การ์ด WeVo-ปชช. 45 คน ระบุ โดนตร.ข่มขู่-ทำร้าย หลายรูปแบบ กรณีถูกจับกุม #ม็อบ6มีนา64 ขณะตร.อ้างไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ ทั้งไม่ได้ใช้ความรุนแรง แต่เป็นไปตามยุทธวิธี

ในวันที่ 17 ก.ย. 2567 ศาลอาญานัดสืบพยานจำเลยในคดีของมวลชนอาสา We Volunteer (WEVO) หรือการ์ดวีโว่ และประชาชนรวม 45 ราย ซึ่งถูกฟ้องในข้อหา ร่วมกันเป็นอั้งยี่-ซ่องโจร, ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ, มียุทธภัณฑ์และเครื่องวิทยุคมนาคมไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จากเหตุถูกจับกุมที่ห้างเมเจอร์รัชโยธิน เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2564 ก่อนที่กลุ่มผู้ชุมนุม REDEM จะเดินขบวนจากห้าแยกลาดพร้าวไปหน้าศาลอาญา เพื่อทำกิจกรรมเผาขยะหน้าศาล

คดีนี้มีนัดสืบพยานโจทก์ไปในช่วงเดือน เมษายน – กรฎาคม 2567 โดยพยานโจทก์ที่เป็นตำรวจผู้มีส่วนร่วมในการจับกุม แทบจะทุกคนล้วนเบิกความว่า ผู้ถูกจับกุมมีการชุมนุมมั่วสุมกัน และวางแผนตระเตรียม “อาวุธ” เพื่อก่อเหตุวุ่นวายและทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้งยังมีการบุกล้อมรถควบคุมผู้ต้องขังและรุมทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วย แต่ไม่มีพยานโจทก์ปากใดเลย ที่เบิกความถึงกรณีการใช้กำลังบังคับ ข่มขู่ ทำร้ายร่างกาย รวมไปถึงล่วงละเมิดกับผู้ถูกจับกุม ทั้งยังมีการยึดทรัพย์สินของผู้ถูกจับกุมบางรายไปด้วย 

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ชวนย้อนสำรวจเหตุการณ์ในวันที่ 6 มี.ค. 2564 และชวนเปรียบเทียบคำให้การของผู้ถูกจับกุม และคำให้การของเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้มีส่วนร่วมในการจับกุม ว่ามีความเหมือนหรือขัดแย้งกันอย่างไร ก่อนการสืบพยานจำเลยจะเริ่มขึ้นในวันที่ 17 ก.ย. 2567 นี้

ทบทวนไทม์ไลน์คดี

ที่มาที่ไปของคดีนี้ เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2564 กลุ่ม “รีเด็ม” (REDEM) นัดหมายชุมนุม #ม็อบ6มีนา เดินขบวนจากห้าแยกลาดพร้าว ไปหน้าศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก เพื่อทำกิจกรรมเผาขยะหน้าศาล ทว่าก่อนเริ่มการชุมนุมกลับมีเจ้าหน้าที่พร้อมอาวุธเข้าจับกุมทีมการ์ดวีโว่ และประชาชน ที่บริเวณลานจอดรถห้างสรรพสินค้าเมเจอร์รัชโยธิน โดยไม่ได้แสดงหมายจับ และไม่ได้มีการแจ้งข้อหาที่เป็นเหตุให้ถูกจับกุม รวมทั้งไม่แจ้งสถานที่ที่จะควบคุมตัวไป โดยทั้งหมดยังไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุม #ม็อบ6มีนา แต่อย่างใด ทั้งนี้มีรายงานการทำร้ายร่างกายและใช้อาวุธข่มขู่ผู้ถูกจับกุมบางคน ทั้งยังมีการยึดสิ่งของทั้งหมดที่พกติดตัว เช่น โทรศัพท์ กระเป๋า เงินสด 

