ก่อนพิพากษา: บันทึกสืบพยานคดีหนุ่ม ปวส. สาดน้ำสี-ชกต่อยเจ้าพนักงานขณะเปิดเสียงความถี่สูง L-RAD ใส่ผู้ชุมนุมในกิจกรรมคาร์ม็อบเชียงใหม่

15 พ.ย. 2565 เวลา 9.00 น. ศาลแขวงเชียงใหม่นัดอ่านคำพิพากษาในคดีของ “โอ๊ต” (สงวนชื่อสกุล) นักศึกษา ปวส. วัย 18 ปี ที่ถูกกล่าวหาในข้อหา “ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้าย, ทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ และทำให้เสียทรัพย์” เนื่องด้วยเหตุการณ์ชุลมุนในระหว่างกิจกรรม “ล้านนาต้านศักดินาทัวร์” ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2564 ที่บริเวณหน้าประตูทางเข้าศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ 

ภาพรวมเหตุการณ์ในกิจกรรม “ล้านนาต้านศักดินาทัวร์” ดังกล่าว เป็นกิจกรรมคาร์ม็อบที่ประชาชนนัดหมายรวมตัวกันบริเวณหน้าสำนักงานตำรวจภูธรเชียงใหม่ ก่อนจะเคลื่อนขบวนมาที่ศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เรียกร้องในประเด็นปัญหาการบริหารจัดการโควิด-19 ของรัฐบาล และเรียกร้องเรื่องการดูแลผู้ต้องขังทางการเมืองของกรมราชทัณฑ์

แต่เมื่อขบวนคาร์ม็อบมาถึงประตูศาลากลางเชียงใหม่ ปรากฏว่าประตูได้ถูกปิดล็อคกุญแจไว้ พร้อมกับมีเจ้าหน้าที่ยืนปิดกั้น และมีแผงเหล็กปิดกั้นทางเข้า เกิดการเจรจาต่อรองกันระหว่างแกนนำผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ตำรวจแต่ไม่เป็นผล ผู้ชุมนุมจึงทำการรื้อรั้วกั้นและปาลูกโป่งน้ำใส่เจ้าหน้าที่ ในขณะนั้นเองมีชายเสื้อดำ ยืนถือเครื่องคลื่นความถี่สูง L-RAD เปิดเครื่องหันมาใส่ผู้ชุมนุม โดยจำเลยเห็นดังนั้นจึงได้หยิบถังโฟมด้านในบรรจุน้ำผสมสีไปสาดใส่ชายดังกล่าว และชกต่อยไปที่บริเวณหน้า 1 ครั้ง จนเป็นที่มาของคดีนี้

พนักงานอัยการยื่นคำฟ้องจำเลยเมื่อวันที่ 8 ต.ค. 2564 โดยศาลอนุญาตปล่อยชั่วคราวจำเลยโดยไม่ต้องวางหลักประกัน แต่ให้สาบานตัว ก่อนมีการสืบพยานโจทก์และจำเลยไปเมื่อวันที่ 21-22 ก.ย. 2565 ทั้งสองวัน โดยมีกลุ่มนักกิจกรรมสลับกันเข้าร่วมฟังการสืบพยาน 

ก่อนถึงวันฟังคำพิพากษา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนสรุปเรื่องราว คำฟ้อง คำให้การจำเลย และบันทึกการสืบพยานโจทก์-จำเลยในคดีนี้

.

ภาพเจ้าหน้าที่ปิดกั้นทางทางเข้าประตูศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่
(ภาพจากสำนักข่าวประชาไท)

.

อัยการฟ้อง จำเลยสาดน้ำสี – ชกที่ใบหน้าตำรวจขณะปฏิบัติหน้าที่ ด้านจำเลยต่อสู้คดี กระทำไปเพราะถูกเปิดเครื่อง L-RAD ใส่จนเจ็บหู เพื่อป้องกัน-บันดาลโทสะ เนื่องจากเห็นว่าเป็นการละเมิดต่อร่ายกายผู้ชุมนุม

คำฟ้องโดยสิริยา พรหมราชยศ พนักงานอัยการ สรุปได้ว่า เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2564 มีกลุ่มมวลชนรวมตัวกันจัดกิจกรรม “ยืน หยุด ทรราช ต้านอำนาจ ร่วมคาร์ม็อบ” โดยนัดหมายรวมตัวกันขับขี่ยานพาหนะวนรอบตัวเมืองเชียงใหม่และจะมารวมกันทำกิจกรรมที่ศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่ ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่สถานีตำรวจภูธรช้างเผือกและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองเชียงใหม่ได้ร่วมกันควบคุมพื้นที่โดยปิดประตูทางเข้าศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่ ไม่ให้กลุ่มมวลชนเข้าไปได้ แกนนำของกลุ่มมวลชนจึงได้ปราศรัยบนรถเครื่องเสียงเจรจาต่อรองขอให้เจ้าหน้าที่เปิดประตู แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ไม่เปิดประตูแกนนำจึงประกาศให้ผู้ชุมนุมนำลูกโป่งน้ำผสมสี ปาใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงเปิดลำโพงคลื่นความถี่สูง (L-RAD) เพื่อควบคุมความสงบเรียบร้อย

