าวหากับปิยรัฐขณะที่ถูกจับกุมหรือไม่ ก่อนที่จะพบปิยรัฐก็มีประชาชนเดินเข้าออกห้างกับลาดจอดรถเป็นปกติ
จากการข่าวและการสังเกตของพยาน ในวันเกิดเหตุมีหลายกลุ่มมารวมตัวกันที่ห้างเมเจอร์ รัชโยธิน เช่น กลุ่มรีเดม กลุ่มราษฎร
หลังเกิดเหตุคดีนี้ พยานไม่แน่ใจว่าจะมีการไปซุ่มดูที่หน้าบ้านปิยรัฐอีกหรือไม่
ด้าน พ.ต.ท.วิบูลย์ นนทะแสง เบิกความว่า ตั้งแต่เดือน พ.ย. 2563 ผู้บังคับบัญชาให้พยานสืบสวนหาข่าวเกี่ยวกับกลุ่มวีโว่ จากการสืบสวนทราบว่า ปิยรัฐ จงเทพ เป็นหัวหน้ากลุ่ม มีสมาชิกจํานวนมาก ซึ่งก่อนเดือน พ.ย. 2563 มีการประกาศรับสมัครสมาชิกทางเพจของกลุ่มและมีการถ่ายภาพการฝึกสมาชิกลงในเพจดังกล่าวด้วย
ในเดือนนั้นมีการชุมนุมบริเวณหน้ารัฐสภาเกียกกาย พยานจึงแฝงตัวไปในที่ชุมนุม พบปิยรัฐกับพวกร่วมชุมนุมด้วย โดยปิยรัฐแต่งกายด้วยใส่เสื้อคล้ายเสื้อเกราะ กางเกงยุทธวิธี ถือวิทยุสื่อสาร ทําหน้าที่สั่งการสมาชิก ซึ่งก่อนชุมนุมปิยรัฐจะเรียกสมาชิกมายืนเรียงแถวชี้แจงวิธีการเข้าร่วมชุมนุม ในวันดังกล่าว มีการปะทะกันของกลุ่มผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ และกลุ่มผู้ชุมนุมกับผู้ที่เห็นต่าง มีผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บ พยานเห็นสมาชิกกลุ่มวีโว่ขว้างขวดน้ําและระเบิดควันใส่เจ้าหน้าที่ด้วย
พยานยังแฝงตัวเข้าไปในที่ชุมนุมหน้ากรมทหารราบที่ 11 และหน้าสถานทูตพม่า พบปิยรัฐกับพวกแต่งกายในลักษณะเดิมมาร่วมชุมนุม และเห็นกลุ่มกลุ่มการ์ดวีโว่เข้ารื้อลวดหนามและขว้างปาสิ่งของใส่เจ้าหน้าที่ ทำให้เจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ การชุมนุมหน้ากรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ถนนวิภาวดี พยานก็พบปิยรัฐกับพวกไปร่วม ในวันนั้นเกิดเหตุผู้ชุมนุมปะทะกับ คฝ. มีเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บด้วย
วันเกิดเหตุพยานไปแฝงตัวในการชุมนุมของกลุ่มรีเดมบริเวณแยกลาดพร้าวตั้งแต่เวลา 15.00 น. หลัง 18.00 น. กลุ่มผู้ชุมนุมเดินไปที่หน้าศาลอาญา โดยเดินไปตามถนนพหลโยธินเมื่อถึงแยกรัชโยธินก็เลี้ยวขวา ระหว่างเดินพยานได้ข้อความจากไลน์กลุ่มสืบสวนแจ้งให้นํารถควบคุมผู้ต้องหาไปรับกลุ่มกลุ่มวีโว่หลายคนซึ่งควบคุมตัวได้ที่อาคารจอดรถชั้น 5 ห้างเมเจอร์ รัชโยธิน
พยานจึงย้อนกลับมาบริเวณแยกรัชโยธิน พบกลุ่มการ์ดวีโว่เข้าทุบรถควบคุมผู้ต้องหาที่ขับออกมา ตํารวจที่ขับรถและมากับรถดังกล่าวได้วิ่งหลบหนี และมีกลุ่มผู้ชุมนุมเข้าทําร้าย จากนั้นพยานเห็นกลุ่มการ์ดวีโว่ ที่เข้าใจว่าเป็นกลุ่มวีโว่เนื่องจากแต่งกายเหมือนกัน ได้เข้างัดประตูห้องขังจนเปิดออกและเห็นผู้ที่ถูกควบคุมตัวออกจากห้องขัง บางส่วนหลบหนีไป
พยานเห็นว่าไม่น่าจะปลอดภัยจึงเดินมาที่หน้าศาลอาญา ซึ่งต่อมา คฝ. ได้เข้าสลายการชุมนุมโดยการยิงแก๊สน้ําตา หลังสลายการชุมนุมพยานยังคงสังเกตการณ์ที่หน้าศาลอาญา ก่อนได้รับคําสั่งให้ไปที่ สน.พหลโยธิน เนื่องจากมีกลุ่มผู้ชุมนุมมาล้อม สน. แต่เมื่อพยานไปถึงพบว่า กลุ่มที่ออกจากรถควบคุมตัวได้มามอบตัว
วันต่อมาพยานได้จัดทํารายงานการสืบสวนกลุ่มการ์ดเสนอผู้บังคับบัญชาทราบ
พยานตอบทนายจำเลยถามค้านในเวลาต่อมาว่า ในวันเกิดเหตุ พยานเห็นผู้ชุมนุมที่ทุบรถมีทั้งที่ใส่ปลอกแขนของกลุ่มวีโว่และที่ไม่ได้ใส่ แต่ตามภาพในรายงานการสืบสวนที่พยานจัดทำ กลุ่มคนที่เข้าทุบรถไม่ได้สวนปลอกแขนของกลุ่มวีโว่ และในรายงานฯ พยานไม่ได้ระบุว่า กลุ่มที่ทุบรถเป็นกลุ่มใด
กลุ่มคนที่พยานเห็นมารายงานตัวที่ สน.พหลโยธิน นั้น พยานไม่ทราบว่ามาจากที่ใด และเป็นกลุ่มคนที่ถูกควบคุมตัวไว้บนรถหรือไม่
ในการชุมนุมแต่ละครั้งจะมีกลุ่มที่ทําหน้าที่การ์ดหลายกลุ่ม แต่ละกลุ่มจะมีการแต่งกายและสัญลักษณ์กลุ่มชัดเจน แต่บางคนก็ไม่มีสัญลักษณ์
ในการติดตามสมาชิกกลุ่มวีโว่นั้น นอกจากพยานแล้วยังมีตํารวจกองกํากับการสืบสวน 4 บก.สส. บช.น. ร่วมสืบสวน จัดทําข้อมูล และทำรายงานส่งผู้บังคับบัญชา คือ พ.ต.อ.ธีรศักดิ์ จันทราพิพัฒน์ ผู้กํากับการสืบสวน 4 กองบังคับการสืบสวนสอบสวน บช.น. โดยในส่วนของพยานขณะแฝงตัวร่วมชุมนุมก็จะเก็บภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวไว้เป็นหลักฐาน
รายงานการสืบสวนที่พยานจัดทำ พยานสรุปว่า การร่วมชุมนุมของกลุ่มวีโว่รวม 17 ครั้ง เป็นการกระทําที่ผิดกฎหมาย เนื่องจากในช่วงดังกล่าวอยู่ในสถานการณ์โควิด มีการประกาศห้ามชุมนุมสาธารณะ การจัดกิจกรรมทางการเมืองจึงเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
ภาพถ่ายบุคคลในรายงานการสืบสวนที่พยานจัดทำ พยานไม่ได้นำไปเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลของกลุ่มวีโว่
สำหรับ พ.ต.อ.เผด็จ งามละม่อม หัวหน้าชุดผู้ทำรายงานการสืบสวนเกี่ยวกับกลุ่มวีโว่ เบิกความว่า ก่อนเกิดเหตุ ผู้บังคับบัญชาได้มอบหมายให้พยานติดตามสืบสวนกลุ่ม WE VOLUNTEER หรือวีโว่ มีปิยรัฐ จงเทพ เป็นแกนนํา
จนถึงวันที่ 8 พ.ย. 2563 มีการปะทะกันของกลุ่มการ์ดผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ ซึ่งแตกต่างจากการชุมนุมครั้งที่ผ่านมา เนื่องจากในครั้งมีการใช้ระเบิดปิงปองและพลุไฟ พยานจึงลงพื้นที่สืบสวนหาข่าวโดยไล่ดูกล้องวงจรปิดพบชาย 2 คน แต่งกายด้วยชุดสีดํา ปลอกแขนสีเขียว สวมหมวกนิรภัยสีดํา สวมเสื้อกั๊กลักษณะคล้ายเสื้อเกราะ เป็นคนปาระเบิดปิงปองและพลุไฟโดยนํามาจากรถกระบะตู้ทึบสีแดง มีสติ๊กเกอร์ WE VOLUNTEER เป็นตัวอักษรสีขาว พื้นสีเขียว บนหลังคา
จากการติดตามกล้องวงจรปิด รถคันดังกล่าวไปจอดบริเวณหน้าบ้านหลังหนึ่ง สืบทราบว่า เป็นบ้านที่ปิยรัฐพักอาศัยอยู่ พยานจึงจัดกําลังชุดละ 4 คน ใช้รถจักรยานยนต์ 2 คัน ผลัดเปลี่ยนกันเข้าไปเฝ้าติดตามรถกระบะคันดังกล่าว 24 ชม. รวมทั้งติดตามสื่อโซเชียลของปิยรัฐ
จากการเฝ้าติดตามพบว่ามีกลุ่มวัยรุ่นเข้าออกจํานวนหลายคน แต่งกายมีสัญลักษณ์บอกฝ่าย เช่น ผ้าพันคอสีเหลืองเป็นหลัก และสีอื่นบ้าง อาร์มที่เป็นตีนตุ๊กแกไว้ติดกับเสื้อเกราะ มีอักษรว่า WE VOLUNTEER จากการพิสูจน์ทราบตัวบุคคลพบว่าเป็นสมาชิกกลุ่มวีโว่
จากการติดตามพบว่า หากมีการนัดหมายชุมนุมกันของกลุ่มคณะราษฎรหรือเยาวชนปลดแอก สมาชิกกลุ่มวีโว่จะมารวมตัวกันที่หน้าบ้านดังกล่าวก่อนที่จะเข้าไปร่วมชุมนุมด้วย โดยปกติกลุ่มวีโว่จะไปทําหน้าที่เป็นการ์ดในการชุมนุมให้กับกลุ่มราษฎร
ในวันที่ 24 พ.ย. 2563 มีการชุมนุมหน้าธนาคารไทยพาณิชย์ สํานักงานใหญ่ เกิดเหตุกลุ่มการ์ดอาชีวะใช้อาวุธปืนยิงสมาชิกกลุ่มวีโว่ ทําให้การชุมนุมครั้งต่อมาในวันที่ 29 พ.ย. 2563 ทั้งสองกลุ่มเกิดเหตุปะทะและชกต่อยกันอีก หลังจากนั้น วันที่ 1 ธ.ค. 2563 ปิยรัฐได้ประกาศผ่านเพจเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า จะเคลื่อนไหวอิสระ ไม่รวมกับกลุ่มคณะราษฎร
วันที่ 7 ธ.ค. 2563 ปิยรัฐได้โพสต์ผ่านเพจส่วนตัวว่า คืนนี้ 21.00 น. โปรดติดตามประกาศพิเศษจากเพจ WE VOLUNTEER ต่อมา ตํารวจชุดที่เฝ้าหน้าบ้านปิยรัฐรายงานว่า ปิยรัฐกับพวกประมาณ 15 คน ออกจากบ้านมาขึ้นรถ 3 คัน ซึ่งมีชื่อปิยรัฐเป็นผู้ครอบครอง และรถจักรยานยนต์อีก 4-5 คัน ขับออกไปที่แยกอุรุพงษ์ ซึ่งมีสมาชิกกลุ่มวีโว่มารวมตัวแล้วประมาณ 40-50 คน ปิยรัฐได้สั่งการให้สมาชิกเก็บลวดหนามของเจ้าหน้าที่บริเวณเกาะกลางถนนขึ้นรถ พยานจึงแจ้งตํารวจสายตรวจในพื้นที่ให้เข้ามาระงับเหตุ เมื่อตํารวจ สน.นางเลิ้ง และ สน.พญาไท มายังจุดดังกล่าว ได้เกิดการปะทะกัน มีการบาดเจ็บเล็กน้อย และตำรวจได้จับกุมปิยรัฐกับพวกรวม 19 คน
ต่อมา วันที่ 17 ธ.ค. 2563 โตโต้กับพวกได้จัดกิจกรรมหน้า สน.ยานนาวา ต่อต้านบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และเสียดสีสถาบันฯ เนื่องจากในวันดังกล่าวพนักงานสอบได้ออกหมายเรียกสมาชิกกลุ่มวีโว่มาดําเนินคดีมาตรา 112 สมาชิกกลุ่มวีโว่ที่มาร่วมสวมผ้าพันคอสีเหลือง โดยมีข้อความว่า วีโว่จิตอาสา ระหว่างชุมนุมมีการใช้รถกระบะสีแดงจอดปิดการจราจรหน้า สน.ยานนาวา 2 ช่อง และเกิดการปะทะเล็กน้อยกับตำรวจที่เข้าแจ้งให้ยุติการชุมนุม
โตโต้กับพวกยังได้จัดกิจกรรมขายกุ้งที่หน้าทำเนียบและสนามหลวง รวมทั้งร่วมชุมนุมหน้าสถานทูตเมียนมาร์และร่วมการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอก บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยแต่ละครั้งจะมีสมาชิกกลุ่มวีโว่ซึ่งแต่งกายมีสัญลักษณ์กลุ่มมารวมกันที่หน้าบ้าน ขนอุปกรณ์ เช่น เสื้อเกราะ หมวก โล่ กระบอง ขึ้นรถกระบะคันสีแดง และมีการปะทะกับเจ้าหน้าที่ ทําให้เจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ ในการชุมนุมหน้าสถานทูตเมียนมาร์และอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยสมาชิกกลุ่มวีโว่ได้ยิงหนังสติ๊ก ขว้างปาระเบิดปิงปอง และพลุไฟใส่เจ้าหน้าที่
วันเกิดเหตุพยานได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้ไปพิสูจน์ทราบข่าว เนื่องจากได้รับข่าวจากตํารวจสันติบาลว่าจะมีการรวมตัวกันของกลุ่มวีโว่ที่อาคารจอดรถห้างเมเจอร์ รัชโยธิน ซึ่งในวันดังกล่าวมีการนัดหมายชุมนุมกันของกลุ่มเยาวชนปลดแอก บริเวณหน้าศาลอาญา พยานเดินทางถึงห้างเมเจอร์ฯ ประมาณเกือบ 15.00 น. โดยนัดหมายชุดของพยานอีก 10 คน ให้มาเจอกันที่อาคารจอดรถ 3 ชั้น 8 จากนั้นตกลงกันว่าให้พยานกับพวกซึ่งแต่งนอกเครื่องแบบไปหาข่าว หากพบกลุ่มผู้ชุมนุมให้แจ้งตํารวจชุดปฏิบัติการพิเศษเข้าจับกุม
ต่อมา ผู้ใต้บังคับบัญชาแจ้งว่าพบกลุ่มสมาชิกวีโว่ประมาณ 60-70 คน รวมตัวกันที่อาคารจอดรถ 2 ชั้น 4 ต่อเนื่องชั้น 5 พยานจึงไปบริเวณดังกล่าว จากนั้นตํารวจชุดปฏิบัติการพิเศษได้เข้าจับกุมโดยชุดของพยานเข้าช่วยเหลือด้วย เนื่องจากตําารวจชุดปฏิบัติการพิเศษมีกําลังไม่เพียงพอ ชุดของพยานนําผู้ถูกควบคุมตัวมารวมกันที่ชั้น 5 และถ่ายภาพผู้ถูกควบคุมตัวพร้อมบัตรประชาชนไว้ พร้อมทั้งตรวจค้นสิ่งของที่ผู้ถูกควบคุมตัวนํามาด้วย
หลังจากนั้นพยานได้เดินค้นหาโตโต้ โดยมาพบรถโฟล์คสีน้ําเงินที่โตโต้ใช้ประจําจอดอยู่ที่ชั้น 3A และพบโตโต้กับจำเลยที่ 40 และสมาชิกอีก 2 คน จําชื่อไม่ได้ อยู่หน้ารถคันดังกล่าว พยานกับพวกจึงแสดงตนขอควบคุมตัวโตโต้กับพวก และแจ้งให้โตโต้แสดงความบริสุทธิ์ โดยการรูดซิปเสื้อคลุมออก พบว่าใส่เสื้อเกราะอยู่ข้างใน ปรากฏตามคลิปวีดีโอวัตถุพยาน ก่อนควบคุมตัวโตโต้กับพวกไปที่ชั้น 5 และตรวจค้นโดยละเอียด พบเงินจํานวนแสนกว่าบาทที่จำเลยที่ 40
หลังตรวจค้นแล้วเจ้าหน้าที่ได้ลําเลียงผู้ถูกควบคุมตัวจากชั้น 5 ลงมาขึ้นรถควบคุมผู้ต้องหาที่ชั้นล่าง ระหว่างนั้นมีหนังสติ๊กลูกเหล็กยิงขึ้นมาเป็นระยะ โดยพยานเห็นลูกเหล็กที่ตกกระทบผนังและพื้น พยานกับพวกเป็นคนรวบรวมสัมภาระและอุปกรณ์ที่ตรวจค้นได้ขึ้นรถไปที่ ตชด.ภาค 1 ส่งมอบให้กับตํารวจ 191
หลังจากนั้นพยานจึงกลับที่ตั้งมาจัดทํารายงานการสืบสวนส่งมอบให้แก่พนักงานสอบสวน
จากนั้นพยานตอบทนายจำเลยถามค้านว่า พยานเคยไปเบิกความที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางเกี่ยวกับเหตุการณ์เช่นเดียวกับคดีนี้ แต่พยานไม่ทราบว่า คดีดังกล่าวศาลมีคําพิพากษายกฟ้องหรือไม่ และไม่ทราบเกี่ยวกับคําพิพากษายกฟ้องข้อหาอั้งยี่ของสมาชิกกลุ่มวีโว่อีกคดี รงมถึงไม่ทราบเกี่ยวกับการดำเนินคดีผู้ชุมนุมในเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่พยานเบิกความไป
กองกํากับการสืบสวน 4 เป็นผู้จัดทํารายชื่อสมาชิกกลุ่มวีโว่ พยานทราบชื่อสมาชิกกลุ่มวีโว่บางส่วนเท่านั้น และรายงานการสืบสวนที่พยานจัดทำไม่ได้ระบุว่า นํารายชื่อสมาชิกกลุ่มวีโว่ที่พยานสืบสวนไปเปรียบเทียบกับรายชื่อของกองกํากับการสืบสวน 4
กลุ่มวีโว่มีการประกาศรับสมัครสมาชิกเป็นสาธารณะ หากกลุ่มวีโว่จะออกไปทํากิจกรรมก็จะประกาศผ่านเพจดังกล่าวด้วย
การชุมนุมเรียกร้องให้ยุบสภา แก้ไขรัฐธรรมนูญ และหยุดคุกคามประชาชนก็สามารถได้ตามรัฐธรรมนูญ กลุ่มการ์ดในการชุมนุมมีหลายกลุ่ม ไม่เฉพาะกลุ่มวีโว่เท่านั้น
วีดิโอวัตถุพยานปรากฏคนที่ล้อมรถและทุบรถควบคุมผู้ต้องหามีข้อความที่เขียนที่เสื้อและโล่ว่า People ซึ่งตรงกับภาพในเฟซบุ๊กที่ระบุว่ากลุ่มดังกล่าวเป็นกลุ่มการ์ดราษฎร
พยานไม่เคยตรวจค้นรถกระบะสีแดงที่กลุ่มวีโว่ใช้ขนอุปกรณ์ต่าง ๆ ซึ่งอุปกรณ์เหล่านั้นไม่ใช่สิ่งผิดกฎหมาย
พยานทํารายงานเกี่ยวกับกลุ่มวีโว่หลายฉบับ โดยรวบรวมรายงานของผู้ใต้บังคับบัญชานํามาสรุป
เหตุการณ์เก็บลวดหนามบริเวณใต้สะพานข้ามแยกอุรุพงษ์นั้น กลุ่มวีโว่อ้างว่าเป็นการเก็บเพื่อไม่ให้กีดขวางการสัญจรของประชาชน ในวันดังกล่าวพยานไม่ยืนยันว่า มีชาวบ้านออกมาให้กําลังใจกลุ่มวีโว่หรือไม่ เนื่องจากขณะนั้นเป็นเวลากลางคืน
ก่อนวันที่ 7 ธ.ค. 2563 มีการชุมนุมหลายครั้ง มีผู้ร่วมชุมนุมจํานวนมาก แต่ก็ไม่มีเหตุการณ์ความรุนแรง การชุมนุมที่เกิดเหตุปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่นั้น ส่วนหนึ่งก็มาจากการที่เจ้าหน้าที่ไม่ให้ผู้ชุมนุมเดินไปในทิศทางที่ต้องการ ซึ่งโดยทั่วไปก็จะมีการเจรจากัน หากตกลงกันได้ก็จะไม่เกิดความรุนแรง
พยานไม่ทราบว่า กลุ่มวีโว่มีประกาศห้ามผู้ชุมนุมนําอาวุธเข้าไปในที่ชุมนุมหรือไม่
พยานไม่เคยได้รับรายงานจากผู้ใต้บังคับบัญชาว่า กลุ่มวีโว่จะมีการเปลี่ยนสีของสัญลักษณ์กลุ่ม เนื่องจากกลัวว่าจะมีคนอื่นแอบอ้าง
รายงานการสืบสวนที่พยานจัดทำและคําให้การของพยานของพยานในชั้นสอบสวน ไม่มีเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุในคดีนี้
พยานนําภาพถ่ายบุคคลที่มารวมตัวหน้าบ้านโตโต้ไปตรวจสอบทุกคนว่าเป็นสมาชิกกลุ่มวีโว่หรือไม่ ซึ่งบางคนก็สามารถตรวจสอบได้ บางคนก็ไม่สามารถตรวจสอบได้ เนื่องจากไม่ทราบชื่อและนามสกุลจริง
พยานเป็นผู้จัดรวบรวมข้อมูลการติดตามกลุ่มวีโว่ของผู้ใต้บังคับบัญชา และทราบว่ามีการฝึกอบรม แต่ตํารวจไม่สามารถเข้าไปฟังการอบรมได้
กลุ่มวีโว่ประกาศว่าจัดกิจกรรมขายกุ้งเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งกิจกรรมหน้าทําเนียบสามารถขายกุ้งได้หมด แต่ที่สนามหลวงแต่ถูกให้ยุติกิจกรรมก่อน และถูกดําเนินคดี
ปกติกลุ่มการ์ดในที่ชุมนุมจะใช้วิทยุสื่อสารวอแดงในการสื่อสารกัน พยานไม่เคยสืบสวนหรือได้รับแจ้งว่า กลุ่มวีโว่มีการใช้วิทยุสื่อสาร โดยใช้คลื่นความถี่กระทบกับความมั่นคงของรัฐ
พ.ต.ท.เกรียงไกร ใจสุทธิ์ เบิกความว่า วันที่ 7 ธ.ค. 2563 เวลาประมาณ 20.00 น. พยานตรวจสอบเพจเฟซบุ๊กของปิยรัฐ จงเทพ พบข้อความว่า เดี๋ยวจะมีกิจกรรมพิเศษของกลุ่มวีโว่ เวลาประมาณ 21.00 น.