หลังการจับกุม “โตโต้” ปิยรัฐ จงเทพ แกนนำวีโว่ และผู้ถูกจับกุมรวมทั้งหมด 18 ราย ซึ่งเป็นเยาวชนอายุ 17 ปี 2 ราย ถูกควบคุมไปแจ้งข้อกล่าวหาที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดน ภาค 1 จังหวัดปทุมธานี (บก.ตชด.ภาค 1) ในข้อหา เป็นอั้งยี่, เป็นซ่องโจร, ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ  

ต่อมา เกิดเหตุการณ์ที่รถควบคุมผู้ต้องขังอีก 2 คัน ถูกเข้าสกัด จนรถทั้งสองคันไม่สามารถวิ่งไปต่อได้ ผู้ถูกควบคุมตัวจึงร่วมกันเดินเท้าไปลงบันทึกประจำวันที่ สน.พหลโยธิน ในคืนนั้น เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจว่าไม่ได้หลบหนี ทั้งสอบถามเหตุผลการจับกุม และอำนาจที่เจ้าหน้าที่ใช้จับกุม รวมทั้งขอให้ติดตามทรัพย์สินส่วนตัวที่ถูกยึดไป ก่อนที่ทั้งหมดจะได้รับหมายเรียกจาก สน.พหลโยธิน ให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาใน 4 ข้อหาเช่นเดียวกัน เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2564 

>>>จับ Wevo-ปชช.กว่า 48 คน โดย 18 คนถูกแจ้งข้อหาอั้งยี่-ซ่องโจร-พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อ้างเตรียมสร้างเหตุวุ่นวาย

>>> สมาชิกวีโว่ 29 คน รับทราบข้อกล่าวหาอั้งยี่-ซ่องโจร คดีถูกจับกุม #ม็อบ6มีนา เยาวชนได้ประกันตัว

ต่อมา พนักงานสอบสวนยังได้ออกหมายเรียกให้ผู้ต้องหาทั้งหมด รวมทั้งเยาวชน เข้ารับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2564 โดยมี 8 คน ถูกแจ้งข้อหามียุทธภัณฑ์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และ 10 ราย ถูกแจ้งข้อหามีเครื่องวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาต 

ส่วนกลุ่มที่เดินเข้าไปพบพนักงานสอบสวน สน.พหลโยธิน ในคืนวันเกิดเหตุ ถูกแจ้งข้อหาเพิ่มเติมว่า หลบหนีไประหว่างที่ถูกคุมขัง รวมทั้งมีการเข้าไปแจ้งข้อหาเพิ่มเติมกับปิยรัฐในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในข้อหามียุทธภัณฑ์ไว้ในครอบครอง ทั้งหมดให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ก่อนอัยการมีคำสั่งฟ้องคดีทั้ง 45 คนเมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2564 ใน 7 ข้อหาดังกล่าว 

ผู้ถูกจับกุมยืนยัน โดนตร.ข่มขู่-ทำร้ายหลายรูปแบบ ทั้งรุมกระทืบ บังคับให้คลาน โดนหมวกกันน็อคฟาด โดนทรมานจนหายใจไม่ออก และโดนเอาพลุควันยัดปาก

หลังจากการสอบถามข้อเท็จจริงกับผู้ถูกจับกุมในวันเกิดเหตุทั้ง 45 คน ศูนย์ทนายฯ พบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจมีการใช้อาวุธข่มขู่ และใช้กำลังทำร้ายร่างกายผู้ถูกจับกุมบางคนจริง 

“ณัฐพงศ์” (สงวนนามสกุล) หนึ่งในผู้ชุมนุมที่ถูกทำร้ายร่างกายในวันนั้นเล่าว่า ในวันเกิดเหตุ เขาเห็นเฟซบุ๊กของโตโต้กำลังไลฟ์สดเหตุการณ์ที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุม เขาจึงรีบขึ้นไปที่ลานจอดรถชั้นดังกล่าวทันที และได้เดินไปถามตำรวจนอกเครื่องแบบว่ากำลังทำอะไร พร้อมทั้งหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาไลฟ์สดด้วย เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งต่อมาทราบว่ามาจากกองกำกับการต่อต้านการก่อการร้าย กองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ กองบัญชาการตำรวจนครบาล (อรินทราช 26) เห็นเขากำลังเดินเข้ามาพร้อมถือโทรศัพท์ ก็เข้ามาจับกุมเขาทันที 