ขณะที่ ส.ต.อ.สุริยัณห์ ชัยมงคล ผู้เสียหาย ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำสถานีตำรวจภูธรช้างเผือก ตำแหน่งผู้บังคับหมู่งานป้องกันปราบปราม และได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ควบคุมฝูงชนชุดปฏิบัติการที่ 4 ชุดสนับสนุน/เครื่องเสียง ได้ปฏิบัติหน้าที่ยืนถือลำโพงขยายเสียงที่กำลังเปิดคลื่นความถี่สูง (L-RAD) อยู่นั้น จำเลยซึ่งเป็นผู้ร่วมการชุมนุม ได้ต่อสู้ขัดขวางโดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยจำเลยถือถังโฟมภายในบรรจุน้ำสีแดงหรือชมพู แล้วนำมาสาดใส่ลำตัวผู้เสียหายเป็นเหตุให้เสื้อ กางเกง หมวกและรองเท้าผู้เสียหายเปื้อนสีได้รับความเสียหาย คิดเป็นเงิน 2,000 บาท แล้วจำเลยใช้กำลังประทุษร้ายทำร้ายร่างกายผู้เสียหายโดยใช้กำปั้นชกไปที่บริเวณใบหน้าของผู้เสียหาย 1 ครั้ง เป็นเหตุให้ได้รับบาดเจ็บ อันเป็นการต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติการตามหน้าที่

อัยการขอให้ศาลลงโทษจำเลยใน 3 ข้อหาได้แก่ 1. ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติการตามหน้าที่ ตาม ป.อ. มาตรา 138  2. ทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติการตามหน้าที่ ตาม ป.อ. มาตรา 296 และ 3. ทำให้เสียทรัพย์ของผู้อื่น ตาม ป.อ. มาตรา 358

ข้อต่อสู้ของฝ่ายจำเลย รับว่าเป็นบุคคลตามฟ้องที่ถือถังโฟมภายในบรรจุน้ำผสมสีมาสาดใส่ตัวผู้เสียหาย และใช้มือชกไปที่บริเวณใบหน้า 1 ครั้ง แต่การกระทำของจำเลยเกิดจากถูกข่มเหงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม อันเป็นการกระทำเพื่อป้องกัน บรรเทาความบาดเจ็บของจำเลยและของบุคคลอื่น เพื่อให้พ้นจากภยันตราย กระทำไปเพราะต้องการปิดเครื่องเสียง L-RAD ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ชุมนุมเท่านั้น 

.

ภาพเหตุการณ์ผู้ชุมนุมขว้างปาลูกโป่งน้ำผสมสีใส่ฝ่ายเจ้าหน้าที่ให้หลบจากประตูศาลากลาง
(ภาพจากสำนักข่าวประชาไท)

.

ภาพรวมการต่อสู้คดีของโจทก์-จำเลย

พนักงานอัยการระบุพยานโจทก์ 4 ปาก ได้แก่ 1. ร.ต.อ.มนตรี ปิงแก้ว รองสารวัตรสืบสวน สภ.ช้างเผือก หัวหน้าชุดคุมเครื่องเสียงและการเจรจาต่อรอง  2. ส.ต.อ.สุริยันต์ ชัยมงคล เจ้าหน้าที่ตำรวจประจำ สภ.ช้างเผือก ผู้เสียหายในคดีนี้  3. นายวิชัย ว่องสาริการ สังกัดที่ทำการปกครอง จังหวัดเชียงใหม่ ผู้เห็นเหตุการณ์ และ 4. ร.ต.ท.วายุ กาสุริยะ พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดีนี้ 

พยานโจทก์พยายามชี้ให้เห็นว่าผู้ชุมนุมขว้างปาลูกโป่งน้ำใส่เจ้าหน้าที่และพยายามรื้อทำลายรั้วและแบริเออร์กั้นขวาง ทำให้เจ้าหน้าที่เปิดคลื่นความถี่สูงจากเครื่อง L-RAD ซึ่งเป็นเครื่องแบบที่มีขนาดเล็กสำหรับพกพา เข้าใจว่าเป็นเพียงแค่เสียงเตือนหรือไซเรนเท่านั้น ไม่ได้ทำให้เกิดความบาดเจ็บ และเป็นการกระทำตามหน้าที่ นอกจากนี้การปิดประตูศาลากลางเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้าไปกระทำสิ่งไม่ดี

ก่อนเริ่มสืบพยาน ส.ต.อ.สุริยันต์ ชัยมงคล  เจ้าหน้าที่ตำรวจประจำ สภ.ช้างเผือก ผู้เสียหาย ได้ยื่นขอเรียกค่าสินไหมทดแทนในคดีอาญา ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 44/1 โดยเรียกค่าเสียหายจากเสื้อผ้า หมวกและรองเท้าที่เสียหายจากการเปื้อนน้ำผสมสี จำนวน 2,000 บาท นอกจากนี้ยังเรียกค่าเสียหายต่อจิตใจอีก 50,000 บาท