ต่อมา เวลาประมาณ 21.15 น. สมาชิกกลุ่มวีโว่ประมาณ 30 คน ได้ไปรวมตัวกันบริเวณใต้สะพานข้ามแยกอุรุพงษ์ ปิยรัฐกล่าวว่า ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนว่า มีรั้วลวดหนามและแผงเหล็กของตํารวจวางอยู่บนทางเท้าบริเวณใต้ทางด่วนอุรุพงษ์ กีดขวางทางสัญจรของประชาชน กลุ่มวีโว่จึงอาสาเก็บไปไว้หน้ากองบัญชาการตํารวจนครบาล
พยานจึงเดินทางไปบริเวณดังกล่าวและสังเกตการณ์อยู่ภายนอก ต่อมา ผู้กํากับ สน.พญาไท ได้พยายามเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุม โดยมีปิยรัฐเป็นแกนนําในการเจรจา จนถึงเวลา 22.30 น. ผู้กํากับ สน.พญาไท แจ้งกลุ่มผู้ชุมนุมว่า ให้เวลาอีก 5 นาที ให้ออกจากพื้นที่และห้ามเคลื่อนย้ายสิ่งของ ขณะนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมได้เคลื่อนย้ายรั้วลวดหนามและแผงเหล็กบางส่วนขึ้นรถกระบะตู้ทึบ เมื่อครบเวลาตํารวจ สน.พญาไท และ คฝ. ได้เข้าสลายการชุมนุม ควบคุมตัวกลุ่มผู้ชุมนุมได้ 19 คน นําตัวไป สน. พญาไท แจ้งข้อกล่าวหาว่า มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป และมีข้อกล่าวหาอื่นอีก พยานจําไม่ได้
พยานจําไม่ได้ว่าหลังวันดังกล่าวจะมีการชุมนุมของกลุ่มวีโว่ในเขตพื้นที่รับผิดชอบของพยานหรือไม่
ต่อมาหลังเกิดเหตุคดีนี้ ผู้บังคับบัญชาแจ้งให้พยานนําข้อมูลที่เกี่ยวกับการชุมนุมของกลุ่มวีโว่มาให้พนักงานสอบสวนและให้การกับพนักงานสอบสวน เมื่อวันที่ 16 มี.ค. 2564 พนักงานสอบสวนได้สอบถามเกี่ยวกับบุคคลที่ถูกจับกุมที่ สน. พญาไท พบว่า มี 3 คน ที่เป็นบุคคลเดียวกับที่ถูกจับกุมในวันเกิดเหตุคดีนี้
พยานตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ในการทํากิจกรรมของกลุ่มวีโว่จะมีการโพสต์แจ้งในเพจของกลุ่มก่อน และบางครั้งก็มีการไลฟ์สดขณะทํากิจกรรมให้ประชาชนทั่วไปดูได้
บุคคลที่ถูกควบคุมตัวในวันที่ 7 ธ.ค. 2563 นั้น พยานไม่สามารถแยกแยะได้ว่า แต่ละคนทำอะไรก่อนถูกควบคุมตัว แต่ทราบว่าในคดีดังกล่าวศาลมีคําพิพากษาลงโทษเฉพาะข้อหามั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป
พยานไม่ทราบว่าในการชุมนุมดังกล่าว มีประชาชนและสมาชิกกลุ่มอื่นร่วมชุมนุมด้วยหรือไม่ และไม่ได้สืบสวนว่า ผู้ที่ถูกจับกุมทั้ง 19 คน มีหน้าที่อะไรในกลุ่มวีโว่ หรือจะเป็นสมาชิกกลุ่มวีโว่จริงหรือไม่
พนักงานสอบสวนนำชื่อของผู้ที่ถูกจับกุมใน 2 เหตุการณ์มาให้พยานเปรียบเทียบเท่านั้น ไม่ได้นําภาพถ่ายมาให้พยานดู
พยานไม่ทราบว่า ปิยรัฐได้เดินออกจากที่ชุมนุมไปตามซอยที่เจ้าหน้าที่เปิดทางให้ออกไปก่อนหมดเวลา 5 นาที แต่ต้องวกกลับมาเพราะมีเจ้าหน้าที่กระชากตัวคนที่เดินออกไปแล้ว และในการชุมนุมครั้งดังกล่าวกลุ่มผู้ชุมนุมไม่มีอาวุธ มีเพียงอุปกรณ์ที่ใช้ตัดรั้วลวดหนาม
ปกติพื้นที่ทางด่วนไม่ใช่พื้นที่สําหรับจัดเก็บรั้วลวดหนาม พยานไม่ทราบว่ารั้วลวดหนามและแผงเหล็กวางอยู่บริเวณใต้ทางด่วนดังกล่าวตั้งแต่เมื่อใด ก่อนที่ปิยรัฐกับพวกจะขนย้ายและตัดรั้วลวดหนามได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่มาเก็บไปก่อนแล้ว
ด้าน พ.ต.ต.วินิตย์ จันทร์บูรณ์ สายตรวจ 191 เบิกความว่า เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2564 พยานได้รับคําสั่งจากผู้บังคับบัญชา คือ พ.ต.ต.ไพบูลย์ สอโส ให้ไปสังเกตการณ์ที่ห้างเมเจอร์ รัชโยธิน เพื่อดูแลความสงบเรียบร้อยให้กับประชาชน
พยานพร้อมผู้ใต้บังคับบัญชารวม 3 คน เดินทางไปถึงห้างเมเจอร์ฯ เกือบ 15.00 น. โดยไปสังเกตการณ์อยู่ที่ร้านกาแฟ สักพักจึงเห็นกลุ่มคนทั้งชายและหญิง ส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย เข้าไปบริเวณสวนหลังร้านซึ่งเป็นพุ่มไม้ และเปลี่ยนชุดเป็นชุดสีดํา สักครู่ก็ได้ยินเสียงโหวกเหวกมาจากอาคารจอดรถ ห่างจากที่พยานอยู่ประมาณ 100 เมตร จากนั้นมีเสียงคล้ายนกหวีดเรียกรวมแถว กลุ่มคนชุดสีดําก็มายืนเรียงแถวบริเวณเยื้องกับร้านกาแฟ ระหว่างนั้นพยานกําลังจะเดินไปที่ร้านแมคโดนัลด์จึงเห็นเหตุการณ์เพียงแวบเดียว ไม่แน่ใจว่าคนที่มารวมพลดังกล่าวจะมาจากจุดใดบ้าง
ต่อมา พยานได้รับแจ้งจากผู้ใต้บังคับบัญชาว่ามีรถกระบะขนโล่มาจอดหน้าร้านแมคโดนัลด์ พยานเห็นคนที่รวมพล 4- 5 คน วิ่งไปเอาโล่ที่รถกระบะแล้วกลับมาที่เดิม พยานจึงใช้โทรศัพท์ถ่ายภาพไว้
จากนั้นพยานเห็นกลุ่มคนชุดดําเอาแผงเหล็กกั้นรถควบคุมผู้ต้องหาที่ขับมาจากอาคารจอดรถ ก่อนได้รับคำสั่งให้พยานตรวจสอบรถโฟล์คและรถกระบะที่ขนโล่มา แต่ไม่พบ พยานจึงไปตรวจสอบกล้องวงจรปิดของห้างเมเจอร์ฯ พบว่า รถทั้งสองคันเข้ามาที่ห้างเวลาประมาณ 15.00 น.เศษ จากการตรวจสอบทะเบียนรถปรากฏว่า รถกระบะมีผู้หญิงเป็นผู้ครอบครอง โดยตํารวจสันติบาลแจ้งว่าบุตรชายของหญิงดังกล่าวทั้งสองคนมีประวัติการกระทําผิดเกี่ยวกับอาวุธ ส่วนรถโฟล์คมีปิยรัฐหรือโตโต้เป็นผู้ครอบครอง ในวันเกิดเหตุมีชายสวมหมวกไหมพรมขับมา
หลังจากนั้นพยานทํารายงานการสืบสวนเกี่ยวกับรถทั้งสองคันเสนอผู้บังคับบัญชา ท้ายรายงานดังกล่าว ไม่มีลายมือชื่อของ พ.ต.ต.ไพบูลย์ เนื่องจากพยานได้รายงานด้วยวาจาแล้ว และจัดทํารายงานการสืบสวนในภายหลัง
จากนั้นพยานตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ก่อนเกิดเหตุในคดีนี้พยานไม่ได้ติดตามกลุ่มผู้ชุมนุมหรือสืบสวนหาข่าวเกี่ยวกับกลุ่มวีโว่ แต่ทราบข่าวมาบ้างว่า กลุ่มวีโว่มีสัญลักษณ์เป็นรูปมือสีเขียว และมีการแจ้งข่าวสารกันจัดทํากิจกรรมผ่านสื่อออนไลน์ ขณะที่พยานอยู่ที่ร้านกาแฟมีประชาชนทยอยกันเข้ามาใช้บริการ ซึ่งพยานไม่สามารถแยกแยะได้ว่า คนเหล่านั้นมาเที่ยวห้างหรือมาร่วมชุมนุม
พยานทราบว่ากลุ่มวีโว่มีผ้าพันคอและปลอกแขนเป็นสัญลักษณ์ แต่ไม่แน่ใจว่า อักษรที่เขียนบนผ้าพันคอและปลอกแขนเป็นคําว่าอะไร
ในการชุมนุมแต่ละครั้งพยานทราบว่าจะมีกลุ่มของการ์ดมาร่วม แต่ไม่ทราบว่าเป็นกลุ่มใดและมีการ์ดกี่กลุ่ม การ์ดแต่ละกลุ่มจะแต่งกายด้วยชุดดําและมีอุปกรณ์ป้องกันคล้าย ๆ กัน รวมทั้งผู้ชุมนุมก็แต่งกายคล้ายการ์ดด้วย
พยานพบกลุ่มคนที่เข้าไปเปลี่ยนเครื่องแต่งกายหลังร้านกาแฟแต่งกายชุดดํา ลักษณะเดียวกับกลุ่มวีโว่ เมื่อมาดูภาพถ่ายภายหลังก็มีคําว่าวีโว่ติดอยู่ พยานจึงได้ทํางานรายงานว่า คล้ายกลุ่มวีโว่ แต่ในความเป็นจริงแล้วกลุ่มบุคคลตามภาพถ่ายจะเป็นสมาชิกกลุ่มวีโว่หรือไม่ พยานไม่ทราบ
วันเกิดเหตุพยานไม่เห็นปิยรัฐ เสียงที่เรียกรวมพลเป็นเสียงผู้หญิง ใส่เสื้อสีเข้ม ไม่ได้สวมปลอกแขนและผ้าพันคอสีเขียว ซึ่งบริเวณที่มีการเรียกรวมพลไม่มีกล้องวงจรปิด
ตามภาพที่พยานถ่ายไว้ กลุ่มคนชุดสีดําที่ถือโล่ ไม่เห็นสัญลักษณ์ของกลุ่มวีโว่ บนโล่ก็ไม่เห็นสัญลักษณ์ และจากภาพกล้องวงจรปิดที่บันทึกภาพรถกระบะบรรทุกโล่ก็ไม่เห็นสัญลักษณ์บนโล่
โล่ที่มีไว้ป้องกันตัวนั้นปกติไม่ใช่สิ่งผิดกฎหมาย เว้นแต่เป็นโล่ที่เข้าข่ายยุทธภัณฑ์ ซึ่งโล่ที่พยานเห็นในวันเกิดเหตุนั้นมีสีดําทึบ พยานไม่ทราบว่าเป็นยุทธภัณฑ์หรือไม่
ผู้ครอบครองรถกระบะที่ขนโล่พยานสืบทราบแล้วว่าไม่มีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มวีโว่
.
ตำรวจชุดจับกุมเบิกความ พบผู้ต้องหาก่อนถูกจับ ไม่เห็นการใช้อาวุธ เห็นเพียงรวมกลุ่มกัน ไม่มีการทำบันทึกตรวจยึดในที่เกิดเหตุ ส่วนของกลางที่นำไป ตชด. ภาค 1 เป็นการขนขึ้นรถเก๋งไปตามสภาพ
จ.ส.ต.ปกร ศรีสารคาม, จ.ส.ต.วรพจน์ เทียนทองคำ, ร.ต.ต.ไพโรจน์ จำนงค์, ร.ต.ท.สุรินทร์ เอียดแอ้ว, จ.ส.ต.จาตุรนต์ ทฤษฎี, จ.ส.ต.ธนวรรษ พันธ์ชาตรี และ พ.ต.ต.ภุชงค์ เม้าทุ่ง ขณะเกิดเหตุพยานทั้งเจ็ดคนรับราชการอยู่ที่กองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ บช.น. เป็นผู้ร่วมจับกุมจำเลยในคดีนี้ ทั้งเจ็ดเบิกความได้ความว่า
วันเกิดเหคุ จ.ส.ต.ปกร ได้รับแจ้งจากผู้บังคับบัญชาให้เข้าร่วมประชุม โดยมีข่าวจากตำรวจสันติบาลว่ากลุ่มวีโว่จะมาชุมนุมกันที่บริเวณอาคารจอดรถ 2 และ 3 ของห้างเมเจอร์ รัชโยธิน จึงให้เจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบในบริเวณดังกล่าว หากพบผู้กระทำผิดให้จับกุม
ส่วน จ.ส.ต.วรพจน์, ร.ต.ต.ไพโรจน์, พ.ต.ต.ภุชงค์ และ จ.ส.ต.ธนวรรษ ได้รับแจ้งจากผู้บังคับบัญชาว่าจะมีกลุ่มชายและหญิงสวมชุดดำ กางเกงยุทธวิธี เสื้อคลุมสีดำ บางคนมีปลอกแขน บางคนสวมผ้าพันคอมีคำว่า WeVo มาชุมนุมกันบริเวณลานจอดรถห้างเมเจอร์ รัชโยธิน จ.ส.ต.จาตุรนต์ ทราบเพิ่มเติมว่า กลุ่มดังกล่าวจะมีสัญลักษณ์วงกลม มีรูปหัวกะโหลก มีอักษรเขียนว่า WE VOLUNTEER
จากนั้น พ.ต.ต.ภุชงค์ ซึ่งเป็นหัวหน้าชุดปฏิบัติการได้ไปห้างเมเจอร์ฯ พร้อมกับ ส.ต.อ.พนธกร และ ส.ต.อ.ณัฐพงศ์ โดยไปเฝ้าสังเกตการณ์ที่อาคารจอดรถ 3 และให้ผู้ใต้บังคัญบัญชาขึ้นไปสังเกตการณ์บริเวณชั้น 4 และชั้น 5 ขณะนั้นยังไม่พบการรวมกลุ่มของผู้ชุมนุม
พยานคนอื่นก็เดินทางไปที่ห้างเมเจอร์และแยกย้ายกันไปสังเกตการณ์ โดย จ.ส.ต.วรพจน์ พบกลุ่มคนสวมเสื้อสีดำหลายคนนั่งอยู่ข้างร้านกาแฟอเมซอนและในร้านแมคโดนัลด์ จึงรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ ก่อนเดินเข้าไปปะปนกับผู้คนในห้างรอกำลังมาสมทบ
ต่อมา ในเวลา 16.00 น. มีหน่วยอรินทราช หน่วยควบคุมฝูงชน และสายตรวจ 191 เดินทางมาสมทบ จากนั้นประมาณ 17.45 น. ชุดปฏิบัติการชุดอื่นแจ้งว่า มีกลุ่มผู้ชุมนุมอยู่ที่อาคารจอดรถ 2 ผู้บังคับบัญชาจึงแจ้งให้กําลังทุกส่วนไปที่อาคารจอดรถ 2 ชั้น 5 เมื่อไปถึงพบกลุ่มคนประมาณ 30-40 คน เปลี่ยนเสื้อผ้าและมีการจัดเตรียมอุปกรณ์ เมื่อตํารวจแสดงตน พร้อมกับสั่งให้หยุด บางคนในกลุ่มวิ่งหลบหนี ตํารวจจึงวิ่งไล่ติดตามไปควบคุมตัว
หลังตำรวจควบคุมผู้ต้องหาได้บางส่วน ได้ตรวจค้นและถ่ายภาพผู้ถูกจับกุมพร้อมบัตรประชาชนและของกลางที่ตรวจยึดได้ เช่น หมวกเหล็ก, กระเป๋าเป้, เสื้อเกราะมีอักษร WE VOLUNTEER, พลุไฟ
ด้าน จ.ส.ต.วรพจน์ ไปที่ทางเชื่อมอาคารจอดรถ 2 ชั้น 4 พบชายสวมกางเกงยุทธวิธี เสื้อสีดำ สวมหน้ากากอนามัย สะพายกระเป๋าสีดำ 1 ใบ ถือกระเป๋าสีดำ 1 ใบ และถุงผ้าสีขาวอีก 1 ใบ จึงเข้าไปควบคุมตัว ทราบภายหลังว่าคือ จำเลยที่ 23 ตรวจค้นตัวและกระเป๋าพบหนังสติ๊กพร้อมลูกแก้ว, กระบองเหล็กยืดหด, สนับแข้ง, หมวกเหล็กสีดำ, ผ้าพันคอสีเหลือง, วิทยุสื่อสารสีแดง 1 เครื่อง, เสื้อเกราะภายในมีแผ่นเหล็ก 2 ตัว ฯลฯ หลังจากนั้น จ.ส.ต.วรพจน์ จึงนำตัวจำเลยที่ 23 พร้อมสัมภาระขึ้นไปรวมกับผู้ถูกควบคุมคนอื่นที่ชั้น 5
ระหว่างที่มีการจับกุมตรวจค้นนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมที่อยู่ด้านล่างได้ยิงลูกเหล็กขึ้นมาที่ชั้น 5 ตํารวจเกรงว่าจะไม่ปลอดภัย จึงควบคุมตัวผู้ต้องหาพร้อมทั้งของกลางลงมาที่ชั้นล่างสุดและให้ขึ้นรถควบคุมตัวผู้ต้องหาจํานวน 3 คัน จากนั้นรถได้เคลื่อนออกจากห้าง โดยกลุ่มผู้ชุมนุมได้เข้ามาปาสิ่งของใส่รถควบคุมผู้ต้องหา พร้อมทั้งนำกระถางต้นไม้และแผงเหล็กมาวางกั้นรถ
ส่วนของกลางที่ตรวจยึดได้ ตำรวจสืบสวนนครบาลได้นำใส่รถเก๋งไป ซึ่งในการรวบรวมและขนย้าย ไม่ได้มีการแยกแยะว่าเป็นของบุคคลใด เนื่องจากได้ถ่ายภาพขณะตรวจยึดไว้แล้ว
จากนั้น พ.ต.ต.ภุชงค์, ร.ต.ต.ไพโรจน์, ร.ต.ต.สุรินทร์ และ จ.ส.ต.จาตุรนต์ ได้รับคําสั่งให้ไปที่ ตชด.ภาค 1 เมื่อไปถึงพบกลุ่มผู้ต้องหาเพียง 18 คน พร้อมด้วยของกลางเป็นกระเป๋าสัมภาระต่าง ๆ ส่วนรถควบคุมผู้ต้องหาอีก 2 คัน ถูกกลุ่มวีโว่สกัดและชิงตัวผู้ต้องหาไป พ.ต.ต.ภุชงค์ เรียกชื่อผู้ต้องหาแต่ละคนให้ไปหยิบสัมภาระของตนออกมาวางและถ่ายภาพไว้ ซึ่งมีผู้ต้องหา 3 คน แจ้งว่าไม่มีสัมภาระของตน และมีสัมภาระบางส่วนที่ยังไม่มีใครหยิบไป
ต่อมา พ.ต.ต.ภุชงค์ ได้จัดทําบันทึกการจับกุมผู้ต้องหาทั้ง 18 คน และบันทึกการตรวจยึดให้ผู้ต้องหา 15 คนลงลายมือชื่อ ส่วนของกลางที่ยังไม่มีผู้ใดหยิบไป มีตํารวจพิสูจน์หลักฐานมาตรวจดูและถ่ายภาพไว้
ส่วนผู้ต้องหาในรถอีก 2 คัน พ.ต.ต.ภุชงค์ ทราบว่า ได้ไปมอบตัวที่ สน.พหลโยธิน จึงสืบสวนเพื่อพิสูจน์ทราบว่าเป็นคนกลุ่มเดียวกับที่ถูกควบคุมตัวในวันเกิดเหตุหรือไม่ โดยตรวจสอบจากภาพถ่ายพร้อมของกลางในที่เกิดเหตุเปรียบเทียบกับรายชื่อผู้ต้องหาที่ไปมอบตัวที่ สน.พหลโยธิน แล้วทํารายงานเสนอผู้บังคับบัญชา
ในช่วงทนายจำเลยถามค้าน จ.ส.ต.ปกร, จ.ส.ต.วรพจน์, ร.ต.ต.ไพโรจน์ และ พ.ต.ต.ภุชงค์ ยืนยันว่า ในวันเกิดเหตุที่ห้างเมเจอร์ รัชโยธิน ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19 ตามที่ราชการกำหนด
ก่อนเกิดเหตุในคดีนี้ ร.ต.ท.สุรินทร์ เคยเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ในการชุมนุมบริเวณดินแดง ทราบว่าผู้ชุมนุมเป็นกลุ่มทะลุแก๊ส แต่ไม่ทราบว่ามีสมาชิกกลุ่มวีโว่ด้วยหรือไม่ กลุ่มผู้ชุมนุมทะลุแก๊สก็แต่งกายมีเครื่องป้องกัน เช่น หมวกกันน็อก หน้ากากกันแก๊ส เสื้อกันฝน สนับแข้ง ก่อนเกิดเหตุ พยานไม่เคยได้รับคําสั่งให้ติดตามพฤติการณ์ของกลุ่มวีโว่มาก่อน และเท่าที่เคยเห็นกลุ่มการ์ดที่ร่วมชุมนุมนั้นมีหลายกลุ่ม มีสัญลักษณ์แตกต่างกันไป ซึ่งบางครั้งก็มีการกระทบกระทั่งกันเจ้าหน้าที่ บางครั้งก็ไม่มี โดยการ์ดก็จะทําหน้าที่ดูแลผู้ชุมนุม และจัดการจารจรระหว่างการชุมนุม
ด้าน จ.ส.ต.ธนวรรษ ก็ไม่เคยได้รับมอบหมายให้ติดตามกลุ่มวีโว่ แต่ที่พยานให้การในชั้นสอบสวนว่า กลุ่มวีโว่ มีพฤติการณ์ปกปิดวิธีการดําเนินการ มั่วสุมกัน สมคบกันกระทําผิดตามประมวลกฎหมายอาญานั้น พยานให้การตามที่ได้รับแจ้งในที่ประชุมก่อนเกิดเหตุจากตํารวจสืบสวนและตํารวจสันติบาล
ส่วน พ.ต.ต.ภุชงค์ ไม่เคยไปสังเกตการณ์ชุมนุมของกลุ่มผู้ชุมนุมกลุ่มใด อีกทั้งไม่เคยติดตามหรือสืบสวนเกี่ยวกับกลุ่มวีโว่ และไม่ทราบว่าการ์ดในที่ชุมนุมจะทําหน้าที่ใด และในการชุมนุมแต่ละครั้งจะมีการ์ดหลายกลุ่มมาร่วมชุมนุมหรือไม่
ชุดจับกุมตอบทนายจำเลยเช่นเดียวกันว่า ก่อนปฏิบัติการในวันเกิดเหตุ บังคับบัญชาแจ้งชื่อกลุ่มที่มาชุมนุมว่าเป็นกลุ่มวีโว่ โดยจะมารวมกลุ่มเพื่อก่อเหตุความรุนแรง แต่ไม่ได้บอกรายชื่อสมาชิกของกลุ่มที่จะมารวมตัวกัน และแต่ละคนจะทําหน้าที่ใดบ้าง ทราบเพียงชื่อปิยรัฐ จงเทพ หลังเกิดเหตุชุดจับกุมก็ไม่ได้สืบสวนต่อว่า กลุ่มที่ถูกจับกุมเป็นสมาชิกกลุ่มวีโว่หรือไม่ นอกจากนี้ ในที่ประชุมมีการแจ้งสัญลักษณ์ของกลุ่มวีโว่ว่าจะมีคําว่า People แต่จากการตรวจค้นของพยานไม่พบสัญลักษณ์คําว่า People
ร.ต.ต.ไพโรจน์ ตอบทนายจำเลยด้วยว่า ผู้บังคับบัญชาไม่ได้ระบุว่ากลุ่มวีโว่ใช้ความรุนแรงทุกครั้ง และไม่ได้ระบุว่าการชุมนุมครั้งใดเกิดเหตุรุนแรง วันเกิดเหตุพยานเข้าควบคุมตัวจำเลยที่ 31 เนื่องจากฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ซึ่งตามปกติเจ้าหน้าที่ต้องเข้าไปแจ้งให้เลิกการกระทำก่อน แต่วันนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมหลบหนีจึงไม่ได้แจ้ง ทั้งนี้ จำเลยที่ 31 ไม่มีเครื่องหมายสัญลักษณ์ของกลุ่มวีโว่ ไม่ได้ใส่กางเกงยุทธวิธี และเสื้อสีดำ ของกลางที่ตรวจยึดได้ก็เป็นอุปกรณ์ทั่วไปสำหรับป้องกันตัว ส่วนวิทยุสื่อสารมีไว้เพื่อสื่อสารกัน เพราะบางกรณีที่มีผู้ชุมนุมจำนวนมาก สัญญาณโทรศัพท์ไม่สามารถติดต่อได้ หรือบางครั้งเจ้าหน้าที่รัฐก็ตัดสัญญาณโทรศัพท์
พ.ต.ต.ภุชงค์ รับกับทนายจำเลยว่า ขณะพยานขึ้นไปที่ชั้น 5 พร้อมกับหน่วยอรินทราช เห็นกลุ่มคนแต่งกายทั้งชุดสีดําและสีอื่นรวมกลุ่มกันบริเวณมุมของอาคารจอดรถ ไม่ทราบว่าทำอะไรและไม่ได้สังเกตว่ามีสัญลักษณ์ People หรือไม่ แต่พยานเห็นว่ายังไม่มีการใช้อาวุธ หลังจากที่เข้าตรวจค้นและควบคุมตัวกลุ่มคนดังกล่าวได้มีการถ่ายรูปของที่ตรวจยึดไว้ แต่ไม่ได้ทำบันทึกว่า ของกลางแต่ละชิ้นตรวจยึดจากใคร และไม่ได้ทําสัญลักษณ์ว่าเป็นของใคร นอกจากนี้ในวันเกิดเหตุพยานไม่ได้เตรียมหมายจับและหมายค้นไป และไม่ทราบว่าแต่ละคนถูกควบคุมตัวมาจากชั้นใด
ด้าน จ.ส.ต.ปกร ตอบทนายจำเลยว่า พยานไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการควบคุมตัวผู้ต้องหา พยานเพียงเข้าไปช่วยค้นตัวผู้ต้องหา 3 คน และถ่ายภาพของกลางที่ตรวจยึดได้ ซึ่งจากภาพของกลางที่ จ.ส.ต.ปกร ตรวจยึดจากผู้ต้องหาทั้งสามคน ไม่มีสัญลักษณ์กลุ่มวีโว่ หลังจากควบคุมตัวผู้ต้องหาขึ้นรถไปแล้ว ตำรวจสืบสวนนครบาลเป็นผู้รวบรวมของกลางไปใส่ในรถเก๋งมากกว่า 2 คัน โดยใส่กระโปรงท้ายและในรถรวม ๆ กันไปตามสภาพที่เป็นอยู่ ไม่มีการผนึกหรือใส่บรรจุภัณฑ์ใด ๆ
ขณะ จ.ส.ต.วรพจน์ รับว่า ในวันถูกจับกุมจำเลยที่ 23 ไม่ได้ใส่ชุดสีดำ และไม่มีสัญลักษณ์กลุ่มวีโว่ เสื้อเกราะและกระเป๋าเป้ทั้งสองใบที่ตรวจยึดได้จากจำเลยที่ 23 ก็ไม่มีสัญลักษณ์ติดอยู่ และวิทยุสื่อสารที่ตรวจยึดมาก็ไม่ได้แกะดูหมายเลขเครื่อง
ร.ต.ท.สุรินทร์ รับว่า ในการเข้าควบคุมตัวจำเลยที่ 31 ไม่มีหมายจับและหมายค้น อีกทั้งไม่ได้มีข้อความยืนยันเป็นลายมือชื่อของจำเลยที่ 31 ว่าของกลางที่ตรวจยึดได้เป็นของตน ขณะที่ ร.ต.ท.สุรินทร์ ควบคุมตัวจำเลยที่ 31 ก็ไม่ปรากฏสัญลักษณ์ของกลุ่มวีโว่อยู่ที่ตัว และภายหลังเกิดเหตุ พยานก็ไม่ได้รับมอบหมายให้สืบสวนต่อว่า จำเลยที่ 31 เป็นสมาชิกกลุ่มวีโว่จริงหรือไม่
ขณะที่ จ.ส.ต.ธนวรรษ เข้าควบคุมตัวปิยรัฐกับพวก ไม่ปรากฏว่ามีสัญลักษณ์กลุ่มวีโว่ และตามวิดีโอวัตถุพยาน หลังตำรวจแสดงตัวเข้าจับกุมปิยรัฐได้สอบถามว่า มาจับกุมตนด้วยข้อหาใด แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่คนใดตอบ จ.ส.ต.ธนวรรษ ยืนยันว่า รถที่ควบคุมตัวปิยรัฐออกจากห้างไปได้โดยไม่มีผู้ใดมาขัดขวาง
จ.ส.ต.ปกรตอบทนายว่า ในส่วนของกลางที่พยานเป็นผู้ถ่ายภาพ มีการจัดวางของกลาง โดยสอบถามผู้ต้องหาก่อนว่าใช่ของตนเองหรือไม่ก่อน และไม่ได้ทำบันทึกการตรวจยึดในที่เกิดเหตุ และไม่ทราบว่าผู้ต้องหาดังกล่าวจะมีตำรวจผู้ใดเป็นผู้ควบคุมตัว อีกทั้งไม่ได้สอบถามผู้ต้องหาทั้งสามว่าเป็นสมาชิกกลุ่ม WeVo หรือไม่
พ.ต.ต.ภุชงค์ และ ร.ต.ต.ไพโรจน์ตอบทนายในทำนองเดียวกันว่า พยานเคยเห็นสื่อโซเชียลมีเดียของกลุ่มวีโว่และทราบจากสื่อว่ามีการจัดทํากิจกรรมเพื่อสังคมด้วย ส่วนสติกเกอร์คําว่า WE VOLUNTEER และคําว่า Company ที่ติดอยู่ที่หมวกกันน็อกของผู้ต้องหา พยานไม่ทราบว่าจะมีขายทั่วไปตามท้องตลาดหรือไม่ และไม่ทราบว่าผู้ที่มีสติกเกอร์ดังกล่าวจะเป็นสมาชิกกลุ่มใด อีกทั้งไม่ทราบว่าสัญลักษณ์รูปมือชูสามนิ้ว จะเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มวีโว่หรือไม่
.
