ศาลฎีกาพิพากษาจำคุก ‘ยงยุทธ’ 1 ปี ก่อนลดเหลือ 6 เดือน ฐานทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงาน คดีถูกจับกุมก่อน #ม็อบ6มีนา64 ต้องเข้าเรือนจำทันที

6 มิ.ย. 2567 เวลา 09.00 น. ศาลแขวงพระนครเหนือนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา ในคดีของ ยงยุทธ (สงวนนามสกุล) ประชาชนวัย 26 ​ปี หลังถูกกล่าวหาว่าทำร้ายเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 296 ประกอบมาตรา 289 (2) เหตุจากการถูกกล่าวหาว่าสับศอกใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ หลังจากถูกจับกุมที่ห้างเมเจอร์รัชโยธิน ก่อนการชุมนุม #ม็อบ6มีนา64

ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ เห็นว่าจำเลยกระทำที่การก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย และตามที่จำเลยอ้างว่าไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนและมีภาระที่ต้องเลี้ยงดูครอบครัว ยังไม่เป็นเหตุผลเพียงพอในการรอการลงโทษ ลงโทษจำคุก 1 ปี ก่อนลดเหลือ 6 เดือน ไม่รอลงอาญา

.

สำหรับเหตุการณ์ชุมนุมในคดีนี้ คือ #ม็อบ6มีนา64 กลุ่ม REDEM ทำโพลนัดหมายชุมนุมรวมตัวกันบริเวณห้าแยกลาดพร้าวเพื่อเดินขบวนไปทำกิจกรรมทิ้งและเผาขยะหน้าศาลอาญา แต่ก่อนการชุมนุมดังกล่าว สมาชิกกลุ่ม Wevo และประชาชน รวมกว่า 48 คน ได้ถูกเจ้าหน้าที่เข้าปิดล้อมจับกุมที่บริเวณห้างเมเจอร์รัชโยธิน ก่อนพาตัวขึ้นรถแยกกันไปหลายคัน

โดยรถของ ปิยรัฐ จงเทพ และผู้ต้องหาจำนวนหนึ่งถูกนำออกตัวไปที่ บก.ตชด. ก่อน ส่วนรถผู้ต้องขังคันที่สองและสามแยกออกมาและถูกกลุ่มบุคคลสกัดไว้ ต่อมาผู้ต้องหาที่ถูกสกัดได้เข้ารายงานตัวที่ สน.พหลโยธิน ส่วนการเดินขบวนทำกิจกรรมเป็นไปโดยสงบและไม่มีการปะทะกับเจ้าหน้าที่ (อ่านเหตุการณ์ชุมนุมต่อที่นี่)

.

เกี่ยวกับคดีนี้ เมื่อวันที่ 5 พ.ค.​ 2564 ยงยุทธ พร้อมด้วยทนายความได้ไปพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก ที่ สน.พหลโยธิน โดยยงยุทธให้การรับสารภาพตามข้อกล่าวหา และในวันเดียวกันนั้นเขาถูกส่งตัวมาที่ศาลแขวงพระนครเหนือเพื่อให้อัยการสั่งฟ้อง

สำหรับคำฟ้องในคดีนี้ มีพนักงานอัยการ สำนักอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง โดยคำฟ้องมีใจความสำคัญว่า เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2564 ขณะที่ ร.ต.อ.ทวีป พูลบัว ผู้เสียหาย ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำอยู่ที่ สน.บางซื่อ ตำแหน่ง รองสารวัตร (สอบสวน) ช่วยราชการกองบังคับการตำรวจนครบาล 2 ได้ออกปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งให้สืบสวนหาข่าวเกี่ยวกับการชุมนุม REDEM ในวันดังกล่าว

ขณะเกิดเหตุกลุ่มเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของกลุ่มผู้ชุมนุมประมาณ 20 คน วิ่งไปที่รถควบคุมตัวผู้ต้องหาและใช้ไม้ ท่อนเหล็ก และก้อนหินทุบทำลายรถควบคุมผู้ต้องหา ผู้เสียหายจึงใช้โทรศัพท์ถ่ายภาพเพื่อเก็บเป็นหลักฐาน จากนั้นกลุ่มผู้รักษาความปลอดภัยได้กระชากโทรศัพท์ดังกล่าวพร้อมพูดว่า “เอ้ยตำรวจถ่ายรูป”