ณัฐพงศ์ประเมินว่าหน่วยอรินทราชมีจำนวนอย่างต่ำ 10 คน หนึ่งในนั้นได้คว้าโทรศัพท์มาจากมือของเขาและเขวี้ยงลงกับพื้น

เจ้าหน้าที่เริ่มทำร้ายร่างกายณัฐพงศ์ด้วยการล็อกแขนทั้งสองข้าง ก่อนจะกดให้นอนลงกับพื้น ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ค้นกระเป๋าเป้ของเขา และหยิบหมวกกันน็อคออกมาฟาดที่หางคิ้วข้างขวา พร้อมกับตะคอกว่า “มึงเก๋าเหรอ? ไลฟ์เหรอ?” 

หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ได้กระทืบลงไปที่สะบักข้างซ้ายและศีรษะ 1 ครั้ง ก่อนจะเอาเท้าเหยียบค้างเอาไว้ เจ้าหน้าที่ค้นกระเป๋าต่อไป และเมื่อพบหน้ากากกันสารเคมี เจ้าหน้าที่คนหนึ่งได้นำเอาหน้ากากนั้นมาฟาดที่ศีรษะของณัฐพงศ์ 1 ครั้ง พร้อมกับกล่าวว่า “กูจะสอนให้เองว่ามัน [หน้ากาก] ใช้ยังไง” เขาเล่าว่าตนเองถูกเจ้าหน้าที่สวมหน้ากากให้ โดยได้เอาตัวกรองอากาศออกไป เพื่อพยายามทำให้เขาหายใจไม่ออก

ณัฐพงศ์ไม่อาจระบุได้ว่าการบีบให้ขาดอากาศหายใจดำเนินไปกี่นาที แต่เขาคาดการณ์ว่ามีเจ้าหน้าที่จากหน่วยอรินทราชเป็นผู้ทำร้ายร่างกายเขา 1 คน เป็นผู้ถือวิสาสะค้นกระเป๋าของเขา 1 คน และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบคอยถ่ายวิดีโอบันทึกเหตุการณ์ทั้งหมดอีก 1 คน

หลังจากที่เจ้าหน้าที่จากหน่วยอรินทราชได้พยายามทำให้ณัฐพงศ์หายใจไม่ออก พวกเขายังคงหยิบของในกระเป๋ามาใช้ประกอบการทำร้ายร่างกายต่อไป เจ้าหน้าที่ได้หยิบเอาถุงลูกแก้วมาฟาดที่ท้ายทอย และเอาพลุควันจำนวน 8 แท่งออกมา ก่อนจะยัดพลุจำนวนหนึ่งใส่ปาก และกระชากศีรษะให้เขาเงยหน้าขึ้น เพื่อที่เจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบจะได้ถ่ายรูปใบหน้าของเขา หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ได้บังคับให้ณัฐพงศ์คาบบัตรประชาชนเพื่อถ่ายรูปอีกครั้ง 

สถานการณ์นี้มีผู้ถูกจับกุมคนอื่นเห็นเหตุการณ์ด้วย โดยผู้เห็นเหตุการณ์หลายคนเล่าว่า เจ้าหน้าที่ได้กล่าวว่า “ส่งให้นาย นายชอบ” ก่อนที่จะมีการถ่ายรูปณัฐพงศ์ด้วย

การทำร้ายร่างกายในวันนั้นทำให้อาการหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนของณัฐพงศ์ที่เป็นอยู่แล้วย่ำแย่ลงอีก  และเขาต้องทนอยู่กับความเจ็บปวดที่เพิ่มขึ้นอยู่หลายวัน

นอกจากกรณีของณัฐพงศ์ ยังมีกรณีการถูกทำร้ายร่างกายอื่น ๆ เช่น ผู้ถูกจับกุมบางคนโดนเจ้าหน้าที่จับทุ่มลงพื้นและเอากระบองมากดศีรษะให้แนบไปกับพื้น บางคนโดนหักแขนไขว้หลังและใช้เข่ากดทับจนหายใจไม่ออก บางคนโดนเอาปืนจี้หัวและบังคับให้คลาน บางคนโดนเจ้าหน้าที่หลายนายรุมกระทืบ บางคนโดนตบหน้า โดนเตะ และโดนเหยียบในบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็น เท้า ขา หลัง มือ ไปจนถึงบริเวณศีรษะ