4 ตำรวจร่วมจับกุมและถ่ายรูปเบิกความ ไม่ทราบว่าผู้ถูกจับกุมไปทำอะไรที่ห้างเมเจอร์ฯ ทั้งไม่ได้รับแจ้งว่ามีกรณีผิดสังเกต
ด.ต.สุภชัย สุริยัพ, ร.ต.อ.ณกฤตชัย สุขนิล, จ.ส.ต.นพรัตน์ วงศ์ไชย และ ด.ต.กฤตภาส น้อยสงวน ซึ่งได้รับมอบหมายให้ไปถ่ายภาพการชุมนุมในวันเกิดเหตุ เบิกความทำนองเดียวกับชุดจับกุมชุดอื่นว่า เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2564 พยานทั้งหมดได้เข้าประชุมตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา ในที่ประชุมแจ้งว่า มีสายข่าวของตํารวจสันติบาลและสืบสวนนครบาลแจ้งว่า กลุ่มการ์ดวีโว่จะมาชุมนุมที่ห้างเมเจอร์ รัชโยธิน และได้มอบหมายให้พยานไปถ่ายภาพการชุมนุม
พยานจึงได้ไปรวมกันที่อาคารจอดรถ 2 และกระจายไปที่ชั้น 3-5 และพบกับกลุ่มคนจำนวนหนึ่งมีทั้งแต่งกายด้วยเสื้อและกางเกงสีดำ และเสื้อสีอื่น บางคนกำลังวิ่งมาจากชั้นอื่น จึงขอเข้าตรวจค้นและควบคุมตัว แล้วพาขึ้นไปรวมกันที่ชั้น 5 ซึ่งพบว่ามีผู้ต้องหากลุ่มหนึ่งประมาณ 40-50 คน ถูกควบคุมตัวหมอบกับพื้นและเจ้าหน้าที่ทําการตรวจค้นอยู่
จากนั้นผู้บังคับบัญชาจึงได้มีคำสั่งให้พาผู้ที่ถูกจับไปที่ ตชด.ภาค 1 จ.ส.ต.นพรัตน์ นั่งมาในรถคันที่ 2 ในส่วนควบคุมผู้ต้องหาด้านหลังรถพร้อมกับ ด.ต.กฤตภาส ส่วนด้านหน้ารถ มี ร.ต.ท.ประยูร เป็นผู้ขับ ในรถควบคุมตัวมีผู้ชุมนุมประมาณ 17 คน มีทั้งผู้หญิงและผู้ชาย
จ.ส.ต.นพรัตน์ เบิกความด้วยว่า ในระหว่างที่รถควบคุมผู้ต้องหาทั้ง 3 คัน กําลังเคลื่อนที่ออกนั้น พยานเห็นกลุ่มคนนําสิ่งของขว้างปาใส่รถ รวมทั้งมีการนําแผงเหล็กไปกั้นเพื่อกีดขวางไม่ให้เคลื่อนที่ได้ แต่รถทั้ง 3 คัน ยังขับออกไปได้ ก่อนรถคันที่พยานนั่งมาจะหยุด กลุ่มผู้ต้องหาซึ่งอยู่ภายในห้องถีบประตู แต่ประตูไม่เปิด จากนั้นมีกลุ่มผู้ชุมนุมด้านนอกมาเปิดประตู เรียกเจ้าหน้าที่ให้ลงจากรถ เมื่อพยานลงจากรถแล้ว ชายร่างอ้วนที่ถูกควบคุมตัวมาบนรถได้เข้ามาทําร้ายพยาน โดยใช้มือตีที่ศีรษะ 2 ครั้ง เตะที่สะโพกซ้าย พยานจึงหลบหนีออกมาจากที่เกิดเหตุ
จากนั้นพยานทั้งสี่ตอบทนายจำเลยถามค้านในทำนองเดียวกันว่า ในที่ประชุมผู้บังคับบัญชา แจ้งว่าได้รับแจ้งจากกองกํากับการตํารวจนครบาลและตํารวจสันติบาล ว่ากลุ่มวีโว่จะใช้ความรุนแรง รวมทั้งมีการนําภาพจากการชุมนุมก่อนหน้ามาให้ดูว่ากลุ่มวีโว่จะมีการสวมปลอกแขน ทั้งมีสัญลักษณ์ว่า WeVo และไม่มี
ในที่ประชุมไม่ได้ระบุชื่อสมาชิกกลุ่มวีโว่ แจ้งเพียงว่ากลุ่มวีโว่เป็นการ์ดให้กับผู้ชุมนุม และในการชุมนุมที่ผ่านมาเกิดความรุนแรงจากกลุ่มวีโว่ด้วย แต่พยานไม่ทราบแนวคิดที่แท้จริงของกลุ่มวีโว่ ทั้งไม่ได้สืบสวนหาข่าวเกี่ยวกับกลุ่มวีโว่ ในการประชุมไม่มีการพูดถึงการชุมนุมของกลุ่ม REDEM
พยานไม่ได้รับมอบหมายว่า หากเจอกลุ่มคนใส่ชุดดําให้เข้าจับกลุ่มทันที แต่ได้รับมอบหมายให้บันทึกภาพและเสียงขณะตรวจค้นจับกุมไว้เป็นหลักฐาน มีเพียง ร.ต.อ.ณกฤตชัย ที่ได้รับมอบหมายให้ไปดูแลความเรียบร้อย หากพบการกระทําผิดก็ให้เข้าจับกุม
เมื่อพยานไปถึงชั้น 5 ก็พบผู้ต้องหาถูกควบคุมตัวอยู่แล้ว โดยไม่มีใครมีพฤติการณ์ขัดขืน พยานไม่ได้ยินตํารวจที่จับกุมแจ้งข้อกล่าวหาผู้ถูกควบคุมตัว
พยานทุกคนเบิกความทำนองเดียวกันว่า ไม่ทราบว่าบุคคลที่สวมเสื้อมีอักษรว่า People สังกัดกลุ่มใด พยานทราบว่า ในการชุมนุมทางการเมืองนอกจากกลุ่มวีโว่ที่ทำหน้าที่การ์ดแล้ว ยังมีกลุ่มอื่น และทราบว่า มีหลายกลุ่มที่เข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง
พยานไม่ทราบว่ากลุ่มบุคคลที่เข้าควบคุมตัวนั้นไปทําอะไรที่ห้างในวันเกิดเหตุ ก่อนควบคุมตัวกลุ่มผู้ต้องหาในกลุ่มไลน์ที่ใช้สื่อสารระหว่างปฏิบัติการก็ไม่ได้แจ้งว่ามีกรณีผิดสังเกตแต่อย่างใด พยานไม่ทราบด้วยว่า กลุ่มที่ถูกควบคุมตัวในวันเกิดเหตุนั้นเป็นสมาชิกกลุ่มวีโว่หรือไม่
จ.ส.ต.นพรัตน์ ตอบทนายจำเลยด้วยว่า ในระหว่างที่ควบคุมตัวผู้ต้องหาอยู่ในรถ ผู้ต้องหาไม่ได้ทําอะไรที่ผิดสังเกต จึงไม่ได้ถ่ายภาพไว้ และในช่วงที่ชุลมุนพยานไม่ทราบว่ากลุ่มผู้ต้องหาที่ใช้เท้าถีบประตูรถเป็นใครบ้าง และขณะที่พยานถูกทําร้ายนั้น ผู้ต้องหาคนอื่นยังอยู่ในรถ ข้างรถมีกลุ่มคนสวมชุดดํายืนอยู่ แต่ไม่มีใครห้าม
ด.ต.กฤตภาส รับกับทนายจำเลยว่า ตนเคยไปเบิกความที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางว่ากลุ่มผู้ต้องหาที่ถูกควบคุมตัวในวันเกิดเหตุ มีทั้งแต่งกายชุดดําและแต่งกายชุดธรรมดา
วันเกิดเหตุเมื่อกลุ่มผู้ชุมนุมนอกรถเปิดประตูพยานก็กระโดดลงจากรถ และเห็น ส.ต.อ.นพรัตน์ ที่กระโดดตามมาถูกทําร้าย พยานจึงดึง ส.ต.อ.นพรัตน์ ออกมาแล้วพากันวิ่งหลบหนีเข้าไปในซอย
.
ตำรวจผู้ขับรถผู้ต้องหาเบิกความ มีบุคคลแต่งกายคล้ายเจ้าหน้าที่ขว้างปาสิ่งของใส่รถ ก่อนถูกทำร้าย มีคนมาเปิดประตูห้องคุมขัง 2 คัน แต่ไม่ทราบว่าเป็นใคร
ส.ต.อ.กิตติพงษ์ ไชยวดี, ร.ต.ท.ประยูร โคลนกระโทก และ ส.ต.ท.คนองศิลป์ ละวิสิทธิ์ ตำรวจผู้ขับรถควบคุมผู้ต้องหาในวันเกิดเหตุ เบิกความทำนองเดียวกันว่า วันที่ 6 มี.ค. 2564 พยานได้รับคําสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ขับรถควบคุมผู้ต้องหาไปที่สถานีบริการน้ํามันเชลล์ข้าง ๆ ห้างเมเจอร์ รัชโยธิน ทั้งสามจึงขับรถควบคุมผู้ต้องหาไปคนละคันถึงปั๊มเชลล์ประมาณ 18.00 น.
จากนั้นไม่นานพยานได้รับคําสั่งให้ขับรถไปจอดบริเวณชั้นใต้ดินของห้างเมเจอร์ฯ จอดอยู่ประมาณ 20 นาที ก็มีตํารวจได้ควบคุมตัวกลุ่มผู้ชุมนุมจํานวนมากทยอยขึ้นรถทั้งสามคัน
รถคันแรก ส.ต.อ.กิตติพงษ์ เป็นผู้ขับ มีผู้ชุมนุมขึ้นมา 14 คน มีตํารวจนั่งที่ด้านหน้าไปด้วยอีก 2 คน คือ ร.ต.อ.กฤตวัฒน์ กับ ร.ต.อ.อัศวิน
รถคันที่ ร.ต.ท.ประยูร เป็นผู้ขับ แต่ ร.ต.ท.ประยูร ไม่ทราบว่า มีการควบคุมผู้ชุมนุมขึ้นรถกี่คน กลุ่มคนดังกล่าวถูกจับข้อหาใด มีตํารวจนั่งไปด้วย 1 คน ไม่ทราบว่าเป็นผู้ใด
รถคันที่สาม ส.ต.ท.คนองศิลป์ เป็นผู้ขับ ซึ่งจำไม่ได้ว่ามีผู้ต้องหาขึ้นรถกี่คน ตำรวจนํากระเป๋าหลายใบมาวางไว้ด้านหน้าข้างคนขับด้วย
พยานทั้งสามได้รับคำสั่งให้ขับไปที่ ตชด.ภาค 1 เมื่อขับออกมาจากห้างได้เพียงเล็กน้อย มีบุคคลแต่งกายในชุดปฏิบัติการคล้ายตํารวจโบกให้รถหยุดและนําแผงเหล็กมากั้นหน้ารถ มีผู้ชุมนุมใช้กระถางต้นไม้โยนใส่รถ รวมทั้งมีกระถางต้นไม้มาทุบข้างรถ มีการขว้างปาสิ่งของและยิงหนังสติ๊กใส่รถ พยานทั้งสามจึงขับรถฝ่าออกไปตาม ๆ กัน
ส.ต.อ.กิตติพงษ์ เบิกความว่า ตนได้ตัดสินใจขับรถตรงมาทางถนนที่จะไปศาลอาญา โดยมีกลุ่มผู้ชุมนุมขับรถจักรยานยนต์ติดตามมา ซึ่งระหว่างทางก็พบเห็นกลุ่มผู้ชุมนุมยืนอยู่ริมถนนข้างทางเป็นระยะ ๆ โดยใช้หนังสติ๊กยิงมาที่รถ
เมื่อมาถึงมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม มีกลุ่มผู้ชุมนุมนําก้อนหินขนาดใหญ่ปาใส่บริเวณกระจกหน้ารถ ฝั่งคนขับ ทำให้กระจกรถแตก และมีกลุ่มผู้ชุมนุมที่ขับรถจักรยานยนต์ติดตามมาใช้ท่อนไม้ฟาดกระจกบริเวณประตูข้างคนขับ เจ้าหน้าที่จึงลงจากรถโดยยังไม่ได้ดับเครื่องยนต์ กุญแจรถยังคาอยู่ที่รถ โดยพวงกุญแจรถมีกุญแจห้องควบคุมตัวผู้ต้องหาด้วย
ร.ต.อ.กฤตวัฒน์ กับ ร.ต.อ.อัศวิน ถูกกลุ่มผู้ชุมนุมรุมทําร้าย ระหว่างนั้นมีกลุ่มผู้ชุมนุมวิ่งเข้ามาจะทําร้ายพยานด้วย พยานจึงวิ่งหนีเข้าไปที่มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม โดยมีกลุ่มผู้ชุมนุมวิ่งติดตามมาสักระยะ แล้วก็หยุดตาม
พยานออกจากมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษมทางด้านหลัง ไปพักอยู่ที่บ้านของเพื่อนประมาณ 1 ชั่วโมง จากนั้นจึงกลับมาดูรถ ปรากฏว่าไม่อยู่แล้ว ทราบภายหลังว่ามีตํารวจมายกไปไว้ที่ สน.พหลโยธิน และพบว่า กระจกด้านหน้า กระจกข้างคนขับ และกระจกด้านหลังห้องควบคุมผู้ต้องหาแตก มีการใช้สีสเปรย์และสีน้ําพ่นและสาดใส่ตัวรถ
ด้าน ร.ต.ท.ประยูร เบิกความว่า ระหว่างที่รอสัญญาณไฟแดงที่แยกรัชโยธินอยู่นั้น ได้มีกลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งปิดใบหน้าเข้ามาใช้ก้อนหิน ไม้ และดิ้วเหล็ก ทุบกระจกรถด้านข้างคนขับแตก แล้วใช้มือเข้ามาดับเครื่องรถ และดึงกุญแจออก โดยระหว่างนั้นมีบุคคลทําร้ายพยานบริเวณศีรษะ ซึ่งไม่ทราบว่าเป็นผู้ใด และใช้อะไรทําร้าย เป็นเหตุให้ศีรษะบวมและมีรอยแตกเล็กน้อย
พยานไม่ทราบว่าตํารวจที่นั่งมาด้วยลงจากรถไปเมื่อใด เนื่องจากเป็นช่วงชุลมุนแต่พยานยังคงนั่งอยู่ภายในรถไม่กล้าลงไป หลังเหตุการณ์สงบแล้วพยานไปตรวจดูด้านหลังพบว่า กุญแจมือที่ล็อกประตูห้องควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้ถูกงัดออก ไม่มีผู้ต้องหาอยู่ภายในรถแล้ว จึงเดินไปที่ป้อมตํารวจด้าน สน.พหลโยธิน โดยได้หยิบกระเป๋าของตํารวจที่นั่งมาด้วย พยานเปิดดูกระเป๋าขณะอยู่ที่โรงพยาบาลตํารวจ พบว่ามีเงินสดอยู่ภายในกระเป๋า แต่ไม่ได้ตรวจนับว่ามีจํานวนเท่าใด จึงเก็บรักษาเงินดังกล่าวไว้ พร้อมกับแจ้งผู้บังคับบัญชาทราบ ต่อมา มีเตํารวจชุดสืบสวนมารับกระเป๋าและเงินดังกล่าวไป
ส่วน ส.ต.ท.คนองศิลป์ เบิกความว่า เมื่อออกจากห้างแล้ว กลุ่มผู้ชุมนุม 30-40 คน เข้ามาขว้างปาสิ่งของ รวมทั้งใช้สิ่งของฟาดกระจกบริเวณคนขับ ทำให้กระจกกระเด็นเข้าตา และมีคนมาดึงประตูฝั่งคนขับให้เปิดออก พยานจึงใช้มือดึงรั้งไว้ และมีคนใช้สิ่งของฟาดแขน พยานจึงใช้มือผลักคนที่ดึงประตูออกไป แล้วดึงประตูปิดและล็อกประตู
พยานขับรถออกมาที่ถนนเพื่อจะยูเทิร์น แต่ไม่สามารถไปได้ เนื่องจากมีกลุ่มผู้ชุมนุมอยู่จํานวนมาก รวมทั้งมีรถของประชาชนที่ติดสัญญาณไฟจราจรอยู่ จึงเบี่ยงซ้ายออกไป ขณะนั้นเป็นเวลาที่สัญญาณไฟจราจรเป็นสีเขียวพอดี บริเวณด้านหน้ามีรถควบคุมผู้ต้องหาคันหนึ่งจอดอยู่ ไม่สามารถไปได้ พยานจึงขับรถออกไปเข้าซอยพหลโยธิน 35 แล้วไปออกซอยวิภาวดี 40/2 และยูเทิร์นไปที่กองกํากับการตํารวจภูธรภาค 1
พยานได้ส่งมอบรถพร้อมทั้งผู้ต้องหาในรถให้ พ.ต.ท.นิรันดร์ พัฒนสุขเจริญ ที่พยานไม่ขับไปที่ ตชด.ภาค 1 ตามคําสั่งของผู้บังคับบัญชา เนื่องจากรถเกิดความเสียหาย มีกระจกแตก เกียร์หลุด หม้อน้ําแตก
พยานทั้งสามตอบทนายจำเลยถามค้านทำนองเดียวกันว่า รถควบคุมผู้ต้องหาที่ขับในวันเกิดเหตุ เป็นรถลักษณะเหมือนกันทุกประการ ไม่มีการติดตั้งกล้องวงจรปิด ทั้งที่ด้านหน้ารถหรือภายในห้องควบคุมผู้ต้องหา ในห้องควบคุมผู้ต้องหามีประตูกรงเหล็กที่ล็อกอัตโนมัติ และสามารถเปิดจากด้านนอกโดยใช้กุญแจ
บริเวณห้องควบคุมผู้ต้องหา เป็นกระจกทึบ มีลูกกรง คนภายนอกมองไม่เห็นภายในรถ ภายในห้องควบคุมผู้ต้องหามีเครื่องปรับอากาศ แต่จะเปิดใช้งานได้ต่อเมื่อมีการสตาร์ทเครื่องยนต์รถ หรือว่าบิดกุญแจไปที่สวิทช์ไฟ
ร.ต.ท.ประยูร และ ส.ต.ท.คนองศิลป์ ตอบทนายทำนองเดียวกันว่า ในช่วงเดือนที่เกิดเหตุเป็นเดือนมีนาคม อากาศจะร้อนกว่าปกติ และอากาศในห้องควบคุมตัวจะร้อนกว่าอากาศข้างนอก
พยานทั้งสามไม่แน่ใจว่าผู้ต้องหาที่ถูกควบคุมตัวนั้นได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาหรือไม่ และพยานไม่ได้รับรายชื่อของผู้ต้องหาก่อนที่จะนำตัวขึ้นรถ เจ้าพนักงานที่นำผู้ต้องหามาก็ไม่ได้แจ้งว่าผู้ต้องหากระทำความผิดอะไร ผู้ต้องหาที่ถูกควบคุมตัวมีทั้งบุคคลที่ใส่ชุดดําและแต่งกายธรรมดา
ส.ต.อ.กิตติพงษ์ และ ร.ต.ท.ประยูร เบิกความตรงกันว่า ไม่เห็นว่าใครเป็นผู้เปิดประตูรถควบคุมตัว
ภายหลัง ส.ต.อ.กิตติพงษ์ เห็นในไลฟ์สดว่ามีทนายความพาผู้ถูกควบคุมในรถดังกล่าวไปที่ สน.พหลโยธิน โดยดูไลฟ์สดจากเพจเฟซบุ๊ก แต่ไม่ทราบว่าเป็นเพจไหน
.
ตำรวจผู้ขนของกลางจากที่เกิดเหตุไป ตชด. เบิกความ ไม่ทราบว่าของกลางที่กระจัดกระจายอยู่ในที่เกิดเหตุเป็นของใคร ไม่สามารถระบุเจ้าของกระเป๋าและเสื้อคล้ายเกราะที่ยึดมาได้
พ.ต.อ.นิคม ศรเหล็ก และ ด.ต.สนั่น โนนใหม่ เบิกความทำนองเดียวกันว่า ขณะเกิดเหตุพยานรับราชการตำรวจอยู่ที่กองบังคับการสืบสวนสืบสวน บช.น.