ส่วนฝ่ายจำเลยระบุพยาน 4 ปาก ได้แก่ 1. จำเลย 2. นักข่าวจากสำนักข่าวประชาไท 3. พยานผู้อยู่ในเหตุการณ์ 4. พยานผู้เชี่ยวชาญด้านความรุนแรงและสันติวิธี

พยานจำเลยเบิกความไปในทางเดียวกันว่าชายชุดดำยืนสะพายเครื่อง L-RAD หันปากลำโพงไปทางผู้ชุมนุมในระยะกระชั้นชิด ต่างได้รับบาดเจ็บประสาทรับเสียง และเครื่องนี้ถือเป็นอาวุธสงคราม ซึ่งไม่ควรนำมาใช้กับการชุมนุมที่สงบ ปราศจากอาวุธ และไม่ได้มีการแจ้งเตือนก่อนล่วงหน้า ส่วนการชุมนุมยังถูกปิดกั้นจากเจ้าหน้าที่ โดยปกติ ประตูศาลากลางไม่ได้มีการปิด และผู้ชุมนุมกลุ่มอื่นๆ สามารถเข้าไปยื่นหนังสือหรือทำกิจกรรมแสดงออกได้

.

ตำรวจหัวหน้าชุดคุมเครื่องเสียง อ้างเหตุใช้ L-RAD เปิดใส่ผู้ชุมนุม เพราะถูกปาลูกโป่งน้ำ-ขวดน้ำ แต่รับว่าไม่เป็นไปตามขั้นตอน เข้าใจว่าไม่ใช่การสลายการชุมนุม 

พยานโจทก์ปากแรก ร.ต.อ.มนตรี ปิงแก้ว รองสารวัตรสืบสวน สภ.ช้างเผือก หัวหน้าชุดคุมเครื่องเสียง เบิกความว่า หลังจากทราบจากสื่อโซเชียลมีเดียว่าจะมีการชุมนุมเรียกร้องที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ ในวันที่ 29 ส.ค. 2564 ผู้กำกับการ สภ.ช้างเผือก ได้แต่งตั้งชุดปฏิบัติการ โดยพยานเป็นหัวหน้าชุดคุมเครื่องเสียงและเจรจาต่อรอง โดยมีลูกทีม 2 คน หนึ่งในนั้นมี ส.ต.อ.สุริยัณห์ ชัยมงคล ผู้เสียหายในคดีนี้ ซึ่งตนและลูกทีมมีหน้าที่ใช้เครื่องเสียงขนาดเล็ก (L-RAD) เจรจากับผู้ชุมนุม 

ร.ต.อ.มนตรี ยังเบิกความต่อไปว่า ในส่วนของเครื่องคลื่นความถี่สูง L-RAD มีแบตเตอร์รี่ในตัว แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ กล่องควบคุม ไมโครโฟน และลำโพง เตรียมไว้สำหรับกรณีมีการทำร้ายเจ้าหน้าที่และเจ้าหน้าที่ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ โดยเครื่องจะมีปุ่มที่สามารถเปลี่ยนไปทางขวาสำหรับใช้ขยายเสียงระยะไกล หากเปิดไปทางซ้ายจะเปิดเป็นเสียงไซเรน ซึ่งมีความคล้ายกับเสียงไซเรนที่ติดกับรถตำรวจหรือรถพยาบาล เปิดเพื่อให้ผู้ชุมนุมเกิดความระคายเคือง หากยืนใกล้ๆ จะหนวกหู 

เหตุการณ์ในวันดังกล่าว กลุ่มผู้ชุมนุมได้นำรถบรรทุกเครื่องขยายเสียงนำขบวนคาร์ม็อบมา เมื่อประจันหน้ากับตำรวจ ผู้กำกับการ สภ.ช้างเผือก ก็ได้ประกาศเตือนแต่ไม่เป็นผล เนื่องจากผู้ชุมนุมต้องการให้เปิดประตูศาลากลาง แต่ผู้กำกับไม่มีอำนาจ ต่อมาผู้ชุมนุมได้ขับรถโมบายพยายามดันแท่งแบริเออร์และแผงเหล็กล้มลง ผู้กำกับประกาศว่าอย่าเข้ามา แต่ผู้ชุมนุมเริ่มมีการขว้างปาลูกโป่งน้ำ ขวดน้ำ ทำให้เจ้าหน้าที่แตกฮือ และได้ขยับออกไปด้านข้างประตูศาลากลาง พยานจึงได้เปิดเสียงไซเรนผ่านเครื่องคลื่นความถี่สูง L-RAD เพื่อเตือนให้ผู้ชุมนุมถอยห่างออกไป แต่ผู้ชุมนุมยังขว้างปาสิ่งของและถุงน้ำสีอยู่ ขณะนั้นเองมีชายใส่เสื้อสีดำถือถังน้ำสีมาสาดใส่ ส.ต.อ.สุริยันต์ ผู้เสียหาย

