11 เม.ย. 2565 – ที่ สน.นางเลิ้ง รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เดินทางไปเพื่อเข้ามอบตัวตามหมายจับศาลอาญากรุงเทพใต้ที่ 229/2565 ลงวันที่ 4 เม.ย. 2565 ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2564 อภิวัฒน์ ขันทอง ทนายความของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดี รศ.ดร.ยุกติ
เหตุที่ตำรวจเข้ายื่นคำร้องต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ขอให้ศาลออกหมายจับในกรณีนี้ เนื่องจากพนักงานสอบสวนได้ส่งหมายเรียกไปยังที่อยู่ตามบัตรประชาชน ขณะที่ยุกติไม่ได้อาศัยอยู่ตามที่อยู่ดังกล่าวแล้ว จึงไม่ได้รับหมายเรียก และไม่ได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหา
ช่วงเวลาราว 10.00 น. ทนายความพร้อม รศ.ดร.ยุกติ และเพื่อนอาจารย์ที่มาให้กำลังใจ เข้าพบพนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง โดยสายสืบได้เข้าแสดงหมายจับให้ยุกติ ตรวจสอบว่าเป็นบุคคลตามหมายจับหรือไม่
ก่อนเริ่มต้นทำบันทึกรับมอบตัว มีการโต้แย้งกันเล็กน้อยระหว่างทนายความและตำรวจสายสืบซึ่งยืนยันว่าจะทำ “บันทึกจับกุม” แต่ทนายความแย้งว่า ผู้ต้องหาเดินทางเข้ามามอบตัวเอง ไม่ได้ถูกจับกุม กระทั่งตำรวจยอมเปลี่ยนหัวเอกสารเป็น “บันทึกรับมอบตัว” ในที่สุด
สำหรับบันทึกรับมอบตัว ซึ่งยุกติไม่ประสงค์ลงลายมือชื่อ มีเนื้อหาระบุว่า เจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งจากสายลับว่า รศ.ดร.ยุกติ จะเดินทางเข้ามอบตัวกับพนักงานสอบสวนในวันนี้เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาพร้อมทนาย และต่อสู้คดีในชั้นศาล เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมจึงได้แสดงหมายจับให้ผู้ต้องหาดู ผู้ต้องหายอมรับว่าเป็นบุคคลตามหมายจริง เจ้าหน้าที่จึงได้แจ้งข้อกล่าวหาตามหมายจับ
ต่อมา พ.ต.ท.สำเนียง โสธร รองผู้กำกับ (สอบสวน) สน.นางเลิ้ง ได้แจ้งพฤติการณ์คดีมีเนื้อหาโดยย่อว่า เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2564 สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ได้โพสต์ข้อความผ่านทางโซเชี่ยลมีเดียเกี่ยวกับข่าวลือว่า รัชกาลที่ 10 กำลังประชวรจนต้องเข้าโรงพยาบาล ซึ่งอภิวัฒน์ ขันทอง ผู้กล่าวหาเห็นว่า เป็นการคิดไม่ดีต่อสถาบัน
ต่อมา รศ.ดร.ยุกติ ได้โพสต์ข้อความผ่านทางทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า “ข่าวลือ ถ้าไม่จริง ก็แปลงเป็นคำสาปแช่งแล้วกันครับ” ผู้กล่าวหาเห็นว่า เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ ซึ่งในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายคำว่า “อาฆาตมาดร้าย” ไว้ว่า เป็นการ พยาบาท มุ่งจะทำร้าย ส่วนความ “พยาบาท” หมายถึง ความต้องการอยากจะแก้แค้น
อภิวัฒน์ยังอ้างอีกว่า ผู้ต้องหารู้อยู่แล้วว่า ในช่วงเวลาดังกล่าว มีการเผยแพร่ของข่าวลือเรื่องที่รัชกาลที่ 10 กำลังประชวร จึงตีความโพสต์ดังกล่าวของผู้ต้องหาได้ว่า ต้องการ “สาปแช่ง” คือ มุ่งร้าย ต้องการให้ผู้อื่นได้รับอันตราย ถ้าไม่ประชวรก็ขอให้ประชวร ถ้าประชวรก็ขอให้สวรรคต
ยุกติให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะยื่นคำให้การเพิ่มเติมเป็นลายลักษณ์อักษรภายใน 30 วัน ต่อมา ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้อนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องหาในชั้นตำรวจ กำหนดหลักประกันเป็นเงิน 100,000 บาท ใช้เงินจากกองทุนราษฎรประสงค์ โดยพนักงานสอบสวนไม่ได้กำหนดเงื่อนไขการประกันตัวอื่นใด เป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการที่ สน. ในวันนี้ ในส่วนของหมายจับถือว่าสิ้นผลทางกฎหมายแล้ว
อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่ยุกติ พร้อมเพื่อนอาจารย์กำลังจะเดินทางออกจากห้องสอบสวน สน.นางเลิ้ง พบว่ามีสื่อของช่อง Top News มายืนรอเพื่อขอทำข่าว ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีการแจ้งข่าวการเดินทางเข้ามอบตัวครั้งนี้ นักข่าวยังมีการตั้งกล้องและมีความพยายามเข้ามาสัมภาษณ์โดยไม่ถามความยินยอม ทำให้ยุกติต้องเดินออกทางด้านหลังของ สน. แทน
ภายหลังเสร็จสิ้นกระบวนการ รศ.ดร.ยุกติ ได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับกระบวนการในวันนี้ ระบุว่า ตนเข้าใจเรื่องการทำงานของตำรวจ มองว่าเป็นการทำตามนโยบายของรัฐบาล จำเป็นต้องทำตามคำสั่งของผู้มีอำนาจ อย่างไรก็ตาม นักวิชาการผู้ถูกดำเนินคดีรายนี้ก็ได้สะท้อนความกังวลเกี่ยวกับปัญหาเรื่องการตีความข้อความและการดำเนินคดี มาตรา 112 คล้ายกับว่า ตอนนี้ รัฐกำลังพยายามบีบให้เพดานของการวิพากษ์วิจารณ์หดแคบลง
>>> สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-65
.