ในวันเกิดเหตุพยานได้รับแจ้งจากผู้บังคับบัญชาให้ไปสังเกตการณ์กลุ่มวีโว่ที่จะมารวมตัวกันที่ชั้น 3-5 อาคารจอดรถ 2 ห้างเมเจอร์ รัชโยธิน ทราบชื่อแกนนำว่าคือ ปิยรัฐหรือโตโต้
พยานกับพวกจึงเดินทางไปที่ห้างเมเจอร์ฯ ในเวลา 12.00 น. เศษ พ.ต.อ.นิคม เฝ้าบริเวณทางเชื่อมระหว่างอาคารจอดรถกับห้าง ทำให้มองเห็นได้หลายทิศทาง ส่วน ด.ต.สนั่น นั่งสังเกตการณ์อยู่ในรถที่อยู่ชั้น 3 จนเวลาประมาณ 15.00 น. พยานเห็นกลุ่มคนสวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว สะพายเป้ บางคนสวมหมวกเซฟตี้ มีผ้าผูกคอปิดบังใบหน้าหลายคน เดินมาจากหลายทิศทางไปยังอาคารจอดรถ 2 และไปรวมตัวกันที่ชั้น 5
ต่อมา พยานได้รับแจ้งว่ามีการควบคุมกลุ่มผู้ชุมนุมที่ชั้น 5 และให้พยานไปช่วยเหลือในการควบคุมตัวและตรวจค้น พยานจึงขึ้นไปที่ชั้น 5 พบว่า หน่วยอรินทราชและหน่วยปฏิบัติการพิเศษ 191 ได้ควบคุมตัวกลุ่มผู้ชุมนุมไว้แล้วในลักษณะให้นอนราบกับพื้น โดยมีสายเคเบิลไทร์รัดข้อมือที่ไขว้หลังไว้
พยานเห็นว่ามีสัมภาระวางอยู่บนพื้นหลายอย่าง เช่น เสื้อคล้ายเกราะ เป้สะพายหลังจำนวนมาก ซึ่งไม่ทราบว่าเป็นของใครบ้าง ด.ต.สนั่น ได้ตรวจค้นกระเป๋าสองใบ พบหนังสติ๊ก ลูกแก้ว ลูกเหล็ก ระเบิดปิงปอง และระเบิดควัน จึงถ่ายภาพไว้
หลังจากนั้นตำรวจชุดที่ควบคุมตัวได้นำตัวกลุ่มผู้ชุมนุมลงไปขึ้นรถควบคุมผู้ต้องหาด้านล่าง พยานทั้งสองคนกับพวกได้รับมอบหมายให้นำของกลางไปที่ ตชด. ภาค 1 พยานจึงขับรถขึ้นมายังชั้น 5 ด.ต.สนั่น และขนสัมภาระขึ้นรถ ระหว่างที่รถออกจากห้างพยานเห็นผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ยืนประจันหน้ากันอยู่
พ.ต.อ.นิคม เบิกความต่อว่า เมื่อไปถึง ตชด.ภาค 1 แล้ว ได้นำสัมภาระที่บรรทุกมาส่งมอบให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดน ภาค 1 เพื่อไปดำเนินการต่อ หลังจากนั้นพยานได้ไปพบพนักงานสอบสวน สน.พหลโยธิน เพื่อชี้ยืนยันเสื้อเกราะที่พบในวันเกิดเหตุและให้การกับพนักงานสอบสวน
พ.ต.อ.นิคม และ ด.ต.สนั่น ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ก่อนเกิดเหตุในคดีนี้ พยานทั้งสองคนเคยไปสังเกตการณ์การชุมนุมและเห็นว่า ผู้ชุมนุมที่ใส่ชุดสีดำ สะพายเป้ หรือสวมเครื่องป้องกันตัวระหว่างชุมนุม บางส่วนทำหน้าที่เป็นการ์ด และบางคนก็เป็นเพียงผู้ชุมนุม แต่ถ้าเป็นกลุ่มการ์ดมักจะมีสัญลักษณ์ของกลุ่ม สามารถแยกแยะได้
พยานไม่เคยติดตามกลุ่มวีโว่ ข่าวที่ว่าปิยรัฐเป็นแกนนำกลุ่มนั้นพยานได้รับแจ้งจากผู้บังคับบัญชา ซึ่งได้รับแจ้งจากตำรวจสันติบาลอีกทอดหนึ่ง
พ.ต.อ.เผด็จ งามละม่อม ผู้บังคับบัญชาของพยาน แจ้งในที่ประชุมให้พยานไปสังเกตการณ์กลุ่มวีโว่ และให้บันทึกภาพบุคคลต้องสงสัยไว้ โดยไม่ได้ระบุตำหนิรูปพรรณของสมาชิกกลุ่มวีโว่ บอกเพียงลักษณะของกลุ่ม ทั้งไม่มีการพูดเรื่องการออกหมายจับและหมายค้น หรือมอบหมายให้ไปประจำที่กล้องวงจรปิดของห้างหรือโรงหนัง
พยานไม่ได้ตรวจสอบว่า กลุ่มที่ถูกควบคุมตัวเป็นกลุ่มการ์ดวีโว่จริงหรือไม่ เนื่องจากไม่ใช่หน้าที่ของพยาน
กลุ่มคนที่พยานเห็นทยอยเดินทางมาจากหลายทิศทางไปที่อาคารจอดรถนั้นพยานไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นกลุ่มเดียวกับคนที่ถูกควบคุมตัวในวันนั้นหรือไม่ และที่เบิกความว่ามีผ้าปิดบังใบหน้านั้นที่จริงมีทั้งที่ใช้ผ้าและหน้ากากอนามัย
ระหว่างสังเกตการณ์พยานได้ใช้โทรศัพท์ถ่ายภาพกลุ่มเป้าหมายส่งเข้ากลุ่มไลน์เจ้าหน้าที่และรายงานสถานการณ์เป็นระยะ แต่ไม่ได้มอบภาพเหล่านั้นให้พนักงานสอบสวน
กลุ่มผู้ชุมนุมที่ถูกควบคุมตัวให้นอนคว่ำและเอามือไขว้หลังรัดด้วยเคเบิลไทร์นั้น อยู่ในลักษณะกระจัดกระจาย ไม่ได้นอนเรียงกัน ในระหว่างที่อยู่ที่ชั้น 5 พยานได้ยินเสียงลูกเหล็กตกกระทบพื้น ซึ่ง ด.ต.สนั่น เห็นว่ากลุ่มคนชุดดำเป็นคนยิงมา แต่ไม่ได้ถ่ายภาพไว้ และไม่เคยเห็นภาพบุคคลที่ยิงหนังสติ๊กในไลน์กลุ่มเจ้าหน้าที่
สัมภาระที่ พ.ต.อ.นิคม รวบรวมไป ตชด.ภาค 1 เป็นกระเป๋าเป้กว่า 10 ใบ และมีเสื้อคล้ายเกราะอยู่มากกว่า 1 ตัว เป็นโทนสีเข้ม ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นสีดำหรือไม่ เพราะในขณะนั้นเป็นเวลากลางคืน และไม่ทราบว่าเป็นของบุคคลใด และไม่มีการทำเครื่องหมายไว้
ส่วน ด.ต.สนั่น ตอบทนายจำเลยว่า พยานไม่ได้ถ่ายรูปของกลางในกระเป๋า 2 ใบ ที่ตรวจค้นแยกกัน แต่กระเป๋าทั้งสองไม่มีสัญลักษณ์ของกลุ่มวีโว่
.
ชุดสืบ สน.พหลโยธิน ตรวจสอบกล้องวงจรปิด อ้างกลุ่มชายที่ไปเอาโล่จากรถกระบะและกลุ่มที่ทุบรถเป็นกลุ่มเดียวกัน แต่ไม่ทราบเป็นกลุ่มใด ไม่ยืนยันว่าเป็นกลุ่มวีโว่หรือไม่ เหตุไม่ปรากฏสัญลักษณ์
โจทก์นำชุดสืบสวน สน.พหลโยธิน 2 นาย ที่ได้รับมอบหมายให้ตรวจสอบกล้องวงจรปิดบริเวณเกิดเหตุ เข้าเบิกความ
ร.ต.อ.พชรพล กลิ่นจิตโต ชุดสืบสวน สน.พหลโยธิน เบิกความว่า วันที่ 6 มี.ค. 2564 หลังเกิดเหตุในคดีนี้ พยานได้รับคําสั่งให้ไปตรวจสอบกล้องวงจรปิดภายในห้างเมเจอร์ รัชโยธิน และแยกรัชโยธิน จากการตรวจสอบพบว่า วันเกิดเหตุเวลา 17.00 น. มีการรวมตัวกันของกลุ่มคน ซึ่งผู้บังคับบัญชาแจ้งว่า เป็นกลุ่มการ์ดวีโว่ ก่อนหน้านั้นเวลา 16.15 น. มีรถกระบะสีเทาบรรทุกอุปกรณ์ป้องกันตัวและโล่ไว้ด้านท้ายขับเข้ามาจอดบริเวณลานจอดรถ และเวลาประมาณ 18.15 น. กลุ่มชายซึ่งคาดว่าเป็นกลุ่มวีโว่เดินมานําอุปกรณ์ที่อยู่ท้ายรถไป
ต่อมา ตํารวจได้เข้าควบคุมกลุ่มวีโว่บริเวณอาคารจอดรถนําขึ้นรถควบคุมผู้ต้องหาขับออกมา แต่ถูกกลุ่มวีโว่ทุบรถควบคุมผู้ต้องหาและชิงตัวผู้ต้องหาไป พยานตรวจสอบกล้องวงจรปิดและภาพที่เจ้าหน้าที่บันทึกไว้พบว่า กลุ่มที่เดินไปเอาโล่จากรถกระบะและกลุ่มที่ทุบรถควบคุมผู้ต้องหานั้นเป็นกลุ่มเดียวกัน เนื่องจากมีการแต่งกายลักษณะเดียวกัน สังเกตจากลายเสื้อและเป้ที่สะพาย จากนั้นพยานได้จัดทํารายงานการสืบสวนไว้
จากนั้นพยานตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ช่วงเดือน ต.ค.-ธ.ค. 2563 มีการชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎรในเขตรับผิดชอบของ สน.พหลโยธิน หลายครั้ง ไม่ปรากฏว่า มีกลุ่มวีโว่ก่อความไม่สงบหรือทําร้ายเจ้าหน้าที่ และในการชุมนุมนอกจากกลุ่มการ์ดวีโว่ ยังมีการ์ดกลุ่มอื่น ๆ ด้วย
ภาพบุคคลที่มาเอาโล่ท้ายรถกระบะไม่ปรากฏว่า สวมปลอกแขนและผ้าพันคอที่มีสัญลักษณ์กลุ่มวีโว่ และพยานไม่ทราบว่ามีการตรวจยึดโล่จากจําเลยในคดีนี้หรือไม่
พยานได้รับมอบหมายให้สืบสวนและทํารายงานว่ากลุ่มที่ไปเอาโล่ที่รถกระบะกับกลุ่มที่ถูกควบคุมตัวในวันเกิดเหตุเป็นกลุ่มเดียวกันหรือไม่ พยานสรุปรายงานว่าทั้งสองกลุ่มดังกล่าวนั้นเป็นกลุ่มก่อเหตุเดียวกัน โดยสรุปจากกล้องวงจรปิดที่กลุ่มผู้ต้องหาเดินไปขึ้นรถ ตําหนิรูปพรรณ การแต่งกาย เปรียบเทียบกับคลิปเหตุการณ์ขณะเกิดเหตุ โดยไม่ได้ไปตรวจสอบกล้องวงจรปิดบริเวณที่มีการจับกุมผู้ต้องหา ซึ่งกลุ่มบุคคลดังกล่าวพยานไม่ทราบชื่อและนามสกุล และไม่ทราบว่าจะเป็นจําเลยในคดีนี้หรือไม่
ตามภาพในรายงานที่พยานจัดทำ แผ่นที่ 123 ภาพบนเป็นบุคคลสะพายเป้ ภาพล่างไม่ได้สะพายเป้ แต่พยานสรุปว่าบุคคลดังกล่าวเป็นบุคคลเดียวกัน, แผ่นที่ 129 ปรากฏภาพบุคคลสวมเสื้อลายมากกว่าหนึ่งคน ซึ่งในวันเกิดเหตุพยานไม่ทราบว่าจะมีบุคคลใส่เสื้อลายกี่คน
ปกติการ์ดที่ไปในที่ชุมนุมจะแต่งกายด้วยชุดสีดําและมีอุปกรณ์ป้องกันตัว ซึ่งไม่สามารถแยกแยะได้ว่าเป็นการ์ดกลุ่มใด เว้นแต่จะมีสัญลักษณ์บ่งบอก
พยาน จําไม่ได้ว่า พยาน เคยไปเป็นพยานในคดีการชุมนุมของกลุ่มรีแดม เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2564 ที่ศาลแขวงพระนครเหนือหรือไม่
กลุ่มที่เข้าไปทุบรถควบคุมผู้ต้องหานอกจากกลุ่มที่พยานสืบสวนว่าเป็นกลุ่มที่ไปเอาโล่จากรถยนต์กระบะแล้ว อาจจะมีกลุ่มของผู้ชุมนุมที่เดินมาจากห้าแยกลาดพร้าวด้วย
ด้าน พ.ต.ท.ธเนศ ศรีจําปา ขณะเกิดเหตุเป็น รอง ผกก.สส.สน.พหลโยธิน เบิกความว่า เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2564 พยานได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้ตรวจสอบกล้องวงจรปิดบริเวณห้างเมเจอร์ รัชโยธิน และแยกรัชโยธิน
จากการตรวจสอบกล้องวงจรปิดภายในห้าง พร้อมทั้งดูคลิปจากสื่อโซเชียล พบว่า ประมาณ 18.00 น. ตํารวจได้ควบคุมผู้ต้องหาขึ้นรถ 3 คัน ขับออกจากห้างเมเจอร์ฯ แต่ถูกกลุ่มผู้ชุมนุมขัดขวาง คันแรกมุ่งหน้าไปที่ถนนรัชดา จนถึงหน้ามหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษมถูกกลุ่มผู้ชุมนุมขัดขวางจนไม่สามารถไปต่อได้ คันที่ 2 ติดอยู่บริเวณแยกรัชโยธิน ส่วนคันที่ 3 ขับฝ่ากลุ่มผู้ชุมนุมไปได้ ทั้ง 3 คัน ถูกกลุ่มผู้ชุมนุมขว้างปาสิ่งของใส่
พยานได้จัดทำรายงานสรุปถึงพฤติกรรมของแต่ละบุคคลที่ปรากฏในกล้องวงจรปิดและคลิปเหตุการณ์ต่าง ๆ ซึ่งสามารถพิสูจน์ทราบ ได้ 2 คน คนแรกเป็นเยาวชนลงมาจากรถคันที่ 2 แล้วใช้มือทุบบริเวณกระจกด้านหน้ารถ อีกคนคือ จำเลยที่ 20 ซึ่งลงจากรถควบคุมผู้ต้องหาคันที่ 2 เช่นเดียวกัน
พ.ต.ท.ธเนศ ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า เท่าที่ทราบกลุ่มวีโว่จะสวมเสื้อที่มีข้อความด้านหน้าว่า WE VOLUNTEER แต่พยานไม่ทราบว่า กลุ่มวีโว่ตั้งขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ใด
ตามรายงานที่พยานจัดทำ พยานสรุปว่ากลุ่มคนที่ลงจากรถควบคุมผู้ต้องหาทุกรายได้อยู่รายงานตัวกับตํารวจ สน.พหลโยธิน ซึ่งขณะนั้นพยานก็อยู่ด้วย โดยกลุ่มคนดังกล่าวแจ้งว่า ตํารวจที่ควบคุมตัวไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาใด ๆ และหลังจากที่รายงานตัวตำรวจก็ไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาอั้งยี่, ซ่องโจร และไม่ได้ควบคุมตัวไว้
พยานไม่ทราบว่า กลุ่มคนที่มาทุบรถควบคุมผู้ต้องหาในวันเกิดเหตุเป็นกลุ่มใด ตามภาพถ่ายในรายงานที่พยานจัดทําก็ไม่ปรากฏว่ากลุ่มคนดังกล่าวสวมปลอกแขนและผ้าพันคอสีเขียว ทั้งไม่ปรากฏว่ากระจกหน้ารถควบคุมผู้ต้องหาแตกและเสียหาย
พยานไม่ทราบว่าที่พยานเบิกความว่าพิสูจน์ทราบตัวบุคคลได้ 2 คน นั้น ทั้งสองเป็นสมาชิกกลุ่มวีโว่หรือไม่ ภาพถ่ายในรายงานที่ระบุว่า เป็นจำเลยที่ 21 ก็ไม่ได้สวมปลอกแขนหรือมีผ้าพันคอที่เป็นสัญลักษณ์กลุ่มวีโว่
ก่อนวันเกิดเหตุพยานเคยไปควบคุมการชุมนุมในเขตพื้นที่พหลโยธิน แต่ก็ยังไม่เคยเจอเหตุการณ์ที่มีการปะทะกัน และไม่ปรากฏว่ามีการใช้ความรุนแรงของกลุ่มวีโว่ ซึ่งหากมีการปะทะกันในการชุมนุม เจ้าหน้าที่ก็จะใช้กระบอง ฉีดน้ํา หรือยิงกระสุนยางบ้าง ในวันเกิดเหตุที่มีผู้ชุมนุมเตรียมอุปกรณ์ป้องกันตัวก็อาจเพื่อป้องกันเหตุดังกล่าว
.
เจ้าหน้าที่ กสทช. ผู้ตรวจวิทยุสื่อสารของกลางระบุ มี 2 เครื่องที่ผ่านการรับรองของ กสทช. – หากเป็นช่วงคลื่นที่ภาคประชาชนได้รับอนุญาตให้ใช้ ไม่ต้องขออนุญาต
ธนชัย เคลาเปีย และปฏิภาณ สอาดเอี่ยม เจ้าหน้าที่ กสทช. ผู้ตรวจพิสูจน์วิทยุโทรคมนาคม เบิกความเช่นเดียวกันว่า เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2567 พนักงานสอบสวน สน.พหลโยธิน ได้ส่งวิทยุโทรคมนาคม จํานวน 24 เครื่อง ให้พยานตรวจสอบความถี่และกําลังส่งของเครื่องว่าผ่านมาตรฐานการรับรองของ กสทช. หรือไม่ ซึ่งต้องเป็นเครื่องที่สามารถรับส่งคลื่นความถี่ที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ในภาคประชาชน โดยมีเพียง 2 เครื่อง ที่ผ่านมาตรฐานและผ่านการรับรอง ที่เหลือไม่ผ่านมาตรฐานและนําเข้ามาโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย
นอกจากนี้ พยานได้ตรวจสอบข้อมูลการได้รับใบอนุญาตให้นําเข้า มีและใช้เครื่องวิทยุโทรคมนาคม ของผู้ต้องหาตามรายชื่อที่พนักงานสอบสวนส่งให้แล้ว ไม่ปรากฏว่าเคยได้รับอนุญาต
ธนชัยตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ความถี่ที่ภาคประชาชนได้รับอนุญาตให้ใช้อยู่ในช่วง 245 – 247 เมกะเฮิร์ตซ์ ซึ่งเครื่องที่ส่งมาให้พยานตรวจมีจํานวน 22 เครื่อง ที่เป็นช่องความถี่อื่น โดยมียี่ห้อและรูปร่างลักษณะเหมือนกัน หากจะระบุความแตกต่างต้องดูหมายเลขที่อยู่ภายในเครื่อง เมื่อถอดแบตเตอรี่ออก
กสทช. มีเจ้าหน้าที่ที่ออกตรวจสอบและตรวจยึดวิทยุโทรคมนาคมที่ผิดกฎหมาย โดยในการตรวจยึดจะระบุหมายเลขเครื่องที่ตรวจยึดและระบุว่าตรวจยึดจากผู้ใด
วิทยุโทรคมนาคมที่ขายออนไลน์มีจํานวนมากที่ไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเจ้าหน้าที่ กสทช. ก็พยายามเข้าตรวจสอบและปราบปราม โดยผู้ขายมักแอบอ้างว่า ได้รับอนุญาตถูกต้อง ทําให้ประชาชนที่ไม่ทราบหลงเชื่อซื้อและนํามาใช้
ความถี่ที่ภาคประชาชนได้รับอนุญาตให้ใช้นั้น ส่วนใหญ่จะใช้ในพนักงานรักษาความปลอดภัยตามห้างร้าน และมูลนิธิกู้ภัยต่าง ๆ บ้าง แต่โดยปกติมูลนิธิกู้ภัยต่าง ๆ จะได้รับจัดสรรคลื่นความถี่โดยเฉพาะอยู่ด้วย
การกําหนดช่วงความถี่ที่ให้ใช้แต่ละประเภทนั้น เพื่อไม่ให้เกิดการรบกวนกัน
กสทช. สามารถตรวจสอบเครื่องที่ใช้ความถี่นอกเหนือจากที่ได้รับอนุญาต โดยไปรบกวนช่องความถี่อื่นได้ แต่พยานไม่ได้ตรวจวิทยุของกลางทั้ง 24 เครื่อง ว่า ได้มีการใช้ความถี่ที่ไปกระทบช่องความถี่อื่นหรือไม่
จุดมุ่งหมายในการตรวจพิสูจน์วิทยุของกลางของพยานก็คือ ตรวจสอบว่าเป็นเครื่องที่ผ่านการรับรองมาตรฐานทางเทคนิคจาก กสทช. หรือไม่ และผู้ครอบครองมีใบอนุญาตให้มีหรือใช้หรือไม่
เครื่องวิทยุโทรคมนาคมที่มีใบอนุญาตให้มีและใช้นั้น บุคคลอื่นก็สามารถใช้เครื่องนั้นได้ สําหรับความถี่ที่อนุญาตให้ใช้ได้ในภาคประชาชน
วิทยุสื่อสารที่มีกําลังส่งต่ํากว่า 500 มิลลิวัตต์ ที่ใช้ความถี่ในภาคประชาชนนั้น ไม่ต้องขอใบอนุญาตมีและใช้ เครื่องที่มีสภาพชํารุดไม่สามารถตรวจสอบกําลังส่งได้
ส่วนปฏิภาณตอบทนายจำเลยถามค้านว่า เครื่องวิทยุที่จะเป็นเครื่องวิทยุโทรคมนาคมตาม พ.ร.บ.วิทยุคมนาคมฯ ต้องสามารถรับส่งคลื่นได้จริง ซึ่งการทดสอบต้องใช้เครื่องมือวัด แต่ขณะที่พยานตรวจทดสอบเครื่องวิทยุของกลางนั้น ไม่ได้ถ่ายภาพไว้
เครื่องวิทยุโทรคมนาคมแต่ละเครื่องมีช่วงคลื่นความถี่ที่ใช้ในการรับส่ง ซึ่งในการใช้ต้องปรับว่าจะใช้คลื่นใด แต่หากต้องการใช้ในกิจการใดต้องไปให้คณะกรรมการ กสทช. พิจารณาแล้วออกใบอนุญาตให้ ซึ่งใบอนุญาตจะระบุชัดว่าเครื่องดังกล่าวจะใช้ในช่วงความถี่ใด ในการนําเข้าหรือผลิตเครื่องวิทยุสื่อสารนั้น ต้องอยู่ในคลื่นความถี่ที่ กสทช. อนุญาตให้ใช้ได้เท่านั้น หากต้องการดัดแปลงความสามารถในการรับส่งคลื่นของเครื่อง ต้องขออนุญาต กสทช. ด้วย
วิทยุของกลางที่ส่งให้พยานตรวจพิสูจน์เป็นประเภทกิจการเคลื่อนที่ทางบก ซึ่งกําหนดให้มีกําลังส่งไม่เกิน 5 วัตต์
กสทช. มีเว็บไซต์ให้ประชาชนทั่วไปที่จะซื้อเครื่องวิทยุโทรคมนาคมมาใช้ สามารถเข้าไปตรวจสอบก่อนว่า เครื่องรุ่นที่จะซื้อผ่านการได้รับอนุญาตจาก กสทช. แล้วหรือยัง
พยานไม่ทราบว่าบริษัทตัวแทนจําหน่ายเครื่องวิทยุสื่อสารจะต้องมีหน้าที่มาขอใบอนุญาตในการใช้ให้กับผู้ซื้อหรือไม่
.
ตำรวจกรมสรรพาวุธระบุ เสื้อเกราะของกลาง 16 ใน 22 ตัว เป็นยุทธภัณฑ์ ป้องกันกระสุนได้ แต่ไม่ทราบก่อนส่งมาตรวจพิสูจน์มีสภาพ – ถูกเก็บรักษาอย่างไร
พ.ต.ท.ชิตพล สะอาดดี เจ้าหน้าที่กรมสรรพาวุธตำรวจ ผู้ตรวจพิสูจน์เสื้อเกราะและหน้ากากป้องกันแก๊ส เบิกความว่า ช่วงเดือนมีนาคม 2564 พนักงานสอบสวน สน.พหลโยธิน ได้ส่งหน้ากากป้องกันแก๊สพิษ 16 อัน และเสื้อเกราะป้องกันกระสุน 22 ตัว มาให้พยานตรวจพิสูจน์ว่าเป็นยุทธภัณฑ์ตาม พ.ร.บ.ควบคุมยุทธภัณฑ์ฯ หรือไม่
เสื้อเกราะทั้ง 22 ตัว ภายนอกมีลักษณะเป็นเสื้อกั๊กที่สามารถสวมใส่ได้ และมี 16 ตัว ที่มีโลหะแผ่นผสมขึ้นรูป สามารถนํามาใส่ภายในเสื้อด้านหน้าและด้านหลังได้พอดี เมื่อไปยิงทดสอบโดยใช้ลํากล้องขนาด .38 ในระยะ 5 เมตร ตามมาตรฐาน ปรากฏว่าเสื้อเกราะ 16 ตัว ที่ภายในมีแผ่นโลหะผสม สามารถป้องกันกระสุนดังกล่าวได้ ส่วนอีก 6 ตัว ซึ่งไม่มีแผ่นโลหะ ไม่สามารถป้องกันกระสุนได้ พยานจึงทํารายงานการตรวจพิสูจน์ว่า เป็นเสื้อเกราะจํานวน 16 ตัว และเป็นยุทธภัณฑ์ตาม พ.ร.บ.ควบคุมยุทธภัณฑ์ฯ ซึ่งผู้มีไว้ในครอบครองต้องได้รับอนุญาตจากปลัดกระทรวงกลาโหม
สําหรับหน้ากากกันแก๊สของกลาง 16 อัน ที่ส่งมาตรวจพิสูจน์นั้น ปรากฏว่ามี 1 อัน เป็นหน้ากากป้องกันแก๊สซึ่งมีใช้ในทางทหารหรือตํารวจเท่านั้น เพราะสามารถป้องกันละอองแก๊สที่เป็นอันตรายต่อระบบประสาทและสามารถป้องกันสะเก็ดระเบิดได้ตามมาตรฐาน
พยานตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ในการยิงทดสอบเสื้อเกราะนั้น ใช้ปืนกระบอกเดียวกันและใช้แท่นยิง หลังเสื้อเกราะมีวัสดุหนุนเป็นดินน้ํามัน ซึ่งจะปรากฏรอยยุบของกระสุนที่ยิง โดยเสื้อเกราะที่ทดสอบว่าเป็นยุทธภัณฑ์ทั้ง 16 ตัวนั้น ปรากฏรอยยุบของกระสุนที่ดินนํ้ามันทุกนัด แต่ไม่ได้มีการวัดรอยยุบตัวมาประกอบความเห็น
แผ่นเกราะในเสื้อเกราะทั้ง 16 ตัวนั้น เป็นแผ่นของโลหะผสมสแตนเลสสตีลเกรดเดียวกับวัสดุเกราะของบริษัทที่จําหน่ายเสื้อเกราะ ซึ่งมีขายในท้องตลาด
มาตรฐานในการตรวจเสื้อเกราะของกรมสรรพาวุธตำรวจแตกต่างจากมาตรฐานของกระทรวงกลาโหม ซึ่งพยานไม่เคยนําผลการทดสอบเสื้อเกราะที่พยานจัดทำไปสอบถามที่สํานักงานมาตรฐาน กรมวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีกลาโหม ว่าเสื้อเกราะของกลางเป็นยุทธภัณฑ์ตามประกาศของกระทรวงกลาโหมหรือไม่
ขณะพยานทดสอบเสื้อเกราะ มีเจ้าหน้าที่อีกคนหนึ่งบันทึกภาพไว้
เสื้อเกราะของกลางมีสีดํา 20 ตัว สีเขียว 1 ตัว และสีลายพราง 1 ตัว เสื้อเกราะสีดําทั้ง 20 ตัว ลักษณะภายนอกเหมือนกัน ไม่มีลวดลายหรือสัญลักษณ์ใดระบุไว้โดยเฉพาะ
เสื้อเกราะหากเป็นยุทธภัณฑ์ตามกฎหมายแล้ว บุคคลทั่วไปไม่สามารถมีไว้ในครอบครองได้ เว้นแต่ได้รับอนุญาต ส่วนการที่ประชาชนมีไว้ใส่เพื่อป้องกันภัยนั้น อยู่ที่ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ในการดําเนินคดีแต่ละเรื่อง
เสื้อเกราะและหน้ากากป้องกันแก๊สพิษของกลางที่ส่งมาให้พยานตรวจพิสูจน์นั้น พยานไม่ทราบว่ามีการตรวจยึดและเก็บรักษาอย่างไร
เสื้อเกราะที่เป็นยุทธภัณฑ์นั้นจะต้องมีเสื้อและวัดสุป้องกันอยู่ในตัวเดียวกัน ส่วนเสื้อเกราะของกลางที่ส่งมาให้พยานนั้น พยานไม่ทราบว่า ก่อนหน้าที่จะส่งให้พยานมีสภาพอย่างไร
ตามรายงานการตรวจพิสูจน์ไม่ได้ระบุว่า หน้ากากกันแก๊ส 1 อัน นั้น สามารถป้องกันสะเก็ดระเบิดได้
.