ต่อมา จำเลยได้ใช้กำลังประทุษร้ายร่างกายผู้เสียหายโดยใช้ศอกสับไปที่ศีรษะและใบหน้าผู้เสียหาย จนได้รับบาดเจ็บมีบาดแผลบริเวณริมฝีปากด้านใน เลือดออกบริเวณเหงือก และฟันล่างหลุด 1 ซี่ อันเป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานซึ่งกระทำตามหน้าที่

ด้านยงยุทธเล่าถึงเหตในวันเกิดเหตุว่า เขาถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจกล่าวหาว่ากระทำความผิดซึ่งหน้าจึงเข้าจับกุมโดยไม่มีหมาย บริเวณห้างเมเจอร์รัชโยธิน ประกอบกับเขาได้เห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจนำกระบองเขี่ยบริเวณก้นของผู้ถูกจับกุมหญิงรายหนึ่ง ทำให้เขารู้สึกโกรธและรู้สึกว่าไม่ได้รับความยุติธรรม

ในขณะที่ยงยุทธถูกควบคุมตัวอยู่บนรถผู้ต้องขัง เมื่อมีประชาชนมาล้อมและทุบรถ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เปิดประตูและหนีไป ตนกับคนอื่น ๆ จึงได้ลงมาจากรถผู้ต้องขังที่มีความแออัดและอากาศไม่ถ่ายเท โดยไม่ได้คิดจะหลบหนี ก่อนเห็นประชาชนคนหนึ่งวิ่งเข้าไปกระชากโทรศัพท์มือถือจากบุคคลที่ยืนถ่ายภาพอยู่ ซึ่งในขณะนั้นเขาไม่ทราบว่าบุคคลดังกล่าวเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ เนื่องจากไม่ได้สวมใส่เครื่องแบบ ใส่หมวก และไว้ผมยาว ทำให้เขาเข้าใจผิดว่าเป็นผู้ไม่ประสงค์ดี จึงได้ศอกใส่ผู้เสียหายไปหนึ่งครั้ง

ยงยุทธเปิดเผยว่า ภายหลังเกิดเรื่อง เขารู้สึกผิดกับเจ้าหน้าที่ตำรวจคนดังกล่าวอย่างมาก และเขาได้พยายามขอช่องทางติดต่อจากเจ้าหน้าที่ เพื่อขอโทษ และชดเชยค่าเสียหาย แต่ก็ไม่สามารถติดต่อได้

ในวันเดียวกันนั้น (5 พ.ค. 2564) ศาลแขวงพระนครเหนือได้มีคำพิพากษาให้จำเลยมีความผิดตามฟ้อง จำคุก 1 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรลดโทษกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา  และต่อมาเมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2566 ศาลอุทธรณ์ก็ได้มีคำพิพากษายืน ยงยุทธยังได้รับการประกันตัวเรื่อยมา

ต่อมา ทนายความได้ยื่นฎีกาเพื่อให้พิจารณารอการลงโทษ ก่อนที่ศาลจะนัดหมายฟังคำพิพากษาศาลฎีกาในวันนี้ ทั้งนี้ ฎีกาโดยสรุปมีประเด็นดังนี้

ประเด็นที่ 1 ในวันเกิดเหตุ จำเลยติดตามข่าวสารเกี่ยวกับการเรียกร้องให้รัฐบบาลจัดสรรวัคซีนมาอย่างต่อเนื่อง จนเมื่อแกนนำถูกดำเนินคดีและไม่ได้ประกันตัว จำเลยจึงมาร่วมชุมนุม และเมื่อเจ้าหน้าที่นำรถควบคุมตัวผู้ต้องหามาในที่เกิดเหตุ มีบุคคลซึ่งแต่งกายนอกเครื่องแบบมาถ่ายรูปเหตุการณ์ชุลมุนที่เกิดขึ้น ซึ่งการชุมนุมส่วนใหญ่มักจะมีมือที่สามมาสร้างสถานการณ์ความวุ่นวายอยู่บ่อยครั้ง ด้วยความขาดความยับยั้งชั่วขณะจึงได้กระทำผิดไป 