ร.ต.อ.มนตรี ตอบทนายความถาม อธิบายขั้นตอนการดูแลการชุมนุมตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ว่ามีมาตรการจากน้อยไปหามาก เช่น การเจรจา การแจ้งเตือน การควบคุมฝูงชน การใช้อาวุธพิเศษ 

อย่างไรก็ตามพยานรับว่าเหตุการณ์วันเกิดเหตุไม่ได้เป็นขั้นตอน เนื่องจากมีเหตุการณ์ชุลมุน แต่ยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้ทำการสลายการชุมนุม ทั้งนี้การเปิดใช้เครื่องคลื่นความถี่สูง L-RAD ร.ต.อ.มนตรี สามารถกดเปิดได้เองเนื่องจากเป็นหน้าที่โดยตรง ไม่ต้องขออนุญาตผู้บังคับบัญชา ทั้งนี้ ร.ต.อ.มนตรียังเห็นว่าการชุมนุมวันที่ 29 ส.ค. 2564 เป็นไปโดยไม่สงบ เนื่องจากมีการขว้างปาลูกโป่งน้ำและขวดน้ำใส่เจ้าหน้าที่เป็นระยะเวลาสั้นๆ

.

ตำรวจผู้เสียหาย ยันปฏิบัติตามหน้าที่ทั้งที่ไม่ใส่เครื่องแบบ – ไม่มีเจตนาทำร้ายผู้ชุมนุม เพราะเข้าใจว่าเสียง L-RAD เป็นแค่เสียงไซเรนเตือนเท่านั้น

ส.ต.อ.สุริยันต์ ชัยมงคล เจ้าหน้าที่ตำรวจประจำ สภ.ช้างเผือก และเป็นผู้เสียหายในคดีนี้ เบิกความต่อศาลว่า ในวันเกิดเหตุ 29 ส.ค. 2564 ได้รับมอบหมายเป็นชุดปฏิบัติการสนับสนุนชุดเครื่องเสียงสำหรับใช้สื่อสารกับผู้ชุมนุม มี ร.ต.อ.มนตรี เป็นหัวหน้าชุด โดยตนมีหน้าที่สะพายลำโพงเครื่องเสียง 

สำหรับเหตุการณ์ ในระหว่างที่ผู้ชุมนุมเริ่มขว้างปาลูกโป่งน้ำผสมสีใส่เจ้าหน้าที่รัฐ ที่ยืนปิดกั้นประตูศาลากลาง พร้อมกับพังแผงเหล็กและแบริเออร์จนเจ้าหน้าที่ถอยมาถึงประตู ร.ต.อ.มนตรี ก็กดเปิดเสียงสัญญาณเตือนเพื่อให้ผู้ชุมนุมถอยออกไป โดยมี ส.ต.อ.สุริยันต์ เป็นผู้สะพายลำโพงหันออกไปด้านหน้า 

จากนั้นได้มีชายสวมหมวก สวมเเว่นและใส่หน้ากากอนามัย นำถังโฟมบรรจุน้ำผสมสีเข้ามาสาดใส่ตัว ส.ต.อ.สุริยันต์ และชก 1 ครั้งที่บริเวณกรามซ้าย ต่อจากนั้นน่าจะมีคนดึงตัวชายดังกล่าวออกไป แต่ปรากฏว่าสักพักชายดังกล่าวกลับมาชี้หน้า พร้อมกล่าวอะไรสักอย่าง ซึ่งน่าจะเป็นการด่าทอ ทำให้ตนได้รับบาดเจ็บ ต้องพักรักษาตัว 3 วัน และมีเสื้อผ้า รองเท้า หมวก ได้รับความเสียหาย จากนั้นไม่นานก็มีการเจรจากัน จนเจ้าหน้าที่ยอมเปิดประตูให้ผู้ชุมนุมเข้ามาในพื้นที่ศาลากลางได้ ทำให้สถานการณ์คลี่คลายลง

ส.ต.อ.สุริยันต์ ตอบทนายความถามค้านรับว่าในวันดังกล่าวตนใส่ชุดนอกเครื่องแบบ สะพายลำโพงอยู่ตลอด แต่ผู้ชุมนุมน่าจะเข้าใจว่าเป็นเจ้าหน้าที่เพราะยืนใกล้ผู้กำกับที่ใส่เครื่องแบบตำรวจ โดยพยานอ้างว่าถ้าใส่ชุดตำรวจ ลำโพงจะเกี่ยวกับชุดได้ จึงไม่ใส่เครื่องแบบ 

นอกจากนี้ สำหรับความเข้าใจต่อเครื่องคลื่นความถี่สูง L-RAD ส.ต.อ.สุริยันต์รับว่า ตนไม่ทราบว่ามีกฎหมายควบคุมการใช้เครื่องนี้อย่างไร เพราะตนเพียงถือลำโพงเท่านั้น ส่วนการเปิด-ปิดเป็นหน้าที่ของหัวหน้า และก็ไม่ทราบถึงผลกระทบของเครื่องคลื่นความถี่สูง L-RAD โดยเข้าใจว่าเป็นลักษณะของสัญญาณเตือน ลักษณะเสียงไซเรน ไม่ถึงขนาดจะเกิดอันตรายต่อประชาชน โดยมีการทดสอบก่อนใช้งานแล้ว 

อย่างไรก็ดีเครื่องนี้สามารถปรับเพิ่ม-ลดระดับเสียงได้ แต่ไม่ทราบว่าได้มีการเพิ่มระดับความดังของเสียงในวันเกิดเหตุในระดับใด

.