EOD ชี้ วัตถุทรงกระบอกของกลางเป็นยุทธภัณฑ์ หากจุดชวนจะระเบิดหรือมีแก๊สออกมา แต่รับว่าไม่ได้ทดลองจุด
พ.ต.ท.วิชชา มีสุข เจ้าหน้าที่หน่วยเก็บกู้ทําลายวัตถุระเบิดและพิสูจน์ทราบวัตถุระเบิด (EOD) ผู้ตรวจพิสูจน์วัตถุระเบิดของกลาง เบิกความว่า เมื่อเดือนมีนาคม 2564 พนักงานสอบสวน สน.พหลโยธิน ได้ส่งของกลางเป็นวัตถุทรงกระบอกจํานวน 6 ชิ้น ลูกปิงปอง 22 ลูก เพื่อให้พยานตรวจพิสูจน์ว่าเป็นวัตถุระเบิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ หรือไม่ สามารถทําลายล้างชีวิตและทรัยพ์สินได้มากน้อยเพียงใด และนายทะเบียนสามารถออกใบอนุญาตให้ได้หรือไม่ รวมทั้งเป็นยุทธภัณฑ์ตาม พ.ร.บ.ยุทธภัณฑ์ฯ หรือไม่
ในการตรวจพิสูจน์วัสดุทรงกระบอกจํานวน 6 อันนั้น พยานทําการผ่ากระบอกออก พบว่า 5 อัน ภายในมีผงแก๊สน้ําตาบรรจุอยู่ หากมีการจุดหรือดึงสลัก จะเป็นผลให้มีควันออกมา ซึ่งมีพิษต่อสายตาและระบบการหายใจ ทำให้แสบคัน หากสูดเข้าไปจํานวนมากจะทําให้การหายใจติดขัด โดยทาสีดํา 4 อัน สีเงิน 1 อัน
ส่วนวัตถุทรงกระบอกอีก 1 อัน เป็นท่อพลาสติกทรงกระบอกสีฟ้า ภายในมีห่อวัตถุระเบิดแรงต่ําประเภทดินดําหรือดินเทา มีสายชนวนสําหรับจุด ซึ่งหากจุดไฟจะเกิดการระเบิด กระบอกทรงพลาสติกจะแตกเป็นสะเก็ดระเบิด หากไปตกระเบิดในวัสดุที่เปราะบาง วัสดุดังกล่าวก็จะเป็นสะเก็ดระเบิดด้วย ซึ่งสามารถทําอันตรายต่อร่างกายและทรัพย์สินได้ ซึ่งวัตถุของทรงกระบอก 6 อันดังกล่าว เป็นยุทธภัณฑ์
สําหรับลูกปิงปองจํานวน 22 ลูก ถูกพันด้วยเทปพันสายไฟสีดํา เมื่อแกะออกดู ภายในบรรจุวัตถุระเบิดประเภทดินดําหรือดินเทาเช่นเดียวกับวัตถุทรงกระบอก มีสายชนวน ซึ่งหากมีการจุดเปลวไฟจะทําให้ระเบิด สามารถทําอันตรายต่อชีวิตและทรัพยสินได้ แต่หากโยนโดยไม่จุดชนวนก็จะไม่ระเบิด
ต่อมา พ.ต.ท.วิชชา ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า พยานไม่ได้ทดลองจุดวัตถุทรงกระบอกดังกล่าว เนื่องจากต้องส่งคืนพนักงานสอบสวนเป็นพยานหลักฐาน
แก๊สน้ําตาของกลางที่ส่งมาตรวจพิสูจน์มีลักษณะเช่นเดียวกันกับแก๊สน้ําตาที่เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนใช้
.
ปอท. – กองพิสูจน์หลักฐาน อ้าง พบข้อมูลการสนทนานัดหมายชุมนุม-รูปภาพในโทรศัพท์จำเลย แต่ระบุบุคคลที่สนทนาไม่ได้ – ไม่พบมีการขอศาลสั่งให้เข้าถึงข้อมูลในโทรศัพท์
ร.ต.อ.หญิง ปัทม สุกแก้ว ตำรวจ ปอท. เบิกความว่าประมาณต้นเดือนมีนาคม 2564 พนักงานสอบสวนได้ส่งโทรศัพท์เคลื่อนที่จํานวน 9 เครื่อง มาให้พยานทําสําเนาข้อมูลในโทรศัพท์ลงเครื่องคอมพิวเตอร์ พยานทําสำเนาได้เพียงเครื่องเดียว เนื่องจากอีก 8 เครื่อง ไม่มีรหัสเปิดเครื่อง
เครื่องที่ทําสําเนาข้อมูลได้คือไอโฟนสีดํา โดยพยานจัดทําสําเนาข้อมูลใส่แฟลซไดรฟ์ส่งให้พนักงานสอบสวน พร้อมจัดทํารายงานการตรวจพิสูจน์
ปลายเดือนมีนาคม 2564 พนักงานสอบสวนได้ส่งโทรศัพท์ 8 เครื่อง ที่ไม่สามารถทําสําเนาได้มาให้พยานทําสําเนาอีกครั้ง ครั้งนี้สามารถทําสําเนาได้ 7 เครื่อง
ต่อมาเดือนเมษายน 2564 พนักงานสอบสวนได้ส่งโทรศัพท์ 1 เครื่อง พร้อมภาพถ่ายข้อความสนทนามาให้พยานตรวจสอบว่า ในแอปพลิเคชันเทเลแกรมของโทรศัพท์เครื่องนั้น มีข้อความการสนทนาดังกล่าวหรือไม่ พยานตรวจแล้วพบข้อความนัดหมายชุมนุมดังกล่าวจริง จึงแคปหน้าจอส่งให้พนักงานสอบสวน โทรศัพท์เครื่องดังกล่าวพนักงานสอบสวนแจ้งว่าเป็นของจำเลยที่ 33
พยานตรวจพิสูจน์โทรศัพท์เครื่องดังกล่าวโดยใช้โปรแกรม XRY ซึ่งในโทรศัพท์เครื่องเดียวกันนั้น หากใช้โปรแกรมตรวจที่ต่างกันก็จะพบข้อมูลไม่เหมือนกัน
พยานตอบทนายจำเลยถามค้านว่า จากการตรวจสอบไม่สามารถระบุบุคคลที่สนทนาในแอพดังกล่าวได้ และในเทเลแกรมผู้ใช้สามารถเข้าไปตั้งค่าบัญชีของคนในกลุ่มให้เป็นชื่ออะไรก็ได้
พยานไม่ได้นำข้อมูลจากการตรวจครั้งที่ 2 ไปตรวจเช็คและเปรียบเทียบกับข้อมูลที่สำเนาครั้งแรก หากนำมาเปรียบเทียบกัน จะเห็นว่ามีข้อมูลเพิ่มมาหรือไม่
ในการตรวจสอบโทรศัพท์ต้องมีการระบุหมายเลขเครื่องไว้ แต่ตามรายการการตรวจสอบในครั้งแรกไม่มีการระบุหมายเลขเครื่องไว้
ขณะที่ พ.ต.ต.ธรรมชาติ ดํารงจักษ์ ตำรวจ ปอท. เบิกความว่า ช่วงเดือนมีนาคม 2564 ตํารวจจากกองบังคับการตํารวจสันติบาล 1 ได้ส่งโทรศัพท์เคลื่อนที่ 2 เครื่อง ยี่ห้อไอโฟน 1 เครื่อง และซัมซุง 1 เครื่อง มาให้พยานตรวจข้อมูลการใช้อินสตาแกรมและหลักฐานที่เกี่ยวข้อง พยานจึงใช้โปรแกรม UFED ตรวจพิสูจน์เครื่องไอโฟน และใช้โปรแกรม XRY ตรวจซัมซุง ผลการตรวจพบรูปภาพในทั้งสองเครื่อง และได้ก๊อปปี้เป็นเอ็กซ์เทอร์นอลฮาร์ดไดรฟ์ส่งให้ตำรวจสันติบาล
พยานตอบทนายจำเลยถามค้านว่า พยานไม่สามารถยืนยันได้ว่า ภาพในซีดีที่เป็นวัตถุพยานเป็นภาพที่มาจากโทรศัพท์ไอโฟนที่พยานตรวจหรือไม่
ด้าน พ.ต.ท.ธัญญสิทธิ์ เกิดโภคทรัพย์ กองพิสูจน์หลักฐานกลาง เบิกความว่า เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2564 พนักงานสอบสวน สน.พหลโยธิน ได้ส่งโทรศัพท์เคลื่อนที่ 1 เครื่อง พร้อมทั้งเอกสาร 3 แผ่น เกี่ยวกับกันนัดหมายกําลังพล สถานที่ อุปกรณ์ เช่น โล่ มาให้พยานตรวจพิสูจน์ว่า ข้อความที่ระบุในเอกสารทั้ง 3 แผ่นนั้น มีอยู่ในโทรศัพท์เครื่องดังกล่าวหรือไม่ ผลการตรวจพบข้อมูลการสนทนาผ่านไลน์ มีข้อความตามเอกสารทั้ง 3 แผ่น จึงได้ถ่ายภาพประวัติการสนทนาดังกล่าวไว้เป็นหลักฐานด้วยกล้อง DSLR โดยมีการระบุหมายเลขของกลางไว้ด้วย
พยานตอบทนายจำเลยถามค้านว่า พยานไม่เคยได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงานตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ทั้งนี้ การเข้าถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์จะต้องได้รับคําสั่งจากศาลก่อน ตามมาตรา 14 และ 19 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ แต่พยานตรวจโทรศัพท์ของกลางโดยไม่มีคําสั่งของศาล รวมทั้งผู้บังคับบัญชาก็ไม่ได้แจ้งให้พยานไปขอคําสั่งจากศาลด้วย
โทรศัพท์ที่ส่งมาให้พยานตรวจพิสูจน์นั้น พนักงานสอบสวนไม่ได้แจ้งรหัสผ่านการเปิดใช้งานมาด้วย
พยานไม่ทราบว่าข้อความที่ปรากฏในโทรศัพท์ที่พยานตรวจนั้นเป็นการสนทนาระหว่างผู้ใด และก่อนหน้าที่โทรศัพท์ถูกส่งมาให้พยานจะมีผู้ใดเปิดใช้งานก่อนหรือไม่
.
เจ้าพนักงานตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ยอมรับ ตรวจพบข้อมูลการแชทในไลน์และไอจีในโทรศัพท์เพียงเครื่องเดียว ส่วนเครื่องอื่นไม่พบ – โทรศัพท์บางเครื่องถูกเข้าถึงข้อมูลก่อนแล้ว
พ.ต.อ.ธนายุทธ ภูมิงาม เจ้าพนักงานตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ผู้ตรวจพิสูจน์โทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลย เบิกความว่า เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2564 พยานได้รับแต่งตั้ง ให้เป็นคณะพนักงานสอบสวนคดีนี้ ต่อมา วันที่ 17 มี.ค. 2564 คณะพนักงานสอบสวนได้มอบหมายให้พยานไปขอคําสั่งของศาล เพื่อเข้าถึงข้อมูลในระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลุ่มผู้ต้องหารวม 28 คน และศาลอาญาได้มีคำสั่งอนุญาตในวันเดียวกัน
วันที่ 31 มี.ค. 2564 พนักงานสอบสวนได้มีหมายเรียกจำเลยที่ 17 กับพวกรวม 28 คน ทั้งหมดมาพบพยาน และทําบันทึกยินยอมให้ทําสําเนาและตรวจสอบข้อมูลในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ จากนั้นพนักงานสอบสวนได้ส่งมอบโทรศัพท์เคลื่อนที่จํานวน 10 เครื่อง ที่ตรวจยึดไว้ตั้งแต่วันเกิดเหตุแล้วให้พยาน ส่วนของคนที่เหลือแจ้งว่า ไม่ได้นํามา และวันที่ 1 เม.ย. 2564 พยานได้รายงานผลการปฏิบัติตามคําสั่งศาลถึงอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา
พยานใช้เครื่องเซลเลไบรต์ในการตรวจสอบและดึงข้อมูลในโทรศัพท์เคลื่อนที่ หลังตรวจสอบเสร็จแล้วก็ได้ทํารายงานผลการดึงและข้อมูลที่ดึงให้กับพนักงานสอบสวน
พยานตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ตนเป็นเจ้าพนักงานตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ตั้งแต่ปี 2562 โดยได้รับคําสั่งแต่งตั้งจากรัฐมนตรี
รายงานผลการปฏิบัติตามคําสั่งศาลที่พยานจัดทำไม่ปรากฏการตรวจยึดและตรวจข้อมูลในโทรศัพท์เคลื่อนที่ยี่ห้อ Mi 10T Pro
ในการตรวจข้อมูลโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้น จะต้องใช้เครื่องมือเฉพาะเพื่อไม่ให้ข้อมูลได้รับความเสียหาย เครื่องดังกล่าวเรียกว่า เซลเลไบรต์ จากการตรวจด้วยเครื่องดังกล่าวพบข้อมูลการแชทในไลน์และไอจีในโทรศัพท์เครื่องหนึ่ง ส่วนเครื่องอื่นไม่ปรากฏ
ก่อนมีคําสั่งอนุญาตของศาล ไม่มีการเข้าถึงข้อมูลในโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ
โทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางทั้ง 10 เครื่อง พนักงานสอบสวนได้ส่งให้ ปอท. ตรวจ ซึ่ง ปอท.ได้ส่งรายงานผลการตรวจให้พนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2564
หลังพยานได้รับโทรศัพท์ 10 เครื่อง จากพนักงานสอบสวนก็ทำการตรวจที่ สน.พหลโยธิน ในวันเดียวกันนั้นในทันที หลังจากนั้นไม่ได้ส่งไปตรวจที่ใดอีก
ตามรายงานการตรวจพิสูจน์มีโทรศัพท์ 2 เครื่อง ที่มีการเข้าถึงข้อมูลในโทรศัพท์แล้ว
.
ผู้จัดการห้างเมเจอร์ฯ เบิกความ กลุ่มชายชุดดำถือโล่ยืนประจันหน้า-ปาสิ่งของใส่ตำรวจ แต่รับว่าไม่ได้ให้การไว้ในชั้นสอบสวน
พยานขึ้นเบิกความชื่อ มาโนช เซ่งเครือ เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุพยานเป็นผู้จัดการห้างเมเจอร์ รัชโยธิน ในวันที่ 6 มี.ค. 2564 ทางห้างได้รับทราบข่าวจากโซเชียลมีเดียว่าจะมีการชุมนุมบริเวณห้าแยกลาดพร้าว โดยผู้ชุมนุมจะเดินเท้าผ่านห้างเมเจอร์ฯ ไปที่ศาลอาญา ผู้บริหารห้างจึงสั่งให้พยานกับพนักงานคนอื่น ๆ เฝ้าระวังความปลอดภัย
วันเกิดเหตุช่วงเช้าเหตุการณ์เป็นไปโดยปกติ แต่ในเวลา 13.00 น. เป็นต้นไป เริ่มมีกลุ่มคนที่แต่งกายด้วยชุดดำ สะพายเป้ ทยอยเดินกันมาที่ห้าง โดยพยานเห็นว่าเป้ส่วนใหญ่ที่กลุ่มคนชุดดำสะพายมามีสีดำและสีแดงปะปนกันไป และบางคนมีวิทยุสื่อสารมาด้วย โดยคนกลุ่มดังกล่าวได้มารวมตัวกันที่ด้านหน้าห้างที่มีศาลพระภูมิอยู่ติดกับปากซอยพหลโยธิน 33
ต่อมาในช่วงเย็น กลุ่มคนชุดดำบางส่วนได้เดินเข้าไปภายในห้าง โดยเดินไปตามโซนต่าง ๆ ของห้างปะปนกับคนที่มาเที่ยวห้างทั่วไป ซึ่งในแต่ละโซนของห้างก็จะมีเจ้าหน้าที่ของอาคารคอยสังเกตการณ์และรายงานให้พยานทราบ
นอกจากนี้พยานยังได้ติดตามสถานการณ์โดยดูภาพเคลื่อนไหวผ่านกล้อง CCTV ที่ติดตั้งอยู่ตามโซนต่าง ๆ ภายในห้าง จนถึงเวลาประมาณ 18.00 น. พยานดูภาพผ่านกล้องวงจรปิดบริเวณอาคารจอดรถ 2 ซึ่งอยู่หลังห้าง ตั้งแต่ชั้นที่ 3 ขึ้นไป พบว่ามีกลุ่มของคนชุดดำวิ่งไล่กัน ซึ่งพยานไม่ทราบว่าผู้ใดเป็นผู้วิ่งไล่ผู้ใด พยานจะเข้าไปตรวจดูเหตุการณ์ แต่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งมาปฏิบัติงานในวันดังกล่าวกันพยานไว้ไม่ให้เข้าไป
ระหว่างนั้นมีกลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งอยู่บริเวณหลังห้างตั้งกลุ่มเผชิญหน้ากับกลุ่มคนชุดดำ ซึ่งถือโล่สีดำมีอักษรคำว่า WeVo รวมประมาณ 10 คน ในลักษณะจะเข้าปะทะกัน พยานยืนอยู่หลังแนวของตำรวจบริเวณถนนกั้นอาคารจอดรถ 1 และอาคารจอดรถ 2 และได้รับแจ้งผ่านวิทยุสื่อสารจากพนักงานในห้างว่ามีการยิงบางอย่างจากกลุ่มคนชุดดำใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งบริเวณด้านหน้าของพยานก็มีเหตุการณ์ชุลมุน โดยกลุ่มคนชุดดำเดินไปมา และพยานสังเกตเห็นว่ามีรถควบคุมผู้ต้องหามาที่อาคาร 2 ด้วย
ต่อมา พยานได้รับแจ้งผ่านวิทยุสื่อสารของเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า รถควบคุมผู้ต้องหากำลังจะออกจากห้างผ่านมาถึงบริเวณวงเวียนน้ำพุอเวนิวก็มีกลุ่มคนชุดดำอีกจำนวนหนึ่งนำกระถางต้นไม้และเก้าอี้อัลลอยด์มาขวางไม่ให้รถออก จากนั้นได้รับแจ้งว่ารถควบคุมผู้ต้องขังได้ขับฝ่าออกไป และหลังจากนั้นพยานก็ไม่ได้รับแจ้งเหตุอะไรอีก
ภายหลังเหตุการณ์นี้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาขอดูกล้องวงจรปิดของห้าง และพยานได้เข้าให้การกับพนักงานสอบสวน ส่วนจำเลยในคดีนี้พยานไม่รู้จักใครมาก่อน ยกเว้นโตโต้ที่เคยเห็นผ่านสื่อออนไลน์
ในการตอบทนายจำเลยถามค้านพยานรับว่า คำให้การของพยานในชั้นสอบสวนไม่ได้กล่าวถึงกลุ่มคนชุดดำที่ตั้งแนวโล่และยิงสิ่งของใส่ตำรวจ และยืนยันว่าที่ห้างเมเจอร์ฯ มีการติดกล้องวงจรปิดบริเวณพื้นที่ศูนย์การค้าและอาคารจอดรถ โดยอาคารจอดรถ 2 ติดไว้ทุกชั้น ในวันเกิดเหตุใช้การได้ปกติทุกตัว ส่วนพื้นที่ร้านค้า ผู้เช่าร้านค้าจะเป็นคนติดตั้งเอง
พยานยืนยันว่า ภาพถ่ายที่ทนายจำเลยให้ดูเป็นภาพถ่ายบริเวณรอบ ๆ ร้านอเมซอนที่อยู่บริเวณวงเวียนน้ำพุหน้าห้าง เป็นภาพจากกล้องวงจรปิดบริเวณหน้าร้านอเมซอน แต่จำไม่ได้ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้มาขอดูภาพในวันเกิดเหตุหรือไม่ แต่จำได้ว่าตำรวจ สน.พหลโยธิน มาขอดูกล้องวงจรปิดภายในห้าง ปกติจะต้องทำเป็นหนังสือมา แต่กรณีนี้ไม่แน่ใจว่าได้ทำหนังสือมาหรือไม่ ซึ่งทางห้างให้ความร่วมมือให้ตำรวจดูกล้องวงจรปิดทุกจุดที่ขอมา
กล้องวงจรปิดของห้างที่ติดไว้ไม่มีเจ้าหน้าที่ของห้างมานั่งมอนิเตอร์จอภาพตลอดทั้งวัน หากมีเหตุการณ์ที่ต้องตรวจสอบกล้องก็จะให้เจ้าหน้าที่ที่เข้าเวรวันนั้น ๆ ไปตรวจสอบให้ ซึ่งวันเกิดเหตุตำรวจ สน.พหลโยธิน ก็ได้ประสานมาล่วงหน้าเกี่ยวกับเหตุการณ์แล้ว
ช่วงที่เกิดเหตุห้างเมเจอร์ฯ ได้ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโควิด – 19 อย่างครบถ้วน ทั้งการคัดกรองอุณหภูมิ บริการเจลล้างมือแอลกอฮอล์ และการเว้นระยะห่างในพื้นที่ของห้าง
บริเวณที่กลุ่มคนชุดดำถือโล่ยืนประจันหน้ากับเจ้าหน้าที่ตำรวจมีกล้องวงจรปิดของห้างติดตั้งไว้ด้วย และในวันเกิดเหตุนอกจากกลุ่มคนชุดดำดังกล่าวแล้ว ประชาชนทั่วไปที่มาเดินห้างก็สวมชุดสีดำด้วย แต่สามารถแยกแยะได้ ซึ่งพยานไม่ทราบว่ากลุ่มคนชุดดำเป็นกลุ่มใด เห็นเพียงกลุ่มคนที่ถือโล่ประจันหน้ากับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าบนโล่มีอักษร We Vo
ผู้จัดการห้างมี 3 คน ซึ่งทุกคนสามารถเซ็นอนุมัติให้ไฟล์กล้องวงจรปิดได้ แต่หลัก ๆ จะเป็นพยานกับผู้จัดการอีกคนหนึ่งซึ่งปัจจุบันเสียชีวิตไปแล้ว
ก่อนเกิดเหตุในคดีนี้ก็เคยมีผู้ชุมนุมมานัดรวมตัวกันที่ห้างเมเจอร์ รัชโยธิน ก่อนไปที่ชุมนุมในจุดอื่น เช่น ศาลอาญา โดยเป็นลักษณะต่างคนต่างมา แต่งกายหลากหลายแบบ แต่ไม่เคยมีเหตุการณ์ที่ถูกตำรวจเข้าควบคุมตัว ในวันเกิดเหตุพยานได้รับแจ้งเพียงว่าจะมีกลุ่มผู้ชุมนุมจากห้าแยกลาดพร้าวนัดรวมกลุ่มกันที่ห้างและไปชุมนุมที่หน้าศาลอาญา จึงให้เฝ้าระวัง ไม่มีการแจ้งว่ากลุ่มผู้ชุมนุมจะแต่งกายลักษณะใด
โดยปกติหากมีเหตุการณ์สุ่มเสี่ยงที่จะเกิดความอันตรายตำรวจจะประสานงานเข้ามาพูดคุยเพื่อเตรียมรับมือกับเหตุการณ์ แต่ในวันเกิดเหตุมีการแจ้งเพียงว่าจะมีกลุ่มผู้ชุมนุมผ่านมาบริเวณหน้าห้างเท่านั้น
พยานเห็นกลุ่มคนชุดดำสะพายเป้รวมตัวกันบริเวณหน้าห้างประมาณ 100 คน ซึ่งบางคนก็ไม่ได้สวมชุดดำหรือสะพายเป้ ก่อนทยอยกันเดินเข้าห้างโดยไม่ได้ก่อเหตุหรือก่อความเดือดร้อนรำคาญให้ผู้ใด เจ้าหน้าที่ห้างจึงไม่ได้ควบคุมตัว หลังจากนั้นประมาณ 1 ชั่วโมง จึงเกิดเหตุการณ์ชุลมุนที่หลังห้างและลานจอดรถ
วันเกิดเหตุห้างและอาคารจอดรถเปิดให้บริการตามปกติ และช่วงเกิดเหตุการระบาดของโควิด-19 เบาบางลงแล้ว การจัดมาตรการป้องกันโรคจึงไม่เคร่งครัดมาก และไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อโควิดจากพื้นที่ห้างเมเจอร์ฯ ในวันเกิดเหตุของคดีนี้
พยานได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ของห้างว่า คนที่ยิงหนังสติ๊กใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจนั้นเป็นกลุ่มคนชุดดำที่ถือโล่ประจันหน้ากับตำรวจ ซึ่งเหตุการณ์คนถือโล่ประจันหน้ากับตำรวจนั้นเกิดก่อนที่จะมีการควบคุมตัวกลุ่มคนชุดดำ
คนที่ดูกล้องวงจรปิดของห้างในวันเกิดเหตุจะสามารถเห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทุกชั้นได้
.