ภายหลังจำเลยได้รับหมายเรียกก็มิได้นิ่งนอนใจ และได้เข้าพบพนักงานสอบสวน ให้การรับสารภาพ และให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีตลอดจนจบกระบวนการ อีกทั้งได้พยายามติดต่อผู้เสียหายเพื่อจะขอโทษ แต่ก็ไม่มีข้อมูลในการติดต่อได้ จำเลยรู้สึกผิดในการกระทำดังกล่าว และกลับตัวกลับใจไม่ประพฤติเช่นนี้อีก

ประเด็นที่ 2 จำเลยประกอบอาชีพเป็นพนักงานขนส่ง และเป็นเสาหลักของครอบครัวในการหาเลี้ยงชีพ มีภาระต้องเลี้ยงดูบุตรชายอายุ 6 ขวบ และมารดาที่มีอาการป่วย ต้องเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปีแล้ว อีกทั้งจำเลยสำนึกผิดในการกระทำของตน โดยให้การรับสารภาพมาตลอดตั้งแต่ชั้นสอบสวนและชั้นศาล มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ไม่ไปเกี่ยวข้องกับการชุมนุมอีก ตั้้งใจประกอบอาชีพเพื่อหารายได้มาเลี้ยงดูครอบครัว การที่ให้จำเลยได้รับโทษจำคุก จะทำให้ครอบครัวได้รับความเดือดร้อนอย่างยิ่ง ประกอบกับไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยมีประวัติต้องโทษจำคุกมาก่อน

.

วันนี้ (6 มิ.ย. 2567) ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 17 ยงยุทธเดินทางมาศาลพร้อมกับทนายความเพื่อฟังคำพิพากษา โดยมีนักกิจกรรมมาให้กำลังใจอีกด้วย หลังจากนั้นเมื่อเวลา 9.20 น. ศาลออกนั่งบัลลังก์และเริ่มอ่านคำพิพากษาสั้น ๆ โดยสรุปเป็นใจความสำคัญได้ว่า

ในคดีนี้มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่ามีเหตุสมควรที่จะรอการลงโทษจำคุกให้จำเลยหรือไม่ เห็นว่าจำเลยกระทำการโดยทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานจนได้รับบาดเจ็บ มีบาดแผลบริเวณริมฝีปากด้านใน เลือดออกบริเวณเหงือก และฟันล่างหลุด 1 ซี่ ซึ่งเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ตามที่จำเลยอ้างว่าไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนและมีภาระที่ต้องเลี้ยงดูครอบครัว ยังไม่มีเหตุผลเพียงพอในการรอการลงโทษ 

ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รอการลงโทษ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ศาลฎีกาพิพากษายืน จำคุก 1 ปี ก่อนลดกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 6 เดือน ไม่รอลงอาญา

.

หลังจากฟังคำพิพากษาแล้ว ยงยุทธถูกเจ้าหน้าที่ใส่กุญแจมือและควบคุมตัวไปยังห้องคุมขังชั้น 1 ระหว่างนั้นคุณแม่และลูกชายของยงยุทธเดินทางเพื่อมาฟังคำพิพากษาด้วย แต่ก่อนที่ครอบครัวจะเดินทางมาถึง ศาลได้อ่านคำพิพากษาและนำตัวยงยุทธไปคุมขังแล้ว ทำให้ยงยุทธและครอบครัวยังไม่ได้พบกัน ผลของคำพิพากษาดังกล่าว ทำให้คดีสิ้นสุดลง และยงยุทธจะถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ทันที 

จนถึงปัจจุบัน ทำให้มียอดผู้ต้องขังในคดีทางการเมือง รวมแล้วอย่างน้อย 43 คน โดยแบ่งเป็นผู้ต้องขังที่ไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างการต่อสู้คดี อย่างน้อย 24 คน, ผู้ต้องขังที่คดีถึงที่สุดแล้วจำนวนอย่างน้อย 18 คน และเยาวชน 1 คน ที่ถูกคุมขังตามคำสั่งศาลให้ใช้มาตรการพิเศษแทนการมีคำพิพากษา

.

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุก 6 เดือน “ยงยุทธ” ฐานทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงาน หลังถูกจับกุมที่เมเจอร์ #ม็อบ6มีนา64 ชี้จำเลยไม่มีความเกรงกลัวต่อกฎหมาย ไม่รอลงอาญา

X