เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2565 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 3 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ลลิตา มีสุข ชาวจังหวัดกาฬสินธุ์ ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ในความผิดฐาน “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ “นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง” ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ) มาตรา 14 (3) โดยกล่าวหาว่า ลลิตาโพสต์คลิปวิดีโอสั้นในแอปพลิเคชัน TikTok วิจารณ์การใช้ภาษีประชาชนพาดพิงกษัตริย์
คดีนี้มีผู้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง คือ อภิวัฒน์ ขันทอง ประธานคณะกรรมการตรวจสอบและดําเนินคดีแก่ผู้เผยแพร่ ข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี และการฝ่าฝืนหรือไมปฏิบัติตามกฎหมายผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ค (คตส.) นอกจากคดีนี้ อภิวัฒน์ยังเป็นผู้แจ้งความคดี มาตรา 112 คดีอื่นอีกหลายคดี รวมไปถึงคดีหมิ่นประมาทนายกรัฐมนตรีโดยตรงรวมแล้วมากกว่า 20 คดี
>>> ตัวแทน “ประยุทธ์” อีกหนึ่งกลไกรัฐบาลในการคุกคามประชาชนผู้เห็นต่าง
ณัฐพล กิตติตระกูล พนักงานอัยการ บรรยายพฤติการณ์คดีไว้ในคำฟ้อง ระบุว่า ขณะเกิดเหตุ ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีเป็นประมุข และรัชกาลที่ 10 เป็นพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน โดยที่รัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2560 มาตรา 6 ระบุไว้ว่า กษัตริย์อยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้
เมื่อวันที่ 12 เม.ย. 2564 จำเลยได้หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรืออาฆาตมาดร้ายกษัตริย์ด้วยการโพสต์คลิปสั้นในแอปพลิเคชัน TikTok เป็นภาพเคลื่อนไหวของจำเลยพูดถึง งบประมาณที่นำมาแจกประชาชนและงบประชาสัมพันธ์ของสถาบันกษัตริย์นั้นมาจากภาษีประชาชน ไม่ได้เป็นบุญคุณของรัฐบาลหรือสถาบันกษัตริย์ การกดขี่ประชาชนให้จนแล้วนำเงินมาแจก ให้ประชาชนรู้สึกเป็นบุญคุณ จะได้ง่ายต่อการปกครอง ทั้ง ๆ ที่ประชาชนควรจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีจากเงินภาษีของตนเอง โดยอัยการระบุว่า ช่วงหนึ่งของคลิป จำเลยได้ทำปากพูดคำว่า “พระมหา” โดยไม่ออกเสียง ก่อนตามด้วยด้วยการกล่าวคำว่า “กรุณาธิคุณ”
อัยการระบุว่า เมื่อบุคคลที่สามได้เห็นคลิปของลลิตา ย่อมทำให้ผู้ฟังเข้าใจได้ว่ากษัตริย์รัชกาลที่ 10 นำเงินภาษีของประชาชนไปแจกประชาชนเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ให้กับตัวพระองค์เอง เป็นเงินจำนวนปีละหมื่น ๆ ล้านบาท รวมทั้งกดขี่ให้ประชาชนยากจน แล้วนำเงินไปแจก เพื่อให้ประชาชนซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ ทำให้ปกครองได้โดยง่าย อันเป็นการใส่ความรัชกาลที่ 10 ด้วยข้อความเท็จ โดยประการที่น่าจะทำให้รัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียเกียรติยศ ชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชังอย่างร้ายแรง และเป็นการนำข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์
หลังจากอัยการยื่นฟ้อง โดยไม่คัดค้านการปล่อยชั่วคราว ศาลได้รับฟ้องและอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในชั้นพิจารณา โดยให้วางหลักทรัพย์ประกันเป็นเงิน 200,000 บาท เป็นเงินจากกองทุนราษฎรประสงค์ ศาลยังได้กำหนดเงื่อนไข “ห้ามจำเลยกระทำการใดๆ อันมีลักษณะเดียวกันกับที่ถูกฟ้อง ห้ามโพสต์ข้อความหรือกระทำการที่อาจก่อให้เกิดความเสียหาย หรือเป็นการเสื่อมเสีย ด้อยค่าสถาบันพระมหากษัตริย์ และห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักรเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล” นัดสอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 25 ก.ค. 2565
ทั้งนี้ คลิปที่เป็นต้นเหตุให้ลลิตาถูกฟ้องคดีนั้น มีรายงานข่าวจากประชาไทว่า เป็นคลิปที่โพสต์ตอบคอมเมนต์ในคลิป TikTok ของเธอคลิปอีกหนึ่ง ซึ่งวิพากษ์วิจารณ์การบริหารจัดการการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของรัฐบาล ลลิตาเปิดเผยเมื่อครั้งที่ได้รับหมายเรียกในคดีนี้ว่า “เนื้อหาในคลิปนั้นทั้งหมดแทบจะไม่ได้พูดถึงสถาบันฯ เพราะไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับสถาบันฯ เป็นการพูดถึงรัฐบาลล้วน ๆ จึงมองว่าผู้แจ้งความอาจตีความผิดไปว่าเราอาจกล่าวถึงสถาบันฯ”
ดูฐานข้อมูลคดี คดี 112 “ลลิตา” ชาวกาฬสินธุ์ เหตุโพสต์คลิป TikTok วิจารณ์การใช้ภาษีประชาชน