หัวหน้าแผนกศูนย์การค้าห้างเมเจอร์ฯ ระบุ ไม่ทราบว่ากลุ่มผู้ชุมนุมที่เดินเข้ามาภายในห้างเป็นกลุ่มใด แต่ไม่ได้ก่อความเสียหายให้กับห้าง
มัลลิกา ลอยทะเล พนักงานห้างเมเจอร์ รัชโยธิน เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุพยานมีตำแหน่งหัวหน้าแผนกศูนย์การค้า มีหน้าที่ดูแลความเรียบร้อยทั่วไปภายในห้าง ในวันที่ 6 มี.ค. 2564 พยานได้รับแจ้งจากผู้บริหารว่าจะมีการนัดชุมนุมที่บริเวณห้าแยกลาดพร้าว โดยกลุ่มผู้ชุมนุมจะเดินขบวนไปที่ศาลอาญา จึงให้เตรียมความพร้อมไว้เผื่อจะมีผู้ชุมนุมมานัดรวมตัวกันบริเวณห้าง
ต่อมา เวลาประมาณ 13.00 น. ได้มีการรวมตัวกันของกลุ่มคนชุดดำ สวมหมวกนิรภัย สะพายเป้ และถือโล่มีคำว่า We Vo เข้ามารวมตัวกันที่บริเวณด้านหน้าของห้าง ปากซอยพหลโยธิน 33 โดย กลุ่มคนที่ถือโล่มีอยู่ประมาณ 10 กว่าคน หลังจากนั้นมีกลุ่มคนทยอยเข้ามาในห้าง โดยบางคนมีวิทยุสื่อสารสีแดงเหน็บอยู่ที่เอว
จนถึงเวลาประมาณ 18.00 น. พยานได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ของห้างที่ควบคุมห้อง CCTV ว่า บริเวณอาคารจอดรถ 2 ตั้งแต่ชั้น 3-5 มีการจับกุมเกิดขึ้น โดยมีกลุ่มคนวิ่งขึ้นลงชั้นดังกล่าว พยานจะไปดูเหตุการณ์ แต่ตํารวจไม่ให้ขึ้น พยานซึ่งอยู่บริเวณชั้น 1 ตึกโรงหนัง จึงคอยบอกลูกค้าไม่ให้ผ่านไปยังจุดเกิดเหตุ
หลังจากนั้นพยานได้รับแจ้งจากพนักงานห้างผ่านวิทยุสื่อสารว่ามีการปะทะกันบริเวณวงเวียนน้ำพุ พยานกับผู้จัดการห้างจึงไปดูเหตุการณ์ แต่เมื่อไปถึงพบเพียงกระถางต้นไม้และม้านั่งแตกหักเสียหาย ประมาณ 19.00 น. ผู้ชุมนุมก็ออกจากห้างไปจนหมด
จากนั้นพยานตอบทนายจำเลยถามค้านว่า พยานไม่แน่ใจว่า เจ้าหน้าที่ห้างที่ประจำหน้ากล้อง CCTV จะเป็นผู้นำไฟล์ที่บันทึกไว้ในกล้องวงจรปิดให้ตำรวจหลังเกิดเหตุหรือไม่
พยานไม่ทราบว่ามีการจับกุมกลุ่มบุคคลบริเวณอื่นภายในห้างนอกจากที่อาคารจอดรถหรือไม่
พยานไม่ทราบว่าผู้บริหารที่แจ้งเรื่องการนัดชุมนุมในวันเกิดเหตุทราบเรื่องดังกล่าวมาจากที่ใด แต่พยานทราบจากข่าวสารมาเบื้องต้นแล้วบ้าง ก่อนวันเกิดเหตุก็เคยมีกรณีที่ผู้ชุมนุมมารวมตัวกันที่ห้าง ซึ่งทุกครั้งผู้บริหารก็จะแจ้งให้พยานทราบเพื่อสังเกตการณ์ โดยผู้ชุมนุมที่มาก็มีการแต่งตัวที่แตกต่างกันออกไปบ้าง แต่ส่วนใหญ่จะเป็นชุดดำและสะพายเป้
ในวันเกิดเหตุพยานไม่ทราบว่ามีการประสานงานระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับผู้บริหารหรือไม่ และตำรวจเข้ามาที่ห้างในเวลาใด เข้าจากทางใดบ้าง
วิทยุสื่อสารสีแดงที่พยานเห็นกลุ่มคนพกมานั้น มีขายอยู่ในท้องตลาดและออนไลน์ เจ้าหน้าที่ของห้างก็ใช้วิทยุสื่อสารลักษณะเดียวกันสำหรับสื่อสาร ซึ่งใช้ช่องความถี่ที่ไม่ได้รบกวนการทำงานของเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานกู้ภัย พยานเคยเห็นว่าในการจัดกิจกรรมอื่น ๆ เช่น วิ่งมาราธอน ก็มีการใช้วิทยุสื่อสารเช่นเดียวกัน
พยานติดตามข่าวสารการชุมนุม ทราบว่าในการชุมนุมแต่ละครั้งจะมีหลายกลุ่มเข้าร่วม ซึ่งในวันเกิดเหตุกลุ่มที่มาชุมนุมกันบริเวณห้างเมเจอร์ฯ พยานไม่ทราบว่าเป็นกลุ่มใด แต่ไม่ได้ก่อความเสียหายให้กับห้างแต่อย่างใด
เจ้าหน้าที่ตำรวจได้มาขอไฟล์ภาพจากกล้องวงจรปิดในวันเกิดเหตุ และทางห้างได้มอบให้ทุกจุด
หลังเกิดเหตุพยานไม่ทราบว่ามีการแจ้งความดําเนินคดีกับกลุ่มคนที่มาทําลายทรัพย์สินของห้างในวันเกิดเหตุหรือไม่
.
ผู้จัดการร้านคาราโอเกะระบุ ปิยรัฐไปใช้บริการห้องคาราโอเกะในการพูดคุย แต่ไม่ทราบคุยเรื่องอะไร
ประดิษฐ์ มะลิทอง ผู้ช่วยผู้จัดการร้านคาราโอเกะ เบิกความว่า เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2564 พยานมาทำงานที่ร้านตั้งแต่เวลา 14.30 น. ต่อมา เวลาประมาณ 15.30 น. มีกลุ่มชายประมาณ 5 คน แต่งกายด้วยชุดดำ รัดกุม ประมาณ 3 คน สะพายเป้มาด้วย เข้ามาขอใช้บริการห้องคาราโอเกะ ปิยรัฐ ไม่ทราบนามสกุล มาลงทะเบียนและแจ้งว่าขอใช้บริการห้องคาราโอเกะรวม 5 คน ซึ่งพยานได้เปิดห้องขนาด 3 x 6 เมตร ให้ ซึ่งเป็นห้องที่รองรับลูกค้าได้ 6-10 คน จากนั้นปิยรัฐกับพวกสั่งเครื่องดื่มและอาหารเข้าไปรับประทานโดยไม่ได้ร้องคาราโอเกะ พยานสังเกตว่า มีคนเดินเข้าออกห้องมากกว่า 5 คน ทุกคนแต่งตัวรัดกุมและสะพายเป้
ปิยรัฐกับพวกใช้ห้องคาราโอเกะอยู่ประมาณ 2 ชั่วโมงเศษ โดยได้ออกจากห้องเวลาประมาณ 17.30 น. พยานจำไม่ได้ว่าใครเป็นผู้มาชำระค่าบริการที่เคาท์เตอร์ โดยทางร้านได้ออกใบเสร็จรับเงินไว้เป็นหลักฐาน
วันเดียวกันตำรวจ สน.พหลโยธิน และเจ้าหน้าที่ห้างเมเจอร์ฯ ได้มาขอดูสถานที่และขอดูภาพกล้องวงจรปิดในวันดังกล่าว ซึ่งพยานก็ยืนดูอยู่ด้วย
พยานเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า วันเกิดเหตุเป็นช่วงที่ยังคงมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งห้างเมเจอร์ฯ ก็มีจุดคัดกรองและมาตรการป้องกันโรค โดยในวันเกิดเหตุเป็นวันที่มีผู้มาใช้บริการร้านคาราโอเกะน้อย
ปิยรัฐมาลงทะเบียนขอใช้ห้องกับพนักงานคนอื่น แต่พยานเป็นคนพาไปที่ห้องและนำอาหารไปเสิร์ฟ กลุ่มของปิยรัฐแต่งกายสุภาพเรียบร้อยเหมือนลูกค้าทั่วไป มีทั้งสีดำและสีอื่น พยานไม่ทราบว่า กลุ่มคนที่เดินเข้าออกจะมาจากที่ใด และเดินออกไปที่ใด และจำไม่ได้ว่า กลุ่มของปิยรัฐพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องอะไร หรือมีการดูเอกสารระหว่างการพูดคุยด้วยหรือไม่
ลูกค้าที่จะเข้ามาใช้บริการห้องคาราโอเกะต้องผ่านจุดคัดกรองทั้งของห้างและร้านคาราโอเกะ ห้องที่ปิยรัฐกับพวกเข้าใช้บริการจุคนได้ 6 – 10 คน ซึ่งในวันดังกล่าวปิยรัฐกับพวกเข้าใช้บริการไม่เกิน 10 คน
พนักงานที่ร้านคาราโอเกะใช้วิทยุสื่อสารสีแดงในการติดต่อสื่อสารกัน โดยเป็นเครื่องที่ผ่านการรับรองถูกต้อง แต่พยานไม่ทราบข้อมูลว่ามีการขออนุญาตใช้หรือไม่
ภายในห้องคาราโอเกะไม่มีกล้องวงจรปิด มีเพียงกล้องภายในร้านเท่านั้น ซึ่งบันทึกได้เฉพาะภาพ ห้องคาราโอเกะที่ปิยรัฐกับพวกใช้บริการเป็นห้องเก็บเสียง บุคคลภายนอกไม่สามารถได้ยินเสียงพูดคุยภายในห้องได้ แต่พยานเข้าไปเสิร์ฟอาหารในห้องจึงได้ยินเสียงพูดคุย แต่พยานไม่ทราบว่าคุยกันเรื่องอะไร
ในวันเกิดเหตุพยานไม่ทราบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนอกห้าง และทางห้างก็ไม่ได้แจ้งให้เฝ้าระวังเหตุการณ์ความวุ่นวาย หากออกจากร้านคาราโอเกะและมุ่งตรงไปที่ชั้น 3 ของอาคารจอดรถ 2 จะใช้เวลาประมาณ 10 – 15 นาที
.
หัวหน้าฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาลเขตจตุจักรรับ ประกาศกรุงเทพฯ เรื่องมาตรการป้องกันโควิด ใช้บังคับเฉพาะเจ้าของสถานที่ ไม่บังคับผู้ใช้บริการ
อรศรี ผลถาวร ขณะเกิดเหตุเป็นหัวหน้าฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล สำนักงานเขตจตุจักร เบิกความว่า ประมาณเดือน มี.ค. 2564 พยานได้รับหนังสือจาก สน.พหลโยธิน ให้พยานไปให้ปากคำเรื่องมาตรการป้องกันการแพร่เชื้อโควิด – 19
ในขณะนั้นรัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กรุงเทพมหานครมีประกาศฉบับที่ 20 เรื่องการสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งหากไม่ใช่สถานที่ที่มีคำสั่งให้ปิด การจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มจำเป็นต้องมีมาตรการป้องกัน เช่น ให้สวมหน้ากากอนามัย รล้างมือด้วยเจลล์แอลกอฮอล์ ตรวจวัดอุณหภูมิ หรือเว้นระยะห่างอย่างน้อย 1 เมตร
จากผลการวิจัยการสวมหน้ากากอนามัยสามารถป้องกันการแพร่เชื้อโควิดได้ประมาณ 80-90 % แล้วแต่ชนิดของหน้ากากอนามัย แต่พยานเห็นว่า หากอยู่ในพื้นที่ปิด อากาศไม่ถ่ายเท ก็มีความเสี่ยงที่จะแพร่โรค หากอยู่ในพื้นที่โล่งความเสี่ยงก็มีน้อยกว่า และถ้าหากไม่ได้อยู่ในระยะแพร่เชื้อ การแพร่เชื้อก็ไม่เกิดขึ้น
ตามประกาศกรุงเทพมหานคร ฉบับที่ 20 หากมีการรวมตัวกันมากกว่า 300 คน ต้องแจ้งการทำกิจกรรมไปยังสำนักเขต และจัดให้มีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด -19
หากมีการรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมประมาณ 40-50 คน โดยไม่ได้แจ้งสำนักงานเขต และหากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่ปกติ ผู้อำนวยการเขตก็จะสั่งให้เจ้าหน้าที่เทศกิจลงพื้นที่ตรวจสอบเพื่อความปลอดภัย ความเป็นระเบียบเรียบร้อย และเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุทำลายทรัพย์สินราชการ ไม่ใช่เป็นการลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบการแพร่ระบาดของโควิด-19
พยานตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาลประกอบด้วย 4 กลุ่มงาน ได้แก่ กลุ่มงานธุรการ กลุ่มงานสุขาภิบาลอาหาร กลุ่มงานสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม และกลุ่มงานป้องกันและควบคุมโรค ในส่วนกลุ่มงานป้องกันและควบคุมโรคมีเจ้าหน้าที่ 3 คน ทั้งสามคนไม่มีความรู้ด้านการแพทย์
ในการควบคุมและป้องกันโรค จะมีการแบ่งงานตามเขต ที่เกิดเหตุคือห้างเมเจอร์ รัชโยธิน อยู่ในแขวงลาดยาว เป็นพื้นที่รับผิดชอบของกลุ่มงานสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม 1 คน และกลุ่มงานสุขาภิบาลอาหาร 1 คน หากเจ้าหน้าที่ลงตรวจพื้นที่พบการฝ่าฝืน พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ จะมีหนังสือแจ้งให้แก้ไขปรับปรุง และไปติดตามตรวจสอบ ถ้ายังไม่มีการแก้ไขเจ้าหน้าที่จะทำรายงานแจ้งผู้อำนวยการฝ่าย ผู้อำนวยการเขต และสำนักอนามัย เป็นลำดับไป
ช่วงเกิดเหตุห้างเมเจอร์ฯ ได้ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคของกรุงเทพมหานคร ซึ่งหากผู้มาใช้บริการมีอุณหภูมิสูง เจ้าหน้าที่ของห้างก็จะไม่ให้เข้า ในวันเกิดเหตุพยานก็ไม่ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ไปตรวจสอบกรณีฝ่าฝืน พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และมาตรการป้องกันโควิด
ประกาศกรุงเทพมหานครใช้บังคับกับเจ้าของสถานที่ ไม่รวมบังคับถึงผู้มาใช้บริการ
การขออนุญาตจัดกิจกรรมไม่ได้มีผลต่อความเสี่ยงของการแพร่โรค ถึงแม้ได้รับอนุญาตให้จัดกิจกรรม แต่หากไม่มีมาตรการป้องกันโรค ก็มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคเช่นเดียวกัน
หลังเกิดเหตุ พยานไม่เคยได้รับแจ้งจากตำรวจให้ประเมินความเสี่ยงของการแพร่ระบาดของโรคโควิดในที่เกิดเหตุ
ตามเอกสารที่ทนายจำเลยให้ดูระบุว่า หากไม่สามารถสวมหน้ากากอนามัยได้ ให้เว้นระยะห่างอย่างน้อย 1 เมตร หรือหากสถานที่ไม่สามารถจัดให้มีการเว้นระยะห่างได้ การสวมหน้ากากอนามัยสามารถช่วยลดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดได้
พยานไม่ทราบว่า ในช่วงเกิดเหตุสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลงบ้างหรือไม่ แต่ทราบว่า ห้างสรรพสินค้ากลับมาเปิดทำการได้ และหากผู้ใช้บริการสวมหน้ากากอนามัยก็จะลดความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของโรคได้
คำว่า แออัด คือการที่ผู้คนเว้นระยะห่างกันน้อยกว่า 1 เมตร พยานเคยไปห้างเมเจอร์ รัชโยธิน ทราบว่า อาคารจอดรถเป็นพื้นที่โล่ง
พนักงานสอบสวนไม่เคยนำภาพเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุให้พยานดู ทั้งก่อนและในวันให้การ
พยานทราบว่า การรวมกลุ่มจัดกิจกรรมแสดงออกเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามมาตรา 34 ของรัฐธรรมนูญ
ในวันที่พยานไปให้การกับพนักงานสอบสวนไม่มีข้อมูลการติดเชื้อและการแพร่กระจายของโรค หรือ cluster ที่เกิดบริเวณห้างเมเจอร์ รัชโยธิน หรือมีข้อมูลว่า มีการติดเชื้อในกลุ่มผู้ชุมนุม
มาตรการป้องกันโรคกำหนดให้ใช้กับทุกคน รวมถึงเจ้าหน้าที่ หากมีการจัดกิจกรรมรวมกลุ่มที่เสี่ยงแพร่โรคและตำรวจแจ้งไปยังสำนักเขต พยานก็จะจัดเตรียมอุปกรณ์ป้องกันโรคไปให้ความช่วยเหลือได้ภายใน 30 นาที แต่ในวันเกิดเหตุพยานไม่ได้รับการประสานให้ออกไปปฏิบัติงานดังกล่าว
.
สองพนักงานสอบสวนเบิกความ มีความเห็นควรสั่งฟ้องจำเลย เนื่องจากเชื่อตามพยานหลักฐานของชุดสืบสวน – จับกุม แต่ไม่ได้ตรวจสอบว่าพยานหลักฐานเป็นจริงหรือเท็จ
พ.ต.ท.ศักดินาถ หนูฉ้ง กับ พ.ต.ท.ศักดิพัฒน์ เหรียญทอง พนักงานสอบสวน สน.พหลโยธิน เบิกความทำนองเดียวกันว่า เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2564 พยานได้รับแจ้งจากผู้บังคับบัญชาว่า มีการจับกุมผู้ต้องหาและให้ไปรับตัวผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมตัวไว้ที่ บก.ตชด.ภาค 1 นอกจาก สน.พหลโยธิน ยังมีพนักงานสอบสวนจาก สน.อื่นไปร่วมด้วย
เมื่อไปถึงพยานเห็นตำรวจกองพิสูจน์หลักฐานมาบันทึกภาพ โดยให้ผู้ต้องหาแต่ละคนถ่ายรูปคู่กับของกลางที่เป็นของตน ก่อนเก็บของกลางใส่ซองระบุชื่อไว้ ส่วนของกลางที่ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นของใครจะจัดเก็บใส่ซองระบุหมายเลข 1-52 จากนั้นมีการทำบันทึกตรวจยึดส่งให้ พ.ต.ท.พิภัสสร์ พูนลัน พนักงานสอบสวน เท่าที่จำได้ของกลางมี เสื้อเกราะ วิทยุสื่อสาร ผ้าพันคอ หน้ากากกันแก๊ส ลูกแก้ว หนังสะติ๊ก
วันดังกล่าวพยานได้สอบปากคำผู้ต้องหลายคน และต่อมา ยังได้สอบปากคำพยานที่เกี่ยวข้องให้วันเกิดเหตุ หลังจากนั้นมีการออกหมายเรียกผู้ต้องหาที่ถูกควบคุมตัวมาแจ้งข้อกล่าวหาอีกหลายคน
สำหรับโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางได้มีการส่งไปตรวจพิสูจน์เพื่อตรวจสอบข้อมูลในโทรศัพท์ จากการรวบรวมพยานหลักฐานทำให้สามารถระบุได้ว่า โทรศัพท์ที่ไม่มีผู้แสดงตนเป็นเจ้าของนั้นเป็นของใคร
ส่วนเสื้อเกราะก็มีทั้งที่มีเจ้าของและไม่มีเจ้าของ จากการส่งไปตรวจพิสูจน์ทั้งหมด 22 ตัว พบว่า เป็นยุทธภัณฑ์ 7 ตัว ที่เหลือไม่เป็นยุทธภัณฑ์ รวมทั้งได้ส่งวิทยุสื่อสาร 24 เครื่อง ไปตรวจพิสูจน์ พบว่าเป็นวิทยุโทรคมนาคมทั้งหมด และไม่พบการได้รับอนุญาตให้ใช้
จากนั้น คณะพนักงานสอบสวนจึงประชุมกันแล้วมีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหารวม 48 คน ฐานความผิด อั้งยี่ซ่องโจร มียุทธภัณฑ์และวิทยุสื่อสารไว้ครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ บางคนมีข้อหาหลบหนีไปจากการคุมขังของเจ้าพนักงาน
พยานทั้งสองตอบทนายจำเลยถามค้านในทำนองเดียวกันว่า บัญชีของกลางและบันทึกการตรวจยึดของกลาง ไม่ได้ทำที่ห้างเมเจอร์รัชโยธิน แต่ชุดจับกุมไปทำที่ บก.ตชด.ภาค 1 โดยจำเลยไม่ทั้งหมดไม่ได้ลงชื่อไว้ นอกจากนี้ เมื่อมีการคัดแยกของกลางใส่ซองสีน้ำตาลแล้วไม่ได้นำมาให้ผู้ต้องหาทั้ง 18 คนที่ บก.ตชด. ชี้ว่าเป็นของผู้ใดและไม่ได้ให้ลงลายมือชื่อหน้าซองว่าเป็นของตน
พยานไม่ได้ถ่ายภาพจำเลยแต่ละคนคู่กับของกลางเอง และจำเลยไม่ได้เซ็นรับรองของกลางตามภาพถ่ายดังกล่าวว่าเป็นของตน
การตรวจยึดโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางในวันเกิดเหตุไม่ได้มีคำสั่งของศาลอนุญาตให้ตรวจยึด
มีการให้ผู้ต้องหามายืนยันวิทยุสื่อสารว่าเป็นของตนหรือไม่ แต่ขณะเปิดดูหมายเลขเครื่องนั้นไม่มีการถ่ายภาพหรือให้ผู้ต้องหายืนยัน
วิทยุสื่อสารของกลางมีการส่งไปตรวจพิสูจน์ที่ กสทช. ซึ่งเป็นหน่วยงานเฉพาะในการตรวจสอบ ส่วนเสื้อเกราะส่งไปที่กรมพลาธิการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยพยานไม่มั่นใจว่า มีการสอบคำให้การผู้ตรวจพิสูจน์ไว้หรือไม่
ก่อนส่งเสื้อเกราะไปตรวจพยานไม่ได้นำมาให้ผู้ต้องหาชี้ยืนยันว่าเป็นของตน และตามรายงานผลยิงทดสอบเสื้อเกราะกันกระสุนไม่มีระบุว่าเสื้อเกราะที่ส่งมายิงทดสอบนั้นเป็นยุทธภัณฑ์
มีการส่งแผ่นเหล็กที่อยู่ในเสื้อเกราะไปตรวจหารอยนิ้วมือแฝง พบว่ามีรอยนิ้วมือแต่ไม่ได้สอบสวนต่อว่าเป็นรอยนิ้วมือของผู้ใด
พยานไม่ทราบว่าพยานหลักฐานที่ส่งมาให้พนักงานสอบสวนว่ามีการจัดเก็บอย่างไร ส่วนโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่จำเลยที่ 45 ยอมรับว่าเป็นของตนนั้นอยู่ในซองสีน้ำตาลหมายเลข 52 ซึ่งพยานนำมาคืนให้จำเลยที่ 45 ในภายหลัง แต่ตามรายงานผลการปฏิบัติงานที่เจ้าพนักงานตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ รายงานต่อศาล ไม่ระบุว่ามีการยึดโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้จากจำเลยที่ 45
ชุดสืบสวนกลุ่มวีโว่ไม่ได้ส่งรายชื่อสมาชิกทั้งหมดให้พนักงานสอบสวน ส่งมาเพียงบางคน ซึ่งเมื่อพยานสอบปากคำ บุคคลดังกล่าวปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่มวีโว่
จำเลยที่ 27 ให้การในรายละเอียดในชั้นสอบสวนไว้ว่า รออยู่ในรถควบคุมผู้ต้องหา 2-3 ชั่วโมง ระบบปรับอากาศเสีย จึงได้ลงจากรถมาที่ สน.พหลโยธิน เช่นเดียวกับคำให้การของจำเลยที่ 41 ว่าไม่ได้หลบหนี
ที่พนักงานสอบสวนมีความเห็นส่วนควรสั่งฟ้องในข้อหามียุทธภัณฑ์โดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น ดูจากรายงานการตรวจพิสูจน์ซึ่งระบุว่าเสื้อเกราะของกลางเป็นยุทธภัณฑ์ ไม่ได้นำหลักเกณฑ์อื่นมาพิจารณา และไม่ทราบว่าในการตรวจว่าสิ่งใดเป็นยุทธภัณฑ์มีหลักเกณฑ์อย่างไร ส่วนข้อหาอั้งยี่ซ่องโจรนั้นดูจากรายงานการสืบสวนและคำให้การของตำรวจชุดสืบสวน
คณะพนักงานสอบสวนเชื่อตามพยานหลักฐานของตำรวจชุดจับกุม, ชุดสืบสวน และผู้กล่าวหา แต่ไม่ได้ไปตรวจสอบว่าพยานหลักฐานดังกล่าวนั้นเป็นจริงหรือเท็จอย่างไร
ตำรวจสันติบาลไม่ได้ระบุว่า ผู้ต้องหาที่ถูกควบคุมตัวในวันเกิดเหตุ เป็นสมาชิกกลุ่มวีโว่ และมีเลขสมาชิกอย่างไร
พยานพอทราบว่า กลุ่ม REDEM เป็นกลุ่มที่เรียกร้องประชาธิปไตย ต่อต้านเผด็จการ และกิจกรรมในวันเกิดเหตุเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อเรียกร้องความยุติธรรม แต่ไม่ทราบว่า กลุ่ม REDEM มีใครเป็นสมาชิก และใครเป็นแกนนำ
พยานไม่ทราบว่าการชุมนุมโดยทั่วไปก็ย่อมมีการ์ด และมีการดักรอตามรายทางเพื่อเข้าร่วมขบวนเป็นเรื่องปกติ แต่พยานเคยเห็นตามภาพข่าวว่าการ์ดในที่ชุมนุมมีอุปกรณ์ป้องกันตัวจำพวกหน้ากากกันแก๊ส
วันเกิดเหตุไม่มีผู้บริหารห้างเมเจอร์รัชโยธินมาร้องทุกข์กล่าวโทษผู้ชุมนุม รวมทั้งไม่ปรากฏว่าได้มีการแจ้งให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมาควบคุมดูแลมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด และภายหลังเกิดเหตุไม่มีการรายงานคลัสเตอร์การแพร่ระบาดจากการชุมนุมในวันเกิดเหตุ
ไม่มีภาพถ่ายวิดีโอหรือภาพถ่ายที่แสดงให้เห็นว่า ก่อนผู้ต้องหาถูกควบคุมตัวได้ยิงหนังสติ๊กหรือลูกเหล็กใส่เจ้าหน้าที่
ผู้ชุมนุมมักใช้วิทยุสื่อสารเป็นการทั่วไป ไม่ปรากฏข้อมูลว่าในวันเกิดเหตุมีหน่วยงานราชการหรือหน่วยอาสาใดถูกสัญญาณรบกวนจากวิทยุสื่อสารของจำเลย
.