ภาพการชุมนุมวันที่ 29 ส.ค. 2564 (ภาพจาก iLaw)

.

เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง อ้างเหตุคำสั่งปิดประตูศาลากลางก่อนม็อบมาถึง เพราะเกรงว่าผู้ชุมนุมจะกระทำสิ่งผิดกฎหมาย

วิชัย ว่องสาริการ สังกัดที่ทำการปกครอง จังหวัดเชียงใหม่ เบิกความต่อศาลว่า ที่ตนทราบเรื่องการชุมนุมในวันดังกล่าวเพราะได้รับแจ้งจากหน่วยงานความมั่นคงของทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง ว่าจะมีขบวนชุมนุมเคลื่อนขบวนมาที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ ชื่อกิจกรรม “ล้านนาต้านศักดินาทัวร์” โดยในวันดังกล่าวมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง 4 คน ที่เข้าไปติดตามการชุมนุม โดยแยกกันตามจุดต่างๆ ส่วนของตนได้รับหน้าที่เก็บหลักฐานพร้อมทำรายงานหากมีผู้ใดกระทำผิดกฎหมาย อยู่ที่หน้าศาลากลาง

สำหรับเหตุการณ์ในวันดังกล่าว วิชัยแต่งกายนอกเครื่องแบบกลมกลืนกับผู้ชุมนุม และเมื่อเกิดเหตุการณ์ชุลมุนชกต่อยกันขึ้น ตนก็พยายามวิ่งตามผู้กระทำ แต่ชายคนดังกล่าวเดินกลับมาถอดหน้ากากอนามัยออก และชี้หน้าเจ้าหน้าที่ที่ถูกต่อย วิชัยจึงได้ถ่ายภาพไว้ และได้ติดตามผู้ก่อเหตุที่ยังป้วนเปี้ยนอยู่บริเวณรถ 

วิชัยยังเบิกความถึงเหตุเกี่ยวกับการปิดประตูศาลากลางในวันเกิดเหตุ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองเห็นว่าขบวนรถผู้ชุมนุมรวมตัวกันผ่านทางถนน พบว่ามีการแสดงออกชูสามนิ้วต่อหน้ากล้างวงจรปิดศาลากลาง ก่อนกล้องวงจรปิด 2 ตัวจะใช้การไม่ได้ จึงเห็นว่าผู้ชุมนุมอาจจะมีเป้าหมายในการทำสิ่งที่ไม่ดี  

วิชัยได้ตอบทนายความถามค้านรับว่า โดยปกติแล้วประชาชนทั่วไปก็สามารถใช้พื้นที่ศาลากลางได้และประตูศาลากลางจะเปิดอยู่ตลอด แต่เมื่อรู้ว่าจะมีเหตุการณ์ชุมนุมจึงพยายามปกป้องสถานที่ราชการ ผู้บริหารจึงมีคำสั่งปิดประตูดังกล่าว 

.

พนักงานสอบสวน เบิกความมีการเปิดเครื่อง L-RAD จนทำผู้ชุมนุมไม่พอใจก่อนเกิดเหตุชุลมุน

ร.ต.ท.วายุ กาสุริยะ พนักงานสอบสวน สภ.ช้างเผือก เบิกความต่อศาลว่าตนได้รับแจ้งเหตุจาก ส.ต.อ.สุริยันต์ ผู้เสียหาย ว่าขณะปฏิบัติหน้าที่ดูแลมวลชนที่มารวมตัวกันหน้าศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ ได้ถูกชายคนหนึ่งสาดน้ำสีแดงและใช้หมัดขวาชกเข้าที่ใบหน้าผู้เสียหาย จึงได้รับแจ้งเหตุไว้ กระทั่งฝ่ายสืบสวนรายงานมาว่าผู้ก่อเหตุคือจำเลยในคดีนี้ ตนจึงดำเนินการตามขั้นตอน โดยการรวบรวมพยานหลักฐาน และเรียกจำเลยมาแจ้งข้อกล่าวหา

ร.ต.ท.วายุ ตอบทนายความถามค้าน รับว่าการชุมนุมในวันที่ 29 ส.ค. 2564 ไม่มีการดำเนินคดีอื่นใดกับผู้ชุมนุมแต่อย่างใด มีเพียงคดีของจำเลยในคดีนี้เพียงคดีเดียว ทั้งนี้จากการสอบปากคำพยานพบว่าการเปิดเครื่องคลื่นความถี่สูง L-RAD ทำให้ผู้ชุมนุมไม่พอใจก่อนจะเกิดเหตุการณ์สาดสีและชกต่อยขึ้น

.