WEVO แถลง วันเกิดเหตุมีผู้โดนทำร้ายร่างกายอย่างน้อย 10 ราย ยืนยันไม่มียุทธภัณฑ์ และไม่ได้หลบหนีเนื่องจากเป็นฝ่ายเดินไปมอบตัวเอง 

หลังวันเกิดเหตุนั้น กลุ่มวีโว่ยังได้ตั้งโต๊ะแถลงข่าวถึงเหตุการณ์นี้เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2564 โดยโฆษก WeVo กล่าวในตอนหนึ่งว่า มีผู้ถูกจับกุมอย่างน้อย 10 คนที่ถูกทำร้ายร่างกายระหว่างตรวจค้น และในการจับกุมเจ้าหน้าที่ไม่ได้มีการแจ้งสาเหตุ แสดงหมายค้น หรือหมายจับก่อนการจับกุม มีการใช้อาวุธบังคับตรวจค้นและยึดทรัพย์สินของผู้ที่ถูกจับกุม ทั้งเงินสด บัตรประชาชน นอกจากนั้นยังสั่งให้คนที่ถูกจับกุมคลานไปกับพื้นทั้งที่มีการมัดเคเบิลไทร์ไว้ และอ้างว่าของที่ยึดไว้ เป็นของกลางทั้งหมด 

ในการแถลงยังมีการเปิดคลิปกล้องวงจรปิดเหตุการณ์ เพื่อยืนยันว่าไม่มียุทธภัณฑ์ และไม่ได้หลบหนีตามที่ถูกกล่าวหาจากเจ้าหน้าที่ เนื่องจากผู้ถูกจับกุมเป็นคนเดินทางเข้ามอบตัวเอง

นอกจากนี้ ในงานแถลงข่าวดังกล่าว ยังมีสมาชิกวีโว่ อีก 2 คน โชว์ภาพบาดแผลที่เกิดขึ้นระหว่างการจับกุมของเจ้าหน้าที่ โดยหนึ่งในนั้นเล่าว่า ตนโดนเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบกว่า 10 นายวิ่งไล่จับกุม โดยได้ไลฟ์เหตุการณ์ไว้ตลอด แต่เมื่อถูกจับกุมและถูกยึดโทรศัพท์ไปก็ถูกลบ 

สมาชิกคนดังกล่าวยังโดนเจ้าหน้าที่ผลักไปรวมกับคนที่ถูกจับคนอื่น ๆ และเตะขาให้ฟุบคว่ำหน้าลงกับพื้น เจ้าหน้าที่ยังใช้เท้าเหยียบที่ข้อขาซ้ำ จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้ใช้กระบองเหล็กมาเขี่ยตรงกระเป๋าข้างขากับกระเป๋าที่บั้นท้ายของตน และจากที่ต้องนอนคว่ำหน้าก็ทำให้เจ็บหน้าอก แต่เมื่อขอลุกขึ้นนั่งกับเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่ก็ไม่อนุญาตและบอกว่าพวกตนเรื่องมาก

ตร. ยอมรับ ไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหา แม้ผู้ถูกจับไม่ต่อสู้ขัดขืน ยืนยันไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ และจนท.ไม่ได้ใช้ความรุนแรง แต่เป็นไปตามหลักยุทธวิธี

ระหว่างนัดสืบพยานโจทก์ในช่วงเดือน เมษายน – กรฎาคม 2567 พยานโจทก์ที่เป็นตำรวจผู้มีส่วนร่วมในการจับกุม แทบจะทุกคนล้วนเบิกความในทำนองว่า ผู้ถูกจับกุมมีการชุมนุมมั่วสุมกัน และวางแผนตระเตรียมอาวุธ เพื่อก่อเหตุวุ่นวายและทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้งยังมีการบุกล้อมรถควบคุมผู้ต้องขังและรุมทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วย แต่ไม่มีพยานโจทก์ปากใดเลย ที่เบิกความถึงกรณีการใช้กำลังบังคับ ข่มขู่ ทำร้ายร่างกาย รวมไปถึงล่วงละเมิดกับผู้ถูกจับกุม ทั้งยังมีการยึดทรัพย์สินของผู้ถูกจับกุมบางรายไปด้วย แตกต่างจากข้อมูลของกลุ่มผู้ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2564 โดยสิ้นเชิง