ปากคำพยานจำเลย
ทนายระบุ แนะนำให้ผู้ต้องหาบนรถควบคุมฯ ไปแสดงตนแสดงความบริสุทธิ์ที่ สน.พหลโยธิน – ปิยรัฐถูกขังที่เรือนจำกาฬสินธุ์จึงไม่สามารถสอบข้อเท็จจริงเพื่อยื่นคำให้การ
นรเศรษฐ์ นาหนองตูม ทนายความในชั้นจับกุม เบิกความว่า พยานประกอบอาชีพทนายความ ทำงานที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนตั้งแต่ปี 2558 – 2564
ในวันเกิดเหตุ เวลาประมาณ 19.00 น. พยานได้รับแจ้งจากศูนย์ทนายฯ ว่า มีผู้ชุมนุมถูกตำรวจควบคุมตัว และรถควบคุมผู้ต้องหาไปจอดอยู่บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม จึงต้องการให้ทนายไปให้คำแนะนำทางกฎหมาย พยานจึงเดินทางไปบริเวณดังกล่าว พบว่ามีประชาชนและสื่อมวลชนจำนวนมากยืนมุงดู และภายในรถมีผู้ต้องหาหลายสิบคน
จากการสอบถาม ผู้ต้องหาภายในรถแจ้งว่า ขณะกำลังกินอาหารอยู่ที่ห้างเมเจอร์ รัชโยธิน ถูกตำรวจหน่วยอรินทราชเข้าควบคุมตัวโดยไม่มีหมายจับ ไม่แจ้งพฤติการณ์การกระทำความผิดและข้อกล่าวหา พยานจึงให้คำแนะนำว่า หากมั่นใจว่าไม่ได้กระทำความผิด ให้ทุกคนไปแสดงตนเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ที่ สน.พหลโยธิน จากนั้นพยานได้ให้ผู้ที่ถูกควบคุมตัวบนรถคันดังกล่าว รวมทั้งที่อยู่บนรถอีกคันซึ่งจอดอยู่ในบริเวณเดียวกันลงมารวมตัวกัน ก่อนเดินเรียงแถวไปที่ สน.พหลโยธิน ระหว่างนั้นมีสื่อมวลชนติดตามถ่ายข่าวและความเคลื่อนไหวอยู่ตลอด
เมื่อถึงหน้า สน.พหลโยธิน หลังประสานงานกับตำรวจ พยานจึงแจ้งให้ผู้ต้องหาเดินเรียงแถวทีละคนเข้าไปที่ห้องประชุมภายใน สน. หลังพยานแจ้งความประสงค์กับ พ.ต.ท.ประสพโชค เอี่ยมพินิจ ผู้กำกับการ สน.พหลโยธิน เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ลงบันทึกประจำวันไว้ โดยมีผู้ต้องหาที่มาลงบันทึกประจำวันประมาณ 27 คน ทุกคนได้แจ้งให้ตำรวจไปตรวจสอบกล้องวงจรปิดขณะที่มีการควบคุมตัวบริเวณห้างเมเจอร์ฯ ก่อนเวลา 23.00 น. เพราะเกรงว่าจะถูกลบทิ้ง จากนั้นตำรวจได้ปล่อยผู้ต้องหาทั้งหมดกลับบ้าน โดยไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาหรือดำเนินคดีใด ๆ
พยานเป็นทนายความของปิยรัฐมาตั้งแต่ชั้นสอบสวน ที่ปิยรัฐไม่ได้ยื่นคำให้การภายในกำหนดเวลาที่แจ้งไว้กับพนักงานสอบสวนนั้น เพราะเมื่อศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวปิยรัฐในคดีนี้ ตำรวจ สภ.ยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้มาอายัดตัวปิยรัฐไปดำเนินคดี ทำให้ปิยรัฐถูกคุมขังที่เรือนจำจังหวัดกาฬสินธุ์โดยไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราว พยานจึงไม่สามารถสอบข้อเท็จจริงเพื่อมายื่นคำให้การได้
.
จำเลยที่ 4 ยืนยันไม่ใช่สมาชิกวีโว่ วันเกิดเหตุไปพบปิยรัฐเพื่อขอกล้องที่ฝากไว้คืน ก่อนถูกยึดโทรศัพท์ – ควบคุมตัวขึ้นรถ โดยตำรวจไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหา
เกียรติศักดิ์ (สงวนนามสกุล) จำเลยที่ 4 อ้างตนเป็นพยาน เบิกความว่า พยานประกอบอาชีพขายเสื้อผ้าออนไลน์ ก่อนเกิดเหตุเคยเข้าร่วมการชุมนุม 3 ครั้ง ไม่ได้สังกัดกลุ่มใด
พยานติดตามกลุ่มวีโว่ทางเฟซบุ๊กเพจ “We Volunteer” แต่ไม่ได้ติดตามกลุ่มชุมนุมอื่น ๆ เนื่องจากพยานเห็นว่ากลุ่มวีโว่เป็นอาสาสมัครคอยช่วยเหลือกลุ่มผู้ชุมนุมและสังคม มีการใช้รถของกลุ่มพาผู้ป่วยติดเชื้อโควิดไปโรงพยาบาล
พยานไม่เคยเข้าอบรมและไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่มวีโว่ จำเลยในคดีนี้พยานรู้จักแค่โตโต้ เพราะเคยเข้าร่วมชุมนุมและพูดคุยกันถูกคอ เนื่องจากเป็นคนภาคอีสานเช่นเดียวกัน
ในการไปร่วมชุมนุม พยานมักไปถ่ายภาพและนำมาโพสต์ลงในโซเชียลมีเดีย ช่วงแรกโพสต์ในเฟซบุ๊กตนเองเท่านั้น ต่อมา ได้ส่งภาพกิจกรรมของวีโว่ให้กลุ่มวีโว่นำไปลงในเพจด้วย
วันเกิดเหตุเป็นวันหยุด พยานใส่เสื้อสีดำ กางเกงยีนส์ ไปเดินเซ็นทรัลลาดพร้าวกับแฟนเพื่อหาผ้าไปขายออนไลน์ และนัดหมายกับปิยรัฐทางไลน์ว่าจะไปเอากล้องถ่ายรูปของพยานคืนที่เมเจอร์ รัชโยธิน เนื่องจากก่อนหน้านั้นได้ไปร่วมการชุมนุมทางการเมือง ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้สลายการชุมนุมโดยการฉีดน้ำ พยานเกรงว่ากล้องจะเปียกจึงนำไปฝากไว้ที่รถของปิยรัฐ
พยานไปพบปิยรัฐพร้อมพวกอีก 3 คน ที่โซนโบว์ลิ่งของห้างเมเจอร์ฯ และเดินตามไปเอากล้องที่รถ แต่ยังไม่ได้ขึ้นรถก็มีเจ้าหน้าที่เข้าควบคุมตัวปิยรัฐ พยานจึงนำโทรศัพท์มือถือมาไลฟ์สดเหตุการณ์ เจ้าหน้าที่แจ้งว่าจะพาปิยรัฐไปพบเจ้านาย พยานจึงเดินไลฟ์สดตามไป เมื่อเดินขึ้นไป 1 ชั้น เจ้าหน้าที่ได้ปัดโทรศัพท์และยึดไป สั่งให้พยานหมอบลง ยึดกระเป๋าสตางค์ และพาเดินขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง พยานเห็นคนนอนหมอบอยู่จำนวนมาก จากนั้นเจ้าหน้าที่สั่งให้พยานไปนอนหมอบรวมกับกลุ่มคนดังกล่าว ก่อนควบคุมตัวทั้งหมดรวมทั้งพยานลงมาขึ้นรถควบคุมผู้ต้องหาที่ชั้นล่าง
รถที่พยานถูกควบคุมขับไปที่ ตชด. ภาค 1 โดยตั้งแต่ควบคุมตัวจนพาตัวมาที่รถควบคุมผู้ต้องหา เจ้าหน้าที่ไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาหรือเหตุในการควบคุมตัว เมื่อถึง ตชด. ภาค 1 อีก 2 วันต่อมาจึงมีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาแจ้งข้อหา ซึ่งพยานให้การปฏิเสธ
จำเลยที่ 4 ตอบอัยการถามค้านว่า พยานไปที่เมเจอร์ รัชโยธิน พร้อมกับแฟน แต่ขณะเดินไปที่รถพยานให้แฟนรออยู่ที่ห้อง พยานจำไม่ได้ว่า ปิยรัฐและพวกอีก 2 คนที่พยานไปพบแต่งกายอย่างไร วันเกิดเหตุพยานไม่ได้ไปร่วมชุมนุมทางการเมือง
.
จำเลยที่ 11 ระบุ เป็นสมาชิกวีโว่ ทำหน้าที่นำคนเจ็บส่งหน่วยแพทย์ – วีโว่ประกาศและไลฟ์สดกิจกรรมทุกครั้ง ไม่ได้ปกปิดวิธีดำเนินการ – เน้นเจรจา ใช้สันติวิธี
จำเลยที่ 11 อ้างตนเป็นพยาน เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุประกอบอาชีพเป็นศัลยแพทย์ รู้จักกลุ่มวีโว่ผ่านเพจเฟซบุ๊กซึ่งมีการประกาศรับสมัครสมาชิก พยานจึงยื่นใบสมัครผ่านเพจดังกล่าว และเข้าอบรมเป็นสมาชิกช่วงเดือน ก.ย. 2563 ที่ Co-Working Space แถวสยามสแควร์ ซึ่งมีการอบรมเกี่ยวกับสิทธิขั้นพื้นฐาน, พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ, ขั้นตอนการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่, อุปกรณ์ป้องกันตนเอง รวมถึงหน้าที่ของการ์ดในที่ชุมนุม ซึ่งจะเป็นการดูแลความปลอดภัยให้ผู้ชุมนุม ใช้เวลาอบรม 2 – 3 ชั่วโมง
เมื่อจบการอบรมพยานได้รับสัญลักษณ์ของกลุ่มวีโว่ คือ ผ้าพันคอสีเขียวเขียนคำว่า “We Volunteer” และมีตราสัญลักษณ์ชูสามนิ้ว สมาชิกกลุ่มวีโว่เห็นพยานเป็นแพทย์จึงขอให้อยู่หน่วยแพทย์ แต่พยานขอทำหน้าที่ปฐมพยาบาลและนำคนเจ็บไปส่งหน่วยแพทย์ โดยสังกัดอยู่กองร้อยที่ 5 โดยคำว่า “กองร้อย” เป็นเพียงคำเรียกเท่ ๆ ในความเป็นจริงมีสมาชิกเพียง 20 คน การแบ่งกองร้อยก็เป็นการแบ่งตามหน้าที่ เช่น ฝ่ายสวัสดิการ ฝ่ายพยาบาล ฝ่ายจราจร เป็นต้น
หลังจากนั้นหากเพจวีโว่ประกาศว่าต้องการอาสาสมัครไปเป็นการ์ดในที่ชุมนุม พยานจะส่งชื่อไป ซึ่งจะมีการนัดหมายกันบริเวณใกล้ที่ชุมนุมก่อนการชุมนุมประมาณ 2 ชั่วโมง เพื่อสำรวจพื้นที่และเส้นทางจราจรโดยรอบ ส่วนใหญ่พยานจะทำหน้าที่หาพื้นที่ตั้งหน่วยพยาบาลและแจ้งให้กลุ่มทราบ โดยจะมีกลุ่มในเทเลแกรมที่ตั้งขึ้นเฉพาะกิจเพื่อใช้ประสานงานในแต่ละการชุมนุม ไม่มีกลุ่มที่ตั้งถาวร
ก่อนเกิดเหตุคดีนี้ พยานทราบข่าวว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิตจากโรคหัวใจขณะปฏิบัติหน้าที่ควบคุมการชุมนุมในวันที่ 28 ก.พ. 2564 ปิยรัฐทราบว่าพยานเป็นแพทย์จึงสอบถามเกี่ยวกับเครื่องกระตุ้นหัวใจไฟฟ้า (AED) พยานตอบว่า หากมีเครื่อง AED ในที่ชุมนุมจะสามารถกระตุ้นหัวใจให้กลับมาได้ภายใน 10 นาที และนำผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาลได้ทัน
จากนั้นพยานได้โทรสอบถามบริษัทที่ขายเครื่อง AED แล้วนำใบเสนอราคาที่บริษัทส่งมาทางอีเมลเสนอให้ปิยรัฐรวม 3 บริษัท ปิยรัฐจึงนัดหมายพยานเพื่อพูดคุยเรื่องดังกล่าวในวันที่ 6 มี.ค. 2564 ซึ่งในวันนั้นมีการชุมนุมของกลุ่ม REDEM ที่พยานประสงค์จะเข้าร่วมชุมนุมด้วย พยานจึงนั่งรถบัสจากต่างจังหวัดมาถึงกรุงเทพฯ ในช่วงเช้า และไปพักที่บ้านของปิยรัฐ
ต่อมา ในช่วงสายพยานไปทำธุระที่เซ็นทรัลเวิลด์ ช่วงบ่ายปิยรัฐจึงมารับพยานไปที่ห้องคาราโอเกะ ชั้น 4 ห้างเมเจอร์ รัชโยธิน เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับใบเสนอราคาเครื่อง AED และเรื่องทั่วไป เมื่อพูดคุยกันเสร็จ พยานได้แยกลงมาที่ชั้นล่าง ก่อนเห็นไลฟ์สดทางเฟซบุ๊กซึ่งมีการแชร์ต่อกันมาว่า ปิยรัฐถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวที่อาคารจอดรถ พยานจึงเดินขึ้นไปที่อาคารจอดรถดังกล่าว เมื่อถึงชั้น 3 ถูกหน่วยอรินทราชสั่งให้หมอบลงกับพื้น นำสัมภาระกองไว้ข้างตัว และตรวจค้นตัว ก่อนนำเคเบิลไทร์มารัดข้อมือของพยานที่ไขว้อยู่ด้านหลัง
ที่ชั้นเดียวกันนั้นมีคนถูกควบคุมตัวอยู่อีกหลายคน พยานรู้จักคนหนึ่งคือ จำเลยที่ 9 ซึ่งก่อนวันเกิดเหตุ พยานได้นัดหมายกับจำเลยที่ 9 ว่า จะมาชุมนุมในวันเกิดเหตุ
หลังจากนั้นพยานถูกควบคุมตัวมาที่ชั้น 1 พร้อมผู้ต้องหารายอื่นเพื่อขึ้นรถควบคุมตัวผู้ต้องหา ส่วนสัมภาระของพยานนั้น ไม่ทราบว่าตำรวจนำไปที่ใด
พยานถูกพาตัวไปที่ ตชด.ภาค 1 ผู้ต้องหาทั้งหมดถูกนำไปที่ห้องโถง ตัดเคเบิลไทร์ และให้ถ่ายภาพกับกองสัมภาระของตนเอง โดยสัมภาระที่ปรากฏในภาพถ่ายพยานเป็นของพยานทั้งหมด แต่ขวดน้ำเกลือและยาลดกรดหายไป จากนั้นพยานไปตรวจร่างกายกับแพทย์ พบว่ามีแผลที่ข้อมือทั้ง 2 ข้าง และฝ่ามือด้านซ้าย
วันรุ่งขึ้นจึงมีพนักงานสอบสวนมาแจ้งข้อกล่าวหา พยานเห็นว่าพฤติการณ์ของคดีในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาไม่ตรงกับความจริง จึงไม่ลงลายมือชื่อ และไม่ลงชื่อในบันทึกจับกุมด้วย
ในวันเกิดเหตุมีการประกาศนัดชุมนุมของกลุ่ม REDEM แต่เพจกลุ่มวีโว่ไม่ได้ประกาศว่าจะไปร่วมชุมนุม ที่พยานจะไปชุมนุมนั้นไปในฐานะส่วนตัว
นอกจากเข้าร่วมชุมนุมในฐานะการ์ดของกลุ่มวีโว่แล้ว พยานยังร่วมทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์อย่างอื่นด้วย เช่น ไปช่วยขายกุ้งที่ข้างทำเนียบรัฐบาล และในช่วงโควิดพยานก็ได้ช่วยออกแบบดัดแปลงรถของกลุ่มวีโว่สำหรับใช้ขนส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาล และมีให้ความรู้โรคโควิดทางเพจของกลุ่ม
บทสัมภาษณ์ของปิยรัฐที่พูดถึงชั้นความลับ หมายถึงการไม่เปิดเผยชื่อและข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ซึ่งจะส่งผลต่อชีวิตประจำวันและหน้าที่การงาน
กลุ่มวีโว่ไม่ได้ปกปิดวิธีการดำเนินการ โดยมีการประกาศผ่านทางเพจเฟซบุ๊กทุกครั้งที่จะทำกิจกรรม และระหว่างทำกิจกรรมก็จะมีการไลฟ์สดผ่านทางเพจของกลุ่ม รวมทั้งมีนักข่าวติดตามทำข่าวตลอดกิจกรรม
นอกจากนี้ กลุ่มวีโว่ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ที่จะทำผิดกฎหมาย เพียงแค่ทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงในที่ชุมนุมและช่วยเหลือประชาชนที่มาชุมนุม โดยแนวทางในการเข้าร่วมชุมนุมจะห้ามพกอาวุธ ของมีคม และพลุควันเข้าไปในที่ชุมนุมโดยเด็ดขาด ปฏิบัติหน้าที่โดยสันติวิธี เน้นการเจรจาต่อรองเป็นหลัก เท่าที่ผ่านมากลุ่มการ์ดวีโว่ไม่เคยก่อความรุนแรงกับเจ้าหน้าที่หรือผู้ชุมนุม แต่จะป้องกันไม่ให้มีการปะทะระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ จึงมักมีภาพของกลุ่มวีโว่อยู่ตรงกลางเมื่อเกิดเหตุปะทะ
จากนั้น จำเลยที่ 11 ตอบอัยการถามค้านว่า พยานเคยเข้าร่วมชุมนุมในนามกลุ่มวีโว่ 2-3 ครั้ง ทุกครั้งมีปิยรัฐเข้าร่วมด้วย แต่ปิยรัฐไม่ได้เป็นหัวหน้ากลุ่มวีโว่ แต่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนกลุ่มในการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุมกลุ่มอื่น ซึ่งมีสมาชิกกลุ่มวีโว่อีก 2-3 คน ทำหน้าที่เดียวกัน แต่พยานจำไม่ได้ว่าใครบ้าง ในการชุมนุมจะมีหัวหน้าแต่ละกลุ่มเป็นผู้สั่งการและประสานงาน
พยานสังกัดกองร้อยที่ 5 ทำหน้าที่หน่วยแพทย์ มีการสื่อสารกันผ่านทางเทเลแกรมโดยตั้งนามแฝง พยานไม่ทราบว่า กองร้อยที่ 1 – 4 ปฏิบัติหน้าที่อย่างไร และสื่อสารกันอย่างไร เท่าที่ทราบ สมาชิกกลุ่มวีโว่น่าจะมีไม่เกิน 100 คน
โดยทั่วไปแพทย์สนามจะต้องใส่ปลอกแขนมีสัญลักษณ์กาชาด และอยู่รอบนอกที่ชุมนุม แต่ขณะเข้าร่วมชุมนุม พยานไม่ได้ติดสัญลักษณ์แพทย์ เนื่องจากพยานอยู่แนวหน้า
สมาชิกกลุ่มวีโว่ที่ทำหน้าที่การ์ดบางคนจะสวมเสื้อกั๊กในลักษณะเสื้อเกราะ ซึ่งจัดหามาใส่กันเอง พยานไม่เคยเห็นว่า ปิยรัฐสวมเสื้อกั๊กหรือเสื้อเกราะ เห็นเพียงใส่เสื้อเชิ้ตสีกรมท่า
วันเกิดเหตุพยานไปที่บ้านพักของปิยรัฐฐเพื่อรอห้างเซ็นทรัลเวิลด์เปิด ระหว่างนั้นก็ได้คุยเรื่องทั่วไปกับปิยรัฐแต่ไม่ได้พูดคุยเรื่อง AED เนื่องจากต้องพูดคุยพร้อมกับสมาชิกคนอื่น และเหตุที่ปิยรัฐขับรถตู้ไปรับพยานที่เซ็นทรัลเวิลด์ไปพูดคุยเมเจอร์ รัชโยธิน เนื่องจากพยานต้องการที่จะไปร่วมชุมนุมกับกลุ่ม REDEM ต่ออยู่แล้ว และมีบุคคลอื่นต้องการมาคุยที่เมเจอร์ รัชโยธิน ด้วย
คนที่พบที่ห้องคาราโอเกะส่วนมากจะสะพายกระเป๋าใบใหญ่รวมถึงพยาน จำเลยที่ 40 ก็อยู่ในห้องด้วย แต่พยานจำไม่ได้ว่า สะพายกระเป๋าด้วยหรือไม่ มีการพูดคุยว่าใครจะเป็นคนถือเครื่อง AED และคุณสมบัติเครื่องที่มีการเสนอราคามาว่าเป็นอย่างไร หลังจากพูดคุยทุกคนเห็นว่าน่าจะซื้อ แต่พยานไม่รู้ว่าจะซื้อเมื่อใด
จำเลยที่ 9 เข้าอบรมเป็นสมาชิกกลุ่มวีโว่พร้อมพยาน และอยู่กองร้อยที่ 5 เช่นกัน แต่ไม่ได้เป็นแพทย์ วันเกิดเหตุจำเลยที่ 9 ถูกควบคุมตัวมาในรถคันเดียวกับพยาน
สัมภาระในกระเป๋าสะพายของพยานมีผ้าพันคอสีเขียวสัญลักษณ์ของกลุ่มวีโว่ด้วย เนื่องจากไม่ได้เอาออกจากกระเป๋าตั้งแต่ตอนอบรม และมีสายเคเบิลไทร์ซึ่งพยานใส่ไว้ในกระเป๋าตลอดเวลา สำหรับใช้ผูกแผงกั้นจราจรให้ติดกัน
.