ภาพการปิดล็อกประตูศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ ช่วงคืนวันที่ 28 ส.ค. 2564

.

การปิดประตูศาลากลางทำให้รู้สึกได้รับความไม่เป็นธรรม จำเลยเพียงต้องการปิดเครื่อง L-RAD ที่กำลังเปิดใส่ผู้ชุมนุม

โอ๊ต จำเลยในคดีนี้ ขึ้นเบิกความต่อศาลโดยสรุปว่า ตนทราบเรื่องการชุมนุมในวันที่ 29 ส.ค. 2564 จากการมีเพื่อนชักชวนจึงสนใจเข้าร่วมชุมนุมด้วย โดยเห็นว่าการชุมนุมในจังหวัดเชียงใหม่มักจะเป็นการชุมนุมที่สงบ ไม่มีเหตุการณ์ความรุนแรง จำเลยจึงรับหน้าที่เป็นผู้ดูแลมวลชน ในงานชุมนุมดังกล่าวด้วย

โอ๊ตยังเบิกความว่า ตนทราบว่ามีการปิดประตูศาลากลางตั้งแต่คืนก่อนการชุมนุมจะเริ่มแล้ว โดยจำเลยได้เดินทางผ่านศาลากลาจังหวัดเชียงใหม่ เห็นว่าประตูถูกปิดและล็อคกุญแจอยู่ก่อนแล้ว ทั้งมีการวางแบริเออร์คอนกรีตขวางทางเข้าออกทุกทิศทาง ซึ่งเห็นว่าไม่ปกติ ทำให้ตนรู้สึกว่าได้รับความไม่เป็นธรรม เพราะพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่สาธารณะ ทั้งๆ ที่เจ้าหน้าที่รัฐก็ทราบดีว่าประชาชนจะเดินทางไปยื่นหนังสือเรียกร้องต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเรียกร้องเรื่องมาตรการจัดการโควิด เรียกร้องสิทธิประกันตัวของผู้เคลื่อนไหวทางการเมือง และราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ เท่านั้น  

ฝ่ายจำเลยยังได้ยื่นส่งภาพถ่ายและคลิปวิดีโอที่แสดงว่าประตูศาลากลางถูกปิดล็อกทุกประตูตั้งแต่คืนก่อนการชุมนุม และมีการตั้งแบริเออร์บนถนนบริเวณต่างๆ ที่จะเดินทางมายังศาลากลาง 

สำหรับในการชุมนุมคาร์ม็อบในวันที่  29 ส.ค. 2564 จำเลย พร้อมขบวนคาร์ม็อบ ได้เดินทางมาถึงหน้าประตูศาลากลาง ก่อนพบว่ามีรถดับเพลิงและรถบรรทุกน้ำจอดอยู่หน้าประตูทางเข้าศาลากลาง บริเวณถนนประมาณ 10 คัน มีการตั้งสิ่งกีดขวาง ชั้นแรกเป็นแบริเออร์คอนกรีต ชั้นที่สองเป็นรั้วเหล็ก และชั้นที่สามเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองที่สวมเครื่องแบบยืนเป็นแผงหลังรั้วเหล็ก อีกทั้งประตูอื่นๆ ก็มีแบริเออร์ตั้งกีดขวางไว้ก่อนแล้ว 

เมื่อขบวนคาร์ม็อบมาถึง ไม่สามารถเข้าไปในศาลากลางได้ ทำให้การจราจรติดขัด จึงมีการเจรจากับเจ้าหน้าที่ แต่เจ้าหน้าที่ยังไม่ยินยอมเปิดประตูทางเข้า แกนนำผู้ชุมนุมจึงประกาศให้รื้อถอนแบริเออร์คอนกรีต และเริ่มมีการปาลูกโป่งน้ำผสมสีเพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่อยู่แนวด้านหลังหลบออกไปจากประตู โดยจำเลยเห็นว่า การขว้างลูกโป่งน้ำเป็นเพียงสันติวิธีเพื่อไม่ให้มีใครบาดเจ็บ 

เมื่อผู้ชุมนุมเริ่มปาลูกโป่งน้ำได้เพียง 5-6 วินาที จากนั้นมีชายชุดดำที่ยืนปะปนกับมวลชนไม่ใส่เครื่องแบบ ถือสิ่งของคล้ายลำโพงเปิดเสียงแหลมสูงใส่ผู้ชุมนุมในระยะกระชั้นชิด โดยมีสื่อมวลชนอยู่ใกล้ที่สุด ทำให้ต่างก็ผลักกันดันออกมาทางด้านหลัง โดยไม่มีการประกาศแจ้งเตือนก่อนการเปิดเสียงดังนี้  