พ.ต.ต.กฤตพร แสงสุระ ผู้กล่าวหา ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมจับกุม เบิกความยืนยันว่า การควบคุมตัวในวันเกิดเหตุนั้น ผู้ถูกควบคุมตัวไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บ

ขณะเดียวกัน ร.ต.ต.ประสงค์ คงเพชร์, จ.ส.ต.นพรัตน์ วงศ์ไชย และ ด.ต.กฤตภาส น้อยสงวน ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจที่ได้รับหน้าที่ให้ถ่ายภาพตอนจับกุม ได้เบิกความตอบทนายว่า ในการควบคุมตัวในวันเกิดเหตุ ไม่พบว่าผู้ถูกจับกุมมีพฤติการณ์ต่อสู้หรือขัดขืนเจ้าหน้าที่ และยืนยันว่า ในการจับกุมนั้น เจ้าพนักงานตำรวจไม่ได้มีการแสดงหมายจับ หมายค้น และไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาหรือข้อสงสัยในการกระทำความผิดต่อผู้ที่ถูกควบคุมตัว 

นอกจากนี้ ส.ต.อ.ปกร ศรีสารคาม ผู้ถ่ายภาพในการจับกุม และ พ.ต.ท.ไพบูลย์ สอโส หัวหน้าชุดปฏิบัติการพิเศษ 191 ซึ่งเป็นผู้ควบคุมการจับกุมในวันเกิดเหตุ ยังเบิกความตอบทนายจำเลยว่า การควบคุมผู้ต้องหานั้น ไม่สามารถสั่งให้ผู้ต้องหาคาบสิ่งของไว้ในปากและทำการถ่ายภาพได้ การถ่ายภาพผู้ถูกจับกุมคาบสิ่งของไว้ในปากและนอนคว่ำกับพื้น จึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ

อย่างไรก็ตาม ตลอดช่วงการสืบพยานฝ่ายโจทก์ แม้ทางฝ่ายทนายจำเลยจะพยายามถามถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการที่ผู้ถูกจับกุมตัวถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังทำร้ายร่างกายจนได้รับบาดเจ็บ แต่ก็ได้รับคำตอบกลับเพียงว่า เจ้าหน้าที่ไม่ได้ใช้ความรุนแรงกับกลุ่มผู้ต้องหา และการที่เจ้าพนักงานตำรวจเข้าควบคุมตัวโดยสั่งให้ผู้ถูกจับกุมนอนคว่ำลงกับพื้นนั้น เป็นไปอย่างถูกต้องตามยุทธวิธีแล้ว เพื่อความปลอดภัยและป้องกันการหลบหนี เนื่องจากเป็นการควบคุมคนจำนวนมาก

จะเห็นได้ว่า คำให้การของเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้มีส่วนร่วมในการจับกุม ยังคงมีความขัดแย้ง และไม่ตรงกับคำให้การของผู้ถูกจับกุมในหลายเรื่อง โดยเฉพาะข้อเท็จจริงเรื่องความรุนแรงและการทำร้ายร่างกายที่เกิดขึ้นในวันที่ 6 มี.ค. 2564 ซึ่งดูเหมือนว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งหมดที่ขึ้นเบิกความจะทำเสมือนไม่มีสถานการณ์ดังกล่าวอยู่เลย ข้อเท็จจริงเหล่านี้ ยังต้องติดตามสถานการณ์ในช่วงการนำสืบพยานจำเลยต่อไป กระทั่งต้องติดตามคำวินิจฉัยของศาลที่จะเกิดขึ้นหลังการสืบพยานเสร็จสิ้นลง

X