จำเลยที่ 26 ระบุ ตั้งใจไปดูหนัง ระหว่างรอเจอคนรู้จักพาไปรับข้าวฟรีและถูกจับ หลังรถควบคุมฯ หยุดไม่มีใครลงจากรถ ก่อนมีทนายพาไปลงบันทึกประจำวัน
วันเฉลิม (สงวนนามสกุล) จำเลยที่ 26 อ้างตนเป็นพยาน เบิกความว่า ในวันเกิดเหตุพยานตั้งใจจะไปดูภาพยนตร์ที่ห้างเมเจอร์ รัชโยธิน จึงขับรถจักรยานยนต์ไปเพียงคนเดียว โดยสวมเสื้อยืดคอกลมพร้อมเสื้อคลุม กางเกงยีนส์ รองเท้าผ้าใบ และมีกระเป๋าสะพายข้างสีดำ ถึงห้างในเวลาประมาณ 16.15 น. จอดรถที่ชั้นใต้ดินและเดินไปที่ชั้น 2 ซื้อตั๋วเพื่อชมภาพยนตร์รอบประมาณ 18.00 น. โดยผ่านจุดคัดกรองโควิดก่อนเข้าห้าง
ระหว่างรอชมภาพยนตร์พยานเดินเล่นบริเวณชั้น 2 และได้เจอหนุ่ยซึ่งเคยเจอกันในที่ชุมนุมเมื่อนานมาแล้วจึงพูดคุยทักทาย หนุ่ยแจ้งว่า ที่อาคารจอดรถชั้น 5 มีข้าวแจกฟรีและพาพยานไป เมื่อไปถึงพบว่ามีกลุ่มคนนั่งกระจัดกระจายอยู่ประมาณ 10 กว่าคน แต่ยังไม่มีข้าวมาแจก หนุ่ยได้แยกตัวไปหาเพื่อน พยานยืนรอประมาณ 10 นาที จึงมีผู้ชายนำข้าวกล่องมาให้ พยานรับมาแล้วนั่งกินอยู่บริเวณดังกล่าว
ระหว่างกินข้าวพยานได้ยินเสียงคนที่ชั้น 5 ตะโกนว่า ตำรวจมา จากนั้นผู้คนก็วิ่งกันชุลมุน พยานตกใจจึงลุกขึ้นวิ่งด้วย โดยทิ้งกล่องข้าวและกระเป๋าสะพายไว้ และวิ่งไปชั้นดาดฟ้า พบกลุ่มคนใส่ชุดดำสะพายปืนเดินสวนลงมาและให้พยานเดินลงไปข้างล่าง พยานจึงกลับไปที่วางกระเป๋าทิ้งไว้แต่ถูกสั่งให้หมอบลงกับพื้นโดยเอามือไขว้ไว้ด้านหลัง ก่อนหมอบพยานเห็นคนถูกสั่งให้หมอบลงกับพื้น และถูกจับกุมมาหลายคน
หลังจากนั้นมีคนสั่งให้พยานลุกขึ้นและนั่งยอง ๆ ถอดหน้ากากอนามัยและถ่ายภาพไว้ ก่อนสั่งให้นอนหมอบเช่นเดิม จากนั้นไม่นานพยานถูกสั่งให้เดินแถวลงมาขึ้นรถควบคุมผู้ต้องหาบริเวณชั้น 1 โดยมีคนขึ้นรถคันเดียวกันเกิน 10 คน เมื่อรถเคลื่อนตัวออกมามีกลุ่มคนมาทุบกระจกด้านข้างของรถ
รถได้ขับออกมาและจอดบริเวณถนนโค้งก่อนถึงศาลอาญาและดับเครื่อง ทำให้เครื่องปรับอากาศดับ ต่อมา มีคนเปิดประตูห้องควบคุมผู้ต้องหา พยานไม่ได้หันไปมองว่าเป็นใคร แต่คนที่อยู่ในรถตกลงกันว่าจะนั่งอยู่ในรถต่อไป เนื่องจากถูกควบคุมตัวแล้ว
หลังจากนั้นประมาณ 30 นาที มีชายคนหนึ่งขึ้นมาบนรถแจ้งว่าเป็นทนายความ และพูดคุยตกลงกันว่าจะให้ผู้ถูกควบคุมตัวไปยืนยันตัวที่ สน.พหลโยธิน ซึ่งใกล้บริเวณนั้นมากที่สุด ทนายความจึงพาทุกคนเดินเรียงแถวไปที่ สน.พหลโยธิน และลงบันทึกประจำวัน เมื่อทราบว่ามีกลุ่มผู้ต้องหาถูกควบคุมตัวไปที่ ตชด.ภาค 1 ด้วย พยานกับพวกจึงยืนยันจะไป ตชด.ภาค 1 แต่ไม่มีตำรวจพาไป หลังตำรวจปล่อยตัว พยานจึงกลับหอพัก
ต่อมา วันที่ 18 มี.ค. 2564 พยานเข้ารับข้อกล่าวหาที่ สน.พหลโยธิน ตามหมายเรียก และให้การปฏิเสธ ช่วงเย็นมีคนโทรศัพท์แจ้งให้พยานกลับไปรับของที่ สน.พหลโยธิน และทำบันทึกไว้ แต่กระเป๋าสะพายและโทรศัพท์มือถือได้สูญหายไปในวันเกิดเหตุ กระเป๋าที่ปรากฏในบันทึกดังกล่าวจึงไม่ใช่กระเป๋าของพยาน
ในการตอบอัยการถามค้าน จำเลยที่ 26 เบิกความว่า ก่อนเกิดเหตุพยานไปดูหนังและเดินเที่ยวเมเจอร์ รัชโยธิน บ่อยครั้ง พยานชอบดูหนังคนเดียวและมักจะนั่งแถวบริเวณด้านบนและด้านริมเพื่อให้เข้าห้องน้ำได้ง่าย แต่ในวันเกิดเหตุจำไม่ได้ว่าซื้อตั๋วที่นั่งใด โดยแถวหอพักพยานมีโรงหนังที่ใกล้ คือ เอส เอฟ เซ็นทรัลรามอินทรา แต่พยานชอบไปเมเจอร์ รัชโยธิน เพราะไปที่เซ็นทรัลลาดพร้าวสะดวกกว่า
พยานจำไม่ได้ว่าในวันเกิดเหตุหนุ่ยแต่งตัวอย่างไร ก่อนเกิดเหตุพยานไปชุมนุมทางการเมืองประมาณ 1-2 ครั้ง โดยเป็นผู้ชุมนุมอิสระ และเคยเจอกลุ่มวีโว่ในที่ชุมนุม 1 ครั้ง ก่อนมาเบิกความพยานไม่ได้ร่วมชุมนุมทางการเมืองมานานแล้ว
.
โตโต้ยืนยัน กลุ่มวีโว่ประกาศชัดเจนว่า ไม่สนับสนุนการใช้ความรุนแรง – กลุ่มการ์ดในการชุมนุมมีมาแต่อดีต วีโว่ไม่ใช่กลุ่มแรก – ไม่ได้ร่วมชุมนุมกับกลุ่ม REDEM ในวันเกิดเหตุ
“โตโต้” ปิยรัฐ จงเทพ จำเลยที่ 1 อ้างตนเป็นพยาน เบิกความว่า จบการศึกษาชั้นปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า ปัจจุบันเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
พยานเริ่มทำกิจกรรมทางการเมืองมาตั้งแต่ปี 2557 ก่อนการรัฐประหาร ส่วนในปี 2563 พยานได้ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อคัดค้านรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจมาจากการรัฐประหาร โดยกลุ่มของพยานเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเมืองและร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ในส่วนของกลุ่มอื่นมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ ยุบสภา ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งการเรียกร้องทั้งหมดเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ
“กลุ่มมวลชนอาสา” มีการก่อตั้งอย่างเป็นทางการในวันที่ 10 ส.ค. 2563 ในช่วงเริ่มแรกจะทำกิจกรรมร่วมกับกลุ่มการเมืองอื่น และทำหน้าที่ตามที่ผู้จัดกิจกรรมมอบหมายในแต่ละครั้ง เช่น การดูแลจราจร พูดคุยเจรจา หรือดูแลและส่งตัวผู้บาดเจ็บ เป็นต้น แต่หากผู้จัดกิจกรรมมอบหมายให้ทำเกินขอบเขต เช่น ก่อความรุนแรง หรือทำผิดกฎหมาย กลุ่มวีโว่จะไม่ทำ เมื่อตกลงกันชัดเจนแล้ว ผู้จัดกิจกรรมก็จะประกาศให้ผู้ร่วมชุมนุมทราบทุกครั้งว่ากลุ่มวีโว่จะทำหน้าที่ใดและมีสัญลักษณ์อย่างไร
นอกจากนี้ กลุ่มมวลชนอาสายังทำกิจกรรมกับหน่วยงานราชการและหน่วยงานสาธารณประโยชน์ เช่น กู้ชีพ และกู้ภัย โดยช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด, การแจกอาหารคนไร้บ้าน และลำเลียงผู้ได้รับบาดเจ็บกรณีเกิดเพลิงไหม้
กลุ่มมวลชนอาสาใช้ชื่อและโลโก้ภาษาอังกฤษว่า “We Volunteer” หรือ “WeVo” ในการทำกิจกรรมของกลุ่มจะประกาศชัดเจนทางเพจตลอดว่า ไม่สนับสนุนการใช้ความรุนแรง
ในการชุมนุมทางการเมืองเป็นเรื่องปกติที่จะมีกลุ่มรักษาความปลอดภัยหรือการ์ด โดยมีมาตั้งแต่สมัยการชุมนุม 14 ตุลา 16 , 6 ตุลา 19, พฤษภาทมิฬ 35 และรัฐประหาร 2549 ดังนั้น กลุ่มวีโว่ไม่ใช่กลุ่มการ์ดกลุ่มแรก
สมาชิกกลุ่มวีโว่ที่ผ่านการอบรมและลงทะเบียนในระบบ ปัจจุบันมีจำนวนไม่เกิน 500 คน ซึ่งการรับสมัครจะมีการประกาศอย่างเป็นทางการผ่านเพจของกลุ่ม ผู้สมัตรต้องกรอกประวัติส่วนตัว เช่น ชื่อ อายุ ที่อยู่ อาชีพ และความถนัด กลุ่มวีโว่จะไม่รับเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ผู้สูงอายุ และผู้พิการ เมื่อผ่านการคัดกรองแล้ว จะต้องเข้ารับการอบรมอย่างน้อย 3 ชั่วโมง ซึ่งเนื้อหาในการอบรมประกอบไปด้วย 3 เนื้อหา ได้แก่ กฎหมายพื้นฐาน มาตรการความปลอดภัยที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้กับผู้ชุมนุม และการสื่อสารภายในของกลุ่ม
ปกติผู้ที่เข้าร่วมอบรมจะมีไม่เกิน 50 คน มักจะใช้ Co-Working Space ทั่วไปตามห้าง โดยหากเป็นเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายจะเชิญวิทยากรจาก iLaw หรือศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
วีโว่มีช่องสื่อสารกับสาธารณะผ่านเพจเฟซบุ๊ก “We Volunteer” ซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 1 แสนคน และเทเลแกรม ก่อนที่กลุ่มเข้าร่วมกิจกรรมใดก็จะประกาศทางเพจก่อน เพื่อสร้างความเข้าใจตรงกันของประชาชนว่ากลุ่มที่มีสัญลักษณ์เช่นนี้คือกลุ่มวีโว่เพื่อไม่ให้ปะปนกับกลุ่มการ์ดอื่น ๆ
“ความลับของกลุ่ม WeVo” เป็นการสรุปการสัมภาษณ์พยานจากสื่อมติชน มีข้อความบางส่วนที่ถูกตัดออกไปไม่ครบถ้วน โดยความหมายจริง ๆ ของคำว่า ชั้นความลับ คือ กลุ่มวีโว่มีการแบ่งงานเป็นกลุ่ม แต่ละกลุ่มมีหน้าที่รับผิดชอบแตกต่างกัน เช่น ผู้ที่ดูแลด้านทะเบียนก็จะไม่เผยแพร่ข้อมูลสมาชิก หรือกลุ่มแพทย์ก็จะไม่เปิดเผยข้อมูลผู้ป่วยสู่สาธารณะ ซึ่งช่วงท้ายพยานพูดไว้ว่า แต่ละกลุ่มแต่ละชั้นจะตรวจสอบกันเองว่าปฏิบัติตามกฎหมายหรือเป็นไปตามที่คุยกันหรือไม่
ตั้งแต่ก่อตั้งกลุ่มวีโว่มาไม่เคยถูกดำเนินคดีข้อหาก่อความวุ่นวายในบ้านเมืองและทำร้ายเจ้าหน้าที่ ส่วนคดีต่าง ๆ ที่พยานโจทก์เบิกความถึงนั้น ล้วนมีคำพิพากษายกฟ้อง รวมถึงคดีอั้งยี่ของกลุ่มวีโว่ก่อนหน้านี้
ภาพถ่ายข้อความการสนทนาในกลุ่มเทเลแกรมตามรายงานการสืบสวนไม่ใช่เทเลแกรมของกลุ่มวีโว่ และพยานไม่ได้อยู่ในกลุ่มดังกล่าว
ก่อนวันเกิดเหตุ พยานได้ประกาศทางเพจเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า จะไม่เข้าร่วมการชุมนุมกับกลุ่ม REDEM ต่อมาในช่วงเช้าวันเกิดเหตุ จำเลยที่ 11 ได้มาพบพยานที่บ้านพัก เพื่อคุยเรื่องเครื่อง AED แต่เนื่องจากพยานเพิ่งตื่นจึงขอทำธุระส่วนตัวก่อนค่อยคุยในตอนสาย
หลังจากนั้น เวลา 09.00 น. ทราบว่า จำเลยที่ 11 ไปทำธุระที่เซ็นทรัลเวิลด์ พยานจึงไปพบที่เซ็นทรัลเวิลด์ จำเลยที่ 11 บอกว่าเสร็จธุระแล้วและจะไปทำกิจกรรมต่อที่ห้าแยกลาดพร้าว ซึ่งพยานคิดว่าน่าจะเป็นการชุมนุมของกลุ่ม REDEM พยานจึงแจ้งว่า นัดหมายคนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการซื้อเครื่อง AED ไปคุยที่ห้องคาราโอเกะ ห้างเมเจอร์ รัชโยธิน
ในการจัดซื้อเครื่อง AED นั้น กลุ่มวีโว่มีการประกาศผ่านเพจเฟซบุ๊กในวันที่ 4 มี.ค. 2564 และโพสต์ใบเสนอราคาของบริษัทที่จะจัดจำหน่ายให้ประชาชนทราบเพื่อขอรับบริจาค โดยจะเป็นการจัดซื้อเครื่องแรกก่อน ส่วนอีก 2 เครื่อง จำเลยที่ 11 จะนำใบเสนอราคาที่ไปจัดหามามาพูดคุยกันในวันเกิดเหตุ
หลังพูดคุยกันเสร็จ จำเลยที่ 11 แจ้งว่า ผู้ชุมนุมที่มาจากห้าแยกลาดพร้าวกำลังจะเดินทางมาถึงแล้ว ขอตัวไปร่วมชุมนุม พยานจึงจะกลับออกจากห้างเพื่อไม่ให้คนอื่นเข้าใจว่าพยานมาร่วมชุมนุมด้วย พยานกับพวกอีก 3 – 4 คน ที่จะขอติดรถกลับบ้านด้วยจึงเดินไปที่รถบริเวณลานจอดรถชั้น 3 ซึ่งชั้นดังกล่าวไม่มีผู้ชุมนุมอยู่ แต่มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเข้ามาขอตรวจค้น พยานกับพวกไม่ให้ตรวจค้น เนื่องจากไม่แน่ใจว่าเป็นเจ้าหน้าที่จริงหรือไม่ จากนั้นมีเจ้าหน้าที่ตำรวจแต่งชุดคอมมานโดพร้อมอาวุธเข้ามา พยานจึงทราบว่าเป็นเจ้าหน้าที่และให้ตรวจค้น
เสื้อที่พยานใส่ในวันเกิดเหตุเป็นเสื้อเวส (Vest) ซึ่งมีจำหน่ายทั่วไปตามท้องตลาด โดยพยานเพิ่งใส่ก่อนเข้าห้างเมเจอร์ฯ เพื่อไปทดสอบกับเครื่อง AED ว่า หากมีการใส่เสื้อลักษณะดังกล่าว เมื่อเกิดเหตุต้องถอดเสื้อดังกล่าวออกก่อนหรือไม่ โดยเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจขอตรวจค้น พยานได้เปิดให้ตรวจดูว่าเสื้อเวสอยู่
ตำรวจควบคุมตัวพยานแยกไปขึ้นรถฟอร์จูนเนอร์เพียงคนเดียวและพาไปที่ ตชด.ภาค 1 ส่วนพวกที่มาด้วย พยานไม่ทราบว่าถูกควบคุมไปที่ใด ขณะอยู่บนรถตำรวจให้พยานถอดเสื้อเวสออกและนำไปที่ใดไม่ทราบ เมื่อถึง ตชด. ภาค 1 ในเวลากลางคืน ตำรวจได้ให้พยานชี้เสื้อเวสของพยาน พยานจึงชี้ที่ตัวเสื้อ แต่ไม่ได้ชี้แผ่นเหล็กที่วางอยู่ด้วยเนื่องจากไม่ทราบว่าเป็นของใคร ซึ่งขณะที่พยานชี้เสื้อเวสนั้น ไม่มีสัญลักษณ์ระบุว่าเป็นเลขใด
เมื่อพนักงานสอบสวนสอบปากคำ พยานให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และตั้งแต่สอบปากคำครั้งแรกจนถึงสอบปากคำเพิ่มเติม พนักงานสอบสวนไม่เคยนำเสื้อเกราะที่ส่งตรวจซึ่งระบุเป็น A2 มาสอบถามว่าเป็นเสื้อของพยานหรือไม่
คำว่า “ร้อย”เป็นชื่อของกลุ่ม หากมีสมาชิกที่ผ่านการอบรมครบ 100 คน ก็จะเรียกว่าเป็นกลุ่มร้อยที่หนึ่ง และเมื่อครบร้อยคนถัดไป ก็จะเป็นกลุ่มร้อยที่สอง ต่อไปเรื่อย ๆ แต่ว่ากลุ่มอื่น ๆ เรียกเท่ ๆ ว่า “กองร้อย”
หลังจากพยานถูกควบคุมตัวในวันเกิดเหตุ พนักงานสอบสวนได้ขอฝากขังต่อศาล และศาลอาญาไม่ให้ปล่อยชั่วคราวจนกระทั่งให้ปล่อยชั่วคราวในวันที่ 2 เม.ย. 2564 แต่ สภ.ยางตลาด มาอายัดตัวพยานไปดำเนินคดีที่ศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ และศาลไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราวอีกเป็นเวลา 33 วัน พยานจึงไม่ได้ให้การเพิ่มเติมในรายละเอียด และพนักงานสอบสวนก็ไม่ได้ไปสอบปากคำพยานเพิ่มเติมในเรือนจำด้วย
ปิยรัฐตอบอัยการถามค้านในเวลาต่อมาว่า ก่อนที่กลุ่มวีโว่จะเข้าร่วมกิจกรรมจะนัดรวมตัวที่บ้านพักของพยาน ซึ่งมีอุปกรณ์เกี่ยวกับการชุมนุมบางส่วนมาเก็บไว้ ส่วนใหญ่เป็นเครื่องเสียง เครื่องปั่นไฟ และอุปกรณ์ป้องกันแก๊สน้ำตา
พยานได้รับมอบหมายจากกลุ่มวีโว่ให้เป็นผู้ประสานงานกับกลุ่มต่าง ๆ และเจ้าหน้าที่ แล้วนำข้อมูลหรือภารกิจที่ได้รับมาประชุมภายในกลุ่มวีโว่ โดยพยานไม่ได้สังกัดกลุ่มร้อยใด
วันเกิดเหตุวีโว่ประกาศไม่เข้าร่วมกิจกรรม พยานจึงไม่ทราบว่ามีผู้ใดเข้าร่วมหรือไม่ เหตุที่พยานประกาศไม่เข้าร่วมชุมนุม เนื่องจากกลุ่ม REDEM ไม่มีแกนนำ พยานเลยไม่ทราบว่าต้องประสานงานกับใคร สมาชิกกลุ่มวีโว่ที่เข้าร่วมจึงไปในฐานะส่วนตัว บางคนถูกจับกุมด้วย ซึ่งจำเลยในคดีนี้บางคนเคยเป็นหัวหน้ากลุ่มร้อยมาก่อนในการชุมนุมครั้งอื่น ๆ
ในกลุ่มเทเลแกรมของวีโว่มีสมาชิกประมาณ 700 คน และมีสมาชิกที่ใช้ชื่อ “K” ตัวเดียว ประมาณ 3 คน ซึ่งในเทเลแกรมสมาชิกสามารถตั้งชื่อเป็นอะไรก็ได้ พยานจึงไม่ทราบว่าคนที่ถูกจับในวันนั้นมีบุคคลที่ใช้ชื่อว่า “K” หรือไม่
พยานมีส่วนร่วมคัดเลือกผู้เข้าร่วมอบรมและประเมินว่าผ่านการอบรมหรือไม่ โดยจะสอบถามวิทยากรที่มาอบรมด้วย การอบรมมีเฉพาะแบบออนไซต์ (on site) โดยค่าใช้จ่ายก็จะมีการเปิดรับบริจาคบ้าง
ในการเข้าร่วมกิจกรรม บางครั้งก็มีการใช้วิทยุสื่อสารเพื่อสื่อสารกันในกลุ่ม ส่วนกลุ่มเทเลแกรมที่ใช้สื่อสารเป็นหลักชื่อว่า “We Volunteer” แต่ละร้อยก็จะมีการตั้งกลุ่มย่อยในการปฏิบัติภารกิจแต่ละครั้ง และพยานไม่ได้อยู่ในกลุ่มเหล่านั้น
ในการพูดคุยที่ห้องคาราโอเกะ ยังไม่มีการนำเครื่อง AED มาทดสอบ เนื่องจากอยู่ระหว่างรอบริษัทผู้จัดจำหน่ายนำมาให้ทดสอบ แต่จำเลยที่ 11 แจ้งว่า กลุ่มผู้ชุมนุมมาแล้ว พยานจึงออกจากห้องก่อนจะมีการทดสอบ โดยในวันดังกล่าวพยานเตรียมเงินสดเป็นแบงค์พันประมาณ 100,000 บาท เพื่อมาซื้อเครื่อง AED นอกจากนี้ยังมีแบงค์ 20 บาทอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งเตรียมไว้ในการจำหน่ายกุ้ง มีจำเลยที่ 40 เป็นผู้ถือมา ภายหลังได้ขอคืนจากตำรวจที่ตรวจยึดไป แต่จำเลยที่ 40 ยืนยันว่าไม่ครบตามจำนวน พยานจึงได้แจ้งความร้องทุกข์ที่ สน.พหลโยธิน แล้ว
พยานใส่เสื้อเวสในวันเกิดเหตุเป็นครั้งแรก มีคนนำมาให้พยานลองสวมใส่ ซึ่งไม่ทราบว่าซื้อมาจากที่ใด ปัจจุบันไม่สามารถติดต่อบุคคลดังกล่าวได้อีก
พยานไม่มีโอกาสให้การกับพนักงานสอบสวนตามที่เบิกความไปข้างต้น เนื่องจากถูกคุมขังในเรือนจำและพนักงานสอบสวนไม่ได้เข้าไปในเรือนจำเพื่อสอบปากคำ
.
ผจก.iLaw ระบุ เคยอบรมความรู้เกี่ยวกับ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ให้สมาชิกวีโว่ เท่าที่ทราบวีโว่ไม่เคยใช้ความรุนแรงกับเจ้าหน้าที่
ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) เบิกความว่า พยานทำงานเกี่ยวกับประเด็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งช่วงปี 2563 – 2564 พยานติดตามสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองและการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการชุมนุมมาโดยตลอด
พยานทราบว่า มีการก่อตั้งกลุ่มวีโว่และประกาศรับสมาชิก ต่อมา กลางปี 2563 สมาชิกกลุ่มวีโว่ได้ติดต่อให้พยานไปอบรมความรู้เกี่ยวกับ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ ให้กับสมาชิก พยานจึงไปเป็นวิทยากรอบรมให้ 2 ครั้ง สถานที่อบรมเป็น Co-Working Space
จากการติดตามสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง พยานทราบว่า กลุ่มวีโว่จะทำหน้าที่ดูแลความปลอดภัยของผู้ชุมนุม เช่น อำนวยความสะดวกด้านการจราจร ป้องกันเจ้าหน้าที่เข้าสลายการชุมนุม หรือมือที่สามเข้าทำร้ายผู้ชุมนุม รวมทั้งไม่ให้เกิดความรุนแรงในที่ชุมนุม
พยานยังได้จัดทำเว็บไซต์ mobdatathailand.org โดยมีเจ้าหน้าที่ไปสังเกตการณ์การชุมนุมและรายงานสถานการณ์ให้ทราบ ทำให้ทราบเกี่ยวกับการทำหน้าที่กลุ่มการ์ดวีโว่ ซึ่งหากพบว่ามีการใช้ความรุนแรงในการชุมนุม ก็จะมีการบันทึกข้อมูลไว้ในเว็บไซต์ดังกล่าวด้วย
จากการติดตามของพยาน นอกจากกลุ่มการ์ดวีโว่ซึ่งใช้ปลอกแขนสีเขียวหรือสีขาวสะท้อนแสงเป็นสัญลักษณ์แล้ว ยังมีการ์ดอีกหลายกลุ่ม เช่น การ์ดราษฏร การ์ดปลดแอก และการ์ดอาชีวะซึ่งมีการใส่เสื้อแยกตามสถาบันการศึกษา แต่หากการ์ดกลุ่มใดไม่มีสัญลักษณ์ก็เป็นเรื่องยากที่จะแยกแยะได้ เนื่องจากลักษณะแต่งกายทั่ว ๆ ไปเหมือนกัน โดยในเฟซบุ๊กของ iLaw ได้รวบรวมสัญลักษณ์ของกลุ่มการ์ดต่าง ๆ ไว้
นอกจากทำหน้าที่เป็นการ์ดอาสาในที่ชุมนุมแล้ว กลุ่มวีโว่ยังกิจกรรมสาธารณประโยชน์อย่างอื่นด้วย เช่น กิจกรรมขายกุ้งช่วยเกษตรกร
พยานตอบอัยการถามค้านด้วยว่า ในการอบรมที่พยานไปเป็นวิทยากรมีผู้เข้าร่วมครั้งละประมาณ 50 คน ทั้งสองครั้งผู้เข้าร่วมไม่ซ้ำกัน พยานไม่ทราบว่า กลุ่มวีโว่ได้จัดอบรมในด้านอื่นให้กับสมาชิกหรือไม่
เท่าที่พยานทราบ สมาชิกกลุ่มวีโว่ไม่เคยใช้ความรุนแรงกับเจ้าหน้าที่ และปิยรัฐเป็นผู้มีบทบาทหลักในกลุ่มวีโว่ แต่ไม่ทราบว่าปิยรัฐจะเป็นผู้นำในการเข้าร่วมชุมนุมทุกครั้งหรือไม่ พยานเคยเห็นปิยรัฐร่วมชุมนุมกับสมาชิกกลุ่มวีโว่หลายครั้ง โดยแต่งกายเป็นเอกลักษณ์เหมือนเดิมทุกครั้ง คือ ใส่เสื้อแขนยาวสีน้ำเงินมีปลอกแขนเขียวสะท้อนแสง สวมหมวกนิรภัย และใส่เสื้อกั๊กบ้างเป็นบางครั้ง ซึ่งไม่ทราบว่าเป็นเสื้อเกราะหรือไม่
.