จำเลยคิดว่าเสียงดังกล่าวอาจทำให้เกิดอันตรายต่อประสาทรับเสียงได้ จึงเดินไปทางด้านหน้า พบชายชุดดำ สวมหมวก และหันลำโพงมาทางผู้ชุมนุมในลักษณะส่ายไปมา เมื่อเห็นดังนั้นจึงพยายามบอกให้ปิด แต่เสียงดังสู้ไม่ได้ และเมื่อเข้าไปใกล้ก็ได้ยินเสียงวิ้งในหูและรู้สึกปวดหู จึงคิดว่าจะต้องทำอย่างไรก็ได้เพื่อหยุดเสียงนั้นให้ได้ 

เมื่อจำเลยเห็นกล่องโฟมบรรจุน้ำสี จึงนำไปสาดใส่ลำโพงเพื่อให้เครื่องหยุดอและด้วยความโกรธจึงชกไปที่คางของชายชุดดำ 1 ครั้ง ตอนแรกเกิดความตกใจจึงวิ่งออกมา แต่เครื่องดังกล่าวยังไม่หยุดจึงดึงหน้ากากอนามัยลง และตะโกนบอกให้ปิดเครื่อง ไม่ได้ด่าทอเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด

หลังจากที่จำเลยได้ทำลงไปแล้ว แกนนำก็สั่งให้มวลชนหยุดปาลูกโป่งน้ำและเจ้าหน้าที่ก็ห้ามกันเอง ต่างฝ่ายเริ่มเจรจากันอีกครั้ง จนกระทั่งมีเจ้าหน้าที่มาเปิดประตูจากด้านในของศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ ผู้ชุมนุมก็ได้เข้าไปในพื้นที่ศาลากลางและยื่นหนังสือต่อตัวแทนผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ หลังจากนั้นผู้ชุมนุมก็ได้ทำกิจกรรมยืนเคารพธงชาติและแยกย้ายกลับ ไม่ได้มีเหตุวุ่นวายใดในกิจกรรมภายในบริเวณศาลากลาง

.

.

เครื่อง L-RAD เป็นอาวุธสงคราม ไม่ควรนำมาใช้ปราบปรามการชุมนุมที่สงบและปราศจากอาวุธ เพราะทำให้บาดเจ็บและอาจส่งผลให้หูหนวกถาวรได้

พยานผู้เชี่ยวชาญ ดร.เอกพันธุ์ุ ปิณฑวณิช อดีตผู้อำนวยการสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล ปัจจุบันเป็นนักวิจัยสถาบันวิจัยสังคมที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เบิกความเห็นว่า การชุมนุมในวันที่ 29 ส.ค. 2564 เป็นการชุมนุมในลักษณะคาร์ม็อบ ไม่มีอาวุธจึงเป็นการชุมนุมที่สันติปราศจากอาวุธ ซึ่งเป็นสิทธิการชุมนุมตามสิทธิพื้นฐานในรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 44 

ดร.เอกพันธุ์ ให้ความเห็นต่อเครื่องคลื่นความถี่สูง L-RAD ว่า ตนมีความกังวลในการใช้เครื่องคลื่นความถี่สูงต่อผู้ชุมนุมในประเทศไทยหลายพื้นที่ เพราะหากตรวจสอบจากเว็บไซต์ผู้ผลิตเครื่องมือชนิดนี้จะพบว่าเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการสงคราม ใช้ติดกับเรือรบเพื่อปราบโจรสลัด ผู้ก่อการร้าย หรือกรณีเกิดภัยพิบัติ มีบางประเทศซื้อเครื่อง L-RAD ไปเพื่อควบคุมฝูงชน 

ส่วนประเทศที่พัฒนาแล้วนำมาใช้มีเพียงในประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ. 2552 และออสเตรเลีย ในปี พ.ศ. 2557 เท่านั้น โดยสหรัฐอเมริกาได้นำเครื่อง L-RAD มาใช้ในการประชุม G-20 และเกิดการฟ้องร้องเป็นคดีความเนื่องจากมีผู้ได้รับความบาดเจ็บทางการได้ยิน และในออสเตรเลียก็มีผู้บาดเจ็บการใช้เครื่องนี้ แต่ยังไม่มีการฟ้องร้องเป็นคดีความ แต่ก็ทำให้เกิดการตั้งคำถามในการใช้ภาษีของประชาชนไปเพื่อซื้ออาวุธมาทำร้ายประชาชนหรือไม่

จากหนังสือของสหภาพประชาชนเพื่อเสรีภาพของสหรัฐอเมริกา และจดหมายข่าวของมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ สรุปรายงานผลกระทบต่อการได้ยินทั้งในระยะสั้นและระยะยาว หากใช้เครื่องมือนี้ในระยะใกล้เกิน 5 เมตร อาจทำให้หูหนวกถาวร และมีคำแนะนำว่าไม่ให้ใช้กับประชาชนในระยะน้อยกว่า 20 เมตร 

ทั้งนี้พยานเห็นว่าเหตุการณ์ในการชุมนุมดังกล่าว อาจไม่มีพื้นที่ว่างระหว่างผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่มาเพียงพอทำให้เมื่อมีการกระทบกระทั่งกัน เจ้าหน้าที่จึงใช้เครื่องมือทุกอย่างที่มีด้วยความตื่นตระหนก โดยไม่ได้สนใจลำดับมาตรการก่อนหลังในการสลายการชุมนุม 

ดร.เอกพันธุ์ เบิกความตอบอัยการถามค้านเรื่อง การชุมนุมโดยสงบและสันติ จะยกระดับไปสู่การจลาจลโดยเจ้าหน้าที่รัฐมีวิธีรับมือที่แตกต่างกันออกไป แต่กรณีที่ชุมนุมโดยสงบ เจ้าหน้าที่จะต้องอำนวยความสะดวก จะใช้วิธีควบคุมการจลาจลกับการชุมนุมที่สงบไม่ได้ โดยการยกระดับเป็นการชุมนุมที่ไม่สงบนั้น ต่อเมื่อส่อจะทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตมนุษย์ ซึ่งจะต้องใช้เครื่องมือที่เหมาะสมกับสถานการณ์ 

ทั้งนี้ ดร.เอกพันธุ์ ไม่เห็นด้วยกับการนำเครื่องมือเหล่านี้มาใช้กับการชุมนุมโดยสงบทุกเหตุการณ์ และหากจำเป็นต้องใช้ควรมีการประกาศเตือนผู้ชุมนุมให้ทราบก่อน

.

ผู้สื่อข่าว – ผู้ชุมนุม ต่างก็ได้รับบาดเจ็บ จากการเปิดเครื่อง L-RAD ในระยะกระชั้นชิดโดยไม่มีการประกาศเตือนก่อน

ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวประชาไท เบิกความต่อศาลว่า ตนยืนอยู่ใกล้กับชายใส่เสื้อดำถือลำโพง ในขณะเหตุการณ์ผู้ชุมนุมเริ่มปาลูกโป่งน้ำใส่เจ้าหน้าที่ และมีเจ้าหน้าที่ได้เปิดเครื่องคลื่นเสียง L-RAD ในขณะนั้นตนยืนอยู่ห่างจากเครื่องนี้ไม่ถึง 1 เมตร และเห็นผู้ชุมนุมที่อยู่ด้านหน้าลำโพงพยายามถอยร่นออกไป ทัั้งเห็นเหตุการณ์ที่จำเลยนำถังโฟมใส่น้ำผสมสีมาสาดและชกต่อยไปที่ใบหน้า 1 ครั้ง ก่อนที่ต่างฝ่ายต่างเข้าห้ามปรามกัน

ขณะเกิดเหตุการณ์พยานไม่ทราบว่าเครื่องลักษณะคล้ายลำโพงนี้คืออะไร โดยคิดว่าเป็นลำโพงธรรมดาเพราะไม่เคยพบเห็นในการชุมนุมในจังหวัดเชียงใหม่มาก่อน 

ในระหว่างการชุมนุมยังไม่รู้สึกได้รับผลกระทบอย่างไร แต่หลังจากพยานกลับมาจากการชุมนุมแล้วไม่สามารถนอนหลับได้ เพราะมีอาการเจ็บที่หู โดยมีอาการต่อไปอีก 4-5 วัน อาการดังกล่าวส่งผลกระทบต่ออาชีพนักข่าว ทำให้ไม่สามารถใช้หูฟังทำงานได้ในช่วงนั้น และรู้สึกว่าตนเองได้รับผลกระทบจากการกระทำความรุนแรง 

หากเจ้าหน้าที่ประกาศเตือนก่อนว่าจะเปิดเครื่องเสียงความถี่สูง L-RAD นี้ตนจะรีบหลบออกห่างจากพื้นที่นั้น

ประกอบกับพยานผู้เข้าร่วมชุมนุมที่อยู่ในเหตุการณ์ เบิกความต่อศาลว่าในเหตุการณ์การชุมนุมวันที่ 29 ส.ค. 2564 ว่าตนทำหน้าที่ดูแลเครื่องเสียงอยู่บนรถบรรทุกเครื่องเสียงคันที่ 2  ส่วนจำเลยทำหน้าที่ดูแลการชุมนุม ในเหตุการณ์พยานได้ยินเสียง L-RAD ก็ทราบได้ทันทีว่าเป็นเสียงของเครื่องคลื่นความถี่สูง เพราะเสียงดังมากและเคยเห็นเครื่องนี้ผ่านสื่อต่าง ๆ 

พยานอยู่ห่างจากจุดที่ชายชุดดำยืนถือเครื่องเสียงประมาณ 7-8 เมตร เมื่อได้ยินเสียงพยานรู้สึกว่าหูอื้อ หลังจากได้ยินเสียงเพียง 1-2 นาที เมื่อกลืนน้ำลายก็รู้สึกจุกเสียดภายในหู ทำให้รู้สึกไม่พอใจกับการกระทำของเจ้าหน้าที่ โดยพยานเห็นว่าการใช้เครื่องนี้เป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ เพราะผู้ชุมนุมมีเพียงแค่ลูกโป่งน้ำเท่านั้น ไม่มีอาวุธอย่างอื่นแต่อย่างใด 

.

X